Group Blog
 
All Blogs
 

เฒ่าผู้น่าเวทนา (บันทึกจากสามก๊ก)

บันทึกจากสามก๊ก

เฒ่าผู้น่าเวทนา

“ เทพารักษ์ “

เมื่อประมาณ พ.ศ.๗๒๗ ที่หมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง อยู่ระหว่างเมืองจงพวนกับเมืองตันลิว มีชายชราคนหนึ่งอาศัยอยู่กับภรรยาและครอบครัวหลายคน ชายผู้นี้ชื่อแปะเฉีย เป็นเพื่อนกับโจโก๋บิดาของโจโฉ ซึ่งทำราชการอยู่ที่ลกเอี๋ยงเมืองหลวง แต่โจโก๋รู้ข่าวว่ามีหนังสือมาจากเมืองหลวง ว่าบุตรชายของตนเป็นขบถ พยายามฆ่าตั๋งโต๊ะมหาอุปราชของพระเจ้าเหี้ยนเต้ แล้วหลบหนีไป ถ้าผู้ใดพบเจอคนที่มีหน้าตาเหมือนรูปเขียนในหนังสือ ให้จับตัวส่งไปเมืองลกเอี๋ยง จะปูนบำเหน็จให้เป็นขุนนาง แต่ถ้าผู้ใดคบคิดกันซุกซ่อนตัวไว้ จะลงโทษประหารทั้งครอบครัว โจโก๋จึงหนีหายไป ว่าจะไปอยู่เมืองตันลิว

แล้วเย็นวันหนึ่งก็มีชายสองคนขี่ม้ามาที่บ้านแปะเฉีย คนหนึ่งชื่อตันก๋งเป็น เจ้าเมืองจงพวน และอีกคนหนึ่งก็คือโจโฉ ลูกชายของโจโก๋ที่ต้องคดีมหันตโทษนั่นเอง โจโฉมาถามข่าวคราวของบิดา เมื่อทราบว่าได้หนีไปเมืองตันลิวแล้ว ก็ขอพักอาศัยอยู่สักคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นก็จะตามไปหาบิดา เมื่อแปะเฉียถามถึงเรื่องราวที่ต้องคดี โจโฉก็เล่าให้ฟังว่า

เมื่อตั๋งโต๊ะถอดฮ่องเต้หองจูเปียนออกจากราชบัลลังก์ และยกหองจูเปียนผู้น้องขึ้นเป็นฮ่องเต้แทน แล้วตั้งตนเป็นเจ้าพระยามหาอุปราชนั้น ก็ปกครองบ้านเมืองด้วยความโหดร้ายทารุณ จนขุนนางทั้งปวงทั้งเกลียดทั้งกลัว ตนจึงรับอาสาอ้องอุ้นขุนนางผู้ใหญ่ จะไปฆ่าตั๋งโต๊ะเสีย เพราะตนเป็นทหารคนสนิทผู้ใกล้ชิดเข้านอกออกในได้ แต่ไม่สำเร็จเพราะตั๋งโต๊ะรู้ตัวเสียก่อน ตนจึงออกอุบายหนีเตลิดออกมาจากเมืองหลวง จนถึงเมืองจงพวน

และมาเจอกับตันก๋งเจ้าเมืองซึ่งมีความเข้าใจ ในเจตนาอันบริสุทธิ์ของตน ที่จะช่วยฮ่องเต้ให้พ้นจากเงื้อมมือของทรราชย์ตั๋งโต๊ะ จึงละทิ้งตำแหน่งหน้าที่ ติดตามมากับตน โดยเป็นผู้จัดหาอาวุธ และม้าพาหนะ เพื่อจะเดินทางไปหาบิดาที่เมืองตันลิว และหลังจากที่บุกป่า ฝ่าดงมาได้สามวันแล้ว จึงมาถึงที่นี่

แปะเฉียก็ยินดีช่วยเหลือบุตรชายของเพื่อน จึงบอกกับตันก๋งว่า

“……ขอบใจท่านมีกตัญญูต่อแผ่นดิน ถ้ามิได้ท่านโจโฉก็ตาย ท่านจงพากันนอน อยู่ที่นี่เถิด ต่อเวลาพรุ่งนี้จึงค่อยไป…….”

แล้วแปะเฉียก็เข้าไปในครัวสั่งแก่พ่อครัว ให้เอาสุกรและไก่มาทำอาหารเลี้ยงแขก แล้วก็กลับมาบอกแก่โจโฉว่า สุราที่มีอยู่ไม่ดีพอ จะไปหาสุราที่ดีมาให้กิน แล้วก็รีบออกจากบ้านไปหาซื้อสุรา

เมื่อแปะเฉียออกจากบ้านไปแล้ว ขณะที่โจโฉกับตันก๋งนั่งคอยอยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงคนครัวพูดกันว่า เราจะมัดก่อนหรือจะฆ่าเสียทีเดียว โจโฉซึ่งร้อนตัวกลัวภัย ก็ระแวงว่าแปะเฉียจะเล่นไม่ซื่อ จึงปรึกษากับตันก๋งว่า

“…… แปะเฉียนี้เป็นแต่เกลอของบิดา เห็นจะไปบอกนายบ้านให้มาจับเรา จึงสั่งไว้แก่คนที่เรือน คนที่เรือนจึงว่าจะมัดก่อนหรือจะฆ่าทีเดียว…….”

ตันก๋งก็พลอยหวาดสดุ้งไปด้วย จึงพลอยว่า

“…….เราไม่รู้จักน้ำใจแปะเฉีย จะประมาณการนั้นไม่ได้…..”

โจโฉจึงว่าจะเอามันไว้ทำไม แล้วก็ชักกระบี่ออกวิ่งเข้าไปฟันพ่อครัว กับบุตรภรรยาแปะเฉีย ตายไปแปดคน พอดีตันก๋งเหลือบไปเห็นสุกรที่เขามัดไว้ก็ตกใจ จึงว่า

“……เขามัดสุกรไว้จะฆ่าต่างหาก ท่านมาฆ่าผู้คนบุตรภรรยาแปะเฉียเสียนั้น ผิดนัก…….”

โจโฉจึงได้รู้ว่าตัวพลาดไปแล้ว ก็ตกใจกลัวความผิดเช่นเดียวกัน จึงพาตันก๋งควบม้าหนีออกจากบ้านโดยไม่รอช้า

ความตอนนี้ สามก๊ก ฉบับของท่าน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า

ครั้นไปประมาณยี่สิบเส้น พอพบแปะเฉีย ๆ ถามว่าไม่อยู่กินข้าวจะไปไหนเล่า โจโฉตอบว่าข้าพเจ้าเป็นคนผิดอยู่จะรีบไปให้พ้นภัย ก็ขับม้าไปแล้วก็ได้คิด จึงกลับม้ามาเรียกแปะเฉีย ว่าจะสั่งความไว้ แปะเฉียก็หยุดอยู่ โจโฉมาถึงเอากระบี่ฟันแปะเฉียตาย ตันก๋งเห็นดังนั้นก็ยิ่งตกใจเป็นอันมาก จึงว่าแก่โจโฉว่า เมื่อกี้ฆ่าบุตรภรรยาผู้คนเขาเสียแล้ว บัดนี้ซ้ำมาฆ่าตัวแปะเฉียเล่า โจโฉจึงตอบว่า เมื่อกี้เราคิดผิดอยู่แล้ว ครั้นจะละไว้แปะเฉียก็จะโกรธไปบอก นายบ้าน ๆ ก็จะคุมกันมาตามจับเรา ส่งขึ้นไปเมืองหลวง เราจึงซ้ำฆ่าแปะเฉียเสีย หวังจะให้เนื้อความสุญไป ตันก๋งจึงว่าโจโฉว่า ท่านมีความคิดผิดเมื่อมิทันรู้ ฆ่าบุตรภรรยาผู้คนเขาเสีย ครั้นรู้ตัวว่าผิดแล้ว มาซ้ำฆ่าแปะเฉียเสียฉะนี้ เป็นคนอกตัญญูหาดีไม่ โจโฉจึงว่าแกตันก๋งว่า ท่านว่าฉะนี้ก็ชอบกลอยู่ แต่ว่าธรรมดาเกิดมาทุกวันนี้ ย่อมจะรักษาตัวมิให้ผู้อื่นคิดร้ายได้

แล้วทั้งสองก็พากันหนีต่อไป แต่เมื่อโจโฉพักนอนหลับ ตันก๋งก็แอบขึ้นม้าแยกหนีไปอีกทางหนึ่ง ไม่ยอมเดินทางร่วมกับโจโฉไปถึงเมืองตันลิวด้วย

คดีฆาตกรรม ยกครัวแปะเฉียนี้ อีกกว่าพันปีก็ได้มีผู้นำมาเสนออีกครั้งหนึ่ง มีความในตอนท้ายว่า

ตันก๋งผู้ตั้งใจจะใช้ชีวิตเป็นเพื่อนร่วมตาย ตะลึงไปต่อการกระทำอย่างโหดเหี้ยมป่าเถื่อนนั้น นี่อะไรกันฆ่าครอบครัวลูกเมียของเขาเหี้ยนเตียนบ้าน แล้วซ้ำยังมาประกอบกรรม ทำร้ายตัวเขาเองด้วยอีกเล่า โจโฉตอบว่านั่นน่ะซี เพราะเหตุได้ฆ่าฟันครอบครัวเหี้ยนเตียนน่ะซี ถ้าขืนปล่อยให้แปะเฉียคืนเรือน ไปพบกรรมที่เราก่อไว้ ไม่ต้องสงสัยว่าผู้เฒ่าแปะเฉียจะไม่คลั่ง และรีบร้อนไปแจ้งความเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองให้มาเล่นงานเรา

และโจโฉก็สรุปสุดท้ายว่า

หลักของข้าพเจ้ามีอยู่ว่า ข้าพเจ้าสมัครทรยศโลก มากกว่ายอมให้โลกทรยศข้าพเจ้า

เมื่อถึงประโยคนี้ ผู้อ่านก็จะทราบทันทีว่าเป็นสำนวนของท่าน ยาขอบ นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อประมาณห้าสิบปีมาแล้ว ใน สามก๊กฉบับวนิพก ชุด โจโฉผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ

และหลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี ก็มีผู้วิเคราะห์คดีฆาตกรรมเรื่องนี้อีก ซึ่งมีข้อความโดยพิศดารว่า

ในชั้นต้นขอทบทวนความจำกันก่อนว่า คำสั่งจับโจโฉนั้น สั่งให้จับเป็นมิใช่จับตาย น่าสังเกตว่าพอโจโฉเข้ามาในบ้านแปะเฉีย ๆ ก็บอกว่า ตนรู้เรื่องประกาศจับโจโฉดี แต่น่าประหลาดที่แปะเฉียมิได้กริ่งเกรง ในการรับโจโฉเข้ามาไว้ในบ้าน เพราะประกาศนั้นบอกไว้แน่ชัดว่า หากปรากฎว่าใครให้ความคุ้มครองแก่โจโฉ จะต้องเป็นโทษถึงชีวิตตลอดจนบุตรภรรยา แปะเฉียเป็นเพียงคนชนบท แต่ก็หากลัวอาญาที่รุนแรงถึงเพียงนั้นไม่ และก็ไม่ปรากฎว่าโจโฉกับแปะเฉียสนิทสนมกันมาก่อน ถึงกับสละชีวิตตนให้กันได้ อาการของแปะเฉียนั้นน่าสงสัยว่าจะคิด มิดีมิร้ายต่อโจโฉเสียแล้ว

ประการที่สอง แปะเฉียกล่าวว่า โจโก๋บิดาโจโฉหนีจากเมืองตันลิวไปแล้ว อันนี้เป็นความเท็จ เพราะเมื่อโจโฉไปถึงเมืองตันลิวก็พบบิดาอยู่ปกติสุขมิได้หลบหนีไปไหน ชะรอยแปะเฉียจะลวงโจโฉเพื่อหน่วงไว้มิให้รีบรุดเดินทางต่อไป แล้วแปะเฉียก็แก้ตัวว่าจะออกไปซื้อเหล้า ซึ่งความจริงเห็นจะไปบอกเจ้าหน้าที่ให้มาจับโจโฉจริง ๆ ดังที่โจโฉสงสัย เพราะเมื่อโจโฉหนีออกจากบ้านแปะเฉียไป ก็พบแปะเฉียอยู่ห่างบ้านถึงยี่สิบเส้น ในมือก็ไม่มีเหล้า ผิดวิสัยคนที่จะไปซื้อเหล้ามาเลี้ยงเพื่อน

ประการที่สาม ก่อนที่แปะเฉียจะออกจากบ้านคงแอบสั่งคนใช้ไว้แล้วว่า ถ้าโจโฉจะหนีก็ให้จัดการ แต่คนใช้แปะเฉียอาจไม่รู้เรื่องประกาศจับโจโฉดีว่า ใหจับเป็นหรือจับตาย จึงต้องปรึกษาหารือกันว่า จะมัดไว้ก่อนหรือจะฆ่าเลยทีเดียว เรื่องหมูที่มัดไว้นั้นเห็นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะถ้าหากแปะเฉียจะสั่งคนครัวให้หาของไว้กินแกล้มเหล้าจริง คนครัวก็น่าจะฆ่าหมูได้เลย เพราะเวลาก็ค่ำลงแล้ว ไม่เห็นมีเหตุที่จะต้องปรึกษากันว่า จะต้องมัดไว้ก่อนแล้วจึงฆ่า หรืออะไรเช่นนั้น

ส่วนตันก๋งนั้นเป็นคนยังอ่อนต่อเหตุการณ์ เห็นอะไรก็ตกใจอื้ออึงไปตามเรื่อง การที่โจโฉต้องฆ่าคนคราวนี้ ก็เพราะความจำเป็นบังคับให้ทำ โจโฉจำเป็นต้องรักษาตัวเอาไว้ เพื่อแผ่นดินต่อไป

ท่านผู้อ่านก็คงจำได้อีกว่า นี่เป็นสำนวนของปราชญ์ใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านหนึ่ง คือ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมช จาก สามก๊กฉบับนายทุน ตอน โจโฉนายก ฯ ตลอดกาล นั่นเอง ซึ่งนับว่าท่านช่วยแก้ต่างให้กับโจโฉได้ อย่างน่าเชื่อถือทีเดียว

แต่ภายหลังมีอีกสำนวนหนึ่งให้รายละเอียด ในการตายของแปะเฉียว่า เมื่อโจโฉกับตันก๋งรีบขึ้นม้าหนีออกจากบ้านแปะเฉียนั้น

พอมาได้ไม่ถึงสองลี้ พบแปะเฉียขี่ลากลับ มีเหล้าแขวนอยู่ที่อานสองขวด ในมือถืออาหารอย่างดีมาด้วย แปะเฉียร้องถามคนทั้งสองว่า

“ หลานเรากับท่านผู้มีพระคุณ จะรีบไปไหนเสียเล่า ”

โจโฉตอบว่า

“ ข้าพเจ้ามีคดีอาญาติดตัว จะอยู่นานหาได้ไม่ “

แปะเฉียร้องว่า

“ ข้าพเจ้าได้สั่งให้คนที่บ้าน ฆ่าหมูตัวหนึ่ง เพื่อทำกับข้าวเลี้ยงหลานกับท่านผู้มีพระคุณ ขอจงกลับไปร่วมกินโต๊ะกันก่อนเถิด “

โจโฉไม่ยอมกลับ กระตุ้นม้าออกวิ่งต่อไป แต่แล้วก็กระชากกระบี่วกกลับหลังหัน พลางร้องตะโกนเรียกแปะเฉียว่า

“ หันมาดูซิว่า คนที่มาหาท่านนี้คือใคร “

พอแปะเฉียเหลียวหลัง โจโฉก็ใช้กระบี่ฟันแปะเฉียตกจากหลังลา ตาย คาที่ ตันก๋งตกใจพูดว่า

“ เมื่อกี้ท่านฆ่าคนในบ้านด้วยความเข้าใจผิด มาคราวหนึ่งแล้ว ไฉนท่านกลับกระทำร้ายแปะเฉียเช่นนี้อีก “

โจโฉตอบว่า

“ หากแปะเฉียกลับไปถึงบ้าน เห็นคนในบ้านถูกฆ่าตายหมด เขาจะนิ่งเฉยอยู่ได้หรือ เขาคงต้องเรียกคนไล่ตามมา ก็จะเป็นภัยแก่เราเป็นมั่นคง “

ตันก๋งจึงว่า

“ ฆ่าคนโดยเจตนาเช่นนี้ ผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรง “

โจโฉตอบว่า

“ ข้าพเจ้ายอมเนรคุณคนในใต้ฟ้า ดีกว่าปล่อยให้ตนในใต้ฟ้าเนรคุณข้าพเจ้าได้ก่อน “

สำนวนนี้มาจาก สามก๊กฉบับแปลใหม่ ของ วรรณไว พัธโนทัย ซึ่งแปลมาจากต้นฉบับภาษาจีน อันมีข้อความแตกต่างกับกับสำนวนเก่าอย่างชัดเจน

สำหรับท่านผู้อ่านขณะนี้ ท่านจะเห็นด้วยกับสำนวนของผู้ใด ก็สุดแท้แต่วิจารณญาณของท่านเอง เพราะถึงอย่างไรแปะเฉียและครอบครัว ก็ได้ตายไปแล้วนับพันปี ไม่ว่าจะถูกฆ่าด้วยเหตุผลสมควรหรือไม่ประการใดก็ตาม คงจะไม่มีผู้ขุดกระดูกขึ้นมา ฟ้องร้องให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ ใน พ.ศ.นี้ อย่างแน่นอน.

##########






 

Create Date : 22 กันยายน 2551    
Last Update : 22 กันยายน 2551 18:49:09 น.
Counter : 374 Pageviews.  

เก็บตกจากพงศาวดารจีน

บันทึกของคนเดินเท้า

เก็บตกจากพงศาวดารจีน

“ เทพารักษ์ “

พงศาวดารจีนที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว ถ้าไม่นับเรื่องสมัยปัจจุบัน ที่มีผู้แปล ชื่อดังอยู่สองท่านนั้น สามก๊กนับว่าเป็นเรื่องที่มีผู้สนใจมากที่สุด ในรอบร้อยหรือสองร้อยปีที่ผ่านมา ถ้าจะเอ่ยถึงประโยคที่ว่า

" ธรรมดาเกิดมาทุกวันนี้ ย่อมจะรักษาตัวมิให้ผู้อื่นคิดร้ายได้ "

ทุกท่านก็ย่อมจะทราบเป็นอย่างดีว่า เป็นคำพูดของโจโฉ ที่แก้ตัวกับตันก๋ง เมื่อเผลอฆ่าครอบครัวของแปะเฉีย ผู้เฒ่าชาวเมืองตันลิว ตายไปรวดเดียวแปดคน แล้วก็ตามไปฆ่าตัวแปะเฉียอีกคนหนึ่งด้วย เพื่อให้ตนเองรอดพ้นจาก อาญาของบ้านเมือง

แต่ในพงศาวดารจีนเรื่องอื่น ๆ ก็มีข้อความที่เป็นคติ แทรกอยู่ด้วยเสมอ อย่างในเรื่องซ้องกั๋งนั้น นายโจรคนหนึ่งชื่อลิมชอง ในอดีตเคยเป็นครูฝึกทหารอยู่ในเมืองหลวง แต่ถูก ขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายทหารเกลียดชัง แกล้งหาเรื่องให้ต้องโทษเนรเทศ ให้ไปอยู่เมืองชองจิว ผู้คุมสองคนที่จะคุมตัวจากเมืองหลวงไปส่งที่เมืองชองจิว ได้รับสินบนจากขุนนางผู้นั้น ให้หาทางฆ่าลิมชองเสียที่กลางทาง เมื่อถึงกลางป่าก็จับลิมชองมัดไว้กับต้นไม้ เตรียมจะตีด้วยกระบองให้ตายคามือ หลวงจีนลูตีซิมเพื่อนของลิมชอง ตั้งแต่ก่อนบวชเป็นหลวงจีน ก็ตามมาช่วยไว้ทัน และบังคับให้ผู้คุมทั้งสอง คอยรับใช้ลิมชองไปตลอดทาง มิฉะนั้นจะฆ่าเสีย ตัวหลวงจีนก็คอยติดตามดูแลไปด้วย ลิมชองก็ถามว่าหลวงพี่จะไปไหนด้วยหรือ หลวงจีนลูตีซิมตอบว่า

"ฆ่าคนก็ต้องให้เห็นโลหิต คิดจะช่วยกันก็ต้องช่วยให้ตลอด"

ซึ่งเป็นการแสดงความซื่อตรงต่อมิตร และเมื่อเดินทางพ้นป่าเปลี่ยว ใกล้จะถึงเมืองชองจิว หลวงจีนจะลาแยกทางไป ก็คาดโทษสองผู้คุมไว้ว่า ถ้าลิมชองเป็นอันตราย ตนจะตามไปฆ่าเสียทั้งสองคน ลิมชองจึงรอดไปถึงคุกเมืองชองจิวได้ โดยปลอดภัย

จากเรื่องไต้อั้งเผ่า หรือไฮ้สุย ซึ่งเป็นชื่อตัวเอก เมื่อครั้งเดินทางจากบ้านนอก เข้าไปสอบไล่ในเมืองหลวง ขณะที่นอนอยู่ในโรงเตี๊ยม มีโจรสองคนย่องเข้ามาจะลักของ ไฮ้สุยกับเพื่อนช่วยกันจับไว้ได้ เจ้าของโรงเตี๊ยมจะให้เอาตัวไปส่งนายอำเภอ โจรนั้นก็อ้อนวอนขอโทษ ไฮ้สุยก็ใจอ่อนแต่สั่งสอนว่า

"คนที่เล่าเรียนหนังสือ และคนค้าขายทำไร่นาเรือกสวน และคนที่ทำการรับจ้างหาเลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรม คนเหล่านี้ล้วนแต่ดีทั้งนั้น คนที่หากินโดยเป็นโจร และการฉ้อกระบัดเบียดเบียนผู้อื่น คนจำพวกนี้เรียกว่าชั่ว คนบังเกิดมาในโลกนี้ย่อมมีอยู่สองอย่าง คือดีและชั่วดังนี้ เมื่อรู้จักการดีและชั่ว ต้องละข้างชั่วถือเอาแต่ข้างดี
ประการหนึ่งทรัพย์สิ่งของทองเงินที่คนดีทำมาหาได้ มาไว้ในบ้านเรือนเป็นของบริสุทธิ์ เปรียบเหมือนน้ำในตุ่มตั้งไว้ จะกินจะใช้เมื่อใดก็ได้ดังใจปรารถนา เพราะเป็นของเย็น ผู้ที่หาทรัพย์สิ่งของทองเงินมาได้ด้วยการอันไม่เป็นธรรม เปรียบเหมือนเอาเพลิงมากองไว้ในบ้านในเรือน มีแต่ความร้อนใจเป็นธรรมดา "

โจรสองคนได้ฟังไฮ้สุยอบรมแค่นี้ ก็เกิดความสำนึกผิด จึงเลิกเป็นเป็นโจรขอติดตามรับใช้ไฮ้สุยไปตลอดชีวิต คนโบราณนี่สอนง่ายดีจริง

จากเรื่องไซจิ้น ซึ่งอยู่ในรัชสมัย พระเจ้าซีโจบู๊ฮ่องเต้ หรือพระเจ้าสุมาเอี๋ยน หลังจากรวบรวมแผ่นดินสามก๊ก ให้เป็นหนึ่งเดียวแล้ว ทรงดำริว่าบ้านเมืองปลอดจากศึกสงครามแล้ว ซึ่งจะให้หัวเมืองซ้อมหัดทหารต่อไปนั้น เป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ จึงมีรับสั่งให้หัวเมืองใหญ่น้อย เลิกการฝึกหัดทหาร ปล่อยให้ไปทำมาหากินตามภูมิลำเนา จึงมีขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งกราบทูลว่า

“…….ซึ่งบ้านเมืองได้เป็นสุขอยู่ทุกวันนี้ เพราะเจ้าเมืองกรมการทั้งปวง ฝึกหัดทหารและสร้างสมเครื่องสาตราวุธไว้พรักพร้อม ข้าศึกศัตรูจึงได้เกรงขาม ผู้ที่คิดประทุษร้ายต่อแผ่นดินนั้น ก็ครั่นคร้ามคิดทำไปไม่ตลอด และผู้ที่มีใจหยาบช้าแต่ยังไม่ทรยศนั้นเล่า ก็ไม่อาจกำเริบขึ้นได้ เปรียบเหมือนมีกำแพงศิลาอันหนาแน่น ล้อมรอบพระราชอาณาเขตอยู่ ถ้าพระองค์โปรดให้เลิกการหัดทหารเสียแล้ว คนที่เป็นพาลสันดานโลภ ก็จะคิดตั้งตัวเป็นใหญ่ มากระทำย่ำยีแก่บ้านเมือง แม้นเกิดศึกสงครามขึ้นแล้ว จะเรียกเอาทหารที่ไหนมาสู้รบข้าศึกได้ทันท่วงทีเล่า…..”

แต่ฮ่องเต้ไม่ทรงเชื่อ มีรับสั่งให้หัวเมืองลดกำลังทหารลง ตามที่ทรงดำริ กองทัพจึงเล็กลงโดยไม่ได้เพิ่มเทคโนโลยี เหมือนเช่นสมัยนี้

อีกตอนหนึ่งในเรื่องเดียวกัน ฮ่องเต้ขาดแคลนที่ปรึกษา อยากจะได้ตัวซินอ๋อง ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ จากเมืองแซจิวเข้ามารับราชการในเมืองหลวง ซินอ๋องก็อิดเอื้อนไม่อยากรับ พวกขุนนางในเมืองแซจิวก็สงสัย ถามว่าเหตุใดจึงไม่อยากรับ ซินอ๋องก็บอกว่ากลัวจะทำการไปไม่ตลอด เพราะในเมืองหลวงมีขุนนางกังฉินอยู่มาก และปราชญ์แต่ก่อนกล่าวไว้ว่า
"เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เปรียบเหมือนพ่อค้าสองจำพวก จำพวกหนึ่งขายครามและกระเหม่า จำพวกหนึ่งขายชาดและเสน ถ้าค้าขายสิ่งใดมือต้องเปื้อนสิ่งนั้น
อันคบด้วยคนพาลไม่ตัองอยู่ในยุติธรรมแล้ว ก็ย่อมจะชักนำพาให้ประพฤติการที่ชั่ว เหมือนกับพวกพ่อค้าที่ขายครามและกระเหม่า ก็จะพลอยให้มือดำ
ถ้าคบค้าสมาคมด้วยผู้มีสติปัญญา ประกอบด้วยความสัตย์สุจริตแล้ว มีแต่จะชักพาให้ประพฤติแต่การที่ดี เป็นประโยชน์แก่ตัวและผู้อื่น เปรียบเหมือนพ่อค้าขายเสนและชาด มือก็พลอยแดงด้วย"

คนสมัยโบราณคงจะไม่มีผงซักฟอกอย่างดี ที่จะล้างมือให้สะอาด ปราศจากสีที่เปื้อนได้ จึงกลัวคนอื่นจะรู้ว่ามือดำ ไม่เหมือนสมัยนี้ที่มือสะอาดด้วยกันทุกคน ไม่ว่าใจจะซื่อหรือไม่ซื่อ

และสุดท้ายจากเรื่อง เปาเล่งถูกงอั้น หรือเปาบุ้นจิ้นอันลือชื่อนั้นเอง เป็นคำนำของท่านผู้แปล ซึ่งได้สรรเสริญเรื่องนี้ไว้เป็นคำกลอนว่า

".....ด้วยเห็นว่าน่าอ่านศาลตัดสิน
ไม่ป่ายปีนแบบฉบับตำรับสอน
ยุติธรรมถูกกฎบทบวร
ท่านแต่ก่อนวินิจฉัยในคดี

ได้ตรวจความตามเป็นรู้เห็นแล้ว
เปรียบด้วยแก้วเจียระไนที่ใสศรี
ถ้าใครจำทำในใจในวิธี
ตำแหน่งที่พิพากษาเบื้องหน้าไป

ย่อมเป็นเครื่องปรุงญาณวิจารณ์เห็น
แก่ผู้เป็นกรรมการในศาลใหญ่
โดยระเบียบเทียบคดีชอบที่ใช้
จะเห็นในเท็จจริงสิ่งสำคัญ

ให้เท็จแท้แพ้จริงไม่กลิ้งศัพท์
จะไม่กลับจริงแท้แพ้เท็จผัน
ความพิรุธทรุดสำนวนควรเป็นธรรม์
บางเรื่องนั้นจริงที่สุดแต่ทรุดมี

ถ้าใครจำสำเนาไม่เดาดื้อ
ฉลาดซื่อจึงจะชอบรอบวิถี
อันองค์ห้าอย่าได้ละจึ่งจะดี
สิ้นชีวีชื่อยังดังอยู่นาน....."

สำหรับคำว่าองค์ห้า ท่านก็ได้ขยายความออกไปให้ฟังอย่างชัดเจนว่า

".....อันพร้อมด้วยองค์ห้าเป็นข้าบาท
ทั้งฉลาดทั้งตรงคงวิถี
หนึ่งคือสุจริตดวงจิตฟรี
ไม่มีที่คัดค้านสถานใด

สองคือสัตย์ตัดมุสาวาจาเที่ยง
ไม่กลิ้งเกลี้ยงเช่นลูกปืนขืนนิสัย
สามเมตตาปราณีไมตรีใน
ผู้ดีไพร่ทั่วเที่ยงไม่เอียงออม

สี่หมั่นกตัญญูพระผู้เป็นเจ้า
ที่ปกเกล้าชนทั้งสิ้นทรงกลิ่นหอม
ห้ากำหนดอดกลั้นขันติพร้อม
มิได้ยอมแพ้กิเลสเจตนา....."

เรื่องราวของเปาบุ้นจิ้นนี้ แม้ว่าจะบันทึกไว้นานนับพันปี และคำนำนี้ก็เขียนมาเป็นเวลานับร้อยปีแล้ว แต่ยังเป็นความจริง และคนอย่างเปาบุ้นจิ้นนี้ ก็ยังเป็นที่ต้องการของบ้านเมืองมาทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่เหลือน้อยลงไปทุกที จนต้องมีศาลสำหรับตัดสินคดีพิเศษ เพิ่มขึ้นจากศาลปกติ จนชาวบ้านซึ่งเป็นคนเดินดินโหนรถเมล์ แทบจะจำได้ไม่หมด และมีคดีต่อคิวกันแน่นขนัดทุกศาล เช่นในปัจจุบันนี้.

############




 

Create Date : 16 กันยายน 2551    
Last Update : 16 กันยายน 2551 11:53:35 น.
Counter : 497 Pageviews.  

นิยายอิงพงศาวดารจีน โดย เล่าเซี่ยงชุน

นิยายอิงพงศวดารจีน ในยุครัตนโกสินทร์

ในยุครัตนโกสินทร์ ได้มีการแปลนิยายอิงพงศาวดารจีน เป็นภาษาไทยสำหรับประชาชนตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๒๓๔๘ ในรัชกาลที่ ๑ เริ่มด้วยเรื่อง ไซ่ฮั่น และสามก๊ก และดำเนินการต่อมาจนถึง เรื่องสุดท้ายคือ โหงวโฮ้วเพ็งปัก เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๕ ในรัชกาลที่ ๖ รวมเป็นหนังสือ ๓๕ เรื่อง

ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่งให้ เกี่ยวพันกับพงศวดารจีนตั้งแต่ ก่อนพุทธศักราช ๒๑๕๔ ปี จนสิ้นสุดยุคฮ่องเต้เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔

ถ้าเรียงตามลำดับราชวงศ์ของจีน ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้คือ

๑.เรื่องไคเภ็ก เริ่มตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ก่อน พ.ศ.๒๑๕๔ ปี ถึงก่อน พ.ศ.๑๒๔๐ ปี อยู่ในสมัยราชวงศ์แฮ่ และราชวงศ์เซียว ดำเนินการแปลเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๐

๒.เรื่อง ห้องสิน และ เลียดก๊ก เริ่มตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๑๒๔๐ ปี ถึง พ.ศ.๒๙๗ อยู่ในสมัยราชวงศ์เซียว และราชวงศ์จิว ดำเนินการแปลเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๒

๓.เรื่อง ไซ่ฮั่น, ไต้ฮั่น, ตั้งฮั่น เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๙๘ ถึง พ.ศ.๓๓๗ อยู่ในสมัยราชวงศ์จิ้น และราชวงศ์ฮั่น ดำเนินการแปลก่อน พ.ศ.๒๓๔๘

๔.เรื่อง สามก๊ก เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๓๓๗ ถึง พ.ศ.๘๐๗ อยู่ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์วุย และราชวงศ์จิ้น ดำเนินการแปล ก่อน พ.ศ.๒๓๔๘

๕.เรื่อง ไซจิ้น, ตั้งจิ้น, น่ำซ้อง เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๘๐๘ ถึง พ.ศ.๑๑๓๒ อยู่ในสมัยราชวงศ์จิ้น, ราชวงศ์ซอง, ราชวงศ์ชี, ราชวงศ์เหลียง และราชวงศ์ตั้น ดำเนินการแปลเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๑

๖.เรื่องส้วยถัง, ซุยถัง เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๑๑๓๒ ถึง พ.ศ.๑๑๖๓ อยู่ในสมัยราชวงศ์ถัง ดำเนินการแปลเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๘

๗.เรื่อง เสาปัก, ซิยิ่นกุ้ย, ซิเตงซัน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๑๑๖๑ ถึง พ.ศ.๑๔๕๐ อยู่ในสมัยราชวงศ์ถัง ดำเนินการแปลเมื่อ ๒๔๑๓, ๒๔๔๙ และ พ.ศ.๒๔๖๕

๘.เรื่อง หงอโต้ว เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๑๔๕๐ ถึง พ.ศ.๑๕๐๓ อยู่ในสมัยราชวงศ์เหลียง, ราชวงศ์จัง, ราชวงศ์จิ้น, ราชวงศ์ฮั่น และราชวงศ์จิว ดำเนินการแปลเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๙

๙.เรื่อง น่ำปักซ้อง, บ้วนฮ่วยเหลา, โหงวโฮ้วเพงไซ, โหงวโฮ้วเพงหนำ, โหงวโฮ้วเพงปัก, ซวยงัก, ซ้องกั๋ง, เปาเล่งถูกงอั้น ตั้งแต่ พ.ศ.๑๕๐๓ ถึง พ.ศ.๑๘๑๙ อยู่ในสมัยราชวงศ์ซ้อง ดำเนินการแปลเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐

๑๐.เรื่อง ง่วนเฉียว ตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๒๐ ถึง พ.ศ.๑๙๑๑ อยู่ในสมัยราชวงศ์หงวน ดำเนินการแปลเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐

๑๑.เรื่อง เม่งเฉียว, เองเลียดต้วน, อิวกังหนำ, ไต้อั้งเผ่า, เซียวอั้งเผ่า, เนียหนำอิดซือ ตั้งแต่ พ.ศ.๑๙๑๑ ถึง พ.ศ.๒๑๘๖ อยู่ในสมัยราชวงศ์เหม็ง ดำเนินการแปลเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๒

๑๒.เรื่อง เม่งมวดเซ้งฌ้อ, เชงเฉียว ตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๘๗ ถึง พ.ศ.๒๔๕๔ อยู่ในสมัยราชวงศ์เช็ง ดำเนินการแปลเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๓

แต่ “เล่าเซี่ยงชุน” ได้นำมาเรียบเรียงใหม่เพียง ๙ เรื่องคือ

๑.สามก๊ก เป็น สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ฯลฯ

๒.ซ้องกั๋ง เป็น ขุนโจรแห่งเขาเนียซัวเปาะ

๓.เปาเล่งถูกงอั้น เป็น เปาบุ้นจิ้นผู้ทรงความยุติธรรม

๔.อิวกังหนำ เป็น คนซื่อแห่งกังหนำ

๕.บ้วนฮ่วยเหลา, โหงวโฮ้วเพ็งหนำ, โหงวโฮ้วเพ็งไซ และ โหงวโอ้วเพ็งปัก เป็น คนดีแผ่นดินซ้อง

๖.ไต้อั้งเผ่า เป็น ยอดคนแผ่นดินเหม็ง

๗.ชั่นถังหงอโต้ เป็น ทหารเสือแผ่นดินถัง

๘.ไต้ฮั่น เป็น ทหารกล้าแผ่นดินฮั่น

๙.ไซจิ้น เป็น คนชั่วแผ่นดินจิ้น

ซึ่งจะได้นำมาวางไว้ในบล็อกนี้ทั้งหมด.




 

Create Date : 30 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 8 มกราคม 2555 6:59:27 น.
Counter : 3123 Pageviews.  

1  2  3  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.