อาณาจักร"โสน" ในบันทึกของ Ludovico Di Varthema


เมื่อวานนี้ไปค้นเจอเรื่อง ชาวคริสต์ในอาณาจักรโสนหรือที่ ludovico Di Varthema พ่อค้าชาวโบโลญญาในต้นศตวรรษที่ 16 เรียกว่า Sarnau ก็เกิดเป็นปัญหาอีกว่าโสน ในที่นี้จะหมายถึงกรุงศรีอยุธยาได้หรือไม่ เป็นที่ทราบกันดีว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาในบริเวณที่เรียกว่า หนองโสน แต่อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานว่ามีชุมชนชาวคริสต์ ไม่ว่านิกายใดๆอาศัยอยู่ก่อนการเข้ามาของชาวโปรตุเกสเลย แม้ว่าบันทึกของชาวต่างชาติร่วมสมัยกันจะกล่าวถึงชาวคริสต์นิกาย Nestorian  ซึ่งเดินทางค้าขายจากเปอร์เซียและอินเดียไปทั่วทั้งเอเชียก็ตาม

นิกายเนสเทรียน เป็นคริสต์นิกายโบราณที่ถูกเนรเทศออกจากคอนสแตนติโนเปิลและไปกระจายตัวอยู่ในตะวันออกกลาง รวมทั้งเปอร์เซีย บางส่วนเข้าไปถึงจีนและญี่ปุ่นแต่เราจะไม่กล่าวถึงด้านศาสนศาสตร์ในที่นี้ ยกไปวันอื่นก่อนนะครับ

เราสงสัยแค่ว่า โสน Sarnau ของ Varthema  จะหมายถึงกรุงศรีอยุธยาใช่หรือไม่ เพราะคำ ๆ นี้ปรากฏบ่อยครั้งในเอกสารของชาวต่างชาติ ทั้งในพงศาวดารของมลายู แผนที่ของวาสโก ดา กามาบันทึกของเมนเดส ปิ่นโต รวมทั้งในบันทึกของมาร์โค โปโลด้วย

ในพงศาวดารมลายูกล่าวถึงกษัตริย์แห่ง Shahar-annui (อาจจะเป็นเมืองโสน)ว่าทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชน และดินแดนกว้างขวาง ในครั้งนั้น ทรงได้ยินกิตติศัพท์ของพระเจ้าแผ่นดินแห่งเกาะสุมาตราว่ามีพระเกียรติยศทรงยิ่งใหญ่เสมอกัน จึงโปรดให้ทหารไปลักพาตัวพระเจ้ากรุงสุมาตรามาและบังคับให้พระองค์ไปทำงานเป็นคนเลี้ยงไก่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นตำนานมากเหลือเกิน

อย่างไรก็ตามคำว่า Sarnau ของ Varthema อาจจะมีปัญหา เพราะมันอาจจะเป็นชื่อของเมือง Sharh-I-Nau หรือเมืองชารีนาว แปลว่าเมืองใหม่ อันเป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ทางตอนเหนือของเปอร์เซียและก็คงไม่แปลกอะไร ถ้าจะมีชาวคริสเตียน นิกายเนสเทรียนอาศัยอยู่แถบนั้น

แต่ที่แปลกกว่านั้นก็คือชาวเปอร์เซีย กลับเอาคำ ๆ นี้มาใช้เรียกชื่อกรุงศรีอยุธยา ในภาษาเปอร์เซียด้วยสันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะอยุธยาเป็นเมืองสร้างใหม่ในสมัยพระเจ้าอู่ทองก็เป็นได้คำว่า โสน กับชารีนาว จึงมาพร้อมกันโดยบังเอิญอย่างคิดไม่ถึง

“แล้วจะมีชาวคริสเตียนอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจริงๆ หรือ” พ่อค้าที่อ้างว่าตนเองมาจากเมืองโสนนั้น แท้จริงอาจจะเป็นพ่อค้าจากเปอร์เซียก็ได้เพราะพวกเขาพูดภาษาอาหรับ ซึ่งในขณะนั้นเป็นภาษากลางทางการค้าโลก (linguafranca) ที่ Varthema กับเพื่อนใช้ในการสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่วถึงขั้นว่าสามารถไต่ถามถึงข้อความเชื่ออันลึกซึ้งทางศาสนาคริสต์ได้เลยทีเดียว

ประการที่สองไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีนิกายเนสทอเรียน ตกค้างอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเลยในสมัยนั้นอย่างไรก็ตาม ในเวลาที่กรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อพ.ศ. 2310 มีการกล่าวถึงพ่อค้าชาวออโธดอกซ์นิกายอาร์เมเนียที่เมืองตะนาวศรี ยังพบว่าประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโบสถ์ของนิกายอาร์เมเนียน กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งในพม่า มาเลเซียและสิงคโปร์

ประการที่สาม Varthema กล่าวว่าพระเจ้าปัญญารามกษัตริย์แห่งกรุงหงสาวดี ทรงมีทหารรับจ้างชาวคริสเตียนจำนวนกว่าพันคนซึ่งพระองค์จ่ายเงินเดือนให้อย่างงดงามข้อมูลเช่นนี้ทำให้นักประวัติศาสตร์ทั่วไปเชื่อว่า Ludovico อาจจะเข้าใจผิดเพราะไม่เคยปรากฏว่ามีกองทัพของทหารรับจ้างชาวคริสต์ในพม่าในช่วงเวลานั้นเลยตัวเลข 1000 คนก็ดูเกินจริง ระยะนั้นเป็นเวลาที่ชาวโปรตุเกสเพิ่งจะเข้ามามีอำนาจในมะละกาเท่านั้นยังไม่มีกองทหารรับจ้างที่อื่นใด และเขาอาจจะสับสนเรื่องความเชื่อศาสนาและชื่อเมืองอื่นๆ รวมทั้งชื่อโสนด้วย

ด้วยข้อสันนิษฐานเหล่านี้จึงทำให้นักวิชาการบางส่วนเชื่อว่าชาวคริสเตียนจากเมืองโสนนั้น น่าจะเป็นชาวเปอร์เซียมากกว่า

อย่างไรก็ตามนักวิชาการบางฝ่ายก็เชื่อมั่นว่า โสนใน จดหมายเหตุของ ludovico นั้น หมายถึงกรุงศรีอยุธยาจริงๆด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ประการแรกชาวคริสเตียนจากเมืองโสนนั้นกล่าวว่าประเทศของตนอยู่ภายใต้อำนาจของท่านข่านแห่งคาเธ่ย์ หรือจักรพรรดิจีน เราทราบแน่ชัดว่าเปอร์เซียมิได้เคยตกอยู่ในอำนาจของจักรพรรดิจีน รวมทั้งสยามด้วย อย่างไรก็ตามสยามก็ส่งเครื่องราชบรรณาการให้กับจักรพรรดิจีนอย่างสม่ำเสมอ นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวคริสเตียนจากเมืองโสนกล่าวว่าบ้านเมืองของตนอยู่ภายใต้อำนาจของจักรพรรดิจีนหรือไม่

ประการที่สอง Ludovicoกล่าวว่า ชาวคริสเตียนเหล่านั้นมีผิวขาวพอ ๆ กับชาวยุโรปและจากลักษณะทางเผ่าพันธุ์แล้ว พวกเขาน่าจะเป็นชาวตะวันออกไกลหรือชาวจีน จากข้อสังเกตนี้มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะเป็นชาวมองโกล หรือลูกหลานของชาวมองโกลที่นับถือศาสนาคริสต์นิกาย Nestorian  และย้ายมาตั้งสถานีการค้าในเมืองโสนดังนั้นพวกเขาย่อมไม่ใช่ชาวเปอร์เซียจากเมืองชารีนาว ส่วนการพูดภาษาอาหรับได้นั้นก็เป็นปกติของพ่อค้าในสมัยนั้น และแม้ว่าลูโดวีโก้ จะตั้งข้อสงสัยว่าพวกเขามีความคล้ายคลึงกับชาวออโธดอกซ์นิกายอาร์เมเนีย แต่ในเวลานั้นนิกายทั้งสองก็ผสมผสานปนเปกัน มิต้องกล่าวถึงศาสนาของพ่อค้า ซึ่งไม่เคร่งครัดเท่ากับศาสนาของบรรดานักบวชอยู่แล้ว

ประการที่สามนักวิชาการจำนวนหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตแผนที่โบราณของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายฉบับที่เขียนโดยชาวตะวันตกพบว่า ทางทิศเหนือของอ่าวสยาม มีเมืองชื่อโสนตั้งอยู่ ชาวคริสต์เหล่านี้จึงน่าจะมาจากเมืองโสนจริงๆ

เมื่อภารกิจการค้าขายที่เกาะสุมาตราจบสิ้นลงแล้วบรรดาพ่อค้าชาวคริสเตียนเหล่านั้น ก็เตรียมตัวเดินทางกลับ พร้อมชักชวนให้ Ludovico กับเพื่อนไปเยี่ยมเยือนประเทศของเขา แต่วาเทมากับเพื่อนต้องการจะเดินทางไปหมู่เกาะเครื่องเทศทั้งหมดจึงแยกทางกันที่เกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า Ludovico ไม่ตัดสินใจออกเดินทางไปพร้อมกับพวกเขา มิฉะนั้นแล้ว เราคงจะได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนชาวคริสเตียนในกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 มากกว่านี้และคงจะพิสูจน์ชัดเจนว่า เมืองเสนอนั้น หมายถึงกรุงศรีอยุธยาจริงๆ




Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2561
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2561 16:13:40 น.
Counter : 603 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments