All Blog
อิทธิพลกรีกในศาสนาคริสต์ (1) : Logos ของเฮราคลีตุสสู่พระวจนาตถ์ของยอห์น


พระวจนาตถ์มาจากไหน เมื่อนักบุญยอห์นเขียนงานแบบกรีก

ศาสนาต่าง ๆ ทั่วโลกต่างส่องทางให้กันและกันไม่มีศาสนาใดเติบโตขึ้นมาได้โดยไม่ตั้งคำถามกับศาสนาเก่า และหลาย ๆ ครั้งก็หยิบยืมเอาคำสอนหรือหลักคิดของศาสนาเก่าที่เข้ากันได้กับแนวคิดของตนเองมาใช้เพราะมันอธิบายให้คนฟังเข้าใจง่ายกว่า และเคยชินกันอยู่แล้วเราจะเห็นว่าพุทธเองก็ได้รับอิทธิพลจากพราหมณ์ และพราหมณ์ก็หยิบยืมพุทธ วน ๆ กันไปหรือ พระเยซูก็ทรงทำให้บัญญัติของศาสนายิวสมบูรณ์ขึ้นขณะที่อิสลามก็มีพื้นฐานรากเหง้ามาจากทั้งยิวและคริสต์


แต่ศาสนาคริสต์นั้นไม่ได้ปรับปรุงพื้นฐานมาจากยิวเพียงอย่างเดียว เนื่องจากนักบุญเปาโลผู้เผยแผ่ศาสนาหลักได้สัญชาติโรมัน และเปโตรกับเปาโลก็ไปเทศน์สอนที่กรุงโรมด้วยกันทั้งคู่อัครสาวกทั้ง 2 หาญกล้าที่จะนำศาสนาจากคานาอัน ดินแดนชายแดนและประเทศราชของโรมันที่ชาวโรมดูถูกเหยียดหยามว่าบ้านนอกและโง่เง่าดื้อรั้นนำพระเยซูเจ้าเข้าไปในดินแดนแห่งภูมิปัญญากรีก ในกรณีของเปาโลผู้เคยเข้าไปในเอเธนส์ ท่านไม่ได้ผลตอบรับที่น่าพอใจเลย ชาวกรีกสนใจปรัชญาใหม่ ๆก็จริง แต่ในฐานะเครื่องเล่นขบคิดพอฟังสนุก ๆ แก้เบื่อ ทั้ง ๆที่ท่านก็อุตส่าห์นำพระคริสต์เข้าสู่แท่นบูชาของพระเจ้าที่ “ชาวกรีกไม่รู้จัก” แต่ชาวกรีกกลับไม่สนใจฟังคำเทศน์ของท่านเลย ดังนั้นเปาโลจึงไม่ได้ไปเอเธนส์อีกแม้ว่างานเขียนของเขาจะมีกลิ่นอายของการอ้างเหตุผลแบบปรัชญาอยู่ก็ตาม


เมื่อมาถึงงานเขียนรุ่นที่ล่าช้ากว่าบทจดหมายของนักบุญเปาโลอย่างพระวรสารของนักบุญยอห์น ซึ่งน่าจะเขียนใยปี 100 -120ยอห์นคงจะได้ไตร่ตรองเพ่งพิศสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วว่าศาสนาคริสต์แพร่หลายเข้าไปในโรมัน และดินแดนต่าง ๆ ที่ใช้ภาษากรีกหลังเยรูซาเล็มแตกในค.ศ.70 ชาวยิวก็ถูกกวาดต้อนเข้าไปในโรมปะปนกับยิวโพ้นทะเลที่ใช้ภาษากรีก และเริ่มมีสานุศิษย์ชาวโรมและชาวกรีกจำนวนมากดังนั้นพระคัมภีร์ในภาคพันธสัญญาใหม่จึงเขียนขึ้นเป็นภาษากรีกทั้งหมดแม้ว่าพระวรสารทั้งหมดจะเขียนเป็นภาษากรีกแต่งานของนักบุญยอห์นกลับเป็นงานที่แฝงกลิ่นอายของปรัชญากรีกไว้ด้วยไม่ใช่แค่ไวยากรณ์และภาษา แต่เป็นแนวคิดและคอนเซ็ปต์ เมื่อเทียบกับพระวรสารของนักบุญมาร์โกและมัทธิวที่เขียนอย่างซื่อๆ เรียบง่าย


ยอห์นเริ่มต้นพระวรสาร (Gospel) ไม่ได้ตั้งต้นจากเหตุการณ์ประสูติหรือพงษ์พันธุ์ของพระเยซูยืดยาว แต่ตั้งต้นเหมือนกับหนังสือปฐมกาลคือ “เมื่อแรกเริ่มนั้น พระเจ้าทรงสร้างโลกโดยอาศัยพระวจนาตถ์ (Logos) 

คำว่า "โลกอส" แปลได้หลายความหมาย จะแปลว่าคำพูด ก็จะตรงกับปฐมกาล หรือถ้าแปลว่า เหตุผลก็มีความลุ่มลึก เพราะพระเจ้าทรงเป็นปฐมเหตุของทุกสิ่งทุกอย่าง อันว่าโลกอสนี้เป็นคำกรีกที่ยอห์นยืมมาใช้ แต่คนแรกที่คิดคือ นักปรัชญากรีกนาม เฮราคลีตุสแห่งเอเฟซัสในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล เขาใช้คำนี้อธิบายว่าโลกและจักรวาลถูกจัดการอย่างไรจักรวาลนั้นเป็นเครื่องจักรศักดิ์สิทธิ์ที่ขับเคลื่อนอย่างลึกลับด้วย “โลกอส”แม้ว่าจะไม่ได้อธิบายว่าโลกอสนี้คือพระเจ้าก็ตามโลกอสจึงเป็นสิ่งที่ควบคุมความสมดุลของจักรวาล คล้าย ๆ กับคอนเซ็ปต์หยินหยางในทางโลกตะวันออก และคล้ายๆ ปฐมเหตุ


ลัทธิบูชาเฮอร์เมสก็ใช้คอนเซ็ปต์ของโลกอสของเฮราคลีตุส อธิบายเรื่องร่างกายของเทพเฮอร์เมส Poimandresผู้เขียนหนังสือเรื่องHermes crops ได้อธิบายประสบการณ์ทางจิตของเขาจากการเข้าฌานว่า เทพเฮอร์เมสมาปรากฏกายให้เขาเห็นและบอกว่าพระองค์คือ “ชุมพาบาลของมนุษย์ทั้งปวง”และแสดงรหัสยธรรมลึกลับให้เขาเห็นความสว่างและความมืด และจากความมืดนั้นเองมีโลกอสอันศักดิ์สิทธิ์ออกมา เป็นพระบุตรผู้เรืองรัศมีของพระเป็นเจ้า


นั่นแสดงว่าโลกอสของเฮราคลีตุสก็ฮิตพอสมควรในโลกโบราณ แต่ยอห์นก็ยังไม่ใช่คนแรกที่นำเอาโลกอสแบบกรีกมาใช้กับศาสนายิวในคานาอันฟีโล แห่งอเล็กซานเดรีย (30 ปีก่อนคริสตกาล– ค.ศ.45) นักปรัชญาชาวยิวในนิกาย Mitzvotได้เคยทดลองใช้มาก่อนแล้วเขาเป็นคนแรกที่นำคำว่า โลกอส มาอธิบายพระอานุภาพของพระยาเวห์ พระเจ้าของยิว

 ชาวกรีกนั้นเชื่อตามเพลโตและอริสโตเติ้ลว่า พระเจ้านั้นล่วงรู้ไม่ได้ เข้าใจไม่ได้ใครที่พยายามอธิบายพระเจ้าล้วนต้องล้มเหลวทั้งสิ้น แต่เรามนุษย์อาจจะเข้าใจพระเจ้าได้นิดหน่อย ผ่านทางการใช้ “เหตุผล” และการเข้าฌานอย่างลึกลับซึ่งแตกต่างจากคอนเซ็ปต์ของพระเจ้าพระยาเวห์ ผู้เข้าถึงได้ง่ายกว่าและเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของชาวยิวตลอดเวลา พระองค์ทรงอยู่กับชาวอิสราเอลทรงแสดงออกทางอารมณ์คล้ายมนุษย์ มี รัก โกรธ ให้อภัย ลงโทษ เช่นเดียวกับมนุษย์

ดังนั้นคอนเซ็ปต์พระเจ้าของยิวจึงแตกต่างไปคนละทิศคนละทางกับกรีก แต่ฟีโลก็ยังอุตส่าห์พยายามประสานความต่างของทั้งสองคอนเซ็ปต์กล่าวคือ “แก่นแท้” ( Ousia หรือ Essence) ของพระเจ้าหนึ่งเดียวแบบกรีกนั้น “เข้าถึงไม่ได้ และอยู่ห่างไกล” แต่ฟีโลอธิบายความขัดแย้งนี้ว่า พระเจ้านั้นทรงพลานุภาพและสัมผัสกับมนุษย์เสมอๆ แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลและเข้าถึงไม่ได้ก็ตาม

ดังนั้นเมื่อ “เหตุผล” เป็นคนกลางที่นำมนุษย์ไปสู่พระเจ้าได้ โลกอสตามแบบของฟีโลจึงทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ทำให้มนุษย์สามารถตระหนักถึงพลานุภาพของพระองค์ที่โดยปกติแล้วจะเข้าถึงมิได้อย่างไรก็ตาม ฟีโลก็ไม่ได้อธิบายว่า โลกอส “คนกลาง” ของเขาคืออะไร แต่ดูเหมือนว่า จะเป็นพลังงานของพระเจ้าที่ทำให้โมเสสมีศีรษะเรืองแสงได้และคนที่พบเห็นโมเสสต้องตาบอด 

ดังนี้จะเห็นว่า โลกอสของฟีโล ต่างกับโลกอสของยอห์น ฟีโลเขียนไว้ว่า “โลกอสอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งประทับอยู่เบื้องบนจะไม่เสด็จลงมาปรากฏพระองค์แต่โลกอสเอง เป็นพระฉายาของพระเจ้า เป็นสิ่งเดียวที่อยู่ใกล้ชิดกับพระเป็นเจ้ามากที่สุด”

ยอห์นเองก็ทดลองใช้คอนเซ็ปต์ โลกอส มาอธิบายพระคริสต์เช่นเดียวกันแม้ว่าจะต่างกับฟีโล เพราะพระคริสต์เสด็จลงมาในโลกจริง  และยอห์นก็ย้ำเรื่องนี้หลายครั้ง ดังนั้นพระคริสต์ในพระวรสารของนักบุญยอห์นจึงต่างกับพระวรสารเล่มอื่นๆตรงที่พระวรสารเล่มอื่น ๆ พยายามอธิบายความเป็นพระแมสสิยาห์ (พระผู้ไถ่) ของพระเยซูเจ้า ตามแบบธรรมเนียมยิว แต่ชาวกรีกคงจะไม่เข้าใจได้ง่ายๆ ว่าแมสสิยาห์คืออะไร เพราะเป็นความเชื่อท้องถิ่นของพวกยิว ชาวยิวที่เปลี่ยนไปนับถือพระคริสต์ เรียกพระเยซูว่า "บุตรของกษัตริย์ดาวิด" แต่อะไรคือบุตรของกษัตริย์ดาวิดเขาคือใคร ดูช่างชาตินิยมจริง ๆ ต้องอธิบายกันอีกยาว และดูไม่เข้าท่าที่ชาวกรีกผู้รับศีลล้างบาปจะต้องเปลี่ยนความคิดของตัวให้เป็นยิวไปด้วย


ยอห์นจึงไปได้ไกลกว่านั้นท่านกล่าวว่าพระเยซูทรงเป็น โลกอส พระวจนาตถ์ พระปัญญาที่อยู่มาตั้งแต่นิรันดรกาลประทับในทุกอย่างและทุกคน พระวจนาตถ์ที่มีมาตั้งแต่สร้างโลก แต่เมื่อพระองค์ลงมาในโลกก็ไม่มีใครรู้จักพระองค์ดังนั้น มนุษย์ไม่เพียงสามารถรองรับพระวจนาตถ์ได้เท่านั้น แต่ยังเหมาะสมจะ “ได้รับ”มาตั้งแต่ปฐมกาลแล้ว เพราะเหตุนี้ อาศัย โลกอส หรือพระคริสต์เป็นคนกลางพระเจ้าผู้สมบูรณ์กับมนุษย์ที่อ่อนแอ จึงสามารถสถาปนาความสัมพันธ์กันได้


                น่าสังเกตว่าพระวรสารของยอห์นไม่ปรากฏเรื่องราวการประสูติท่านอาจจะเห็นว่าคอนเซ็ปต์พระวจนาตถ์ทรงรับเอากายนั้นสูงส่งเกินกว่าจะเกิดแบบมนุษย์ แม้ว่าจะเกิดจากหญิงพรหมจารีก็ตามทีการเกิดแบบธรรมชาติย่อมไม่คู่ควรกับพระปัญญา พระเยซูเจ้าของยอห์นจึงค่อนข้างคลุมเครือในความเป็นมนุษย์พระองค์ไปหายอห์น และยอห์นบัปติสต์เป็นพยานถึงพระองค์ แต่พระองค์มิได้รับพิธีล้างและพระองค์มิได้ถูกมารผจญล่อลวง


ยังมีอีกหลายคอนเซ็ปต์ของยอห์นที่มีกลิ่นอายของอิทธิพลกรีกเพราะโลกยุคนั้นก็กำลังเริ่มความคิดแบบเพลโตใหม่พอดี ทุกคนต่างตื่นเต้นและประหวั่นพรั่นพรึงว่าศาสนาใหม่นี้จะปรองดองกับกรีกผู้สูงส่งได้อย่างไรไม่ว่ายังไงก็ตาม กรีกไม่ได้หายไปไหน แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งในปรัชญาคริสต์และสวมทับเข้ากับศาสนาคริสต์ได้ แม้ว่าจะมีนักวิชาการบางคนเปรียบเปรยว่าเหมือนผีเสื้อที่มีอิสรภาพถูกยัดเข้าไปในกล่องไม้ขีดจนปีกงดงามฉีกกระจุยกระจายก็ตาม 




Create Date : 26 มิถุนายน 2560
Last Update : 26 มิถุนายน 2560 10:43:40 น.
Counter : 1170 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments