Group Blog
 
All blogs
 

สัญชาตญาณมืด



บทวิจารณ์

สัญชาตญาณมืด

เขียน: อ.อุดากร


จากชื่อเรื่อง สัญชาตญาณมืด ทำให้เกิดคำถามแรกขึ้นในใจว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร? แต่เมื่อได้อ่านจนจบแล้ว กลับทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจน ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความรู้สึกตกใจระคนไปกับความขยะแขยงต่อเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างเห็นภาพชัดเจนเข้าถึงคำว่าสัญชาตญาณมืด


สัญชาตญาณมืด ของ อ.อุดากร เป็นเรื่องสั้นซึ่งตีแผ่คำว่าศีลธรรม ได้อย่างชัดเจนโดยกลวิธีการเขียนที่ยกประเด็นปัญหาขึ้นมาว่า “ศีลธรรมของมนุษย์สิ้นไปทุกขณะจากจิตใจของมนุษย์ทุกระยะที่ความเจริญทางวัตถุได้ดำเนินไป” และนำไปเอ่ยอ้างเปรียบเทียบกับตัวอย่างเหตุการณ์ในเรื่องที่พิสูจน์ว่าประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นเช่นนั้นจริง


โดยเนื้อเรื่องดำเนินด้วยบทสนทนาของตัวละครเพียงสองตัว คือ นายแพทย์ชิน และ ญาณ เริ่มต้นจากการพบเพื่อนคนหนึ่งกำลังขับรถพาเพื่อนหญิงไปเที่ยวต่างจังหวัด ซึ่งเป็นจุดเปิดประเด็นการสนทนาทั้งเรื่องว่า “ทำไมผู้หญิงที่ยอมไปเที่ยวกับมิตรสหายอย่างนี้ จำเป็นต้องจบลงด้วยการเป็นของผู้ชายที่พาไปอย่างนั้นเสมอหรือ?” คำตอบคือ เพราะสัญชาตญาณมืดหรือความใคร่ อันเป็นกุญแจสำคัญของการดำเนินเรื่องราว ความเจริญขึ้นของโลก การศึกษาเป็นความเจริญในด้านวัตถุ แต่ด้านจิตใจนั้นไม่ได้เจริญตามไปด้วย ท้ายที่สุด นายแพทย์ชินจึงยกตัวอย่างของผู้ที่ตกอยู่ภายใต้สัญชาตญาณมืดขึ้น เปรียบเทียบกับประเด็นปัญหา


ข้อสังเกต คือ สัญชาตญาณมืด เป็นเรื่องสั้นที่เป็นไปตามแบบแผนของเรื่องสั้น คือ มีตัวละครน้อยตัว เนื้อเรื่องสั้น กระชับ บอกเล่าเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง เพียง 1- 2 สถานการณ์ และต้องมีจุดสุดยอด (Climax) คือ จุดบีบคั้นของเรื่อง เพื่อนำเรื่องราวทั้งหมดที่ถ่ายทอดออกมาสามารถกระทบใจหรือความรู้สึกของผู้อ่าน ซึ่งสัญชาตญาณมืด สามารถส่งสารถึงผู้อ่านได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะจุดสุดยอดและตอนจบของเรื่องนี้ทำให้กระทบใจและความรู้สึกของผู้อ่านเป็นอย่างมาก


งานเขียนเรื่องสั้นเป็นงานเขียนประเภทหนึ่งที่นอกจากจะให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน หรือผู้รับสารแล้ว จุดเด่นอีกประการหนึ่งของเรื่องสั้น คือ มีแง่คิดหรือ มีสารที่ส่งไปยังผู้รับสารเพื่อจรรโลงอันเกิดจากกาลวิธีการเขียนซึ่งสามารถส่งไปยังผู้รับสารได้ดีเพียงใด ซึ่งนับว่าในด้านกลวิธีการเขียนนั้น อ.อุดากรสามารถส่งสารถึงผู้รับสารได้โดยการวางโครงเรื่องที่แยบยล ตลอดจนการใช้ภาษาด้วย เช่น


“สีเทาที่ตีนฟ้าเปลี่ยนไปแล้วในขณะนั้น สีตะกั่วที่คลี่คลายลงมาได้ถูกสอดแทรกด้วยสีทองเข้มขึ้นและเข้มขึ้นทุกขณะ กระทั่งขอบฟ้าโรจนาการไปด้วยสีทองนพคุณที่กลิ้งหลอมอยู่ในเบ้าซึ่งโหมด้วยเปลวเพลิงที่ร้อนแรง หมอกเริ่มละลาย สุมทุมพุ่มไม้เรื่อเรืองและเริ่มผลิใบอย่างมีชีวิตชีวา”


รวมไปทั้งสารที่ส่งออกไปยังผู้รับสารนั้นชัดเจนมากด้วยบทสนทนาระหว่างนายแพทย์ชิน กับ ญาณ เรื่องสั้นเรื่องนี้นับว่า ผู้เขียนได้ใช้ภาษาสัญลักษณ์ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงสารได้อย่างเด่นชัด กล่าวคือ จากการวางประเด็นเรื่องของศีลธรรมที่ว่า โลกทางวัตถุเจริญขึ้น ด้วยน้ำมือของมนุษย์ นั่นย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า การศึกษามีการเจริญขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะมนุษย์สามารถเรียนรู้และสร้างสิ่งต่างๆรวมไปถึงเทคโนโลยีรอบตัวได้อย่างมากมาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจิตใจของมนุษย์นั้นจะเจริญตามไปด้วย เพราะการเจริญทั้งหลายเป็นไปในแง่ของวัตถุ การขัดเกลาจึงเป็นไปในด้านวัตถุด้วยเช่นกัน เช่น ในยุคปัจจุบัน มนุษย์ในสังคมต่างคิดว่าทำอย่างไรองค์กรจึงจะอยู่รอดได้ฦ ทำอย่างไรธุรกิจจึงจะประสบความสำเร็จ คำถามต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้น ประกอบกับค่านิยมบางอย่าง เช่น การได้รับการยอมรับในสังคม ความมีหน้ามีตาในสังคตม และเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด จึงไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจเป็นปริญญาใบที่สอง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการศึกษา รวมทั้งการอยู่ในสังคมจะทำให้จิตใจถูกขัดเกลาและบ่มเพาะในด้านดี แต่เป็นการทำให้เกิดแรงกระตุ้น และผลักดันให้สัญชาตญาณมืดกำเริบขึ้นมา เกิดการแก่งแย่งกัน ขัดผลประโยชนในการดำเนินธุรกิจขึ้น เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำถามต่างๆที่ผุดขึ้นมาในความคิด เหล่านี้ไม่ได้บ่งถึงนัยของการเจริญด้านจิตใจไปด้วย แต่กลับบ่งแสดงไปถึงสิ่งที่เรียกว่าสัญชาตญาณมืด หรือที่ อ.อุดากร นิยามว่า หมายถึงความใคร่ จิตใจของมนุษย์ก็ดำดิ่งสู่สิ่งนี้ลึกลงไปทุกที ซึ่งสวนทางกับทิศทางความเจริญในด้านวัตถุ ความใคร่ประดามีในสังคมที่เจริญจึงฉุดให้ศีลธรรมหดหายไปจากจิตใจของมนุษย์ ดังนั้นหลายขณะที่นุษย์สามารถทำบางสิ่งบางอย่างด้วยความใคร่ โดยถูกอิทธิพลชักจูงจากวัตถุ หรือ "อุปกรณ์เย้ายวน" ซึ่งในขณะเดียวกันสิ่งๆนั้นก็เป็นสิ่งที่ห่างไกลศีลธรรมมากเหลือกัน


แต่มันเป็นไปได้อย่างไร?


อ.อุดากร ก็คงจะเกิดคำถามนี้ขึ้นเช่นเดียวกัน การส่งสารของผู้เขียนจึงได้นำไปเปรียบเทียบกับตัวอย่างวเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นถึงสัญชาตญาณมืดของมนุษย์ กล่าวคือ แดง แต่งงานโดยทางนิตินัยคือจดทะเบียนสมรสกับ ดำเกิง โดยที่ชายหนุ่มเป็นวัณโรค จึงต้องแยกห้องนอนกัน ทั้งสองจึงไม่ได้เป็นสามีภรรยาในทางพฤตินัย แต่ภายหลังเพื่อนของดำเกิงและภรรยาก็มาขออาศัยในบ้านด้วย โดยไม่ได้ละอายใจในการแสดงความรักอย่างเปิดเผย ซึ่งสิ่งนี้เป็น "อุปกรณ์เย้ายวน" สัญชาตญาณมืดของ แดง ให้เผยแสดงออกมา แม้ว่าศีลธรรมบางอย่างในจิตใจของ แดง จะยับยั้งไม่ให้มีความสัมพันธ์กับคนสวน แต่ในที่สุด สัญชาตญาณมืดนั้นก็เป็นฝ่ายทำให้ศีลธรรมหายไปคือ แดง มีสุนัขเป็น "ชู้"


การเปิดเผยเรื่อง นายแพทย์ชิน และ ญาณ พบกับเพื่อนแล้วทำให้คิดว่า ผู้หญิงที่นั่งรถไปด้วยกัน เพื่อนชาย ในที่สุดทั้งสองต้องลงเอยด้วยการมีความสัมพันธ์กัน คำถามที่เกิดขึ้นคือ เพราะเหตุใด นายแพทย์ชิน จึงคิดเช่นนั้น แม้ว่าเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น?


ประการสำคัญคือ การได้เห็นจากตัวอย่างซึ่งในที่นี้คือ เหตุการณ์การเป็นชู้กันของ แดง กับสุนัขซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ตามแต่ นั่นกลายเป็นตรรกไปแล้วว่า ในยุคที่สังคมมีความเจริญในทางวัตถุ อันเป็นอุปกรณ์เย้ายวนสัญชาตญาณมืดของมนุษย์ออกมา จึงไม่น่าแปลกอะไรที่จะทำให้มีการคาดเดาเหตุการณ์ไปโดยไม่เห็นว่าผู้หญิงที่ไปเที่ยวกับผู้ชายในท้ายที่สุดก็ต้องจบลงด้วยการมีสัมพันธ์กัน


สิ่งที่สื่อถึงคำว่า "อุปกรณ์เย้ายวน" ได้ชัดเจนมาจากเหตุการณ์


"ปราโมทย์เป็นคนหัวใหม่เกินไปกว่าที่จะคิดว่าการแสดงออกซึ่งท่วงท่าของความรักของเขาจะเป็นสิ่งที่น่าปกปิดเกินไปนักและดังนั้นคุณแดงของดำเกิงจึงมักได้พบเห็นเสมอ"


นั่นเป็นการทำให้ "สัญชาตญาณมืด" ค่อยๆแสดงตัวออกมา


“คุณผู้หญิงของบ้านหลังนั้นได้พบความรู้สึกอย่างรุนแรงว่า ดอกไม้ แบบเสื้อ และการลูบไล้แผ่วๆอย่างทะนุถนอมของดำเกิงที่หลังมือ ที่ต้นแขน มันหาเพียงพอไม่สำหรับความต้องการของชีวิต”



และคำถามอีกคำถามหนึ่งคือเหตุใดผู้เขียนจึงจบลงด้วยการให้ชู้ของแดงเป็นสุนัข?


ถ้าตอบด้วยแง่ของวรรณกรรม การทำให้มีจุดจบเช่นนี้ก็เป็นการเขียนที่ทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้กระทบใจผู้อ่านได้ เพราะเป็นพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปจากสามัญธรรมดาของมนุษย์ทั่วไป


แต่ถ้าวิเคราะห์ในด้านภาษาแล้ว ผู้เขียนกำลังใช้สัญลักษณ์สื่อถึงความต่ำสุดของศีลธรรมของมนุษย์ เพราะคงไม่มีมนุษย์ปกติคนใดมีชู้เป็นสัตวืได้ การกระทำเช่นนี้เป็นเหมือนกับเป็นผู้เพิกถอนศีลธรรมทั้งปวง แล้วปล่อยให้สัญชาตญาณมืดเข้ามาแทนที่ สุนัขเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของจุดต่ำด้านศีลธรรม เนื่องจากสุนัขเป็นสัตวืเดรัจฉานอันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้สัญชาตญาณในการดำเนินชีวิต ซึ่งต่างจากมนุษย์อันมีเหตุผล การบรรเลงความใคร่ไปกับสัตว์เป็นเหมือนการเกลือกกลั้วจิตใจให้จมลงไปในความไม่มีศีลธรรม
และท้ายที่สุดก็แสดงถึงข้อพิสูจน์ว่ามนุษย์ต่างตกอยู่ใต้สัญชาตญาณมืดแม้จะมีการศึกษาเจริญขึ้นแล้วก็ตาม เพราะในที่สุดดำเกิงผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการศึกษามาสูงพอ แต่เมื่อถูกกระตุ้นจากเหตุการณ์ระหว่างแดงกับชู้ สัญชาตญาณมืดก็เผยตัวออกมาแทนที่ศีลธรรม


...ด้วยการฆ่าภรรยาของเขาเอง




 

Create Date : 05 สิงหาคม 2551    
Last Update : 5 สิงหาคม 2551 18:07:52 น.
Counter : 13089 Pageviews.  


หมูแพนด้าขาใหญ่
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add หมูแพนด้าขาใหญ่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.