Biometrics Technology


 บทนำ
ในปัจจุบันอาชญากรรมเป็นภัยที่ใกล้ตัวและเป็นปัญหาของสังคมที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความปลอดภัยทางทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก เทคโนโลยีการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในปัจจุบัน ได้ช่วยแบ่งเบาภาระงานของมนุษย์ และช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติได้เป็นอย่างมาก ด้วยปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมีมากมายหลากหลายรูปแบบ มนุษย์จึงได้พยายามคิดค้นเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อปกป้องรักษาความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน และข้อมูลสำคัญทั้งส่วนบุคคลและองค์กรไว้ให้มั่นคงปลอดภัยที่สุด และเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์นี้ได้อย่างดี คือ Biometrics เทคโนโลยี ซึ่งนับว่าเป็นสุดยอดนวัตกรรมการรักษาความปลอดภัยที่ดีที่สุดในเวลานี้

 มารู้จักตัวตนของmetric
คำว่า Biometrics (ไบโอเมตริกซ์) หรือ Biometry เป็นเทคโนโลยีที่มีการนำมาใช้กันมานานแล้ว โดยเป็นศาสตร์ด้านหนึ่งในการนำเอาวิธีการทางคณิตศาสตร์ หรือวิธีการทางสถิติ มาใช้ในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาทางด้านชีววิทยาต่างๆ ตัวอย่างเช่น การใช้วิธีทางสถิติวิเคราะห์ไม่ว่าจะผลกระทบของมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพของบุคคล, การวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศที่มีผลต่อการเพาะปลูก ในอีกด้านของเทคโนโลยีนี้คือเป็นกระบวนการที่ใช้ในการระบุตัวบุคคลหรือตรวจสอบตัวบุคคลโดยใช้หลักทางกายภาพเพื่อแยกแยะความแตกต่างของแต่ละบุคคล เช่น ลายนิ้วมือ รูปลักษณ์ใบหน้า ลักษณะของม่านตา หรือใช้ลักษณะทางพฤติกรรมของบุคคล เช่น เสียง ท่าทางการเดิน เป็นต้น
Biometrics เป็นกระบวนการที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถระบุบุคคลได้โดยอัตโนมัติ ก็คือการการเลียนแบบพฤติกรรมของมนุษย์อย่างหนึ่ง มนุษย์เราใช้วิธีการทาง Biometrics ในการระบุ ตัวบุคคลอยู่ตลอดเวลา เราใช้ลักษณะจำเพาะทางรูปร่าง ใบหน้า น้ำเสียง หรือแม้กระทั่งกลิ่น ของแต่ละบุคคลในการระบุว่าคนที่เราพบเป็นคนที่เรารู้จักหรือไม่ ดังนั้นจึงถือได้ว่า Biometrics เป็นรูปแบบหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์และยังมีความถูกต้องแม่นยำอีกด้วย

 ความหมายของเทคโนโลยี Biometric
เทคโนโลยีชีวภาพ หรือ Biometric คือ เป็นเทคโนโลยีที่ทำงานผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีทางด้านชีวภาพและทางการแพทย์ กับเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน โดยการตรวจวัดคุณลักษณะทางกายภาพ (Physical Characteristics) และลักษณะทางพฤติกรรม (Behaviors) ที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละคนมาใช้ในการระบุตัวบุคคลนั้นๆ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากลักษณะของแต่ละบุคคลมาเปรียบเทียบกับคุณลักษณะที่ได้มีการบันทึกไว้ในฐานข้อมูล แล้วทำการเปรียบเทียบและแยกแยะบุคคลนั้นจากบุคคลอื่นๆ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการตรวจสอบบุคคลคนนั้นในกรณีที่เป็นผู้ต้องสงสัยในการละเมิดกฎหมาย ด้านอาชญากรได้อีกด้วย คุณลักษณะทางกายภาพของคนเราจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าเวลาจะผ่านไป ทุกคนจะมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง แม้แต่เป็นฝาแฝดกันก็จะต้องมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ในขณะที่พฤติกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ จึงทำให้การพิสูจน์บุคคลโดยการใช้ลักษณะทางกายภาพนั้น มีความน่าเชื่อถือมากกว่า ตัวอย่างของคุณลักษณะทางกายภาพที่นิยมนำมาใช้ได้แก่ลายนิ้วมือ ม่านตา ช่องตาดำ ฝ่ามือ และรูปหน้า เป็นต้น
ส่วนเสียงพูด การลงลายมือชื่อ การใช้แป้นพิมพ์ ซึ่งจัดเป็นคุณลักษณะทางพฤติกรรมของบุคคล ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและการเรียนรู้ของเจ้าของ แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของการใช้ Biometric ประเภทนี้ก็คือ ใช้ง่าย เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ และมีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ เนื่องจากไม่ต้องนำอวัยวะที่ไวต่อการติดเชื้อ (เช่น ดวงตา)ไปสัมผัสกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการอ่านข้อมูล Biometrics

 ลักษณะการใช้งานของBiometrics
Biometrics สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การใช้ลักษณะทางกายภาพ (Physiological Biometrics) และการใช้ลักษณะทางพฤติกรรม (Behavioural Biometrics) ในการระบุตัวบุคคล
ลักษณะทางกายภาพ (Physiological Biometrics) ได้แก่
- ลายนิ้วมือ Fingerprint
- ลักษณะใบหน้า Facial Recognition
- ลักษณะของมือ Hand Geometry
- ลักษณะของนิ้วมือ Finger Geometry
- ลักษณะใบหู Ear Shape
- Iris และ Retina ภายในดวงตา
- กลิ่น Human Scent

ภาพที่ 1 แสดงตัวอย่างลักษณะทางกายภาพ

ลักษณะทางพฤติกรรม (Behavioural Biometrics) ได้แก่
- การพิมพ์ Keystroke Dynamics
- การเดิน Gait Recognition
- เสียง Voice Recognition
- การเซ็นชื่อ Signature



ภาพที่ 2 แสดงตัวอย่างลักษณะทางพฤติกรรม

 ประเภทการของ Biometrics
การใช้งานของเทคโนโลยี Biometrics นั้น จะมีการแปลคุณลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลผ่านเข้าไปทางอุปกรณ์นำเข้าข้อมูล (Input) และแปลงเป็นรหัสดิจิตอล เพื่อทำการเปรียบเทียบกับรหัสดิจิตอลที่ถูกจัดเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ ถ้ารหัสดิจิตอลในคอมพิวเตอร์นั้นไม่สัมพันธ์กับ (Match) รหัสคุณลักษณะส่วนบุคคลคอมพิวเตอร์นั้นก็จะปฏิเสธการเข้าถึงข้อมูลนั้นทันที Biometrics เทคโนโลยี ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบันมีหลายประเภท คือ :
 เครื่องสแกนลายพิมพ์นิ้วมือ (Fingerprint Scanner) ในปัจจุบันได้นำเอาเทคโนโลยี Biometrics ไปใช้เพื่อเปิดประตูหรือการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้าน แม้แต่ในธุรกิจขนาดเล็กก็ยังใช้แทนการตอกบัตรหรือ การเซ็นชื่อ ของพนักงานในการเข้าทำงาน บางบริษัทซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดที่มีเครื่องพิมพ์ลายนิ้วมือติดกับแป้นพิมพ์ เพื่อให้พนักงานพิมพ์ลายนิ้วมือแทนการเข้าชื่อผู้ใช้ (UserName) และรหัสผ่าน (Password) ก่อนเข้าใช้งานคอมพิวเตอร์, โน้ตบุ๊ค รวมถึงการเข้าใช้อินเตอร์เน็ตการเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ หรือแม้แต่ร้านค้าไม่ว่าจะค้าปลีก ค้าส่ง ก็ยังนำเทคโนโลยี Biometrics มาใช้อำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะสั่งซื้อสินค้า ก็สามารถสั่งซื้อสินค้าและการชำระเงิน ได้โดยผ่านเครื่องสแกนลายนิ้วมือ แล้วเชื่อมโยงผ่านอินเตอร์เน็ต เพื่อผู้ใช้เลือกใช้รูปแบบการชำระเงิน จากนั้นระบบจะมีการตรวจสอบบัญชีของลูกค้า



ภาพที่ 3 แสดงตัวอย่างเครื่องสแกนลายนิ้วมือ

 เครื่องสแกนใบหน้า (A Face Recognition Systems) การทำงานของระบบนี้จะดึงรูปภาพของใบหน้าและทำการเปรียบเทียบกับรูปภาพจริงของผู้ใช้ที่ถูกต้อง ระบบการจดจำใบหน้าเป็นระบบที่พัฒนามาเพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้ที่เดินเข้าออกในห้องทำงาน, การดำเนินการกับผู้กระทำผิดทางกฎหมาย, การตรวจตรารักษาความปลอดภัย และใช้จดจำใบหน้าของบุคคลที่ผ่านเข้าออกตามสนามบินเพื่อป้องกันความปลอดภัย แม้แต่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คบางชนิดใช้เทคโนโลยีระบบจดจำใบหน้าเพื่อรักษาความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์จะไม่สามารถทำงานได้หากระบบตรวจสอบแล้วไม่ตรงกับฐานข้อมูล ผู้ใช้คนนั้นไม่มีสิทธิ์เข้าใช้งานได้ Biometrics เป็นเทคโนโลยีที่ความถูกต้องแม่นยำมาก ระบบจะสามารถจดจำใบหน้าของคนได้ไม่ว่าบุคคลนั้นจะสวมแว่นตา และไม่ได้สวมแว่นตา แม้แต่บุคคลนั้นได้มีการทำศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแล้วก็ตาม หรือคนที่สวมใส่เครื่องประดับ บุคคลที่เปลี่ยนทรงผมใหม่ หรือใส่วิกผมปลอม เปลี่ยนสีผม Biometrics ก็ยังสามารถจดใบหน้าได้อย่างแม่นยำ



ภาพที่ 4 แสดงตัวอย่างเครื่องสแกนใบหน้า

 เครื่องพิมพ์ลายเส้นบนฝ่ามือ (A Hand Geometry) เป็นเครื่องที่ทำการวัดรูปร่างและขนาดของเส้นลายมือบนฝ่ามือ ซึ่งลายมือของแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกันแม้แต่บุคคลจะเป็นฝาแฝดกันแต่ลายเส้นบนฝ่ามือก็จะไม่เหมือนกัน บางหน่วยงานก็ได้นำอุปกรณ์ชนิดนี้ ใช้ในการควบคุมพนักงานของบริษัท เช่นการเข้าทำงานของพนักงาน สามารถช่วยในการตรวจสอบการลงเวลาของพนักงานและบุคคลที่เข้าออกบริษัท เหมือนระบบการรักษาความปลอดภัยไปในตัว



ภาพที่ 5 แสดงตัวอย่างเครื่องสแกนฝามือ

 เครื่องพิสูจน์หรือจดจำเสียง (Voice Verification System) ระบบจะทำการเปรียบเทียบเสียงพูดสดจริงกับรูปแบบของเสียงที่ถูกจัดเก็บเอาไว้ว่าตรงกันถ้าเปรียบเทียบเสียงตรงกันก็จะอนุญาตบุคคลนั้นใช้สิทธิ์ได้ ยังมีหลาย ๆ องค์กรใช้เทคโนโลยีนี้เป็นเครื่องมือการลงเวลาเข้าทำงาน และการเข้าถึงแฟ้มข้อมูลและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เสี่ยงต่อความเสียหายได้ง่าย หรือแฟ้มข้อมูลที่เป็นความลับขององค์กร สถาบันการเงินบางแห่งใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับการประมวลรายการทางธุรกิจของธนาคารผ่านโทรศัพท์ (Telephone Banking)



ภาพที่ 6 ตัวอย่างเครื่องจดจำเสียง

 เครื่องตรวจสอบลายเซ็น (Signature Verification System) เทคโนโลยีนี้.ใช้การจดจำลักษณะของลายเซ็น เส้นสายลายเซ็นซึ่งเซ็นโดยใช้ปากกาพิเศษหรือปากกาสำหรับรับข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์ (Tablet) โดยจะวัดจากแรงกด จังหวะ ความหนักเบาของลายเซ็น และอารมณ์ในการเซ็น



ภาพที่ 7 แสดงเครื่องตรวจสอบลายเซ็น

 เครื่องระบบการจดจำม่านตา (Iris Recognition System) เป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูง โดยการทำงานจะมีกล้องสำหรับถ่ายรูปม่านตาของคนและอ่าน จดจำ และทำการบันทึกเปรียบเทียบรูปแบบของม่านตาที่ถูกจัดเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกับการพิมพ์ลายนิ้วมือ ส่วนใหญ่มักใช้ในการรักษาความปลอดภัยในหน่วยงานของรัฐบาล และสถาบันทางการเงิน บางประเทศได้ใช้เทคโนโลยีนี้ในการทำบัตร ATM เพื่อสามารถเบิกถอนเงินสดได้อย่างรวดเร็วและมีความปลอดภัยสูง



ภาพที่ 8 แสดงตัวอย่างเครื่องระบบจดจำม่านตา

การนำ Biometrics มาประยุกต์ใช้
1.นำเทคโนโลยี Biometrics มาใช้กับธุรกิจการค้า เป็นการนำเทคโนโลยี Biometrics ที่ได้นำข้อมูลทางกายภาพของบุคคล ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ ในกิจการธุรกิจร้านค้า หรือร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า เพื่อใช้ในการชำระเงินช่วยไม่ให้เสียเวลาในการรอคิวที่จุดชำระเงิน เพราะลูกค้าไม่ต้องพกเงินสด อีกต่อไป การทำงานก็คือ ลูกค้าจะต้องเลือกลงทะเบียนกับร้านค้าก่อนเพื่อที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลของลูกค้าเอาไว้ ที่เรียกระบบนี้ว่า Touch to Pay เมื่อลงทะเบียนกับร้านค้าเรียบร้อยก็สามารถซื้อสินค้าได้ทุกอย่าง จากนั้นเมื่อมาจุดชำระเงินก็แค่วางนิ้วมือเพื่อให้เครื่องอ่านลายนิ้วมือสำหรับการชำระเงินแบบ Biometrics แล้วใส่รหัสผ่านและเลือกวิธีการชำระเงินตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ตอนแรก ซึ่งระบบก็จะทำการอ่านข้อมูลพร้อมกับหักเงินของคุณโดยอัตโนมัติ


ภาพที่ 9 แสดงตัวอย่างการใช้ Biometrics ในห้างสรรพสินค้า

2. Biometrics ใช้กับสถานที่เข้าออก/ หรือการใช้ตรวจสอบเวลาทำงาน
มีการพัฒนาการใช้ลายนิ้วมือ (Finger Print) หรือม่านตา เพื่อใช้แทนกุญแจในการทำงานหรือเปิดประตูเข้าออก ทุกวันนี้ระบบการยืนยันตัวบุคคลแบบ Biometric นั้นเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องของการสแกนลายนิ้วมือเพื่อลงเวลาเข้าทำงาน ซึ่งข้อดีก็คือลงเวลาแทนกันไม่ได้ รวมถึงระบบความปลอดภัยต่างๆที่อาศัยลายนิ้วมือเพื่อ login เข้าระบบ การนำ Biometrics มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยงานในการตรวจสอบและระบุตัวบุคคล ในการเข้าออกสถานที่สำคัญ ๆในยุคก่อนส่วนใหญ่จะใช้บัตรผ่าน หรือใช้รหัสผ่าน รวมถึงการใช้พนักงานรักษาความปลอดภัย เพื่อป้องกันแบบและตรวจสอบบุคคลที่เข้าออกสถานที่นั้น ๆ ซึ่งวิธีการนี้ไม่ค่อยมีความปลอดภัยเต็มร้อย อาจจะมีลักลอบได้ง่าย เช่นบัตรผ่าน หรือรหัสผ่าน หรือแม้แต่ให้คนอื่นยืมใช้แทน การใช้วิธีเฝ้ายามก็อาจเกิดการละเลยได้ แม้ว่าจะมีมากมายหลายวิธีก็ตาม แต่การนำเอา Biometrics มาช่วยระบุตัวบุคคลในการผ่านเข้าออกโดยใช้ลายนิ้วมือ, ใช้การตรวจสอบรูปหน้า, หรือแม้แต่การใช้การตรวจสอบลักษณะของ ภายในดวงตา จึงเป็นวิธีที่ดีและแม่นยำ ส่วนระบบการทำงานที่ใช้ในการตรวจสอบเวลาการทำงานของพนักงาน จากที่เคยใช้กันอยู่คือการ ตอกบัตร การใช้ลายเซ็น หรือการใช้บัตรแถบแม่เหล็ก อาจทำให้ข้อมูลไม่แม่นยำเท่าที่ควร และอาจมีการใช้แทนกันได้ หรือบางทีพนักงานทำบัตรหาย ลืม การนำเอาเทคโนโลยี Biometrics มาใช้สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี แค่ใช้นิ้วมือ หรือใบหน้า ก็สามารถระบุความเป็นตัวตนของคน ๆ นั้นได้แล้ว


ภาพที่ 10 ตัวอย่างเครื่องสแกนใบหน้าเพื่อผ่านเข้าออก

3. Biometrics รักษาความปลอดภัยเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย
ในปัจจุบันเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ Notebook หลายๆรุ่นที่มีการนำเอาเทคโนโลยี Biometrics ประเภทลายนิ้วมือของผู้เป็นเจ้าของเพื่อมาช่วย Authentication การใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้มีประโยชน์เป็นอย่างมากในการรักษาความปลอดภัยสำหรับบุคคลที่ต้องการความปลอดภัยของข้อมูล ถึงแม้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์สูญหายหรือถูกขโมย ผู้อื่นก็ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ เนื่องจากมีการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลโดยการใช้ลายนิ้วมือของผู้เป็นเจ้าของมาช่วย จะมีการพัฒนาประเภทหลักๆ สองประเภท คือเครื่องคอมพิวเตอร์ Notebook ที่มีตัวตรวจจับลายนิ้วมืออยู่ในตัวเครื่องอยู่แล้วและประเภทที่ใช้ PC Card สำหรับการตรวจจับลายนิ้วมือเสียบในช่อง PC Card ของเครื่องคอมพิวเตอร์ Notebook โดยใช้ลายนิ้วมือในการเข้ารหัสแทนการใช้รหัสผ่าน (Password) ได้เลย ทั้งยังมีการติดตั้งระบบ Biometrics ในการใช้งานคอมพิวเตอร์ระบบเครือข่าย จากเมื่อก่อนคือต้องให้ผู้ใช้บริการใส่รหัสผ่านก่อนการใช้งานทุกครั้ง แต่การใช้รหัสผ่านนั้น สามารถสุ่มหรือคาดเดาได้ง่าย ดังนั้นการใช้ Biometrics มาเป็นตัวเข้ารหัสการใช้งานของผู้ใช้ระบบเครือข่าย จึงเป็นสิ่งที่สามารถยืนยันตัวตนได้ว่า ผู้ที่ใช้ระบบเครือข่ายอยู่คือผู้ที่มีสิทธิในการใช้งานได้จริง


ภาพที่ 11 เครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดมีระบบสแกนลายนิ้วมือ

4. Biometrics กับการใช้งานของสถาบันการเงิน
ในปัจจุบันการตรวจสอบตัวบุคคล เป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการทำธุรกิจของสถาบันทางการเงิน หรือการใช้การตรวจสอบลายเซ็น ลายนิ้วมือ บัตรประจำตัว หรือแม้แต่รหัสผ่าน ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ง่ายต่อการปลอมแปลง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สถาบันการเงินต้องพบเจอเสมอมา และสร้างความเสียหายแก่สถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก การนำเอาเทคโนโลยีทางด้าน Biometrics มาใช้ในการตรวจสอบตัวบุคคล จึงเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสถาบันทางการเงิน ทั้งทางด้านการช่วยให้มีความปลอดภัยในการเบิกถอนเงิน ทั้งทางเคาท์เตอร์ของธนาคาร และการเบิกเงินผ่านทางเครื่อง ATM รวมไปถึงการนำเอา Biometrics เข้ามาใช้ในการตรวจสอบผู้ใช้บัตรเครดิต เพื่อช่วยในการลดการปลอมบัตรเครดิต หรือการขโมยบัตรเครดิตของคนอื่นไปใช้ในการจับจ่ายสินค้า หรือกดเงินสด และยังช่วยลดการปฏิเสธความรับผิดชอบของผู้ใช้งานเองด้วย เนื่องจากว่ามีหลักฐานในการระบุตัวบุคคลอย่างชัดเจน
5. Biometrics กับการใช้งานด้านการระบุตัวอาชญากร
การระบุตัวอาชญากรที่ผ่านมาในอดีตคือการตรวจสอบลายนิ้วมือ หรือการชี้ตัวโดยพยาน ซึ่งสามารถนำเอา Biometrics มาช่วยในการตรวจสอบลายนิ้วมือโดยอัตโนมัติ AFIS (Automated Fingerprint Identification System) ระบบนี้นอกจากจะให้ทางตำรวจตรวจลายนิ้วมือที่พบในที่เกิดเหตุกับฐานข้อมูลลายนิ้วมืออาชญากรที่มีอยู่แล้ว ระบบ AFIS ยังสามารถเป็นแหล่งข้อมูลให้กับทางองค์กรทางเอกชน ในการค้นหาประวัติการทำผิดกฎหมายของผู้สมัครงานหรือบุคคลากรภายในองค์กรได้ด้วย นอกจากการใช้ลายนิ้วมือในการตรวจอาชญากรแล้ว การใช้เทคโนโลยีการระบุตัวบุคคลโดยตรวจสอบใบหน้า ก็ยังมีใช้กันใน บ่อนคาสิโน โดยวิธีนำใบหน้าของผู้ต้องสงสัยมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของผู้กระทำผิดที่มีอยู่แล้ว ถ้าหน้าตาคล้าย ๆ กันมากก็จะส่งให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ไม่ผิดพลาด แต่ Biometrics ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ช่วยเหลือตำรวจในการจับกุมผู้ต้องหาได้แม่นยำและเชื่อถือได้



ภาพที่ 12 การระบุตัวอาชญากรโดยใช้ Biometric

6. Biometrics กับงานทะเบียนราษฎร์
ปัจจุบันประเทศไทยก็ได้มีการพัฒนางานทะเบียนราษฎร์ให้มีความทันสมัยและมีความสะดวกสบายและมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งการทำบัตรประชาชนในปัจจุบันก็จะเป็นแบบ Smart card เป็นการระบุตัวบุคคลที่บรรจุไว้ในบัตรนี้ และสามารถนำบัตรประชาชนใบเดียวไปใช้กับหลาย ๆ สถานที่ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วของทั้งบุคคลที่ติดต่อและผู้ให้บริการเอง ในการพัฒนาก็ได้มีการนำเทคโนโลยี Biometrics ร่วมกับเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ เพื่อมาใช้กับการระบุยืนยันตัวบุคคลในการมาติดต่องานทะเบียนราษฎร์ ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการต่ออายุบัตรประชาชนในปัจจุบันก็สามารถทำได้ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อำเภอไหน ก็สามารถต่ออายุบัตรประชาชนได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปในภูมิลำเนา เนื่องจากจะมีการยืนยันตัวบุคคลและเชื่อมโยงเป็นระบบเครือข่ายเดียวกันทั้งประเทศ



ภาพที่ 13 การบันทึกข้อมูลลายนิ้วมือลงในบัตร Smart card

7. การนำ Biometric มาใช้กับผู้โดยสารรถยนต์
Biometric data หรือข้อมูลทางกายภาพของผู้โดยสารจะถูกนำมาเก็บไว้ในหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมการทำงานในระบบความปลอดภัยของผู้โดยสารตามตำแหน่งที่นั่ง ข้อมูลทั้งหมดจะกำหนดลักษณะส่วนบุคคลที่โดยสารเอาไว้ตามตำแหน่งที่นั่งในรถ นอกเหนือไปจากการตรวจจับข้อมูลโดยอัตโนมัติของระบบ PRE-SAFE เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น ขนาดของถุงลม รวมถึงแรงดันที่จะใช้, แรงดึงกลับของสายเข็มขัดนิรภัยที่พอดีกับน้ำหนักตัว, การยุบตัวของแกนพวงมาลัยที่ปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่ เป็นต้น



ภาพที่ 14 แสดงลักษณะการทำงานในระบบความปลอดภัยในรถยนต์

จะเห็นได้ว่า Biometrics สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะทำธุรกรรมทางด้านใดก็จะมีแต่เจ้าเทคโนโลยีตัวนี้คอยให้ความสะดวก และอนาคตคาดว่าเจ้าเทคโนโลยีตัวนี้ คงต้องกลายมาเป็นบุคคลสำคัญของครอบครัวเพื่อช่วยเหลือในด้านความปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถทำให้เจ้าของสถานที่หรือเจ้าของบ้านมีความอุ่นใจในความปลอดภัย โดยไม่ต้องมียามรักษาความปลอดภัย เพราะเจ้าเทคโนโลยีนี้สามารถดูแลรักษาความปลอดภัยให้เราได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กระบวนการในการตรวจสอบ
กระบวนการตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นการใช้งานลักษณะเฉพาะแบบใดก็ตาม จะมีขั้นตอนเหมือนกันดังต่อไปนี้
1. ผู้ใช้ระบบต้องทำการบันทึกตัวอย่าง (Samples) ของลักษณะทาง Biometrics ที่จะใช้ หรือเป็นการลงทะเบียนเริ่มต้นก่อนที่จะทำการใช้ระบบ
2. เมื่อได้ตัวอย่างมาแล้วทาง Biometrics ที่ถูกเก็บมาในขั้นตอนแรกจะถูกทำการแปลงและจัดเก็บให้เป็นแม่แบบ(Template) ที่จะใช้ในการเปรียบเทียบ
3. เมื่อผู้ใช้ต้องการที่จะใช้ ระบบก็จะถูกตรวจสอบ หรือระบุผู้ใช้ โดยทำการเก็บตัวอย่างทาง Biometrics ของผู้ใช้และทำการเปรียบเทียบกับ แม่แบบ (Template) ที่เก็บไว้ แล้วทำการตรวจสอบความเหมือนของตัวอย่างกับแม่แบบ จากนั้นก็จะทำการอนุญาต หรือปฏิเสธ การเข้ามาใช้งานระบบของผู้ใช้
เราเรียกขั้นตอนที่ 1 และ 2 ว่าเป็นขั้นตอนของการลงทะเบียน (Enrolment) ซึ่งจะเป็นการทำเพียงครั้งเดียว ก่อนการที่จะเริ่มใช้งาน ส่วนขั้นตอนที่ 3 เป็นกระบวนการตรวจสอบ (Authentication) หรือ ระบุตัวผู้ใช้ (Identification) ซึ่งผลของการตรวจสอบหรือระบุตัวผู้ใช้นี้มีผลออกมาได้ 4 กรณีดังนี้
1. ถ้าตรวจสอบแล้วข้อมูลตรงกันกับตัวอย่างที่บันทึกไว้ Correct Accept : อนุญาตให้ผู้ใช้ที่มีสิทธิใช้ระบบ เข้าใช้ระบบ
2. ถ้าผลการตรวจสอบแล้วไม่ตรง Correct Reject : ปฏิเสธผู้ที่ไม่มีสิทธิใช้ระบบ
3. False Accept : อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิ เข้าใช้ระบบ จำนวนของ False Accept ถ้าคำนวณออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ จะเรียกว่า อัตราการอนุญาตผิดพลาด (False Accept Rate หรือ FAR)
4. False Reject : ปฏิเสธผู้ใช้ที่มีสิทธิใช้ระบบ ไม่ให้เข้าใช้ระบบ จำนวนของ False Reject ถ้าคำนวณออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ จะเรียกว่า อัตราการปฏิเสธผิดพลาด (False Reject Rate หรือ FRR)


การเปรียบเทียบผลของการใช้เทคโนโลยี Biometrics ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน



 ข้อดีของเทคโนโลยี Biometrics
- การใช้ Biometrics ทำให้ผู้ใช้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความจำ หรือไม่จำเป็นต้องพกบัตรผ่าน ทำให้สะดวกและรวดเร็ว ไม่ต้องจดจำรหัสผ่าน และยังช่วยให้มีความปลอดภัย และป้องกันการสูญหายของบัตรผ่าน ลืมบัตร หรือการลักลอบนำเอารหัสผ่านไปใช้
- Biometrics ยากต่อการปลอมแปลง และยากต่อการลักลอบนำไปใช้
- การใช้ Biometrics ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เช่นในกรณีของการใช้รหัสผ่าน หรือบัตรผ่าน เจ้าของบัตรอาจอ้างได้ว่ารหัสผ่านหรือบัตรถูกผู้อื่นลักลอบนำไปใช้ แต่ถ้าใช้ การใช้การตรวจสอบหรือระบุตัวบุคคลผู้ใช้ไม่สามารถปฏิเสธได้
- ช่วยลดค่าใช้จ่าย เช่น ช่วยในการป้องกันพนักงานลงเวลาแทนกัน(Buddy Punching)
- ระบบจะไม่อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายเพราะอวัยวะของร่างกายของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ไม่สามารถเลียนแบบกันได้
- เทคโนโลยีการจดจำอวัยวะแบบสามมิติจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในระดับที่ยอดเยี่ยม
 ข้อเสียของเทคโนโลยี Biometrics
- ความเชื่อถือได้ของเทคโนโลยี Biometrics บางประเภทยังมีความเชื่อถือได้ไม่ดีเท่าที่ควร ยังต้องการพัฒนาทั้งทางด้านทฤษฎี และทางด้านอุปกรณ์เครื่องมือ
- ราคาของอุปกรณ์ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ, เครื่องสแกนเรตินา/ไอริสในดวงตา เป็นต้น ยังมีราคาค่อนข้างสูง และ
- การยอมรับของสังคม เพราะเรื่องของความเป็นส่วนตัวของแต่ละบุคคล (Privacy) ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ
- ไม่สามารถใช้ได้หากไม่มีอุปกรณ์เฉพาะทาง
- เนื่องจากใช้อวัยวะของร่างกายเป็นรหัสผ่าน จึงมีโอกาสโดนทำร้ายร่างกายได้ง่าย ซึ่งต่างจากรหัสผ่านและชิปโทเคน
- รหัสผ่านที่ใช้กับระบบนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ตารางเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการพิสูจน์ตัวตนแต่ละชนิด




 บทสรุป

เทคโนโลยีชีวภาพ หรือ Biometrics คือการผสมผสานเทคโนโลยีทางด้านชีวภาพและทางการแพทย์กับเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันโดยการตรวจวัดลักษณะทางกายภาพ และลักษณะทางพฤติกรรม เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลเพื่อที่จะระบุตัวตนของแต่ละคนออกมาแล้วเปรียบเทียบกับฐานข้อมูล Biometrics เป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยและมีความแม่นยำเชื่อถือได้ Biometrics เป็นเทคโนโลยีสุดยอดของระบบป้องกันและรักษาความปลอดภัย โดยการช่วยเหลือในการทำงานของมนุษย์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันหลายหน่วยงานได้นำเทคโนโลยีระบบนี้ไปประยุกต์ใช้ เช่น การใช้ควบคุมการเข้าออกสถานที่ หรือช่วยเหลือการทำงานของแผนกบุคคล ดูแลระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สถาบันการเงิน ระบุตัวอาชญากร การนำเทคโนโลยี Biometrics มาใช้สามารถแบ่งตามลักษณะ คือลักษณะทางกายภาพ เช่น ลายนิ้วมือ ใบหน้า ลักษณะของฝ่ามือ ใบหู ภายในดวงตา กลิ่น ลักษณะทางพฤติกรรม เช่น การพิมพ์ การเดิน เสียง และลายเซ็น ซึ่งการระบุตัวตนทางกายภาพ จะมีความถูกต้องและแม่นยำมาก เพราะลักษณะทางกายภาพของแต่ละคนจะแตกต่างกันและไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาไม่ว่าจะตั้งแต่เล็กจนโต แต่ในขณะที่ลักษณะทางพฤติกรรมอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการเวลาและการศึกษา ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างมาก จะเป็นเครื่องมือช่วยเหลือผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น









ข้อมูลอ้างอิง:

//www.computertoday.net/articles.php?id=404482&page=5//www.vcharkarn.com/vblog/35431/5
//www.grandprixgroup.com/new/magazine/grandprix/detail.asp?Detail_Id=2657&Column_Name
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=yaymai&month=02-2010&date=07&group=1&gblog=2
//aster.spu.ac.th/file/user/161/161/upload/article/Biometrics.pdf
//thaicert.nectec.or.th/paper/authen/authentication_guide.php
//www.vcharkarn.com/vblog/35610/6
//mblog.manager.co.th/piengjit/Biometrics/





Create Date : 19 สิงหาคม 2553
Last Update : 19 สิงหาคม 2553 15:28:28 น.
Counter : 4371 Pageviews.

0 comment

abobee111
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





สอบถามรายละเอียดสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ