การเปลี่ยนแปลงเป็นงานยาก แต่งานยากก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่พยายาม
 

เพื่อลูก แม่จะทน ปีสอง....

เข้าสู่ปีที่สอง ..... ชีวิตครอบครัวเริ่มมั่นคง ได้สามีที่ป็นผู้ชายที่ดีที่สุดในชีวิต ไม่เคยมีใครที่เค้ารัก และดูแลเราได้ดีเพียงนี้มาก่อนเลยค่ะ ชีวิตเราผ่านร้อน ผ่านหนาวมามากมายนัก ทำให้เรารู้จักคุณค่าของความรักที่สามีมีให้อย่างลึกซึ้ง ถึงตายแล้วเกิดใหม่ ก็อาจจะไม่ได้พบเจอคนดีเช่นนี้อีกแล้วก็ได้ และด้วยเหตุนี้เอง เราก็เริ่มคิดจะเอาลูกมาอยู่ด้วย สามีเราไม่เคยมีลูก ไม่เคยอยู่กับคนอื่น นอกจากภรรยาเก่า ใช้ชีวิตแบบฝรั่งที่อยู่กับตามประสา สามี-ภรรยา เท่านั้น แต่มันไม่ใช่เรานี่ค่ะ เราเป็นคนไทย เติบโตมากับวัฒนธรรมอันดีงามของเรา เราอยากดูแลลูก อยากให้เค้าได้มีโอกาสที่ดีในอนาคต เราไม่ได้เพ้อเจ้อ เพ้อฝัน แต่มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ สัมผัสได้ เริ่มจากการอ้อนวอนให้สามีซื้อบ้านใหม่ บ้านเก่าหลังเล็กค่ะ เหมาะกับเราสองคน แต่ไม่เหมาะที่จะมีลูกตัวโตๆมาเพิ่มอีก 2 คน อ้อนวอนอยู่นาน สามีก็ซื้อบ้านเพิ่มอีกหลังหนึ่ง ระหว่างที่คุยกับสามีว่าอยากเอาลูกมาอยู่ ก็มีปัญหากับสามีมากมาย เค้าไม่อยากให้เราพาลูกมาอยู่ด้วย เพราะลูกไม่ใช่เด็กเล็กๆอีกแล้ว พวกเค้าโตหมดแล้ว 22 กับ 18 เค้ากลัวว่า จะไม่สามารถเข้ากับลูกเราได้ กลัวปัญหาว่า ลุกพูดภาษาไม่ได้จะไปติดยา ไม่มีเพื่อน ปัญหามากมาย โดยเฉพาะวัฒนธรรมของคนอเมริกา เมื่อลูกอายุ 18 ปี ส่วนใหญ่จะออกไปเผชิญโลกภายนอกด้วยตัวเอง เค้าบอกว่า มันไม่ค่อยจะถูกต้องนัก แต่เราก็เอามาจนได้ ด้วยความช่วยเหลือจากสามีค่ะ เค้าเป็นคนทำเรื่องทุกอย่างให้ โดยที่ลูกมาด้วยวีซ่าถาวร มาพร้อมกับ กรีนการ์ด 10 ปี เราซื้อบ้านใหม่ ใหญ่กว่าเดิมกว่าเท่าตัว มีสระว่ายน้ำ เพื่ออยากให้ลูกได้สบาย เราซื้อเครื่องตกแต่งห้องนอนชุดใหม่ให้พวกเค้าทั้งสองคน เรียกได้ว่าเป็นวิมานสำหรับพวกเค้าเลยก็ได้ ไชโย !!!! ลูกได้มาอยู่กับเราแล้ว จากนี้ไปเราคงมีความสุขเสียที แต่.... มันไม่เป็นอย่างที่เราฝันเสมอไปหรอกค่ะ ไม่มีใครได้ทุกอย่างที่อยากได้ จริงมั๊ยคะ... แรกๆที่ลูกมาอยู่ สามีกับลูกเข้ากันได้ดีมาก สามีเองก็พยายามปรับตัวเข้าหาลูกเรา เค้าบอกว่า นับจากนี้ไปเค้าก็ถือว่าเค้าเป็นพ่อของเด็กๆ เค้าจะทำเพื่อเรา เค้าอยากให้เราสบายใจ อยากให้เรามีความสุขเท่านั้น การดำเนินชีวิตปกติก็เปลี่ยนไป บ้านเราที่เคยมีความเป็นส่วนตัว ก็ไม่เป็นส่วนตัวอีกแล้ว ข้อนี้ไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไหร่นักเพราะสามีเองก็ปรับตัว ลูกๆมาใหม่ๆ ยากสำหรับเค้าเช่นกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือความคิด ลุกคิดว่า ที่นี่เป้นบ้านของแม่ ก็ถือว่าเค้าเป้นเจ้าของด้วยเช่นกันไม่ค่อยช่วยหยิบช่วยจับงานบ้าน กิน นอน ไปวันๆ หยิบจับของอะไร ก็แตก ก็พัง เค้าคิดว่า แม่เป็นหนี้เค้า การที่แม่พาเค้ามาที่นี่ ก้อแค่เพื่อสนองความต้องการของตัวแม่เอง (อันนี้เป็นคำพูดของลูกๆค่ะ) ในเมื่อแม่พาเค้ามา พรากเค้ามาจากเพื่อนๆ ก็ต้องรับผิดชอบเค้า เค้าอยากได้อะไรก็ต้องหาให้เค้าเพราะเค้าไม่มีเพื่อนที่นี่ เป็นความผิดของแม่เองที่พาเค้ามา พอจะเดาออกมั๊ยค่ะว่า ดิฉันรู้สึกอย่างไร จะดุด่าลุก ก็กลัวลูกจะเสียใจ น้อยใจ หนักเข้า สามีทนไม่ได้ที่เห้นลูกทำให้แม่ร้องไห้เกือบทุกวัน เริ่มเกิดปัญหาระหองระแหง สามีเริ่มไม่พอใจลูกๆที่ไม่เคารพแม่ สำหรับสามี ครอบครัวสำคัญที่สุดค่ะ พ่อ-แม่เค้า เสียไปแล้วทั้ง2ท่าน เค้ารักและเคารพบุพการีมาก พอเกิดปัญหาขึ้น คนเป็นแม่อย่างเราก็ทำอะไรไม่ถูก จะดุจะว่าลูกก็อย่างที่ว่ากลัวลูกเสียใจ จะบ่นว่าสามีก็กลัวเค้าไม่พอใจไล่ออกจากบ้าน แล้วเราจะทำอย่างำไร ทำไมนะ เพียงแค่ทำตัวเป็นเด็กดีเท่านี้ เพื่อแม่ ทำไม่ได้เชียวหรอ จนวันหนึ่ง ดิฉันกับลูกก็มานั่งคุยกันว่า หากเหตุการณ์ยังเป็นแบบนี้ เราคงต้องย้ายออกจากบ้านนี้ไปนะลุก เพราะทุกบาท ทุกสตางค์ที่เราใช้ในวันนี้ ล้วนเป็นเงินจากสามี ข้าวทุกเม็ดที่เรากิน น้ำทุกหมดที่เราดื่มก็มาจากเงินสามี เรามีที่ซุกหัวนอนทุกวันนี้ ก็เพราะเค้าอีกเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่การที่เราสามารถอาศัยอยู่ในเมริกาอย่างถูกกฏหมายก็เพราะเค้าอีกเช่นกัน หากเราทำให้เค้าไม่สบายใจ ไม่มีความสุขในบ้านของเค้าเอง เราก็ไม่ควรอยู่ เราจะย้ายไปอยู่ข้างนอกกัน ไปเช่าอพาร์ทเม้นท์กันนะลูก แล้วดิฉันก็ร้องไห้ ยอมรับว่า ตอนนั้นดิฉันเองก็รัก และเทิดทูนสามีเช่นกัน เพราะเค้าเป็นคนดี เราเป็นเราได้ทุกวันนี้เพราะเค้าคนเดียวค่ะ อธิบาย ขอร้องลุก ให้ลูกช่วยทำตัวเป็นคนดี ช่วยให้เกียรติแม่ต่อหน้าเค้า ไม่เถียง ไม่พยายามทำให้แม่เป็นทุกข์มากไปกว่าที่เป็นเท่านั้น เราก็จะอาศัยอยู่ที่นี่ได้ ดิฉันอธิบายด้วยว่า เราต้องทำงานกันหนักขนาดไหนเพื่อจะให้ได้มีเงินรายได้เพียงพอที่จะจ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ เราจะไม่มี ทีวี ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีอะไรอย่างที่เราเคยทีที่นี่ เราจะไม่มีรถใช้อีกต่อไปแล้ว (สามีซื้อ รถเบนซ์เปิดประทุน ให้ดิฉันใช้) ลูกคงไม่อยากลำบากค่ะ รับปากจะปรับตัว ซึ่งเค้าก็ทำกันได้ดีทีเดียว ปัญหาต่างๆเริ่มคลี่คลายไปจนเป็นครอบครัวแสนสุขในเวลาต่อมา.... ขอบคุณสามีที่อดทนเพื่อเราและครอบครัวค่ะ ขอบพระคุณจริงๆ




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2551    
Last Update : 1 ธันวาคม 2551 12:56:12 น.
Counter : 365 Pageviews.  

เพื่อลูก แม่จะทน ปีแรก...

หลังจากที่ต้องจากเมืองไทยมา เพราะเราเลือกที่สู้ เลือกที่จะเสี่ยงโดยการก้าวเดินต่อไปข้างหน้า แทนที่จะย่ำอยู่กับที่ อย่างที่ผ่านมา ในทึ่สุดเราก็ได้มาอยู่ที่อเมริกา ประเทศที่คนอีกมากมายในโลก อยากจะเสี่ยงมาเช่นเดียวกับเรา ประเทศที่คนไทยอีกหลายๆท่านเข้าใจว่า หากใครอยู่ที่นี่คงจะต้องร่ำรวย อาจจะจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง สุดแล้วแต่วาสนาของแต่ละท่าน แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่เราที่ร่ำรวย ด้วยเพราะมาด้วยวีซ่าคู่หมั้น ทำให้มีเงื่อนไขว่า ต้องแต่งงานกับคนที่ขอวีซ่าให้ ภายใน 90 วัน หลังจากเหยีบแผ่นดินเค้า ตอนแรกที่มาถึงนะคะ ภาษาใช้ได้เพียงเล็กน้อย อาจจะเรียกได้ว่า ไม่เข้าใจแม้แต่ที่สามีพูดด้วยซ้ำไป เรียกได้ว่าแย่ทีเดียวแหละ แต่ก็ต้องอดทน ตอนนั้นรู้สึกได้ว่า ตัวเองโง่มากๆ ด้อยค่า คิดผิดที่มาอยู่อเมริกา ร้องไห้ ๆๆๆ เพราะอัดอั้นตันใจ พูดกับใครก็ไม่รู้เรื่อง ไม่มีคนรู้จัก ไม่มีใครแนะนำ ไมรู้จะทำอย่างไร พอเริ่มจะรู้จักคนไทยบ้าง เค้าก็ดูถูกเรา ถามเราว่า เรามาได้อย่างไร สามีทำงานอะไร มีรายได้แค่ไหน บ้านช่องเราเป็นอย่างไร เหมือนกับว่าจะประเมินว่า เราร่ำรวยพอที่จะเป็นคนไทย หนึ่งคนในชุมชนคนไทยหรือเปล่า อย่างไรอย่างนั้นแหละ ช่วงแรกที่มาถึง ก็พยายามขอร้องให้สามีพาไปแต่งงาน จดทะเบียน เค้าตอบว่า อาจจะต้องใช้เวลา เพราะเค้าเองก็ไม่รู้จักเราดีพอ ก็พอจะเข้าใจเค้านะคะ แต่ก็เสียใจ น้อยใจในเวลาเดียวกัน การแต่งงานที่นี่ เป็นเรื่องใหญ่ที่คนที่อาศัยอยู่ที่นี่คงพอเข้าใจ แต่สุดท้ายเราก็ได้แต่งงานตามความปรารถนาหลังจากมาได้ 30 วัน หลังจากแต่งงาน สามีก็ทำเรื่องขอปรับสถานะ, ใบอนุญาตทำงาน , ใบขอออกนอกประเทศให้ เราก็เริ่มทำงานในร้านอาหารไทยแบบรับเงินใต้โต๊ะ รับค่าแรงแบบเหมาวันละ 15 เหรียญ ทำงาน ตั้งแต่ 10.30 ถึง ประมาณ 23 น. หากเสร็จเร็ว ทิปแบ่ง แบ่งให้คนในครัวด้วย ได้เงินมาเท่าไหร่ ก็เก็บหมด ไม่ซื้อของ ไม่ช็อปปิ้ง ไม่ไปไหนเลย เก็บทุกบาททุกสตางค์ ส่งไปให้พ่อ-แม่ที่เมืองไทย เดือนละ พันเหรียญหรือมากกว่านั้น มาโดยตลอด (จนถึงปัจจุบันก็ยังส่งให้เหมือนเดิม) ญาติพี่น้องต่างก็คิดว่า เราได้สามีเป้นคนอเมริกันจะต้องร่ำรวย เค้าต้องรับผิดชอบเรา ลูกๆ รวมทั้งญาติๆเราอีกด้วย ซึ่งมันไม่ใช่ พี่น้อง มองว่า เราเห็นแก่ตัว มีเงินแล้วไม่จุนเจือพี่น้อง เราจะไปทำอย่างนั้นได้อย่างไรกัน ลูกก็ลูกเรา เค้าไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดนี่นา ทำไมต้องให้เค้ามารับผิดชอบด้วย ส่งเงินไปเท่าไหร่ก็เหมือนไม่พอสักที ด้วยเพราะตอนนั้นลูกสาวกำลังเรียน ม.ขอนแก่น ปี 1 ลูกชายเรียนโรงเรียนประจำของสมเด็จพระเทพฯ ค่าใช้จ่ายเลยสูง อีกอย่างไม่อยากให้พ่อ-แม่ไม่สบายใจ อยากให้ท่านคิดว่าเราสุขสบายดี บางเดือนลูกๆใช้เงินเยอะมาก เพราะเค้าคิดว่า แม่อยู่ที่เมกาต้องมีเงินแน่เลย เราก็ส่งไปสิ ขอมาเท่าไหร่ก็ส่ง เพราะรู้สึกผิดที่ทิ้งเค้ามาอยู่ที่อเมริกา ทั้งๆที่เราทำเพื่อเค้าก็เหอะค่ะ ลูกอยู่เมืองไทย หนีเรียนบ้าง กินเหล้า จนทางหอพักไล่ออกมาก็มี อดทนๆๆๆ ไม่เคยโกรธ หรือโทษลูกเลย เป็นเพราะเราไม่ดีเอง ไม่มีปัญญาเลี้ยงลูกให้ดี ไม่มีเวลาดูแลเค้า ไม่สามารถให้ความอบอุ่นแก่เค้าได้อย่างเช่นแม่คนอื่นๆ ระหว่างที่เราอยู่ที่นี่ ก็ร้องไห้ทุกวัน อยู่ที่เมกาเรามีความรู้สึกเหมือนเราเป็นคนโง่ ทำอะไรเองก็ไม่ได้ ไปไหนก็ไม่เป็น เหมือนเป็นประชากรชั้นสองของประเทศเค้า ต่ำต้อย (โชคดีที่มีสามีดี) อยากกลับบ้าน อยากกลับไปอยู่เมืองไทยเรา อยากกลับไปอยู่กับลูก แต่ก็ทำไม่ได้ หากเรากลับไปอยู่เมืองไทย เราจะเอาปัญญาที่ไหนไปหาเงินตั้งมากมายมาส่งเสียลูกให้ได้เรียนสูงๆ จะเอาเงินมาจากไหน ไม่ได้ ต้องอดทน ๆ ๆ ๆ คิดได้เท่านี้จริงๆค่ะ ชั้นเจ็บ ชั้นป่วย ชั้นตาย ไม่ได้ หากเราเป็นอะไรไปลูกจะทำอย่างไร ใครจะดูแลเค้า อดทนทำงาน อาทิตย์ละ 6 วัน บางวันขับรถไปทำงาน ร้องไห้ไปตลอดทางจนถึงที่ทำงาน ตามตัวเองว่า ทำไมนะ ทำไมเราต้องอดทนถึงเพียงนี้ด้วย ทำไมไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกเราเลยนะ ปีแรกของการมาอยู่ที่อเมกริกาคุณภาพชีวิตดีขึ้นมากนะคะ แต่คุณภาพจิตใจกลับย่ำแย่ลง เพราะความที่ยังรู้สึกผิดที่ไม่สามารถดูแลลูกได้ดีกว่านี้นั่นเอง.....


แล้วจะมาเล่าให้ฟังอีกนะคะ




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2551    
Last Update : 1 ธันวาคม 2551 12:18:42 น.
Counter : 336 Pageviews.  

 
 

ปลายฟ้าค่ะ
Location :
Mesa AZ United States

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




โกรธเขา เราเร่าร้อน เหลือหลาย
เขาอยู่สุขสบาย บ่รู้
เราเร่าร้อน เดียวดาย แดเดือด
ขมขื่น นอนคุดคู้ ค่ำเช้า ทรมาน
[Add ปลายฟ้าค่ะ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com