Mommy and Son Story
Group Blog
 
All Blogs
 

เศรษฐศาสตร์ความสุข อนาคตที่ยั่งยืน

โดย : เปรมศิริ ฤทัยเจตน์เจริญ
กรุงเทพธุรกิจ online




ในโลกเศรษฐกิจยุคขับเคลื่อนด้วย GDP ทำให้คนวิ่งไล่ตามกระแสสตีฟ จ็อปส์ และวัตถุนิยมก็กลายเป็นสิ่งวัดค่า ของ "ความสุข"

แต่ระหว่างทางของการเดินหาความสุข เรากลับพบ "ความทุกข์" มากมาย

มุมมองของ ดร.เฮเลนา นอร์เบอร์ก-ฮอดจ์ จึงเชื่อว่า เศรษฐศาสตร์แห่งความสุข (Economics of Happiness) หรือ การกลับมาสู่ "รากเหง้า" เดิม เป็นคำตอบของความสุข

ดร. เฮเลนา นอร์เบอร์ก-ฮอดจ์ เป็นนักคิดเชิงปรัชญาชาวสวีเดน ผู้ก่อตั้งและพัฒนาชุมชนระหว่างประเทศเพื่อนิเวศวิทยาและวัฒนธรรม (ไอเส็ค) และเป็นเจ้าของรางวัลสัมมาอาชีวะ ปี ค.ศ. 1986 ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นรางวัลโนเบลทางเลือก จากการสนับสนุนคนในท้องถิ่นให้จัดตั้งโครงการพัฒนาทางนิเวศวิทยาของลาดัก (Ladakh Ecological Development Project) ขึ้น

แนวความคิดของ เฮเลนา แตกต่างสิ้นเชิงกับโลกของ "ทุนนิยม" ที่ขับเคลื่อนด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) การต่อต้านกระแสโลกสมัยใหม่ (Modernization) และโลกาภิวัตน์ (Globalization) แต่มีความเชื่อเปี่ยมล้นในเรื่อง เศรษฐศาสตร์แห่งความสุข (Economics of Happiness)

เฮเลนา เดินทางไปรอบโลกเพื่อขายความคิดนี้ ซึ่งล่าสุด มูลนิธิสัมมาชีพ ได้เชิญเธอมาเพื่อเปิดมุมมองใหม่

เธอ ยืนยันแนวความคิดว่า ระบบทุนนิยมกัดกร่อนสิ่งที่ดีงามในสังคมเล็กๆ ทำให้คุณค่าแห่งความเป็นคน และคุณภาพชีวิตของคนลดทอนลง กลายเป็นสังคมที่มีแต่ความเร่งรีบ การแก่งแย่งแข่งขัน และท้ายที่สุดลัทธิทุนนิยมก็กลายเป็นตัวที่ทำลายระบบเศรษฐกิจ จนนำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้

ในโลกทุนนิยม ประเทศต่างๆ เรียกร้องให้เปิดโลกการค้าเสรี เพื่อความคล่องตัวทางการค้า และมองว่า นี่คือการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่าง "คุ้มค่า" แต่ในสายตาของนักกิจกรรมคนนี้เห็นต่างว่า ระบบการค้า และธุรกิจที่ใหญ่เป็นปัญหา เป็นการครอบงำโลก

"โครงสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ ใหญ่จนทำให้คนแขนยาวจนยืดไปอีกซีกโลกได้โดยไม่เห็นมือตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคนผลิต คนขาย หรือแม้แต่คนบริโภค แต่ความใหญ่ได้ทำลายชุมชน ความเป็นตัวของตัวเอง และสิ่งแวดล้อม"

แท้จริงแล้ว "ต้นตอ" ของปัญหาเกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ทำให้โครงสร้างธุรกิจมีความมหึมาจนกำหนดเทรนด์โลก

ความใหญ่โต และกรอบความคิดที่มุ่ง "กอบ และโกย" ทำให้ความสมดุลขาดหายไป โดยเฉพาะกิจกรรมการผลิต การทำธุรกิจที่เน้นกิจกรรม "เชิงเดี่ยว" เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจด้านความ "คุ้มค่า" (Economy of scale)

ในเชิงเศรษฐศาสตร์ Economy of scale ทฤษฎีที่สั่งสอนกันมา เพื่อให้สินค้ามีมาตรฐานเดียวกัน ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ขายได้มาก และได้กำไรที่มากขึ้น

แต่สำหรับเฮเลนา ทฤษฎีนี้เป็นสิ่งที่นำความหายนะมาสู่สังคม ลามไปถึงปัญหาการว่างงาน

"เป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว ที่รัฐบาลต่างๆ ผลักดันให้ประชาชนปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อสร้างผลผลิตให้มีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ความหลากหลายของโครงสร้างถูกทำลาย แต่แท้จริงแล้วการปลูกพืชหลากหลายให้ผลผลิตที่มากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว"

เฮเลนา บอกว่า นักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกฝึกมาในกระแสหลักไม่อาจแยกแยะคุณค่าของการผลิต "อาวุธ" กับ "ข้าว" หรือผลผลิตต่างๆ ได้ เพราะพวกเขามีเพียงเป้าหมายแค่ "กำไร"

"เพราะหากเราต้องการผลิตลูกบอล หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ให้มีขนาดเดียวกัน การผลิตแบบโครงสร้างขนาดใหญ่จะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่า"

แต่หลงลืมไปว่า ประสิทธิภาพที่มาจากเครื่องจักรได้ไปเบียดเบียนแรงงานคน กลายเป็นปัญหาคนว่างงาน

"ในสภาวะที่โลกเรามีประชากรมากถึง 6 พันล้านคน เราต้องเลิกการผลิตเชิงเดี่ยว และการใช้เครื่องจักร เพราะทำให้คนตกลงมากขึ้น สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย"

เธอเรียกร้องชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกคุณค่าแห่งสังคมกลับมา เรียกร้องให้รัฐบาลหันมามองความผิดพลาดของระบบโครงสร้างที่ผิดปกติเหล่านี้

พร้อมกับยกตัวอย่างคนใน "ลาดัก" ชุมชนอันเก่าแก่ซึ่งอยู่ตอนเหนือของอินเดียที่เธอเชื่อว่า เป็นชุมชนที่มีความสุขที่สุดในยามที่ยังปิดตัวเองจากโลกภายนอกนอก

"คนในลาดักมีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีคุณค่ามีศักดิ์ศรี ทำให้เขามีความสุขที่สุด"

แต่หลังจากลาดักเปิดรับ "ความศิวิไลซ์" ชั่วระยะเวลาสั้นๆ ศักดิ์ศรีของคนลาดักถูกกดลงต่ำจากการประเมินด้วยตาฝรั่งตาน้ำข้าว

"คนลาดักเห็นว่าตัวเองด้อยกว่าสังคมโลก และหันมาให้ความสำคัญกับโลกภายนอก มันอาจจะฟังดูเกินจริง แต่นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่เปลี่ยนจากขาวกลายเป็นดำ กลายเป็นเศรษฐศาสตร์แห่งความไม่เป็นสุข"

เธอบรรยายไว้ในหนังสือ "อนาคตอันเก่าแก่" ไว้ว่า ถ้าคนลาดักตัดสิน เขาเหล่านั้นย่อมเป็นคนจน เพราะชีวิตยากไร้ แร้นแค้น ไม่สะดวกสบาย ขาดทรัพย์ศฤงคารนานาประการ แต่เขามีวัฒนธรรมอันงดงาม แม้จะมีผ้าเพียงน้อยชิ้น แต่ละชิ้นก็ผลิตด้วยตนเอง อย่างประณีต แสดงว่าเขามีกุสุมรส ทั้งยังรวยน้ำใจกันแทบทั้งนั้น

เขาพอใจในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย พึ่งตนเองได้ ภูมิใจในศักดิ์ศรีของตนเอง พร้อมๆ กับการพึ่งพากันและกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน โดยนับถือธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ว่าเป็นดังหนึ่งพี่ดังหนึ่งน้อง เขาเห็นคนแปลกหน้าเป็นดังหนึ่งมารดาของเขา เขาจึงมีทั้งสุขภาพ อิสรภาพและภราดรภาพ โดยที่คุณธรรมข้อหลังนี้ไม่มีเอาเลยในเมืองฝรั่งก็ว่าได้

เพียงไม่นานที่กระแสสมัยใหม่เข้าครอบงำ หนุ่มสาวลาดักทำงานด้วยความเครียด และกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยการแข่งขันแก่งแย่ง มีคนมากถึง 6 พันคนจบปริญญา แย่งงาน "เสิร์ฟน้ำชา" ที่รับเพียง 300 คน
และสถิติการฆ่าตัวตายของคนลาดักมีเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ

การตระเวนไปทั่วโลก ทำให้เห็นชัดว่า คนส่วนใหญ่โน้มเอียงไปทาง "ศิวิไลซ์" ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองตามแบบอารยธรรมตะวันตกที่ถูกยกย่องว่าเป็น "ผู้นำ" กลายเป็นการปฏิเสธตัวเอง และพากันทำศัลยกรรม เสริมจมูก เปลี่ยนสีผิว

อุตสาหกรรมศัลยกรรมกลายเป็นเรื่องฮิตๆ ไปทั่วโลก แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ คนยังตัดแต่ง ดัดแปลงตัวเองให้เหมือนนางแบบในทีวี

เฮเลนา บอกว่า ถึงเวลาที่เราจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ด้วยการกลับไปสู่ "รากเหง้าเดิม"
เธอ เชื่อว่า ในหลายสังคม ชุมชน เริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจท้องถิ่น และเริ่มสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนที่เป็นอยู่ กลับมาสู่เศรษฐกิจที่มีขนาดเหมาะสมกับชุมชน

แค่นั้นคงไม่พอตราบใดที่รัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนการค้าเสรี ให้เงินสนับสนุนกิจการขนาดใหญ่ แต่ควบคุมและรีดภาษีกับธุรกิจขนาดเล็ก เธอ บอกว่า ขบวนการรากแก้วของประเทศจะต้องร้องเสียงดังๆ ให้เกิดการผลักดันเศรษฐกิจท้องถิ่น "เชิงนโยบาย" เพื่อให้ชุมชนเล็กๆ มีความเข้มแข็งและเลี้ยงตัวเองได้ และพร้อมเป็นที่พึ่งแก่กัน

เธอยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะให้รัฐบาลขานรับแนวคิดที่อยู่คนละขั้วกับทุนนิยม เพราะตราบใดที่ความสุขมวลรวมของประชาชนไม่สามารถขับเคลื่อนให้จีดีพีประเทศเติบโตขึ้นไปแข่งขันในเวทีโลกได้ ก็เมินซะเถอะ

"การที่ชุมชนเดือนร้อนแล้วพี่ช่วยน้องไม่ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น แต่กิจการค้าขายต่างหากที่ทำให้จีดีพีเพิ่ม หรือถ้าพวกเราเป็นมะเร็ง มีการฉายแสดง ผ่าตัด ยิ่งมากก็ยิ่งทำให้จีดีพีโต แต่การทำเกษตรอินทรีย์ แบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ ไม่ได้ทำให้จีดีพีโตหรอกนะ"

วาทะเปรียบเปรยทำให้เห็นภาพชัดแจ่มแจ๋ว

ในความเห็นของเฮเลนา การสร้างเศรษฐศาสตร์แห่งความสุขได้ คนในชุมชนต้องเป็นหลัก และมีจุดยืนที่เด็ดเดี่ยว ต้องทำให้สังคม ชุมชนพึ่งตนเองให้ได้ ภายใต้ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมที่มี หรือการกลับสู่ "รากเหง้า" เดิม แต่แค่นั้นไม่พอคนในสังคมต้องเรียนรู้เท่าทันระบบโครงสร้างเศรษฐกิจในองค์รวม เพื่อ "เอาชนะ" ให้ได้แม้จะเป็นเรื่องยากก็เถอะ

เธอเชื่อว่า เศรษฐกิจแนวทางโลกยุคปัจจุบันทำให้โลกไปไม่รอด ไม่มีใครอยากอยู่ การปฏิวัติเศรษฐกิจเพื่อไปสู่เศรษฐกิจแห่งความสุขต่างหากคือสิ่งที่คนทั้งโลกกำลังไขว่คว้า




 

Create Date : 25 กันยายน 2552    
Last Update : 25 กันยายน 2552 9:03:48 น.
Counter : 617 Pageviews.  

นิทานตะเกียงวิเศษ

จาก...หนังสือวิทยาศาสตร์ของการฝึกจิตของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา


กาลครั้งหนึ่งมีชายหนุ่มคนหนึ่งขุดพบตะเกียงเก่าแก่อันหนึ่ง ในขณะที่เขากำลังทำสวนอยู่ พอเขาเอามือถูตะเกียง ก็ปรากฏว่ามีควันออกมาจากตะเกียง แล้วกลายเป็นยักษ์ตัวใหญ่

ยักษ์ตนนั้นพูดกับชายหนุ่มว่า “ขอบใจที่ได้ช่วยให้ฉันเป็นอิสระ ฉันจะตอบแทนท่านโดยรับใช้ท่าน ท่านจะใช้อะไรฉันก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่า เมื่อไรที่ท่านหยุดใช้ฉัน ฉันก็จะกินท่าน”

ชายหนุ่มก็ตกลงเพราะเขาเห็นว่าการมีคนรับใช้เป็นเรื่องที่ดี และเขาก็มั่นใจว่า เขาจะใช้ยักษ์ตนนี้ให้ยุ่งอยู่ตลอดเวลาได้ ดังนั้นเขาจึงตอบตกลง ยักษ์นั้นจึงถามว่า “นายต้องการให้ฉันรับใช้เรื่องใดบ้าง แต่อย่าลืมนะถ้านายหยุดใช้ฉันเมื่อใด ฉันก็จะกินนาย” ชายหนุ่มคนนั้นตอบว่า “ฉันต้องการวังหลังหนึ่งเพื่อฉันจะได้เข้าไปอยู่”

ทันใดนั้นยักษ์ก็เนรมิตวังหลังหนึ่งได้ ชายหนุ่มตกใจเพราะเขานึกว่า ยักษ์คงใช้เวลาสักปีกว่าจะสร้างวังเสร็จ ทีนี้เขาต้องคิดอย่างรวดเร็วว่าจะขอให้ยักษ์ทำอะไรต่อไปดี เขาบอกยักษ์ให้ “สร้างถนนกว้างๆ ไปถึงหน้าวัง” ทันใดนั้นถนนก็ปรากฏอยู่ต่อสายตาเขา “ฉันต้องการสวนล้อมรอบวัง” เขาสั่งต่อไป

ทันทีความต้องการของเขาก็ปรากฏต่อหน้าเขา “ฉันต้องการ…..” เขาก็ขอไปเรื่อยๆ แต่เขาเริ่มต้นวิตกว่าอีกไม่ช้าเขาก็จะขอจนหมดแล้ว และอีกอย่างเขาคงเข้าไปอยู่ในวังอย่างผาสุกไม่ได้ เพราะเขาต้องคอยมานั่งสั่งยักษ์ให้ทำงานตลอดเวลา

ในที่สุดเขาก็คิดหาทางออกได้ เขาขอให้ยักษ์สร้างเสาต้นหนึ่งให้สูงสุด ซึ่งยักษ์ก็เนรมิตให้ทันทีทันใด เขาขอให้ยักษ์ปีนเสาต้นนี้ช้าๆ ไปถึงยอดแล้วให้ปีนลงมาช้าๆ เช่นกัน พอถึงพื้นก็ให้ปีนขึ้นไปบนยอดใหม่อีกครั้ง แล้วให้ปีนขึ้นปีนลงเช่นนี้ตลอดเวลาไม่ให้หยุดเลย

ยักษ์ตนนั้นก็เลยต้องปีนขึ้นปีนลงตลอดเวลาตามคำสั่งของนาย

ชายหนุ่มจึงเริ่มหายใจได้ทั่วท้อง ขณะนี้เขาปลอดภัยแล้ว ชายหนุ่มมีเวลาที่จะเข้าไปอยู่ในวังอย่างมีความสุขตั้งแต่นั้นมา

ยักษ์ตนนี้เปรียบเสมือนความคิดและจิตใจของเรา ถ้าเรารู้จักใช้ความคิดของเราและควบคุมความคิดของเราให้ดี เราจะได้รับผลดีจากความคิดของเรา

ถ้าเราต้องการจะทำอะไรให้ดี ให้ถูกต้อง เราต้องควบคุมจิตใจของเราให้สงบเหมือนกับชายหนุ่มในนิทานที่สามารถควบคุมยักษ์ตนนั้นได้ และสามารถทำให้ความต้องการของเขาลุล่วงสำเร็จได้

ถ้าเราควบคุมความคิดของเราไม่ได้ มันจะสร้างปัญหาให้กับเรา เราจะเริ่มต้นนั่งคิดว่าจะไปซื้ออะไร จะไปกินอะไรดี หรือจะไปเที่ยวไหนดี ฯลฯ ความต้องการจะครอบคลุมจิตใจของเรา ครอบคลุมอารมณ์ของเรา เราจะหวั่นไหวต่อความโลภ ความโกรธและความอิจฉา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นถ้าเราไม่รู้จักควบคุมความคิดของเรา เช่นเดียวกับยักษ์ตนนั้นที่ข่มขู่ชายหนุ่มตลอดเวลา

เราต้องควบคุมความคิดของเราตลอดเวลา ชายหนุ่มคนนี้ใช้ให้ยักษ์ปีนขึ้นลงที่เสาสูงต้นนั้น เราก็สามารถใช้ลมหายใจเข้าออกของเราซึ่งอยู่กับเราตลอดเวลานั้นเป็นเสาสูงแทน




 

Create Date : 18 กันยายน 2552    
Last Update : 18 กันยายน 2552 9:49:02 น.
Counter : 291 Pageviews.  

เปิดสูตรลงทุน..พระพุทธเจ้า นัยอันลึกล้ำกับ ท่านว.วชิรเมธี

บทความโดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์






ขอบคุณความ 'ผิดพลาด' ทำให้ฉลาดยิ่งกว่าเดิม ขอบคุณความ 'ไม่รู้' ทำให้รู้จักครูชื่อประสบการณ์ การลงทุนทางโลก-ทางพุทธ

หน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาดำเนินไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผู้ก่อตั้งสถาบันวิมุตตยาลัย มีนัดหมายกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek แม้การลงทุนตามแนวทางของพระพุทธเจ้าจะไม่ใช่หัวข้อหลักแห่งเจตนาที่เรามากราบขอความกระจ่าง แต่พระอาจารย์ก็ให้ความสว่างตอบได้ฉะฉานโดยประยุกต์พระคัมภีร์เข้ากับภูมิรู้ร่วมสมัย อีกทั้งใช้ภาษาที่แม้แต่คนที่รู้เรื่องพระพุทธศาสนาเพียงผิวเผินก็ตื่นรู้ได้

"พระยุคใหม่ต้องปรับพระพุทธศาสนาให้ร่วมสมัยถึงจะอยู่ร่วมกับสังคมไทยต่อไปได้ อาตมาเรียกว่าจุดยืนเดิมแต่บนบริบทใหม่ มิเช่นนั้นพระจะอยู่อย่างมีตัวตนแต่ไม่มีความหมาย" ท่านว่า

ทุกๆ วันท่าน ว.วชิรเมธี จะอ่านหนังสือพิมพ์วันละ 6-7 ฉบับ ท่านบอกว่าวิถีชีวิตประจำวันเราต้องตามให้ทันการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราไม่ศึกษาหาความรู้เราก็ไม่มีเครื่องมือมาอธิบายชีวิต ชีวิตคนเราอย่ามีแต่ความรู้ ต้องมีความลึก สิ่งที่อาตมาทำเรียกว่าการเผยแผ่ศาสนา "เชิงรุก" ให้ทั้งความรู้และความลึก

ในทางพุทธศาสนามีคำว่า เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ หรือ ธัมมิกเศรษฐศาสตร์ หรือ Buddhist Economics มีมั้ย! คำว่า Buddhist Investment...?? เราถามท่าน

"มี" ท่านว่า ค้นดูก็พบว่ามีการปรับใช้ หลักโภควิภาค 4 ในทางพระพุทธศาสนาคือการใช้จ่ายทรัพย์โดยจัดสรรเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1 ส่วน ใช้จ่ายเลี้ยงตัวเองและทำประโยชน์ 2 ส่วน ใช้ลงทุนประกอบการงาน อีก 1 ส่วน เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น

ท่าน ว.วชิรเมธี ไม่ได้พูดถึงหลักโภควิภาค 4 ตรงๆ แต่ได้เกริ่นนำด้วยคุณสมบัติของนักลงทุนที่ดี 3 ประการ ท่านว่าต้องมี 1. จักขุมา คือ วิสัยทัศน์ ต้องมีสายตาที่ยาวไกลเป็นคนมองการณ์ไกล 2. วิธุโร เป็นนักบริหารจัดการที่ดีและมีความเชี่ยวชาญในงานที่ทำ ซึ่งรวมความถึงต้องมีธรรมาภิบาลด้วย 3. นิสสยสัมปันโน ต้องมีกัลยาณมิตรเกื้อกูลอุปถัมภ์ ภาษาสมัยใหม่เรียกว่าต้องมี กู้ดคอนเนคชั่น ถ้าไม่มีคอนเนคชั่นจะทำมาค้าขายกับใครได้ล่ะ..ใช่มั้ย! พระพุทธเจ้าตรัสว่าต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่างนี้ถึงจะเป็นนักลงทุนที่ดีได้

ทีนี้มาพูดถึงการบริหารจัดการเรื่องการเงินบ้าง นี่มาถึงหลักพุทธเศรษฐศาสตร์แล้วนะ ถ้าเราได้เงินมาแล้วจะบริหารจัดการยังไง! ในทางพระพุทธศาสนาแนะนำว่า...

1. เก็บเป็นเงิน สำรองคงคลัง สำหรับความมั่นคงให้ชีวิตยามเจ็บป่วย ยามฉุกเฉิน 2. ใช้เงินนั้นมาซื้ออาหารการกินเครื่องอุปโภคบริโภคจับจ่ายใช้สอยเพื่อดูแลตัวเอง และบุคคลอันเป็นที่รักให้ กินอิ่มนอนอุ่น 3. นำเงินนั้นไปลงทุนในลักษณะ เงินต่อเงิน 4. เสียภาษีท่านใช้คำว่า "ราชพลี" (ทำเพื่อสังคม) เมื่อเราได้ผลประโยชน์จากผืนแผ่นดินนี้ก็ต้องแบ่งปันให้กับแผ่นดิน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้มาคุณเป็นหนี้บุญคุณประเทศนี้ทั้งนั้น 5. บำรุงสมณะชีพราหมณ์นักปราชญ์ราชบัณฑิตผู้ที่เป็น เสาหลักในทางธรรม ในทางสติปัญญาให้กับคนในสังคม

"นี่คือหลักการใช้เงินของพระพุทธเจ้า ห้าข้อนี้ไม่มีทางล้าสมัย ถ้าทำได้ชีวิตจะมีแต่เป็นสุข"

พระอาจารย์ไขปริศนาธรรมเรื่องการลงทุนต่อไปว่า ในโลกความเป็นจริงถ้าเรามีเงินก้อนหนึ่งเราก็ต้องฝากแบงก์ พระพุทธเจ้าแนะนำว่าต้องเอาเงินมาสร้างความมั่นคงก่อน และแบ่งส่วนหนึ่งมากินมาใช้ครอบครัวต้องกินอิ่มนอนอุ่นตรงนี้สำคัญ ท่านบอกว่ามีเงินให้เอามาใช้เพราะเงินเป็น "ปัจจัย" ไม่ใช่ "เป้าหมาย" เพราะฉะนั้นมีเงินต้องใช้เงิน เงินอีกส่วนหนึ่งให้เอาไปทำธุรกิจหรือลงทุนทำให้มัน "งอกเงย"

วัฏจักรของการลงทุนก็คือวัฏจักรของการเวียนว่ายแห่งชีวิต พระอาจารย์ อธิบายเรื่องการหากำไรในทางพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องผิดขออย่างเดียวให้มันเป็นสัมมาอาชีพ ไม่ทำให้ผู้อื่นมีความทุกข์ หรือทำกำไรบนความเดือดร้อนของผู้อื่นอันนี้รับไม่ได้ หลักในการทำธุรกิจในทางพระพุทธศาสนาได้ให้ไว้สั้นๆ คือ ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ถ้าหากินโดยสุจริตก็ขึ้นชื่อว่าเป็นนักธุรกิจที่ดีได้

คำว่า ไม่เบียดเบียนตน หมายความว่า คุณต้องเป็นนักธุรกิจหรือนักลงทุนที่ดีและเป็นมนุษย์ที่ดี คุณทำมาหากินไป สุขภาพคุณต้องดี ถ้าคุณประสบความสำเร็จแต่ชีวิตเครียดจัด คนในครอบครัวไม่พูดหากัน ต้องกินยานอนหลับทุกคืน อันนี้เรียกว่าเบียดเบียนตัวเอง

คำว่า เบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนสังคม อาชีพของคุณต้องไม่ทำให้สังคมเสียหาย เอาเปรียบคนอื่น มัวเมาสังคม ทำให้คนเป็นทาสสุรายาเสพติด ทำให้คนในสังคมมีค่านิยมที่ผิดๆ แล้วถ้าคุณได้เงินมาจากการคอร์รัปชัน เหล่านี้คือการเบียดเบียนสังคม ถ้าคุณไม่เบียดเบียนตน และไม่เบียดเบียนสังคมคุณจะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

"นักลงทุนหรือนักธุรกิจที่ดีจะต้อง "เจริญสติ" (ระลึกรู้ในสิ่งที่ทำ) อยู่เสมอ ถ้าคุณไม่เจริญสติอยู่เสมอคุณอาจจะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแต่คุณจะเป็นมนุษย์ที่ล้มเหลว"

พระพุทธศาสนาบอกว่า "การลงทุนมนุษย์" เป็นการลงทุน สูงที่สุด และสำคัญที่สุด ยกตัวอย่าง ถ้าคุณมีลูก 1. ต้องห้ามปรามจากความชั่ว 2. สั่งสอนให้เขาเป็นคนดี 3. ให้ศึกษาหาความรู้ 4. ดูแลให้เขาเลือกคู่ครองที่ดี 5. เมื่อถึงเวลาให้เขียนพินัยกรรมมอบมรดกให้ถูกต้อง นี่คือการลงทุนมนุษย์

"ในทางพุทธศาสนาเน้นมากว่า ก่อนที่จะลงทุนทำธุรกิจใดๆ ให้ลงทุนในตัวมนุษย์ให้ได้เสียก่อน ถ้ามีคนคุณภาพก็จะมีธุรกิจที่มีคุณภาพ แต่ถ้าคุณไม่มีคนที่มีคุณภาพก็จะไม่สามารถสร้างธุรกิจที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ ฉะนั้นการลงทุนในทางพุทธศาสนาจึงเริ่มต้นที่การลงทุนในตัวมนุษย์ก่อน ถามว่ามนุษย์คนไหนล่ะ! มนุษย์คนแรกที่จะต้องถูกลงทุนก่อนคือ..ตัวเราเอง"

ท่าน ว.วชิรเมธี ยกคำให้ฟังว่า ถ้าเราสร้างตึก 10 ชั้น ผ่านไป 10 ปีตึกนี้ก็ยังสูง 10 ชั้นเหมือนเดิม แต่การลงทุนให้ความรู้เราส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ 10 ปี เขาอาจจะกลับมาพร้อมกับธุรกิจหมื่นล้านก็ได้ใครจะรู้ คนนั้นมีพัฒนาการแต่วัตถุนั้นอยู่แค่ไหนก็หยุดนิ่งอยู่แค่นั้น การลงทุนที่ดีที่สุดก็คือ การลงทุนพัฒนา (คน) มนุษย์ ลงทุนดีก็เป็นมนุษย์ที่ดี ถ้าลงทุนไม่ดีก็เป็นมนุษย์ที่แย่ ในต่างประเทศเขาให้ความสำคัญมากกับ "ทุนมนุษย์" คำว่า "ทุน" ที่จริงอย่าไปมองแค่ "เงิน" มองแค่นี้มันจะทำให้ชีวิตเรา แคบ และไม่ลึก

หลักการลงทุนสูตรพระพุทธเจ้านอกจากไม่ล้าสมัยแล้ว ยังเปิดกว้างและร่วมสมัยอย่างไม่น่าเชื่อ!! เรา "ตื่นรู้" ขึ้นมาอีกนิด ขณะที่ ท่าน ว.วชิรเมธี ยังคงทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกของท่านต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และไม่รู้เหน็ดเหนื่อยด้วยรอยยิ้มแห่งธรรมและศรัทธาอันแรงกล้า




 

Create Date : 14 กันยายน 2552    
Last Update : 14 กันยายน 2552 9:05:55 น.
Counter : 446 Pageviews.  


Pocoyo's
Location :
Bangkok Singapore

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สาวไทยแท้ๆ และครอบครัว ที่มีโอกาสย้ายที่พำนักพักพิงจากดินแดนกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ มาอยู่บนเกาะเล็กๆขนาดใหญ่กว่าเกาะภูเก็ตแค่นิดเดียว นามว่า ดินแดนเทมาเส็ก
Friends' blogs
[Add Pocoyo's's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.