Group Blog
 
All Blogs
 
โยคะ เครื่องมือเพื่อการปฏิบัติธรรม

สวัสดีค่ะ

ช่วงนี้รู้สึกว่า สิ่งดี ๆ ปรากฎในชีวิตบ่อย ๆ ค่ะ เช่น ใจดีขึ้น ใจเย็นขึ้น ยิ้มง่ายขึ้น อารมณ์ดี เริ่มทำอะไรใหม่ ๆ มากขึ้น เมื่อวันก่อนก็เริ่มไปรำไม้พลอง วันนี้ก็ไปเรียนโยคะมาค่ะ สงบสุขจริง ๆ ค่ะ โอ้ ดิฉันอยากให้โลกมี แต่สันติสุขฮ่ะ World Peace !!!


ไปเข้าร่วมอบรมแล้วรู้สึกชอบมาก ๆ เลยค่ะ มีคำตอบให้กับตัวเองว่า โยคะเป็นเครื่องมืออย่างดีสำหรับฝึกร่างกายให้มีสภาพที่เหมาะแก่การนั่งสมาธิ ค่ะ ครูผู้ฝึกบอกว่า เป้าหมายสูงสุด คือ อาสนะชัย ซึ่งหมายถึงการที่ร่างกายเราสามารถนั่งทำสมาธิด้วยท่าใดท่าหนึ่งได้ติดต่อกัน 3 ชม. ขึ้นไป โดยไม่ปวดเมื่อย (ความปวดเมื่อยนี่เป็นปัญหาหลักในการนั่งสมาธิของพญาไฟเลยค่ะ)


ตอนนี้จะขอบังอาจเล่าสิ่งที่ได้เรียนมาจากการเรียน โยคะ มาแค่ 1 วัน (อีกแล้วเจ้าค่ะ บังอาจอีกแล้ว) ก็พอได้เจออะไรดี ๆ ก็อยากเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังนะคะ


แก่นของโยคะ คือ
1) การรวมกายใจ
2) สร้างความสมดุล
3) พัฒนาจิต เพื่อยกระดับจิต ค่ะ


ครูบอกว่าเป็นแก่นที่เมื่อเราปฏิบัติโยคะ ไม่ว่า จะเป็นโยคะสายใดก็ตาม โยคะที่แตกออกไปหลายสาย ก็ต่างกัน แต่เพียงวิธีการเรียนการสอนค่ะ แต่ทั้งนี้หากเข้าใจแก่นแล้ว ไม่ว่า จะเรียนตามสายไหน ก็จะสามารถดูแลร่างกายไม่ให้บาดเจ็บจากการฝึกโยคะได้ค่ะ การจัดทำท่าต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า อาสนะ นั้น จัดเป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้สามารถบรรลุถึงแก่นของโยคะค่ะ หากใครได้โหลดเอกสาร “โยคะ การฝึกทำทุกวัน” ตามหลักสูตรของสถาบันไกวัลยธรรม ประเทศอินเดีย โดยโครงการเผยแพร่โยคะ เพื่อสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน สนับสนุน โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส ไปอ่านแล้ว (พญาไฟทำลิงค์ไว้ให้ที่ตอนท้ายของบทความนี้ค่ะ) ให้พลิกไปดูในหน้าสุดท้ายเลยนะคะ จะเห็นว่า “อาสนะ” นั้น เป็น 1 ใน 8 ขั้นตอนของโยคะค่ะ เรียกว่า อัษฎางค์โยคะ หรือ มรรค 8 ของโยคะ


หลักสำคัญในการทำโยคะ ง่าย ๆ ค่ะ คือ
1) ทำแล้วต้องรู้สึกสบาย
2) ทำแล้วนิ่ง
3) ใช้แรงน้อย ไม่ฝืนตัวเอง และ
4) มีสติรับรู้ค่ะ


นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวก็จะยึดกระดูกสันหลังเป็นแนวหลักค่ะ จะเคลื่อนไปใน 4 ลักษณะ คือ
1) ก้มตัวไปข้างหน้า
2) แอ่นตัวไปข้างหลัง
3) บิดตัว และ
4) เอียงตัวไปด้านข้าง
นี่ คือ 4 ลักษณะสำหรับผู้ฝึกหัดใหม่ และเป็นพื้นฐานค่ะ


เมื่อมีการเคลื่อนไหว ก็ จะต้องมีสติรับรู้คอยตรวจสอบร่างกายตลอดว่า กระดูกสันหลังนั้นอยู่ในแนวตรง ไม่โค้งงอ เมื่อก้มตัวไปข้างหน้า หลังนั้นต้องตรง ส่วนที่พับงอ จะอยู่ในส่วนของเอวเท่านั้นค่ะ แอ่นไปข้างหลัง บิดตัว และเอียงตัวก็เช่นเดียวกัน เมื่อผู้ฝึกสามารถฝึกจนคล่องชำนาญแล้ว ก็สามารถพัฒนาเข้าสู่ระดับสูงต่อไป ก็จะเพิ่มอีก 2 อย่าง คือ
5) กลับหัว และ
6) ยืดกระดูกสันหลัง


ระดับการยืด ยก บิด เอียง จะมากน้อยแค่ไหนนั้น ให้วัดจากความรู้สึกของตัวเองค่ะ ทำแค่ไหนแล้วรู้สึกสบายที่สุด ก็เอาแค่นั้นพอค่ะ ยืดหลักไว้ว่า ให้กระดูกสันหลังตั้งตรงค่ะ ทำแล้วให้หยุดค้างท่านั้น จะนานแค่ไหนก็ตามที่ร่างกายรับได้อีกเช่นกันค่ะ อาจจะเริ่มจาก 2-3 วินาที แต่พอพัฒนาไปได้ อยู่ได้นานมากขึ้น ก็จึงค่อย ๆ พัฒนาต่อไป ไม่ต้องใช้แรงมากเลยค่ะ พึงระลึกอยู่เสมอว่า “อย่าทำร้ายร่างกายด้วยการฝืน” เราอาจเห็นคนที่ฝึกโยคะมานาน ทำท่าต่าง ๆ ดูแล้วสวยงาน เราอยากทำให้ดูสวยงามอย่างนั้นบ้าง แต่ร่างกายเรายังรับไม่ได้ ก็ต้องไม่ฝืนเด็ดขาดต้องค่อยเป็นค่อยไปนะคะ


ประเภทของอาสนะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มค่ะ คือ
1) อาสนะ เพื่อการผ่อนคลาย ได้แก่ ท่าศพ ท่าจรเข้
2) อาสนะ เพื่อการสร้างสมดุล ได้แก่ ท่างู ท่าตั๊กแตน ท่าคันไถครึ่งตัว ท่าเหยียดหลัง ท่าคีม ท่าสัญลักษณ์แห่งโยคะ หรือเรียกว่า โยคะมุทรา ท่าบิดสันหลัง ท่ากงล้อ และ
3) อาสนะ เพื่อสมาธิ ได้แก่ ท่านั่งเพชร
ท่าทั้งหมดนี้ เป็น 11 ท่าพื้นฐาน ที่พญาไฟเรียนในการอบรมครั้งนี้ค่ะ


เมื่อหยุดนิ่งอยู่ในท่าใดแล้ว ก็ให้สำรวจร่างกายดูว่า เรามีการเกร็งร่างกายในส่วนที่ไม่จำเป็นหรือเปล่า หากเราเกร็งอยู่ ก็ให้ผ่อนคลายซะ เช่น ท่า งู เมื่อยกศีรษะ ไหล่ และทรวงอก ค้างนิ่งไว้แล้ว ให้ตรวจดูว่า เราเกร็งที่ขา หรือไม่ ไหล่ยกเกร็งหรือเปล่า ใบหน้าเกร็ง คิ้วขมวดหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้นค่ะ หรืออย่างท่า ตั้กแตน จะเป็นการนอนคว่ำหน้า ยกขาขึ้น หากมีการการขาสั่น นั่นแสดงว่า เรายกขาเกินระดับที่ร่างกายเราทนได้ ก็ให้ลดขาลง เมื่อสามารถยกค้างได้นิ่งแล้ว ให้สำรวจดูว่า หลัง ไหล่ ใบหน้า หรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่ไม่มีหน้าที่ในท่านี้ มีการเกร็งตัวหรือไม่ ถ้ามีก็คลายซะ รายละเอียดของ แต่ละท่า มีอธิบายอยู่ในคู่มือแล้วค่ะ


การทานอาหารตามแนวของโยคะ จะเน้นที่การที่ร่างกายสามารถย่อยอาหารได้หมด นั่นหมายถึง ถ้าท้องคุณไม่ พร้อมที่จะย่อยอาหาร อาหารที่ทานไปนั้นก็เปรียบเสมือนเป็นยาพิษต่อร่างกายค่ะ เวลาทานอาหาร ก็ให้คำนึงง่าย ๆ คือ แบ่งกระเพาะออกเป็น 4 ส่วน ใช้พื้นที่ 2 ส่วนสำหรับอาหารที่เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นชิ้น เป็นอัน ใช้พื้นที่ 1 ส่วนสำหรับสิ่งที่เป็นน้ำ และเหลือพื้นที่ไว้อีก 1 ส่วน สำหรับเป็นที่ว่างให้ร่างกายได้ใช้ในการย่อย เพื่อให้ย่อยได้สะดวก และมีประสิทธิภาพ ค่ะ


วันนี้ นอกจากจะเรียนเรื่องอาสนะแล้ว ยังได้เรียนพื้นฐานเรื่อง ปราณยามะ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทคนิค ในมรรค 8 ของโยคะ ค่ะ เป็นการฝึกกำหนด ควบคุมลมหายใจ การฝึกเรื่องนี้ ควรจะมีครูสอนค่ะ เพราะถ้าทำผิดพลาดอาจทำให้ถึงกับเสียสติได้นะคะ ครูบอกไว้ พญาไฟจะไม่เล่าให้ฟังในที่นี้ดีกว่าค่ะ ใครสนในก็ติดต่ออาจารย์โยคะนะคะ


โยคะนี้มีประวัติมายาวนานซัก 5000 ปีแล้วค่ะ ก่อนพุทธศาสนาค่ะ มีประโยคหนึ่งที่ครูบอกไว้ค่ะ โยคะ จิตตะ วรึติ นิโรธ หมายถึง โยคะเป็นไป เพื่อการดับของจิต ฝึกแล้วจิตสงบเป็นสมาธินั่นเอง หลังจากอบรมโยคะแล้วพญาไฟก็เห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์เลยค่ะว่า โยคะ เนี่ย เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้เรานั่งสมาธิได้นาน เจ็งสุด ๆ


คงจำกันได้นะคะ พระพุทธเจ้าสมณโคดมนี้ก็มีอาจารย์เป็นฤษี 2 ท่าน คือ อาฬารดาบส และ อุททกดาบส ซึ่งอาจารย์ทั้งสองท่านนี้ก็ได้เสียชีวิตก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ พระพุทธเจ้าท่านก็คง จะได้เรียนแนวทางการนั่งสมาธิมาจากอาจารย์สองท่านนี้มา แต่หลังจากที่ศึกษาปฏิบัติแล้วเห็นว่ายังไม่สามารถช่วยให้พ้นทุกข์ได้ ดังนั้นเป้าหมายของ การปฏิบัติธรรมตามแนวพุทธศาสนา จึงมิได้อยู่แค่เพียงการนั่งสมาธิ หาก แต่จะต้องมี การปฏิบัติวิปัสนาด้วย ดำเนินตามมรรค 8 เพื่อเป็นการกำจัดเอากิเลสที่สะสมมาเนิ่นนาน หรือที่เรียกว่า อาสวะ ออกไป (อาสวะนะคะ เป็นคนละคำกับอาสนะ นะคะ)


บางคนบรรลุเป้าหมายสูงสุดของโยคะ ได้รับความสุขจากโยคะ ปฏิบัติจนเกิดฌาน อาจจะเกิดอาการติดสุขจากฌานนั้น อันนี้ หลวงพี่บอกว่า เป็นความสุขแบบหินทับหญ้าค่ะ ยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ยังไม่ใช่ความสุขที่ผู้ปฏิบัติธรรมพึงปรารถนา เพราะความสุขแบบนี้ยังมีการเสื่อมสลายหายไปได้ คือ ผู้ปฏิบัติมีความสุขสงบจริงจากการนั่งสมาธิ แต่ว่า หากไม่ได้มีการกำจัดกิเลสออกไป เมื่อออกจากสมาธิหรือฌานแล้ว มาดำเนินชีวิตประจำวัน เจอกับกิเลสอีก ก็ยังประสบกับความทุกข์อีก อยู่ดี เหมือนกับ หินที่ทับหญ้าอยู่ ก็อาจจะดูเหมือนว่า ไม่มีหญ้า แต่พอยกหินออก หญ้าก็เจริญเติบโตใหม่ อย่างนี้เรียกว่ายังไม่บรรลุเป้าหมายตามหลักพุทธศาสนา


จากนี้ไป พญาไฟก็ตั้งใจว่า จะต้องจัดเวลาตอนเช้าสำหรับฝึกโยคะ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้การฝึกทำสมาธิ ซึ่งเป็นพื้นฐานของ การปฏิบัติธรรม เป็นไปได้ง่ายขึ้นค่ะ


พญาไฟ
6 พฤศจิกายน 2547

ผู้ใดสนใจศึกษาโยคะ ติดต่อไปที่
สถาบันโยคะ เพื่อสุขภาพ
มูลนิธิหมอชาวบ้าน
หมายเลขโทรศัพท์ 02-278-2056 ได้เลยค่ะ


Create Date : 16 กรกฎาคม 2548
Last Update : 27 กรกฎาคม 2548 18:13:29 น. 3 comments
Counter : 709 Pageviews.

 
แฟแฟแฟแฟแฟแฟแฟ


โดย: 1111 IP: 61.19.198.242 วันที่: 7 ตุลาคม 2549 เวลา:11:15:24 น.  

 


โดย: ด.เด็ก IP: 61.19.198.242 วันที่: 7 ตุลาคม 2549 เวลา:11:16:33 น.  

 
กาลาเปโวที่ชอบ
โยคะนะหยุกมากเยย
นรวีชอบที่สุดเยย


โดย: นรวี IP: 61.19.198.242 วันที่: 7 ตุลาคม 2549 เวลา:11:18:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พญาไฟ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาไฟ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.