Cricket World Cup 2011
 
 

คริกเก็ตกับคนอินเดีย

ค่ำนี้บรรยากาศท้องถนนเมืองมุมไบที่ว่างปล่าว ร้านรวงสองข้างถนนที่เคยครึกครื้นยามค่ำคืน กลับมีแต่แสงไฟและเสียงจากโทรทัศน์ผสมกับเสียงโห่ร้องด้วยความดีใจเป็นช่วงๆ ไม่ใช่ว่าตัวเมืองจะไร้ผู้คน แต่ผู้คนกลับพร้อมใจกันรวมตัวกันอยู่จอหน้าโทรทัศน์ในวันที่มีการแข่งขันคริกเก็ตรอบชิงชนะเลิศเช่นวันนี้



ศรีลังกาเป็นฝ่ายเริ่มเล่นก่อนตั้งแต่ช่วงบ่ายสองโมงกว่าๆ ทำคะแนนไปได้ 274 รัน เวลาประมาณทุ่มนึงกลายเป็นฝ่ายอินเดียที่ได้เล่นบ้าง ช่วงเวลาประมาณ 3 - 4 ชั่วโมงในค่ำคืนนี้ เมืองที่มีประชากร 20 ล้านคนจะเหมือนกับถูกกดปุ่มหยุดนิ่งในเครื่องเล่นแผ่นดีวีดี และคงไม่เฉพาะที่เมืองมุมไบแต่คงจะเหมือนกับเมืองอื่นๆ ทั่วอินเดีย ทำไมคริกเก็ตถึงได้มีอิทธิพลต่อคนอินเดียขนาดนี้



ย้อยกลับไปดูประวัติตั้งแต่เริ่มต้น ในอินเดียประวัติของคริกเก็ตย้อนกลับไปถึงตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษเป็นผู้นำกีฬาชนิดนี้มาเผยแพร่ให้ประเทศที่ตนปกครอง เราจึงเห็นได้ว่า มีแต่ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษและประเทศที่มีชาวอังกฤษไปตั้งถิ่นฐานเท่านั้นที่นิยมเล่นกีฬาประเภทนื้ อาทิ อินเดีย ปากีสถาน แอฟริกาใต้ หมู่เกาะอินดิสตะวันตก ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น


คริกเก็ตในอินเดียช่วงแรกสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 จะเรียกว่า first-class คริกเก็ต หรือ Test Match จะเล่นกันเกมละ 3 – 5 วันเลยทีเดียว ซึ่งก็คงจะเหมาะกับบรรยากาศในช่วงเวลาดังกล่าว การละเล่นหรือการเล่นกีฬาก็สามารถนำมาใช้ฆ่าเวลาได้ แต่ก็บังเอิญด้วยเหตุใดก็ตามกลับเป็นที่นิยมในหมู่คนอินเดียด้วย และก็มีการจัดตั้งทีมชาติและมีการจัดทัวนาเมนต์แข่งขันระดับชาติเรื่อยมา รวมทั้งการตั้งคลับหรือทีมประจำเมืองต่างๆ จนกระทั่งมาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการก่อตั้งสมาคมดูแลการจัดการแข่งขันคริกเก็ตในอินเดีย รวมทั้งการดูแลการก่อสร้างและการจัดเช่าสนามแข่งขันทำให้การแข่งขันภายในประเทศมีระบบระเบียบมากขึ้น ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้คริกเก็ตเป็นเสมือนการละเล่นระหว่างคลับหรือสโมสรต่างๆ มากกว่าเป็นกีฬาสากลทั่วไป เพราะคงไม่มีใครสามารถมาติดตามชมการแข่งขันได้ครบทุกวัน ยกเว้นคนที่เกี่ยวข้อง และก็ไม่มีโทรทัศน์มาถ่ายทอดสดให้ชมกันถึงบ้านอย่างทุกวันนี้



แต่ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 60 – 70 เริ่มมีการกำหนดกติกาเล่นแบบให้จบการแข่งขันภายในหนึ่งวัน โดยแต่ละทีมมีโอกาสตีลูก 20 หรือ 50 overs 1 over ตีได้ 6 ครั้ง เรียกว่า T20 และ T50 ซึ่งจะใช้เวลาในการแข็งขัน 3 ชั่วโมง และ 6 ชั่วโมงตามลำดับ ทำให้เงื่อนไขของการเล่นคริกเก็ตกลายเป็นรูปแบบการแข่งขันกีฬาที่มีกติกาขัดเจนขึ้นและใช้ระยะเวลาในการเล่นน้อยลง ทำให้การชมกีฬา คริกเก็ตเป็นเรื่องง่ายขึ้น และในช่วงหลังนี้อิทธิพลของสื่อมวลชนและโฆษณาต่างๆ ก็ได้ใช้ประโยชน์จากการรายงานข่าวทางสื่อสิ่งพิมพ์ และการถ่ายทอดสดการแข่งขันทางโทรทัศน์ โหมประโคมสร้างกระแสความคลั่งไคล้กีฬาคริกเก็ตในหมู่คนอินเดียกันยกใหญ่ ยิ่งในปี 1983 ที่อินเดียสามารถเอาชนะหมู่เกาะอินดีสตะวันตกในรอบชิงชนะเลิศและกลายเป็นแชมป์โลกในการแข่งขัน World Cup Cricket ยิ่งทำให้กระแสคลั่งไคล้ในกีฬาคริกเก็ตต่อเนื่องมาเรื่อยๆ



นอกจากนั้น คริกเก็ตยังถูกนำมาเชื่อมโยงในเรื่องการเมือง หากคราวใดก็ตามที่มีการแข่งขันระหว่างอินเดียกับปากีสถานจะเรียกว่าเป็นคู่หยุดโลกก็ว่าได้ เพราะคน 1.2 พันล้านคนของอินเดีย กับอีก 181 ล้านคนในปากีสถานคงจะเฝ้ารอผลการแข่งขันอย่างใจจดใจจ่อ งานนี้เป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีสำหรับสองประเทศที่ไม่ค่อยลงรอยกันเท่าใดนักในทางการเมือง



จะเห็นว่า จริงๆ แล้วความนิยมในกีฬาคริกเก็ตของชาวอินเดียมาจากความต่อเนื่องอันยาวนานของประวัติคริกเก็ตที่อยู่มาคู่กับคนอินเดีย ความคุ้นเคยในกีฬาเพียงชนิดเดียวและการโหมกระแสของสื่อมวลชนต่างๆ น่าจะเป็นสองปัจจัยหลักที่มีผลให้คริกเก็ตหยั่งรากลึกในวัฒนธรรมอินเดียยุคใหม่ ทั้งที่จริงๆ แล้วกีฬาประจำชาติของอินเดียคือฮอกกี้ และอินเดียก็ได้เหรียญจากฮอกกี้ในกีฬาโอลิมปิกหลายครั้ง แต่กลับไม่เป็นที่สนใจ หรือกีฬาเทนนิสก็มีผู้เล่นอินเดียที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงหลายคนแต่กลับไม่เป็นที่รู้จักของคนอินเดีย



แต่ที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ทั่วไปและ imply เอาจากข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาของอิทธิพลของคริกเก็ตในอินเดีย แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่หากได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับคนอินเดียจะเริ่มเข้าใจว่าจริงๆ แล้วคนอินเดียไม่ใช่คนที่นิยมความรุนแรง การแสดงออกโดยทั่วไปจะเป็นการพูดเพื่ออธิบาย พูดอย่างรวดเร็วและไม่มีทางยอมแพ้ในเหตุผลและคำพูดของฝ่ายตรงข้าม แต่แทบไม่เคยมีการลงไม้ลงมือหากไม่สามารถตกลงหรือยอมความกันได้ หากเปรียบเทียบลักษณะนิสัยคนอินเดียในด้านนี้ อาจจะทำให้คิดได้ว่า กีฬาที่ต้องมีการปะทะกันดังเช่น ฟุตบอล หรือบาสเกตบอลทำไมจึงไม่เป็นที่นิยม แต่คริกเก็ตเป็นกีฬาที่แตกต่างออกไป ไม่มีการปะทะหรือความรุนแรงในเกม การได้รับชัยชนะคือการผลัดกันทำหน้าที่เป็นฝ่ายรุก (ผู้ตี) และฝ่ายรับ (ผู้ขว้าง)

.




 

Create Date : 06 เมษายน 2554   
Last Update : 6 เมษายน 2554 0:09:12 น.   
Counter : 1225 Pageviews.  



Felipe
 
Location :
Mumbai India

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Felipe's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com