Group Blog
 
All Blogs
 

มหาอุปราชจอมโหด (บันทึกจากสามก๊ก)

บันทึกจากสามก๊ก

มหาอุปราชจอมโหด

“ เทพารักษ์ “

เมื่อโจโฉได้เป็นมหาอุปราชของ พระเจ้าเหี้ยนเต้แล้ว ก็ดำเนินการปราบปรามหัวเมือง ที่ยังกระด้างกระเดื่องไม่ยอมอยู่ในอำนาจ ตลอดทั้งชีวิต แม้จะไม่สำเร็จ แต่ก็ได้สังหารศัตรูไปมิใช่น้อย รวมทั้งผู้ที่มิใช่ทหารหรือนักรบด้วย แม้แต่เด็ก สตรี และผู้ชรา ก็มิได้เว้น

ดังเช่น แปะเฉีย ผู้เฒ่าสหายเก่าของบิดา เมื่อโจโฉระแวงว่าจะเป็นศัตรู ก็ฆ่าเสียทั้งครอบครัวเกือบสิบคน ต่อมา ตังสิน พี่ชายของนางตังกุยหุยสนมเอกของพระเจ้าเหี้ยนเต้ เป็นหัวหน้า คบคิดกับขุนนางสี่นาย และหมอหลวงอีกหนึ่งคน จะกำจัดโจโฉ แต่โจโฉจับหลักฐานได้จึงประหารเสียทั้งห้าคน และให้เอาตัวนางตังกุยหุยซึ่งกำลังมีครรภ์ได้ห้าเดือนมาประหารเสียด้วย

และสุดท้ายเมื่อโจโฉอยากจะยกตนเองขึ้นเป็นอ๋อง ฮกอ้วน บิดาของ นางฮกเฮา มเหสีของพระเจ้าเหี้ยนเต้ ก็คบคิดกันจะกำจัดโจโฉอีก และก็ถูกโจโฉจับได้อีก คราวนี้โจโฉเลยจับมาประหารเสียทั้งตระกูล ไม่เว้นแม้แต่มเหสี และพระราชบุตรของพระเจ้าเหี้ยนเต้อีกสององค์ด้วย

คนเหล่านั้นโจโฉถือว่าเป็นศัตรู จึงต้องฆ่าเสีย ก็พอจะมีเหตุผล แต่ในรายเจ้าเมืองเกงจิ๋ว ที่จะเล่าต่อไปนี้ โจโฉจะเอาเหตุใดมาอ้างในการฆ่า เพราะได้อ่อนน้อมยอมยกเมืองให้โจโฉแต่โดยดีแล้ว

ครั้งนั้นโจโฉยกกองทัพไปตีแคว้นเกงจิ๋วของ เล่าเปียว ญาติผู้พี่ของเล่าปี่ แต่บังเอิญเล่าเปียวป่วยตายไปเสียก่อน เล่าจ๋องบุตรคนรองของเล่าเปียวอายุเพียงสิบสี่ปี ถูกมารดากับชัวมอญาติของมารดา อุปโลกให้เป็น เจ้าเมืองแทนบิดา ไม่รู้ที่จะรักษาบ้านเมืองไว้ได้อย่างไร ก็ถูกเกลี้ยกล่อมให้ยอมอ่อนน้อมกับโจโฉเสีย จะได้ไม่ต้อง สู้รบให้เปลืองไพร่พล ความตอนนี้ สามก๊กฉบับท่านเจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายไว้ว่า

ขณะนั้นม้าใช้เอาเนื้อความมาบอกว่า บัดนี้โจโฉยกกองทัพหลวงออกจากเมืองฮูโต๋จะผ่านมาทางเมืองนี้ เล่าจ๋องได้ฟังดังนั้นก็ตกใจ จึงปรึกษาชัวมอกับเก๊งอวดแลที่ปรึกษาทั้งปวงว่า บัดนี้โจโฉยกทัพมา ท่านทั้งปวงจะคิดอ่านป้องกันประการใด

ฮูสวนจึงว่า นี่หากว่าโจโฉยกทัพมา ท่านจึงรู้จักสำนึกตัวกลัวอันตราย ถึงมาตรว่าโจโฉไม่ยกมา ดีร้ายเล่าปี่กับเล่ากี๋ก็จะยกมาเป็นมั่นคง เพราะท่านทำการละเมิดแต่ตามอำเภอใจ มิได้บอกให้เล่าปี่กับเล่ากี๋รู้ด้วย แม้เล่าปี่กับเล่ากี๋มีความน้อยใจ ก็จะยกกองทัพมาตีกระหนาบเข้า เห็นท่านจะได้ความเดือดร้อน กลอุบายของข้าพเจ้ามีอยู่ประการหนึ่ง แม้ท่านกระทำตามชาวเมืองทั้งปวงก็จะไม่มีอันตราย ทั้งตัวท่านก็จะได้ครองเมืองเป็นสุขสืบไป

เล่าจ๋องจึงถามว่า กลอุบายของท่านจะทำประการใด ฮูสวนจึงว่าขอให้ท่านยกเมืองเกงจิ๋วกับทั้งเก้าหัวเมืองนี้ให้แก่โจโฉ เห็นโจโฉจะมีความยินดี ก็จะชุบเลี้ยงให้มีความสุข

เล่าจ๋องนั้นแม้จะเป็นเด็ก ก็มีความรักบ้านเมือง จึงโต้แย้งว่าบิดาได้มอบบ้านเมืองไว้ยังมิทันไร จะไปยกให้ผู้อื่นเสียนั้น ก็เหมือนตนรักษาทรัพย์ของบิดาไว้ไม่ได้ แต่ที่ปรึกษาอีกสองคนก็เห็นด้วยกับฮูสวน แม้นางชัวฮูหยินมารดาก็บอกให้เชื่อที่ปรึกษาทั้งสามนั้น เล่าจ๋องจึงต้องยอมทำตาม

เมื่อโจโฉยกพลมาถึงเมืองซงหยง แคว้นเกงจิ๋ว เล่าจ๋องก็กลัวโจโฉไม่กล้าออกไปหา สามก๊กฉบับแปลใหม่ ของ วรรณไว พัธโนทัย บรรยายไว้ว่า

ขณะนั้นอ้องอุ้ยที่ปรึกษาแอบกระซิบบอกเล่าจ๋องว่า

“ ท่านยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉนั้นชอบแล้ว ส่วนเวลานี้เล่าปี่ก็หนีไปแล้ว โจโฉจักต้องกำเริบใจ ไม่ระวังป้องกันตัวโดยกวดขัน ขอท่านแต่งทัพไปซุ่มอยู่ที่ทางแคบเพื่อดักตี ก็จะจับตัวโจโฉได้โดยง่าย หากจับตัวโจโฉได้ ชื่อท่านก็จะดังสะเทือนไปทั่วทั้งใต้ฟ้า ที่ราบภาคกลางแม้จะกว้างใหญ่ไพศาลสักเพียงไหน ก็จะถึงกาลสงบสุข โอกาสอย่างนี้หายากนัก ขอท่านอย่าพลาดเป็นอันขาด “

เล่าจ๋องจึงเอาคำของอ้องอุ้ยไปบอกชัวมอ

ชัวมอโกรธตวาดอ้องอุ้ยว่า

“ คนอย่างมึงไม่รู้ชะตาฟ้ากำหนด บังอาจทำกลอุบาย หลอกลวงเช่นนี้เชียวหรือ “

อ้องอุ้ยก็โกรธ ด่าตอบไปว่า

“ อ้ายคนทรยศขบถชาติ คนอย่างมึงนี้กูได้กินเนื้อเมื่อไหร่จึงจะหายแค้น “

ชัวมอจะให้ฆ่าอ้องอุ้ยเสีย แต่เกงอวดห้ามปรามขอชีวิตไว้ แล้วชัวมอกับเตียวอุ๋นจึงออกไปหาโจโฉที่เมืองอ้วนเซีย ชัวมอนั้นแสดงกิริยาประจบสอพลอโจโฉอย่างเต็มที่

โจโฉจึงตั้งชัวมอเป็นพระยาเจิ้นหนัน (ปราบเมืองใต้) ให้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพเรือ ตั้งเตียวอุ๋นเป็นพระยาจู้ซู่ (อำนวยความสะดวก) และให้เป็นรองแม่ทัพเรือ

สามก๊กฉบับคนขายชาติ ของ “ เริงวิทยาคม “ บรรยายต่อไปว่า

ชัวมอและเตียวอุ๋นจึงนำความทั้งปวงรายงานให้เล่าจ๋องทราบ เล่าจ๋องเจ้าเมืองผู้เยาว์ไม่แจ้งในเจตนาอันแท้จริงของโจโฉ ครั้นได้ยินคำสองขุนนางผู้ใหญ่พรรณนาความสำเร็จ และอนาคตที่จะอยู่ในอำนาจครองเมืองเกงจิ๋วสืบไปก็มีความยินดี สั่งการให้ตกแต่งศาลาว่าราชการเมือง และประดับธงทิวตามถนนหนทาง จากประตูเมืองมาจนถึงศาลาว่าราชการอย่างสวยงาม และสมเกียรติของอัครมหาเสนาบดี ทั้งสั่งการให้ชาวเมืองแต่งเครื่องสักการะบูชาโจโฉตลอดสองข้างทาง และสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่เตรียมการพิธีออกไปคำนับโจโฉ ตามประเพณีที่หัวเมืองซึ่งยอมอ่อนน้อม พึงปฏิบัติต่อผู้บัญชาการใหญ่ของกองทัพเมืองหลวง ให้พร้อมจงทุกประการ

เมื่อโจโฉได้รับอำนาจการปกครองแคว้นเกงจิ๋วแล้ว ก็ออกคำสั่งตั้งให้เก๊งอวดเป็นเจ้าเมืองกังเหลง ตั้งให้ฮูสวนและอองซาน เป็นขุนนางผู้ใหญ่ของเมืองเกงจิ๋ว และแต่งตั้งให้เล่าจ๋องเป็นเจ้าเมืองเฉงจิ๋ว

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ณ บัดนี้ เหมือนกับเหตุการณ์เมื่อครั้งที่อ้วนเสี้ยวยกไปช่วยเมืองกิจิ๋ว แล้วยึดอำนาจการปกครอง ปลดเจ้าเมืองตลอดจนขุนนางข้าราชการทั้งปวงออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งคนที่ไว้วางใจเข้าดำรงตำแหน่งแทน โจโฉได้ใช้อำนาจรัฐแต่งตั้งเจ้าเมืองให้ไปครองหัวเมืองที่ขึ้นต่อเมืองเกงจิ๋ว และแต่งตั้งขุนนางผู้ใหญ่ของเมืองเกงจิ๋วตามชอบใจ

โจโฉปลดเล่าจ๋องออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองเกงจิ๋ว และตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเฉงจิ๋วแล้ว ก็ออกคำสั่งให้เล่าจ๋องรีบเดินทางไปรับตำแหน่งที่เมืองเฉงจิ๋วในทันที

เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) จึงได้พรรณนาต่อไปว่า

เล่าจ๋องได้ฟังดังนั้นก็ตกใจ จึงอ้อนวอนขอตัวว่า ซึ่งท่านจะตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นเจ้าเมืองเฉงจิ๋วนั้น คุณมหาอุปราชหาที่สุดมิได้ ซึ่งข้าพเจ้าอุตส่าห์ออกมาคำนับท่านทั้งนี้ ใช่จะมีความปรารถนาเป็นเจ้าบ้านผ่านเมืองนั้นหามิได้ ข้าพเจ้าจะขอเป็นแต่ไพร่อยู่ในเมืองเกงจิ๋วนี้ จะได้รักษาศพของบิดาแลญาติทั้งปวงตามประเพณี ขอท่านได้กรุณาแก่ข้าพเจ้าเถิด

โจโฉจึงว่า ซึ่งเราจะให้ท่านไปอยู่เมืองเฉงจิ๋วบัดนี้ ด้วยความเอ็นดูท่าน เห็นว่าเมือง เฉงจิ๋วนั้นกับเมืองหลวงใกล้กัน ท่านจะได้เฝ้าแหนพระเจ้าเหี้ยนเต้ ประการหนึ่งท่านจะอยู่ในเมืองเกงจิ๋วนี้ไกลพระเจ้าเหี้ยนเต้ แลเป็นที่เบียดเบียนแก่คนทั้งปวงจะอยู่มิสบาย จะได้ความเดือดร้อนเมื่อปลายมือ

เล่าจ๋องได้ฟังดังนั้นก็กลัวโจโฉ ขัดมิได้ซังตายรับคำนับ แล้วพามารดาไปเมืองเฉงจิ๋ว ครั้งถึงฝั่งน้ำท่าข้ามขุนนางทั้งปวงซึ่งไปส่งนั้นก็อำลากลับมาสิ้น แต่อ้องอุ้ยนั้นติดตามเล่าจ๋องไป

ขณะเมื่อเล่าจ๋องออกไปจากเมืองแล้ว โจโฉจึงสั่งอิกิ๋มว่า ท่านจงคุมทหารรีบไปสกัดฆ่าเล่าจ๋องเสีย อิกิ๋มก็คุมทหารรีบตามไป ครั้นทันเล่าจ๋องจึงร้องว่า บัดนี้มหาอุปราชใช้ให้เราตามมาฆ่าท่านแม่ลูกทั้งสองเสีย ท่านอย่าวุ่นวายไปเลย จงนิ่งให้เราตัดศรีษะไปให้มหาอุปราชโดยดีเถิด

นางวชัวฮูหยินได้ฟังดังนั้นก็ตกใจ แม่ลูกกอดคอกันเข้าไว้ก็ร้องไห้ อ้องอุ้ยเห็นดังนั้นก็มีความโกรธ จึงกลับหน้าเข้ามาจะต่อสู้ อิกิ๋มก็ให้ทหารจับเอาตัวฆ่าเสีย แล้วก็ตัดศรีษะนางชัวฮูหยินแล เล่าจ๋องนั้น กลับมาให้แก่โจโฉ

แม้แต่ สามก๊กฉบับนายทุน ตอน โจโฉ นายกฯ-ตลอดกาล ของ ท่านอาจารย์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งยกย่องโจโฉมาตลอดทั้งเรื่อง ก็ยังได้วิจารณ์เรื่องนี้ไว้ว่า

พฤติการณ์ที่โจโฉกระทำต่อเล่าจ๋องต่อไปนี้เป็นที่น่าสงสัย เพราะแต่แรกปรากฏว่า โจโฉต้อนรับเล่าจ๋องเป็นอันดี แล้วตั้งให้เล่าจ๋องเป็นเจ้าเมืองเฉงจิ๋วอันอยู่ใกล้เมืองหลวง แต่พอเล่าจ๋องเดินทางไปพร้อมกับมารดาเพื่อรับตำแหน่งใหม่ ถึงกลางทางก็มีอิกิ๋มซึ่งเป็นทหารของโจโฉไปสกัดอยู่ แล้วอ้างคำสั่งของโจโฉฆ่าเล่าจ๋องและนางชัวฮูหยินผู้เป็นมารดาเสีย

ที่ว่าน่าสงสัยนั้นเพราะการกระทำเช่นนี้ขัดต่อนิสัยของโจโฉ ผู้ซึ่งให้ความกรุณาต่อผู้แพ้เสมอ และเล่าจ๋องนั้นก็มิได้เคยมีอริกับโจโฉมาก่อน มิหนำซ้ำยังเป็นเด็ก ที่หนังสือสามก๊กบอกว่าโจโฉให้อิกิ๋มตามไปฆ่าเล่าจ๋องเสีย จึงผิดวิสัยที่จะอธิบายได้

การฆ่าเล่าจ๋องนี้ถ้ามิใช่กลอุบายของขงเบ้ง ชนิดที่เร้นลับที่สุด ก็ต้องหมายความว่า โจโฉนั้นเริ่มลุแก่อำนาจ เพราะได้ครองอำนาจมานาน ลาภยศวาสนาและตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กำลังจะทำให้โจโฉผิดแผกไปจากโจโฉคนเดิม จะจริงหรือไม่อย่างใดจะต้องคอยดูกันต่อไป

แต่ถึงอย่างไรเล่าจ๋องและนางชัวฮูหยิน ก็ต้องเสียศรีษะให้แก่โจโฉไปแล้ว โดยไม่มีทางต่อสู้แต่อย่างใด

แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ประนามโจโฉ ว่าเป็นมหาอุปราชจอมโหด ได้อย่างไร.

##########




 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2551 6:32:58 น.
Counter : 648 Pageviews.  

สองนางในยุทธนาวี (บันทึกจากสามก๊ก)

บันทึกจากสามก๊ก

สองนางในยุทธนาวี

“ เทพารักษ์ “

ท่านผู้อ่านวรรณคดีไทยจากพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก คงไม่มีผู้ใดไม่รู้จักตอน โจโฉแตกทัพเรือเป็นแน่ เพราะเป็นหนังสือเรียนในชั้นมัธยมศึกษาอยู่หลายสิบปี

แล้วยุทธนาวีที่มีชื่อเสียงโด่งดังในครั้งกระนั้น มีสตรีมาเกี่ยวข้องด้วยหรือ ท่านอาจจะถาม แน่ละถ้าไม่มีสตรีสองพี่น้องที่จะกล่าวถึงนี้มาเป็นต้นเหตุ ก็คงจะไม่เกิดสงครามครั้งนั้นขึ้นเป็นแน่

นางคือใคร มีชื่อแซ่ว่ากระไร ฉบับของท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เขียนไว้ ดังนี้

ขงเบ้งเห็นจิวยี่กับโลซกทุ่มเถียงกันมิได้ตกลง ก็นั่งยิ้มฟังอยู่ จิวยี่จึงว่าท่านหัวเราะข้าพเจ้าหรือ

ขงเบ้งจึงว่า ซึ่งข้าพเจ้าหัวเราะทั้งนี้มิได้เยาะท่าน กลั้นยิ้มโลซกมิได้ เพราะมิได้รู้จักลักษณะผิดแลชอบ มีแต่ปากก็เถียงท่าน

โลซกจึงว่า เหตุไฉนท่านจึงหัวเราะเยาะเรา ว่ามิได้รู้จักลักษณะสิ่งใด

ขงเบ้งจึงว่า อันจิวยี่ว่ากล่าวซึ่งจะไปนบนอบโจโฉนั้น เราเห็นด้วย

โลซกจึงว่า เหตุใดท่านจึงมาเจรจาดังนี้เล่า

ขงเบ้งจึงว่า อันโจโฉนั้นมีปัญญาความคิดสุขุมนัก รู้จัดแจงทหารในการสงครามก็ชำนาญกว่าคนทั้งปวง แลอ้วนเสี้ยว อ้วนสุดนั้น มิได้รู้จักกำลังสงครามว่าหนักแลเบา องอาจถือว่าตัวดีต่อสู้ โจโฉ ก็ถึงแก่อันตราย เล่าปี่นายเรานั้นก็ถือทิฐิมานะขืนต่อสู้โจโฉ ก็ได้ความเดือดร้อนจนพลัดมาอยู่เมืองกังแฮ อันจิวยี่เป็นคนมีความคิด จะผ่อนผันให้ไปคำนับโจโฉ ประสงค์จะรักษาบุตรภรรยา แลอาณาประชาราษฎรให้เป็นสุขนั้นเห็นควรอยู่

โลซกก็โกรธจึงว่า ท่านว่าทั้งนี้เหมือนจูงมือเราไปให้คุกเข่าคำนับโจโฉ อ้ายศัตรูแผ่นดิน ควรแล้วหรือ

ขงเบ้งจึงว่า ท่านอย่าโกรธเราเลย ซึ่งจะไปคำนับโจโฉนั้นเรามิให้ลำบาก จำเพาะแต่ตัวต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปเจียวหรือ ถึงตัวท่านมิไปก็ได้เหมือนกัน ด้วยอุบายอันหนึ่งของเรา จะให้เอาแต่คนสองคนลงเรือลำหนึ่งข้ามไปหาโจโฉ โจโฉก็จะพาทหารร้อยหมื่นเลิกทัพกลับไปดอก

จิวยี่จึงถามว่า ซึ่งท่านจะให้แต่คนสองคนข้ามไป ก็อาจสามารถจะให้โจโฉเลิกทัพไปนั้นฉันใด จงว่าให้แจ้งก่อน

ขงเบ้งจึงบอกว่า เมื่อเรายังอยู่เขาโงลังกั๋งนั้น แจ้งว่าโจโฉได้ทำปราสาทไว้แห่งหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจียงโหเป็นที่สบาย แล้วจัดเอาผู้หญิงที่รูปงามมาไว้เป็นอันมาก ด้วยมีน้ำใจกำเริบในมาตุคามอยู่

ความตอนนี้ท่าน ยาขอบ วนิพกผู้ยิ่งใหญ่ในการเล่าเรื่องสามก๊ก ได้พรรณาไว้ในชุด จิวยี่ ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า ไว้อย่างนุ่มนวลชวนให้เคลิ้มตามว่า

อันว่าปราสาทประกาศบุญนั้น ตระการพิศดารฉันใดหรือ จึงเกริกก้องบันลือไปถึงโงลังกั๋งแดนวิเวก ก็เพราะการก่อสร้างนั้นกระทำด้วยวิธีการ ซึ่งมหาราชที่เรืองตบะเดชะบาง พระองค์เท่านั้นดอก ที่ได้เคยทรงกระทำ………
ใหญ่หลวงกว้างขวางในรูปุระตระหง่านสามหลัง แต่มีสะพานยาวเฟื้อย เชื่อมสัมพันธ์ให้หอทั้งสามนั้นเป็นหลังเดียวกัน และโดยหมายใจจะให้ปรากฎไปว่า ยากที่ใครใดจะอาจทำขึ้นมาแข่งบุญได้เสมอเหมือนอีก…..

โจโฉคนน้ำใจกำเริบเสิบสาน มีปรารถนาความเป็นกษัตริย์ซ่อนอยู่ในหัวใจลึก ก็ให้ประดิษฐ์รูปหงส์กับมังกร อันเป็นเครื่องสูงสำหรับเฉพาะบุคคลในวรรณะกษัตริย์พึงใช้ขึ้นไว้ ปราสาททั้งหมดได้ชื่อตามหลังกลาง ซึ่งโจโฉขนานนามว่า “ ปราสาทนก(ยูง)สัมฤทธิ์ อีกสองข้างคือมังกรหยก กับหงส์ทอง ตามลักษณะนามสัตว์สำคัญ ที่ประดิษฐานอยู่เหนือยอดนั้น…….

ดังนั้นโดยบัญชาของดยุกแห่งเว่ย์ นางงามตามแขวงเมืองต่าง ๆ ก็ถูกกว้านพามาสู่ปราสาทนี้มีจำนวนมากหลาย แต่ความงามของบรรดาอิสตรีที่ถูกนำมาปรนเปรอบำเรอกามอยู่ในปราสาทนั้น ก็มิได้ทำให้หัวใจของศัตรูแผ่นดินผู้นั้นสงบ กลับดิ้นรนกระวนกระวายเพราะไฟแห่งราคะ ยิ่งถูกพัดกระพือให้แก่กล้าอยู่เป็นนิตย์ ก็ใฝ่ฝันคร่ำครวญอยุ๋แต่ว่า ทำไฉนจึงจักได้ผู้หญิงซึ่งมีเสียงโจษจันกันว่า เป็นยอดงามของบรรดาหญิงในภาคอาคเนย์อีกสองคน เข้ามาเชยชมให้สมปรารถนาตัว และกุลสตรีทั้งสองนั้นก็ได้ข่าวว่า เป็นชาวกังตั๋งนี่เอง…….

ต่อจากนี้เป็นเนื้อความใน สามก๊กคลาสสิค ของ วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์

จิวยี่กล่าวว่า จะใช้สองคนนั้นเป็นผู้ใดกันจึงจะถอยทัพโจโฉได้

ขงเบ้งกล่าวว่า แคว้นกังตั๋งให้สองคนนี้ไป ประดุจต้นไม้ใหญ่ที่ใบร่วงล่องลอยไปเพียงใบเดียว หรืออุปมาดั่งยุ้งข้าวที่ลดน้อยไปเพียงเมล็ดเดียว และโจโฉแม้นได้ไป ก็คงต้องปิติยินดีแล้วรีบถอยทัพกลับไป

จิวยี่ก็ถามอีกว่า จริงดังว่าหรือ ที่จะใช้สองคนนั้น เป็นผู้ใดกัน

คราวนี้เป็นเนื้อความใน สามก๊กฉบับแปลใหม่ ของ วรรณไว พัธโนทัย

ขงเบ้งตอบว่า ที่กังตั๋งมีพี่น้องสองสาวผู้พี่ชื่อ ไต้เกี้ยว ผู้น้องชื่อ เสียวเกี้ยว เป็นบุตรีของ เกี้ยวกง พี่น้องสองสาวนี้งามจนกระทั่งห่านป่าได้เห็นก็เต้นเร่า ปลาในน้ำได้เห็นก็หลงชมจนจมน้ำตาย เมื่อแสงจันทร์ต้องหน้าเธอแม้ดอกไม้ก็ได้อาย

โจโฉถึงกับตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า ความปรารถนาข้อแรกของเขาคือ พิชิตดินแดนภายในทะเลทั้งสี่ให้ได้ แล้วจัดตั้งมหาอาณาจักรขึ้น

ข้อที่สอง คือต้องเอาสองสาวไต้เกี้ยวและเสียวเกี้ยวในกังตั๋ง มาไว้เป็นนางบำเรอในปราสามนกยูงทองแดงให้จงได้ เพื่อความสุขสำราญในบั้นปลายของชีวิต

โจโฉพูดว่าถ้าสำเร็จประสงค์ทั้งสองประการนี้แล้ว ถึงจะตายก็ไม่เสียดายเลย

การที่โจโฉทุ่มกำลังตั้งร้อยหมื่น ลงมาตีเมืองใต้นี้ก็หวังจะได้สองสาวนี้ไปเท่านั้นเอง ไฉนท่านจึงไม่ไปหาเกี้ยวกง เอาทองพันตำลึงไปซื้อลูกสาวสองคนนั้นส่งไปให้โจโฉ เมื่อโจโฉได้นางงามทั้งสองไปแล้ว ก็ย่อมสมใจทุกประการ คงจะต้องยกทัพกลับไปเป็นแน่

จิวยี่ถามว่า ซึ่งท่านว่าโจโฉต้องการสองสาว ไต้เกี้ยวและเสียวเกี้ยวนั้น ท่านเอาที่ไหนมาพูด

ขงเบ้งตอบว่า โจสิดลูกชายคนเล็กของโจโฉ ซึ่งมีสมญานามว่า จื่อเจี้ยน เป็น กวีเอก ได้แต่งคำประพันธ์ตามบัญชาของพ่อ ให้ชื่อว่า บทสดุดีปราสาทนกยูงทองแดง ซึ่งในคำประพันธ์นี้แสดงชัดว่า โจโฉต้องการเป็นฮ่องเต้ และสาบานว่าจะต้องเอาสองสาวไต้เกี้ยวและ เสียวเกี้ยว มาไว้เป็นนางบำเรอให้จงได้

จิวยี่ถามว่า ท่านยังพอจำคำประพันธ์นั้นได้หรือไม่

ขงเบ้งตอบว่า ข้าพเจ้าชอบคำร้อยกรองอันไพเราะเพราะพริ้ง ของคำประพันธ์นั้นมาก จึงอุตส่าห์จำไว้ขึ้นใจทีเดียว

จิวยี่จึงว่า ถ้าเช่นนั้นขอท่านกรุณาว่าให้ข้าพเจ้าฟังหน่อยเถิด

ขงเบ้งจึงร่ายคำประพันธ์ ดังต่อไปนี้

ขอให้กูเป็นใหญ่ในโลกนี้
ได้นั่งที่ปราสาทหาดเจียงโห
ได้เห็นผังวังกว้างขวางจริงโอ
ได้เห็นเมืองใหญ่โตมโหฬาร
กูจะสร้างประตูชัยไว้บนผา
กูจะสร้างหอฟ้ามหาศาล
สร้างสวรรค์บนดินถิ่นสำราญ
ให้งามตาทุกด้านทุกสิ่งอัน
ณ ริมฝั่งเจียงโหโอ่อ่าเหลือ
สวนลูกไม้แลอเคื้อเกื้อสุขสรรพ์
ซึ่งหอสูงซ้ายขวาน่าอัศจรรย์
สองนามนั้นมังกรหยกกับหงส์ทอง
กูจะไว้ยอดหญิงแห่งกังตั๋ง
เจ้างามดั่งหยาดฟ้ามาทั้งสอง
ทั้งไต้เกี้ยวเสียวเกี้ยวเหนี่ยวใจปอง
จะประคองเคียงข้างทุกวันคืน

จิวยี่ได้ฟังดังนั้นก็ว่า ขงเบ้งไม่รู้หรือว่า นางไต้เกี้ยวผู้พี่นั้นเป็นภรรยาซุนเซ็ก พี่ชายของซุนกวนที่เสียชีวิตไปแล้ว และนางเสียวเกี้ยวผู้น้องก็เป็นภรรยาจิวยี่เอง

ขงเบ้งก็ทำเป็นตกใจ รีบคำนับแล้วว่าตนไม่รู้เลย ซึ่งว่ากล่าวทั้งนี้ผิดหนักหนา ขอให้ยกโทษด้วยเถิด แท้จริงขงเบ้งรู้อยู่เต็มอกแล้ว แต่แกล้งนำมาพูดเพื่อให้จิวยี่โกรธ และมีความแค้นพอที่จะทำสงครามกับโจโฉ ซึ่งก็ได้ผลเพราะจิวยี่ประกาศว่า อ้ายโจโฉศัตรูเฒ่าคนนี้ ตนจะไม่ขอเหยียบแผ่นดินร่วมเลย ไม่ใครก็ใครต้องตายกันไปข้างหนึ่ง

แต่คำพูดของขงเบ้งนั้นก็มิได้ยกมากล่าวหลอกลวง โดยไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อโจโฉจัดทัพเรือเสร็จเรียบร้อยแล้ว ลงไปตรวจดูเห็นว่าไม่มีสิ่งใดบกพร่อง ก็ให้จัดโต๊ะเลี้ยงดูนายทหารทั้งหมดประมาณสามร้อยเศษ ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืนเดือนหงาย โจโฉมีความสบายใจจึงเสพสุราจนถึงสองยาม มีอาการมึนเมา ลุกขึ้นกล่าวให้โอวาท แล้วก็เลยระบายความในใจ ตามฉบับหลวงท่านว่า

…….แม้ได้เมืองกังตั๋งก็จะมีความยินดีอยู่หน่อยหนึ่ง ด้วยแต่ก่อนนั้นเรารู้จักกับนางเกียวก๊กโล แลนางเกียวก๊กโลมีบุตรหญิงสองคน รูปร่างงามกว่าหญิงทั้งปวง เราคิดพอใจอยู่ แต่ว่าเผอิญให้พลัดไปเป็นภรรยาซุนเซ็กคนหนึ่ง เป็นภรรยาจิวยี่คนหนึ่ง เมื่อเราไปรบได้เมืองกิจิ๋วนั้น เราให้สร้างเมืองใหม่ทำปราสาทไว้ริมแม่น้ำเจียงโห ครั้งนี้ถ้าเราได้เมืองกังตั๋ง เราจะพาหญิงสองคนนี้ไปอยู่ ณ ปราสาทเมืองกิจิ๋ว จะได้ปรนนิบัติเราให้เป็นที่ชอบใจ กว่าจะสิ้นชีวิต……..

ในที่สุดซุนกวนก็ตัดสินใจรบกับโจโฉ และด้วยความสามารถของจิวยี่ แม่ทัพใหญ่ ของกังตั๋ง กับขงเบ้งเสนาธิการจอมวางแผนของเล่าปี่ ก็สามารถเอาชนะกองทัพร้อยหมื่นของโจโฉได้อย่างเด็ดขาด

ตัวโจโฉเองกระเซอะกระเซิงหนีตาย ไปกับลิ่วล้อที่เหลืออยู่เพียงไม่ถึงสามสิบคน ด้วยอิทธิพลจากชื่อของนางแซ่เกียวทั้งสองพี่น้อง ที่ไม่รู้ว่าเป็นบุตรีของ เกี้ยวกง ซึ่งเป็นบิดาหรือ นางเกียวก๊กโล ซึ่งเป็นมารดากันแน่

และโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ออกมาแสดงบทบาท ในเรื่องสามก๊กทุกสำนวน แต่ประการใดเลย.

#########







 

Create Date : 10 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2551 5:17:41 น.
Counter : 614 Pageviews.  

นักรบไร้ชื่อ (บันทึกจากสามก๊ก)

บันทึกจากสามก๊ก

นักรบไร้ชื่อ

“ เทพารักษ์ “

ทหารเอกที่มีชื่อเสียงในสงครามสามก๊กนั้น มีอยู่มากมายก่ายกอง แต่มีอยู่คนหนึ่งซึ่งเป็นนายทหารคนสนิทของลิโป้ ลูกเลี้ยงของตั๋งโต๊ะมหาอุปราชคนแรก ของพระเจ้าเหี้ยนเต้ ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงศ์ฮั่น ซึ่งมีชื่อเสียว่าเป็นคนหยาบช้าสามาลย์ จนเป็นต้นเหตุให้โจโฉกับอ้วนเสี้ยวรวบรวมทหารบ้านนอก ยกมาตีลกเอี๋ยงเมืองหลวง เพื่อล้มล้างอำนาจการปกครองของตั๋งโต๊ะ โดยมีซุนเกี๋ยนเป็นทัพหน้า และนักรบผู้นี้ก็ได้ออกไปต่อสู้เป็นคนแรก

สามก๊กฉบับท่าน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายถึงตอนนี้ไว้ว่า

ตั๋งโต๊ะตกใจจึงปรึกษาลิยูว่า ครั้งนี้จะได้ใครอาสาออกไปจับซุนเกี๋ยนมาฆ่าเสียได้ ลิโป้จึงว่า ซึ่งหัวเมืองยกมาทั้งนี้ เปรียบเหมือนแมลงเม่า ข้าพเจ้าขออาสายกกองทัพออกไปฆ่าเสีย ท่านอย่าวิตกเลย ตั๋งโต๊ะได้ฟังดังนั้นก็ค่อยคลายใจขึ้น จึงว่าทุกวันนี้เราได้ลิโป้ไว้เป็นบุตร ถึงมาตรว่าจะได้ทหารอื่นมาไว้สิบหมื่นก็ไม่เท่าลิโป้

ขณะนั้นมีทหารคนหนึ่ง กิริยาดังเสือ สูงหกศอกเศษ คุกเข่าลงคำนับตั๋งโต๊ะแล้วว่า ซึ่งจะฆ่าไก่แลจะเอามีดฆ่าโคมาฆ่านั้นไม่ควร ข้าพเจ้าจะขออาสาไปตัดเอาศรีษะหัวเมืองทั้งปวงมาให้จงได้ และตั๋งโต๊ะกับลิโป้ก็ไม่ผิดหวัง เพราะนายทหารผู้นี้ได้ฆ่าทหารเอกของอ้วนเสี้ยว ติดต่อกันไปถึงสองคน คือเปาต๋ง และโจเมา แต่ละคนเขาใช้เวลารบไม่เกินสามเพลง ยกเว้นแต่ซุนเกี๋ยน ตัวแม่ทัพหน้า ซึ่งยืนสู้อยู่ได้ถึงแปดเพลง ก็ต้องแตกหนีเตลิดไป ทิ้งหมวกเอาไว้ให้เขาดูต่างหน้า ทหารผู้นั้นชื่อ ฮัวหยง

วรรณไว พัธโนทัย ได้เล่าไว้ใน สามก๊กฉบับแปลใหม่ ต่อไปว่า

ทันใดนั้น กองสอดแนมเข้ามารายงานว่า

“ ฮัวหยงนำกองทหารม้าออกจากด่าน ใช้ไม้ยาวเสียบหมวกแดงของซุนเกี๋ยน มาตะโกนด่าท้ารบอยู่หน้าค่าย “

อ้วนเสี้ยวจึงถามว่า “ ผู้ใดจะอาสาออกศึก “

ยูสิดซึ่งยืนอยู่หลังอ้วนสุด รีบลุกออกมาบอกว่า “ ข้าพเจ้าพยัคฆ์น้อยขออาสา “

อ้วนเสี้ยวดีใจ สั่งให้ยูสิดออกม้านำทหารไป สักครู่ก็ได้รับแจ้งว่า

“ ยูสิดรบกับฮัวหยงได้ไม่ถึงสามเพลง ถูกฮัวหยงฆ่าตาย “

หัวเมืองทั้งปวงต่างตกตลึง ฮันฮกผู้ว่าราชการแคว้นกิจิ๋วกล่าวว่า

“ ข้าพเจ้ามีขุนพลคนหนึ่งชื่อพัวหอง สามารถจะปราบฮัวหยงได้แน่ “

อ้วนเสี้ยวจึงสั่งให้พัวหองนำทหารออกรบโดยด่วน พัวหองขึ้นม้าถือขวานใหญ่เป็นอาวุธ ออกรบได้ไม่นานม้าเร็วควบม้าราวกับบิน กลับมารายงานว่า

“ พัวหองถูกฮัวหยงฟันคอขาดอีกคนหนึ่งแล้ว “

หัวเมืองทั้งปวงใบหน้าถอดสีไปตาม ๆ กัน

ฮัวหยงคงจะมีชื่อเสียงโด่งดังต่อไป ถ้าเขาไม่ได้พบกับทหารเลวคนหนึ่ง ในการรบครั้งต่อมา ซึ่งท่าน ยาขอบ ได้บรรเลงสำนวนอันลือชื่อไว้ใน สามก๊กฉบับวนิพก ตอน โจโฉ..ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ ว่า

บัดนี้ในค่ายของฝ่ายปฏิวัติกำลังปรึกษากัน กองทัพของเรากำลังปราชัยต่อเหตุการณ์ในสนามรบ เดี๋ยวนี้เราก็เสียหัวของทหารที่นับกันว่าเป็นเอก ๆ ไปทุกวันแก่ฮัวหยง อ้วนเสี้ยวท่านผู้เป็นประมุข ปรารภกับที่ประชุมใหญ่ว่า พลาดเหลือเกินจอมประจัญบานของข้าพเจ้า งันเหลียง และบุนทิว ก็ใช้ให้ไปเกณฑ์ทหาร เพื่อส่งมาสมทบข้าพเจ้า ถ้าได้บุนทิวหรือ งันเหลียงคนใดคนหนึ่งมา เราจะวิตกอันใดกับฮัวหยง

ถ้าท่านงันเหลียงและบุนทิวยังไม่มา ข้าพเจ้าขอรับหน้าที่ไปเอาศรีษะฮัวหยงมาเอง เสียงของเขาทุ้มซึ้ง แต่มีสนั่นกังวาลเหมือนเสียงระฆัง

นี่เป็นใคร จึงบังอาจออกเสียงในที่ประชุมอันสูงสุดนี้ ออกเสียงเรื่องงานซึ่งเหมาะแก่คนมีฝีมือ อย่างงันเหลียงหรือบุนทิว อ้วน-กังลู-เสี้ยว พิโรธโกรธเกรี้ยวแก่ผู้อาสาสมัครนั้น

กอง-หลอดแห่งปักกิ่ง-ซุนจ้าน ลุกขึ้นชี้แจงอีก คนที่เกียรติอันสูงของท่านยังไม่รู้จักนี้ ชื่อ กวนอู เป็นญาติร่วมสาบานกันด้วยใจชายกับ เจ้ายวนเต้-ปี่ คนเมืองเดียวกับข้าพเจ้า เขาเป็นทหารเกาทัณฑ์ระวังหน้าม้าของปรินส์ปี่

สังข์ พัธโนทัย บันทึกรายละเอียดตอนนี้ไว้ใน พิชัยสงครามสามก๊ก ว่า

อ้วนเสี้ยวถามอีกว่า เจ้ามีตำแหน่งเป็นอะไร

กองซุนจ้านตอบว่า เป็นพลทหารม้าถือเกาทัณฑ์

อ้วนเสี้ยวได้ฟังดังนั้นก็โกรธ ตวาดว่า เจ้าเป็นแต่ทหารเลว ไฉนมาดูหมิ่นแม่ทัพนายกองหัวเมืองทั้งปวง คล้ายไม่มีใครจะออกไปสู้กับข้าศึกแล้วกระนั้นหรือ จึงให้ขับกวนอูออกไป

โจโฉห้ามอ้วนเสี้ยวว่า ท่านอย่าเพิ่งโกรธก่อน ท่วงทีกวนอูผู้นี้จะมีฝีมือดีอยู่ จึงกล้าขันอาสา ถ้ามันไปเอาศรีษะฮัวหยงมาไม่ได้ เราจึงค่อยลงโทษมันอย่างหนัก มิดีกว่าหรือ

อ้วนเสี้ยวตอบว่า กวนอูเป็นแต่ทหารเลว ฮัวหยงรู้เข้าจะเยาะเย้ยเราได้ว่าสิ้นฝีมือ

ท่าน ยาขอบ จึงให้โจโฉตอบโต้ด้วยสำนวนอันหาผู้เสมอมิได้ ว่า

ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้ว สงครามและสนามรบตัดสินทหารกล้าหน้าศึก ด้วยฝีมือประจัญบานของเขา ในค่ายบัญชาการนี่ต่างหากเล่า เรามานั่งคิดฆ่าข้าศึกด้วยสมอง

โจโฉใส่ท่านแม่ทัพใหญ่อย่างไม่ยอมถอยหลัง

ใคร่ครวญเถิด เราให้คนผู้นี้ออกรบ กองทัพเราได้เสียอะไรไปบ้าง เขาสิหากพลาดพลั้ง เขาก็เสียหัวซึ่งมีปากอันโว แก่ง้าวของฮัวหยง ถ้าเขาปราชัยพ่ายแพ้ แต่เอาชีวิตหนีรอดเข้าค่ายได้ เขาก็เสียหัวอีกแก่อาชญาสิทธิ์ของท่าน เขาไม่มีหัวสำหรับจะดิ้นรนให้พ้นไปรอด เว้นแต่จะได้หัวฮัวหยงมา

เป็นสิ่งอันเล็กน้อย แต่ในสิ่งเล็กน้อยนั่นแหละ แสดงชัดถึงความเป็นหัวหน้าคน คือโจโฉรินเหล้าถ้วยหนึ่งส่งให้กวนอู ข้าเสียเหล้าถ้วยหนึ่ง แต่เจ้าจะเสียหัวให้ฮัวหยง ซึ่งตัดหัวพวกทหารเอก ๆ ฝ่ายเราอยู่ทุก ๆ วัน จะเสียดายอาไร้ กับเหล้าเพียงถ้วยเดียว กับการต่อรองที่ยอมเอาคอไปรอคมอาวุธ ตรงนี้แหละคนมีเกียรติทั้งคู่ได้เริ่มเจรจาต่อกันครั้งแรก ซึ่งเป็นเครื่องกระสันมั่นจำไว้ในใจของกันแลกัน

แต่เมื่อโจโฉยื่นจอกสุราให้กวนอู ก็ได้รับคำปฏิเสธ ด้วยสำนานเก่าของท่าน เจ้าพระยาพระคลัง ว่า

กวนอูคำนับแล้วว่า ข้าพเจ้าเป็นแต่ทหารเลว ซึ่งท่านจะให้สุรากินนั้น ขอให้ท่านงดไว้ก่อน เมื่อใดข้าพเจ้าออกไปได้ศรีษะฮัวหยงมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงจะรับเอาสุราของท่านกิน แล้วกวนอูก็ขี่ม้าถือง้าวออกไปรบกับฮัวหยง

ฝ่ายหัวเมืองทั้งปวงซึ่งอยู่ในค่ายนั้น ได้ยินเสียงกลองแลม้าล่ออื้ออึง ก็ชวนกันออกไปดูกวนอูรบกับฮัวหยง ครั้นออกไปถึงประตูค่าย ก็เห็นกวนอูหิ้วศรีษะฮัวหยง กลับมาทิ้งไว้ตรงหน้าค่าย นายทัพนายกองเห็นก็ดีใจ จึงพากวนอูเข้าไปในค่าย

โจโฉจึงเอาจอกสุรานั้นมาคำนับ แล้วส่งให้กวนอู กวนอูคำนับตอบแล้วรับเอาจอกสุรานั้นมากิน สุรานั้นยังอุ่นอยู่

ซึ่งท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้วิพากย์วิจารณ์เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไว้ใน โจโฉ…นายก ฯ ตลอดกาล อย่างเข้าข้างโจโฉสุดตัวว่า

พิเคราะห์ดูหนังสือสามก๊กตอนนี้จะเห็นว่า ผู้แต่งตั้งใจจะเขียนยกย่องกวนอูเป็นสำคัญ ให้เห็นว่ากวนอูนั้นมีความสามารถในการรบ เป็นเลิศยิ่งกว่าผู้ใดทั้งสิ้น ขนาดออกไปรบกับฮัวหยงซึ่งมีฝีมือ ฆ่าทหารเอกตายลงไปสองคนในเวลาติด ๆ กัน ยังกินเวลาเพียงสุราในจอกยังไม่ทันเย็น แต่เราจะพิจารณาความตอนนี้ให้ดี จะเห็นได้ว่าเหลือเชื่อ เพราะจอกสุราที่คนจีนใช้นั้น มีขนาดประมาณปลอกนิ้วมือเย็บผ้า และเวลานั้นก็จะต้องเป็นหน้าหนาว ถึงต้องอุ่นสุรากินกัน การที่กวนอูไปได้หัวฮัวหยงในเวลาที่สุรายังไม่เย็นนั้น เห็นจะสุดวิสัย

ฉะนั้นเนื้อความที่ว่า สุรานั้นยังอุ่นอยู่ แทนที่จะให้เกียรติแก่กวนอู กลับกลายเป็นสิ่งที่แสดงน้ำใจอันกว้างขวางของโจโฉ เพราะถ้าสุรานั้นยังอุ่นอยู่จริง ก็จะอุ่นอยู่ด้วยมือของโจโฉเป็นแน่แท้ หาใช่เพราะความสามารถรวดเร็วของกวนอูไม่ ด้วยโจโฉนั้นใคร่สนับสนุนกวนอู ให้ได้ดีมีเกียรติ ถึงกวนอูจะปฏิเสธไม่ยอมรับสุราจากโจโฉ จนกว่าจะชนะฮัวหยงแล้ว โจโฉก็เฝ้าอุ่นสุราไว้คอยท่า ถึงแม้ว่ากวนอูจะไปรบกับฮัวหยงทั้งคืน กลับมาสุรานั้นก็ยังอุ่นอยู่ ด้วยน้ำใจอันเมตตาอารีของโจโฉนั่นเอง

ในเรื่องนี้ สามก๊กฉบับคลาสสิก ของ วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ ได้สรุปลงท้ายเอาไว้ว่า

ชนรุ่นหลังมีบทกวีสรรเสริญว่า
วีรกรรมอันดับหนึ่งทึ่งฟ้าดิน
นอกประตูยลยินเสียงกลองสนั่น
กวนอูมิรับจอกออกฟาดฟัน
หัวข้าศึกสบั้นบ่าสุราไม่เย็น

แต่ทุกท่านที่กล่าวมาแล้ว ต่างก็ยกย่องฝีมืออันยอดเยี่ยมของกวนอู และน้ำใจอันประเสริฐของโจโฉเท่านั้น หามีท่านใดจะสมเพทเวทนาแก่ฮัวหยง ผู้ที่ได้สังหารนายทหารเอก ของกองทัพประชาชนที่มีอ้วนเสี้ยวเป็นผู้นำ มาแล้วถึงสี่คนติดต่อกัน แต่กลับต้องมาเสียหัวของตนเอง ให้แก่คมง้าวของพลทหารกวนอู ภายในเวลาอันสั้นเพียงสามสี่บรรทัดบ้างเลย

และนับแต่บัดนั้น ต่อมาอีกสามสิบกว่าปี กวนอูทหารถือเกาทัณฑ์หน้าม้าผู้นี้ ก็ได้กลายเป็นนักรบที่มีชื่อเสียงเด่นดัง เล่าลือระบือไกลในสามก๊ก จนกระทั่งได้เสียชีวิตลง เมื่ออายุได้ห้าสิบแปดปี และได้ชื่อว่า เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ เป็นอมตะมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ต่างกับฮัวหยง ซึ่งตายแล้วก็หายลับดับชื่อไปจากสามก๊ก ตั้งแต่ตอนที่สี่ ดุจเดียวกับพลทหารเลว ที่ไม่ปรากฎชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก อีกนับแสน นับล้าน ในประวัติศาสตร์อันยาวนานนับร้อยปีของสามก๊ก เช่นกัน

############.




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2551 4:48:08 น.
Counter : 824 Pageviews.  

วาระสุดท้ายของจอมคน (บันทึกจากสามก๊ก)

บันทึกจากสามก๊ก

วาระสุดท้ายของจอมคน

“ เทพารักษ์ “

จอมคนในที่นี้ก็คือท่านมหาอุปราช ของพระเจ้าเหี้ยนเต้ในนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก ผู้มีชื่อว่า โจโฉ นั่นเอง โจโฉถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๗๖๓ อายุได้หกสิบหกปี ดังนั้นโจโฉคงจะเกิดเมื่อ พ.ศ.๖๙๗ และเมื่อพระเจ้าเลนเต้ขึ้นครองราชย์สืบราชวงศ์ฮั่น โจโฉเพิ่งจะมีอายุเพียงสิบสามปีเท่านั้น

ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยของพระเจ้าเหี้ยนเต้ โจโฉก็มีอายุได้สามสิบหกปี หลังจากที่มหาอุปราชตั๋งโต๊ะและลิ่วล้อทั้งหลายถูกปราบราบคาบไปหมดสิ้นแล้ว โจโฉก็ได้เป็นมหาอุปราชแทน และเป็นอยู่จนถึงวาระสุดท้าย เป็นเวลาประมาณสามสิบปี

สาเหตุที่จะทำให้โจโฉเจ็บป่วยและถึงแก่ความตายนั้น เป็นเพราะซุนกวนยกทัพไปตีเมืองเกงจิ๋ว แล้วจับกวนอูประหารชีวิตเสีย และเอาศรีษะใส่หีบส่งมาให้โจโฉ เป็นการปัดสวะให้พ้นจากความรับผิดชอบของตน

ซึ่งสามก๊กฉบับท่าน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ได้บรรยายไว้ว่า

โจโฉได้เปิดหีบขึ้นเห็นหน้ากวนอูยังเป็นปกติ เหมือนเมื่อยังเป็นอยู่นั้น โจโฉหัวเราะเย้ยแล้วว่า

“ กวนอูยังอยู่ไม่มาหาเรา บัดนี้ยังแต่ศรีษะเปล่าอุตส่าห์มาหาเรา “

ว่ายังมิทันจะขาดคำ แลเห็นศรีษะกวนอูมีปากอ้า ตาเหลือกกลอกไปมา โจโฉตกใจล้มลง ขุนนางทั้งปวงก็ตกใจเข้าอุ้มโจโฉให้นั่งขึ้น โจโฉสิ้นสมประดีนิ่งไปครู่หนึ่ง จึงค่อยได้สติคืนสมประดีมา จึงว่าแก่ขุนนางทั้งปวงว่า กวนอูคนนี้ศักดิ์สิทธิ์นัก เหมือนหนึ่งเทพดาลงมาจากขั้นฟ้า ทหารซุนกวนได้ยินโจโฉว่าดังนั้น จึงเล่าเนื้อความซึ่งกวนอูไปเข้าลิบอง ด่าซุนกวนหักคอลิบองเสียนั้น ให้โจโฉฟังทุกประการ

โจโฉได้ยินดังนั้นก็กลัวยิ่งกว่าแต่ก่อน จึงสั่งให้เอาไม้หอมต่อหีบใส่ศรีษะกวนอู แล้วให้แต่งเครื่องเซ่นตามบรรดาศักดิ์ขุนนางผู้ใหญ่ แล้วเชิญศรีษะกวนอูไปฝังไว้ริมประตูเมือง ลกเอี๋ยงข้างทิศทักษิณ โจโฉแลขุนนางทั้งปวงก็ตามไปส่งสักการะศพ โจโฉจึงสั่งให้ตกแต่งฝังตามอย่างผู้นั่งเมืองเกงจิ๋ว แล้วจารึกอักษรลงไว้ว่า ที่ฝังศพเจ้าเมืองเกงจิ๋ว แล้วแต่งขุนนางให้ไว้รักษา

ตั้งแต่นั้นมาโจโฉก็ป่วย นอนหลับตาลงเมื่อใด ให้เห็นกวนอูเมื่อนั้น ตื่นขึ้นก็ปวด ศรีษะเป็นกำลัง ครั้นให้หมอเข้ามารักษา หมอมานวดทายาจนสิ้นความรู้ โรคนั้นก็ไม่หาย ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงเห็นดังนั้น ก็เป็นทุกข์หนัก ที่ปรึกษาคนหนึ่งจึงแนะนำให้หาหมอฮัวโต๋มารักษา

จากนี้ สามก๊กฉบับนายทุน ตอน โจโฉ..นายก ฯ ตลอดกาล ของท่านอาจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้บรรยายต่อไปว่า

โจโฉได้ยินกิตติคุณของหมอฮัวโต๋ก็เกิดเลื่อมใส ให้คนรีบเดินทางทั้งกลางคืนกลางวันไปรับหมอฮัวโต๋มา ครั้นหมอฮัวโต๋มาถึงแล้วก็ตรวจอาการโจโฉ แล้วบอกว่าโจโฉเป็นโรคในศรีษะ แต่หมอฮัวโต๋นั้นเป็นศัลยแพทย์ เอะอะก็จะผ่าตัดเสียเรื่อยไป หมอฮัวโต๋บอกแก่โจโฉว่า จะรักษาด้วยยานั้นไม่หายแน่ ถ้าจะให้หายต้องผ่าศรีษะชำระโรคภายในให้หมด

ครั้นโจโฉถามว่าจะผ่าอย่างไร หมอฮัวโต๋ก็ตอบว่า จะให้กินยาสลบไม่รู้สึกตัวผ่าแล้วก็จะเย็บหัวสมองคืนอย่างเก่า โจโฉไม่เชื่อแต่หมอยืนยันว่า ได้ผ่ากวนอูมาแล้วเป็นผลสำเร็จ โจโฉก็ว่าผ่ากวนอูนั้นผ่าที่ไหล่ พอจะเข้าใจเชื่อถือได้ แต่ผ่าสมองนั้นยังไม่เชื่อ เพราะหมอฮัวโต๋เป็นศัลยแพทย์ที่ก้าวหน้าเกินเวลาไปตั้งพันปี การผ่าสมองเพิ่งมาทำกันได้ในปัจจุบัน เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง แต่ก็ยังไม่แน่นอนนัก

โจโฉขณะนั้นเป็นคนป่วยหนักด้วยโรคปวดศรีษะอย่างแรง อารมณ์หงุดหงิดอยู่ตามประสาคนป่วย เมื่อได้ยินหมอฮัวโต๋เอ่ยถึงชื่อกวนอู ก็ฉุนเฉียวขึ้นมาพาลสงสัยว่า หมอฮัวโต๋จะเป็นพวกเล่าปี่ มาแกล้งลวงฆ่าให้ตาย เพราะโจโฉเคยถูหมอประจำราชสำนัก พยายามวางยาพิษมาครั้งหนึ่งแล้ว โจโฉจึงโกรธหมอฮัวโต๋เป็นอันมาก สั่งให้เอาไปจำคุกไว้

ตัวโจโฉเองนั้นโรคในศรีษะก็เจ็บปวดมากขึ้น แทบจะทนไม่ไหว ขณะเดียวกันก็วิตกว่าเมืองกังตั๋งกับเมืองเสฉวน จะยกทัพมาทำอันตราย พอดีซุนกวนมีหนังสือมาจากเมืองกังตั๋ง โจโฉเปิดออกดู ในหนังสือมีใจความว่า

ข้าพเจ้าซุนกวนสามิภักดิ์มาพึ่งบุญท่าน อนึ่งบรรดาหัวเมืองทั้งปวงก็ขึ้นแก่ท่านสิ้นแล้ว ยังแต่เมืองเสฉวน เมืองตังฉวน ขอให้ท่านยกทัพไปตีเล่าปี่เถิด เห็นจะได้โดยสะดวก

โจโฉก็หัวเราะ จึงว่าแก่ที่ปรึกษาทั้งปวงว่า ซุนกวนจะลวงให้เราเหยียบกองไฟ ที่ปรึกษาคนหนึ่งจึงว่า

“……แผ่นดินพระเจ้าเหี้ยนเต้ก็ร่วงโรยมาช้านานแล้ว ครั้งนี้อาศัยบุญท่านก็บริบูรณ์มั่งคั่ง ราษฎรทั้งปวงได้พึ่งโพธิสมภาร อยู่เย็นเป็นสุข แล้วมีความรักใคร่ยินดีต่อท่านนัก ซุนกวนนี้ก็ถ่อมตัวเข้ามาเป็นข้าท่าน สมควรแล้วที่จะเป็นเจ้าแผ่นดิน……..”

โจโฉได้ฟังดังนั้นก็หัวเราะอีก แล้วจึงว่า

“…….เราทำนุบำรุงพระเจ้าเหี้ยนเต้มา แผ่นดินก็ราบคาบ ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขมาช้านานเพราะเรา เราก็ได้เป็นใหญ่หาขุนนางผู้ใดเสมอไม่แล้ว เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดินเคียงพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นไม่สมควร เราจะทำแต่พอเหมือนจิวบูอ๋อง ซึ่งทำการไว้ให้แก่ลูกชาย……”

สุมาอี้จึงทูลว่า

“……ซุนกวนสิยอมเข้ามาเป็นข้าท่านแล้ว ควรท่านจะตั้งให้ซุนกวนเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ให้เป็นฝักฝ่ายข้างเรา จะได้สกัดทัพเล่าปี่ไว้……..”

โจโฉก็เห็นชอบด้วย จึงให้แต่งตราตั้งซุนกวนเป็นเจ้าเมืองเกงจิ๋ว แล้วจึงให้ทหารคุมตราตั้งออกไปมอบเมืองเกงจิ๋วให้ซุนกวน ในฐานะที่ตีเมืองเกงจิ๋ว และสังหารกวนอูได้สำเร็จ

หลังจากนั้นอาการป่วยของโจโฉ ก็กำเริบกล้าขึ้น เห็นแต่ปีศาจของบุคคลที่ ตนได้ปลิดชีวิตมาตั้งแต่หนุ่ม ได้ยินแต่เสียงหญิงชายร้องไห้เซ็งแซ่ จนนอนไม่เป็นอันหลับ กระสับกระส่ายอยู่ทุกคืน ขุนนางก็แนะนำให้หาหมอผีมาทำพิธีปัดรังควาน โจโฉก็ทอดใจใหญ่ปลงว่า เป็นกรรมมาถึงตนแล้ว ไม่มีใครจะช่วยได้ แล้วก็เรียกขุนนางและนายทหารผู้ใหญ่ มาฝากฝังภรรยาทั้งหลาย และบุตรชายทั้งสี่คน โดยย้ำว่า

“……..เห็นแต่โจผีพี่เอื้อย เป็นคนหนักแน่นมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลม พอที่จะตั้งให้เป็นใหญ่แทนตัวเราได้ เราหาบุญไม่แล้ว ท่านจงอนุเคราะห์ตั้งไว้ ให้ว่าราชการแทนเราสืบไปเถิด………”

คราวนี้ก็ถึงฉากสุดท้ายของโจโฉ ซึ่ง สามก๊กฉบับคลาสสิก ของ วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ ก็ได้เขียนเล่าไว้ว่า

โจโฉบัญชาให้ผู้รับใช้คนสนิทเข้ามา ให้นำเอาเครื่องหอมมีชื่อ ที่ตลอดชีวิตตนเก็บซ่อนเอาไว้ ประทานแบ่งให้บรรดาอนุภรรยา พลางสั่งเสียว่า ภายหลังที่ข้าตายไปแล้ว พวกเจ้าต้องหมั่นฝึกฝนงานสตรี รู้จักทอไหม ประดิษฐ์รองเท้าเอาไปขาย เพื่อจะได้เงินเลี้ยงชีพตนเอง และบัญชาให้บรรดาอนุภรรยาส่วนใหญ่ ให้ไปพำนักอยู่ที่ปราสาทตั้งเชี๊ยกไท้ แต่ละวันให้จัดพิธีคารวะเซ่นไหว้ และจะต้องบัญชาให้หญิงคณิกา แสดงขับร้องมโหรีและนำอาหารขึ้นถวาย

และมีคำบัญชาสั่งเสียให้ไปที่จังหวัดเจียงเต็ก ทางนอกเมืองกั้งบู้เซี้ย ให้ก่อสร้างสุสานฮวงซุ้ยหลอกเจ็ดสิบสองแห่ง ห้ามมิให้คนรุ่นหลังรู้ว่า ข้าฝังอยู่ที่ใด เพราะเกรงจะมีคนไปขุดเอาขึ้นมา ครั้นสั่งเสียเป็นที่เรียบร้อย ก็ถอนหายใจเสียงยาว ๆ หนึ่งครั้ง น้ำตาไหลประดุจฝนตก อีกสักครู่ก็ขาดใจตายลง

ส่วนปัญหาที่ว่าโจโฉเป็นโรคอะไรแน่นั้น สามก๊กฉบับนายแพทย์ ของหมอพัตร ให้อรรถาธิบายไว้ว่า โรคที่น่าจะเป็นสาเหตุคร่าชีวิตโจโฉ เห็นจะได้แก่โรคเนื้องอกในสมอง และชี้แจงให้ทราบอย่างละเอียดว่า

เนื้องอกในสมองมี ๒ ชนิด ได้แก่เนื้องงอกชนิดธรรมดา และเนื้องงอกชนิดร้ายแรงหรือมะเร็ง แต่ไม่ว่าจะเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา หรือมะเร็ง ก็ทำให้ซี้บ้องเซ็กได้อย่าง(ไม่)สบาย เหมือนกัน ต่างกันแต่ตายเร็วตายช้าเท่านั้น

อาการป่วยของโจโฉ เข้าได้กับอาการของโรคเนื้องงอกในสมองหลายอย่าง ตามที่กล่าวไว้ในพงศาวดาร โจโฉมีอาการปวดศรีษะอย่างร้ายแรงจนนอนไม่หลับ บางครั้งหลับแล้วยังตื่นขึ้น เนื่องจากความเจ็บปวด นอกจากนั้นยังเห็นผีเห็นสางมากมาย ซึ่งถ้าจะอนุโลมว่าเป็นอาการประสาทหลอน ก็คงจะพอรับฟังได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจนัก หมอฮัวโต๋ยังบอกว่า โจโฉเป็นโรคลมเสียดแทงในศรีษะ ต้องผ่าตัดเข้าไปชำระโรคจึงจะหาย

แล้วท่านก็สรุปยืนยันว่า โจโฉตายด้วยโรคเนื้องอกในสมอง อย่างแน่นอน

ต่อจากนั้น วรรณไว พัธโนทัย ได้กล่าวไว้ใน สามก๊กฉบับแปลใหม่ ว่า

สิ้นเสียงสั่ง โจโฉถอนพระทัยยาว น้ำตาไหลดุจฝนหลั่ง ครู่หนึ่งก็ขาดใจตาย สิริชนมายุ ๖๖ ปี ขณะนั้นเป็นฤดูใบไม้ผลิ ปีที่ยี่สิบห้า ศักราชเจี้ยนอัน คนภายหลังได้แต่งกลอน รำลึกถึงโจโฉไว้ว่า

ยืนอยู่เมืองเงียบกุ๋นครุ่นรำลึก ชายชาญศึกเกิดริมน้ำจังใหญ่
คนเหนือคนมีอิทธิ์ฤทธิไกร จักหาใครเทียบได้ที่ใดมี
เป็นทั้งคนใจบุญสุนทรทาน เป็นทั้งยอดอันธพาลชาญชัยศรี
เป็นนักธรรมล้ำเลิศทางพาที เป็นทั้งจอมอสุรีคับโลกา
มีปัญญาสามารถทั้งบุ๋นบู๊
แสนรอบรู้สารพัดในโลกหล้า
ฝีมือรบเกริกก้องพสุธา สถาปนาเวียงวังได้ดั่งใจ
คนนี้คือโจโฉโตใหญ่นัก แสนจงรักฮ่องเต้จะหาไหน
จึงเข้ายึดแผ่นดินทั่วถิ่นไซ้ ตั้งตัวใหญ่เป็นอ๋องครองนภา

และท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สรุปไว้ในที่สุดว่า

เมื่อโจโฉมีนโยบาย ที่จะรวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่น โจโฉก็มุ่งหน้าดำเนินนโยบายนั้นอย่างไม่ท้อถอย มิให้ความสุขหรือทุกข์หรือเหตุใด เข้ามาเป็นอุปสรรคกีดขวางได้ โจโฉถือว่าตนอยู่ในฐานะทำราชการให้แก่พระเจ้าเหี้ยนเต้ เป็นหลักไปตลอดชีวิต ถวายการยกย่องและสักการะ ตามควรแก่ฐานะตลอดมา แม้ว่าพฤติการณ์และพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าเหี้ยนเต้ บางกรณี น่าจะทำให้โจโฉเปลี่ยนความคิดได้ โจโฉก็ไม่ยอมเปลี่ยน

ซึ่งหมายถึงความจงรักภักดีของโจโฉ ที่มีต่อฮ่องเต้อย่างมั่นคงมาตลอดชีวิต แต่ตรงกันข้ามกับโจผีบุตรชายคนโต เมื่อได้ขึ้นเป็นอ๋องแทนบิดาไม่เท่าไร ในปีต่อมาก็ได้ถอดพระเจ้าเหี้ยนเต้ออกจากราชบัลลังก์ แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้แทน ทรงพระนามว่าพระเจ้าอ้วยโซ่ แล้วจึงให้จารึกกุฏิฝังศพโจโฉใหม่ ทรงพระนามว่าพระเจ้าไทล่อฮูฮ่องเต้ เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์วุย มาตั้งแต่บัดนั้น

ก็เป็นอันจบสิ้นชีวิตอันโลดโผนพิศดาร ของมหาอุปราชที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด ในยุคสามก๊ก ลงแต่เพียงนี้.

###########




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2551 4:43:56 น.
Counter : 983 Pageviews.  

จุมโพ่ชะตาขาด (บันทึกจากสามก๊ก)

บันทึกจากสามก๊

จุมโพ่ชะตาขาด

“ เทพารักษ์ “

ในนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊กนั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งที่หัวหน้ากลุ่มสี่นาย คือ โจโฉ ลิโป้ เล่าปี่ และซุนเซ็ก ได้ร่วมมือเป็นพวกเดียวกัน เพื่อกำจัดอ้วนสุดเจ้าเมืองลำหยง น้องชายของอ้วนเสี้ยว โดยให้ลิโป้อยู่ด้านตะวันออก เล่าปี่กับพี่น้องสองคนอยู่ด้านใต้ โจโฉคุมกองทัพหลวงสิบเจ็ดหมื่นอยู่ทางด้านเหนือ และให้ซุนเซ็กยกทหารเรือขึ้นบกไปตั้งทางทิศตะวันตก แล้วก็ยกเข้าล้อมเมืองลำหยงพร้อมกัน

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ให้อรรถาธิบายไว้ใน สามก๊กฉบับ นายทุน ตอน โจโฉ..นายก ฯ ตลอดกาล ว่า

ในประวัติของโจโฉ ครั้งนี้เป็นครั้งแรก และเป็นครั้งเดียวในชีวิต ที่โจโฉได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่าง ๆ พร้อมเพรียงกัน แต่โจโฉหารู้ไม่ว่าทุกคนที่สนับสนุนโจโฉอยู่ในขณะนี้นั้น ต่างก็หวังความเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น

เล่าปี่นั้น มีความมักใหญ่ใฝ่สูงอยู่ในตัว เมื่อเห็นฝ่ายใดมีอำนาจก็แอบอิงไว้ก่อน โจโฉสำหรับเล่าปี่นั้นเป็นเพียงขั้นบันได สำหรับไต่ขึ้นไปหาวาสนาอันสูง ส่วนลิโป้นั้นเคยได้ดีด้วยคนอื่น เป็นต้นว่าตั๋งโต๊ะ ครั้นเห็นโจโฉได้เป็นนายกรัฐมนตรี ลิโป้ก็เข้าแอบอิงเพื่อหาความดีความชอบ คนสันดานอย่างลิโป้นั้นเป็นต้นไม้เลื้อย ต้องอาศัยต้นไม้ใหญ่จึงจะสูงขึ้นไปได้ ในขณะนี้ลิโป้มองเห็นโจโฉเป็นต้นไม้ใหญ่ ที่ตนจะอาศัยเลื้อยพันขึ้นไปให้เห็นแสงเดือนแสงตะวันได้

ส่วนซุนเซ็กนั้นมีสาเหตุโกรธเคืองอยู่กับอ้วนสุดเป็นส่วนตัว เนื่องด้วยแย่งตราแผ่นดิน อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นใหญ่กันอยู่ แต่ซุนเซ็กยังมีกำลังน้อย จะตีอ้วนสุดให้ล้มลงไปด้วยกำลังของตัวเองก็ไม่ได้ จึงต้องใช้โจโฉเป็นอาวุธสำหรับฟาดฟันอ้วนสุด ให้ล้มคว่ำลงไป ซุนเว็กก็จะได้เป็นใหญ่

ทุก ๆ คนที่มาช่วยโจโฉรบอ้วนสุดคราวนี้ จะหาใครที่สนับสนุนโจโฉด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อความสุขความเจริญของแผ่นดิน และอาณาประชาราษฎร อย่างที่โจโฉได้ตั้ง ปนิธาณไว้ แม้แต่คนเดียวก็ไม่มี

ฝ่ายอ้วนสุดเห็นข้าศึกยกทหารมาตั้งอยู่ทั้งสี่ด้าน จึงปรึกษากับทหารทั้งปวงว่า การศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ท่านทั้งปวงจะคิดประการใด ที่ปรึกษาคนหนึ่งก็แนะนำว่า

“…….เมืองเราครั้งนี้ราษฎรก็ขัดสนด้วยข้าวปลาอาหาร ซึ่งท่านจะคิดอ่านออกรบกับโจโฉนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าทหารทั้งปวงจะได้ความลำบาก ขอให้ท่านแต่งทหารอยู่รักษาเมืองไว้ให้มั่นคง ตัวท่านจึงพาครอบครัวถอยไปตั้งอยู่ตำบลห้วยหนำ จะได้อาศัยเสบียงอาหาร…….”

อ้วนสุดก็เห็นชอบด้วย จึงให้นายทหารเอกสี่นายกับทหารสิบหมื่น อยู่รักษาเมืองลำหยง ตนเองพาครอบครัวหลบหนีไปอยู่ ที่ตำบลห้วยหนำตามคำของกุนซือ โจโฉไม่รู้ว่าอ้วนสุดหนีไปแล้ว จึงตั้งล้อมเมืองอยู่เป็นแรมเดือน จนสิ้นเสบียง ต้องไปยืมเสบียงจากทัพเรือของซุนเซ็ก เอามามอบให้ อองเฮาซึ่งเป็นแม่กองสูทกรรม หรือจุมโพ่ของกองทัพ แต่เสบียงนั้นก็ไม่พอเพียงกับทหารทั้งสิบเจ็ดหมื่น อองเฮามีความวิตกจึงหารือกับโจโฉแม่ทัพ ตามสำนวนของท่าน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า

อองเฮาจึงว่าแก่โจโฉว่า ข้าวในฉางเรานี้ก็น้อยลงแล้ว นานไปเห็นทหารทั้งปวงจะขัดสน โจโฉจึงว่าถ้าดังนั้นท่านจงคิดแจกข้าวแก่ทหาร ให้ถังย่อมลงกว่าเก่า แต่พอประทังไว้กว่าเราจะทำการสำเร็จ อองเฮาจึงว่าซึ่งท่านจะทำดังนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ทหารทั้งปวงจะมีความน้อยใจ ด้วยกำลังนั้นอิดโรยลง ก็จะไม่เป็นใจทำการณรงค์สงคราม โจโฉจึงตอบว่าเราจะคิดอ่าน มิให้ทหารทั้งปวงเสียใจได้

อองเฮาก็ทำถังเล็กตวงข้าวแจกทหารตามคำโจโฉว่า ทหารทั้งปวงได้อาหารไปกินไม่เต็มกำลังก็เสียใจ จึงชวนกันนินทาโจโฉว่า ส่วนการนั้นจะเอา จ่ายข้าวให้กินแต่น้อย เมื่อเรากินไม่อิ่มดังนี้ จะทำการรบพุ่งต่อไปได้หรือ

ส่วน สามก๊กฉบับแปลใหม่ ของ วรรณไว พัธโนทัย เขียนไว้ว่า

โจโฉล้อมเมืองอยู่เดือนเศษ เสบียงอาหารใกล้จะหมดสิ้น จึงมีสาส์นถึงซุนเซ็ก ขอเสบียงอาหารสิบหมื่นถัง แล้วมอบให้อองเฮาซึ่งเป็นนายฉาง แจกจ่ายกันให้ทั่ว

อองเฮาถามโจโฉว่า “ ทหารของเรามีมาก เสบียงอาหารน้อย จะคิดอ่านอย่างไรดี จึงจะเฉลี่ยให้ทั่วถึง “

โจโฉตอบว่า “ จงจ่ายข้าวให้น้อยลงกว่าเก่า พอประทังไว้ จนกว่าการศึกจะสำเร็จ ”

อองเฮาย้อนถามว่า “ ทหารจะไม่โกรธหรือ “

โจโฉตอบว่า “ ข้าพเจ้าจะออกอุบายเอง “

อองเฮาจำต้องปฏิบัติการไปตามคำสั่ง โดยจ่ายข้าวให้ทหารน้อยลง

และ สามก๊กฉบับคลาสสิก ของ วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ ให้รายละเอียดเพิ่มขึ้นอีกว่า

ทั้งสองต่างยันกันอยู่เป็นเวลาเดือนเศษ ดู ๆ ว่าเสบียงอาหารจะหมดสิ้น จึงมีหนังสือไปถึงขุนพลน้อยซุนเซ็ก ยืมข้าวมาได้สิบหมื่นฮก (หนึ่งฮกเท่ากับห้าสิบลิตรเศษ) แต่ก็ยังมิเพียงพอแก่ความต้องการ หัวหน้ากองเสบียง ยิ่มจุ่ง มีผู้ใต้บังคับบัญชาชื่อ เฮ่งโก่ว (อองเฮา) มีหน้าที่คุมยุ้งข้าว เข้ารายงานต่อโจโฉว่า ขณะนี้ทหารก็มาก เสบียงก็เหลือน้อย ไม่ทราบว่าจะให้ข้าฯปฏิบัติอย่างไร โจโฉแนะนำว่า ให้ทำภาชนะตวงจ่ายเป็นฮกเล็ก ๆ แก้ขัดไปพลาง ๆ ก่อน เฮ่งโก่วถามโจโฉว่า ถ้าทหารไม่พอใจจะให้จัดการอย่างไร โจโฉตอบว่า ข้าฯย่อมมีวิธีแก้ไข เฮ่งโก่วน้อมรับคำสั่งแล้วก็ไปแจกจ่ายข้าว ด้วยเครื่องตวงที่เล็กกว่าเดิม ให้ทหาร

ผลของการลดเสบียงอาหารโดยวิธีนี้ ท่าน เจ้าพระยาพระคลัง ได้บรรยายไว้ว่า

ครั้นเวลากลางคืน โจโฉจึงใช้ให้คนสนิทไปเที่ยวฟังดูรู้เนื้อความว่า ทหารทั้งปวงเสียน้ำใจ ชวนกันครหานินทาโจโฉ โจโฉจึงคิดเอาใจทหารทั้งปวง ให้มีน้ำใจยกเข้าปล้นเมือง จึงลอบหาตัวอองเฮามาว่า เราจะขอของรักท่านสักสิ่งหนึ่ง จะได้เอาใจทหาร ท่านจะให้หรือไม่

อองเฮาจึงว่า ข้าพเจ้ามิได้มีสิ่งใดที่จะให้มหาอุปราช โจโฉกระซิบบอกว่าเราจะขอยืมศรีษะท่าน อองเฮาตกใจจึงว่า ข้าพเจ้ามิได้มีผิดสิ่งใด เหตุไฉนมหาอุปราชจึงจะตัดศรีษะ ข้าพเจ้าเสีย โจโฉจึงว่า ตัวท่านก็มิได้มีความผิด แต่เราจะขอศรีษะท่าน กระทำการให้ทหารทั้งปวงมีน้ำใจ ซึ่งบุตรภรรยาพรรคพวกของท่านอยู่ภายหลังนั้น เราจะเลี้ยงดูมิให้ขัดสน

อองเฮายังมิทันจะว่าประการใด โจโฉก็ให้ทหารเอาตัวอองเฮาไปตัดศรีษะเสียบไว้ แล้วให้ร้องประกาศว่า อองเฮากระทำผิด ฉ้ อ ข้าวมหาอุปราช แล้วจ่ายข้าวให้ทหารด้วยถังเล็ก

ทหารทั้งปวงรู้ดังนั้นก็สิ้นสงสัย โจโฉจึงป่าวร้องให้ทหารทั้งปวง มาเบิกข้าวให้สำเร็จในสามวัน แล้วโจโฉจึงกำชับทหารทั้งปวงว่า เราจะยกเข้าไปปล้นเมือง แม้ใครมิเป็นใจกระทำการ แตกถอยออกมาเราจะตัดศรีษะเสีย

แผนการฆ่าลิงให้ไก่ดู ซึ่งได้ผลสองต่อนี้ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รับไม่ได้ จึงได้โต้แย้งไว้ใน สามก๊กฉบับนายทุน ตอน โจโฉ นายกฯ ตลอดกาล ว่า

พิเคราะห์ดูข้อความในหนังสือสามก๊กตอนนี้ จะเห็นได้ว่าผู้เขียนหนังสือสามก๊กฉบับเดิมนั้น เจตนาจะใส่ร้ายป้ายสีให้เห็นว่า โจโฉนั้นมีใจเหี้ยมโหดทารุณ ฆ่าอองเฮาเสียโดยไม่มีผิด เพื่อประโยชน์ของตนในการเข้าตีเมืองลำหยง ถ้าหากจะพิจารณาความตอนนี้ด้วยใจเป็นธรรม จะเห็นได้ว่า โจโฉมิใช่เป็นคนเช่นนั้น

ในประการแรก ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า โจโฉให้ฆ่าอองเฮาเสียเพราะเกิดคอร์รัปชั่น อองเฮาผู้เป็นพลาธิการโกงข้าวทหาร โดยทำขนาดถังตวงข้าวแจกทหาร ให้เล็กลงไปกว่าปกติ ข้อเท็จจริงนี้ทหารของโจโฉเชื่อทั้งกองทัพ และเห็นด้วยกับการกระทำของโจโฉ เหตุไฉนผู้เขียนเรื่องสามก๊ก ซึ่งเป็นคนรุ่นหลังจะล่วงรู้ไปได้ ว่าโจโฉแอบกระซิบขอยืมหัวอองเฮา อันเป็นเรื่องพูดกันสองต่อสอง และถึงแม้ว่าจะเป็นจริง โจโฉก็คงไม่เอาเนื้อความนี้ไปแพร่งพรายให้ใครรู้

แต่ถ้าดูนิสัยแต่ดั้งเดิมมาจะเห็นว่า โจโฉมีแต่ความเมตตากรุณา ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอ จะลงโทษก็ต่อเมื่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ไปทำอันตรายราษฎรหรือคนหมู่ใหญ่เข้า เช่นอองเฮานี้เป็นต้น

ในประการที่สอง หนังสือสามก๊กนั้นเองก็บอกว่า โจโฉให้ไปยืมข้าวจากซุนเซ็กมาได้ถึงสิบหมื่นถัง ทหารคนหนึ่งกินไม่ถึงเดือนละถังแน่ ๆ และโจโฉนั้นมีทหารเพียงเจ็ดสิบหมื่นคน คิดเฉลี่ยแล้วข้าวที่ยืมมาได้ ก็พอเลี้ยงทหารไปได้หลายวัน พอที่โจโฉจะไปหาเสบียงทางอื่นมาได้ ไม่มีเหตุใด ๆ ที่โจโฉจะต้องไปสั่งให้อองเฮา ลดปริมาณข้าวที่จ่ายให้ทหารลงมา แล้วปรากฎว่าทหารเสียกำลังใจ ก็ต้องมาคิดอุบายเอาทีหลัง

ฉะ นั้น ความจริงในเรื่องนี้เห็นจะมีเพียงว่า อองเฮาได้ก่อคอร์รัปชั่นขึ้นในกองทัพ โจโฉรู้เข้าจึงต้องลงโทษอย่างหนัก เพราะเป็นยามทัพศึก ส่วนคนที่ต้องการจะใส่ร้ายป้ายสีโจโฉนั้น จะพูดอะไรก็พูดได้ หากโจโฉไม่ฆ่าอองเฮาเสีย ก็จะหาว่าโจโฉสมคบกับลูกน้องในทางกินโกง แต่พอฆ่าเข้าก็หาว่าทารุณโหดร้าย ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้เป็นยากมาตั้งแต่สมัยโจโฉ ไม่ใช่จะเป็นกันได้ง่าย ๆ

หลังจากที่โจโฉปราบคอร์รัปชั่นภายในกองทัพแล้ว ทหารทั้งปวงต่างก็มีกำลังใจ พอได้รับคำสั่งให้เข้าตีเมืองลำหยง ก็ตีได้ภายในเวลารวดเร็ว

แต่ไม่ว่าท่านผู้อ่าน จะเห็นด้วยกับเหตุผลของใคร ไม่ว่าจะเป็นการเสียสละเพื่อชาติ หรือเพราะการคอร์รัปชั่นก็ตาม อองเฮาก็ได้เสียหัวไปแล้ว อย่างไม่มีวันที่จะได้กลับคืนมาอีก เป็นแน่แท้.

############






 

Create Date : 27 กันยายน 2551    
Last Update : 27 กันยายน 2551 9:42:10 น.
Counter : 796 Pageviews.  

1  2  3  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.