Warcraft : ถอนคำสาปหนังสร้างจากเกม?




Warcraft : The Beginning เป็นหนังที่สร้างมาจากเกม มันเป็นหนึ่งในความหวังว่าจะสามารถถอนคำสาปหนังที่สร้างจากเกมได้ เพราะมีผู้กำกับค่อนข้างดีอย่าง ดันแคน โจนส์ (Duncan Jones) ที่เคยกำกับหนังดีๆอย่าง Moon (และ Source Code สำหรับคนดูบางคน)

แต่มันถูกนักวิจารณ์สับเละ

ในขณะเดียวกัน เสียงของคนดูก็แตกออกแบบกระจัดกระจาย มีทั้งชอบ มีทั้งไม่ชอบ มีทั้งเฉยๆ

ส่วนในบล็อกนี้ ผมจะขอเป็นหนึ่งในตัวแทนของฝ่ายที่ไม่ได้รู้จักเกม Warcraft มากมาย เคยเล่นแค่ Warcraft II เมื่อนานมาแล้ว แถมไม่ได้เล่นเอาเนื้อเรื่องด้วย เลยไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโลกของ Warcraft เลยนอกจากมันมีมนุษย์ มันมีออร์ค แล้วสองเผ่าพันธุ์ก็มาทำสงครามกัน ฉะนั้นเอาเป็นว่า ถือว่าผมอยู่ในฝ่ายที่ไม่ได้รู้จักเกม Warcraft ก็แล้วกัน



ผมรู้แต่ว่ามันอิงจากเนื้อหาของเกม Warcraft ภาคแรกคือ Orcs & Humans บวกเนื้อหาของเวอร์ชั่นนิยายเข้าไป (น่าจะบวก World of Warcraft ไปด้วยกระมัง? อย่างที่บอก ผมไม่ได้เจาะลึกในโลกของ Warcraft นัก) และดูเหมือนว่าจะเล่าเรื่องถึงจุดเริ่มต้นของสงครามทั้งหมด เป็นเหตุการณ์ก่อนหน้าที่จะเกิดเกมภาคแรกขึ้น... ใช่ไหม?

ผมรู้ว่าเนื้อเรื่องของมันคือโลกของออร์คกำลังจะตาย ออร์คเลยเปิดประตูมิติข้ามมายังดินแดนฝั่งมนุษย์ที่เรียกว่า "อาเซร็อธ" แล้วก็ทำสงครามกับมนุษย์ แต่ในฝ่ายออร์คกลับมีสงครามภายในเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน 



เอาละ ปล่อยเนื้อเรื่องไปเถอะ แฟนๆ Warcraft คงอธิบายมันได้ดีกว่าผมแน่นอน ดังนั้นต่อไปนี้ผมจะขอพูดถึงสิ่งที่ผมชอบ 3 ข้อ และสิ่งที่ผมไม่ชอบ 3 ข้อ เกี่ยวกับหนัง Warcraft ในฐานะคนดูหนังธรรมดาคนหนึ่ง

3 สิ่งที่ชอบ :

1) เนื้อเรื่องฝั่งออร์ค

หนัง Warcraft ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์ อีกส่วนเป็นเรื่องของออร์คที่ข้ามประตูมิติมา นำโดย "กุลดัน (Gul'dan)" วอร์ล็อคที่ค่อนข้างจะชั่วร้ายหน่อย แต่ "ดูโรทาน (Durotan)" หัวหน้าเผ่าฟรอสต์วูล์ฟไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกุลดัน เลยเริ่มคิดจะไปจับมือกับมนุษย์ 

ในมุมของผม ส่วนที่เกี่ยวกับออร์คและดูโรทานเป็นส่วนที่ดีและดูสนุกมากที่สุดของหนังแล้ว 

ผมค่อนข้างชอบ cg ของฝ่ายออร์ค ชอบการแสดงและสีหน้าท่าทางของมัน ถึงแม้กุลดันจะดูเป็นผู้ร้ายสองมิติสุดๆ คือร้ายไปเลยไม่มีดี แต่... ฝ่ายออร์คก็ยังเป็นส่วนที่ดูสนุกอยู่ดี ผมรู้สึกแคร์คาแร็กเตอร์ของฝ่ายออร์คบางตัวมากกว่าฝ่ายมนุษย์เสียอีก โดยเฉพาะฉากที่ดูโรทานต้องตัดสินกันกับกุลดัน ถือว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดในเรื่องเลยทีเดียว





2) ความพยายามของดันแคน โจนส์ (ผู้กำกับ)

ผมคิดว่าดันแคน โจนส์พยายามที่จะเล่าเรื่อง Warcraft ให้ออกมาดีที่สุดแล้ว เห็นได้จากการพยายามจะใส่ปมที่น่าสนใจให้กับทั้งฝ่ายมนุษย์และฝ่ายออร์ค และความพยายามจะเล่าเรื่องให้สนุกกับทุกๆฝ่าย ทั้งคนเล่นเกมและคนไม่ได้เล่นเกม


3) ดีไซน์ชุดเกราะ, อาวุธปืน และเวทมนตร์สวยดี

หนัง Warcraft ดึงเอาดีไซน์ที่มีอยู่ในเกมมาใช้เป็นประโยชน์ได้มากทีเดียว ผมชอบรายละเอียดของชุดเกราะ ดาบ และที่ชอบสุดก็คือปืน!

ในที่สุด มันก็มีหนังแฟนตาซีที่มีอาวุธปืนเจ๋งๆ!



เช่นเดียวกับดีไซน์ชุดเกราะและอาวุธ เวทมนตร์ก็ได้ความดีความชอบมาจากตัวเกมเหมือนกัน ดังนั้นมันจึงมีวิธีการใช้เวทมนตร์ที่ดูทรงพลังและสวยงามมาก นับเป็นส่วนที่ดูแล้วเพลินดี

อืม...





3 สิ่งที่ไม่ชอบ :

1) การเล่าเรื่องที่มีปัญหา

โจทย์ของหนัง Warcraft คือพยายามเอาใจทั้งแฟนเกมและคนที่ไม่ได้เล่นเกม แต่ปัญหาคือมัน "จัดหนัก" มากเกินกว่าที่หนังสองชั่วโมงจะรับไหว มันมีรายละเอียดมากมายผุดขึ้น มันมีสองฝ่ายคือฝ่ายออร์คกับฝ่ายมนุษย์ และทั้งสองฝ่ายก็เต็มไปด้วยตัวละครยั้วเยี้ยเต็มไปหมด

ผมนับถือดันแคน โจนส์ที่พยายามจะเล่าเรื่องอันสลับซับซ้อนให้สนุกและลงตัวที่สุด แต่ข้อมูลที่ปรากฏขึ้นบนจอมันเต็มไปหมด ต้องพยายามทำความเข้าใจรายละเอียดอะไรต่อมิอะไรมากมาย แฟนเกม Warcraft หรือ World of Warcraft อาจไม่ค่อยมีปัญหา แต่คนที่ไม่ได้เป็นแฟนเกมหรือไม่ได้เล่นเกม ผมคิดว่าจะต้องมีปัญหากันหลายคน

ด้วยความที่รายละเอียดและตัวละครมันมีมากมาย หนังจึงต้องแบ่งไปเล่าตรงนู้นทีตรงนี้ที รายละเอียดข้อมูลต่างๆเลยถูกบอกเล่าออกมาทีละนิดทีละน้อย คือถ้าพยายามทำความเข้าใจมันก็คงจะ...เข้าใจได้แหละ เพียงแต่พอสมองต้องแบกรับข้อมูลที่ไม่คุ้นเคยมากมาย (สำหรับคนที่ไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับโลก Warcraft) มันก็รู้สึกเหนื่อย พอรู้สึกเหนื่อย ก็ขี้เกียจจะตามข้อมูลที่ปรากฏในเนื้อเรื่องต่อไปแล้ว

พอมาถึงกลางๆเรื่อง ผมชักอยากยกมือยอมแพ้ในการตามเรื่องราว แล้วหันไปสนใจ cg กับชุดเกราะสวยๆแทน... แต่ไหนๆดูแล้วก็คงต้องยอมใช้พลังสมองทำความเข้าใจมันซะหน่อย ไม่งั้นคงรู้สึกเสียดายเวลาน่าดู




2) ฉากแอ็กชั่นกับอารมณ์ในบางฉากมีปัญหา

ผมไม่อยากสปอยล์ แต่เอาเป็นว่าแบบนี้...

ฉากแอ็กชั่นตอนต้นเรื่องที่มนุษย์กับออร์คเจอกันครั้งแรก ค่อนข้างจะโอเค, ฉากประลองระหว่างดูโรทานกับกุลดัน ก็เร้าอารมณ์ดี, ฉากสงครามตอนไคลแม็กซ์ก็... ใช้ได้

แต่โดยรวมแล้วฉากต่อสู้ของหนังเรื่องนี้ค่อนข้างจะแปลกๆ วิธีการตัดต่อ วิธีการวางมุมกล้อง วิธีการแสดง บางฉากก็ดูสนุกอย่างที่ว่าไปข้างต้น แต่บางฉาก ดูแล้วต้องอุทานในใจว่า "อะไรวะ" มัน... บรรยายเป็นคำพูดไม่ถูก รู้สึกแปลกๆ รู้สึกเหมือนจังหวะจะโคนจะยังไม่ได้ รู้สึกเหมือนมันฟันดาบใส่กัน แต่มันไม่มีความกดดันหรือการเร้าอารมณ์ให้ตื่นเต้นหรืออะไรทำนองนั้น 




บางคนอาจรู้สึกว่า แค่ฟันๆดาบใส่กันโช้งเช้งๆก็สนุกแล้ว จะเอาอะไรมาก

แต่ผมรู้สึกว่า... ถ้ามันไม่เร้าอารมณ์พอ จะโช้งเช้งๆยังไงก็ไร้ความหมาย

มันเหมือนนั่งดูนักมวยมือสมัครเล่นต่อยกันแบบห่วยๆ กับนักมวยมืออาชีพต่อยกันแบบเจ๋งๆน่ะ ผู้ใหญ่ที่เคยดูมวย อธิบายแบบนี้คงเข้าใจใช่ไหม?

และช่วงที่มีปัญหาสุดๆ คือฉากแอ็กชั่นกลางเรื่องที่ออร์คกับมนุษย์ต้องมาเผชิญหน้าหาข้อตกลงกัน ฉากนี้ม้นควรจะต้องถึงจุดพีคด้วยเนื้อหาของมัน แต่... สุดท้ายผมได้แค่อุทานว่า "อะไรวะ..." ไอเดียดี แต่เสียของอย่างบอกไม่ถูก ขาดอารมณ์ร่วมแบบรุนแรง

หรืออย่างฉากไคลแม็กซ์นี่ชัดเจนมาก ฉากไคลแม็กซ์จะแบ่งฉากแอ็กชั่นเป็นสองเหตุการณ์ เหตุการณ์หนึ่งคือทัพของกษัตริย์บุกประจัญบานกับพวกออร์ค ส่วนอีกการณ์คืออันดูอินกับจอมเวทหนุ่มกำลังสู้กับตัวร้ายอีกตัว

ไอ้ฉากสงครามน่ะ โอเคอย่างที่ว่ามาข้างต้น 

แต่ไอ้อีกฉากน่ะ... มัน... แปลกๆ มัน... ไม่ค่อยสนุกยังไงไม่แน่ใจ

เหตุการณ์สองเหตุการณ์นี้เล่าเรื่องตัดสลับกันไปมา แต่ไหงอันนึงสนุก อันนึงไม่ค่อยสนุกซะงั้น? มันยังไงกันหว่า...?




3) ตัวละครฝ่ายมนุษย์... ช่างแม่มเหอะ

ปัญหาใหญ่ที่ทำให้รู้สึกว่าดูหนัง Warcraft ไม่สนุกมากอย่างที่ควร สำหรับผมแล้ว นอกจากปัญหาด้านการเล่าเรื่อง ยังมีอีกปัญหาหนึ่ง นั่นคือปัญหาเรื่องตัวละคร

ผมไม่แคร์ตัวละครฝั่งมนุษย์เลยสักตัว ใครเป็นใครตายก็ช่างแม่มเหอะ

ผมชอบทราวิส ฟิมเมล (คนที่แสดงเป็นเซอร์ อันดูอิน ลอธาร์) จากซีรีส์ Vikings แต่ในหนังเรื่องนี้... โอเค เขามีโมเมนต์ที่ได้จะแสดงอารมณ์ แสดงสีหน้าออกมา แต่พอมาถึงฉากสำคัญตรงกลางเรื่อง ผมไม่รู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครมากนัก ไม่รู้ว่าเป็นเพราะการแสดง หรือเป็นเพราะจังหวะการเล่าเรื่องมันทำไม่ถึงกันแน่ ทั้งๆที่ฉากนั้นมันควรจะต้องรู้สึกแบบ... "ย๊ากกกกกกกกกก" อะไรประมาณนี้




ตรงกันข้าม ผมชอบตัวละครของฝ่ายออร์คหลายตัว ทั้งๆที่หน้าตามันก็คล้ายๆกัน แต่ผมรู้ว่า โอเค ไอ้นี่อยู่ฝ่ายดูโรทาน ไอ้นี่อยู่ฝ่ายกุลดัน แต่ดูเหมือนจะเริ่มมีปัญหา และเริ่มรู้สึกว่าดูโรทานมันถูกเว้ย อะไรแบบนี้ คือไปๆมาๆกลายเป็นว่าตัวละครฝ่ายออร์คมีความน่าสนใจกว่ามาก มีความเกรี้ยวกราด มีความลังเล มีความสับสน มีความทรงเกียรติ ฯลฯ ผสมผสานกันอยู่ในหมู่ตัวละครออร์ค แต่ฝ่ายมนุษย์... รู้สึกว่ามันผ่านหัวไปหมด ไม่มีอะไรให้จดจำสักเท่าไหร่เลย

ถ้ามันเล่าเรื่องแค่ฝ่ายออร์คเพียงอย่างเดียว บางทีผมอาจจะชอบหนังเรื่องนี้มากขึ้นกว่าเดิมก็ได้ แต่พอเนื้อเรื่องและตัวละครฝ่ายมนุษย์มันไม่ค่อยน่าสนใจ เลยมองว่ามันน่าเบื่อไปโดยปริยาย



ยิ่งไม่ต้องพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอันดูอินกับกาโรนา หญิงที่คล้ายจะเป็นลูกครึ่งออร์คลูกครึ่ง... อะไรสักอย่าง รู้สึกว่ามันไปกันไม่ได้เลยจริงๆให้ตายเหอะ ไม่ใช่เรื่องรูปลักษณ์เพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของความเข้ากันได้ในตัวละครทั้งสองฝ่ายด้วย แต่ผู้กำกับก็อยากจะให้ตัวละครสองตัวนี้มีความผูกพันกันอยู่ลึกๆเสียเหลือเกิน เข้าใจแหละว่าเป็นการปูไปสู่ฉากท้ายๆหรือไม่ก็ภาคสอง แต่มัน... ไม่ค่อยเวิร์คแฮะ มันเหมือนฮัลค์กับแบล็กวิโดว์ใน Avengers : Age of Ultron น่ะ แบบนี้น่าจะเรียกว่า "สูตรเคมีไม่ลงตัว" ได้มั้ยนะ?

อ้อ พอพูดถึงกาโรนา จริงๆตัวละครของเธอควรจะน่าสนใจ เพราะเมื่อถึงเวลา เธอจะต้องเลือกระหว่างฝ่ายมนุษย์กับฝ่ายออร์ค... แต่สุดท้ายก็... รู้สึกเฉยๆกับตัวละครตัวนี้ บางทีคงจะเป็นตัวละครฝ่ายออร์คเพียงไม่กี่ตัวที่ผมไม่รู้สึกแคร์อะไรมากละมั้ง หรือว่าเธอไม่ใช่ฝ่ายออร์ค? นั่นสินะ ก็ตลอดทั้งเรื่องเธออยู่กับฝ่ายมนุษย์นี่นา ความน่าสนใจมันเลยถูกกลืนหายไปกับฝ่ายนั้นด้วยเลย เฮ้อ...





เอาเป็นว่าโดยรวมแล้ว ผมให้ Warcraft

5/10

มันไม่ใช่หนังห่วยแบบที่นักวิจารณ์สับกันเละ ถ้าเป็นดาว ผมก็จะให้สองดาวครึ่งเต็มห้า หรือสองดาวเต็มสี่ แต่ไม่ใช่หนึ่งดาวแน่ๆ

ในขณะเดียวกัน มันก็ไม่ใช่หนังดีหรือสนุกมากมาย คือมันมีอะไรน่าสนใจอยู่บ้าง มันมีส่วนที่สนุกอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วมันยังไปไม่ถึงจุดที่จะต้องร้องว่า "โอ้ว สนุกสุดยอดไปเลย"

มันดีกว่าหนังที่สร้างจากเกมส่วนใหญ่มั้ย? มันยังถอนคำสาปหนังสร้างจากเกมไม่ได้อยู่เหมือนเดิม แต่ลองจัดอันดับคร่าวๆในใจแล้ว ผมรู้สึกว่ามันคงอยู่ในระดับต้นๆของบรรดาหนังประเภทนี้แน่ๆ 

มันเป็นหนังที่ต้องลองดูด้วยตาของตัวเอง แล้วสรุปด้วยตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบ (หรือเฉยๆ) 



Create Date : 11 มิถุนายน 2559
Last Update : 12 มิถุนายน 2559 19:59:46 น.
Counter : 2757 Pageviews.

0 comment
The Conjuring 2 : รักพิชิตผี? (ไม่สปอยล์)




The Conjuring 2 เป็นประสบการณ์หนังสยองขวัญที่สนุก 

หลังเดินออกมาจากโรงลิโดรอบสองทุ่มครึ่งของศุกร์ที่ 10 มิถุนายน ท่ามกลางคนดูที่อุ่นหนาฝาคั่ง ผมได้ยินเสียงคนดูคนหนึ่งพึมพำออกมาว่า "รู้สึกเหนื่อยว่ะ"

ผมไม่รู้ว่าคนๆนั้นพึมพำออกมาด้วยความรู้สึกแบบไหน

แต่ผมคิดในใจว่า "ใช่ เหนื่อยสิ ลุ้นเป็นบ้าเลย" The Conjuring 2 มีสิ่งหนึ่งที่หนังสยองขวัญยุคใหม่ส่วนใหญ่ขาดหายไป นั่นคือการเล่าเรื่องที่ดี และตัวละครที่ทำให้คนดูรู้สึกเอาใจช่วย

นี่แหละ คือที่มาของความสนุก!



เนื้อเรื่องของ The Conjuring 2 หาได้ตามเน็ตทั่วไป ดังนั้นจะขอพูดคร่าวๆคือ มันเป็นเรื่องที่อิงจากคดีจริงๆของสองสามีภรรยานักสืบสวนเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติ เอ็ด วอร์เรนและลอร์เรน วอร์เรน คราวนี้ทั้งคู่มาสืบคดีที่บ้านโคตรเฮี้ยนที่ประเทศอังกฤษ และเหยื่อคราวนี้คือคุณแม่ม่ายกับลูกสี่คน

เอาละ จบเนื้อเรื่องแล้วมาเข้าประเด็นกันเลยเหอะ

ต่อไปนี้ผมจะพูดถึงส่วนที่ผมชอบ 3 ข้อ และส่วนที่...ชอบน้อยสุด 3 ข้อของ The Conjuring 2




ส่วนที่ชอบ :

1) ตัวละคร

อะไรที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจใน The Conjuring 2? อะไรคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ผมลุ้นจนรู้สึกเหนื่อย?

คำตอบคือ "ตัวละคร"

คนดูหลายคนอาจไม่รู้และอาจรู้สึกว่ามันสนุกเพราะฉากตุ้งแช่ หรือการเม็กอัพหน้าตาปิศาจ แต่หากดูดีๆ ความรู้สึกลุ้นมันเกิดมาจากตัวละครต่างหาก

The Conjuring 2 มีสองซัพพล็อตเล่าขนานกันไป หนึ่งคือเรื่องราวของครอบครัวฮอดจ์สันที่ประกอบไปด้วยแม่ม่ายกับลูกอีกสี่คน แล้วก็เกิดเหตุการณ์สยองขวัญสั่นประสาทกับครอบครัวนี้ อีกหนึ่งคือเรื่องราวของเอ็ด วอร์เรนและลอร์เรน วอร์เรน สองสามีภรรยานักสืบสวนเรื่องเหนือธรรมชาติ 

ซัพพล็อตทั้งสองส่วนนี้ทำได้ดีมากๆ ผมรู้สึกแคร์สองสามีภรรยาวอร์เรน ซึ่งมีผลที่ทำให้ฉากไคลแม็กซ์ตอนท้ายเรื่องต้องลุ้นตามไปตลอด ถึงแม้ว่าพอจะเดาๆอะไรได้อยู่ (เป็นข้อเสียจากการระบุว่า "อิงจากเรื่องจริง" นี่แหละ)



ส่วนเรื่องของครอบครัวฮอดจ์สัน ตอนแรกไม่ได้รู้สึกอะไรมากมายไปกว่าครอบครัวที่เป็นเหยื่อ แต่เราได้เห็นพัฒนาการของตัวละคร เราได้เห็นกระบวนการที่ทำให้ครอบครัวหนึ่งซึ่งเจอเรื่องลำบากจนต้องระหองระแหงกัน ต้องพยายามฝ่าฟันอุปสรรคเหนือธรรมชาตินี้ไปด้วยกัน



เมื่อซัพพล็อตทั้งสองส่วนถูกบวกเข้าด้วยกันตั้งแต่ตอนกลางเรื่องเป็นต้นไป มันมีความหมายที่เชื่อมโยงทั้งสองครอบครัวนี้เข้าด้วยกัน สุดท้ายแล้วเอ็ดกับลอร์เรนก็เหมือนแซมกับดีนใน Supernatural เวอร์ชั่นไร้อาวุธ... 

สองสามีภรรยาเข้าใจครอบครัวฮอดจ์สันในฐานะของคนที่มีครอบครัวด้วยกัน และพยายามกระตุ้นให้ครอบครัวฮอดจ์สันผนึกกำลังกันแล้วหันมาเผชิญหน้ากับเรื่องเหนือธรรมชาติโดยตรง ในขณะเดียวกัน สองสามีภรรยาก็ต้องเผชิญหน้ากับความกลัวของตัวเองไปด้วย

ส่วนนี้คือส่วนที่แข็งแรงมากที่สุดในหนัง ซึ่งเป็นส่วนที่หนังสยองขวัญส่วนใหญ่มองข้าม ทั้งๆที่ถ้าทำส่วนนี้ได้ดี หนังก็จะสนุก จะลุ้นได้มากกว่าหนังที่เน้นฉากตุ้งแช่เสียอีก

เอาง่ายๆ

เมื่อหลายวันก่อนผมนั่งไล่ดู The Grudge 1 และ 2 (จูออนภาคฝรั่งที่ผู้กำกับต้นตำรับมากำกับเอง) ผมไม่รู้สึกแคร์ตัวละครตัวไหนสักตัว พอไม่รู้สึกแคร์ โฟกัสส่วนใหญ่จึงไปอยู่ที่วิธีการหลอกหลอนของคุณแม่คายาโกะกับลูกชายโทชิโอะแทน ซึ่ง...ก็ไม่ใช่ส่วนที่ดีนักอีกเหมือนกัน

ทั้งที่ผีออกมาตั้งเยอะ แต่กลับไม่ได้รู้สึกสนุกอะไรเท่าไหร่ ออกจะเฉยๆ

แต่ The Conjuring 2 นี่ทั้งสนุกทั้งลุ้น และส่วนใหญ่ก็มาจากตัวละครที่น่าเอาใจช่วยนี่เอง


2) ผู้กำกับเจมส์ วาน & กลเม็ดเด็ดทุกฉาก

เมื่อตะกี้ผมอ้างถึง The Grudge 1 และ 2... ผมคงต้องขออ้างมันต่อ เพราะเพิ่งดูไล่ๆกับก่อนหน้าที่จะดู The Conjuring 2 ไม่กี่สัปดาห์

อย่างที่ผมบอกไปแล้วข้างต้น The Grudge ทั้งสองภาคมีฉากผีออกเยอะแยะมากมาย แต่กลับไม่รู้สึกสนุก แถมยังรู้สึกขำๆอีก เพราะเทคนิคและการเล่าเรื่องอยู่ในระดับธรรมดามาก

ความสนุกของหนังสยองขวัญมันไม่ได้อยู่ที่สักแต่จะใส่ฉากตุ้งแช่อย่างเดียวซะหน่อย แต่มันอยู่ที่วิธีการเล่าเรื่อง วิธีการเซ็ทอารมณ์ของฉากต่างหาก 

ซึ่งผู้กำกับเจมส์ วานทำได้ดีในหลายๆฉาก ไม่แปลกใจเลยที่คนดูดูเรื่องนี้เสร็จแล้วจะบอกว่า "เหนื่อยว่ะ" เพราะเจมส์ วานสร้างอารมณ์ฉากสยองขวัญได้ดีมากนั่นเอง มันมีฉากตุ้งแช่ แต่ไม่ได้ถูกเอามาใช้พร่ำเพรื่อจนน่าเบื่อ

หนังบางเรื่อง ตัวละครหันไปก็ ผ่าง! เดินชนโต๊ะก็ ผ่าง! เดินไปอีกสักพักก็ ผ่าง! ...แบบพร่ำเพรื่อมาก!

แต่ The Conjuring 2 ค่อยๆเซ็ทอัพอารมณ์ขึ้นทีละนิดๆ สรรหากลเม็ดในแนวทางอื่นๆบ้าง บางฉากมันน่ากลัวได้โดยไม่ต้องตุ้งแช่ด้วยซ้ำ แถมยังจัดฉากที่ทำให้คนดูหายใจมาไม่ทั่วท้องแทบจะต่อเนื่องจนรู้สึกเหนื่อยไปตามๆกัน!

ส่วนวิธีการเล่าเรื่อง

The Conjuring 2 มีการเล่าเรื่องที่ลงตัวน้อยกว่าภาคแรก อย่างไรก็ตาม มันมีจุดที่น่าสนใจอยู่หลายจุด 

นอกจากหนังจะโฟกัสไปที่การเล่าเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวมากกว่าจะเป็นฉากตุ้งแช่ จนส่งผลให้คนดูรู้สึกลุ้น (ไปกับตัวละคร) จนเหนื่อยแล้ว... ระหว่างที่ผมนั่งดูหนังอยู่ ผมตั้งคำถามว่า แล้วผีมันจะทำแบบนี้ไปทำไม?... รู้ไหมครับ มันมีคำตอบว่ะ! 

......โอเค จริงๆคำตอบนี้มันก็เหมือนจะมีอยู่ในภาคแรกแล้วละนะ แต่การเอาประเด็นนี้มาใช้อีกรอบก็ไม่เสียหายแต่อย่างใดนี่!? 

ด้วยความที่หนังพยายามสร้างเรื่องราวมากกว่าการเล่นมุกตุ้งแช่ เวลาดูเลยก็รู้สึกสนุกไปกับการติดตามเรื่องราวไปด้วย เมื่อความสนุกจากการติดตามเรื่องราว (ว่าผีทำแบบนี้ไปทำไม) มาบวกเข้ากับเรื่องของตัวละคร มันจึงกลายเป็นส่วนดีๆที่กลบข้อด้อยตรงนู้นนิดตรงนี้หน่อยไปได้เยอะ





3) การแสดง

ในหนังสยองขวัญ การแสดงก็มีส่วนสำคัญต่อความบันเทิงได้เหมือนกัน

ถ้าเป็นหนังเกรดซีห่วยๆอย่าง Sharknado แน่นอนว่าการแสดงอันโคตรห่วยก็ถือเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นหนังสยองขวัญที่ตั้งใจจะจริงจัง การแสดงที่ดีจะถือเป็นส่วนสำคัญไปโดยปริยาย ยิ่งแสดงดี ตัวละครก็ยิ่งน่าเชื่อถือ ยิ่งน่าเชื่อถือก็ยิ่งน่าติดตาม 

The Grudge 1 และ 2 มันไม่สนุกสำหรับผมมาก เพราะตัวละครมันห่วย ใครจะอยู่ ใครจะตาย ผมไม่สนใจเลย ส่วนหนังสยองขวัญอีกเรื่องที่ดูในเวลาไล่เลี่ยกันอย่าง Halloween H20 ผมไม่แคร์คาแร็กเตอร์ตัวไหนเลยสักตัว ดูแล้วติดจะเบื่อๆอยู่เอาเรื่อง (แถมยังรำคาญฉากตุ้งแช่พร่ำเพรื่อด้วย) หรือ Friday the 13th (เวอร์ชั่น 2009) โอเค มันสนุกตรงที่มี "แซม วินเชสเตอร์" จาก Supernatural เป็นตัวเอก มันก็เลยมีอารมณ์ประมาณว่า "โอ้ว แซม วินเชสเตอร์สู้เจสันเว้ยเฮ้ย!" บวกกับวิธีการวิ่งไล่เชือดของเจสันเวอร์ชั่นอัพเกรดความเร็วมากกว่าเวอร์ชั่นเทเลพอร์ตแบบโบราณ นอกนั้นใครจะอยู่ใครจะตายก็ช่างมัน บันเทิงดี แต่ดูจบแล้วก็จบกัน  

ปัญหาทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่อยู่ที่วิธีการเขียนบท แต่อยู่ที่วิธีการแสดงด้วย

ใน The Conjuring 2 ส่วนหนึ่งที่ตัวละครค่อนข้างแข็งแรงและคนดูเกิดอาการอินและอยากจะเอาใจช่วย ก็เพราะมันมีการแสดงที่ดีทั้งหมด แต่ที่เป็นไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่เวรา ฟาร์มิก้าที่เล่นเป็นลอร์เรน วอร์เรน กับเด็กสาวเมดิสัน วูลฟ์ (ไม่รู้อ่านออกเสียงถูกหรือเปล่า แต่นามสกุลสะกดว่า Wolfe) ที่เล่นเป็นเจเน็ต ฮอดจ์สัน เด็กสาวที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติในคราวนี้ ทั้งสองคนเล่นได้โดดเด่นมากสำหรับผม  โดยเฉพาะรายหลังที่งัดของโชว์ออกมาเต็มที่ ขโมยซีนจากนักแสดงผู้ใหญ่ไปแบบหน้าตาเฉย!

การแสดงที่ดีจำเป็นต่อหนังสยองขวัญด้วยเหรอ? The Conjuring ทั้งสองภาคนี่ไงคือคำตอบ






เมื่อมีส่วนที่ชอบ ก็ย่อมมีส่วนที่ไม่ชอบเป็นของธรรมดา

แต่ในกรณีของ The Conjuring 2 ผมไม่อยากเรียกว่า "ไม่ชอบ" ขอใช้เป็น "ส่วนที่ชอบน้อย" น่าจะตรงกว่า 



ส่วนที่ชอบน้อย :

1) เดาง่ายไปหน่อย

ขณะนั่งดูอยู่ ผมพยายามนึกว่ามันจะเอาซัพพล็อตของสองสามีภรรยามาร้อยกับครอบครัวฮอดจ์สันยังไง พอมาถึงกลางๆเรื่องผมก็ชักจะเริ่มเดาทิศทางได้บ้างแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงบทสรุปของหนัง ...ซึ่งบอกว่าสร้างโดยอิงจากคนที่มีชีวิตอยู่จริงๆและเหตุการณ์จริง




2) การเล่าเรื่อง ลงตัวน้อยกว่าภาคแรก

The Conjuring ภาคแรกก็มีการแบ่งซัพพล็อตเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของครอบครัวที่เผชิญสิ่งเหนือธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสองสามีภรรยาวอร์เรน เพียงแต่ภาคแรกมีการเล่าเรื่องที่ลงตัวกว่าในหลายๆเรื่อง

ส่วน The Conjuring 2 หลายๆฉากผมรู้สึกว่าจังหวะการเล่าเรื่องมันแปลกๆ ช่วงครึ่งแรกผมรู้สึกว่าซัพพล็อตทั้งสองส่วนดูไม่ค่อยจะเกี่ยวเนื่องกันนัก จนกระทั่งมากลางๆเรื่องนั่นแหละ ถึงจะพอเห็นได้แล้วว่าจะโยงกันอีท่าไหน แล้วช่วงครึ่งหลังก็มีจุดที่รู้สึกว่ามันอืดๆอยู่บ้างประปราย 

แต่ส่วนที่สำคัญคือเรื่องราวในช่วงไคลแม็กซ์นี่แหละ จริงอยู่ที่มันเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ บางทีก็อยู่นอกเหนือไปกว่าสามัญสำนึกแบบตามปกติทั่วไป แต่ในหนังสยองขวัญนั้น กฎที่เกี่ยวพันกับสิ่งเหนือธรรมชาติในเรื่องนั้นๆถือเป็นสิ่งสำคัญ

มันเหมือนใน The Grudge 2 ผมรู้สึกขัดใจเพราะการโจมตีของคายาโกะมันแรนด้อมเกินไป พอแรนด้อมเกินไปก็เลยเกิดข้อสงสัยว่า "เอ๊ะ ทำไมไอ้นี่ตาย? ทำไมไอ้นี่ไม่ตาย? ทำไมถึงปล่อยให้ไอ้นี่มีชีวิตอยู่ตั้งนานก่อนจะมาฆ่า?" บลาๆๆๆ พลอยทำให้หมดสนุกไปด้วยเลย

ในกรณีของ The Conjuring 2... สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายๆ มันค่อนข้างจะ... รู้สึกว่ามัน "เอ๋? อะไรน่ะ? เอางี้เลยรึ?" อะไรประมาณนี้แหละ ไม่ได้เลวร้ายเท่าของ The Grudge 2 หรอก แค่มัน... เป็นทางออกที่เล่นง่ายไปหน่อยในความเห็นของผม

แย่หน่อยที่ตรงนี้ผมพูดไม่ได้เต็มปาก ไม่งั้นจะเป็นการสปอยล์ไปเสีย



3) มุกเดิมๆ แบบหนังผียุคใหม่ & ผีซีจีในบางฉาก

เป็นอีกครั้งที่เราได้เห็นหนังสยองขวัญที่เกี่ยวพันกับครอบครัวหนึ่ง

เป็นอีกครั้งที่เราได้เห็นฉากเด็กเดินไปไหนตอนกลางคืนภายในบ้านคนเดียว

เป็นอีกครั้งที่... และอีกหลายร้อยแปดพันเก้าที่บรรดาหนังสยองขวัญยุคใหม่มี

แล้วมุกประมาณนี้จะถูกใช้ต่อไปอีกหลายครั้งในอนาคตข้างหน้า

ข้อเสียกลายเป็นว่า ผมสามารถเดาได้ว่าพอฉากมันเริ่มเงียบแบบนี้ แสดงว่ามันจะต้องมีอะไรแน่ๆ สมองของผมเริ่มสรรหาฉากในหนังสยองขวัญกว่าหลายสิบเรื่องมาจับคู่กับฉากใน The Conjuring 2 ทำให้เกิดการเตรียมตัวเตรียมใจไว้ล่วงหน้าแล้ว สุดท้ายผลก็ออกมาทำนองว่า "นั่นไง ตูว่าแล้ว" 

เพียงแต่ยังดีหน่อยที่ The Conjuring 2 สามารถเอามุกเดิมๆมาดัดแปลงให้มันดูดีขึ้นในหลายฉาก พยายามใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปบ้าง เลยไม่ถึงกับมองว่าเป็นข้อเสียสำคัญอะไรนัก ถึงจะเดามุกตุ้งแช่ได้แต่ก็ยังสนุกอยู่ ถ้าหาวิธีการอื่นได้บ้างก็ดี... มันก็เท่านั้น

อีกเรื่องคือ "ผีซีจี" ในบางฉาก

ในช่วงแถวกลางเรื่อง จะมีฉากผีที่ดูอย่างกับตัวการ์ตูนออกมา คือมันไม่ได้เลวร้ายหรอก พอจะเข้าใจได้ว่าตามตรรกะในเรื่อง ไอ้ผีซีจีนี่มันมีที่มามาจากไหน เพียงแต่... มันก็อดจะรู้สึกขัดใจไม่ได้อยู่ดี



โดยรวมแล้วผมให้ The Conjuring 2...

7/10

ผมพยายามจะไม่ใส่พวก 7.5 หรือ 7.9 หรือ 8.1 อะไรแบบนั้นแล้ว และถ้าให้ฟันธงชัดๆก็คงเป็น 7/10 นี่แหละ

มันเป็นประสบการณ์หนังสยองขวัญที่น่าประทับใจ คนดูในโรงส่วนใหญ่ก็รู้สึกสนุกไปกับมัน เดินออกมาด้วยความบันเทิงและรู้สึกพึงพอใจด้วยเช่นกัน

และมันเป็นหนังสยองขวัญเพียงไม่กี่เรื่อง ที่ผมจะดูมันอีกรอบในอนาคตข้างหน้าอย่างแน่นอน

ปล. ผีแม่ชีนี่... Marilyn Manson?? ฮ่าๆๆๆๆ SmileySmileySmileySmileySmileySmiley








Create Date : 11 มิถุนายน 2559
Last Update : 11 มิถุนายน 2559 19:54:15 น.
Counter : 3464 Pageviews.

1 comment
Hardcore Henry : ประสบการณ์ดุจเมาเหล้า





Hardcore Henry เป็นประสบการณ์เหมือนกับกระดกเหล้าเมาได้ที่แล้วลุกไปทำอะไรบ้าๆ พอตื่นเช้าขึ้นมาก็ปวดกะโหลกตุบๆ

มันเป็นหนังที่มีพล็อตง่ายๆ ค่อนข้างบันเทิง อัดกระหน่ำความสุดโต่งแบบไม่ยั้ง แต่... ภาพรวมของหนังทำให้ผมต้องขมวดคิ้วอยู่หลายครั้ง

เนื้อเรื่องของมันคือ...

เฮนรี่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาในสภาพของไซบอร์ก และต้องช่วยคนรักของตัวเองจากกลุ่มคนร้ายติดอาวุธที่มีบอสเป็นผู้มีพลังจิต

เรียบง่ายดีเนอะ



หนังมีวิธีการนำเสนอแบบ First Person หรือบุคคลที่หนึ่งไปตลอดเรื่อง ซึ่งเห็นว่าบางคนดูแล้วมึนหัว...

ในฐานะที่เป็นคนเล่นเกม First Person Shooter (เกมบุคคลที่หนึ่ง) ผมไม่ค่อยมีปัญหาอะไรกับการดูหนังที่ใช้มุมมองบุคคลที่หนึ่งแบบนี้เท่าไหร่...

เอาจริงๆก็มีปัญหาอยู่นิดหน่อยน่ะนะ เพราะกล้องใน Hardcore Henry ค่อนข้างสั่นและเขย่าอยู่เกือบตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาวิ่ง ในขณะที่เกม FPS หลายเกมจะไม่เขย่าขนาดนี้ แต่โดยรวมแล้วก็ไม่ถึงกับมึนหัวอะไรมากมาย รู้สึกทึ่งกับเทคนิคการถ่ายทำอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นสไตล์ที่สุดยอดอะไร



เอาเป็นว่าวิธีการนำเสนอด้านภาพไม่ใช่ประเด็นใหญ่ของหนังเรื่องนี้ ดังนั้นผมจะขอตัดประเด็นเรื่องงานด้านภาพไป แล้วหันไปพูดถึง 3 สิ่งที่ผมชอบ และ 3 สิ่งที่ผมไม่ชอบแทน



3 สิ่งที่ชอบ :

1) ความสุดโต่ง

หนังเรื่องนี้จุดเด่นคือความสุดโต่งในทุกๆด้าน แอ็กชั่นแบบอัดกระหน่ำตั้งแต่ต้นยันจบ ตัวละครสุดโต่งทั้งตัวเอก ตัวประกอบ ตัวร้าย วิธีการต่อสู้หลากหลายรูปแบบก็อัดกระหน่ำแบบบ้าคลั่ง ประมาณว่าบทหนังเรื่องนี้ถูกเขียนด้วยโจทย์ว่า "จะให้เฮนรี่ฆ่าศัตรูแบบไหนดี" ซึ่ง... ไม่ใช่เรื่องน่าสรรเสริญอะไร แต่ก็ค่อนข้างจะเป็นความบันเทิงอยู่เหมือนกัน 

มันมีฉากแอ็กชั่นเจ๋งๆอยู่มากมาย แน่นอนว่าคนที่ไม่เวียนหัวกับมุมกล้องแบบบุคคลที่หนึ่งอาจได้รับความเพลิดเพลินจากฉากพวกนี้อย่างเต็มที่ ส่วนคนที่ดูแล้วเวียนหัว ก็ต้องทรมานเป็นของธรรมดา

นอกจากฉากแอ็กชั่นแล้ว มุกตลกก็มีส่วนช่วยทำให้หนังเรื่องนี้ดูสนุก ยอมรับว่าขำอยู่หลายฉากเหมือนกัน แม้ฉากนั้นจะรุนแรงมากแค่ไหนก็ตาม



2) ชาร์ลโต้ โคเพลย์

ชาร์ลโต้ โคเพลย์ (Sharlto Copley) นั้น ถ้าใครเคยดูหนังอย่าง District 9, Elysium, The A-Team ก็คงคุ้นหน้าคุ้นตาอยู่บ้าง ในเรื่องนี้ชาร์ลโต้เล่นเป็น "จิมมี่" คนที่โผล่ออกมาช่วยเฮนรี่อยู่ตลอดเวลา

ตอนแรกๆคาแร็กเตอร์ของจิมมี่ค่อนข้างน่ารำคาญ แต่พอดูไปเรื่อยๆก็รู้สึกว่า... นี่เป็น "การแสดง" มากที่สุดในหนังเรื่องนี้แล้ว... จริงๆนะ

สุดท้ายแล้วจิมมี่คือตัวละครเพียงหนึ่งเดียวที่สร้างความบันเทิงและรู้สึกผูกพันด้วยอย่างแท้จริง



3) บอสของเรื่อง

ผมไม่ชอบคาแร็กเตอร์ของตัวร้าย แต่ผมชอบพลังของมัน

คือมันเจ๋งตรงที่บอสของเรื่องมีพลังจิตนี่แหละ พอเอาพลังจิตของตัวร้ายมาบวกกับแอ็กชั่นแบบสุดโต่งพร้อมด้วยมุมกล้องบุคคลที่หนึ่ง ผมรู้สึกว่ามันเป็นส่วนผสมที่เข้าท่าดีพิลึก





3 สิ่งที่ไม่ชอบ :

1) เล่าเรื่องได้ชวนเมายิ่งกว่างานด้านภาพ

หลายคนมีอาการเมากับมุมมองภาพของหนังเรื่องนี้ แต่เมาวิธีการเล่าเรื่องของมันมากกว่า

ผมเข้าใจพล็อตมันนะ

แต่วิธีการนำเสนอของมันทำให้ผมรู้สึก "เมา" มีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นบนจออย่างต่อเนื่อง เดี๋ยวมีไอ้นี่โผล่มา เดี๋ยวมีไอ้นั่นโผล่มา หลายๆอย่างชวนให้ผมร้องในใจระหว่างดูว่า "WTF!?" จังหวะการตัดต่อสับสนอลหม่านไปหมด วิธีการเข้าออกของตัวละครก็ไปไวมาไวชนิดที่สมองยังไม่ทันจะได้ทำความเข้าใจสักเท่าไหร่ 

รู้สึกเหมือนกำลังเมากัญชาหรือไม่ก็เมาเหล้าแล้วมาดูหนังอย่างบอกไม่ถูก... ใครเคยดูหนังขณะฤทธิ์แอลกอฮอล์กำเริบน่าจะเข้าใจนะ?



2) พระเอกขาดคาแร็กเตอร์ที่น่าสนใจ

พอมาถึงช่วงเฉลยตอนท้าย ผมเข้าใจแล้วว่าการใช้ภาพแบบมุมมองบุคคลที่หนึ่ง มันมีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องยังไง ผมเข้าใจว่าทำไมพระเอกถึงได้ดูขาดคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจนแบบนี้

แต่... ด้วยความที่พระเอกขาดคาแร็กเตอร์ ผมเลยไม่รู้สึกอะไรกับตัวเอกมาก บางครั้งก็ตั้งคำถามในหัวว่าทำไมพระเอกถึงทำแบบนี้ ทำไมถึงทำแบบนั้น ไม่มีความผูกพันอะไรกับคาแร็กเตอร์ตัวเอกเลยสักนิด จะเป็นตายร้ายดียังไงก็ช่าง อะไรแบบนั้น

"ใครต้องการคาแร็กเตอร์ดีๆในหนังแอ็กชั่นบ้าดีเดือดแบบนี้กัน?" อาจมีคนตอกผมกลับแบบนี้

แต่หนังแอ็กชั่นที่สนุก มันก็มาพร้อมกับคาแร็กเตอร์ของตัวเอกที่ดีๆได้ไม่ใช่หรือ? มันมีหนังแอ็กชั่นขายความบันเทิงที่พระเอกดูน่าสนใจ ดูจับต้องได้ แล้วทำให้คนดูรู้สึกลุ้นไปกับเขาตั้งแต่ต้นยันจบอยู่ไม่ใช่หรือ?

ข้อโต้แย้งนั้นจึงเป็นอันตกไป



3) มันเหมือนดูคนเล่นเกมชั่วโมงครึ่ง

มันมีความแตกต่างระหว่างการนั่งดูคนเล่นเกมกับเล่นด้วยตัวเอง

เล่นด้วยตัวเองยังไงก็สนุกกว่าการนั่งดูคนอื่นเล่นอยู่แล้ว ยกเว้นแต่รายการอย่าง Game Center CX หรือพวก Let's play ตาม Youtube เพราะพวกนั้นจะมีคาแร็กเตอร์ของคนเล่นเข้ามาสร้างความบันเทิงด้วย (อย่างอาริโนะคะโจว หรือ Pewdiepie เป็นต้น)

Hardcore Henry เหมือนเอาไอเดียจากวิดีโอเกมมาดัดแปลงเป็นหนัง แต่แทนที่เราจะได้ควบคุมตัวละครเอง กลับเป็นฝ่ายนั่งดูตั้งแต่ต้นยันจบ ฉะนั้นมันจึงมีอารมณ์เหมือนกำลังนั่งดูคนอื่นเล่นเกม

สนุกดี แต่ถ้าได้ควบคุมตัวละครเอง คงจะสนุกกว่านะ! 





โดยรวมแล้วผมให้ Hardcore Henry...

6.9/10

ในฐานะคนเล่นเกม ผมชอบไอเดียเรื่องไซบอร์กออกบู๊ล้างผลาญ, มีบอสเป็นผู้ใช้พลังจิต

ในฐานะคนดูหนังแอ็กชั่น ผมชอบฉากแอ็กชั่นแบบสุดโต่งที่ดูเพลินตั้งแต่ต้นยันจบ บันเทิงไปกับการสรรหาวิธีฆ่าผู้ร้ายของเฮนรี่

ผมไม่มีปัญหากับภาพแบบบุคคลที่หนึ่งมากนัก 

แต่ผม "เมา" กับวิธีการเล่าเรื่องของมัน

หลังจากดูหนังจบ ผมจึงรู้สึกเหมือนคนดื่มเหล้าเมาแล้วตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการเมาค้าง ระลึกได้ว่าเมื่อคืนนี่สนุกสุดเหวี่ยงเลยว่ะ

แต่ขอกาแฟดำแก้ว!!






Create Date : 28 พฤษภาคม 2559
Last Update : 28 พฤษภาคม 2559 22:42:40 น.
Counter : 1919 Pageviews.

0 comment
10 Cloverfield Lane : ตัวเลือกที่... เข้าท่า?





ผมรู้... 10 Cloverfield Lane ไม่ใช่ Cloverfield  2 จะว่ามันเป็นภาคแยก (spin-off) ที่อยู่ในจักรวาลเดียวกับ Cloverfield (หนังปี 2008) ก็ได้

แต่ถึงยังไงมันก็ไม่สามารถ "ยืนอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง" ยังไงคนดูก็ต้องมีความเข้าใจใน Cloverfield มาระดับหนึ่ง ฉะนั้นจะบอกว่ามันเป็นภาคต่อก็คงไม่ผิดอะไรนัก

และถ้ามันเกี่ยวข้องกับ Cloverfield ไม่ว่าจะเรียกว่า "ภาคต่อ" หรือ "ภาคแยก" หรือ "หนังในจักรวาลเดียวกัน" ก็เถอะ ผมมองว่านี่คือ “การตัดสินใจที่เข้าท่า”

ทำไม?

ปกติแล้ว เมื่อเราพูดถึง "หนังภาคต่อ" หรือ "หนังในซีรีส์เดียวกัน" หรือ "หนังในจักรวาลเดียวกัน" เราจะนึกถึงอะไรครับ เราจะนึกถึงหนังที่เป็นภาคแรกขึ้นมาก่อน เสร็จแล้วในหัวของเราก็จะนึกถึงความเป็นไปได้ของภาคต่อโดยอิงสไตล์ที่คล้ายๆกันกับภาคแรก

เช่น 

Cloverfield เป็นหนังแนวไคจูบุกเมือง และถ่ายทำด้วยกล้องส่วนตัว เป็นลักษณะเหมือน "พบภาพถ่ายของชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ (found footage)"

ฉะนั้นหนังภาคต่อหรือ...อะไรก็แล้วแต่ที่อิงจาก Cloverfield ก็น่าจะเป็นแบบเดียวกัน!

แต่ในกรณีของ 10 Cloverfield Lane กลับไม่ใช่แบบนั้น มันมีอะไรที่อิงกับหนังปี 2008 น้อยมากจนแฟน Cloverfield บางคนรู้สึกผิดหวังที่รู้สึกว่าเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ (หรือแปดสิบ? เก้าสิบ?) แทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนังต้นฉบับของปี 2008 เสียเท่าไหร่

แต่ผมคิดว่ามันเป็นการเดินหมากที่เข้าท่ามาก!



จริงอยู่ที่บทหนังเริ่มแรกสุดของ 10 Cloverfield Lane ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ Cloverfield เลยสักนิด (มันเป็นบทหนังที่มีชื่อว่า The Cellar) แต่พอบทมาอยู่กับสตูดิโอ Bad Robot ของเจ.เจ.อบลัมส์ที่ทำ Cloverfield มันก็ถูกรีไรท์ให้กลายเป็นหนังที่อยู่ในจักรวาลของ Cloverfield เฉยเลย...

มันเป็นหนังที่เกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งมีปัญหากับแฟน แล้วระหว่างการเดินทางเพียงลำพังก็เกิดอุบัติเหตุก่อนจะฟื้นขึ้นมาพร้อมกับพบว่าตัวเองถูกขังอยู่ในบังเกอร์ (หลุมหลบภัย) โดยที่ไม่รู้เลยว่าเหตุการณ์ข้างนอกมันเกิดอะไรขึ้น แล้วเธอก็ต้องใช้ชีวิตอยู่กับผู้ชายสองคน หนึ่งคือเจ้าของบังเกอร์ (จอห์น กู้ดแมน) และผู้ชายอีกคนที่ขอมาอาศัยด้วย

โอ ห่างไกลจาก Cloverfield มาก... แต่ผมก็ยังรู้สึกว่ามันเข้าท่ามาก!

ดูสองรอบก็คิดเหมือนกันทั้งสองรอบ!

ทำไม?

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเอา Paranormal Activity ภาค 2 กับ 3 มาดู ผมคิดว่าภาคแรกค่อนข้างจะโอเค แค่รู้สึกว่าภาคต่อไม่น่าจะน่าสนใจเท่าภาคแรก ผมเลยไม่ได้ดูตอนที่ภาค 2 กับ 3 ออกฉาย ทว่าจู่ๆก็เกิดรู้สึกสนใจเลยตั้งใจว่าจะลองดูหนังชุดนี้จนไปถึงภาคล่าสุด (น่าจะเป็นภาคสุดท้าย)

ปรากฏว่าผมดูมาได้แค่ภาค 3 ก็ประกาศยอมแพ้แล้ว

สไตล์การถ่ายทำหนังบางอย่าง ผมคิดว่ามันค่อนข้างจะมีขอบเขตที่ “จำกัด” ถ้าไม่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ชนิดขุดคุ้ยกันจริงๆ ก็ยากจะทำหนังภาคต่อโดยใช้สไตล์แบบเดียวกับภาคแรกให้น่าสนใจได้ หนึ่งในสไตล์ที่ผมว่าก็คือพวกบรรดาหนัง “พบฟุตเตจ” ทั้งหลายนั่นแหละ

ผมดู Paranormal Activity 2 กับ 3 แล้วรู้สึกว่ามุกมันซ้ำขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำขึ้นเรื่อยๆ... พอจบภาค 3 ปุ๊บ ผมล้มเลิกแผนการจะดูภาคหลังจากนั้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น “ภาคแยก” และภาค 4

Cloverfield ก็อารมณ์เดียวกัน

ผมสงสัยว่าถ้า "ภาคต่อ" ของมันจริงๆคิดจะยึดสไตล์แบบภาคแรกอยู่ มันจะทำยังไงให้น่าสนใจ?

จะยังเป็น “พบฟุตเตจ” เหมือนเดิมเพื่อคงคลาสสิคของภาคแรกไว้เหรอ?

แล้วความตื่นเต้นที่เกิดจากการทำให้มอนสเตอร์ปรากฏตัวแบบแวบๆในตอนแรก จะเปลี่ยนให้เป็นอะไรล่ะ?

ส่วนตัวผมคิดว่า การดำเนินเรื่องที่ยังเป็นหนังแนวไคจูบุกเมือง ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การถ่ายทำแบบหนังทั่วไป หรือแบบ “พบฟุตเตจ” มนต์เสน่ห์ของมันก็ไม่น่าจะเท่ากับ Cloverfield ปี 2008 

หนำซ้ำในช่วงไม่กี่ปีนี้ ยังมีหนังไคจูบุกเมืองมาให้ดูไม่น้อย ทั้ง Godzilla เอย Pacific Rim เอย แล้วเดี๋ยวจะมี Godzilla เวอร์ชั่นญี่ปุ่นภาคใหม่อีก สไตล์มันจะดูซ้ำๆกันไปมั้ย?

ถ้าเป็นตามปกติ สตูดิโอส่วนใหญ่จะทำภาคต่อ (หรือหนังในจักรวาล, หรือหนังในซีรีส์ หรืออะไรทำนองนี้) มักจะพยายามอิงสไตล์จากหนังต้นฉบับเอาไว้ ทว่า 10 Cloverfield Lane กลับไม่ใช่แค่นำเสนอด้วยสไตล์ที่แตกต่างจาก “ภาคหลัก” ทั้งตัวละครและพล็อตยังต่างกันแบบสุดโต่งเลยด้วย กว่าจะรู้สึกว่ามันเกี่ยวข้องกันจริงๆก็นู่น... ช่วงสุดท้ายของหนังนู่น...

ผมชอบว่ะ

ผมชอบแนวความคิดแบบนี้จริงๆ

แล้วผมชอบ 10 Cloverfield Lane มากกว่า Cloverfield ด้วย

เพื่อจะยืนข้อเท็จจริงตรงนั้น ผมจึงเอา Cloverfield ภาคหลักมาดูอีกรอบ พร้อมกับทำลิสต์สิ่งที่ชอบและไม่ชอบไปด้วย

และนี่คือเหตุผลว่าทำไม 10 Cloverfield Lane ถึงได้น่าสนใจกว่า Cloverfield



1) ตัวละครน่าสนใจกว่า

แม่เจ้า หลังจากเอา Cloverfield มาดูอีกรอบ ผมชักรู้สึกรำคาญตัวละครหลายๆตัว 

โอเค ผมรู้ว่าเขาพยายามจะทำให้มันดูสมจริงที่สุด แต่... บางครั้งผมก็ยังรู้สึกว่ามันคือการแสดงอยู่ดี แล้วประเด็นว่าใครจะอยู่ใครจะไป... ผมก็ไม่ได้รู้สึกอินมาตั้งแต่ตอนที่หนังฉายในโรงครั้งแรกแล้วด้วย ดังนั้นพอเอามาดูรอบล่าสุด และเห็นตัวละครบางตัวต้องตายด้วยอะไรสักอย่าง ผมก็คิดในใจอย่างเย็นชาประมาณว่า “บ๊ายบาย”...

แต่ 10 Cloverfield Lane มีตัวละครที่น่าสนใจกว่ามาก เราได้เห็นว่ามิเชลมีปัญหากับคู่หมั่น เราได้เห็นว่าเธอเป็นสาวแกร่ง ฉลาดเป็นกรด ไม่ยอมให้ใครมากักขังหน่วงเหนี่ยวเธอได้ง่ายๆ ไม่ได้ปล่อยเนื้อปล่อยตัวหรืองี่เง่ามากนัก ผมคิดว่าเธอให้อารมณ์แบบเอเลน ริปลีย์ใน Alien ภาคแรกสุดๆ 

พูดก็พูดเถอะ ถ้าตอนท้ายเฉลยว่าเธอเป็นลูกสาวของจอห์น แมคเคลนใน Die Hard ก็คงไม่แปลกอะไรสักนิดเดียว... ก็คนแสดงเป็นคนเดียวกับที่เล่นเป็นลูซี่ แมคเคลนใน Live Free or Die Hard นี่นะ!





ส่วนตัวละครของจอห์น กู้ดแมนก็... ชวนให้บรรยากาศของหนังมันอึดอัดได้ดีทีเดียว





2) มันคือหลบหนีสัตว์ประหลาด

ไม่ผิดแน่นอน

10 Cloverfield Lane เป็นหนังที่ตัวเอกต้องเผชิญหน้ากับสัตว์ประหลาด... 

ใช่ครับ "สัตว์ประหลาด"... เอ๊ะ แล้วใครกำหนดล่ะครับว่าสัตว์ประหลาดจะต้องเป็นตัวอสุรกายจากนอกโลก มีตัวมหึมา  มีขาหลายๆขา คำรามโฮกฮากแล้วทำลายตึกเพียงอย่างเดียว? ทำไมจะเป็นมนุษย์ไม่ได้?

มันคือหนังที่ว่าด้วยการติดอยู่ในสถานการณ์ที่มี "สัตว์ประหลาดยักษ์" คุกคาม แล้วตัวเอกก็ต้องหาทางรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าเหมือนกันไม่ใช่หรือ?




3) การดำเนินเรื่องสนุกกว่า

โอเค ถ้าจะเอาความบันเทิงอย่างเดียว แน่นอนว่า Cloverfield ต้องสนุกกว่า มันดูง่ายกว่า ถล่มทลายกว่า ผมชอบฉากที่มีการระเบิดเริ่มขึ้น แล้วหัวเทพีสันติภาพก็ลอยกระเด็นมา ผมชอบฉากที่พวกตัวเอกติดอยู่ตรงกลางระหว่างสัตว์ประหลาดกับกองทัพที่ระดมยิงปืนและใช้รถถังสู้ สองฉากนี่ดูกี่รอบก็ชอบ




แต่พอเข้าตรงกลางๆเรื่อง ผมเริ่มรู้สึกว่าหนังมันแผ่วลง ความน่าสนใจเริ่มน้อยลง โดยเฉพาะตอนที่พวกตัวเอกต้องไปช่วยแฟนของร็อบบนตึก ผมเฉยมาก

แต่ก็ชอบฉากไคลแม็กซ์ที่พวกทหารทิ้งบอมบ์ใส่สัตว์ประหลาดอยู่พอประมาณนะ

อย่างไรก็ตาม 10 Cloverfield Lane กลับดึงดูดความสนใจผมได้มากกว่า สถานการณ์ที่รุมเร้าใส่มิเชลทำให้ผมอยากติดตามตั้งแต่ต้น ทั้งๆที่อยู่แค่ในบังเกอร์แคบๆ แต่กลับมีอะไรมาเล่นกับคนดูเกือบตลอด อารมณ์ประมาณหนัง Psychological Thriller สไตล์ฮิทช์ค็อก ถึงแม้จะไม่ค่อยมีฉากไล่ล่ามาก แต่ "ความรู้สึกเคลือบแคลง" หรือ "บรรยากาศที่ไม่น่าไว้วางใจ" ทำให้หนังมันน่าติดตามตลอดเรื่อง และประเด็นที่ว่ามันคือ "หนังในจักรวาลเดียวกับ Cloverfield" ก็ยิ่งรู้สึกว่ามันน่าสนใจเข้าไปใหญ่



ที่สำคัญคืองานด้านการถ่ายภาพ!

โอ้ ตอนที่ผมดู Cloverfield รอบล่าสุด ผมรำคาญวิธีการถ่ายของกล้องมากถึงมากที่สุด 

โอเค ผมเข้าใจว่ามันพยายามทำให้เป็นมือสมัครเล่น แต่ให้ตายเหอะ ผมเคยถ่ายกล้องแบบโฮมวิดีโอมาก่อน ผมไม่เห็นว่าแม่งจะต้องซูมเข้าซูมออก เอากล้องออกห่างจากตัวแล้วปล่อยให้มันเอียงๆแบบนั้นเลย (เป็นผม ผมจะกด pause ก่อน)

ผมเข้าใจอารมณ์ที่อยากจะให้มันดูสมจริง ผมนับถือในความพยายามนั้น...

แต่มันไม่สมจริงพอมานั่งนึกถึงสิ่งที่ “คนส่วนใหญ่จะทำกันในสถานการณ์นั้น”

เข้าใจใช่ไหม?

คุณน่าจะเข้าใจใช่ไหม?

แต่เนื่องจาก 10 Cloverfield Lane ไม่ใช่หนังสไตล์ “พบฟุตเตจ” ผมจึงดูได้อย่างสบายใจมาก

เฮ้อ... สบายตาดีจัง!



4) ช่วงสุดท้ายของหนังทำให้ผม “กระหาย”

ฉากโคตรไคลแม็กซ์ (หมายถึง... ไคลแม็กซ์ที่ต่อท้ายฉากที่น่าจะเป็นไคลแม็กซ์อีกที) มันทำให้ผมร้องในใจว่า "เอ๋ เอางี้เลยเรอะ!" ตามด้วยการครุ่นคิดว่า "โอเค เข้าใจแล้วว่าเกี่ยวกับ Cloverfield อีกท่าไหน แต่... มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ล่ะ!? เอ๊ะ เดี๋ยวนะ ตอนจบของ Cloverfield มันมีอะไรตกลงมา... แล้วตอนกลายๆเรื่องจอห์น กู้ดแมนก็พูดถึง.. แสดงว่า... ปัทโธ่เว้ย มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่"

ผมรู้สึกว่าเหตุการณ์ในช่วง "โคตรไคลแม็กซ์" มันออกจะแปลกๆไปนิด โดยเฉพาะ... วิธีการเอาตัวรอดในช่วงท้ายๆ... แต่ด้วยความที่หนังมันไม่ได้อธิบายร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วก็ไม่ได้ถึงกับปล่อยให้เราอยู่ในความมืดไปเสียทั้งหมด ในสมองของผมจึงพยายามจะต่อชิ้นจิ๊กซอว์ในหัวโดยเอาสิ่งที่เห็นใน Cloverfield มาร้อยเข้ากับหนังเรื่องนี้

ผลคือ... มันเหมือนกับภาพจิ๊กซอว์แมวที่พวกมิเชลต่อกันในบังเกอร์น่ะครับ มันมีชิ้นส่วนที่ขาดหายไป แต่ก็พอจะมองเห็นภาพอะไรบ้างแล้ว

และไอ้การได้เห็นภาพคร่าวๆแบบนี้แหละ ทำให้รู้สึกตื่นเต้นเสียยิ่งกว่าการได้รับข้อมูลทั้งหมดมาตรงๆซะอีก! 

มันเหมือนกับตอน Cloverfield ออกฉายในโรงครั้งแรกแล้วซ่อนคำใบ้ของที่มาของสัตว์ประหลาด จนคนดูบางคนชี้ให้คนอื่นๆได้เห็นว่า “ฉากในตอนท้ายมันมีอะไรตกลงมาที่ทะเล” นั่นแหละ
หนังเรื่องนี้ไม่ใช่ Cloverfield 2 แต่มันกระตุ้นความกระหายของเราได้ชะงัดเลยทีเดียว!



โดยรวมผมให้ 10 Cloverfield Lane

8/10

ในขณะที่ Cloverfield ผมลดคะแนนลงมาเหลือราว 

7/10

มันอาจจะมีจุดที่ชวนให้รู้สึกติดใจอยู่บ้าง (ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความสมจริงของวิธีการอะไรสักอย่าง) 

แต่ถ้าเทียบกับวิธีการดำเนินเรื่องที่ชวนให้ติดตาม จุดที่ชวนให้ติดใจพวกนั้นก็พอจะเป็นอะไรที่หยวนได้
ความเป็น Psychological Thriller ก็น่าจะทำให้หนังดูสนุกในรอบๆมากกว่า Cloverfield (ซึ่งยิ่งดูก็ยิ่งเฉยมากขึ้นเรื่อยๆ)

ผมกระหายอยากจะดูว่า "จักรวาลของ Cloverfield" จะแผ่ขยายออกไปในท่าไหน แล้วเรื่องต่อไปจะเล่นมุกการเล่นเรื่องแบบไหนอีก ในขณะเดียวกัน ผมก็รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้สามารถดูจบได้ภายในตัวเช่นกัน เพราะอย่างน้อยมันก็มีความสมบูรณ์ในฐานะ "หนังหนึ่งเรื่อง" อยู่พอสมควร



Create Date : 17 พฤษภาคม 2559
Last Update : 18 พฤษภาคม 2559 13:17:04 น.
Counter : 2198 Pageviews.

0 comment
Eternal Sunshine of Spotless Mind : การลบความทรงจำนี่มันดียังไงรึ?




Eternal Sunshine of the Spotless Mind (ชื่อไทย "ลบเธอไม่ให้ลืม') เป็นหนึ่งในหนังเพียงไม่กี่เรื่องที่ผมดูหลายๆรอบ แล้วขณะที่ผมเติบโตขึ้น มุมมองที่มีต่อหนังเรื่องนี้มันก็เติบโตขึ้นตามไปด้วย

เมื่อตอนผมได้ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรก ผมรู้สึกว่า “หนังมันเท่ หนังมันแนว” ในขณะเดียวกัน ผมก็รู้สึกโดนใจเรื่องการลบความทรงจำที่เจ็บปวด เพราะตอนนั้นน่าจะเป็นช่วงที่ผมได้เจอกับเรื่องที่ผิดหวังมาพอดี ผมถูกใจหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ดู และซื้อแผ่นแท้มาเก็บไว้พร้อมกับดูไปอีกหลายรอบ (แต่ไม่น่าจะถึงสิบรอบ) 

เชื่อมั้ยว่า ผมมองว่าหนังเรื่องนี้เหมาะกับวันวาเลนไทน์มากกว่าหนังโรแมนติกทั่วๆไปเสียอีก

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผมไม่ได้เข้าใจปัญหาระหว่างตัวละครเอกสองตัวมากนัก กระทั่งเวลาผ่านมา 12 ปี เมื่อตอนนี้เอากลับมาดูอีกครั้ง ผมพบว่าตัวเองเหมือนจะเข้าใจอะไรมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น คราวนี้ผมยังได้ตั้งคำถามขึ้นมาในใจอีกว่า... การลบความทรงจำน่ะ มันเป็นเรื่องดียังไงเหรอ?

นั่นสินะ...

พอคำถามนั่นผุดขึ้นมา ผมก็ประมวลผลเพื่อหาคำตอบจาก “ความเข้าใจส่วนตัว” ที่มีต่อหนังเรื่องนี้ โดยเริ่มจากการย้อนกลับไปมองตั้งแต่ต้น



มาทวนเนื้อเรื่องกันหน่อย 

Eternal Sunshine เป็นเรื่องของโจเอล บาริช (จิม แครี่) ที่เจ็บปวดกับการพบความจริงว่าแฟนสาวของเขา คลีเมนไทน์ ครูชินสกี (เคท วินสเลท) ได้ลบความทรงจำเกี่ยวกับตัวเขาไปเรียบร้อยแล้ว กลายเป็นคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน โจเอลเลยคิดจะลบความทรงจำเกี่ยวกับคลีเมนไทน์ออกบ้าง 



ทว่าขณะที่กำลังถูกลบความทรงจำอยู่นั้น โจเอลก็ได้ตระหนักถึงคุณค่าของความทรงจำและความรู้สึกที่ตัวเองมีต่อคลีเมนไทน์ เขาอยากล้มเลิกการลบความทรงจำ ดังนั้นจึงพยายามวิ่งหนีอย่างสุดชีวิตเพื่อจะเก็บความทรงจำของคลีเมนไทน์เอาไว้



ในระหว่างที่โจเอลกำลังถูกลบความทรงจำเกี่ยวกับคลีเมนไทน์หรือวิ่งหนีจากการถูกลบ ผมก็ได้รู้จักเรื่องราวในอดีตระหว่างทั้งสองคนนี้มากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนผมไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมาย แต่ตอนนี้ผมกลับมองว่ามันมีความสำคัญขึ้นมาอย่างประหลาด 

สิ่งที่ผมเข้าใจ (เป็นการส่วนตัว) ก็คือ...


1) ผมเข้าใจว่า โจเอล (จิม แครี่) คืออินโทรเวิร์ต (introvert)... แบบเดียวกับผม... 

เป็นคนเงียบ ขี้อาย ไม่ค่อยพูดกับคนแปลกหน้า ไม่ค่อยถูกโรคกับการเข้าสังคมที่มีผู้คนมากมาย พยายามทำตัวเป็นคนแสนดี ไม่ชอบเป็นจุดเด่น ไม่ชอบให้ใครมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะคนอย่างโจเอล (ผม) เป็นพวก self-esteem (ความนับถือในตัวเอง) ค่อนข้างต่ำ ทำให้เฮิร์ทได้ง่าย ถ้ามีใครเข้ามาในชีวิตแล้วมี first impression ที่แรงพอ ก็จะตกหลุมได้ง่ายมาก กรณีของโจเอลก็คือคลีเมนไทน์

ภายใต้ความพยายามทำตัวเป็นคนแสนดี หรือเงียบ หรือขี้อายนั้น จริงๆแล้วภายในใจกลับเต็มไปด้วยเสียงพูดที่สับสน คอยวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ ที่เลวร้ายที่สุดคือการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง และพยายามจะ “ควบคุม” ทุกอย่างให้มันเป็นไปตามอย่างที่ตัวเองต้องการ... 

ที่ต้องทำอย่างนั้นเพราะโจเอล (ผม) รู้สึกว่าอะไรๆมันก็ “ไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง (insecurity)” และเพื่อความสบายใจ จึงต้องการให้ทุกอย่างมันเป็นไปในทิศทางที่ตัวเองกำหนด ซึ่งแน่นอนว่าในโลกความเป็นจริง เหตุการณ์มันสามารถพลิกผันไปเรื่อย ไม่มีวันจะเป็นไปอย่างใจต้องการได้ตลอด (ทำให้ fail) แถมยังเอาความเป็นคนแสนดีนั้น มาทำให้น่าสงสาร ใช้มันเพื่อเรียกร้องผลตอบแทนอีก! (ถ้าอีกฝ่ายไม่ให้ตอบสนองก็จะรู้สึก fail หนักขึ้น) 

โจเอลไม่มีความมั่นใจในตัวเอง มองว่าชีวิตตัวเองคือความน่าเบื่อ เป็นกระดาษขาวที่ว่างเปล่า เพราะอย่างนั้นจึงแสวงหาความสมบูรณ์จากชีวิตรอบข้างและผู้อื่น เพื่อจะมาเติมเต็มความว่างเปล่าของตัวเอง แต่ไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตัวเองเป็น และเพราะไม่ชอบการถูกวิพากษ์วิจารณ์ จึงไม่กล้าที่จะลงมือทำอะไร กลัวนู่นกลัวนี่ กลัวว่าถ้าตัวเราทำแล้วไม่เวิร์คจะเป็นยังไง ชีวิตเลยเหมือนจะไม่ได้รับการเติมเต็มสักที ดังนั้นเขาจึงมองคลีเมนไทน์เป็นเหมือนคนที่มาเติมเต็มตัวเขา มาทำให้หน้ากระดาษที่ว่างเปล่ามีสีสันขึ้น

ท้ายที่สุดสิ่งเหล่านั้นได้พัฒนากลายมาเป็น “ความรู้สึกด้อยคุณค่า” เริ่มใช้ความเปราะบางของตัวเองเป็นเครื่องมือในการรับมือกับโลกความเป็นจริง ใช้มันในการเรียกร้องความสนใจจากคนอื่น หรือใช้มันในการควบคุมชีวิตของคนอื่น (น่าจะแบบเดียวกับจิตวิทยาของอัลเฟร็ด แอดเลอร์)


2) ผมเข้าใจว่า คลีเมนไทน์นั้นดูภายนอกเหมือนเป็นคนที่โฉบเฉี่ยว มั่นใจในตัวเอง ทักทายคนแปลกหน้าได้อย่างไม่มีปัญหา ตัดสินใจอะไรรวดเร็ว พูดง่ายๆคือภายนอกดูเจ๋ง เซ็กซี่ และเป็นมิตรมาก

แต่เอาจริงๆแล้วคนอย่างคลีเมนไทน์ ลึกๆแล้วแทบไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย เธอเปราะบางมาก แต่แทนที่จะเก็บตัวเงียบแบบโจเอล คนอย่างคลีเมนไทน์จะยิ่งใช้การแต่งตัวที่โฉบเฉี่ยว สีผมแรงๆ บุคลิกแรงๆที่เหมือนจะมั่นใจ เอามาใช้กลบความรู้สึกไม่มั่นใจหรือความเปราะบางของตัวเอง  

คลีเมนไทน์จะค่อนข้างสุดโต่ง เวลาดีใจก็ต้องดีใจสุด หัวเราะแบบสุดๆ เวลาเศร้าก็ต้องเศร้าแบบสุดๆ เวลาตัดสินใจอะไรก็จะใช้อารมณ์เป็นหลัก (หุนหันพลันแล่น) 

ระหว่างดำเนินเรื่อง เราจะได้ยินคลีเมนไทน์พูดอยู่บ่อยครั้งว่า เธอรู้สึกเหมือนตัวเอง “ไม่สวย” เมื่ออยู่ในช่วงที่ “จิตแตก” เธอจะรู้สึกว่าตัวเอง “น่าเกลียด” เลยด้วยซ้ำ นั่นคือประเด็นหลักของ “ความรู้สึกด้อยค่า” ในใจเธอ   




3) ความสัมพันธ์ของโจเอลกับคลีเมนไทน์ย่ำแย่เพราะ...

ทั้งคู่เปลี่ยนจากความรักมาเป็นการ “ทำสงครามควบคุมอำนาจ” แทน... แบบที่คู่รักส่วนใหญ่มักทำกัน... แบบที่พ่อแม่ลูกส่วนใหญ่มักทำกัน...

สงครามคุมอำนาจ!

ผมเข้าใจว่า หลังจากคบกัน โจเอลเริ่มรู้สึกเหมือนคลีเมนไทน์เป็นปัจจัยที่ “ควบคุมไม่ได้” เขาเริ่มขุดความด้อยคุณค่าของตัวเองขึ้นมาเป็นเครื่องมือเพื่อจะโจมตีคลีเมนไทน์  เพื่อจะหาทางควบคุมคลีเมนไทน์ให้กลับมาอยู่ในกรอบที่เขาต้องการในขณะที่คลีเมนไทน์ไม่ชอบให้ใครมาตีกรอบหรือยัดเยียดความคิดให้เธอ ความรักที่หวือหวาในตอนแรก เลยกลายเป็นความน่าเบื่อมากขึ้นทุกทีๆ



โจเอลเริ่มไม่ไว้วางใจคลีเมนไทน์มากขึ้นเรื่อยๆ (เพราะคลีเมนไทน์ชักจะไม่เริ่มไม่ตอบสนองต่อความต้องการของเขา) เขาเริ่มตั้งทฤษฎีขึ้นเกี่ยวกับคลีเมนไทน์ สรุปเองเออเองว่าคลีเมนไทน์เป็นคนแบบไหนยังไง เริ่มเอาความรู้สึก “ไม่มั่นคง (insecurity)” ในใจตัวเองโยนใส่ให้อีกฝ่าย

เช่น

คลีเมนไทน์อยากมีลูก โจเอลกลับไม่แน่ใจว่าทั้งคู่พร้อมจะมีลูก และโยนความไม่มั่นใจนั้นไปให้คลีเมนไทน์... ตัดสินว่าคลีเมนไทน์ไม่น่าจะเหมาะกับการมีลูก (แต่จริงๆคือโจเอลอาจไม่มั่นใจในตัวเอง)

คลีเมนไทน์เล่าทุกอย่างให้โจเอลฟัง แต่โจเอลไม่ค่อยได้เปิดเผยอะไรให้คลีเมนไทน์ฟัง นั่นอาจเป็นเพราะโจเอลกลัวการถูกวิพากษ์วิจารณ์ กลัวว่าความ self-esteem ที่ต่ำต่อยจะถล่มมาทับตัวเองตาย เลยอ้างไปว่า “เพราะชีวิตของตัวเองน่าเบื่อ เลยไม่อยากเล่า” แต่นั่นคือความไม่ไว้วางใจที่โจเอลมีต่อคู่รักตัวเอง 



ที่หนักข้อสุดคือเมื่อเธอกลับบ้านดึกถึงตีสาม เขาเริ่มโจมตีใส่เธอด้วยคำพูดก่อนจะปล่อยหมัดฮุคออกไปว่า “เธอใช้เซ็กส์มาเป็นวิธีให้คนอื่นมาชอบเธอ” 

นั่นคือการโจมตีระดับ critical hit ของโจเอล

ส่วนคลีเมนไทน์นั้น เธอเคยบอกโจเอลมาตั้งแต่ก่อนคบกันแล้วว่า ผู้ชายส่วนใหญ่ชอบมองเธอเป็นเหมือนกับสิ่งที่จะไปเติมเต็มพวกเขา หรือเธอจะทำให้พวกเขามีชีวิตชีวา แต่เอาจริงๆแล้วเธอคือผู้หญิงที่ทำชีวิตตัวเองเละเทะและกำลังแสวงหาความสงบสุขในจิตใจของตัวเอง ฉะนั้นอย่าได้เอาข้อกำหนดกฎเกณฑ์ของตัวเขามาใส่ตัวเธอ



ทว่านอกจากจะไม่ใส่ใจเรื่องนั้นแล้ว โจเอลยังไปขุด “ความรู้สึกด้อยค่า” ที่คลีเมนไทน์ฝังไว้ในส่วนลึกของจิตใจให้มันขยายกว้างขึ้นอีกต่างหาก

เมื่อโจเอลตัดสินเธอราวกับว่าเธอไม่น่าจะเลี้ยงลูกได้ดี ส่วนลึกของคลีเมนไทน์น่าจะเอาไปตีความทำนองว่า “อ๋อ ใช่สิ ฉันมันไม่มีคุณค่าเพราะฉันไม่สวย ขี้เหร่ใช่ไหม?”

เมื่อโจเอลไม่เปิดเผยเรื่องราวให้เธอฟัง มีแต่เธอเปิดเผยทุกอย่างฝ่ายเดียว มันอาจเหมือนกับการตอกหน้าเธอว่า “เธอมันไม่มีคุณค่าพอจะเล่าเรื่องของฉันให้ฟัง เพราะเธอไม่สวยและขี้เหร่” 

และไฮไลท์สำคัญ คือเรื่องที่โจเอลฟันธงว่าคลีเมนไทน์ใช้เซ็กส์ในการทำให้คนอื่นชอบ มันอาจเหมือนกับการตอกหน้าเธอว่า “เธอมันไม่มีคุณค่าพอจะให้ใครมาชอบ เพราะเธอมันไม่สวยและขี้เหร่ (ถึงต้องใช้เซ็กส์มาล่อ)”

อะไรคือข้อพิสูจน์ประเด็นที่ว่ามา?

ตลอดทั้งเรื่อง คลีเมนไทน์มักจะแคร์เรื่อง "ภาพลักษณ์" ของตัวเองอยู่บ่อยครั้ง และมักวนเวียนแต่การพูดถึง "สวย-ไม่สวย" หรือ "ขี้เหร่" นอกจากนี้มันยังมีตอนที่เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้คลีเมนไทน์ตัดสินใจทิ้งโจเอลด้วยการลบความทรงจำเกี่ยวกับเขาทิ้งก็คือ การอยู่กับโจเอลทำให้เธอรู้สึกเกลียดตัวเธอเองมากขึ้นเรื่อยๆ (เพราะโจเอลไปขุดเอาส่วนที่เธอเกลียดเกี่ยวกับตัวเธอเองมาขยายใหญ่ขึ้น)

เพราะฉะนั้นผมเลยเริ่มสงสัยว่า พฤติกรรมที่คลีเมนไทน์ทำต่อโจเอล อย่างเช่นวิพากษ์วิจารณ์เขาในเรื่องเล็กน้อย นั่นจะเป็นการแก้แค้นโจเอลหรือเปล่า, เมื่อคลีเมนไทน์ออกไปเที่ยวแล้วกลับดึกๆดื่นๆ แถมทำรถพัง นั่นจะเป็นการแก้แค้นโจเอลหรือเปล่า, เมื่อคลีเมนไทน์ตัดสินใจลบความทรงจำของโจเอลจนหมด นั่นจะเป็นการแก้แค้นโจเอลหรือเปล่า


4) ผมเข้าใจว่า ทั้งคู่ลืมมองความจริงว่า Nobody’s Perfect... 

ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ และทุกคนล้วนแสวงหา “รักไร้เงื่อนไข (unconditional love)” ที่คนรักจะสามารถรักเขาหรือเธอในแบบที่ตัวเองเป็นได้ ไม่ใช่ในแบบที่คนอื่นอยากให้เป็น 

แต่คนเราจะรักแบบ “ไร้เงื่อนไข” ได้ยังไงถ้ายังเรียกร้องอะไรจากคนที่เรารักอยู่?

มันจะเป็น “รักไร้เงื่อนไข” ได้ยังไงถ้าเรายังเรียกร้องให้อีกฝ่าย “ต้อง” เข้ามาเติมเต็มในชีวิต?

มันจะเป็น “รักไร้เงื่อนไข” ได้ยังไงถ้าอีกฝ่ายต้องทำอะไรให้เรา เพื่อที่ตัวเราจะสามารถรักอีกฝ่ายได้?

มันจะเป็น “รักไร้เงื่อนไข” ได้ยังไงถ้าเราเข้าไปจู้จี้จุกจิกจุ้นจ้าน อ้างเพราะคำว่า “เพราะรักถึงได้จุ้นจ้าน” แต่จริงๆแล้วเรากำลังเข้าไปควบคุมอีกฝ่าย เพื่อที่จะให้อีกฝ่ายเดินตามกรอบที่เราต้องการ?

มันจะเป็น “รักไร้เงื่อนไข” ได้ยังไงถ้าเรายังรักคนอีกฝ่ายด้วย “ภาพคนรักในอุดมคติ” โดยที่ไม่สนใจความเป็นจริงที่อีกฝ่ายเป็นอยู่? 

มันจะเป็น “รักไร้เงื่อนไข” ได้ยังไงถ้าเราไม่ได้มองอีกฝ่ายในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่มองอีกฝ่ายในฐานะเครื่องมือสำหรับกลบช่องโหว่ในจิตใจของตัวเอง?

ผมมองว่าประเด็นนี้ไม่ใช่แค่กับเรื่องคู่รักเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาระหว่างพ่อแม่กับลูกด้วย

ปัญหาระหว่างเพื่อนยังพอทำเนา ถ้าคบไม่ได้ก็จบๆกันไป

ปัญหาระหว่างคนรักหรือสามีภรรยา ถ้าที่ขีดสุดยังสามารถหย่าร้างกันได้ (แต่เจ็บปวดกว่าเลิกคบกับเพื่อน)

แต่ปัญหาระหว่างพ่อแม่กับลูกนี่ เป็นปัญหาที่ล้ำลึกและซับซ้อนกว่ามาก กับหลายๆคน มันกลายเป็นบาดแผลที่กรีดลึกไปตลอดทั้งชีวิตเลยทีเดียว อย่างในมุมของจิตวิทยาแบบแอดเลอร์ (Individual psychology) ปัญหาของมนุษย์ส่วนใหญ่มันเริ่มมาตั้งแต่ระดับครอบครัวเลยทีเดียว

อย่างกรณีของโจเอลใน Eternal Sunshine มันมีช่วงที่เราจะได้เห็นว่าโจเอลต้องการเรียกร้องความสนใจจากแม่มากแค่ไหน พอแม่ไม่สนใจ ความรู้สึกไม่ปลอดภัยของโจเอลก็เริ่มถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงวัยเด็กนี่แหละ

เราจะได้เห็นในบางฉากว่า โจเอลที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว พยายามจะเรียกร้องความสนใจจากคลีเมนไทน์ด้วยการแกล้งเอาซอสมาทำเป็นเลือดแล้วนอนตาย พอคลีเมนไทน์ไม่สนก็รู้สึก fail (แบบเดียวกับที่เคยพยายามเรียกร้องให้แม่สนใจ แต่แม่ไม่สนใจ) มันยิ่งตอกย้ำความรู้สึก “ไม่มั่นคง (insecurity) ในใจของโจเอลหนักขึ้นไปอีก



โอเค ชีวิตนี้มันมีปัญหามากมายเลย ทั้งโจเอล ทั้งคลีเมนไทน์ ทั้งตัวพวกเราเอง

แต่ว่า...

การลบความทรงจำจะช่วยแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนขนาดนั้นได้จริงๆน่ะหรือ?

เพื่อที่ผมจะได้คำตอบนี้ ผมอยากจะลองหันไปคิดถึงข้อดีข้อเสียของการลืมและการจดจำเสียก่อน



Smileyข้อดีของการลืมSmiley

สมองของมนุษย์เราคือ “เครื่องจักรการเรียนรู้ที่ซับซ้อนที่สุดในโลก” มันเป็นเครื่องจักรที่กินพลังงานส่วนใหญ่ของร่างกาย ทำงานเกือบจะตลอด 24 ชั่วโมง 

พวกเราจำจากการเรียนรู้ ในวันหนึ่งๆจะมีข้อมูลมากมายไหลเข้ามาในสมองของเราอย่างต่อเนื่อง เมื่อสมองเรากินพลังงานมาก ทำงานหนักมาก มันก็ย่อมต้อง “ร้อนฉ่า” เป็นของธรรมดา 

ถ้าหากสมองจะบันทึกข้อมูลทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในแต่ละวัน มันอาจต้องการพื้นที่สำหรับเก็บบันทึกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแปลว่าสมองของเราจะต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น การมีขนาดใหญ่ขึ้นก็แปลว่าสมองจะยิ่งต้องร้อนขึ้น และมันจะยิ่งต้องการพลังงานมากขึ้น ดังนั้นเพื่อรักษาความสมดุลของสมองในปัจจุบัน ธรรมชาติจึงต้องสร้างขีดจำกัดให้กับสมองของเรา 

มันคือ “การลืม” นั่นเอง

มนุษย์เรามีความสามารถในการลืมเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว การลืมของเราคือการคัดสรรของสมองว่าอะไรสำคัญและอะไรไม่สำคัญ เพื่อจะเคลียร์พื้นที่สำหรับรับข้อมูลใหม่ๆและลดการทำงานหนักของตัวเองลงด้วย

Smileyข้อเสียของการลืมSmiley

การลืมย่อมมีข้อเสีย เช่น การลืมวิธีใช้แปรงสีฟัน ลืมวิธีการใช้ชีวิตประจำวัน ลืมชื่อแม้กระทั่งคนในครอบครัว ลืมวันสำคัญๆของคนในครอบครัว ลืมการนัดหมายกับทั้งเรื่องส่วนตัวและงาน ลืมว่าวันนี้เราจะต้องทำอะไรยังไง ลืมว่าเราได้ยืมเงินใครมา บลาๆๆๆๆๆ

พูดง่ายๆคือ ถ้าลืมบ่อยๆก็ย่อมต้องไม่ดีแน่ๆ ใครเคยดูหนังอย่าง Memento ที่พระเอกสร้างความทรงจำอะไรใหม่ๆไม่ได้ ทำอะไรก็จะลืมในแค่ไม่กี่นาที คงจะเข้าใจดี

Smileyข้อดีของการจดจำSmiley

ลองนึกถึงบรรพบุรุษของเราดูสิครับ พวกท่านต้องเรียนรู้ในการล่าสัตว์, ก่อกองไฟ, สร้างอาวุธจากหิน, ตัดสินใจมารวมกลุ่มกันเพื่อล่าแมมมอธขนาดใหญ่, ตัดสินใจรวมกลุ่มสร้างสังคมกันเพื่อความอยู่รอด ฯลฯ 

ทั้งหมดนั่นเกิดจาก “ระบบการจดจำ” ของสมอง (เครื่องจักรการเรียนรู้)

พวกเราเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ซึ่งอาศัยความจำ เช่น ไอ้ที่เราเห็นคืออะไร? เสือเขี้ยวดาบหรือแมมมอธ? แล้วเราจะล่ามันยังไง? ล่ามันคนเดียวได้ไหม? แล้วต้องใช้คนกี่คน? ต้องใช้อาวุธแบบไหนยังไง? มนุษย์เราพัฒนามาได้ด้วยการ “ลองผิดลองถูก (trial and error)” ค่อยๆเรียนรู้ว่าอะไรเวิร์ค อะไรไม่เวิร์ค แล้วหาทางแก้ไขปัญหาที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด

เราจะแก้ไขปัญหาไม่ได้เลยถ้าปราศจากการจำ

Smileyข้อเสียของการจำSmiley

ปัญหาของมนุษย์เราคือ “อารมณ์และความรู้สึก” มีผลต่อการจดจำและการลืมของมนุษย์อย่างยิ่งยวด

มันเหมือนกับในหนัง Eternal Sunshine ที่การจะลบความทรงจำของคนไข้ ทีมงานของดอกเตอร์จะต้องใช้ “ข้าวของที่ส่งผลต่ออารมณ์” มากระตุ้นการทำงานส่วนหนึ่งของสมอง ค่อยๆกระตุ้นความจำผ่านอารมณ์และความรู้สึกพร้อมกับทำ “แผนที่ความทรงจำ” ของเรื่องราวที่ต้องการจะลบไปด้วย

นั่นแปลว่า คนเราจะจำได้ดีมากถึงมากที่สุดเมื่อสิ่งที่เผชิญหน้าอยู่นั้น “มีผลกระทบกับจิตใจอย่างรุนแรง” ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นความประทับใจอย่างสุดซึ้ง หรือความขมขื่นแสนสาหัสก็ตาม

หลายๆคนคงรู้จักคำว่า “อยากลืมแต่กลับจำ” 

ไอ้ “อยากลืม” นั่นแปลว่าสิ่งนั้นมันกระแทกจิตใจเราอย่างรุนแรงจนอยากจะลืมๆมันไปซะ แต่เนื่องจากมันกระแทกจิตใจเรามาก มันจึงเป็นการ “ประทับ” ในความทรงจำชนิดติดตรึงไปโดยปริยาย แม้ว่าเราจะไม่ต้องการมันแล้วก็ตาม

พูดง่ายๆคือความจำมีประโยชน์ แต่จำดีเกินไปก็ดันกลายเป็นทุกข์ซะงั้น

ย้อนกลับมาที่ประเด็นของ Eternal Sunshine...

การลบความทรงจำที่เจ็บปวดของโจเอลกับคลีเมนไทน์ สามารถทำให้ทั้งคู่ปลดปล่อยตัวเองจากความสัมพันธ์อันย่ำแย่ได้ง่ายขึ้น ทำให้สามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้า หรือเริ่มต้นชีวิตใหม่ หรือความรักครั้งใหม่ได้ง่ายขึ้น

แต่ว่ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง โจเอลกับคลีเมนไทน์ที่ลบความทรงจำไปแล้ว จะยังคงเป็นคนแบบเดิมๆ มีกลไกทางจิตแบบเดิม ใช้ความด้อยคุณค่าของตัวเองเป็นเครื่องมือเหมือนเดิม ตอบสนองสิ่งต่างๆไปตามมุมมองความคิดแบบเดิมๆ...

ถ้าอย่างนั้นแล้ว การลบความทรงจำจะทำให้ทั้งคู่สามารถเรียนรู้ที่จะทำตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไรล่ะ?

ทั้งคู่จะเรียนรู้ที่จะทำให้ความรักครั้งใหม่ ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร?

ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะทำเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำเล่าซ้ำเล่า อยู่อย่างนั้นจนวันตายหรอกหรือ?



ถ้าอย่างนั้นการลบความทรงจำจะมีประโยชน์อย่างไรกันล่ะ?



ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านความรัก เอาจริงๆผมก็ค่อนข้างจะเห่ยกับเรื่องนี้พอสมควร (ขำๆน่ะครับ)

ผมไม่ใช่คนเพอร์เฟคท์ด้วย 

แต่ผมเคยได้ยินจากที่ไหนสักแห่ง (คือผมอ่านหนังสือมาเยอะมาก บางทีก็จำไม่ได้แล้วจริงๆว่าใครเป็นคนพูดอะไร)...

บอกว่า...

“ความรักคือการปล่อยวาง” (โอ้โห! คำพระเลยทีเดียว!)

ปล่อยตัวเองจากการควบคุมอีกฝ่ายให้มาตอบสนองความต้องการของตัวเรา

ปล่อยตัวเองจากความรู้สึกผิดที่ว่า “ทำไมตอนนั้นไม่ทำอย่างนั้น ทำไมตอนนั้นไม่ทำอย่างนี้”

ปล่อยตัวเองจากความสมบูรณ์แบบ-ความไม่สมบูรณ์แบบ

และอะไรอีกหลายอย่าง จำไม่ค่อยได้

แต่คำกล่าวนี้มันถูกต้องจริงๆหรือเปล่านะ?

ในหนัง Eternal Sunshine มีการอ้างคำคมของฟริดริค นิทเช่ซึ่งบอกว่า “Blessed Are the forgetful for they get the better even of their blunders.”

สรุปความหมายตามความเข้าใจแบบง่ายๆของผมก็คือ "ความสามารถในการลืมนับเป็นพรอันประเสริฐ" 



แต่ว่า...

สมมตินะครับ สมมติว่าถ้าคำพูดนี้ไม่ได้หมายถึงการลบความทรงจำ...

แต่มันหมายถึง “การปล่อยวาง” ล่ะ?

“การลบความทรงจำนี่มันดียังไง?”

หากคำตอบหมายถึงการลบความทรงจำในทางกายภาพแบบในหนัง คือใช้เครื่องมือลบความทรงจำของตัวเองไปเลย มันก็อาจจะไม่ใช่เรื่องดีอย่างที่คิด เพราะอย่างที่กล่าวมาข้างต้น คนเราจะไม่สามารถเรียนรู้บทเรียนในอดีตของตัวเอง เพื่อเอามาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นได้เลย มันเป็นการหนีปัญหามากกว่าจะแก้ไขปัญหา

พูดง่ายๆคือการลบความทรงจำทางกายภาพ ก็เหมือนกับเป็นการลบความสามารถในการเรียนรู้และจดจำไปด้วย

แต่ถ้า “การลบความทรงจำ” หมายถึง “การปล่อยวาง” ซึ่งเป็นการลบความทรงจำในเชิงนามธรรมละก็... อันนี้ค่อยน่าพิจารณาหน่อย

เพราะมันจะไม่ได้หมายความถึง “การลบเรื่องที่ไม่ชอบให้สิ้นซาก” เพียงอย่างเดียว

แต่มันเปิดโอกาสให้เราได้ปลดปล่อยตัวเราเองจากอดีต ลืมในสิ่งที่ควรลืม จำในสิ่งที่ควรจำ แล้วหันมาใส่ใจกับการเรียนรู้ในปัจจุบัน เดินหน้าต่อไปแทนที่จะติดแหงกอยู่แต่กับอดีต การกระทำของพ่อแม่, อดีตคนรัก, เพื่อนฝูง หรือจะใครก็ล้วนไม่มีสิทธิ์ฉุดรั้งเรา 

ถ้าผมเป็นโจเอล สิ่งที่ผมจะทำหลังจากหนังจบคือ ผมจะหาวิธี “เติมเต็มให้ตัวเอง” โดยไม่ต้องรอให้คลีเมนไทน์หรือใครคนอื่นมาเติมเต็มให้ ผมจะหาวิธีทำให้ตัวเองสามารถมีความสุขได้จากตัวเอง ผมจะหาวิธีทำให้ตัวเองเรียนรู้ที่จะปล่อยวางตัวตนในอดีตแล้วเดินหน้าไปสู่อนาคต 

ผมจะหยุดการขุดความด้อยค่าของตัวเองมาเป็นเครื่องมือ มาทำตัวเองให้น่าสงสาร ผมจะออกกำลังกายทุกวัน ผมจะค่อยๆทำสิ่งที่ตัวเองรักทุกวัน ผมจะค่อยๆหาวิธีขุดด้านดีของตัวเองเอาออกมาใช้ทุกๆวัน อย่างเช่นการเขียนบล็อกแบบนี้

ปัญหาคือโจเอลคือความไม่กล้า ถ้าเป็นผม ผมจะแก้ไขปัญหานี้โดยการทำอะไรที่มันท้าทายความเชื่อเดิมๆ เช่น เขียนบทความนี้ทั้งที่ไม่ได้เป็นนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญ (ซึ่งแปลว่าอาจมีความเข้าใจผิดพลาด) และกำหนดกรอบเวลาในการเกลา (เพราะไม่อย่างนั้นจะเกลาไม่เลิก) และเมื่อกดเผยแพร่บทความนี้ออกไป อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ (ซึ่งเป็นสิ่งที่คนแบบโจเอลเกลียด)

......

......

เขียนไปเขียนมา ผมชักจะเริ่มเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อยแล้วละ

อ้อ มันเป็นแบบนี้นี่เอง  

“ตะวันฉายนิรันดรแห่งจิตใจซึ่งไร้มลทิน”

Eternal Sunshine of the Spotless Mind

มันเป็นแบบนี้นี่เอง...










Create Date : 07 พฤษภาคม 2559
Last Update : 7 พฤษภาคม 2559 11:23:34 น.
Counter : 4540 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

หมาหัวโจก
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]



All Blog