ประวัติ รองศาสตราจารย์ ดร. เสรี ศุภราทิตย์
การศึกษา


ปริญญาตรี วิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท วิศวกรรมชลศาสตร์ และชายฝั่ง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
ปริญญาเอก วิศวกรรมชายฝั่ง มหาวิทยาลัย TOHOKU ประเทศญี่ปุ่น

ประสบการณ์

วิศวกรก่อสร้าง แหล่งน้ำมัน บงกช บ. ปตท.สำรวจและผลิต จำกัด 2535-2537
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 2540-2552
ปัจจุบัน หัวหน้าหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) มหาวิทยาลัยรังสิต และ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และผู้จัดการใหญ่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

ความเชี่ยวชาญ แลคณะกรรมการฯ

วิศวกรรมภัยพิบัติ (อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก พายุคลื่น สึนามิ การกัดเซาะ และการตกตะกอน สภาวะโลกร้อน) โดยมีบทความในวารสารต่างประเทศ และในประเทศกว่า 100 บทความ


นอกจากนี้ยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมภัยพิบัติ ในหน่วยงานต่างๆ เช่น เป็นกรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมโยธา และกรรมการ และเลขานุการอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระหว่างปี พ.ศ. 2543-2544 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วิทยาลัยป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนปัจจุบัน


เป็นคณะกรรมการศึกษาระบบเตือนภัยล่วงหน้า สำนักนายกรัฐมนตรี อนุกรรมการป้องกัน และบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และเลขานุการ และอนุกรรมการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล


สภาผู้แทนราษฎร ได้รับเชิญเป็น Strategic Planning Group on Human and Environmental Hazards and Disasters ประจำภูมิภาค Asia and Pacific ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 จนปัจจุบัน เป็นคณะกรรมการการประปานครหลวง ในปี พ.ศ. 2549-2550 เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปี พ.ศ. 2545-2546 และเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2549-2550

รางวัล

“คนดีสังคมไทย” สาขา นักวิชาการ-ส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ประจำปี พ.ศ.2545 โดยมูลนิธิเพื่อสังคมไทย
รางวัล “บุคลากรดีเด่นด้านวิชาการ” ประจำปี พ.ศ. 2546 โดยสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน แห่งประเทศไทย
รางวัล “โครงการทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก” ประจำปี พ.ศ. 2546 และ 2547 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
รางวัลทุนวิจัย มูลนิธิโทเร เพื่อส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2550

ผู้เชี่ยวชาญ และผู้เขียนนำ (Lead Author) ในการวิเคราะห์ประเมิน และเขียนรายงานผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในคณะกรรมการ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Chage)




อุทกภัย...ใหญ่หลวง เสรี ศุภราทิตย์
โดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
11 ตุลาคม 2554 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


ปัญหาน้ำท่วมอยู่ในขั้นวิกฤติ เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมภัยบัติมีทางออก

ปัจจุบันวิศวกรผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติในเมืองไทย มีจำนวนแค่หลักสิบ เพราะสังคมไทยไม่ได้เตรียมรับมือกับภัยพิบัติ จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ กระทั่งภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อยและถี่ขึ้น จึงมีการถามหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ หนึ่งในวิศวกรผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร

ตอนนี้เขาต้องรายงานวิกฤติปัญหาน้ำท่วมและหาทางออกร่วมกับหลายฝ่ายให้นายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ

โดยทำงานประสานให้ข้อมูลกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ ถ้ามีเรื่องเร่งด่วนที่เกี่ยวกับภัยพิบัติที่หน่วยงานรัฐมองข้าม เขาจะออกมาให้ข้อมูล เพื่อให้ประชาชนเตรียมการณ์รับสถานการณ์ ก่อนหน้านี้ ตอนเรียนปริญญาเอก วิศวกรรมชายฝั่ง มหาวิทยาลัย TOHOKU ประเทศญี่ปุ่น เขาเคยทำงานใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญด้านสึนามิชาวญี่ปุ่นที่เก่งที่สุดในโลก ได้เห็นการทำงานเพื่อมนุษย์ชาติ และนี่คือ แรงจูงใจที่ทำให้เขาทำงานเรื่องภัยพิบัติในปัจจุบัน


ทำไมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติในเมืองไทยมีน้อย
เนื่องจากงานด้านนี้หนักและรายได้ไม่มาก วิศวกรก็หันไปทำงานคำนวณโครงสร้างตึกอาคารบ้านเรือน แต่งานด้านนี้เป็นงานช่วยชีวิตคน ในเมืองไทยจึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้น้อย อาจไม่ถึง 10 คน เพราะคนที่ทำงานด้านนี้ต้องเสียสละ อย่างนักศึกษาด้านวิศวกรรมโยธาที่เรียนกับผม เมื่อจบไปแล้ว ก็ไปทำงานเป็นผู้รับเหมา หรือออกแบบโครงสร้างตึก เพราะไม่มีงานที่รองรับโดยตรง ทั้งๆ ที่ผมลงทุนให้ความรู้เต็มที่ แต่ระบบไม่เอื้อให้พวกเขาได้ทำงานตรงสายงาน


แล้วทำไมอาจารย์เลือกมาทำงานด้านนี้
ผมเจอเรื่องภัยพิบัติค่อนข้างเยอะ เห็นคนเสียชีวิต ทำให้ผมอยากช่วย และผมได้เรียนรู้เรื่องภัยพิบัติที่ญี่ปุ่น อาจารย์จะสอนให้คิดวิเคราะห์และนำเสนอสิ่งที่จะเกิดขึ้นทุกรูปแบบของภัยพิบัติ ทั้งเรื่องน้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ จะแก้ปัญหาในเหตุการณ์อย่างไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผมได้ประสบการณ์จากญี่ปุ่น อาจารย์ที่ปรึกษาผมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสึนามิที่เก่งที่สุดในโลก ชีวิตของเขาคือการทำงานเพื่อมนุษย์ชาติ

ความคิดแบบนี้ผมรู้สึกซาบซึ้ง เมื่อกลับมาเมืองไทย สร้างครอบครัวมั่นคงแล้ว ผมเห็นว่างานด้านนี้สำคัญกว่างานออกแบบโครงสร้างตึกที่วิศวกรทั่วไปทำ ผมทำวิจัยเรื่องนี้มาตลอด การเก็บข้อมูลเรื่องภัยพิบัติในเมืองไทย เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างกรณีน้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่ เรามีฐานข้อมูลคนทำงานในพื้นที่ และเมื่อเตือนภัยไปแล้ว ผมก็มาตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมไม่มีการจัดการ เราก็สะท้อนปัญหาให้รัฐบาลทราบ แต่เวทีที่รัฐจะเจอกับผู้เชี่ยวชาญมีไม่มากนัก


ปัญหาคือ งานวิชาการไม่มีโอกาสเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐ ?
ปัญหาเหล่านี้ต่างจากญี่ปุ่นหรือจีน หน่วยงานรัฐและผู้เชี่ยวชาญจะทำงานร่วมกัน แต่ในประเทศเรา หน่วยงานรัฐไม่ค่อยเข้ามาร่วมแก้ปัญหากับนักวิชาการ เพราะพวกเขาอยู่กับวัฒนธรรมเก่าๆ


หน่วยงานที่อาจารย์ดูแลมีวิธีการพยากรณ์เรื่องน้ำท่วมต่างจากหน่วยงานรัฐอย่างไร
พื้นฐานข้อมูลการพยากรณ์ใช้ชุดเดียวกับกรมอุตุนิยมวิทยา แต่การวิเคราะห์และการใช้แบบจำลอง หน่วยงานเราใช้แบบจำลองที่หลากหลาย สิ่งสำคัญของการพยากรณ์คือ อย่าไปเชื่อแบบจำลองชุดใดชุดหนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยามีข้อจำกัด ใช้แค่หนึ่งหรือสองแบบจำลอง แล้ววิเคราะห์จากประสบการณ์ของคนที่ทำงานมานาน แต่เราใช้หลายแบบจำลองเปรียบเทียบวิเคราะห์ อย่างต่ำต้องมี 5 แบบจำลอง เราใช้ทั้งแบบจำลองของอเมริกา ญี่ปุ่น จีน แคนาดาและออสเตรเลีย


การพยากรณ์ลักษณะนี้มีความแม่นยำแค่ไหน
ผมคิดว่า หน่วยงานเรามีความเชี่ยวชาญการพยากรณ์ภัยพิบัติอย่างแม่นยำ เพราะใช้แบบจำลองวิเคราะห์หลากหลาย


กลัวไหมที่จะพยากรณ์พลาด
การพยากรณ์ธรรมชาติไม่ใช่เรื่องหัวหรือก้อย ผมไม่เคยพูดว่า ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งเรื่องสึนามิหรือน้ำท่วม แต่ผมจะบอกว่า เหตุการณ์แบบนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นสูง ผมบริหารจัดการความเสี่ยงด้วย ผมอยากให้ประชาชนเข้าใจว่า เรื่องไหนเป็นความเสี่ยง จะได้ตระหนักรู้เตรียมป้องกัน

การให้ข้อมูลน้ำท่วมในเมืองไทยมีปัญหาไหม
มีบางคนออกมาให้ข้อมูลผิดหลักการ ทำให้ผมต้องออกมาพูด เพราะเรามั่นใจและมีข้อมูล บางหน่วยงานไม่ได้ศึกษาข้อมูลในพื้นที่ และไม่มีการประเมินความล่อแหลม ผมจะให้ความสำคัญเรื่องข้อมูล เคยมีหน่วยงานรัฐบางแห่ง ออกมาบอกว่า น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ 13 เขตและอนุสาวรีย์ ถ้าออกข่าวแบบนี้ ประชาชนก็ตกใจ ผมบอกไปว่า พูดแบบนั้นได้อย่างไร เพราะคุณไม่รู้ว่าประตูน้ำอยู่ตรงไหน

การพยากรณ์ภัยพิบัติ อาจารย์จัดลำดับความสัมพันธ์อย่างไร
ภัยพิบัติในเมืองไทย 5 อย่างคือ การกัดเซาะชายฝั่ง น้ำท่วม น้ำท่วมฉับพลัน แผ่นดินไหว และสึนามิ ปัญหาอันดับหนึ่งคือ น้ำท่วม ส่วนสึนามิมีความเสี่ยงในบางพื้นที่ เรามีประสบการณ์โดยตรงเรื่องภัยพิบัติ ทั้งเรื่องแบบจำลองและการวิเคราะห์ จึงทำได้แม่นยำกว่าหน่วยงานรัฐ เพราะเราทำงานวิจัยเชิงลึก ประสานกับกรมอุตุนิยมวิทยา และหลายหน่วยงาน รวมถึงส่งข้อมูลให้

ศูนย์ของเราเป็นแห่งแรกในเมืองไทยสามารถจะบอกได้ว่า สึนามิจะเกิดขึ้นแล้ว ที่ไหน เวลาและความรุนแรง ส่วนการคาดการณ์เรื่องฝนตก ถ้าจะให้แม่นยำ สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้แค่สามวัน และที่รู้แน่ๆ เดือนตุลาคมนี้ ค่าเฉลี่ยปริมาณฝนตกมากกว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ปีนี้อิทธิพลปรากฎการณ์ลานินญามาแรง ประมาณต้นพฤศจิกายนฝนจะมาลงภาคใต้

บางจังหวัดในภาคใต้อาจเจอเหตุการณ์น้ำท่วมเหมือนอำเภอหาดใหญ่ ?มีความเป็นไปได้ แต่ไม่สามารถบอกได้เต็มร้อย เพียงแต่ตอนนี้เตรียมพร้อมหรือยัง การแก้ปัญหาชั่วคราวคือ เตรียมขุดลอกคลอง กระสอบทรายทำคันกั้นน้ำ และทำคันดิน เพื่อปกป้องโรงพยาบาล โรงไฟฟ้า และโรงประปา ผมอยากเตือนเพราะที่ผ่านมาไม่เคยประเมินความเสียหายล่วงหน้า ถ้ารอให้เหตุการณ์มาถึงแล้วค่อยทำ ไม่ทันการณ์ ตั้งแต่กลางตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ หลายจังหวัดต้องเตรียมการณ์ หน่วยงานเราไม่ได้มีหน้าที่เตือนภัยโดยตรง แต่เราส่งข้อมูลให้ทางกรมอุตุนิยมวิทยา แต่ถ้ากรมอุตุฯไม่เตือน เราก็จะเตือน อย่างกรณี พายุไห่ถัง ผมบอกว่าจะพัฒนาเป็นดีเปรสชั่น ต้องระวัง เขาบอกผมว่า คุณคิดมากเกินไป แต่ปรากฎว่าเป็นเช่นที่ผมบอก


สถานการณ์น้ำท่วมในเดือนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
สถานการณ์ช่วงนี้จะหนักมากขึ้น น้ำเหนือมาแรง หากปริมาณน้ำไหลผ่านนครสวรรค์ไม่ต่ำกว่า 4,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สถานการณ์จะรุนแรงเหมือนเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2538

พื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญในชุมชนและเคยมีปัญหา ควรบริหารจัดการรวมศูนย์กลาง เร่งอพยพผู้ประสบภัย และศูนย์บัญชาการสั่งการต้องรักษาให้ดี ตอนนี้ต้องรีบปกป้องพื้นที่ที่น้ำยังไม่ท่วม ต้องกลับมาดูกรุงเทพฯ


กรุงเทพฯ กำลังจะมีปัญหาหนัก ?ขณะนี้น้ำที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นตัวชี้วัดปริมาณน้ำที่จะไหลมากรุงเทพฯ หากปริมาณที่ปล่อยออกมาเกิน 3,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มันเลยวิกฤติแล้ว แสดงว่าน้ำกำลังลงมาถึงกรุงเทพฯ คันกั้นน้ำคงเอาไม่อยู่ เพราะฉะนั้นต้องเสริมคันกั้นน้ำปกป้องกรุงเทพฯ น้ำจะมามากขึ้นช่วงวันที่ 15-16 ตุลาคมนี้ ถ้าน้ำเหนือมามาก แล้วเจอกับยอดน้ำหนุน มีปัญหาแน่

ก่อนจะถึงวันที่ 15-16 ตุลาคมนี้ ต้องรีบระบายน้ำ สถานการณ์กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ผมได้ประสานกับกรมชลประทาน ให้ระบายน้ำออกบางส่วน เพราะพื้นที่บริเวณนั้นมีความชันน้อย น้ำจะไหลช้า ต้องทำให้น้ำไหลเร็วลงคลองขนาดใหญ่ ทั้งคลองรังสิต คลองแสนแสบ คลองพระโขนง คลองสำโรงและคลองชายทะเลฯลฯ คลองเหล่านี้ยังรับน้ำได้ หลังจากลงสู่คลองใหญ่แล้ว จะมีระบบสูบน้ำลงแม่น้ำบางปะกง และช่วงฝนตกหนักที่สุดอีกช่วงคือ วันที่ 28-30
ตุลาคมนี้

จากเหตุการณ์ฝนตกที่ผ่านมา ทำให้เขื่อนวิกฤติ ไม่สามารถทำหน้าที่ของเขื่อนได้ ยกตัวอย่างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ต้องปล่อยน้ำออกเกือบหมด เพราะฝนตกมาก จนกั้นน้ำไว้ไม่ได้ จะเรียกว่าปีนี้เป็นปีเขื่อนวิกฤติก็ได้ ทั้งๆ ที่ฝนตกเหนือเขื่อน เขื่อนก็พยายามระบายน้ำ อย่างเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพลยังพอสู้ไหว ยังสามารถกั้นน้ำไว้ได้ครึ่งหนึ่ง


การปล่อยน้ำออกจากเขื่อนก็น่าเป็นห่วง ?
ผมเป็นห่วงเรื่องนี้มาก ประชาชนก็ต้องเข้าใจเรื่องการปล่อยน้ำจากเขื่อนด้วย ถ้าปล่อยน้ำออกจากเขื่อนหมด จะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้


พื้นที่ในกรุงเทพฯส่วนไหนต้องระวังมากเป็นพิเศษ
พื้นที่นอกคันกั้นน้ำฝั่งตะวันออก และฝั่งธนบุรี บางขุนเทียน บางแค บางพลัด จะมีปัญหา ประชาชนควรเตรียมยกสิ่งของให้พ้นระดับน้ำ ถ้าดูจากสถานการณ์ปี 2538 จากสถิติน้ำท่วมพื้นที่นอกคันกั้นน้ำเฉลี่ยประมาณหนึ่งเมตร ส่วนนนทบุรี ปทุมธานี หนีสถานการณ์นี้ไม่พ้น น้ำจะมาเป็นผืนใหญ่ แต่ไหลอ้อมลงทะเล เพราะโดยรอบกรุงเทพฯ มีคันกั้นน้ำ

ส่วนพื้นที่ด้านในกรุงเทพฯ จะไม่ท่วม เพราะเป็นศูนย์บัญชาการ รัฐบาลคงต้องดูแลเต็มที่ แต่ก็มีจุดเสี่ยงพื้นที่หนึ่งด้านใน ผมได้รายงานนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เรื่องนี้ต้องเตรียมการณ์ ถ้าคันกั้นน้ำชั่วคราวของจังหวัดเหนือน้ำแตก ปริมาณน้ำในกรุงเทพฯจะสูงขึ้น ในอนาคตหากต่างฝ่ายต่างทำคันคอนกรีตกั้นน้ำ น้ำทุกส่วนก็จะไหลเข้ากรุงเทพฯ เมื่อถึงตอนนั้นกรุงเทพฯ จมน้ำแน่ๆ หากถามว่า เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ถ้ามาจากฝีมือมนุษย์ ผมไม่สามารถบอกได้ แต่ถ้ามาจากธรรมชาติ ผมคิดว่าเหตุการณ์น้ำท่วมขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นในปี
2563


ในอนาคตกรุงเทพฯ จะจมน้ำ?เหตุปัจจัยเรื่องแผ่นดินทรุดตัว ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ฝนที่ตกมากขึ้น เป็นปัจจัยความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ประกอบกับปรากฎการณ์ลานินญาจะกลับมาอีกครั้ง


คนกรุงเทพฯ อาจจะได้พายเรือ ?เป็นไปได้ ยกเว้นมีมาตรการการแก้ไขระยะยาว


แล้วพายุในช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง
พายุกำลังก่อตัว วันเสาร์ที่ผ่านมาปะทะที่ฟิลิปปินส์ เมื่อวานกับวันนี้ยังพัดอยู่ในทะเลจีนใต้ จะปะทะเข้าไทยในวันพรุ่งนี้


อยากเตือนอะไรเป็นพิเศษ
ทุกชุมชนที่ทำคันกั้นน้ำป้องกันอยู่ ควรเสริมให้แข็งแรงมากขึ้น เมื่อหน่วยงานรัฐเตือนภัยแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องดูว่า มีชุมชนตรงไหนมีความเสี่ยง ต้องเตรียมว่าจำต้องอพยพผู้คนไหม จำได้ว่าคราวที่แล้ว ผมเป็นคนเดียวที่บอกให้กรมชลประทานปล่อยน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หลายคนสงสัย แต่ก็ทำตาม ถ้าตอนนั้นไม่ปล่อยน้ำ ตอนนี้คงมีปัญหาแน่ เรื่องเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่ต้องจัดการ รอไม่ได้


ในส่วนของเหตุการณ์สึนามิ พอจะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ไหม
ช่วงไม่กี่ปีนี้ โอกาสเกิดเหตุการณ์สึนามิมีน้อย แต่เมื่อเกิดแล้ว ความเสียหายรุนแรง เพราะเกี่ยวโยงกับเรื่องแผ่นดินไหว แต่ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน


อยากให้อาจารย์อธิบายแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว ?การแก้ปัญหาภัยพิบัติที่ผมเสนอไว้ คือ 2 p(Preparedness และ Prevention) และ 2 R (Response และ Recovery ) เพื่อแก้ปัญหาทั้งประเทศเชิงรุก คือ

1.การเตรียมความพร้อมรับภัย (P:Preparedness) ทั้งการติดตามสถานการณ์ภูมิอากาศ ระบบพยากรณ์ การเตรียมแผนที่แสดงความรุนแรงของภัยพิบัติ การเตรียมแผนอพยพ และหาเจ้าภาพรับผิดชอบ ฯลฯ

2. การจัดการในภาวะฉุกเฉิน (R : Response) เพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์ จึงเป็นภารกิจด้านค้นหา กู้ภัยและช่วยเหลือเยียวยายามฉุกเฉิน การช่วยเหลือเฉพาะหน้า

3.การจัดการหลังการเกิดภัย (R : Recovery) เพื่อฟื้นฟูชุมชนที่ถูกน้ำท่วมให้กลับสู่สถานการณ์ปกติ การซ่อมแซมบ้านเรือน และสาธารณูปโภค ฯลฯ

4.การป้องกันและลดผลกระทบจากภัย (P : Prevention) โดยการประเมินผลกระทบจากภัยพิบัติ การวางมาตรการการใช้ที่ดิน การวิเคราะห์ความเสี่ยง และความรุนแรงของภัย การประเมินความล่อแหลมต่อภัยพิบัติ ฯลฯ

การบริหารจัดการเชิงพื้นที่สำคัญมาก ถ้าผู้บริหารในจังหวัด ทำไม่ได้ให้ร้องขอมาทางรัฐบาล เพราะนายกรัฐมนตรีให้จังหวัดละร้อยล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมตอนนี้ และผมเคยบอกนายกรัฐมนตรีว่า การทำงานบริหารจัดการภัยพิบัติจะทำงานเชิงขอร้องไม่ได้ ต้องทุบโต๊ะจัดการเลย รัฐบาลต้องกระตือรือร้น การแก้ปัญหาในระยะยาว ถ้าทำได้จะไม่เกิดการทะเลาะกันเรื่องการปล่อยน้ำ ถ้าประเมินว่าจะปล่อยน้ำแค่ไหน ก็ไม่เกิดปัญหา

แนวคิดที่ผมวางไว้ มีทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว อย่างเร่งด่วนที่ใช้เงินสี่หมื่นล้านบาทจัดการทันที ไม่มีทางทำได้ เร่งด่วนในความหมายของผม คือ ต้องเตรียมการณ์ 7-8 เดือนเพื่อป้องกันน้ำหลากปีหน้า ทั้งเตรียมทำคันดินชั่วคราวหรืออ่างเก็บน้ำตรงไหน ต้องประเมินให้ได้

วิธีการที่อาจารย์เสนอจะแก้ปัญหาได้มากน้อยเพียงใด
สิ่งที่ผมเสนอเป็นสิ่งที่ทำได้ ที่ผ่านมารัฐบาลทำแค่การจัดการในภาวะฉุกเฉิน (R : Response) และการจัดการหลังการเกิดภัย (R : Recovery) แต่ไม่ได้ทำเรื่องการเตรียมความพร้อมรับภัย (P:Preparedness) และการป้องกันและลดผลกระทบจากภัย (P : Prevention) ผมคิดว่า ถ้าไม่จัดการอย่างเป็นระบบ ประเทศจะล่มจม ผมอยากให้รัฐทำจริงจัง ผมก็อยู่ในคณะกรรมการชุดหนึ่งที่ช่วยเรื่องการบูรณาการ ผมจะดูว่า โครงการไหนทับซ้อนและใช้งบประมาณไม่ถูกต้อง

ตอนนี้มีองค์กรกลางที่จะแก้ปัญหาภัยพิบัติโดยตรงหรือยัง
ยังไม่มีหน่วยงานหลัก เป็นแค่คณะกรรมการ ยังไม่เป็นนิติบุคคล




Create Date : 27 ตุลาคม 2554
Last Update : 27 ตุลาคม 2554 17:28:55 น.
Counter : 9769 Pageviews.

0 comments

Posso farle
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]