Group Blog
 
All Blogs
 
จุมโพ่ชะตาขาด (บันทึกจากสามก๊ก)

บันทึกจากสามก๊

จุมโพ่ชะตาขาด

“ เทพารักษ์ “

ในนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊กนั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งที่หัวหน้ากลุ่มสี่นาย คือ โจโฉ ลิโป้ เล่าปี่ และซุนเซ็ก ได้ร่วมมือเป็นพวกเดียวกัน เพื่อกำจัดอ้วนสุดเจ้าเมืองลำหยง น้องชายของอ้วนเสี้ยว โดยให้ลิโป้อยู่ด้านตะวันออก เล่าปี่กับพี่น้องสองคนอยู่ด้านใต้ โจโฉคุมกองทัพหลวงสิบเจ็ดหมื่นอยู่ทางด้านเหนือ และให้ซุนเซ็กยกทหารเรือขึ้นบกไปตั้งทางทิศตะวันตก แล้วก็ยกเข้าล้อมเมืองลำหยงพร้อมกัน

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ให้อรรถาธิบายไว้ใน สามก๊กฉบับ นายทุน ตอน โจโฉ..นายก ฯ ตลอดกาล ว่า

ในประวัติของโจโฉ ครั้งนี้เป็นครั้งแรก และเป็นครั้งเดียวในชีวิต ที่โจโฉได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่าง ๆ พร้อมเพรียงกัน แต่โจโฉหารู้ไม่ว่าทุกคนที่สนับสนุนโจโฉอยู่ในขณะนี้นั้น ต่างก็หวังความเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น

เล่าปี่นั้น มีความมักใหญ่ใฝ่สูงอยู่ในตัว เมื่อเห็นฝ่ายใดมีอำนาจก็แอบอิงไว้ก่อน โจโฉสำหรับเล่าปี่นั้นเป็นเพียงขั้นบันได สำหรับไต่ขึ้นไปหาวาสนาอันสูง ส่วนลิโป้นั้นเคยได้ดีด้วยคนอื่น เป็นต้นว่าตั๋งโต๊ะ ครั้นเห็นโจโฉได้เป็นนายกรัฐมนตรี ลิโป้ก็เข้าแอบอิงเพื่อหาความดีความชอบ คนสันดานอย่างลิโป้นั้นเป็นต้นไม้เลื้อย ต้องอาศัยต้นไม้ใหญ่จึงจะสูงขึ้นไปได้ ในขณะนี้ลิโป้มองเห็นโจโฉเป็นต้นไม้ใหญ่ ที่ตนจะอาศัยเลื้อยพันขึ้นไปให้เห็นแสงเดือนแสงตะวันได้

ส่วนซุนเซ็กนั้นมีสาเหตุโกรธเคืองอยู่กับอ้วนสุดเป็นส่วนตัว เนื่องด้วยแย่งตราแผ่นดิน อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นใหญ่กันอยู่ แต่ซุนเซ็กยังมีกำลังน้อย จะตีอ้วนสุดให้ล้มลงไปด้วยกำลังของตัวเองก็ไม่ได้ จึงต้องใช้โจโฉเป็นอาวุธสำหรับฟาดฟันอ้วนสุด ให้ล้มคว่ำลงไป ซุนเว็กก็จะได้เป็นใหญ่

ทุก ๆ คนที่มาช่วยโจโฉรบอ้วนสุดคราวนี้ จะหาใครที่สนับสนุนโจโฉด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อความสุขความเจริญของแผ่นดิน และอาณาประชาราษฎร อย่างที่โจโฉได้ตั้ง ปนิธาณไว้ แม้แต่คนเดียวก็ไม่มี

ฝ่ายอ้วนสุดเห็นข้าศึกยกทหารมาตั้งอยู่ทั้งสี่ด้าน จึงปรึกษากับทหารทั้งปวงว่า การศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ท่านทั้งปวงจะคิดประการใด ที่ปรึกษาคนหนึ่งก็แนะนำว่า

“…….เมืองเราครั้งนี้ราษฎรก็ขัดสนด้วยข้าวปลาอาหาร ซึ่งท่านจะคิดอ่านออกรบกับโจโฉนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าทหารทั้งปวงจะได้ความลำบาก ขอให้ท่านแต่งทหารอยู่รักษาเมืองไว้ให้มั่นคง ตัวท่านจึงพาครอบครัวถอยไปตั้งอยู่ตำบลห้วยหนำ จะได้อาศัยเสบียงอาหาร…….”

อ้วนสุดก็เห็นชอบด้วย จึงให้นายทหารเอกสี่นายกับทหารสิบหมื่น อยู่รักษาเมืองลำหยง ตนเองพาครอบครัวหลบหนีไปอยู่ ที่ตำบลห้วยหนำตามคำของกุนซือ โจโฉไม่รู้ว่าอ้วนสุดหนีไปแล้ว จึงตั้งล้อมเมืองอยู่เป็นแรมเดือน จนสิ้นเสบียง ต้องไปยืมเสบียงจากทัพเรือของซุนเซ็ก เอามามอบให้ อองเฮาซึ่งเป็นแม่กองสูทกรรม หรือจุมโพ่ของกองทัพ แต่เสบียงนั้นก็ไม่พอเพียงกับทหารทั้งสิบเจ็ดหมื่น อองเฮามีความวิตกจึงหารือกับโจโฉแม่ทัพ ตามสำนวนของท่าน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า

อองเฮาจึงว่าแก่โจโฉว่า ข้าวในฉางเรานี้ก็น้อยลงแล้ว นานไปเห็นทหารทั้งปวงจะขัดสน โจโฉจึงว่าถ้าดังนั้นท่านจงคิดแจกข้าวแก่ทหาร ให้ถังย่อมลงกว่าเก่า แต่พอประทังไว้กว่าเราจะทำการสำเร็จ อองเฮาจึงว่าซึ่งท่านจะทำดังนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ทหารทั้งปวงจะมีความน้อยใจ ด้วยกำลังนั้นอิดโรยลง ก็จะไม่เป็นใจทำการณรงค์สงคราม โจโฉจึงตอบว่าเราจะคิดอ่าน มิให้ทหารทั้งปวงเสียใจได้

อองเฮาก็ทำถังเล็กตวงข้าวแจกทหารตามคำโจโฉว่า ทหารทั้งปวงได้อาหารไปกินไม่เต็มกำลังก็เสียใจ จึงชวนกันนินทาโจโฉว่า ส่วนการนั้นจะเอา จ่ายข้าวให้กินแต่น้อย เมื่อเรากินไม่อิ่มดังนี้ จะทำการรบพุ่งต่อไปได้หรือ

ส่วน สามก๊กฉบับแปลใหม่ ของ วรรณไว พัธโนทัย เขียนไว้ว่า

โจโฉล้อมเมืองอยู่เดือนเศษ เสบียงอาหารใกล้จะหมดสิ้น จึงมีสาส์นถึงซุนเซ็ก ขอเสบียงอาหารสิบหมื่นถัง แล้วมอบให้อองเฮาซึ่งเป็นนายฉาง แจกจ่ายกันให้ทั่ว

อองเฮาถามโจโฉว่า “ ทหารของเรามีมาก เสบียงอาหารน้อย จะคิดอ่านอย่างไรดี จึงจะเฉลี่ยให้ทั่วถึง “

โจโฉตอบว่า “ จงจ่ายข้าวให้น้อยลงกว่าเก่า พอประทังไว้ จนกว่าการศึกจะสำเร็จ ”

อองเฮาย้อนถามว่า “ ทหารจะไม่โกรธหรือ “

โจโฉตอบว่า “ ข้าพเจ้าจะออกอุบายเอง “

อองเฮาจำต้องปฏิบัติการไปตามคำสั่ง โดยจ่ายข้าวให้ทหารน้อยลง

และ สามก๊กฉบับคลาสสิก ของ วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ ให้รายละเอียดเพิ่มขึ้นอีกว่า

ทั้งสองต่างยันกันอยู่เป็นเวลาเดือนเศษ ดู ๆ ว่าเสบียงอาหารจะหมดสิ้น จึงมีหนังสือไปถึงขุนพลน้อยซุนเซ็ก ยืมข้าวมาได้สิบหมื่นฮก (หนึ่งฮกเท่ากับห้าสิบลิตรเศษ) แต่ก็ยังมิเพียงพอแก่ความต้องการ หัวหน้ากองเสบียง ยิ่มจุ่ง มีผู้ใต้บังคับบัญชาชื่อ เฮ่งโก่ว (อองเฮา) มีหน้าที่คุมยุ้งข้าว เข้ารายงานต่อโจโฉว่า ขณะนี้ทหารก็มาก เสบียงก็เหลือน้อย ไม่ทราบว่าจะให้ข้าฯปฏิบัติอย่างไร โจโฉแนะนำว่า ให้ทำภาชนะตวงจ่ายเป็นฮกเล็ก ๆ แก้ขัดไปพลาง ๆ ก่อน เฮ่งโก่วถามโจโฉว่า ถ้าทหารไม่พอใจจะให้จัดการอย่างไร โจโฉตอบว่า ข้าฯย่อมมีวิธีแก้ไข เฮ่งโก่วน้อมรับคำสั่งแล้วก็ไปแจกจ่ายข้าว ด้วยเครื่องตวงที่เล็กกว่าเดิม ให้ทหาร

ผลของการลดเสบียงอาหารโดยวิธีนี้ ท่าน เจ้าพระยาพระคลัง ได้บรรยายไว้ว่า

ครั้นเวลากลางคืน โจโฉจึงใช้ให้คนสนิทไปเที่ยวฟังดูรู้เนื้อความว่า ทหารทั้งปวงเสียน้ำใจ ชวนกันครหานินทาโจโฉ โจโฉจึงคิดเอาใจทหารทั้งปวง ให้มีน้ำใจยกเข้าปล้นเมือง จึงลอบหาตัวอองเฮามาว่า เราจะขอของรักท่านสักสิ่งหนึ่ง จะได้เอาใจทหาร ท่านจะให้หรือไม่

อองเฮาจึงว่า ข้าพเจ้ามิได้มีสิ่งใดที่จะให้มหาอุปราช โจโฉกระซิบบอกว่าเราจะขอยืมศรีษะท่าน อองเฮาตกใจจึงว่า ข้าพเจ้ามิได้มีผิดสิ่งใด เหตุไฉนมหาอุปราชจึงจะตัดศรีษะ ข้าพเจ้าเสีย โจโฉจึงว่า ตัวท่านก็มิได้มีความผิด แต่เราจะขอศรีษะท่าน กระทำการให้ทหารทั้งปวงมีน้ำใจ ซึ่งบุตรภรรยาพรรคพวกของท่านอยู่ภายหลังนั้น เราจะเลี้ยงดูมิให้ขัดสน

อองเฮายังมิทันจะว่าประการใด โจโฉก็ให้ทหารเอาตัวอองเฮาไปตัดศรีษะเสียบไว้ แล้วให้ร้องประกาศว่า อองเฮากระทำผิด ฉ้ อ ข้าวมหาอุปราช แล้วจ่ายข้าวให้ทหารด้วยถังเล็ก

ทหารทั้งปวงรู้ดังนั้นก็สิ้นสงสัย โจโฉจึงป่าวร้องให้ทหารทั้งปวง มาเบิกข้าวให้สำเร็จในสามวัน แล้วโจโฉจึงกำชับทหารทั้งปวงว่า เราจะยกเข้าไปปล้นเมือง แม้ใครมิเป็นใจกระทำการ แตกถอยออกมาเราจะตัดศรีษะเสีย

แผนการฆ่าลิงให้ไก่ดู ซึ่งได้ผลสองต่อนี้ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รับไม่ได้ จึงได้โต้แย้งไว้ใน สามก๊กฉบับนายทุน ตอน โจโฉ นายกฯ ตลอดกาล ว่า

พิเคราะห์ดูข้อความในหนังสือสามก๊กตอนนี้ จะเห็นได้ว่าผู้เขียนหนังสือสามก๊กฉบับเดิมนั้น เจตนาจะใส่ร้ายป้ายสีให้เห็นว่า โจโฉนั้นมีใจเหี้ยมโหดทารุณ ฆ่าอองเฮาเสียโดยไม่มีผิด เพื่อประโยชน์ของตนในการเข้าตีเมืองลำหยง ถ้าหากจะพิจารณาความตอนนี้ด้วยใจเป็นธรรม จะเห็นได้ว่า โจโฉมิใช่เป็นคนเช่นนั้น

ในประการแรก ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า โจโฉให้ฆ่าอองเฮาเสียเพราะเกิดคอร์รัปชั่น อองเฮาผู้เป็นพลาธิการโกงข้าวทหาร โดยทำขนาดถังตวงข้าวแจกทหาร ให้เล็กลงไปกว่าปกติ ข้อเท็จจริงนี้ทหารของโจโฉเชื่อทั้งกองทัพ และเห็นด้วยกับการกระทำของโจโฉ เหตุไฉนผู้เขียนเรื่องสามก๊ก ซึ่งเป็นคนรุ่นหลังจะล่วงรู้ไปได้ ว่าโจโฉแอบกระซิบขอยืมหัวอองเฮา อันเป็นเรื่องพูดกันสองต่อสอง และถึงแม้ว่าจะเป็นจริง โจโฉก็คงไม่เอาเนื้อความนี้ไปแพร่งพรายให้ใครรู้

แต่ถ้าดูนิสัยแต่ดั้งเดิมมาจะเห็นว่า โจโฉมีแต่ความเมตตากรุณา ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอ จะลงโทษก็ต่อเมื่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ไปทำอันตรายราษฎรหรือคนหมู่ใหญ่เข้า เช่นอองเฮานี้เป็นต้น

ในประการที่สอง หนังสือสามก๊กนั้นเองก็บอกว่า โจโฉให้ไปยืมข้าวจากซุนเซ็กมาได้ถึงสิบหมื่นถัง ทหารคนหนึ่งกินไม่ถึงเดือนละถังแน่ ๆ และโจโฉนั้นมีทหารเพียงเจ็ดสิบหมื่นคน คิดเฉลี่ยแล้วข้าวที่ยืมมาได้ ก็พอเลี้ยงทหารไปได้หลายวัน พอที่โจโฉจะไปหาเสบียงทางอื่นมาได้ ไม่มีเหตุใด ๆ ที่โจโฉจะต้องไปสั่งให้อองเฮา ลดปริมาณข้าวที่จ่ายให้ทหารลงมา แล้วปรากฎว่าทหารเสียกำลังใจ ก็ต้องมาคิดอุบายเอาทีหลัง

ฉะ นั้น ความจริงในเรื่องนี้เห็นจะมีเพียงว่า อองเฮาได้ก่อคอร์รัปชั่นขึ้นในกองทัพ โจโฉรู้เข้าจึงต้องลงโทษอย่างหนัก เพราะเป็นยามทัพศึก ส่วนคนที่ต้องการจะใส่ร้ายป้ายสีโจโฉนั้น จะพูดอะไรก็พูดได้ หากโจโฉไม่ฆ่าอองเฮาเสีย ก็จะหาว่าโจโฉสมคบกับลูกน้องในทางกินโกง แต่พอฆ่าเข้าก็หาว่าทารุณโหดร้าย ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้เป็นยากมาตั้งแต่สมัยโจโฉ ไม่ใช่จะเป็นกันได้ง่าย ๆ

หลังจากที่โจโฉปราบคอร์รัปชั่นภายในกองทัพแล้ว ทหารทั้งปวงต่างก็มีกำลังใจ พอได้รับคำสั่งให้เข้าตีเมืองลำหยง ก็ตีได้ภายในเวลารวดเร็ว

แต่ไม่ว่าท่านผู้อ่าน จะเห็นด้วยกับเหตุผลของใคร ไม่ว่าจะเป็นการเสียสละเพื่อชาติ หรือเพราะการคอร์รัปชั่นก็ตาม อองเฮาก็ได้เสียหัวไปแล้ว อย่างไม่มีวันที่จะได้กลับคืนมาอีก เป็นแน่แท้.

############






Create Date : 27 กันยายน 2551
Last Update : 27 กันยายน 2551 9:42:10 น. 0 comments
Counter : 796 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.