ธรรมาสน์วัดบางอ้อยช้าง (สมัยอยุธยาตอนปลาย)


(Ancient pulpit in Wat Bang oychang, Nontaburi)

วัดบางอ้อยช้าง 
ตั้งอยู่ที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ใกล้กับแยกพระราม 5 ริมแม่น้ำอ้อมชุมชนย่านนี้เป็นบ้านเกิดของคุณยายของผม และทุกๆสงกรานต์ ญาติๆก็จะมาชุมนุมกันทำบุญให้ทวดแต่กว่าผมจะเข้าใจถึงความสำคัญของวัดนี้ได้ก็เป็นโตเป็นผู้ใหญ่แล้ววัดบางอ้อยช้างก็เปลี่ยนไป ลานซีเมนต์มาเยือนเหมือนหลายๆวัดที่เคยอยู่กลางสวน
วัดบ้างอ้อยช้างนี้ เป็นวัดที่น่าสนใจอีกวัดหนึ่งในจังหวัดนนทบุรีและคงจะสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ กล่าวคือ เคยเป็นที่ประดิษฐาน “พระศรีศาสดา” พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยสำคัญที่ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เล่ากันว่าสมัยนั้น เจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้างท่านเป็นคนขยัน ท่านหาไม้มาสร้างวัดจากเมืองเหนือล่องเรือไปถึงนครสวรรค์ และท่านก็ได้พระศรีศาสดามาจากสุโขทัยด้วยเมื่อความทราบถึงเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัด บุนนาค)จึงให้อัญเชิญมาประดิษฐานยังวัดประดู่ฉิมพลี ที่ท่านสร้างขึ้น 

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบและมีพระราชดำริว่าพระศาสดานั้นสร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ซึ่ง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงให้อัญเชิญม ประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร พระศาสดาก็ควรประดิษฐานอยู่ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหารที่เดียวกับพระพุทธชินสีห์ เป็นเสมือนพระพุทธรูปผู้พิทักษ์พระพุทธชินสีห์ แต่ยังมิได้สร้างสถานที่ประดิษฐาน จึงโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังมุขหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามไปพลางก่อนเมื่อ พ.ศ. 2396 ครั้นสร้างพระวิหารพระศาสดาจวนแล้วเสร็จจึงโปรดให้อัญเชิญพระศาสดามาประดิษฐานเมื่อ พ.ศ. 2407 (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

อีกองค์หนึ่งที่ท่านเจ้าอาวาสได้มาจากเมืองเหนือคือพระพุทธรูปสุโขทัยปางลีลา ปัจจุบัน ประดิษฐานไว้ที่ระเบียงคดวัดเบญจมบพิตรซึ่งถือว่ามีความงดงามเป็นยอด

ระฆังหัวสัตว์ อายุอยุธยาตอนปลายถึงต้นรัตนโกสินทร์

นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลง (ไปในที่ดีขึ้น) ของวัดบางอ้อยช้าง ก็คือ มีการรวบรวมสิ่งของวัตถุโบราณที่อยู่ในวัดมาจัดทำทะเบียนและจัดแสดงอย่างเป็นระบบบนพิพิธภัณฑ์เรือนไม้สัก 3 ชั้น ซึ่งเคยเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมมาก่อน ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยศิลปากรและศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สิ่งที่น่าสนใจได้แก่ เครื่องไทยธรรมที่รัชกาลที่ 5ถวายแด่วัด ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินมายังวัดแห่งนี้ ได้แก่ ตาลปัตร บาตรและเสื้อครุย รวมทั้งตู้พระไตรปิฎกสมัยรัตนโกสินทร์จำนวนมากส่วนภายในศาลาการเปรียญ ยังเก็บรักษาธรรมาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย แม้ว่าจะถูกซ่อมแปลงไปมากมายแต่ก็ยังรักษาทรวดทรงดั้งเดิมเอาไว้ได้ และบนเพดานศาลาการเปรียญยังประดับพระพุทธบาทไว้บนฝ้า ถือว่าเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทยไม่เคยปรากฏที่อื่นๆอีก

พนักธรรมาสน์ จะเห็นว่า มีการใช้กระจังรวนบนขาสิงห์ลอย เป็นเอกลัษณ์ของธรรมาสน์อยุธยาตอนปลาย ต่อเนื่องมาจากขาสิงห์ลอยในสมัยพระนารายณ์มหาราช อันปรากฏที่นารายณ์ราชนิเวศด้านใต้ขาสิงห์ จะเห็น "ล่องถุน" เป็นไม้กากบาท คล้ายๆกับ"กระเท่เซร" ซึ่งเป็นชื่อเรียกโครงหลังคาโบราณ ที่ใช้ไม้กากบาทตัดกันรับน้ำหนักหลังคา

แทนไม้ประดุหรือจันทันมาถึง

ธรรมาสน์บ้างนะครับ ธรรมาสน์วัดบางอ้อยช้างถือเป็นทรงที่สวยงาม เข้าตำราธรรมาสน์อยุธยาตอนปลายถ้าดูจากเส้นรอบนอก จะคล้ายๆกับธรรมาสน์วัดสำโรงแต่รายละเอียดลวดลายประดับแตกต่างออกไป โชคดีที่วัดแถบนนทบุรีไม่เคยร้างเหมือนกรุงศรีอยุธยาธรรมาสน์โบราณที่เป็นของละเอียดอ่อนจึงอยู่มาได้เนิ่นนานและเมื่อได้รับการปฏิสังขรณ์อย่างดีก็คงสภาพไว้ แม้กระจกจะถูกเปลี่ยนแต่โครงสร้างของอยุธยาตอนปลายก็ยังฉายออกมาได้อย่างสง่างาม ชนิดที่ว่าทำเลียนแบบอย่างไรก็ไม่เหมือน

ลักษณะธรรมาสน์อยุธยา ปลายสังเกตได้ง่ายครับส่วนมากมักจะ มีเสาเพียง 4 ต้น และไม่ใช่เสาเพิ่มมุม(ธรรมาสน์รัตนโกสินทร์ส่วนมากจะเพิ่มมุม) การเพิ่มมุมที่เสานั้น ส่งผลไปถึงยอดด้วยหลังคาจำเป็นต้นเพิ่มมุมตาม (กลายเป็นซุ้มรังไก่ แบบที่เห็นในมณฑปในวัดพระแก้ว)ส่วนของฐานนั้น อยุธยาตอนปลายนิยมการทำ “ล่องถุน” คือ ใต้ถุนโล่งๆ มีไม้กากบาทตีขวางกันซึ่งเลียนแบบมาจากเรือนไม้จริงๆ ขณะที่รัตนโกสินทร์ จะไม่นิยมล่องถุนแต่จะทำชั้นฐานหนาหนักซ้อนๆกันขึ้นไป บางครั้งก็ทำเป็นฐานที่มีตัวแบก เป็นสิงห์ครุฑ เทวดา ลดหลั่นกันไป

ชุดฐานของธรรมาสน์ ใช้ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนประดับ ลายนี้ไม่ค่อยพบในสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว

ธรรมาสน์วัดบางอ้อยช้างเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของธรรมาสน์อยุธยาตอนปลายที่งดงาม และอยู่ในสภาพดี ขนาดกลางๆไม่เล็กไม่ใหญ่มากนักและกลมกลืนไปกับศาลาการเปรียญทรงวินเทจอายุสมัยต้นรัชกาลที่ 7 ได้เป็นอย่างดีถ้าไปวัดบางอ้อยช้าง ลองขอกุญแจพระท่านดูนะครับ วัดนี้พระท่านใจดียินดีเปิดให้ชมตลอดเวลา


ดาวเพดานใหญ่เต็มฝ้าของธรรมาสน์ ต่างกับสมัยรัตนโกสินทร์ที่มักทำดาวกระจายขนาดเล็กหลายๆดวง ไม่ทำเป็นบัวใหญ่ดวงเดียว






Create Date : 17 มกราคม 2557
Last Update : 31 ตุลาคม 2559 12:23:16 น.
Counter : 3390 Pageviews.

0 comment
เก่าที่สุดในสยาม ธรรมาสน์วัดโคกขาม


วัดโคกขาม  เป็นวัดโบราณที่เราคุ้นเคยชื่อกันดีจากละครเรื่องพันท้าย

นรสิงห์ ซึ่งทุกวันนี้เราก็ยังไม่แน่ใจว่าพันท้ายท่านมีตัวตนจริงๆหรือเปล่า

เพราะเรื่องราวของท่านไม่ปรากฏในพงศาวดารสมัยอยุธยาเลยแต่

ปรากฏอยู่ในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งเขียนขึ้นในสมัย

รัชกาลที่ 4 และมีการเสริมเติมแต่งเนื้อเรื่องเข้าไปมากมาย ยังไงก็ดีวันนี้

เราไม่ได้มาพูดถึงพันท้ายกันแต่จะพาไปดูธรรมาสน์ที่เชื่อกันว่าเก่าที่สุด

องค์หนึ่งในประเทศไทย


แต่ก่อนนั้น ตามที่ยอมรับกัน ธรรมาสน์ที่เก่าที่สุดในสยามมีอยู่ไม่กี่องค์เท่านั้น (2-3 องค์) ที่รู้จักกันดีก็คือ ธรรมาสน์วัดเสาธงทอง(ที่อยู่ในนารายณ์ราชนิเวศน์)องค์นั้นไม่มีปัญหาเพราะลวดลายสอดคล้องกับลายที่วัดนางพญา สุโขทัยเป็นอย่างดีอีกองค์คือ ธรรมาสน์วัดศาลาปูน วัดนี้มีเป็นเซ็ท คือธรรมาสน์ยาว และธรรมาสน์ปกติเก็บไว้บนศาลาการเปรียญชั้นสอง องค์นี้มีลวดลายละเอียดกว่าวัดเสาธงทองนอกจากนั้นก็ยังมีธรรมาสน์วัดครุฑ ที่ได้รับการซ่อมแซมจนแทบหมดรูปและโดนโจรกรรมบันไดไปแล้ว (ที่เหลืออยู่คือของซ่อมให้เหมือนเก่า)


ครั้งแรกที่ผมได้ยินเรื่องธรรมาสน์วัดโคกขามคิดว่าไม่น่าจะเก่าเกินอยุธยาตอนปลาย เพราะจากประวัติของวัดเราก็ทราบดีว่าการขุดคลองลัดนั้นกระทำสมัยพระเจ้าเสือและการปฏิสังขรณ์วัดในชุมชนนั้นก็น่าจะอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันด้วย อีกทั้งบริเวณนั้นเป็นที่ลุ่มต่ำน้ำขัง ชุมชนขนาดใหญ่จึงไม่น่าจะมีมากนัก ทุกวันนี้แถวนั้นก็ยังเป็นป่าจากอันตรายจากงูเงี้ยวเขี้ยวหงอน ตะเข้ตะโขงย่อมมีมาก วัดแถวนี้จึงเล็กๆเรียงกันไปตามลำน้ำมีป่าจากแทรกเป็นหย่อมผมจัดทัวร์เล็กๆขึ้นสำหรับดูธรรมาสน์องค์นี้โดยเฉพาะ ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ดูธรรมาสน์ที่เก่าที่สุดในแผ่นดินสยาม

วันที่ไปคือวัดออกพรรษาพอดี ชาวบ้านเขาเปิดศาลาการเปรียญหลังใหม่พอได้เห็นธรรมาสน์เท่านั้นก็แทบหงายหลัง เกิดมายังไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อนมันคือปราสาทบนปูนปั้นวัดไลย์ ลพบุรีถอดออกมาให้เห็นตัวเป็นๆ เป็นธรรมาสน์รุ่นเก่าคือไมมีการย่อมุม แต่ใช้ระบบสี่เสา รับหลังคาลาดซ้อนชั้นการซ้อนของหลังคาก็ต่างออกไปจากธรรมาสน์รุ่นกรุงเทพ คือ หลังคาทรงพาราโบลามีแอ่นโค้งเป็นจอมแห ไม่ลาดเอียงปกติเป็นเส้นตรงๆ

ยิ่งมาดูลวดลาย ยิ่งตกใจ เพราะกระจังตรงที่เป็นกาบนั้นมันกระจังล้านนาชัดๆ คือปกติรุ่นกทม. จะเป็นกาบพรหมศร กาบไผ่ใช่ไหมครับอันนี้เล่นทำเป็นลายบัวคอเสื้อ หรืออย่างที่เรียกกันว่า ลายหัวหลูอี่อันเป็นลายที่ล้านนาได้รับอิทธิพลมาจากเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ หยวน-หมิง-ชิงใช้ลายนี้มาตลอด แต่ในสมัยอยุธยา ลายแบบนี้ฮิตอยู่ในช่วงอยุธยาตอนกลางรุ่นพุทธศตวรรษที่21 เท่านั้น แล้วก็เลิกราไป ดังนั้น การพบลายแบบนี้บนอะไรสักอย่างย่อมกำหนดอายุของมันได้อย่างค่อนข้างแน่นอนว่า อยู่ในช่วงพศ.2000-2100 แน่นอนรวมความว่า ธรรมาสน์องค์นี้อายุไม่ต่ำว่า 400 ปี!!


และถ้าใครเคยไปวัดวรเชษฐาราม (นอกเมือง) คุณจะพบว่าระบบลายวัดโคกขามและวัดวรเชษฐ์นี้ ถอดแบบมาทีเดียว วัดวรเชษฐ์นี้จากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เชื่อว่าอยู่ในช่วงอยุธยาตอนกลางราวรัชกาลพระเอกาทศรถจริง!!



ขอบคุณรูปของน้องเน Amon Bun ครับ




Create Date : 16 ธันวาคม 2556
Last Update : 31 ตุลาคม 2559 10:55:17 น.
Counter : 3190 Pageviews.

2 comment
ธรรมาสน์วัดใหญ่สุวรรณาราม



ใครๆก็รู้จักวัดใหญ่สุวรรณาราม เมืองเพชรบุรี ถ้าชื่นชอบงานช่างโบราณของชาวเมืองเพชร ต้องมาที่นี่ เพราะวัดแห่งนี้เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมศิลปกรรมเก่าแก่โบราณ หลายชิ้นเห็นแล้วต้องทึ่งว่าผ่านกาลเวลามาได้อย่างไร ทั้งสถาปัตยกรรม จิตรกรรม งานไม้แกะสลัก ประติมากรรม ยังเหลือให้ศึกษาครบทุกแขนง พระโบราณท่านเป็นช่างอยู่ในตัว รู้จักและเห็นคุณค่าของ อันไหนผุพังก็ค่อยๆซ่อมแปลงไป เปลี่ยนเครื่องไม้ทีละชิ้นๆ ไม่ใช่รื้อโครมลงแล้วสร้างใหม่เหมือนปัจจุบันนี้ี


ธรรมาสน์ที่ผมขอนำเสนอวันนี้ตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญ ซึ่งเป็นตำหนักทองสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่เดิมเชื่อว่าคงเป็นตำหนักในกรุงศรีอยุธยา มีร่องรอยลงรักปิดทองทั้งองค์ แต่ทุกวันนี้ทาสีแดงทับไปแล้วอย่างน่าเสียดาย เอาเถิด เราไปชมธรรมาสน์กันดีกว่า ดูว่างานช่างอยุธยาท่านจะเลิศเลอแค่ไหน




ธรรมาสน์สมัยอยุธยามีข้อสังเกตแตกต่างไปจากธรรมาสน์สมัยรัตนโกสินทร์ คือ มักจะใช้เสาสี่้ต้น ไม่มีการย่อมุม (หรือเรียกว่าเพิ่มมุมก็ได้) ใต้ถุนมักจะเจาะโปร่ง เรียกว่า "ล่องถุน" ประดับด้วยลวดลายสมัยอยุธยา ซึ่งใช้ลายขนาดใหญ่ สะบัดเปลว และเป็นอิสระกว่าลายสมัยรัตนโกสินทร์ มักจะประด้บด้วยกระจกสีเขียวแผ่นใหญ่ สีคล้ายๆปีกแมลงทับ (สมัยอยุธยาเห็นใช้กระจกอยู่แค่ 2 สี คือ สีเขียวและสีขาว)



ภาพนี้เป็นพนักธรรมาสน์ครับ ที่ขอบตกแต่งด้วยลายข้ออ้อย พื้นพนักเป็นลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่นิยมมากในสมัยอยุธยา ล้อมรอบด้วยลายสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมไม้สิบสอง ขอบล่างตกแต่งด้วยลายกระจังน้อยใหญ่ และที่เด่นที่สุดคือ การใช้ฐานแอ่นโค้งแบบ "ตกท้องช้าง" ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะอยุธยาตอนปลาย ที่ช่างกรุงเทพไม่นิยมแล้ว





เครื่องยอดของธรรมาสน์ครับ ตัวกนกที่ขอบนั้นเรียกว่า "ตัวเหงา" ยังใช้ตัวเหงาแบบหันเข้าอยู่ ซึ่งตัวเหงาปัจจุบันจะหันออก หรือแทนที่ด้วย "หางหงส์" แทน




ดาวเพดานด้านในธรรมาสน์ครับ น่าเสียดายที่สูญหายไปแล้ว คงจะถูกโจรกรรม เพราะไม้แกะสลักงามๆมีค่าหลายสตางค์ในตลาดค้าของเก่า เศร้าไหมล่ะครับ
กระจกสีเขียวแผ่นใหญ่ๆเป็นเอกลักษณ์ของธรรมาสน์สมัยอยุธยา ส่วนลายขอบของกรอบสี่เหลี่ยมเป็นลายไข่ปลา ทำจากรักปั้นเป็นก้อนกลมๆแล้วปิดทองทับ ประณีตยิ่งนัก




ทวยของธรรมาสน์องค์นี้ค่อนข้างแปลก เป็นเพียงเส้นโค้งเส้นเดียว ไม่ตวัดเป็นตัว s หรือเป็นรูปตัวนาคเหมือนแห่งอื่นๆ ทวยแบบนี้จะพบมากในจิตรกรรมฝาผนัง แต่ไม่ค่อยพบเห็นของจริงสักเท่าใดนัก


ภาพล่างเป็นบันไดนาคครับ เรียกกันเล่นๆว่านาคเอเลี่ยน เพราะเหมือนเอเลี่ยน มันจะมีไม่กี่รุ่นที่ทำออกมาแบบนี้ ตัวอย่างชัดๆที่วัดครุฑ อยุธยามีครับ กับวัดนางพญา พิษณุโลกก็มีเช่นกัน บันไดนี้มาจากภาพถ่ายเก่า ปัจจุบันเจ้าอาวาสท่านเก็บตายไว้อย่างดี ห้ามใครดู เพราะของหายบ่อยเหลือเกินวัดนี้





Create Date : 04 พฤษภาคม 2554
Last Update : 31 ตุลาคม 2559 11:55:23 น.
Counter : 5007 Pageviews.

4 comment
ธรรมาสน์ยาววัดเชิงท่า



วัดเชิงท่าเป็นวัดใหญ่โตอยู่ริมฝั่งคลองเมืองด้านทิศเหนือของกรุงศรีอยุธยา ตรงพระบรมมหาราชวังข้าม มีสิ่งสำคัญอยู่หลายอย่าง ทั้งพระปรางค์ประธานห้ายอด ที่รายล้อมด้วยวิหาร 4 ทิศประดิษฐานพระสี่อิริยาบถแห่งเดียวในประเทศไทย ภายในยังมีอุโมงค์เดินเข้าไปในองค์ปรางค์ได้ราวกับมณฑปวัดศรีชุมทีุ่สุโขทัย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเจดีย์บริวารงามๆที่ไม่ซ้ำแบบกันสักองค์เดียว ถ้าชอบดูเจดีย์ห้ามพลาดแน่นอน

ถ้าอยากจะไหว้พระ ที่นี่มีตำนานเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ว่าทรงศึกษาเล่าเรียนจากสำนักวัดเชิงท่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่วันนี้จะพาไปชมของดีในศาลาการเปรียญของวัดกัน

อันศาลาหลังนี้งดงามมาก เป็นศาลาสมัยรัชกาลที่ 4 มีมุขประเจิด ด้านในเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังด้วยสีฝุ่น เรียกว่านอกจากพื้นแล้ว แทบไม่มีส่วนใดที่ว่างจากภาพเขียน อลังการจริงๆครับ ก้าวแรกที่เข้าไป เราจะได้พบกับ "ธรรมาสน์ยาว" ดูคล้ายๆกับสีวิกายกใต้ถุนสูง เป็นอาสนะสงฆ์สำหรับสวดศพ แต่เดิมเรียกกันว่า "สังเค็ด" แต่ปัจจุบัน เชื่อกันแล้วว่า ที่ถูกต้องควรจะเรียก "ธรรมาสน์ยาว" จะเหมาะสมกว่า เพราะสังเค็ด มีความหมายถึงของถวายอุทิศให้ผู้ตายในงานศพมากกว่า จะเป็นอะไรก็ตามที ทั้งตู้ ตั่ง นาฬิกา เตียง อะไรก็ได้ เรียกว่าัสังเค็ดหมด



ภาพรวมๆนะครับ เป็นหลังคามุขประเจิด


เนื่องจากผมไม่มีโฟโต้ชอปในเครื่อง จึงย่อรูปได้เพียงเท่านี้ อาจจะเล็กไปหน่อยนะครับ

ตัวธรรมาสน์เป็นของเก่าสมัยอยุธยาตอนปลายที่เหลือตกทอดมาแต่ไหนแต่ไร ทั้งๆที่บริเวณวัดอยู่ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ตั้งของค่ายพม่า คงจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่สามารถอ้างได้ว่า พม่าไม่ได้เผากรุงศรีอยุธยาทั้งหมด มิฉะนั้น เราคงไม่มีธรรมาสน์งามๆอย่างนี้เหลือให้ชมเป็นแน่

ลวดลายบริเวณพนักเป็นงานปิดทองประดับกระจก แกะสลักไม้เป็นก้านขด งามจริงๆครับ




ส่วนหลังคาเป็นส่วนที่เราสามารถศึกษาสถาปัตยกรรมอยุธยาที่สมบูรณ์ได้จากตัวอย่างธรรมาสน์หลังนี้ ไม้กลึงแหลมๆที่ปักอยู่บนสันหลังคานั้น เรียกว่า บราลี เป็นงานประดับโบราณมีมาตั้งแต่สมัยปราสาทเขมร สืบเนื่องมาถึงอยุธยา ขณะที่สมัยกรุงเทพเสื่อมความนิยมไปเีสียแล้ว





ภาพข้างล่างส่วนหนึ่งมาจากสมุดบันทึกของผมครับ



อันนี้เป็นส่วนหน้าบัน

ธรรมาสน์ยาวยังมีอีกหลายหลัง แต่ก็เชื่อว่าในเมืองไทยคงเหลือไม่ถึง 10 หลัง เท่าที่สำรวจมานะครับ หลังที่โด่งดังจริงๆ คือหลังจากวัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี ตัวผมเองเชื่อว่าเป็นสังเค็ดสวดงานพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา แล้วพอจบงานพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าเสือก็ถวายให้วัดใหญ่สุวรรณาราม มาพร้อมกับพระราชมณเฑียรนั้นเอง เพราะของคนตายเขาไม่เก็บไว้ในบ้าน ในวัง ต้องทำใหม่ทั้งหมด ของเก็บก็ถวายวัดไป 
ทุกวันนี้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และโดนซ่อมกระจกจนเสียรูปไปหมด เสียดายว่าไม่เก็บกระจกเก่าไว้เลย แล้วจะเอากระจกสมัยอยุธยาที่ไหนให้ลูกหลานชม



(บน) คืองานก่อนซ่อมครับ ลายยังชัดเจน (ที่มา : คุณ Palawat Pomajcha)

(ล่าง) คืองานหลังซ่อม กระจกใหม่เทอะทะ หุงได้ไม่เท่าเก่า และปิดทองทับจนลายอ้วนตันไปหมด



(ที่มา : คุณ Sathit Manassurakul)





Create Date : 03 พฤษภาคม 2554
Last Update : 31 ตุลาคม 2559 13:18:06 น.
Counter : 6312 Pageviews.

3 comment
ธรรมาสน์วัดบางยี่ขัน
วัดบางยี่ขัน ฝั่งธนบุีรี ถือเป็นวัดเล็กๆในสวน (สมัยโบราณนะ) ที่สวยงามอลังการวัดหนึ่ง นัีกประัวัติศาสตร์ศิลปะส่วนใหญ่จะรู้จักกับภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่ว่ากันว่าเป็นฝีมือครูคงแป๊ะ ผู้เคยเขียนงานอันลือเลื่องแห่งวัดทอง (วัดสุวรรณาราม) ตัวอาคารเองก็เป็นงานสมัยอยุธยา มีทั้งไม้แกะสลัก และปูนปั้นประดับเต็มไปหมด


แต่วันที่ผมไปสำรวจมาเมื่อปีที่ีแล้ว (2010) พบงานวิเศษชิ้นหนึ่ง ตั้งอยู่บนหอระฆังในสภาพน่าสังเวช งานนี้สมควรเป็นศิลปกรรมแห่งชาติ เป็นงานช่างหลวงที่ทั้งประเทศไทยเหลือไม่ถึง 10 ชิ้น ไม่ทราบว่าทำอะไรกันอยู่ จึงปล่อยให้้ของดีของงามกลายเป็นที่ให้อาหารสุนัข!!

ธรรมาสน์องค์นี้ถูกแยกออกเป็นชิ้นๆ กำลังจะพังเพราะมีของวางทับระเกะระกะ พื้นก็เจิ่งนองไปด้วยน้ำกับอาหารหมา น่าสมเพชเวทนาจริงๆครับ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายก็ไม่ได้หาง่ายๆแล้ว ยิ่งฝีมือละเอียดปราณีตขนาดนี้ ปล่อยไว้คงจะผุพังเข้าสักวัน




ใครอยากไปชมก็รีบๆไปนะครับ ตั้งอยู่ใต้หอระฆังวัด แต่ขอร้องว่า กรุณาอย่าเก็บไปเป็นสมบัติส่วนตัวเลย เอาของวัดบาปทั้งนั้นครับ คนอื่นมาทีหลังก็จะไม่ได้ดูด้วย เสียดายของเปล่าๆ



ลายแผงรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนประดับช่องท้องไม้ เอกลักษณ์ของศิลปะอยุธยา ที่รัตนโกสินทร์ไม่ค่อยเห็นครับ



ส่วนหลังคาของธรรมาสน์องค์นี้ครับ จะเห็นว่าธรรมาสน์สมัยอยุธยานิยมระบบสี่เสา ไม่ใช่เพิ่มมุมแบบรัตนโกสินทร์ ส่วนเครื่องยอด ปลีต่างๆ หายไปไหนหมดก็ไม่รู้ เฮ้อครับ



ส่วนทวยรับหลังคาครับ ขนาดเล็กน่ารัก แต่ก็ทำงามจริงๆ



กาบตรงเชิงเสาครับ เป็นกาบแบบที่เรียกว่า "กาบไผ่" เี่ราอาจจะคุ้นหูคุ้นตากับกาบที่ปลายสะบัด อย่างนั้นเรียกว่า "กาบพรหมศร" ครับ เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของกาบแบบนี้ ซึ่งนิยมมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย ส่วนกาบสะบัดๆ อย่างนั้น เป็นของที่นิยมในยุคกรุงเทพ สืบมาจนปัจจุบัน (ผมว่าแบบกาบไผ่นี่มันมีพลังกว่านะ ไม่อ่อนช้อยมาก)




ขาิสิงห์ของฐานธรรมาสน์ครับ เป็นขาสิงห์ยาว พัฒนาการมาจากขาสิงห์ลอย (สมัยพระนารายณ์) ขาสิงห์แบบนี้หาชมได้ยาก และคงมีอยู่ช่วงสั้นๆในยุคอยุธยาตอนปลายสุด บางครั้งจะเปลี่ียนจากขาสิงห์ให้เป็นหัวนาคด้วยครับ




Create Date : 03 พฤษภาคม 2554
Last Update : 9 กรกฎาคม 2554 15:35:42 น.
Counter : 3853 Pageviews.

3 comment
1  2  3  

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments