Group Blog
 
All Blogs
 

อะไรก็ได้ (๕๘) เรื่องผ่อนอารมณ์

อะไรก็ได้ (๕๘)

เรื่องผ่อนอารมณ์

นิตยสารทหารสื่อสาร สมัยกึ่งพุทธกาล เมื่อยังไม่มีคอลัมน์ “อะไรก็ได้” เขาก็มีคอลัมน์”ผ่อนอารมณ์” ซึ่งมีนโยบายเหมือนกัน คือผู้อ่านจะเขียนอะไรส่งมาให้ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องขำขัน เช่น

จาก ทหารสื่อสาร ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๐๓ หน้า ๖๖




หน้า ๒



หน้าสุดท้าย




 

Create Date : 17 เมษายน 2554    
Last Update : 17 เมษายน 2554 11:41:11 น.
Counter : 545 Pageviews.  

อะไรก็ได้ (๕๗) นิตยสารทหารสื่อสาร

อะไรก็ได้ (๕๗)

ในนิตยสารทหารสื่อสารฉบับเก่า ๆ นั้น มีเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับทหารสื่อสาร ที่ไม่ใช่วิทยาการด้านอิเลคทรอนิค อยู่ไม่น้อย รวมทั้งความเป็นมาของตัวนิตยสารทหารสื่อสารเอง ก็เป็นเรื่องน่ารู้ที่ไม่มีใครค่อยรู้มากนัก นอกจากผู้ที่เคยร่วมคณะผู้จัดทำ ซึ่งส่วนมากเมื่อพ้นหน้าที่ไปแล้ว ก็ไม่ได้ใส่ใจจะจำ

แต่ก็มีอยู่คนหนึ่งที่ชอบเล่าเรื่องความหลัง ของนิตยสารฉบับนี้ โดยใช้นามปากกาว่า “วชิรพักตร์” ได้เขียนเรื่องที่ไม่มีใครสนใจ ของนิตยสารฉบับนี้ ลงพิมพ์ในฉบับเดือน มกราคม ๒๕๓๙ คอลัมน์ความหลังริมคลองเปรม เล่าถึงการดำเนินการของ หนังสือพิมพ์สื่อสาร ดังนี้

หนังสือพิมพ์ของเหล่าทหารสื่อสารนั้น ไม่ต้องบอกก็รู้กันมาตั้งแต่ในมุ้งแล้ว คือนิตยสารทหารสื่อสาร ที่ท่านกำลังพลิกอยู่นี่เอง ที่สันปกบอกไว้ว่าเป็นปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๓ ประจำเดือน มกราคม ๒๕๓๙ และในหน้าสุดท้ายได้แจ้งเอาไว้ว่า ออกปีละ ๓ ฉบับ คือเดือน พฤษภาคม กันยายน และ มกราคม รวมแล้วคงจะเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์มาทั้งสิ้น ๑๔๔ ฉบับ แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

จริงอยู่นิตยสารทหารสื่อสารเริ่มดำเนินกิจการเมื่อ เดือน เมษายน ๒๔๙๑ ดังที่ได้ยืนยันไว้ในหน้าสุดท้ายเหมือนกัน เริ่มแรกออกเป็นรายสองเดือน แต่ก็ไม่สามารถจะออกได้ตรงตามกำหนดทุกปี มีขาดหายไปบ้าง ผลุบ ๆ โผล่ ๆ จนถึง พ.ศ.๒๕๓๐ จึงได้พลิกฟื้นคืนชีพมาจนถึงบัดนี้

ดังนั้นถ้าใครจะถามว่า ทหารสื่อสาร พิมพ์ออกมาแล้วกี่ฉบับ ก็ไม่มีใครสามารถจะตอบได้เลย และถึงจะค้นคว้าพยายามอย่างไรก็คงไม่สำเร็จ เพราะแม้แต่ในห้องสมุดทหารสื่อสารเอง ก็มีไม่ครบเหมือนกัน

ที่กล้ายืนยันดังนี้ ก็เพราะผมได้มีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องกับ นิตยสารทหารสื่อสารอยู่นานพอสมควร และได้พยายามค้นหามาแล้วเพื่อจะบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ แต่จนกระทั่งพ้นหน้าที่ไป ก็ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้

ผมเข้ารับราชการเป็นนายทหารประทวน สังกัดกรมการทหารสื่อสาร ได้ไม่กี่ปี ก็เริ่มส่งข้อเขียนไปลงพิมพ์ใน นิตยสาร วปถ.ปริทรรศน์ ของสถานีวิทยุกระจายเสียง กองการสื่อสารประจำถิ่น ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ ต่อมาก็ส่งให้ แฟนสัมพันธ์ ของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ ขาวดำ พอทั้งสองฉบับได้เลิกกิจการไปด้วยสาเหตุใดไม่ทราบ ผมชักจะมันมือก็เลยส่งมาให้ ทหารสื่อสาร ต่อไป ซึ่งก็ได้รับความกรุณาจากท่านบรรณาธิการ นำลงพิมพ์ให้ชื่นอกชื่นใจตลอดมา ทั้งเรื่องขำขัน เรื่องสั้น และสารคดี ซึ่งดูเหมือนจะได้ค่าน้ำหมึกหน้าละ ๑๐ บาทเสียด้วย

ต่อมาผมเขียนเรื่อง จุดดับของทหารสื่อสาร ซึ่งเป็นบทสรุปการดำเนินการของคณะ ผู้จัดทำที่ผ่านมา ลงในฉบับวันทหารสื่อสาร ๒๕๑๗ ไม่ทราบว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจ ท่านบรรณาธิการอย่างไร ท่านจึงขอพบตัวแล้วชวนให้เข้าไปร่วมในคณะผู้จัดทำด้วย แต่ตอนนั้นเป็นเวลาที่ทหารสื่อสารพักฟื้น ถึงปีต่อมาผมจึงได้ร่วมงานในกองบรรณาธิการด้วย แต่คราวนี้ตัวบรรณาธิการได้เปลี่ยนเป็นท่านอื่นไปเสียแล้ว

ผมร่วมอยู่ในคณะผู้จัดทำต่อมาอีกหลายปี จนได้เข้าไปร่วมอยู่ในคณะผู้จัดทำ หนังสือที่ระลึกวันสถาปนาสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ด้วยอีกฉบับหนึ่ง

สำหรับการหาเรื่องที่จะนำมาลงพิมพ์ในนิตยสารทหารสื่อสารนี้ แม้จะเป็นงานที่ทหารทำเองแต่เป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอใช้ ในยุคหนึ่ง ท่านได้กำหนดนโยบายหรือความมุ่งหมายไว้ว่า จะต้องให้มีสารคดีเชิงวิทยาการ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นบันเทิง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ข่าวสารของเหล่า ๓๕ เปอร์เซ็นต์ กับโฆษณาอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์

โฆษณานั้นพอหาได้ ข่าวสารของเหล่ามีมากมาย ลงไม่หมดด้วยซ้ำ แต่สารคดีเชิงวิชาการ โดยเฉพาะท่านต้องการวิทยาการของทหารสื่อสารเสียด้วย จะหาผู้เขียนได้จากที่ไหน ท่านที่เขียนได้ก็เขียนเป็นตำราที่ใช้สอนในห้องเรียนเสียหมด หาชนิดที่อ่านสนุกด้วย ได้ความรู้ด้วยยากยิ่งนัก

ทำอย่างไรจึงจะได้เรื่องตามที่มุ่งหมาย แถมยังมีปัญหาที่ว่า ๓๕ เปอร์เซ็นต์ นั้นเปอร์เซ็นต์ของอะไร ถ้านับเป็นเรื่องฉบับนั้นมี ๑๕ เรื่อง ก็ต้องเป็นของ วิทยาการเสีย ๕ เรื่อง ถ้านับเป็นหน้า ฉบับนั้นมี ๑๒๐ หน้า ก็ต้องหาให้ได้ ๔๒ หน้า แค่นี้ก็จะแย่อยู่แล้ว ใครจะมานั่งเขียนให้หวัดไหว แล้วใครจะอ่าน

เรื่องบันเทิงก็ลำบากพอใช้ ในเล่มเดียวกันนั้นต้องมีถึง ๓ เรื่อง หรือ ๒๔ หน้า แล้วมองไปในวงการทหารสื่อสาร เคยเห็นผู้ที่เขียนเรื่องประเภทบันเทิง มีอยู่ไม่กี่คนเลย แต่ข้อนี้ผมพยามแก้ด้วยการเขียนเพิ่มขึ้นเองเมื่อมีผู้ส่งมาให้ไม่พอ ก็สามารถแก้ปัญหาไปได้เป็นครั้งคราว ส่วนจะบันเทิงหรือไม่นั้นไม่ทราบ แต่ไม่ใช่วิชาการและข่าวก็แล้วกัน เพราะเหตุนี้จึงทำให้ผมมีนามปากกามากมาย แทบจำไม่ได้

ในยุคหลังนี้ค่อยยังชั่วขึ้น เพราะท่านกำหนดแต่เพียงว่าให้มี วิทยาการเหล่าทหาร สื่อสาร วิทยาการทั่วไป สารคดี บันเทิง และข่าวสาร คละกันไปเป็นใช้ได้

อุปสรรคของการจัดทำหนังสือประเภทนี้ มีอยู่หลายอย่าง ไม่ทราบว่าจะเหมือนกับเหล่าอื่น ๆ บ้างหรือไม่ เช่นหาผู้เขียนเรื่องไม่ได้ ขอให้ใครเขียนก็ปฏิเสธว่าไม่ว่างงานยุ่ง หรือรับปากไว้แล้วพอถึงเวลาขอต้นฉบับก็ผัดไปเรื่อย จนแทบพิมพ์ไม่ทันตามกำหนดเวลา หรือบางท่านขยันมากเขียนมาให้หนาปึก ตัดก็ไม่ได้ แบ่งก็ไม่ได้ ถ้าจะลงต้องเอาทั้งหมด ไม่งั้นขอคืนแล้วก็ไม่มองหน้ากันอีกต่อไป และแต่ละท่านก็ใหญ่โตกว่าผู้จัดทำทั้งนั้น บางเล่มอัดเรื่องเข้าไปจนหนาปึก เปลืองงบประมาณจนนายบ่นก็มี

การเที่ยวหาเรื่องมาลงพิมพ์นี้ ฉบับครบ ๖๐ ปีทหารสื่อสาร มีความยุ่งยากมากที่สุด เพราะหนังสือหนาเกือบ ๕๐๐ หน้า มีทั้งเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องค้นคว้าจากเอกสารมากมาย ประวัติบุคคลสำคัญของสื่อสารในอดีต เรื่องที่อยู่ในประเภทความหลัง และการพัฒนาต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มก่อกำเนิดจนถึงปัจจุบัน คณะผู้จัดทำ ๔ - ๕ คนแยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง ใช้เวลาเตรียมการร่วม ๖ เดือน แต่สุดท้ายก็เกือบจะเสร็จไม่ทันตามกำหนด และเมื่อเสร็จแล้วก็ตรวจพบว่ามีข้อผิดพลาดเหลืออยู่อีกหลายแห่ง

เรื่องความผิดพลาดนั้น บางทีก็เหลือเชื่อ อย่างเช่นเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ ทำหนังสือช้าออกไม่ทันเวลาอยู่เรื่อย ต้องรวมทีเดียว ๒ ฉบับ จาก มกราคม -เมษายน แต่ก็ยังช้าไปอีกถึง ๖ เดือน ออกได้จริง ตุลาคม และหลังวันที่ ๖ ซึ่งเป็นวันปฏิรูปการการปกครองแผ่นดินเสียด้วย หนังสือเสร็จเรียบร้อยจากโรงพิมพ์รอแจกจ่ายแล้ว บังเอิญมีคำสั่งของคณะปฏิรูป ฯ ให้งดการออกหนังสือพิมพ์ จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อน และท่านผู้ช่วยผู้จัดการ เกิดไปสะดุดเรื่อง ทหารชอบปฏิวัติจริงหรือ เห็นว่ามีเนื้อความที่น่าจะขัดตาคณะปฏิรูป ฯ จึงนำเรียนท่านบรรณาธิการพิจารณา ท่านก็ให้ผมชี้แจง

ผมก็ว่าความจริงหนังสือฉบับนี้ มีกำหนดออกก่อนที่คณะปฏิรูปฯ จะมีคำสั่งห้าม แต่ชื่อเรื่องและเนื้อเรื่องที่ถูกทักท้วงนั้นหมิ่นเหม่เกินไป มีความเสี่ยงสูงมาก และถ้าจะแก้ไขก็ยาก เพราะเย็บเล่มปิดปกเรียบร้อยแล้ว ท่านบรรณาธิการก็เสนอต่อไปถึงท่านผู้อำนวยการ ว่าควรจะรอการแจกจ่ายไว้ก่อน หรือจะให้ตัดเรื่องที่เป็นปัญหานั้นออกเสีย

ผู้อำนวยการก็ขอให้ท่านรองช่วยอ่านเรื่องนี้ดูอีกครั้ง ท่านรองก็เสนอว่าไม่เหมาะกับสถานการณ์ในขณะนั้นเหมือนกัน ท่านผู้อำนวยการจึงสั่งให้ตัดเรื่องที่เป็นปัญหาออก ก็ตกมาเป็นเวรเป็นกรรมของผมอีกที่จะต้องตัดเนื้อเรื่องซึ่งมีความยาว ๔ หน้า ออกให้หมดทั้ง ๓๐๐๐ เล่ม ผมก็ต้องยกมือประนมไหว้ ขอร้องโรงพิมพ์ให้ช่วยตัดกระดาษทั้ง ๒ แผ่นนั้นออกดื้อ ๆ ถ้าใครดูสารบัญแล้วพลิกไปหาอ่าน ก็จะไม่มีวันหาเจอเพราะว่าหน้าหนังสือกระโดดหายไปถึง ๔ หน้า จะด่าว่าอย่างไรก็ต้องเฉย เพราะยังดีกว่าที่จะต้องเข้าไปกินข้าวแดงแกงชืดอยู่ในคุก

โชคของผมยังดีที่รอดพ้นคดีความมาได้อย่างหวุดหวิด แล้วก็รอดต่อมาเรื่อยจนกระทั่ง นิตยสารทหารสื่อสาร มีอายุครบ ๔๓ ปี โดยไม่มีเรื่องอะไรที่ร้ายแรง เหมือนเมื่อครั้งนั้นอีกเลย จึงมีโอกาสได้มาฟื้นความหลัง ให้ท่านอ่านกันพอประดับสติปัญญา จึงขอภาวนาให้ท่านบรรณาธิการและผู้ช่วยคนปัจจุบัน จงโชคดีตลอดไป.

##########




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2553    
Last Update : 24 ธันวาคม 2553 5:54:53 น.
Counter : 619 Pageviews.  

อะไรก็ได้ (๕๖) บก.ทหารสื่อสาร (๒)

อะไรก็ได้ (๕๖)

จาก พ.ศ.๒๔๙๒ นิตยสารทหารสื่อสาร ก็มีบรรณาธิการต่อไปอีกสามท่าน แต่ท่านสุดท้ายอยู่นานถึง ๑๒ ปี จนถึง พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นปีที่ ๑๗ ของนิตยสารฉบับนี้ และก็มีนายทหารอีกท่านหนึ่ง เข้ามาเป็นบรรณาธิการท่านที่ ๖ และก็อยู่นานเหมือนกัน

ท่านผู้นี้แต่เดิมท่านเป็นนักเขียนกลอน ส่งมาลงประจำอยู่แล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๒ โดยเริ่มเปิดคอลัมน์ “เขียนเป็นกลอนผ่อนอารมณ์” โดยใช้นามปากกา “เณรหนูเพ็ชร์” เริ่มด้วยการกล่าวนำว่า

ริอยากเขียนเรียนกลอนสุนทรภู่
ได้ยินครูท่านสั่งเคยฟังสอน
หามีไม่ใครรู้จะสู้กลอน
ท่านสุนทรบรมครูชื่อภู่เลย ฯ

แล้วท่านก็เขียนเรื่อยเจื้อยต่อมา เป็นประจำ จนถึงเล่มที่ ๔ ปีที่ ๑๒ ประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๐๔ ได้หยุดพักไประยะหนึ่งก็มีผู้อ่านเขียนมาชมเชย ด้วยกลอนที่น่าปลื้ม ดังนี้

แด่...พ่อเณรหนูเพ็ชร์

ได้อ่านกลอนสำนวนกล้ามาหลายบท
สุดจะอดอยู่ได้ใจเต้นผาง
อยากลองเขียนดูเล่นเป็นหนทาง
เพื่อถากถางสู่ขั้นชั้นกวี
แต่ยังหาอาจารย์ชำนาญเช่น
สามเณรรูปหล่อพ่อโฉมศรี
นามหนูเพ็ชร์เด็ดแท้แง่กวี
ทั้งกลอนรีกลอนลาเข้าท่าทาง
จะว่ากลอนตอนนิราศก็ปราดเปรื่อง
จะว่าเรื่องยิงสัตว์ไม่ขัดขวาง
คงจะชอบเข้าป่าล่าเก้งกวาง
กลอนชมนางว่าเด็ดมีเม็ดพราย
พอถึงกลอนตอนโศกก็โศกซึ้ง
แต่พอถึงตอนตลกโศกก็หาย
พอมาถึงตอนเศร้าเหงาแทบตาย
มาสบายเมื่อตอนกลอนโลกีย์
ดูลีลาของพ่อเณรช่างเจนจัด
สารพัดรู้สิ้นดังชินสีห์
ทั้งการบ้านการเมืองเรื่องคดี
ช่างพาทีถูกต้องช่ำชองงาน
ข้าฯใคร่ขอมอบตัวเป็นศิษย์ใกล้
เพื่อรับใช้พ่อขรัวได้เรียกขาน
ให้สำเนาเกลาส่งสำนักงาน
หนังสือพิมพ์สื่อสารทันเวลา
ครั้นว่างจากราชการงานของราช
ช่วยประสาทกลอนครูให้ตูข้าฯ
โปรดจงได้สมเพทและเมตตา
เป็นวิชาทานเท่ากับเอาบุญ ฯ

ท่านได้เข้ารับหน้าที่ตั้งแต่ เล่มที่ ๕ ปีที่ ๑๗ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๐๙ จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นปีที่ ๒๔ เมี่อท่านได้เป็นบรรณาธิการมาถึง ๗ ปี นิตยสารทหารสื่อสาร ก็ต้องระงับการพิมพ์ลง เนื่องจากงบประมาณขาดดุล

และบทสุดท้ายของท่านก็คือเล่มที่ ๖ ปีที่ ๒๔ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๖ ความว่า

.....เป็นความจริงที่ว่าใครทำอะไรขึ้นมา แม้ว่าจะทำด้วยความปราณีตบรรจง หรือตั้งใจเพียงใดก็ดี การจะให้ถูกอกถูกใจคนทุกคน ย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉันใด ทหารสื่อสาร ของเราได้เริ่มก่อตั้งขึ้น และได้วิวัฒนาการมาโดยลำดับ จนบัดนี้นับอายุได้เป็นปีที่ ๒๔ แล้วก็ตาม คณะผู้จัดทำได้พยายามเงี่ยหูฟังคอยติดตาม และพยายามปรุงแต่ง ให้มีเรื่องหลายแง่หลายมุม เพื่อสนองความต้องการของมวลสมาชิก ที่ทัศนคติแตกต่างกันอยู่ตลอดเวลา ประดุจดังได้จัดอาหารใส่ลงในถาดหลุมแยกไว้เป็นอย่าง ๆ เพื่อให้เลือกชิมเอาได้ตามชอบใจ แต่ก็ยังปรากฏว่าสมาชิกอีกหลายท่าน ไม่ยอมแตะต้องหยิบจับหรือลองชิมรสเอาเสียเลย.....

ข้อความซึ่ง บรรณาธิการท่านที่ ๖ ได้เขียนไว้ เมื่อเสี้ยวศตวรรษแรกของ ทหารสื่อสารนั้น คงจะไม่เป็นความจริง ในยุคปัจจุบันแล้ว นิตยสารฉบับนี้ จึงสามารถยืนหยัดต่อมาได้ตลอดเสี้ยวศตวรรษที่สอง และบัดนี้ก็กำลังก้าวเดิน อยู่ในเสี้ยวศตวรรษที่สาม อย่างสง่างาม.

#########





 

Create Date : 05 ตุลาคม 2553    
Last Update : 24 ธันวาคม 2553 5:53:57 น.
Counter : 524 Pageviews.  

อะไรก็ได้ (๕๕) บก.ทหารสื่อสาร

อะไรก็ได้ (๕๕)

นิตยสารทหารสื่อสารเคยมีบรรณาธิการมาแล้วกว่า ๑๐ คนในระหว่างเวลา ๖๒ ปีที่ผ่านมา ไม่นับคณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึก ฉบับพิเศษวันทหารสื่อสาร

บรรณาธิการท่านที่ ๒ เริ่มรับหน้าที่ในปีที่ ๒ ของ นิตยสารทหารสื่อสาร ในเวลาต่อมาท่านได้เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง ของหนังสือพิมพ์ในกองทัพบก และได้เป็นบรรณาธิการ ยุทธโกษ วารสารหลักของกองทัพบก ซึ่งจัดทำโดยกรมยุทธศึกษาทหารบก

แต่ในช่วงแรกของการเป็นบรรณาธิการ นิตยสารทหารสื่อสารนั้น ท่านเล่าไว้ใน หนังสือเล่มที่ ๑ ปีที่ ๑๓ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๐๕ หลังจากได้พ้นหน้าที่ไปแล้วเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ว่ามีความลำบากทั้งกายและใจอย่างไร เป็นการเล่าอย่างเปิดอก จึงขอคัดลอกมาให้อ่านกัน ในสมัยที่ห่างจากยุคของท่านมากว่า ๕๐ ปี เพื่อเป็นกำลังใจแก่ท่านที่เป็นผู้จัดทำ และเป็นความรู้สำหรับผู้อ่าน ในยุคปัจจุบันด้วย ท่านเล่าไว้ว่า

.......เริ่มตั้งแต่หนังสือ ทหารสื่อสาร เป็นหนังสือขนาด ๘ หน้ายก ผมก็ไม่มีความรู้เสียแล้ว ส่งหนังสือมาให้เล่มหนึ่งถามว่ากี่ยก ผมก็ตอบไม่ได้ ปก ๒ สีนั้นอย่างไร ๓ สี อย่างไรไม่เข้าใจทั้งนั้น ดัมมี่คืออะไรไม่รู้จัก ไม่เคยทำ ดูอะไร ๆ ก็จะไม่รู้ไม่ทราบไปเสียทั้งนั้น ต้องวิ่งวุ่นไปขอความช่วยเหลือจากท่านที่เคยเป็นบรรณาธิการ และท่านที่เคยทำหนังสือมาแล้ว ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ให้ช่วยแนะนำและให้ความรู้

ฝ่ายทหารนั้น ในกรมการทหารสื่อสารขณะนี้ก็มีเหลืออยู่คนหนึ่ง ได้ช่วยเหลือผมอย่างมาก ผมสังเกตได้ว่า คนที่เป็นบรรณาธิการนั้น ไม่ว่าทหารหรือพลเรือนมักจะมีอะไรคล้าย ๆ กันอยู่อย่างหนึ่ง คือชอบคุย และไม่ค่อยปิดบังความรู้ พอรู้ว่าผมเป็นบรรณาธิการมือใหม่ ก็ช่วยประคับประคองเต็มที่ไม่มีรังเกียจเลย เวลาผมไปหาก็ต้อนรับขับสู้ และแนะนำหรือสอนวิชาการทำหนังสือให้เป็นอย่างดีทุกครั้งไป.....

....บรรณาธิการทุกคนย่อมไม่พ้นที่จะต้องไปหาเรื่อง (คือขอเรื่องเขามาลงพิมพ์) ถ้าไม่ขยันไปหาเรื่อง เรื่องก็อาจไม่พอตีพิมพ์ให้เต็มเล่ม จะเขียนเองก็ไม่มีสติปัญญาจะทำได้ทัน และแม้จะมีสติปัญญาเขียนให้เต็มเล่มได้ ก็คงไม่มีใครอ่าน

เรื่องการไปหาเรื่องของผม ได้ผลดีพอสถานประมาณ คือไปหาเรื่องสิบกว่าครั้ง ก็คงได้มาสัก ๒ - ๓ เรื่องไม่เหลวเปล่า นอกจากนั้นผมยังเป็นคนโชคดีอยู่ไม่น้อย คือบางครั้งที่ไปหาเรื่อง ก็ได้มาทั้งเรื่องและทั้ง แประ แต่ส่วนมากไม่ค่อยได้เรื่องได้แต่ แประ

อีกเรื่องหนึ่งก็คือการไปหาแจ้งความ ในสมัยที่ผมเป็นบรรณาธิการนั้น ต้องอาศัยแจ้งความมาช่วยในการทำหนังสืออย่างมาก ผมเองก็อยากได้ค่าแจ้งความมาก ถึงกับครั้งหนึ่งออกไปหาแจ้งความ ที่บริษัทแห่งหนึ่งด้วยตัวเอง พาเพื่อนนายทหารไปด้วยคนหนึ่ง แต่งเครื่องแบบนายพันโก้ไปทั้งสองคน พอไปถึงผู้จัดการกุลีกุจอต้อนรับอย่างดี พอรู้ความประสงค์ว่ามาขอแจ้งความเท่านั้น รู้สึกว่าเข้าแสดงอาการคล้าย ๆ จะเสื่อมความนิยม หรือทำท่าคล้าย ๆ จะเบื่อหน่ายผมขึ้นมาทันที แต่ด้วยมารยาท ผู้จัดการถามผมว่า

"หนังสือพิมพ์ทหารสื่อสารของท่านนี่ พิมพ์คราวละเท่าใด"

ผมตอบไปว่าพิมพ์ครั้งละ ๑,๕๐๐ สองเดือนเล่ม ความจริงเวลานั้นผมพิมพ์ครั้งละ ๖๐๐ เท่านั้น เพราะมีสมาชิกเพียง ๕๐๐ เศษ ๆ แต่ที่ผมต้องพูดเท็จออกไปดังนั้น ก็เพราะมีผู้รู้คนหนึ่งแนะนำว่าเวลาไปหาแจ้งความให้บอกจำนวนพิมพ์มาก ๆ เข้าไว้ บริษัทห้างร้านจึงจะนิยมให้แจ้งความ

ผมบอกแล้วก็เอากำหนดราคาค่าแจ้งความให้ผู้จัดการ ผู้จัดการขอตัวหายออกไปจากห้อง ปล่อยผมไว้กับเพื่อนนายทหาร ให้อยู่กับน้ำเย็น ๒ แก้ว ครู่ใหญ่ ๆ จึงกลับเข้ามาบอกว่า

"ผมเสียใจมากครับ ปีนี้เราไม่มีงบประมาณค่าโฆษณาเหลืออยู่เลย เอาไว้โอกาสหน้าค่อยมาใหม่เถอะครับ"

เอาไว้โอกาสหน้า ค่อยมาใหม่เถอะครับ ฟังดูคล้าย ๆ ไปข้างหน้าเถอะครับ เข้าไปเทียว

ผมทราบดีว่า ที่ผู้จัดการบริษัทบอกว่า เสียใจมากนั้น ไม่ใช่ความจริง เพราะความจริงผู้จัดการคงดีใจมาก ในการที่ผมกับเพื่อนกลับมาเสียได้ ผมสิควรเสียใจอย่างมาก เพราะยอมบาปลงทุนโกหกทั้งที ก็ยังหาได้ค่าแจ้งความสักบาทหนึ่งไม่

ตั้งแต่นั้นมา หัวเด็ดตีนขาด ผมก็ไม่ยอมไปหาแจ้งความที่ไหนอีก และไม่ยอมใช้หรือไหว้วานใครให้ไปหาแจ้งความอีก ตลอดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้......

ท่านเป็นบรรณาธิการอยู่เพียงปีเดียว แต่ท่านก็ได้ฝากข้อคิดที่ดีสำหรับผู้ที่จะมารับหน้าที่ บริหารนิตยสารทหารสื่อสารท่านต่อไป อย่างชัดเจนยิ่ง.

############




 

Create Date : 30 กันยายน 2553    
Last Update : 24 ธันวาคม 2553 5:53:27 น.
Counter : 646 Pageviews.  

อะไรก็ได้ (๕๔) เรื่องของรถราง

อะไรก็ได้ (๕๔)


รถรางเป็นรถขนส่งมวลชนประเภทแรกของประเทศไทย ที่ได้กำเนิดเกิดขึ้น ตั้งแต่รัชสมัยของ สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และมาหมดหน้าที่ลงหลังจากปีกึ่งพุทธกาลผ่านไปแล้ว ผู้ที่มีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไปในปัจจุบัน จึงอาจจะจำได้บ้าง แต่ผู้ที่อายุน้อยกว่านั้น ก็คงจะได้เห็นแต่เพียงภาพ ที่มีผู้นำมาวางในกลุ่มประวัติศาสตร์ ของห้องสมุดพันทิปเท่านั้น

เมื่อให้ Google ช่วยหาประวัติให้ ก็ได้มาดังนี้

“รถราง” TRAMWAY มีกำเนิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2430 เป็นประเทศแรกในเอเชีย จาก พ.ศ. 2431 จนถึง พ.ศ. 2511 ร้อยกว่าปีที่เริ่มมีและสามสิบกว่าปีที่หมดไป..สำหรับยานที่มีวิ่งเป็นประเทศแรกในเอเชีย

“รถราง” หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Tramway” มีกำเนิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 จากการก่อตั้งของ “ชาวเดนมาร์ค” จัดเดินรถรางขึ้นใน “เมืองบางกอก” ตามการเรียกขานในสมัยนั้น ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2430 เปิดเดิน “รถราง” คันแรกนี้ยังไม่ได้แล่นได้ด้วยตัวของมันเอง แต่จะเคลื่อนที่ไปด้วยการใช้ “ม้าลาก” ซึ่งได้เทียมม้าไว้ด้านหน้ารถ จากนั้นได้มีการเปิดดำเนินกิจการ “รถรางไฟฟ้า” ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2437

หลังจากที่สิ้นสุด “สงครามโลกครั้งที่สอง” ได้แค่สี่ห้าปี สัมปทานการเดินรถก็ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 รัฐบาลก็เข้ามาดำเนินกิจการต่อในนามของ บริษัท การไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด ในสังกัดของ “กรมโยธาเทศบาลและกระทรวงมหาดไทย” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2493

หลังจากที่มีการพัฒนาบ้านเมืองขนานใหญ่เกิดขึ้นในสมัย รัฐบาล (ของคณะปฏิวัติ พ.ศ.๒๕๐๑) พร้อมๆ กับนโยบายที่จะให้ “เลิกเดินรถรางและรถสามล้อถีบ” ในเขต “พระนคร-ธนบุรี” การเดินรถจึงค่อยๆ ลดบทบาทลงโดยการเลิกวิ่งจบสิ้นเด็ดขาดในเขตเมืองหลวงไปเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2511 หลังจากที่ได้มี “รถราง” ใช้อยู่ร่วม “80 ปี” พอดี

รถรางเป็นรถที่มีคุณสมบัติพิเศษ ที่รถชนิดอื่นทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งรถลาก(รถเจ๊ก) สามล้อถีบ รถสามล้อเครื่อง และรถยนต์ทั้งหลาย ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ซึ่งมีผู้บันทึกไว้ในนิตยสาร วปถ.ปริทรรศน์ ฉบับประจำเดือนมีนาคม ๒๕๐๑ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “มาขึ้นรถรางกันเถิด” ผู้เขียนคือ “นายพิสดาร” ซึ่งจะคัดลอกเอามาเผยแพร่ ว่ารถรางสมัยนั้นมีความมหัศจรรย์อย่างไร

....................รถที่ประชาชนจะโดยสารไปมา ไม่ว่าจะธุระหรือไม่ใช่ธุระก็ตามนั้น หาได้มีแต่เพียงเท่าที่กล่าวมาแล้ว หรือกล่าวถึงไปแล้วไม่ ยังมีอยู่อีกชนิดหนึ่ง ที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมและมีปริมาณมากมาย ซึ่งเป็นรถที่ทำให้ตำรวจจราจร ซึ่งเป็นผู้พิชิตยานยนต์ทุกชนิด ต้องยอมจำนนในทุกวิถีทาง เพราะสามารถจะบรรทุกคนได้ไม่จำกัดจำนวน ไม่ว่าจะล้นตัวถังหรือจะห้อยจะโหน ในท่าใด ในที่ใดก็ได้นอกจากหลังคา

สามารถแล่นสวนกันไปมาได้อย่างน่าตาเฉย ในถนนซึ่งกำหนดให้เดินรถทางเดียว สามารถเข้าไปแล่นได้อย่างสบายใจ ในถนนซึ่งห้ามรถอื่น ๆ แล่นและจอด ในที่ซึ่งห้ามรถทุกชนิด

สามารถเลี้ยวอ้อมวงเวียน อ้อมศรหรือบางครั้งยังผ่ากลางวงเวียนไปเสียด้วยซ้ำ สามารถทำเสียงโครมครามได้ ทั้ง ๆ ที่มีป้ายโรงพยาบาลห้ามใช้เสียง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุญาตให้ผู้โดยสารขึ้นลงได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะนอกป้ายหรือในป้าย ไม่ว่าจะหยุด หรือกำลังแล่น หรือแม้แต่ตามสี่แยกหน้าป้อมไฟจราจรของตำรวจเอง

ด้วยการบริการอย่างเรียบร้อย สุภาพเป็นกันเอง และด้วยถ้อยคำที่ไพเราะรื่นหู ของพนักงานที่ได้รับการอบรมมา อย่างดีที่สุด อย่างที่ไม่มีบริษัทรถเมล์สายไหนมาเทียบได้

รถโดยสารที่ที่แสนจะสะดวกสบายและปลอดภัยในทุกประการ ซึ่งคุณ ๆ เกือบจะลืมนึกถึงไปนี้ คือรถราง ขององค์การไฟฟ้ากรุงเทพ นี่เอง

รถรางซึ่งเป็นรถประจำทางเก่าแก่ ที่มีสายการเดินรถกว้างขวาง และเปิดบริการแก่ประชาชนคนเดินถนน มาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง จนถึงปัจจุบันซึ่งได้ถูกแก้ไขรูปทรง และสีสันเสียใหม่ จนดูเหมือนกับรถโฆษณาน้ำอัดลมอย่างเดี๋ยวนี้

มีแห่งหนตำบลใดบ้างในเขตเทศบาลนี้ ที่จะไปไม่ได้ด้วยรถราง ด้วยค่าโดยสารที่แสนจะถูก เพียงสิบสตางค์ หรือยี่สิบห้าสตางค์ ในบางสาย ซึ่งนอกจากจะใช้ซื้อน้ำแข็งเปล่า หรือให้ขอทานแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำประโยชน์อะไรได้อีก แม้แต่จะโยนทิ้งข้างถนน เด็ก ๆ ก็คร้านที่จะวิ่งมาเก็บเสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยค่าโดยสารเพียงเท่านั้น เราจะได้นั่งรถรางเสียจนเมื่อยแล้วเมื่อยอีกทีเดียว

แต่ออกจะเป็นการน่าสงสาร ที่ผู้ซึ่งเห็นประโยชน์อันใหญ่หลวง ของรถโดยสารลดค่าครองชีพนี้ ก็มักจะมีแต่ชาวต่างประเทศ ซึ่งนับเนื่องกันแล้วก็มิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน แล้วก็คนแก่ แม่ครัว แม่ค้า ภิกษุสามเณร และเด็ก ๆ นักเรียนเสียเป็นส่วนใหญ่

การที่ประชาชนคนอื่น ๆ นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ไม่ค่อยสนใจใยดีกับรถรางนั้น ก็ด้วยเหตุนิดเดียว คือความเชื่องช้าของรถโดยสารประเภทนี้น่ะเอง รถรางอาจจะแล่นได้เร็วเท่าหรือเร็วกว่ารถยนต์ทั้งหลายด้วยซ้ำ ถ้าไม่มีการรอหลีก แต่แน่นอนว่าอีกไม่ช้าไม่นานก็ต้องชนกับคันที่แล่นสวนมาเข้าจนได้ นอกไปเสียจากการทำรางสองสายให้แล่นสวนกันคนละฟากถนน หรือให้สายหนึ่งแล่นลนถนน และอีกสายหนึ่งไปแล่นอยู่บนหลังคาตึก หรือลงไปแล่นอยู่ใต้ดิน ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นได้ก็จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณไปโดยใช่เหตุแล้ว ยังจะทำให้รถรางแล่นได้เร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งย่อมจะชนใครต่อใคร และอะไรทั้งที่เป็นรถยนต์ รถสามล้อ เว้นแต่รถรางด้วยกันเอง ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมอีก

ซึ่งนอกจากจะเพิ่มงานให้แก่ตำรวจ ที่กำลังมีงานอื่น ๆ ทั้งบนบก ในน้ำ และบนอากาศอย่างเต็มมือแล้ว ยังจะพลอยให้นายแพทย์ นางสาวและนางพยาบาล ตลอดจนสัปเหร่อ ต้องพลอยปวดเศียรเวียนเกล้าไปด้วย และข้อสำคัญที่สุดก็คือ ทำให้เสียสปิริตและเทรดดิชั่น ของความเป็นรถรางเสียโดนสิ้นเชิง.......................

ทั้งหมดที่คัดลอกมานั้น ผู้อ่านคงจะมองเห็นภาพของรถรางในอดีต ที่แตกต่างจากรถรางในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งที่แล่นบนดิน แล่นเสมอยอดตึก และลงไปแล่นอยู่ใต้ดิน รวมทั้งรถรางที่แล่นไปต่อกับเครื่องบินได้ด้วย ซึ่งสามารถจะขับเคลื่อนไปโดยกำลังหรือพลังงานจากไฟฟ้าเหมือน ๆ กัน เป็นอย่างดี

เสียอย่างเดียวที่มีราคาแพงกว่ารถรางสมัยโบราณ ไม่รู้กี่ร้อยเท่า...... แค่นั้นเอง.

#############






 

Create Date : 16 กันยายน 2553    
Last Update : 24 ธันวาคม 2553 5:52:39 น.
Counter : 529 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.