Each time history repeats itself, the price goes up. ~Author Unknown
Group Blog
 
All Blogs
 
เดอะเกรทอีสเทิร์น ราชันย์แห่งท้องทะเลตะวันออก– ตอนที่สาม

พิรัส จันทรเวคิน

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการน้อมถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงให้กำเนิดกองทัพเรือไทยสมัยใหม่


ก่อนที่จะเริ่มโครงการได้ไม่นานก็เกิดไฟไหม้ใหญ่ขึ้นที่อู่ต่อเรือของกัปตันรัสเซล เผาผลาญทำลายทุกสิ่งทุกอย่างย่อยยับลงไปกับกองเพลิง และที่ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือรัสเซลไม่ได้ทำประกันวินาศภัยอู่ต่อเรือของเขาไว้ จึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อทำการซ่อมแซม หนี้สินจำนวนมากเหล่านี้ทำให้ฐานะทางการเงินของเขาเริ่มมีปัญหาและอาจส่งผลให้โครงการต้องมีอันสะดุดลง แต่ทุกอย่างก็สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ทว่าหลังจากที่เริ่มโครงการได้ไม่นานนักก็เกิดอีกปัญหาหนึ่งตามมา นั่นก็คือได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างบรูเนลกับรัสเซล บรูเนลสงสัยว่ารัสเซลจะยักยอกเหล็กต่อเรือเพื่อนำไปขายใช้หนี้ ในขณะที่รัสเซลเองก็ไม่พอใจที่บรูเนลเข้ามาควบคุมโครงการอย่างใกล้ชิดในทุกด้าน รวมถึงเรื่องการเบิกจ่ายวัตถุดิบ ความขัดแย้งในครั้งนี้รุนแรงถึงขั้นที่บรูเนลนำเรื่องเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัทอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชั่น เสนอให้ทางบริษัทฯระงับการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าของรัสเซล ทำให้รัสเซลตอบโต้ด้วยการสั่งปิดอู่ต่อเรือของเขา เป็นผลให้โครงการต้องเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด

การหยุดดำเนินโครงการทำให้ฐานะทางการเงินของรัสเซลเข้าขั้นวิกฤตเนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียน รัสเซลอาจถึงขั้นที่จะต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลาย และธนาคารในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ก็จะเข้ามายึดอู่ต่อเรือของเขารวมถึงเรือที่ยังต่อไม่เสร็จลำนี้ด้วย ซึ่งนั่นก็หมายความว่าอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชั่นจะต้องสูญเงินไปเป็นจำนวนมหาศาล เพราะบริษัทฯได้ลงทุนไปกับโครงการนี้แล้วเป็นจำนวนถึงหนึ่งในสี่ของมูลค่าโครงการทั้งหมด นับว่าโชคยังเข้าข้างบรูเนลกับเรือยักษ์ลำนี้ของเขาอยู่บ้าง เพราะว่าเมื่อมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของรัสเซลแล้ว พบว่ารัสเซลมีมูลค่าหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ด้วยเหตุนี้ธนาคารจึงอนุญาตให้รัสเซลดำเนินโครงการต่อไปได้ โดยกำหนดให้เป็นโครงการสุดท้ายก่อนที่จะนำอู่ต่อเรือของเขาออกขายทอดตลาด ในขณะเดียวกันรัสเซลเองเมื่อรู้ตัวว่าฐานะทางการเงินของเขาไม่เอื้ออำนวยก็ได้ออกหนังสือส่งมอบเรือที่ยังต่อไม่เสร็จลำนี้ให้กับอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชั่น และได้ขอเปลี่ยนฐานะจากผู้รับเหมาโครงการไปเป็นลูกจ้างของบริษัทฯหลังจากที่ทางอิสเทิร์นสตีมฯได้ตกลงเจรจาขอเช่าอู่ต่อเรือที่เขาจดจำนองเอาไว้กับธนาคาร เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ และด้วยเหตุนี้อำนาจสิทธิ์ขาดในการดำเนินโครงการทั้งหมดจึงตกอยู่กับบรูเนลไปโดยปริยาย



ปี 1857 การสร้างเรือดำเนินไปเป็นเวลาสามปี บรูเนลตรวจตราดูในรายละเอียดทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องปลีกย่อย ทั้งนี้เพราะเขาต้องการให้เรือที่เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตลำนี้ออกมาดีที่สุด การหักโหมงานอย่างหนักเป็นผลให้สุขภาพของเขาทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว และแล้วในที่สุดก็ใกล้ถึงการทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ด้วยภาระค่าใช้จ่ายอันหนักอึ้งในการเช่าสถานที่ บรูเนลจึงจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการทำพิธีปล่อยเรือให้ใกล้เข้ามาเพื่อเป็นการตัดลดรายจ่าย เขาได้เลือกเอาวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดเพื่อทำการปล่อยเรือ การปล่อยเรือยักษ์ลำนี้ลงน้ำเป็นงานที่มิอาจจะกระทำได้โดยง่าย ด้วยขนาดลำตัวอันมหึมาของมันทำให้ไม่สามารถที่จะหาอู่แห้งที่มีขนาดใหญ่พอเพื่อทำการต่อเรือได้ ด้วยเหตุนี้เรือเดอะเกรทอีสเทิร์นจึงถูกต่อขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ห่างจากอู่ต่อเรือมิลวอลล์ของรัสเซลออกไปไม่ไกลนัก โดยวางลำตัวเรือขนานไปกับแนวแม่น้ำเพื่อให้สามารถเอาด้านข้างลำตัวลงในเวลาที่ทำการปล่อยลงน้ำ เพราะหากว่าเอาทางด้านท้ายเรือลงเหมือนเช่นการปล่อยเรือแบบทั่วไป ก็อาจทำให้เรือติดตื้นได้เนื่องจากว่าตัวเรือมีความยาวมาก วิธีการปล่อยเรือลงน้ำตามแบบของบรูเนลนั้นกระทำโดยการเลื่อนลำตัวเรือลงในรางปล่อยอย่างช้าๆด้วยการค่อยๆผ่อนสายโซ่สลิงที่ยึดติดกับตัวเรือ เรียกว่าวิธีการปล่อยแบบ “Controlled Launch” วิธีการนี้ได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากรัสเซลผู้ซึ่งผ่านประสพการณ์การต่อเรือมาแล้วอย่างโชกโชน รัสเซลต้องการให้ใช้วิธีการปล่อยเรือลงน้ำแบบทั่วไปที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้ว โดยปล่อยให้ลำตัวเรือเลื่อนลงในรางปล่อยอย่างอิสระ เรียกว่าวิธีการปล่อยแบบ “Free Launch” ทว่าบรูเนลเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ และเขาก็ได้ตัดสินใจเลือกวิธีการปล่อยเรือลงน้ำตามแบบของเขา

และแล้ววันที่ชาวมหานครลอนดอนตั้งตารอคอยมาเป็นแรมปีก็มาถึง บรูเนลต้องการให้จัดพิธีปล่อยเรือลงน้ำแบบเรียบง่าย ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมากนัก ทว่าทางอีสเทิร์นสตีมฯซึ่งกำลังประสพปัญหาทางการเงินอย่างหนักได้ถือโอกาสนี้จำหน่ายตั๋วชม 3,000 ใบให้กับผู้สนใจทั่วไป ทันทีที่ข่าวการทำพิธีปล่อยเรือแพร่สะพัดออกไป ก็ได้มีผู้คนหลั่งไหลมาร่วมชมงานเป็นจำนวนเรือนหมื่น จนคราคร่ำพื้นที่อู่ต่อเรือไปหมด ฝูงชนจำนวนมากเหล่านี้สร้างความหงุดหงิดใจให้กับบรูเนลเป็นล้นพ้น ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนว่าจะผิดพลาดไปหมด รวมถึงวิธีการปล่อยเรือลงน้ำของเขาด้วย ด้วยน้ำหนักร่วมสองหมื่นกว่าตันของมัน ทำให้สายโซ่ที่ยึดกับลำตัวเรือไม่อาจที่จะทานน้ำหนักได้ ทันทีที่คนงานถอดสลักออกและปล่อยให้เรือไหลเลื่อนลงไปตามรางปล่อย สายโซ่ก็ขาดผึงออกจากกันและสะบัดไปโดนคนงานจนบาดเจ็บไปห้าคน โดยหนึ่งในนั้นมีอาการสาหัส บรูเนลจำเป็นต้องประกาศยกเลิกการทำพิธีปล่อยเรืออย่างกระทันหันท่ามกลางความโกรธเกรี้ยวของฝูงชน ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นวิศวกรมือหนึ่งแห่งยุคของบรูเนล ความผิดพลาดครั้งนี้นับเป็นการเสียหน้ายิ่งนัก



หนังสือพิมพ์ต่างพากันประโคมข่าวเรื่องของเรือที่ยังคงค้างเติ่งอยู่บนรางปล่อยเพราะผู้ที่สร้างมันไม่สามารถจะหาวิธีที่ได้ผลในการปล่อยลงน้ำ ทำให้บรูเนลต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อคิดค้นวิธีนำเอาเจ้ายักษ์ใหญ่ลำนี้ลงน้ำ ได้มีความพยายามตามมาอีกสองครั้งในเวลาไล่เรี่ยกัน แต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งอีกสองเดือนให้หลัง ด้วยการใช้กว้านไฮโดรลิคแรงสูงที่ต้องไปเช่ามาจากบริษัทอื่น บรูเนลถึงสามารถปล่อยเรือของเขาลงน้ำได้สำเร็จ แต่ก็หมดค่าใช้จ่ายไปในราว 170,000 ปอนด์ ทำให้บริษัทอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชั่นอยู่ในภาวะที่ใกล้ล้มละลาย

<ยังมีต่อ>

สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย


Create Date : 10 สิงหาคม 2553
Last Update : 14 สิงหาคม 2553 19:11:32 น. 0 comments
Counter : 902 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

piras
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความสวยงาม ไม่แพ้ภาษาของชนชาติใดในโลก

free counters
Friends' blogs
[Add piras's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.