Group Blog
 
All Blogs
 

การต้อนรับที่น่ายินดี

การต้อนรับที่น่ายินดี

เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่บล็อกของเจียวต้าย
ซึ่งเปิดมาได้เพียงไม่ถึงสามเดือน
ก็มีผู้เข้ามาเยือนมากมายจนเหลือเชื่อ

แม้ว่าจะมีผู้อ่านลงชื่อหรือให้ความเห็น เพียงไม่เกินสิบชื่อ
และมีผู้เปิดดูประวัติส่วนตัว ไม่ถึงร้อยชื่อ

ซึ่งในนั้นก็ไม่มีรายละเอียดแต่อย่างใดเลย
จึงขอแนะนำว่า ถ้าอยากจะทราบประวัติของเจียวต้าย
ก็จะหาได้จากกลุ่มหน้าบ้านชานเรือนนี้แหละครับ

ผมมีเจตนาที่จะฝากข้อเขียน ประเภทต่าง ๆ ไว้ในบล็อกนี้
ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงได้แจ้งประวัติไว้ค่อนข้างละเอียด
เผื่อเวลาที่ผมจากไปแล้ว มีผู้บังเอิญเปิดมาพบเข้า
จะได้ไม่ต้องไปหารายละเอียดที่ไหนอีก

ผมขอฝากข้อเขียนเหล่านี้ไว้ให้ท่านผู้อ่านทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ซึ่งคงจะมีสักเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ถูกใจท่านผู้อ่านท่านใดท่านหนึ่ง

เท่านี้ผมก็จะมีความสุขอย่างยิ่งแล้ว
ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม

ขอบพระคุณครับ.




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2550    
Last Update : 20 ตุลาคม 2550 9:46:57 น.
Counter : 477 Pageviews.  

จากดินคืนสู่ดิน

จากดินคืนสู่ดิน

เจียวต้าย

ตามระเบียบของทางราชการนั้น สำหรับผมซึ่งจะเกษียณอายุ ในเดือนตุลาคม ๒๕๓๕ จะต้องย้ายไปประจำมณฑลทหารบก ตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๓๔ เพื่อพักรอการปลด เป็นเวลาอย่างมากก็ ๑๙ เดือน พอให้จัดการหาหลักฐานที่จะยื่นเรื่องราวขอรับบำเหน็จบำนาญ และแก้ไขประวัติการรับราชการ ให้ถูกต้องสมบูรณ์ แต่ผู้บังคับบัญชาก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ย้าย เพื่อให้ทำงานต่อไปก็ได้เหมือนกัน ผมจึงได้รับคำสั่งให้ย้าย ไปประจำมณฑลทหารบกที่ ๑๑ กรุงเทพ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๓๕ แต่ทางกรมการทหารสื่อสาร ก็ยังขอตัวไว้ช่วยราชการที่เดิมอีก พร้อมกันนั้นก็ได้กรุณาให้ช่วยราชการ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ต่อไปอีก ๖ เดือน จนถึงกรกฎาคม จึงได้พ้นจากหน้าที่การงานทั้งสองด้านโดยสิ้นเชิง

ผมวางแผนที่จะใช้เวลาว่างปีกว่านั้น เขียนหนังสือเป็นงานประจำ แทนการทำราชการ โดยไม่คิดที่จะกระเสือกกระสนหางานที่ไหนทำอีก เพราะได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับงานที่ผ่านมาเกือบ ๔๐ ปี จนอ่อนล้าไปหมดแล้ว และก็ได้ลงมือทำตามที่ตั้งใจไว้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้พัก จนสามารถขยาย "ชีวิตที่มีกำไร" จาก ๗-๘ หน้า ออกมาเป็น "ชีวิตที่ไม่ได้เลือก" นี้ ถึง ๕๐ กว่าหน้าได้สำเร็จ และหยิบเอาวรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารจีน เรื่อง สามก๊ก ของ ท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มาย่อยเป็นตอนสั้น ๆ ให้ชื่อว่า "สามก๊กฉบับลิ่วล้อ" ในนามของ "เล่าเซี่ยงชุน" ส่งไปลงพิมพ์ตามนิตยสารของทหารเหล่าอื่น ๆ นอกจากทหารสื่อสาร ตลอดระยะเวลา ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๔ จนถึง พ.ศ.๒๕๓๘ ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย รวม ๕๖ ชุด หรือ ๑๑๙ ตอน

นี่ก็เป็นกำไรชีวิตอีกเรื่องหนึ่งของผมในช่วงท้ายนี้ เพราะคนที่รักการเขียนหนังสือนั้น ไม่มีอะไรจะเป็นความสุขเท่ากับได้เขียนตามใจปรารถนา และสามก๊กฉบับลิ่วล้อ ได้ช่วยให้ผมเข้าถึงวรรณคดีเรื่องนี้ อย่างลึกซึ้งละเอียดละออ ได้รับรสของภาษาอันเป็นอมตะอย่างเต็มอิ่ม จึงต้องขอคารวะพระคุณของ ท่านเจ้าพระยาผู้รจนาเรื่องสามก๊กจากภาษาจีน และท่าน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงพระนิพนธ์เรื่องตำนานของสามก๊ก ให้เป็นหลักฐานไว้ ณ โอกาสนี้

จากนั้นก็หันไปหาวรรณคดีไทย พระอภัยมณี ของท่าน สุนทรภู่ เอามาย่อยเป็นตอนสั้น ๆ เป็น พระอภัยมณีฉบับเร่งรัด โดย ฑ.มณฑา แล้วก็เลยไปแกะ รามเกียรติ์ จากภาพจิตรกรรมฝาผนัง ริมระเบียงโบสถ์วัดพระแก้ว เอามาเล่าประกอบกับคำโคลง ที่ประดับเสาระเบียงที่ตรงกับภาพนั้น เป็น รามเกียรติ์ฉบับระเบียงวัด โดย "วชิรพักตร์" ซึ่งตั้งใจจะลอกให้หมดทั้ง ๑๗๘ ห้อง คงจะได้งานทำไปจนตลอดชีวิต นอกจากจะหมดแรงที่จะไปก้ม ๆ เงย ๆ รอบระเบียงนั้นเสียก่อน เพราะการเขียนหนังสือนั้น เป็นงานที่ถนัดอยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

บัดนี้ชีวิตที่เหมือนกับการเดินทางของผม ก็ได้มาถึงโค้งสุดท้าย กำลังจะเลี้ยวลงจากที่สูง เมื่อเหลียวมองกลับหลังไปดูอดีตอันคดเคี้ยวที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่า ความสำเร็จที่ได้รับเป็นส่วนใหญ่นั้น ล้วนแต่ได้การประคับประคองเหนี่ยวรั้ง และผลักดัน จากท่านผู้มีพระคุณจำนวนมากมาย ตลอดระยะทางอันยาวไกล ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาดูโลก นอกจากพ่อซึ่งเป็นต้นกำเนิดของชีวิต และแม่ผู้อุ้มชูเลี้ยงดูมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนเกิดมาเป็นคนแล้ว ก็ยังมีอีกเป็นลำดับ

เริ่มตั้งแต่คุณครู และ ภรรยาของท่าน ที่เป็นผู้ทำคลอดผม และได้อบรมสั่งสอนมาตลอดเวลาที่เรียนกับท่านในชั้นมัธยมเหมือนบุพการีคู่ที่สอง

ต่อมาก็คือ ญาติผู้ใหญ่ที่กรุณาดึงตัวเอาไปทำงานใน กรมพาหนะทหารบก ยามที่กำลังจะออกจากโรงเรียนมาอดตาย เหมือนลากเด็กที่กำลังจะจมน้ำให้รอดชีวิตขึ้นมาหายใจต่อไปอีกได้

จากนั้นก็คือท่านผู้บังคับหมวดทหารราบ ที่สนับสนุนให้เข้าโรงเรียนนายสิบทหารสื่อสาร เปรียบเสมือนการเปิดประตูให้ก้าวออกไปสู่โลกอันกว้างใหญ่ ภายหลังจากที่พึ่งสุดท้ายคือแม่ ได้จากไปแล้ว

อีกบรรดาครูอาจารย์ในหลักสูตรต่าง ๆ ของโรงเรียนทหารสื่อสาร ที่ได้ประสิทธิ์ประศาสน์วิทยายุทธ ให้สามารถเอาไปใช้ในการเป็นนายทหาร ที่มีความก้าวหน้าต่อไปได้อย่างดี

จนถึงหัวหน้ากองสองท่าน ที่ได้ส่งตัวไปทำงาน ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก สองสมัย ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น พ้นจากความขาดแคลนที่ติดตัวมาตลอดเวลา

และท่านผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ระดับรองและเจ้ากรมการทหารสื่อสาร ที่ได้กรุณาสนับสนุนผลักดันให้ได้รับยศ พันโท และ พันเอก อันเป็นเกียรติประวัติที่สูงยิ่งสำหรับชีวิตเล็ก ๆ นี้ ในที่สุด

แต่ยังมีอีกท่านหนึ่ง ซึ่งผมไม่เคยได้เอ่ยถึงมาก่อนเลย เพราะอัตตชีวประวัติเล่มนี้ เป็นเรื่องของกำไรชีวิต แต่คนเราไม่ได้มีอยู่เพียงด้านเดียว ชีวิตในด้านที่ไม่อยากเล่านั้นมีมากกว่า และท่านผู้นี้เองที่ได้อุปถัมภ์ค้ำจุน ในคราวลำบากยากไร้ให้ผ่านพ้นมาได้ ตั้งแต่ผมเกิดมาในโลกนี้

ท่านไม่ได้เป็นญาติทางสายไหนของผมเลย เพียงแต่เป็นลูกศิษย์ส่วนตัวของแม่ ที่ได้เคยสั่งสอนอบรมกันมา ทั้งวิชาความรู้ทางหนังสือ และการบ้านการเรือน ตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อท่านเติบโตมีฐานะเป็นหลักฐานมั่นคง ตรงข้ามกับแม่ซึ่งได้ตกต่ำยากจนลงเป็นลำดับ จนถึงขั้นป่วยไม่สามารถหาเลี้ยงชีพตนเองได้ ด้วยความกตัญญูต่อแม่ครูผู้มีพระคุณ ท่านจึงได้ยื่นมือเข้ามาโอบอุ้มช่วยเหลือเจือจาน ตั้งแต่เมื่อบ้านแตกสาแหรกขาด มาจากสวนฝั่งธนบุรี จนตลอดระยะเวลาของสงครามมหาเอเซียบูรพา

และผลของความกตัญญูกตเวทีของท่านนั้น ก็ได้ตกทอดมาถึงผม จากพลทหารเกณฑ์จนเข้าโรงเรียนนายสิบ ก็ได้รับเบี้ยเลี้ยงส่วนตัวทุกสัปดาห์ จนสำเร็จออกรับราชการ น้องก็ได้รับความอุปการะ ส่งเสียการกินอยู่และการเล่าเรียนจนจบประโยคครูมัธยมศึกษา ออกมาเป็นครูได้สำเร็จ และยังได้ตามดูแลเอาใจใส่ ปลูกฝังความดีงามในจิตใจของพี่น้องสองกำพร้าต่อมา และได้ชักจูงชี้ทางไปสู่ธรรมะ และการทำบุญทำกุศล จนเป็นนิสัยอยู่ในปัจจุบัน

ท่านผู้นี้ เป้นผู้ซึ่งมีพระคุณล้นเกล้าเทียบเท่าแม่ คนที่สองของผม อันจะต้องจารึกชื่อของท่านไว้ในดวงกมล ตราบจนสิ้นลมหายใจ

ชีวิตของคนเรานี้ ไม่มีใครรู้ว่ามาจากไหน จะอยู่ยืนยาวไปได้นานสักเพียงใด จะสิ้นสุดลงเมื่อไร ที่ไหน อย่างไร และจากนั้นจะเป็นอะไรต่อไป ไม่มีใครที่จะให้คำตอบอย่างชัดเจนกระจ่างแจ้งได้ ไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ตาม

เมื่อครั้งเป็นหนุ่ม ผมเคยชอบใจบทกลอนของ "ดอกไม้สด" ที่ว่า

ครองใจอยู่ในอุเบกขา อุตส่าห์ในศุภกิจให้ผลิตผล
ค้ำจุนผู้อ่อนแอแลอับจน ส่วนตนนั้นอย่าได้ของ้อผู้ใด...

ซึ่งผมได้ยึดถือเป็นคติประจำใจเรื่อยมา จนถึงปัจจุบันได้มองย้อนกลับไปดูการกระทำของตนเองแล้ว ก็พบว่าวิถีชีวิตที่ผ่านมา ก็อยู่ในหลักเกณฑ์ของบทกลอนเพียงสี่บรรทัดนั้น เป็นส่วนใหญ่ จนเดี๋ยวนี้ เมื่อสามารถจะเขียนประวัติของตนเองได้อย่างย่นย่อว่า

๒๔๗๔ เกิดที่จังหวัดกระบี่
๒๔๗๙ เรียนหนังสือ
๒๔๙๕ อุปสมบท
๒๔๙๖ เป็นทหารกองประจำการ
๒๔๙๘ เป็นนายสิบ
๒๕๐๗ แต่งงาน
๒๕๑๑ เป็นนายทหาร
๒๕๓๕ เกษียณอายุ

แม้ว่ายังไม่ใช่บรรทัดสุดท้ายก็ตาม แต่ก็เป็นอันว่าชีวิตของผม ได้หลุดพ้นจากความเหนื่อยยาก ความลำบากกายใจ ผ่านความผิดหวังและสมหวัง ความเพียรพยายาม และความมานะอดทน จนได้ประสบความสำเร็จในชีวิตสูง อย่างที่ไม่เคยได้คาดคิดมาก่อน แต่ก็ยังเป็นคนที่ไม่มีทรัพย์สมบัติหรือสิ่งฟุ่มเฟือยอื่นใด นอกจากความสุขแบบคนธรรมดาสามัญ ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าปัจจัยสี่ เพียงแต่พอเลี้ยงท้องให้รอดตลอดไปตามเดิม เพราะผลของการประพฤติปฏิบัติตน มาตลอดระยะเวลาอันยาวนานนั้น เกิดไปตรงกับธรรมะของท่าน พุทธทาสภิกขุ ที่ได้เขียนไว้เมื่อไรก็ไม่ทราบ ว่า

เพ่งหน้าที่เรามีอยู่อย่าดูหมิ่น
มอบชีวินสู้อุทิศไม่คิดหวั่น
โลกอลวนเพราะคนหนีหน้าที่กัน
โลกสุขสันต์เพราะคนชี้หน้าที่ตน
ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ยิ่งชีวิต
อย่าพะวงหลงติดเรื่องสิทธิผล
นั่นเพียงสิ่งหน้าที่มันพลอยบันดล
ข้าวช่วยคนได้ลิ้มให้อิ่มเอง.

เวลาของผมที่เหลืออยู่ภายหลังเกษียณอายุ จึงไม่ต้องมีห่วงกังวลอะไร มองเห็นทุกสิ่งเป็นของธรรมดา ทำอะไรก็ทำไปได้โดยไม่ต้องหวังผล ไม่ต้องดีใจเมื่อได้ ไม่ต้องเศร้าใจเมื่อเสีย ชีวิตอย่างนี้แหละจึงเป็น ชีวิตที่มีกำไร แม้ว่าจะเป็น ชีวิตที่ไม่ได้เลือก ก็ตาม และกำไรของชีวิตเหล่านั้น ก็ไม่ได้หอบเอาไปไหนด้วย คงทิ้งไว้ให้เป็นบทเรียนสำหรับลูกชายทั้งสองคน ได้ศึกษาในโอกาสต่อไป

หน้าที่ของผมที่เหลืออยู่อีกเพียงอย่างเดียวก็คือ การค้นหาคำตอบที่ไม่มีใครสามารถบอกเราได้ และเมื่อรู้แล้วเราก็ไม่สามารถบอกใครได้ เท่านั้นเอง.

##########

จาก ตอนที่ ๙ ของ ชีวิตที่ไม่ได้เลือก
อัตตชีวประวัติของบุคคลไม่สำคัญ
ฉบับ พ.ศ.๒๕๓๗

วารสารรายปี
จากดินคืนสู่ดิน
๒๕๔๔




 

Create Date : 22 กันยายน 2550    
Last Update : 22 กันยายน 2550 18:13:26 น.
Counter : 670 Pageviews.  

สี่สิบปีของ "เจียวต้าย"

สี่สิบปีของเจียวต้าย

กำเนิด "เจียวต้าย" ๑๐ ธันวาคม ๒๕๑๐

ใช้เป็นนามปากกาในงานเขียน กันยายน ๒๕๓๔

เข้ามาเป็นสมาชิก พันทิป ๑๕ มกราคม ๒๕๔๘

บัดนี้ ครบ ๔๐ ปี ใน ธันวาคม ๒๕๕๐


อัน"เจียวต้าย"ความหมายเป็นไฉน
จะบอกให้หายแคลงแจ้งประจักษ์
คือเพื่อนฝูงใกล้ชิดสนิทนัก
ร่วมใจภักดิ์ไม่หลีกเร้นเป็น "เพื่อนตาย"

เหล่าเจียวต้ายเดิมทีมีแปดคน
ปีหนึ่งศูนย์เศร้าเหลือทนคนหนึ่งหาย
เขาคนนั้นจากไปแน่แต่เพียงกาย
เหลือความหมายให้จดจำเป็นคำคม

เราทุกคนดลมาเจอเป็นเกลอแก้ว
พบกันแล้วใกล้ชิดสนิทสนม
แม้ต่างวัยต่างจิตใจไม่ปรารมภ์
ร่วมอุดมคติทำสิ่งสำราญ

ต่างรักกันแน่นเหนียวเป็นเกลียวเชือก
มิได้เลือกยศศักดิ์อัครฐาน
มิตรภาพซาบซึ้งตรึงดวงมาน
ยั่งยืนนานแน่นอยู่คู่ทุกคน

เข้าสี่สิบแล้วเจียวต้ายไม่หายหด
แม้จะตายไปทั้งหมดดังเคยบ่น
ชื่อ"เจียวต้าย"ยังคงอยู่อย่างอดทน
มีผู้คนสัมผัสได้ไม่ลืมเลือน

อินเตอร์เนตโลกใหม่ในอากาศ
ฝากเรื่องราวดื่นดาษไปสู่เพื่อน
ผ่าน"พันทิป"เวปไซด์ดีที่ย้ำเตือน
ร้อยปีเคลื่อนแต่"เจียวต้าย"ไม่เหี่ยวเอย.


๑๔ กันยายน ๒๕๕๐




 

Create Date : 14 กันยายน 2550    
Last Update : 20 กันยายน 2550 9:15:46 น.
Counter : 556 Pageviews.  

หนึ่งปีในถนนนักเขียน

บันทึกไว้ในความทรงจำ

หนึ่งปีในถนนนักเขียน

เจียวต้าย

ผมเพิ่งเข้ามาทำความรู้จักกับอินเตอร์เนต เมื่อสิบห้ามกราคมปีก่อนนี้เอง หลังจากที่ลูกชายคนเล็กติดต่อขอใช้บริการจากบริษัท และเสียค่าบริการรายเดือนให้ โดยเปิดดูลู่ทางอยู่หลายวัน แล้วก็ตกลงใจที่จะเข้ามาเสวนาในถนนนักเขียน ของห้องสมุดพันทิปนี้

เพราะผมเขียนหนังสือมานานมาก มีต้นฉบับที่เคยส่งไปลงพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ และยังไม่ได้ลงมากมาย หลายประเภท ตั้งบทกลอน บันทึกของคนเดินเท้า เรื่องในอดีต เรื่องสั้นที่เขียนจากประสบการณ์ชีวิต ทั้งที่เป็นเรื่องจริง เรื่องเกินจริง และเรื่องเกือบจริง กับเรื่องอิงพงศาวดารจีนอีกหลายเรื่อง

ผมตั้งใจที่จะเอาเรื่องเหล่านั้น มาเสนอให้นักอ่านในถนนนักเขียน ได้พิจารณาดูบ้างว่าเรื่องของผมเหล่านั้น พอจะมีค่าควรแก่การอ่านหรือไม่ แล้วผมก็ได้รับคำวิจารณ์บ้าง คำติชมบ้าง แม้จะไม่มาก แต่ก็ทำให้ผมดีใจที่มีการต้อนรับจากผู้อ่าน อย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน

เพียงสองสามเดือนต่อมา ผมก็ได้รับคำทักทายจากนักอ่านระดับบรรณาธิการคนหนึ่ง หลังจากที่อ่านเรื่องอิงพงศาวดารจีน ตอน ขวากหนามของโจโฉ เป็นความว่า

“ผมเจอเพชรเม็ดหนึ่งในถนนนักเขียนเสียแล้วครับ ขออภัยที่เจอช้าไปหน่อย ตอนนี้ผมตามก๊อปชุดสามก๊กนี้ของคุณเจียวต้ายไว้หมดแล้ว มีสำนักพิมพ์ไหนรับพิมพ์งานชุดนี้หรือยังครับ”

แถมยังมีนักอ่านอีกคนหนึ่งสนับสนุนว่า

“ ดีใจแทนคุณเจียวต้ายมาก ๆ คุณ (บก.ที่ว่า) เหล่ ๆ แบบนี้ ไม่ธรรมดาเลยครับ เพราะตามปกติไม่เหล่ใครง่าย ๆ “

คงจะเดาได้ว่าผมจะมีความรู้สึกยินดีขนาดไหน แต่ก็ตอบแบบนอบน้อมถ่อมตน ว่ายังไม่เคยมีใครพิมพ์เรื่องของเจียวต้าย และก็ไม่ได้หวังด้วย ทั้ง ๆ ที่ผมเคยมีผลงานจากนิยายอิงพงศาวดารจีนมาแล้ว ในนามปากกาอื่น ซึ่งไม่มีใครรู้จัก ตั้งหลายเล่ม

นั่นก็เป็นกำลังใจอย่างสูงยิ่ง ที่ทำให้ผมเอางานมาแปะลงในถนนนักเขียนติดต่อกัน อย่างไม่ขาดสาย จนกระทั่งอีกสามเดือนต่อมา ผมก็ได้รู้จักตัวจริงของนักเขียนและนักอ่านผู้สนับสนุน ข้างต้น แล้วเราก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันมา

ส่วน บก.นั้น ผมเพิ่งได้พบและพูดคุยกัน เมื่อปลายปีที่แล้วนี้เอง และด้วยความประหลาดใจว่า เขาเป็นชายหนุ่มที่มีอายุน้อยกว่าที่ผมคาดไว้มาก แถมค่อนข้างไปทางหล่อมากเสียด้วย แล้วเราก็พูดคุยกันได้อย่างดียิ่งอีกคนหนึ่ง ในจำนวนผู้คนในอินเตอร์เนตทั้งหมดที่ผมได้มีโอกาสรู้จัก เพียงสิบคน

หลังจากนั้นอีกไม่นาน ผมก็ได้รับการขอร้องไหว้วาน จาก บก.หนุ่มคนนี้ ให้ช่วยเรียบเรียงเรื่องที่เกี่ยวกับความกตัญญู จากพงศาวดารจีน ที่ผมคุยว่าเรียบเรียงไว้หลายเรื่อง ส่งไปให้เขาพิจารณา ผมก็รับปากแล้วก็เลือกเรื่องที่ตัวละครแสดงความกตัญญูอย่างชัดเจน ออกมาจากเรื่อง สามก๊ก ซ้องกั๋ง เปาเล่งถูกงอั้น บ้วนฮ่วยเหลา โหงวโฮ้วเพงไซ โหงวโฮ้วเพงหนำ โหงวโฮ้วเพงปัก รีบส่งไปให้อย่างรวดเร็วจนผู้รับแปลกใจ ก็ผมไม่ได้เขียนขึ้นใหม่ เพียงแต่เอาเรื่องที่เขียนไว้แล้ว มาปรับปรุงใหม่เท่านั้น รวบรวมได้มา ๗ ชุด คือ

ยอดกตัญญูในราชวงศ์ฮั่น
สามทหารเสือ
ตัวตายเพราะนายเขลา
เจ้าเมืองความคิดน้อย
โจรกตัญญู
ผู้ทรงความยุติธรรม
ยอดกตัญญูในราชวงศ์ซ้อง

แล้วก็รอฟังคำตอบด้วยใจระทึก

และในระหว่างนั้น ผมก็ได้นำบางตอน ในชุด ผู้ทรงความยุติธรรม และชุด ยอดกตัญญูในราชวงศ์ซ้อง มาแปะลงในถนนนักเขียนไปพลาง ๆ

พอถึงเดือนมีนาคมของปีนี้ บก.ก็มาปรึกษาหารือในการปรับปรุงการจัดในการจัดหน้าของเรื่องยอดกตัญญูที่ผมส่งไปให้ พร้อมกับขอแผ่นดิสก์ต้นฉบับ ไปตรวจแก้ก่อนจะลงคอมพิวเตอร์ และดำเนินกรรมวิธีของการพิมพ์ด้วย ความหวังของผมก็เพิ่มขึ้นอีกหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ในการที่จะได้เห็นเรื่องของเจียวต้ายเป็นรูปธรรม ให้เพื่อนจับต้องได้ ในไม่ช้านี้

และเมื่อถึงเวลาอีกห้าวัน จะถึงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๓๔ ผมก็ได้รับการเรียกร้องจาก บก.ให้ไปดูปรู๊ฟแรก และหน้าปก หนังสือของเจียวต้าย ที่สำนักพิมพ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนประชาอุทิศ ฝั่งธนบุรี ผมจึงดั้นด้นจากถนนสามเสน หน้าวชิรพยาบาล ด้วยรถโดยสารสาย ๓ ลงบางลำพู ต่อด้วยรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ สาย ๘๒ ไปลงที่ใกล้จะถึงทางด่วนที่ข้ามสะพานพระราม ๙ แล้วก็นั่งรถแท็กซี่เลี้ยวเข้าไปในถนนประชาอุทิศ จนถึงปากซอย ๔๕ สุดท้ายนั่งมอเตอร์ไซค์ เข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และจอดที่หน้าอาคาร ๗ มองลอดเข้าไปในช่องประตูเหล็กยืด ก็เห็นป้าย สำนักพิมพ์ บ้านหนังสือโกสินทร์ แขวนอยู่

เมื่อกดกริ่งแล้วรออยู่ครู่หนึ่ง ผมก็ได้พบกับ บรรณาธิการที่ต้องการพบผม แล้วผมก็ได้ตรวจแก้ต้นฉบับเรื่อง ยอดกตัญญูในพงศาวดารจีน ซึ่งหนากว่า ๑๘๐ หน้า และได้สัมผัสหน้าปกสีขาวกับชื่อตัวอักษรสีชมพูสวยเรียบ ๆ โปรยหัวไว้ด้วยความว่า

“ ถ้าคนไม่รู้จักคุณบิดามารดา ถึงโดยว่าเป็นมนุษย์ ก็เหมือนสัตว์เดรัจฉาน “

ต่อท้ายด้วยนามปากกาของผู้เรียบเรียง และมีชื่อหนังสือเรียงอยู่ทางขวา

บุญคุณต้องทดแทน ความแค้นต้องอภัย

คราวนี้ความหวังของผมก็เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว

หนึ่งปีในโลกอินเตอร์เนต ของเจียวต้าย ก็จบลง.................แบบ สุขนาฏกรรม.

##########

ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป
๒๙ มีนาคม ๒๕๔๙




 

Create Date : 09 กันยายน 2550    
Last Update : 20 กันยายน 2550 9:16:13 น.
Counter : 632 Pageviews.  

แนะนำตัว (๒)

เล่าเรื่องนามปากกา

ผมเริ่มเขียนหนังสือส่งไปตามหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เมื่ออายุประมาณ ๑๖-๑๗ ปี โดยใช้นามปากกา “เพทาย” จนกระทั่งเรื่องสั้นเรื่องแรก ได้ลงพิมพ์ในนิตยสารโบว์แดง รายปักษ์ เมื่อ ตุลาคม ๒๔๙๑ แล้วก็เขียนเรื่องสั้นต่อมาอีกเป็นระยะเวลาเกือบสิบปี มีเรื่องสั้นได้ลงพิมพ์ในหน้าหนังสือฉบับต่าง ๆ ทั้งรายเดือน รายสัปดาห์ รายวัน และ รายลอตเตอรี่ ประมาณ ๕๐ เรื่อง และนามปากกานี้ ก็มีนามสกุลงอกออกมาเป็น เพทาย ทิพยสุนทร

ต่อมาผมเข้ารับราชการทหาร ตั้งแต่พลทหาร จนเป็นนายสิบ และเลื่อนเป็นนายทหาร ผมก็ทำงานเกี่ยวกับหนังสือมาตลอด จึงได้เขียนเรื่องต่าง ๆ ในนิตยสารประจำหน่วย ต่อไป ทั้งเรื่องสั้น บทกลอน สารคดี และเรื่องขำขัน โดยใช้นามปากกาต่าง ๆ กว่าสิบชื่อ ที่สำคัญเช่น นายพิศดาร พัชรรัตต์ จอจาน , ห่อ ปูเค็ม , ฒูฬญ์ ปภัสสร และ เจียวต้าย

จนถึง พ.ศ.๒๕๑๘ จึงได้เข้าร่วมอยู่ในกองบรรณาธิการ จนถึง พ.ศ.๒๕๓๐ จึงได้เป็น ผู้ช่วยบรรณาธิการ ซึ่งต้องทำหน้าที่ทุกอย่างทุกประการแทน บรรณาธิการ จนถึง พ.ศ.๒๕๓๓ จึงพ้นหน้าที่นั้น และเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕

เมื่อใกล้จะเกษียณอายุ ได้เริ่มนำเอาวรรณคดีอมตะจากพงศาวดารจีนเรื่อง สามก๊ก ฉบับท่าน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) มาเรียบเรียงเป็นตอนสั้น ๆ เป็นสามก๊กฉบับลิ่วล้อ โดยใช้นามปากกา “เล่าเซี่ยงชุน” ส่งไปลงพิมพ์ในวารสารของทหารเหล่าต่าง ๆ ในกองทัพบก เช่น กองพลทหารราบที่ ๓ กองพลทหารราบที่ ๔ กองพลทหารราบที่ ๙ กองพลทหารม้าที่ ๑ ศูนย์การทหารม้า สระบุรี ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี กรมการรักษาดินแดน กรมการสรรพาวุธทหารบก และหน่วยอื่นนอกกองทัพบก รวมแล้วกว่าสิบชื่อ เป็นจำนวนเกือบสองร้อยตอน

ต่อมาจึงได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับข่าวคราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ทั้งปัจจุบันและอดีต เป็น บันทึกของคนเดินเท้า โดยใช้นามปากกา “เทพารักษ์”

ถัดมาอีกก็เรียบเรียงวรรณคดีไทย เช่นเรื่องรามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน และ พระอภัยมณี โดยใช้นามปากกา “ฑ.มณฑา “

พร้อมกันก็เรียบเรียงพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา จากฉบับ พระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยใช้นามปากกา “พ.สมานคุรุกรรม”

และยังมีอีกสองนาม คือ “วชิรพัตร์” เขียนเรื่องความหลังเมื่อครั้งยังรับราชการ และ “ปภัสสร” เขียนบทร้อยกรอง และเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมะ

สุดท้ายก็คือนามปากกา “เจียวต้าย” ที่เคยเขียนแต่เรื่องขำขัน ก็เอามาใช้เป็นนามสำหรับติดต่ดกับสมาชิกในห้องต่าง ๆ ของ เวปพันทิปดอทคอม อยู่ในปัจจุบัน

และคงจะอยู่จนตราบเท่าที่จะมีแรงคิดและเขียน


แม้เมื่อจำต้องจากไปอย่างไม่กลับมาแล้ว ชื่อข้างต้นเหล่านั้น

ก็คงจะอยู่ในพันทิป ตลอดไป.........

#############




 

Create Date : 29 สิงหาคม 2550    
Last Update : 20 กันยายน 2550 9:16:40 น.
Counter : 565 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.