ความสุขเกิดได้ที่ตัวเรา..พบได้ที่ในใจ
Group Blog
 
All blogs
 

อริยสัจจ์ ๔ ประการ

อริยสัจจ์ข้อที่ ๑ ทุกข์ ความทุกข์ที่มีประจำอยู่ในสิ่งมีชีวิตทั้งปวง
อริยสัจจ์ข้อที่ ๒ สมุทัย มูลเหตุของความทุกข์ ซึ่งได้แก่ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น และอยากไม่ให้มี อยากไม่ให้เป็น อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งรวมเรียกว่าความอยาก
อริยสัจจ์ข้อที่ ๓ นิโรธ ถ้าดับความอยากเสียได้แล้ว ความทุกข์ก็จะต้องดับไปตาม เพราะว่าความทุกข์ย่มมาจากความอยาก
อริยสัจจ์ข้อที่ ๔ มรรค บอกวิธีที่จะดับความอยากเสียให้ได้ด้วยวิธีอย่างไร

เมื่อถือว่าหลักอริยสัจจ์ ๔ ประการนี้ เป็นใจความสำคัญของพระพุทธศาสนา เราก็ควรจะนำมาเปรียบเทียบ กับข้อที่อาตมาได้ยืนยันว่า คำจำกัดความของพระพุทธศาสนานั้น คือ “วิชาหรือระเบียบปฏิบัติที่ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร” ดูว่าจะลงรูปลงรอยกันได้อย่างไร

อริยสัจจ์ข้อที่ ๑ ที่แสดงว่า สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ หรือสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ นี่คือบอกตรงๆ ว่า สิ่งทั้งปวงหรืออะไรเป็นอะไรนั่นเอง คำว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ นั้นก็คือคำตอบที่ว่า สิ่งทั้งปวงเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ แต่สัตว์ทั้งหลายไม่ทราบ ไม่รู้ ไม่เห็น ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นความทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงได้มีความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งในสิ่งทั้งปวง ถ้ารู้ว่ามันเป็นความทุกข์ ไม่น่าจะอยาก ไม่น่ายึดถือ ไม่น่าจะไปผูกพันตัวเองเข้ากับสิ่งใดแล้ว ก็คงจะไม่อยาก นี่เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรโดยถูกต้องตามความเป็นจริงนั่นเอง จึงได้ไปอยากเข้า คือ ปฏิบัติผิดต่อความจริงของสิ่งทั้งปวง

แม้อริยสัจจ์ข้อที่ ๒ ที่แสดงว่าความอยากนั้นๆ เป็นเหตุของความทุกข์ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าใจ ว่าความอยากนี้แหละ เป็นเหตุของความทุกข์ จึงได้พากันอยากนั่น อยากนี่ ร้อยแปดพันประการ และอยากทุกสิ่งทุกอย่างอยู่โดยไม่เห็นว่า ความอยากนี้ เป็นที่ตั้งของความทุกข์ เป็นที่เกิดของความทุกข์ นี่ก็เพราะไม่รู้จักตัวความอยาก ว่าความอยากนั้นคืออะไร นี่ก็เรียกว่ายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอีกนั่นเอง

อริยสัจจ์ข้อที่ ๓ ที่แสดงว่านิโรธ หรือพระนิพพาน คือการดับตัณหาเสียให้สิ้น เป็นความไม่มีทุกข์ นั้น สิ่งที่เรียกว่านิโรธหรือนิพพานนั้น ก็เป็นสิ่งที่สัตว์ทั้งหลายยิ่งไม่รู้จักกันใหญ่ มากขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่อาจดับมันเสียได้นั่นเอง นี่ก็คือว่าไม่รู้อะไรเป็นอะไร จึงไม่มีใครปรารถนาที่จะดับความอยาก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือไม่ปรารถนาพระนิพพาน เพราะไม่มีความรู้ ว่าอะไรเป็นพระนิพพาน

ทีนี้ก็มาถึง อริยสัจจ์ข้อที่ ๔ อันเป็นข้อสุดท้ายที่เรียกว่ามรรค อันได้แก่วิธีดับความอยากนั้นๆ เสีย ไม่มีผู้ใดรู้เห็นเข้าใจว่า การทำอย่างนี้เป็นวิธีดับเสียซึ่งความอยากหรือทำตนให้ถึงความดับทุกข์ ไม่มีใครสนใจเรื่อง อริยมรรคอันมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งล้วนแต่เป็นการดับเสียซึ่งความอยาก นี้ก็คือว่า ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไรอีกนั่นเอง ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรขวนขวายพยายามอย่างยิ่ง จึงไม่มีใครสนใจกับเรื่องอริยมรรค อันมีองค์ ๘ ประการ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นสิ่งที่เลิศประเสริฐที่สุด ในบรรดาวิชาความรู้ของมนุษย์เราในโลกนี้หรือโลกอื่นๆ รวมทั้งเทวโลกอะไรๆ ด้วยกันก็ได้ ถ้าหากจะมี ก็ไม่มีความรู้อันใดที่จะสู.สุดยิ่งไปกว่าหลักธรรม ที่เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ แต่แล้วก็ไม่มีใครจะสนใจในความรู้ข้อนี้กันนักเหมือนกัน นี่แหละคือการที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างน่าหวาดเสียว ไม่รู้ว่าอริยมรรคนี้จะดับความทุกข์ให้เด็ดขาดลงไปได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้ เราจะเห็นได้ว่า เรื่องอริยสัจจ์ ๔ ประการนั้น คือความรู้ที่บอกให้เห็นชัดว่า อะไรเป็นอะไรอย่างครบถ้วน นั่นเอง




จาก คู่มือมนุษย์ ฉบับสมบูรณ์
โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ





 

Create Date : 19 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2548 2:52:34 น.
Counter : 583 Pageviews.  

พระไตรลักษณ์

กล่าวได้ว่าเป็นหลักสำคัญหรือตัวพุทธศาสนาอีกแนวหนึ่งด้วยเหมือนกัน

ไตรลักษณ์ มีหัวข้อสั้นๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

นี้เป็นหลักพุทธศาสนาที่เราต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็เรียกว่าไม่รู้พุทธศาสนา

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ คือการประกาศความจริงออกไปว่า “สิ่งทั้งปวงที่มีปัจจัยปรุงแต่งนั้น ไม่เที่ยง, สิ่งทั้งปวงที่มีปัจจัยปรุงแต่ เป็นทุกข์, สิ่งทั้งปวงทั้งที่ปัจจัยปรุงแต่งและปัจจจัยไม่ปรุงแต่งนั้น เป็นอนัตตา”นี้เป็นการตอบปัญหาของคำถามที่ว่า “อะไรเป็นอะไร” เป็นอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่านี้แล้ว คือ การบอกให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ที่ว่าเป็นอนิจจังนั้น ก็คือ สิ่งทั้งปวงเปลี่ยนแปลงเรื่อย ไม่มีอะไรเป็นตัวมันเอง ที่หยุดอยู่แม้ชั่วขณะหนึ่ง
ที่ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ นั้น หมายถึงข้อที่ว่า สิ่งทั้งปวงมีลักษณะเป็นความทนทุกข์ทรมานอยู่ในตัวมันเอง มีลักษณะที่ดูแล้ว น่าเกลียดน่าชัง น่าเบื่อหน่าย น่าระอา อยู่ในตัวมันเองทั้งนั้น
และที่ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา นั้น หมายถึงการบอกให้รู้ว่าบรรดาสิ่งทั้งปวง ไม่มีอะไรที่เราควรจะเข้าไปยึดถือเอาด้วยจิตใจที่ยึดมั่นเป็นตัวตน หรือเป็นของตนได้เลย ถ้าไปยึดถือเข้า ก็ต้องเป็นความทุกข์

นี่แหละเป็นการบอกให้รู้ว่า สิ่งทั้งปวงนั้น มันยิ่งกว่าไฟ เพราะว่าไฟนั้นมันลุกโพลงๆ อยู่ เราเห็นว่าเป็นไฟ ก็ไม่เข้าใกล้ แต่สิ่งทั้งปวงนั้น มันเป็นไฟที่มองไม่เห็นได้ว่าเป็นไฟ เราจึงเข้าไปกอดกองไฟกันด้วยความสมัครใจ แล้วก็เป็นทุกข์ตลอดกาล นี้คือ การบอกให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวงคืออะไรเป็นอะไร โดยนัยแห่งพระไตรลักษณ์ นี้ยิ่งเป็นการชี้ให้เห็นชัดได้ว่า พุทธศาสนา คือวิชาหรือระเบียบปฏิบัติที่ทำให้รู้ได้ ว่าอะไรเป็นอะไร




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2548 14:11:17 น.
Counter : 442 Pageviews.  

พุทธศาสนา แปลว่า...

พุทธ แปลว่า พระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้า แปลว่า ผู้รู้
พุทธศาสนา ก็ต้องแปลว่า ศาสนาของผู้รู้

พุทธบริษัท ก็แปลว่า บริษัทของผู้รู้
พุทธศาสนิก ก็แปลว่า ผู้ปฏิบัติตามพุทธศาสนา คือตามศาสนาของผู้รู้

คำว่า พุทธะ ที่แปลว่าผู้รู้นั้น หมายถึง รู้อะไรในที่สุด
ก็คือรู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงถึงที่สุดนั้นเอง

จึงกล่าวได้ว่า
พุทธศาสนา ก็คือ ศาสนาที่ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
เป็นศาสนาเกี่ยวกับความรู้จริง
เราต้องปฏิบัติจนให้รู้ของเราเอง
เมื่อรู้ถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่ต้องกลัว
กิเลสตัณหาต่างๆ จะถูกความรู้นั้นทำลายล้างสิ้นไป
ฉะนั้น ข้อปฏิบัติต่างๆ จึงมีไว้เพื่อให้วิชชาเกิดขึ้น คือเพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั่นเอง



จากหนังสือคู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์
โดยท่านพุทธทาสภิกขุ





 

Create Date : 14 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2548 1:12:10 น.
Counter : 510 Pageviews.  

โอวาทปาติโมกข์...คำสอนที่เป็นประธานของคำสอนทั้งหมด

โอวาทปาติโมกข์ แปลว่า ประธานหรือว่าหัวหน้าของคำสอนทั้งหมด หรือแปลว่า คำสอนที่เป็นประธานของคำสอนทั้งหมด

โอวาทปาติโมกข์ มี ๓ ข้อ
๑. การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
๒. การทำความดีให้เต็มที่ ให้ครบถ้วน
๓. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากความเศร้าหมองโดยประการทั้งปวง


นี้เป็นหลักสำหรับปฏิบัติต่อสิ่งทั้งปวงให้ถูกต้องตามที่สิ่งทั้งปวงเป็นจริงอยู่อย่างไร เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือว่าสิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่ยึดถือเอาไม่ได้ ไปหลงใหลด้วยไม่ได้

เราต้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งปวงในลักษณะที่ถูกต้องด้วยความระมัดระวัง คือ เว้นจากการทำชั่วทั้งปวง ที่หมายถึงการละโมบโลภมาก ด้วยอำนาจของกิเลสที่อยากทำชั่ว เพราะไม่รู้ว่าสิ่งทั้งปวงนั้น ไม่น่าหลงใหลเลย ไม่น่าไปลงทุนทำเอาด้วยการฝืนศีลธรรมหรือฝืนขนบธรรมเนียมต่างๆ เพื่อไปทำความชั่ว อีกทางหนึ่งนั้น ให้ทำแต่ความดี ตามที่บัณฑิตสมมติตกลงกันว่าเป็นความดี
ทั้งสองขั้นนี้ไม่ต้องสงสัย ท่านทั้งหลายย่อมจะทราบได้เองเป็นอย่างดีว่า เป็นแต่เพียงขั้นศีลธรรมหรือระเบียบปฏิบัติทั่วไปที่จะต้องประพฤติเพื่อความเป็นอยู่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นผาสุกกันอย่างโลกๆ และทั่วๆ ไปเป็นส่วนใหญ่
ส่วนข้อที่สาม ที่มีหลักอยู่ว่า ให้ทำจิตใจให้บริสุทธิ์หมดจด จากเครื่องเศร้าหมองโดยประการทั้งปวงนั้น นั่นแหละเป็น ตัวใจความสำคัญหรือเป็นตัวพุทธศาสนาโดยตรง

การทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด ปราศจากสิ่งเศร้าหมองนั้น หมายความว่าทำจิตให้เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง ถ้าจิตใจยังไม่เป็นอิสระจากอำนาจครอบงำของสิ่งทั้งปวงแล้ว จะเป็นจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ไปไม่ได้เลย จิตใจที่จะเป็นอิสระต่อสิ่งทั้งปวงนั้น ต้องมาจากความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรถึงที่สุดเสมอไป ถ้ายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ก็จะต้องไปหลงรัก หลงชังอะไร หรือมีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วจะมีความเป็นอิสระกันได้อย่างไร

คนเรามีความรู้สึกตามธรรมดาอยู่สองอย่างเท่านั้น คือ รักกับเกลียด ชอบกับชัง หรือ พอใจกับไม่พอใจ

ความพอใจ หรือ อภิชฌาในที่นี้ มีลักษณะที่จะรวบอะไรเข้ามาหาตัว ส่วนความไม่พอใจ หรือ โทมนัสนั้น มีลักษณะที่จะปฏิเสธหรือผลักไสอะไรๆ ออกไปเสียจากตัว ขอกำหนดความหมายให้กว้างๆ อย่างนี้ อย่ามุ่งเอาแต่เพียงเรื่องรักหรือกำหนัด ที่เป็นกิเลสตัณหาทางกามารมณ์อย่างเดียว แม้ที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ก็ยังมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความชอบหรือความชังอย่างเต็มที่ด้วยเหมือนกัน จึงต้องจำกัดความหมายว่า ถ้าสิ่งใดทำให้เกิดความรู้สึกอยากเอาเข้ามาหาตัว ก็เรียกว่าเป็นความพอใจ สิ่งใดที่ก่อให้เกิดความรู้สึกที่จะผลักออกไปเสียให้พ้น หรืออยากทำลายให้สูญสิ้น อย่างนี้เรียกว่าเป็นความไม่พอใจ ถ้ายังมีความรู้สึกสองอย่างนี้อยู่แล้ว หมายความว่าจิตยังไม่เป็นอิสระ เพราะยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างถูกต้อง ยังเลือกหลงรักหลงชังอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ จิตยังไม่มีทางที่จะบริสุทธิ์สะอาด ปราศจากความครอบงำของสิ่งทั้งปวงได้

โดยเหตุนี้เองหลักพระพุทธศาสนาในขั้นสูงสุดนี้ จึงปฏิเสธการยึดถือหมดทั้งสิ่งที่น่ารักน่าชัง ซึ่งคนธรรมดาพากันหลงรักหลงชัง และเป็นการปฏิเสธเลยขึ้นไปถึงความดีและความชั่ว เป็นผู้ไม่หลงติด ทั้งในความดีและความชั่ว ทั้งสองประการ จิตจึงจะเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง และบริสุทธิ์จากสิ่งห่อหุ้มจริงๆ




จากหนังสือ คู่มือมนุษย์

โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ




 

Create Date : 14 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2548 14:10:24 น.
Counter : 472 Pageviews.  

หัวใจของพระพุทธศาสนา

หัวใจของพระพุทธศาสนา หรือ พระคาถาของพระอัสสชิ

เมื่อครั้งพระอัสสชิ ได้พบกับพระสารีบุตรแต่ก่อนบวช พระสารีบุตรได้ถามถึงใจความของพระพุทธศาสนา ว่ามีอยู่อย่างไร โดยย่อที่สุด

พระอัสสชิได้ตอบว่า โดยย่อที่สุดแล้ว ก็คือ

" สิ่งทั้งหลายเหล่าใด เกิดมาแต่เหตุ
พระตถาคตเจ้าท่านทรงแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้น
พร้อมทั้งแสดงความดับสิ้นเชิง ของสิ่งเหล่านั้น
..เพราะหมดเหตุ; พระมหาสมณเจ้าตรัสอย่างนี้"


นี่เป็นคำตอบของพระอัสสชิ แต่ถือกันว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ในทุกประเทศที่เป็นพุทธบริษัท ถึงกับมีการจารึกลงในแผ่นอิฐมาตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล คือยุคสมัยพระเจ้าอโศกเป็นต้นมาทีเดียว เป็นตัวอักษร ๔ บรรทัดเท่านั้น ถือกันว่าเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ในฐานะเป็นใจความของพุทธศาสนา

ถ้าเอาตามหลักนี้ ก็กล่าวได้ว่า ใจความของพุทธศาสนานั้น คือการบอกให้รู้ว่า "สิ่งทั้งปวงนั้น มันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา มันดับไม่ได้จนกว่าจะดับเหตุเสียก่อน"



จากหนังสือ คู่มือมนุษย์
โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ





 

Create Date : 14 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2548 13:37:22 น.
Counter : 335 Pageviews.  

1  2  

ฟ้าอาภา
Location :
พระนครศรีอยุธยา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




พุทธะ รู้ ตื่น เบิกบาน
ปล่อยวาง เรียบง่าย คือ เซน
Friends' blogs
[Add ฟ้าอาภา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.