The Lover of Wisdom

สัญญาณมือถืออาจไม่อันตรายอย่างที่คิด



การศึกษาใหม่ไม่พบอาการผิดปกติใดเกิดขึ้นจากการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

Michael Hopkin เรียบเรียง

ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าการได้รับสัญญาณจากเสาโทรศัพท์มือถือในช่วงสั้นๆ จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดความเจ็บป่วย นักวิจัยชาวอังกฤษเป็นผู้ที่ได้ทำการศึกษาเพื่อให้ความกระจ่างในผู้ที่อ้างว่าได้รับผลกระทบจากสัญญาณมือถือ
ในการศึกษานั้น ผู้เข้าร่วมการศึกษาไม่สามารถบอกได้หรือไม่ว่าตนเองนั้นกำลังได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าปัญหาทางสุขภาพที่เชื่อว่าเกิดจากการใช้มือถือ อาทิ อาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ และมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่นั้นอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น Elaine Fox นักจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยเอสซิกส์ (University of Essex) เมืองโคลเชสเตอร์ (Colchester) หัวหน้าทีมวิจัยเรื่องนี้ เธอกล่าวว่าปัญหานี้บางทีอาจเป็นแค่ผลทางจิตวิทยา

การทดสอบการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น

คนอังกฤษ ราว 4% อ้างว่าได้รับผลกระทบจากคลื่นวิทยุที่ปล่อยออกมาจากมือถือและเครื่องไฟฟ้าต่างๆ Fox และเพื่อนร่วมงานจึงได้ทดสอบกับอาสาสมัคร 44 คนที่อ้างว่าได้รับความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยซึ่งเป็นผลจากการได้รับสัญญาณโทรศัพท์ และผู้เข้าร่วมทดสอบอีก 114 คนที่ไม่รู้สึกว่าเกิดผิดปกติใดจากการใช้โทรศัพท์ โดยทีมงานได้ทำการสร้างห้องปฏิบัติการที่จำลองเครื่องส่งสัญญาณโทรศัพท์ทั้งที่เป็นระบบเก่าและระบบใหม่อย่างเช่น 3G ขึ้นมาทำการทดสอบนี้
เมื่อได้แจ้งว่ามีการปล่อยสัญญาณออกไปนาน 50 นาทีให้แก่ผู้ร่วมทดสอบทราบ ผู้เข้าร่วมทดสอบบางรายที่มีความ “อ่อนไหว” จะแสดงความวิตกกังวล ความอึดอัดและมีอารมณ์ตึงเครียดกว่าสูงปกติ เมื่อได้ถามคนเหล่านี้ว่าสัญญาณขณะนี้ได้ทำการปิดหรือเปิดอยู่ พบว่ามีอาสาสมัครเพียง 2 รายใน 44 รายที่เป็นผู้ที่รู้สึกอ่อนไหวตอบถูกทั้ง 6 ครั้งในการทดสอบ 6 รอบ และมีอาสาสมัครในกลุ่มควบคุมเพียง 5 คนเท่านั้นที่ตอบถูกทั้งหมด
และความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นจากการรายงานของอาสาสมัครจะเกี่ยวข้องกับ จังหวะการเต้นของหัวใจ อาการเหงื่อออก ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะมีการเปิดหรือปิดสัญญาณหรือไม่ก็ตาม การศึกษาทั้งหมดนี้ผู้วิจัยได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร the journal Environmental Health Perspectives
ผลการศึกษานี้ได้บอกเป็นนัยว่า ถึงแม้อาการของผู้ร่วมทดสอบจะเกิดขึ้นจริงก็ตาม แต่อาการเหล่านี้อาจได้รับการกระตุ้นจากความเข้าใจที่ว่าพวกเขาได้อยู่ใกล้กับเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์จริงๆ มากกว่าที่จะเป็นผลจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
ซึ่งก็ตรงกับความเป็นจริงที่ว่ามนุษย์นั้นไม่มีเซลล์รับรู้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหมือนกับสัตว์บางชนิด เช่น ฉลาม เป็นต้น Fox และเพื่อนร่วมงานได้มองในประเด็นนี้ ยังไม่มีกลไกใดที่ได้รับการพิสูจน์แน่ชัดว่าสัญญาณโทรศัพท์ก่อให้เกิดความเจ็บป่วย

แท้จริงแล้วเป็นเพียงตัวกระตุ้นทางจิตวิทยา

“อย่างน้อยการได้รับสัญญาณมือถือในระยะเวลาสั้นๆ ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพใดๆ” Fox กล่าว อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่ายังต้องมีการศึกษาต่อไปว่าจะมีผลต่อสุขภาพในระยะยาวหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยหรือทำงานใกล้กับเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์
Fox ยังกล่าวด้วยว่ามีผู้ที่ “อ่อนไหว” ต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหลายคน ออกจากการศึกษาไปก่อนที่การทดสอบจะเสร็จสมบูรณ์ นั่นหมายความว่าจำนวนอาสาสมัครน้อยกว่าที่ผู้วิจัยคาดหวังไว้ แต่เธอก็ได้บอกว่าแม้มีอาสาสมัครเหลือเพียง 44 คน แต่ก็เพียงพอสำหรับนำมาตัดประเด็นเรื่องผลข้างเคียงต่อสุขภาพออกไปได้ในทางสถิติ

“ผมหวังเป็นอย่างมากว่าการศึกษานี้จะค้นพบอะไรบางอย่าง และผมก็ประหลาดใจว่ามันไม่ให้คำตอบใดเลย” Alasdair Philips แห่ง Powerwatch กลุ่มรณรงค์ที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองเคมบริดจ์ซึ่งเป็นตัวแทนให้กับกลุ่มคนที่ “อ่อนไหว” ต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างผิดหวัง เขายอมรับแต่เพียงว่าการกระตุ้นทางจิตวิทยาเป็นแค่กลไกหนึ่งเท่านั้น และได้เสริมว่า “ผู้ที่อ่อนไหวต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหลายคนต้องหวาดผวาเพราะโทรศัพท์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผลที่เกิดขึ้นไม่เป็นความจริงในประการแรกเลยซะทีเดียว”

“ถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มมองหาจริงๆเสียทีว่าอะไรเป็นสาเหตุในเรื่องนี้กันแน่” Fox กล่าว “มีหลายคนในกลุ่มคนเหล่านั้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่จริงๆ คนเหล่านี้ถ้าเชื่อว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นต้นเหตุแล้ว พวกเขาจะไม่มองถึงความเป็นไปได้ในเรื่องอื่นเลย” ตัวกระตุ้นทางจิตวิทยายังคงน่าจะเป็นกลไกที่น่าเชื่อถือได้มากที่สุด “ถ้าเราปวดหัวขณะอยู่ในรถไฟแล้วบังเอิญไปเห็นใครสักคนกำลังใช้โทรศัพท์อยู่ คุณก็อาจจะเอามันมาเชื่อมโยงกัน ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องปกติทีเดียว” Fox กล่าวทิ้งท้าย

อ้างอิง //www.ehponline.org/members/2007/10286/10286.pdf
ที่มา news@nature.com




 

Create Date : 08 สิงหาคม 2550   
Last Update : 8 สิงหาคม 2550 9:23:11 น.   
Counter : 562 Pageviews.  

เกิดอะไรขึ้นกับสมองเมื่อได้รับยาหลอก (placebo effect)



ความคาดหวังต่อรางวัลชิ้นโตอาจช่วยให้ฝันกลายเป็นจริง

Michael Hopkin

นักประสาทวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าผู้ที่เคยได้รับความพึงพอใจอย่างมากจากการคิดว่า อาจจะได้รับรางวัลในไม่ช้าจะตอบสนองต่อผลของยาหลอกได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
ผู้วิจัยได้แสดงให้เห็นว่ายาหลอกทำงานอย่างไร ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการรักษาทั้งๆที่การรักษาไม่ได้เป็นการรักษาที่ดีเยี่ยมแต่ประการใด นั่นเป็นเพราะมันเกี่ยวข้องกับสมองส่วนที่ตอบสนองต่อการได้รับผลรางวัล (reward center) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำนายความคาดหวังของเราไปในเชิงบวกโดยที่จะสัมพันธ์กับการเล่นพนันและการติดยาเสพติด การที่สมองส่วนนี้ทำงานมากขึ้นในส่วนที่เรียกว่า นิวเคลียส อัคคูมเบนส์ (nucleus accumbens) ซึ่งเกี่ยวข้องกันอย่างมากกับการออกฤทธิ์ของยาหลอก

การทราบชนิดของกลไกการตอบสนองของสมองที่มีต่อยาหลอกช่วยให้แพทย์สนับสนุนการใช้ผลที่เกิดขึ้นจากยาหลอกนี้ Jon-Kar Zubieta แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน วิทยาเขตแอนอาร์เบอร์ (University of Michigan, Ann Arbor) ผู้นำทีมวิจัยเรื่องนี้ได้ออกมาให้เหตุผล
“มันช่วยผลักดันความคิดของคุณที่ว่าจะจัดการผลของยาหลอกอย่างไรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา” เขากล่าวเพิ่มเติม
ในทางกลับกัน การลดหรือกำจัดความผันแปรในผลของยาหลอกอาจช่วยปรับปรุงความแม่นยำของการศึกษาทางคลินิกได้ โดยเฉพาะการศึกษาฤทธิ์ของยาใหม่เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก การลดความแตกต่างของการตอบสนองที่มีต่อยาหลอกในอาสาสมัครแต่ละคนสามารถช่วยยกมาตรฐานการวิจัยได้

ความคาดหวังอันยิ่งใหญ่

Zubieta และทีมวิจัยได้ทำการประเมินผลของยาหลอกขึ้น โดยสร้างความเจ็บปวดให้แก่อาสาสมัครด้วยการฉีดน้ำเกลือเข้าไปที่กระพุ้งแก้ม จากนั้นอาสาสมัครจะได้รับการแจ้งว่าจะมีการฉีดยาแก้ปวดให้ซึ่งการให้ยาจะทำการสุ่มฉีดระหว่างยาแก้ปวดกับยาหลอก แต่แท้จริงแล้วยาทั้งหมดที่ฉีดให้นั้นเป็นยาหลอก หลังจากที่ฉีดยาไปแล้วพบว่ามีผู้ป่วยบางรายได้รับการทดสอบใหม่โดยไม่ต้องฉีดยาซ้ำอีกเป็นครั้งที่สอง
ผู้เข้าร่วมการทดลองโดยส่วนใหญ่จะรายงานผลว่าพวกเขารู้สึกเจ็บปวดลดลงเมื่อได้รับยาหลอก มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยาอะไรเลย Zubieta และทีมงานได้รายงานผลวิจัยนี้ในวารสาร Neuron แต่ก็ยังพบว่าอาสาสมัครมีความแปรผันอย่างมีนัยสำคัญในการตอบสนองต่อผลของยาหลอก
ผู้วิจัยสงสัยว่าผลที่เกิดขึ้นนี้อาจเกี่ยวข้องกับสมองส่วนที่ตอบสนองต่อการได้รับผลรางวัล ซึ่งจะแสดงผลออกมาเมื่อมีความคาดหวังกับการได้รับผลรางวัล (ในงายวิจัยนี้คือผลของการบรรเทาปวด) อาสาสมัคร 14 คน จากทั้งหมด 30 คนได้รับการสแกนสมองเพื่อดูการสร้างสารสื่อประสาทโดปามีน (dopamine) ในสมองบริเวณ นิวเคลียส อัคคูมเบนส์ ซึ่งจะถูกกระตุ้นจากความคาดหวังในการได้รับผลรางวัล (reward anticipation)
การทำงานของสมองบริเวณ นิวเคลียส อัคคูมเบนส์ จะเพิ่มมากขึ้นในคนที่ตอบสนองต่อผลยาหลอก “ถ้าระบบประสาทโดปามีนของคุณทำงานไม่ดี ผลของยาหลอกที่เกิดกับคุณก็พลอยไม่ดีไปด้วย” Zubieta กล่าว
มันเป็นอะไรมากกว่าที่คาดไว้ คนที่ตอบสนองต่อผลของยาหลอกจะมีความคาดหวังในการได้รับรางวัลสูงตามไปด้วย ซึ่งทดสอบด้วยการให้เล่นเกมโดยบอกว่าจะให้เงินจำนวนแตกต่างกันไปแก่ผู้เล่นเกม ระหว่างเล่นเกมพวกเขาได้รับการสแกนสมองเพื่อประเมินระดับความคาดหวังในสิ่งที่ดี ซึ่งผลตอบแทนนั้นจะตกเป็นของผู้ที่มองโลกในแง่ดี

สิ่งกระตุ้นสมอง
แม้ว่าผลการศึกษาจะชูประเด็นความเป็นไปได้ที่ว่า ผู้ป่วยอาจได้รับยาที่อาจออกฤทธิ์เพื่อกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เกิดผลลัพธ์เช่นเดียวกันกับยาหลอก แต่ Zubieta ได้ออกมาเตือนเรื่องนี้ว่า เรายังไม่รู้จริงๆว่ามันทำงานได้อย่างไร แม้ยาพร้อมที่จะออกฤทธิ์กระตุ้นระบบโดปามีนในสมอง แต่มันก็ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่อาจคาดเดาเช่นกัน ได้แก่ การเปลี่ยนให้ผู้ป่วยกลายเป็นนักเสี่ยงโชคที่ประมาทเลินเล่อจากการที่ศูนย์ความความหวังผลรางวัลในสมองถูกกระตุ้นมากเกินไป เขาชี้ให้เห็น
หนทางที่ดีกว่าในการแก้ปัญหานี่อาจเป็นการสนับสนุนให้แพทย์ให้ความหวังแก่ผู้ป่วยในเรื่องของการรักษา Chris Frith นักจิตวิทยาประสาท (neuropsychologist) แห่งยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจ กรุงลอนดอน (University College London) ได้ให้คำแนะนำ เราควรจะส่งเสริมให้ผู้ป่วยคาดหวังต่อผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นและการหายจากความเจ็บป่วย “แพทย์เป็นผู้หนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเชื่อมากที่สุดว่าการรักษานั้นต้องออกมาดี” เขากล่าว
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าความคาดหวังต่อผลรางวัลจะมีผลอย่างจำเพาะเจาะจงกับผู้ป่วยที่มีความเจ็บป่วยทางกายอย่างไร เป็นไปได้ว่ามันมีผลให้ให้เกิดการสร้างสารแก้ปวดที่ร่างกายผลิตขึ้นเองเรียกว่า เอนโดจีนัส โอปิออยส์ (endogenous opioids) ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง อาจกลายเป็นว่าผู้ป่วยนั้นสามารถควบคุมการหลั่งสารเหล่านี้ได้เพียงแค่คิด (หรือเชื่อ) โดยลำพัง “เป็นไปได้หรือที่จะปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นตามใจปราถนา?” Frith ตั้งคำถามทิ้งท้าย

ที่มา: news@nature.com




 

Create Date : 04 สิงหาคม 2550   
Last Update : 4 สิงหาคม 2550 7:42:29 น.   
Counter : 672 Pageviews.  

สลับซ้ายใช้ขวานำพาสมองเปลี่ยน



การบังคับคนถนัดซ้ายให้ไปใช้มือขวาส่งผลให้สมองทำงานเพิ่มมากขึ้น

Kerri Smith รายงาน

“สิงห์มือซ้าย” หรือ “สิงห์ปืนซ้าย” เป็นคำเรียกขานของผู้คนที่ถนัดซ้ายมาแต่กำเนิด ในสังคมบางแห่งมีการตั้งข้อรังเกียจจนทำให้คนถนัดซ้ายบางคนต้องปรับเปลี่ยนตัวเองหันมาใช้งานมือขวา โดยไม่คำนึงถึงความถนัดโดยธรรมชาติของตัวเอง

ขณะนี้มีการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนมือข้างที่ถนัดในคนถนัดซ้ายทำให้สมองเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน การสลับข้างการใช้งานจะทำให้สมองบางส่วนทำงานเพิ่มมากขึ้น
พื้นที่สมองบางส่วนยังคงทำงานเหมือนคนถนัดซ้ายปกติ ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่สมองบางส่วนทำงานเหมือนคนที่ถนัดขวา ผู้วิจัยได้เปิดเผยขึ้น “คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ การสลับการใช้งานจะสร้างความลำบาก เนื่องจากต้องใช้ความตั้งใจอย่างมากในสิ่งที่ต้องทำหรือไม่” กล่าวโดย Stefan Klöppel แห่ง University College London ผู้ริเริ่มงานวิจัย และเป็นผู้ตั้งคำถามซึ่งยังไม่มีคำตอบ

เปรียบเหมือนภาพสะท้อนในกระจกเงา

มือที่ใช้ในการเขียนจะถูกควบคุมโดยสมองฝั่งตรงกันข้าม สำหรับคนที่ถนัดขวาพื้นที่สมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหวฝั่งซ้ายจะทำงานมากขึ้นเมื่อมีการขยับนิ้วมือฝั่งขวา แต่เมื่อเปลี่ยนมือซ้ายเป็นมือขวา ไม่ง่ายเลยที่จะเปลี่ยนการทำงานของสมองจากอีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง ซึ่ง Klöppel และทีมงานได้ค้นพบเรื่องนี้

ทีมงานได้ทดสอบคนถนัดขวา คนถนัดซ้าย และคนที่ใช้แขนสลับความถนัด (จากซ้ายไปใช้ขวา) กับงานง่ายๆ นั่นก็คือการให้กดปุ่มด้วยมือเพียงข้างเดียวเมื่อเห็นสัญลักษณ์เฉพาะ จากนั้นติดตามการทำงานสมองตลอดการทดลองด้วยเครื่องสร้างภาพคลื่นแม่เหล็กกำทอน (magnetic resonance imaging---MRI)

พื้นที่สมองในส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวซีกขวาจะมีการทำงานมากกว่าในคนที่ถนัดซ้าย และสมองซีกซ้ายจะมีการทำงานมากกว่าในคนที่ถนัดขวา นั่นรวมถึงคนที่ถนัดซ้ายแล้วเปลี่ยนไปใช้มือขวาเช่นกัน แต่การทำงานของสมองในส่วนนี้ในกลุ่มที่สลับข้างจะทำงานมากกว่าคนที่ถนัดขวาโดยธรรมชาติ และพบว่าคนที่ใช้มือสลับข้างจากที่เคยถนัดซ้ายมาเขียนหนังสือด้านขวาโดยถาวร ก็ยิ่งมีการทำงานของสมองส่วนนั้นมากกว่าคนอื่น

อย่างไรก็ตาม สมองส่วนที่สองที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการเคลื่อนไหวพบว่ายังมีความสับสนเมื่อมีการสลับด้าน พบว่าสมองส่วนนี้ยังคงทำหน้าที่เหมือนคนที่ถนัดซ้ายอยู่ แม้ว่าจะถูกเปลี่ยนให้มาใช้งานข้างขวาแล้วก็ตาม และสมองส่วนนี้ยังต้องทำงานมากกว่าคนถนัดซ้ายที่ใช้แขนตามที่ตัวเองถนัดเสียอีก “พวกเขาก็ยังเหมือนคนที่ถนัดซ้าย แต่กลับเน้นสมองด้านที่เคยถนัดมากกว่าเดิมเสียอีก” Klöppel อธิบาย งานของเขาตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Neuroscience

คนที่สลับแขนข้างที่ถนัดสมองต้องทำงานมากขึ้นกว่าเดิมเช่นนั้นหรือ?

สมองของพวกเขาอาจทำงานมากขึ้นก็จริง แต่มันง่ายเกินไปที่จะสรุปว่าการสลับแขนของคนที่ถนัดซ้ายจะมีผลในทางที่ไม่ดี Clare Porac นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยประจำรัฐเพลซิลวาเนีย (Pennsylvania State University) ให้ความเห็น “เราจะไม่แปลผลว่าสมองของพวกเขาเหล่านั้นกำลังทำงานมากขึ้น”
คนที่ถนัดซ้ายที่สลับมาใช้งานได้ขวาได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถในการใช้งานได้ทั้งสองข้างในทักษะหลายด้าน เธอให้ข้อสังเกต นั่นเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าสมองมีการทำงานได้ดีทั้งสองด้านในผู้ที่สลับมือที่ถนัดจากซ้ายไปขวา

แม้ว่าจะพบคนถนัดซ้ายถูกบังคับให้เขียนหนังสือด้านขวาได้ค่อนข้างน้อยในสหรัฐฯและยุโรป แต่ก็ยังพบผู้คนเหล่านี้ได้มากในประเทศอื่นๆ Porac จึงได้ร่วมงานกับ Lee Martin นักวิจัยชาวบราซิล แห่งมหาวิทยาลัยสหพันธรัฐปารา (the Federal University of Pará) ในเมืองเบเลม (Belém) เพื่อศึกษาลักษณะของคนถนัดซ้ายที่สลับมาใช้มือขวา ซึ่งในบราซิลคนที่ใช้มือสลับข้างมักพบได้บ่อย แม้ว่าคนเหล่านี้ส่วนมากจะสลับมือในการเขียนหนังสือ แต่พฤติกรรมการใช้งานอย่างอื่นก็ยังคงเหมือนคนที่ถนัดซ้ายทั่วไป

งานวิจัยชิ้นใหม่นี้สามารถเปิดเผยหลายสิ่งที่สมองทำงานมากกว่าแค่การควบคุมการใช้งานของมือด้านที่ถนัด Klöppel กล่าว เช่นว่ามันแสดงให้เห็นว่าสมองทำงานยืดหยุ่นได้อย่างไรในบริเวณที่มันควบคุมการทำงานอะไรก็ตาม สิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญในเรื่องนี้คือ มีหลายพื้นที่ในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลงจากอิทธิพลของการฝึกและก็มีสมองบางบริเวณต่อต้านการบังคับนี้ มันจึงไม่ได้น่าสนใจแค่เรื่องของความถนัดของการใช้มือ แต่น่าสนใจในเรื่องของความยืดหยุ่นของสมองอีกด้วย

อ้างอิง
Klöppel, A. et al. J Neurosci 27, 7847-7853 (2007).
Porac, C. & Martin, W. Laterality 12, 273-291 (2007)

ที่มา //www.nature.com/news/2007/070716/full/070716-4.html




 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 23 กรกฎาคม 2550 1:35:18 น.   
Counter : 4764 Pageviews.  

ทำไมเราป่วยแล้วจึงรู้สึกง่วงนอน



พบว่าสาเหตุของอาการง่วงนอนคือ การที่โปรตีนในระบบภูมิคุ้มกันตัวหนึ่งไปขัดขวางการทำงานของนาฬิกาชีวิตในร่างกาย

Heidi Ledford รายงาน

การเจ็บป่วยมักจะทำให้เราอ่อนเพลียอยู่เสมอ นักวิจัยได้พยายามศึกษาลึกลงไปว่าสารเคมีอะไรกันแน่เป็นตัวการทำให้เกิดการง่วงนอน
ตัวการสำคัญคือโปรตีนขนาดเล็กเรียกว่า ทิวเมอร์เนคโครซิสแฟคเตอร์แอลฟา (tumour necrosis factor alpha--- TNF-alpha) เป็นโปรตีนตัวหนึ่งที่มีคุณสมบัติต่อต้านเซลล์มะเร็ง สารตัวนี้จะก่อให้เกิดการอักเสบเมื่อมีการติดเชื้อ และเกิดขึ้นในโรคเรื้อรังบางอย่างเช่นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) และโรคปลอกหุ้มเส้นประสาทหลุดลอก (multiple sclerosis) อย่างไรก็ตามก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามันมักจะสัมพันธ์กับความล้า (fatigue) ตัวอย่างเช่นผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยทีเอ็นเอฟ-แอลฟาบางรายอาจเกิดความง่วงซึม (lethargy) อย่างรุนแรง และในผู้ป่วยที่เป็นโรคนอนหลับผิดปกติอย่างเช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (sleep apnea) บางรายจะมีการนอนกลางวันลดลงเมื่อได้รับยาที่ขัดขวางการทำงานของทีเอ็นเอฟ-แอลฟา

แต่ลึกๆลงไปแล้ว เราก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโปรตีนตัวนี้มีผลต่อพฤติกรรมการนอนหลับอย่างไร

Thomas Birchler นักภูมิคุ้มกันวิทยาและทีมวิจัย แห่งโรงพยาบาลประจำมหาวิทยาลัยซูริคในสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำการศึกษาโดยการให้ทีเอ็นเอฟ-แอลฟาแก่หนูพันธุ์เล็ก (mice) แล้วเฝ้าดูการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องในนาฬิกาชีวภาพซึ่งเป็นตัวกำกับเวลาในร่างกายว่าเมื่อไหร่เราจะนอนหรือเมื่อไหร่เราจะตื่น
พบว่ายีนแสดงออกในจังหวะเวลาปกติของมัน ซึ่งจะมีการเพิ่มขึ้นและลดลงระหว่างวัน แต่ระดับการแสดงออกโดยรวมของบางยีนนั้นจะลดลงในหนูที่ได้รับยาเข้าไป “การแกว่งของมันยังคงเป็นปกติ” Birchler กล่าวในรายละเอียด “แต่ปริมาณของมันกลับลดลง”
หนูที่ได้รับทีเอ็นเอฟ-แอลฟาจะเริ่มเฉื่อยชา ใช้เวลาในการวิ่งในวงล้อและวิ่งรอบกรงน้อยลง ซึ่งเป็นไปได้ว่ามันกำลังเมื่อยล้า
“นี่เป็นการเปิดประเด็นใหม่ในการศึกษาต่อไปอย่างมากมาย” Rodney Johnson นักวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยด์ วิทยาเขตเออบาน่า-แชมเป็ญ ให้ความเห็นต่องานวิจัยนี้ “เราเองก็รู้กันมาหลายปีแล้วว่าทีเอ็นเอฟ-แอลฟาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนอนหลับของเรา แต่เรากลับเพิ่งจะเริ่มรู้ว่ามันเกี่ยวข้องอย่างไรกับยีนในจังหวะวงจรชีวิต (circadian rhythms)”
การนอนหลับอย่างเพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการมีระบบภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพและอาจช่วยให้ร่างกายฟื้นกลับมาสู่สภาวะปกติเร็วขึ้น “มีหลักฐานทางวิชาการบ่งชี้ว่าการนอนหลับจะช่วยต่อต้านการติดเชื้อ” Birchler กล่าวเพิ่มเติม “ในแง่มุมทางวิวัฒนาการ ความล้าช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อสามารถเข้าร่วมทำกิจกรรมทางสังคม ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการแพร่ระบาดของโรคไปยังประชากรทั้งหมด”
แม้ว่ามันอาจเป็นประโยชน์ในช่วงสั้น แต่มันอาจทำให้ร่างกายทรุดโทรมได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรัง “ความล้าและการนอนหลับที่เปลี่ยนแปลงอาจมีประโยชน์ในช่วงแรก ถ้าเกิดขึ้นนานเกินไปก็อาจกลายเป็นโรคในที่สุด”
Johnson กล่าวว่า “อะไรก็ตามแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีแต่ถ้ามันมากเกินไปก็อาจกลายเป็นสิ่งไม่ดีก็ได้”
ดังนั้นการขัดขวางการทำงานของทีเอ็นเอฟ-แอลฟาจึงอาจช่วยผู้ป่วยที่มีการอักเสบเรื้อรังให้พ้นจากความล้า แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เพิ่มโอกาสการติดเชื้อ และเกิดโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเองได้ ดังนั้นผู้วิจัยจึงกระตือรือร้นที่จะเข้าใจกลไกที่เกิดขึ้นกับการง่วงเหงาหาวนอน และนั่นก็อาจทำให้พบหนทางที่ดีกว่าในการแก้ไขสภาวะนี้

อ้างอิง
Cavadini, G. et al. Proc. Natl Acad. Sci. USA doi:10.1073/pnas.0701466104

ที่มา //www.nature.com/news/2007/070716/full/070716-1.html




 

Create Date : 22 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 22 กรกฎาคม 2550 1:31:39 น.   
Counter : 3512 Pageviews.  

บักกี้บอลอาจช่วยรักษาโรคภูมิแพ้ได้ในอนาคต

อนุภาคระดับนาโนกับคุณสมบัติพิเศษในการยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้
Hayley Birch เรียบเรียง



อนุภาคระดับนาโนเมตรรูปทรงกลมคล้ายลูกบอลที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “บักกี้บอล” อาจช่วยผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน งานวิจัยได้รับการเปิดเผยขึ้น โดยมีการดัดแปลงบักกี้บอลเพื่อนำไปใช้ยับยั้งวิถีการตอบสนองอาการภูมิแพ้ในเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์

บักมินสเตอร์ฟูลเลอรีน (Buckminsterfullerenes) หรือบักกี้บอล เป็นโครงสร้างรูปตาข่ายทรงกลมขนาด 1-10 นาโนเมตร สร้างจากคาร์บอน 60 อะตอม มันได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ด้านวัสดุศาสตร์เป็นเวลาหลายปีแล้วในเรื่องของความแข็งแรง การที่มีน้ำหนักเบา พร้อมทั้งมีคุณสมบัติทางไฟฟ้าที่น่าดึงดูดใจ ทำให้มันได้รับความสนใจเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์เช่นกัน
เป็นที่ทราบกันดีว่า บักกี้บอลมีคุณสมบัติพิเศษในการเก็บกวาดรีแอคทีฟออกซิเจนสปีชีส์ (reactive oxygen species) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อนุมูลอิสระ” กลุ่มหนึ่ง ซึ่งอนุมูลอิสระมักจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในระบบทางชีวภาพ “C60 (บักกี้บอล) มีความชอบพออิเล็กตรอนอย่างมาก มันจับกับอิเล็กตรอนได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นมันจึงสามารถหยุดการทำงานของอนุมูลอิสระได้โดยการทำให้เกิดความเป็นกลางทางไฟฟ้า” James Cross นักเคมีผู้วิจัยฟูลเลอรีน แห่งมหาวิทยาลัยเยล ในเมือง New Haven รัฐ Connecticut ได้อธิบาย การศึกษาก่อนหน้านี้ยังสนับสนุนให้เห็นว่าบักกี้บอลมีความสามารถในการปกป้องเซลล์ประสาทจากการทำลายของรีแอคทีฟออกซิเจนสปีชีส์อีกด้วย
Chris Kepley นักภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียคอมมอนเวลท์ (Virginia Commonwealth University) ในเมืองริชมอนด์ แสดงความประหลาดใจว่าเจ้าลูกบอลคาร์บอนนี้ยังสามารถนำมาเป็นประโยชน์ในระบบภูมิคุ้มกัน

การทำปฏิกิริยาที่น่าตกตะลึง
ทีมงานของ Kepley ได้ทำวิจัยร่วมกับบริษัทวัสดุศาสตร์ในรัฐเวอร์จิเนียชื่อว่า Luna Innovations โดยได้ทดสอบเจ้าอนุภาคทรงกลมขนาดนาโนเมตรในรูปแบบที่ปรับปรุงโครงสร้างใหม่ในเซลล์มนุษย์และหนูไมส์ แม้ว่าสูตรโครงสร้างที่จำเพาะของเจ้าอนุภาคนี้ยังคงถูกเก็บเป็นความลับอยู่ในขณะนี้ แต่พวกเขาก็บอกว่ามันจะเพิ่มความสามารถในการทำงานได้โดยการเติมหมู่ข้างเคียงซึ่งจะทำให้ความสามารถในการละลายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามงายวิจัยบางเรื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าฟูลเลอรีนอาจเป็นพิษก็ได้ แต่ฟูลเลอรีนในรูปแบบที่ปรับปรุงนี้ไม่พบว่าทำให้เกิดผลเสียใดๆ Kepley กล่าว

ทางกลุ่มวิจัยได้นำ mast cell ซึ่งเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์มาเลี้ยงในจานเพาะเชื้อ กลุ่มหนึ่งเลี้ยงไว้พร้อมกับบักกี้บอล อีกกลุ่มไม่มี จากนั้นนำเซลล์มาสัมผัสกับสารที่มีฤทธิ์ก่อภูมิแพ้ อาทิ ละอองเกสรดอกไม้ พบว่ากลุ่มที่ให้บักกี้บอลร่วมด้วยมีการหลั่งฮิสตามีนน้อยกว่ากลุ่มควบคุมถึง 50 เท่า อิสตามีนจัดเป็นสารเคมีตัวหนึ่งในร่างกายที่ตอบสนองในกระบวนการอักเสบและการหดเกร็งของทางเดินหายใจในโรคหอบหืด นอกจากนี้บักกี้บอลยังยับยั้งสารสื่อสารระหว่างเซลล์ (mediators) ชนิดอื่นๆกว่า 30-40 ชนิดที่เกี่ยวข้องในการตอบสนองต่ออาการภูมิแพ้อีกด้วย

เมื่อทำการฉีดบักกี้บอลเข้าไปในหนูไมส์ พบว่ามีการหลั่งฮิสตามินน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ฉีดเมื่อกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้ ทีมวิจัยได้รายงานเรื่องนี้ในวารสาร the Journal of Immunology หนูกลุ่มที่ไม่ได้รับบักกี้บอลจะไวต่อการลดลงของอุณหภูมิในร่างกายอันเกี่ยวเนื่องมาจากการเกิด anaphylaxis ซึ่งเป็นการตอบสนองต่ออาการแพ้ที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันและรุนแรง เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่นาที

“ฮิสตามีนไม่ได้เป็นสารที่ก่อให้เกิดปฏิกิรยาภูมิแพ้ทุกประเภท” Brian Lipworth ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้แห่ง the Perth Royal Infirmary สก็อตแลนด์ ได้ย้ำเตือนในเรื่องนี้ และเขาจะคอยเฝ้าดูผลเมื่อนำมาศึกษาทางคลินิกในมนุษย์ “มันค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว” “แต่เราจะต้องรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโมเลกุลนี้นำมาทดสอบในอาสาสมัคร”

ออกซิเจนตัวร้ายที่หายไป
ยังไม่ทราบกลไกที่แท้จริงที่บักกี้บอลทำให้ mast cell หลั่งฮิสตามินลดลง “เรายังไม่ทราบแน่นอนว่าการหลั่งฮิสตามินนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร” Kepley กล่าว “เรารู้แต่เพียงว่ารีแอคทีฟออกซิเจนสปีชีส์จะเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆกับการหลั่งฮิสตามิน” เขากล่าวเพิ่มเติม ดังนั้นทฤษฎีการทำงานของบักกี้บอลที่ทางทีมงานคาดการณ์ไว้คือการที่มันไปจับอนุมูลอิสระเอาไว้ ทำให้ยับยั้งการตอบสนองต่ออาการภูมิแพ้ได้

เราทราบกันดีว่าสารต้านอนุมูลอิสระมีประโยชน์ในการช่วยลดการตอบสนองต่ออาการภูมิแพ้ แต่มันก็ไม่สามารถนำมารักษาอาการเหล่านี้ได้ทั้งหมด

ความคิดที่นำอนุภาคขนาดนาโนเมตรมาใช้จัดการกับโรคภูมิแพ้นั้นจึงเป็น “แนวทางใหม่” ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน Clifford Bassett แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกัน แห่งวิทยาลัยโรคภูมิแพ้หอบหืดและภูมิคุ้มกันอเมริกัน ในเมืองนิวยอร์ก ให้ความเห็น “ภูมิคุ้มกันวิทยาระดับนาโนเทคโนโลยี (nanoimmunology) เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีทีผ่านมานี้เอง”
Kepley เชื่อมั่นว่างานวิจัยของเขาจะได้ประโยชน์ในการรักษาเพื่อนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางในโรคภูมิแพ้และโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง ได้แก่ โรคข้ออักเสบ ปัจจุบันเขากำลังดำเนินการที่จะศึกษาผลทางคลินิกในมนุษย์ เพื่อพิสูจน์ว่าบักกี้บอลอาจควบคุมโรคอย่างอื่นในระบบภูมิคุ้มกันได้ เช่น ไข้ละอองฟาง (hay fever) หอบหืด และ มัลติเปิ้ล สเคลอโรซิส (multiple sclerosis) หรือโรคปลอกหุ้มเส้นประสาทหลุดลอก

References (ในข่าว)
Dugan, L. L. et al. Proc. Natl. Acad. Sci. 94 , 9434-9439 (1997).
Ryan, J. J. et al. J. Immunol. 179 , 665-672 (2007).

ที่มา
//www.nature.com/news/2007/070702/full/070702-16.html




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 15 กรกฎาคม 2550 23:27:06 น.   
Counter : 601 Pageviews.  


Philosophos
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Philosophos's blog to your web]