Group Blog
 
All Blogs
 
พิสูจน์สายโลหิต

เปาบุ้นจิ้นผู้ทรงความยุติธรรม

พิสูจน์สายโลหิต

" เล่าเซี่ยงชุน "

คดีที่มีการพิสูจน์สายเลือด ระหว่างบิดากับบุตร ที่เป็นข่าวครึกโครมอยู่ในประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน จนฝ่ายบิดาต้องหนีออกไปอยู่นอกประเทศ เพราะไม่ยอมรับความจริงรายหนึ่ง และรายหลังที่ฝ่ายบิดายอมรับผลของการเจาะเลือดว่า เป็นบุตรของตนจริง จึงมอบมรดกให้จำนวนหนึ่งนั้น ในอดีตก็เคยมีคดีความทำนองนี้เหมือนกัน และเป็นคดีที่ตัดสินโดยท่าน เปาบุ้นจิ้น ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเสียด้วย

คดีนี้เกิดขึ้นในสมัยที่เปาบุ้นจิ้น รับราชการอยู่ที่ตังเกียเมืองหลวง ได้มีชายผู้หนึ่งอายุประมาณยี่สิบปี ชื่อ เองเหลงจง ได้ยื่นฟ้องร้องต่อเปาบุ้นจิ้นว่า เอี๋ยงเข้ง ซึ่งเป็นพี่เขย ครอบครองมรดกของบิดามาตั้งแต่ตนเองยังเป็นเด็กเล็ก จนบัดนี้ถึงวัยอันสมควรแล้วแต่เอี๋ยงเข้งไม่ยอมคืนทรัพย์มรดกให้ ตนได้นำความไปฟ้องต่อกรมการอำเภอแล้ว ก็ยกฟ้องเสีย จึงต้องมาขอความกรุณาต่อท่านเปาบุ้นจิ้น

เปาบุ้นจิ้นจึงให้เจ้าหน้าที่ไปตามตัวเอี๋ยงเข้งมาสอบปากคำ เอี๋ยงเข้ง ก็ให้การว่าบิดาของเองเหลงจงชื่อ เองเกี้ยน เดิมมีบุตรหญิงอยู่คนหนึ่งชื่อ นางสุยหนึ่ง ซึ่งได้ยกให้เป็นภรรยาของตน เองเกี้ยนนั้นเป็นเศรษฐีมั่งมีเงินทองเป็นอันมาก และเป็นผู้มีอัธยาศัยดี เอื้อเฟื้อแก่ชนทั้งปวง แม้ผู้ใดเป็นถ้อยความเกี่ยวข้องฟ้องหาซึ่งกันและกัน เองเสี้ยนก็คอยห้ามปรามไกล่เกลี่ยมิให้มัวหมองแห่งกันได้ ราษฎรในตำบลนั้นมีความรักใคร่นับถือเองเกี้ยน
ยิ่งนัก

ครั้นเมื่ออายุได้แปดสิบปีเองเกี้ยนก็ได้ นางหลิมสี เป็นภรรยาใหม่และเกิดบุตรชาย คือเองเหลงจงนี้ ต่อมาเองเสี้ยนได้เรียกเอี๋ยงเข้งไปสั่งเสียว่า

".....บิดาทุกวันนี้อายุล่วงไปได้แปดสิบปีแล้ว ไม่รู้แน่ว่าจะตายวันใดเวลาใด บิดานั้นมีบุตรยังเป็นทารกอยู่นั้น เพื่อนบ้านร้านถิ่นเขามีความสงสัย ว่าหาใช่บุตรของบิดาไม่ บิดาก็ตรึกตรองดูว่าเกือบจะมิใช่บุตรของบิดาจริง เพราะเหตุที่อายุบิดาล่วงมาถึงเพียงนี้แล้ว ไหนเลยจะมีบุตรต่อไปเล่า ถ้าบิดาถึงแก่กรรมลงวันใดแล้ว สามีภรรยาเจ้าทั้งสองคน จงดูแลรับมรดกของบิดาต่อไปเถิด....."

อีกไม่นานเมื่อเองเกี้ยนถึงแก่กรรมลง เอี๋ยงเข้งกับนางสุยหนึ่ง ก็เข้าครอบครองมรดกจนหมดสิ้น ฝ่ายนางหลิมสีได้เลี้ยงดูเองเหลงจงมาจนอายุได้ยี่สิบปี จึงบอกให้เองเหลงจงไปทวงมรดกของบิดา เองเหลงจงก็ไปบอกเอี๋ยงเข้งว่า

"....ตัวท่านเป็นแต่เพียงบุตรเขย ปกครองมรดกของบิดาข้าพเจ้ามาได้ยี่สิบปีแล้ว บัดนี้ข้าพเจ้าจะขอมรดกบิดาข้าพเจ้าคืน...."

แต่เอี๋ยนเข้งก็ยืนยันว่า มรดกเหล่านี้บิดาของภรรยา ได้มอบให้แก่ตนแล้วทั้งสิ้น และว่าเองเหลงจงเป็นบุตรผู้อื่น หาใช่บุตรของเองเกี้ยนไม่

เองเหลงจงจึงไปฟ้องร้องต่อกรมการอำเภอ เพื่อขอให้ตัดสินเรื่องนี้ เอี๋ยงเข้งก็ให้การต่อคณะกรมการอำเภอว่า

".....เองเหลงจงผู้นี้ หาใช่บุตรของเองเกี้ยนไม่ กับข้อหนึ่งเองเกี้ยนก็หาได้ทำพินัยกรรม ให้ไว้แก่เองเหลงจงไม่ เองเหลงจงจะมาฟ้องหาข้าพเจ้านั้น หาควรไม่...."

กรมการอำเภอจึงให้ยกฟ้องเสีย เรื่องก็ควรจะสิ้นสุดไปแล้ว

เปาบุ้นจิ้นได้ฟังดังนั้น จึงเปิดกฎหมายมรดก มาชี้แจงแก่เอี๋ยงเข้งว่า ธรรมเนียมกฎหมายบ้านเมือง กล่าวไว้ดังนี้

ข้อหนึ่ง ผู้ใดมีบุตรชายหญิงก็ดี หญิงนั้นบิดามารดาแต่งให้มีสามี หญิงนั้นย่อมจะไปต่อเชื้อสายให้แก่ผู้อื่นสืบแซ่วงศ์ เมื่อหญิงนั้นมีเหย้าเรือนออกจากอกบิดามารดาไปแล้ว มิได้อยู่ปฏิบัติบิดามารดา อันชายนั้นอยู่ปฏิบัติบิดามารดา เมื่อบิดามารดาถึงแก่กรรมไปแล้ว บุตรชายนั้นย่อมจะปกครองมรดกของบิดามารดาต่อไป บุตรซึ่งเป็นหญิงมีเหย้าเรือนไปแล้ว จะมาเอื้อมเอามรดกด้วยนั้นไม่ได้ เป็นแต่ได้เล็กน้อยโดยบุตรชายซึ่งปกครองมรดกนั้น เห็นว่าเป็นเงินทองของบิดามารดาด้วยกัน จะแบ่งปันให้ตามใจนั้นได้อยู่

ข้อสอง แม้ว่าผู้ใดมีบุตรหญิงแต่ผู้เดียว มีเหย้าเรือนไปแล้ว ยังอยู่ในโอวาทของบิดามารดาก็ดี เมื่อบิดามารดาถึงแก่กรรมไปแล้ว มรดกนั้นย่อมได้แก่หญิงนั้นทั้งสิ้น

ข้อสาม อีกสถานหนึ่งมีบุตรหญิงหลายคน เมื่อบิดามารดาถึงแก่กรรมไปแล้ว บุตรหญิงคนใดซึ่งอยู่ในเรือน ปฏิบัติบิดามารดาอยู่แล้ว มรดกนั้นย่อมจะได้แก่หญิงนั้นทั้งสิ้น

ข้อสี่ แม้มีบุตรชายกับบุตรหญิงยังอยู่ด้วยบิดามารดา บิดามารดาถึงแก่กรรมไป มรดกนั้นตกแก่บุตรชายสองส่วน เป็นของบุตรหญิงหนึ่งส่วน เพราะเขายังมิได้มีเหย้าเรือนออกจากอกบิดามารดาไป

ข้อห้า อีกประการหนึ่งมีบุตรชายคนหนึ่ง มีบุตรหญิงคนหนึ่ง แต่บุตรชายนั้นยังเยาว์อยู่ จะปกครองมรดกยังไม่ได้ บุตรหญิงต้งปกครองมรดกไว้แทน ถ้าบุตรชายเจริญวัยใหญ่ขึ้นรู้จักความแล้ว ต้องคืนมรดกนั้นมาให้แก่บุตรชายนั้นปกครอง

และเปาบุ้นจิ้นก็ว่า เองเหลงจงนั้นเข้าอยู่ในข้อสุดท้ายนี้ เอี๋ยงเข้งจึงต้องคืนมรดกให้แก่เองเหลงจงไปตามกฎหมาย

เอี๋ยงเข้งก็ยอมรับข้อกฎหมายดังกล่าว แต่โต้แย้งว่า

“....เองเกี้ยนอายุถึงแปดสิบปีแล้ว จึงได้เกิดเองเหลงจงขึ้นมา คนทั้งหลายเห็นว่าหาใช่บุตรของเองเกี้ยนไม่ ขอให้พิจารณาดูก่อนเถิด....."

เปาบุ้นจิ้นก็อ้างคำโบราณที่กล่าวไว้ว่า ผู้อายุสูงแปดสิบปีย่อมจะมีบุตรได้ ด้วยบุรุษไม่เหมือนสตรี และถ้าสงสัยว่าบุตรผู้นี้ กับบิดาผู้ตายไปแล้วช้านาน จะเป็นสายโลหิตอันเดียวกันหรือมิใช่ ให้ขุดเอากระดูกบิดามา แล้วเอาโลหิตของบุตรหยดลงถูกกระดูกนั้น ถ้าเป็นบิดากับบุตรโดยแท้ โลหิตก็จะซึมซาบเข้าไปในกระดูกนั้น

แล้วเปาบุ้นจิ้นจึงให้นักการ ไปขุดเอากระดูเองเกี้ยนมา แล้วเอามีดแทงปลายนิ้ว ของเองเหลงจงให้โลหิตหยดถูกกระดูก โลหิตก็ไหลซึมซาบเข้าในกระดูกทันที แล้วให้เอากระดูก ผู้อื่นมาทดลองบ้าง โลหิตก็มิได้ซึมซาบเข้าไปในกระดูกนั้นเลย

เมื่อทดลองได้ความจริงปรากฎแก่ตาดังนั้น เอี๋ยงเข้งจึงยอมรับคำตัดสิน ของท่านเปาบุ้นจิ้น ต้องคืนที่ไร่นา เรือกสวน และเงินทองโคกระบือ สรรพสิ่งสมบัติของเองเกี๋ยน ให้แก่ เองเหลงจงทั้งสิ้น

เรื่องนี้แม้ว่าจะไม่ลึกลับซับซ้อน แต่เป็นเพราะกฎหมายเมืองจีน ครั้งแผ่นดินซ้อง เมื่อพันกว่าปีมาแล้ว ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎรอย่างดี และมีผู้รักษากฎหมายที่เคร่งครัด เที่ยงตรง เช่นเปาบุ้นจิ้นผู้ทรงความยุติธรรมนี้ ราษฎรจึงมีความสุขอยู่ทั่วหน้ากัน

และการพิสูจน์ความเป็นเชื้อสาย ระหว่างบุตรกับบิดา แม้จะได้พัฒนาต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังต้องอาศัยกลุ่มโลหิตของทั้งสองฝ่ายอยู่เช่นกัน ผลของการตัดสินคดีนี้ จึงน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง.

##########

วารสารสุรสิงหนาท
เมษายน ๒๕๔๑






Create Date : 08 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2554 19:24:24 น. 0 comments
Counter : 344 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.