เนื้อเรื่องในเกมนั้นสำคัญไฉน?

วาทะเผ็ดร้อนจากนักวิจารณ์หนังชื่อดังผู้ล่วงลับไปแล้ว (ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาบทความตรงๆ แต่จู่ๆก็นึกถึงคำพูดนี้ขึ้นมา)


ถ้ามีคนบอกผมว่า เกมมันก็ควรจะเป็นเรื่องของเกมเพลย์สิ ไม่งั้นมันก็ไม่ใช่เกมแล้ว (กรณีความเห็นของคุณ TeeYai จากบทความ MGS V อันนี้)

ผมว่าเขาถูก ผมจะไม่เถียงเขามากมายนะ

ดูอย่างเกมมาริโอสิ! เกมพัซเซิลอย่าง Tetris ต้องใช้เนื้อเรื่องถึงจะเป็นเกมที่ดีได้อย่างนั้นหรือ? Donkey Kong ล่ะ? Winning Eleven ล่ะ? พวกนี้จำเป็นต้องมีเนื้อเรื่องเพื่อจะเป็นเกมที่ดีอย่างนั้นหรือ?

แม้กระทั่ง Pong ...ใช่ Pong ผมไม่ได้ประชด แต่ Pong คือเกมระดับตำนานที่ใครๆก็ยกย่อง เรื่องทฤษฎีที่ว่าด้วยการทำเกม (Rules of Play) ก็ยกเรื่อง Pong มาพูดถึง “หัวใจของเกม” ดังนั้น Pong จึงเป็นเกมที่ดีโดยไม่เห็นต้องมีเนื้อเรื่อง!  


Pong เกมระดับตำนานยุคแรกๆ


แต่นั่นแหละ ที่ทำให้ผมรู้สึกสนใจในคำถามที่ผุดขึ้นมาในหัว...

เนื้อเรื่องในเกมนั้นสำคัญไฉน? 

นี่เป็นหัวข้อที่ผมรู้สึกว่ามันน่าสนใจ เลยอยากจะลองมองลึกลงไปในความรู้สึกของตัวเองดู



ย้อนกลับไปปี 2012 เกม “ปิดไตรภาค” ระดับตำนาน AAA อย่าง Mass Effect 3 สร้างความผิดหวังให้กับคนทั่วโลก มีเสียงก่นด่าเกิดขึ้นจนถึงขั้นที่ผู้สร้างเกมต้องกล่าวขอโทษขอโพยและปล่อยตัว Extended Cut ออกมาให้โหลดกันฟรีๆ! 


Patch ขยายเนื้อหาตอนจบที่แจกกันฟรีๆ


ทั้งที่พูดจริงๆแล้วตัว “เกมเพลย์” ไม่ได้มีปัญหาอะไร กลับจะลื่นไหลกว่าภาคก่อนๆด้วยซ้ำ

แต่ที่คนรับกันไม่ได้ก็คือ “เนื้อเรื่อง” ซึ่งบทสรุปของเรื่องราวกลับทอดทิ้ง “ทางเลือก” ที่ผู้เล่นได้เลือกมาตลอดตั้งแต่ภาคแรกจนมาถึงภาคสาม ได้ทอดทิ้งความสัมพันธ์ระหว่างหมู่ผองเพื่อนรอบตัวละครเอกชื่อ “เชพพาร์ด” หนำซ้ำยังไร้เหตุผลชนิดที่เรียกว่า “เหมือนฝันร้ายของเชพพาร์ด” มากกว่าจะเป็นเหตุการณ์จริงๆ และมีคนตั้งทฤษฎีว่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นในภาคสามคือความฝันเสียด้วยซ้ำ!

ที่คนเขาด่า Mass Effect 3 กันเพราะพวกเขา “ผูกพัน” กับ “เรื่องราว” และ “ตัวละคร” ที่อยู่ในเกม ซึ่งมันเป็นคุณค่าที่มากไปกว่า “ความสนุกที่ได้รับจากเกมเพลย์” ยังไงละครับ!!




ลองถอยออกมาจาก Mass Effect 3 เสียหน่อย

จำตอน Final Fantasy VII ออกได้ไหมครับ? จำตอนที่เอริธถูกเซฟิรอธเสียบตายได้ไหมครับ? ตอนนั้นคนเล่นเกมรู้สึกอินกับฉากนี้มาก ฉากนี้มันจะสร้างผลกระทบต่อความรู้สึกกับคนเล่นเกมไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่เพราะความผูกพันกับตัวละคร... “ซึ่งเกิดมาจากเนื้อเรื่อง”


ฉากคลาสสิคที่คนเล่นเกมรุ่นหนึ่งจะต้องเคยได้ซาบซึ้งไปด้วย


จำตอน Final Fantasy VI ได้ไหม? พวกคุณสนุกกับกลุ่มของทีน่า (เทอร่า), เซเรส ฯลฯ ในครึ่งแรกแค่ไหน? พวกคุณประทับกับฉากของเซเรสหลังโลกบึ้มมากแค่ไหน? ความรู้สึกผูกพันกับตัวละครเหล่านี้จะไม่สมบูรณ์ถ้าขาดสิ่งที่เรื่องว่า “เนื้อเรื่อง” จริงไหมครับ?


อีกหนึ่งฉากคลาสสิค เซเลสโศกเศร้าก่อนจะโดดหน้าผาตอนกลางเรื่อง


ผมยังจำตอนที่เล่น The Legend of Zelda : Ocarina of Time ได้ ผมไม่ได้คาดหวังอะไรจากเนื้อเรื่องของเกม Zelda มากนัก เพราะจุดเด่นของซีรีส์นี้คือ “เกมเพลย์” แต่! แต่! พอถึงตอนจบ ผมรู้สึกประทับใจ รวมทั้งรู้สึกอ้างว้าง การผจญภัยอันยาวนานได้จบลง ลิ้งค์ได้เป็นผู้กล้าช่วยเหลือโลก ช่วยเหลือเจ้าหญิงเซลด้า แต่ต้องจากเพื่อนๆที่ได้พบเจอระหว่างทางมา...

อารมณ์ตรงนี้มันจะไม่เวิร์กเลย ถ้าเนื้อเรื่องของ Ocarina of Time ไม่ดี เนื้อเรื่องใน Ocarina of Time นั้นสุดแสนจะเรียบง่าย แต่กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความรู้สึก มันทำให้ผมทั้งประทับใจและเศร้าในเวลาเดียวกันอย่างที่ว่ามา

ฉากจบนี้ผมรู้สึกว้าเหว่มาก


ยังจำ Silent Hill ได้ไหมครับ?

Silent Hill เป็นเกมสยองขวัญที่มีจุดเด่นด้าน “บรรยากาศ” กับ “ตัวเนื้อเรื่อง” แต่ถ้าพูดถึงระบบการต่อสู้ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เกมซีรีส์นี้ไม่เคยมีจุดแข็งที่ระบบการต่อสู้” สิ่งที่คนพูดถึง Silent Hill เป็นเรื่องของบรรยากาศและการวิเคราะห์เรื่องราว เพราะเนื้อเรื่องของ Silent Hill นั้นเต็มไปด้วยความลึกลับซับซ้อน และเชื่อมโยงกับ “จิตใจ” ของตัวละครได้อย่างแนบเนียน 

จนแม้แต่ผมยังต้องสละเวลามานั่งวิเคราะห์มันเลยนะ!






เกมนี้ไม่ใช่เรื่องความสยองขวัญ แต่มีเรื่องจิตวิเคราะห์แฝงอยู่ด้วย


แล้ว Tales of the Abyss ล่ะ? Kingdom Hearts ล่ะ? Persona 4 ล่ะ? The Witcher ทั้งสามภาคล่ะ? Half Life ทั้งสองภาคล่ะ? Batman Arkham ทั้งสามภาคล่ะ? Resident Evil? Deus Ex กับ Deus Ex Human Revolution? เกมค่าย Tell Tales อย่าง The Walking Dead หรือ The Wolf Among Us ล่ะ?

ไม่ใช่ว่าเกมเหล่านี้สร้างความประทับให้แก่ผู้เล่นเกมเพราะมีเนื้อเรื่องที่ดี ไม่ใช่แค่เกมเพลย์อย่างเดียวหรอกหรือ?

แม้กระทั่ง Metal Gear Solid ก็มีจุดเด่นด้านเนื้อเรื่องตลอดมา!! 


ผมเคยพูดถึง Spec Ops : The Line ที่มีจุดเด่นในการเอาวรรณกรรม Heart of Darkness มาดัดแปลง (Apocalypse Now ที่เป็นหนังออสการ์ก็ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่องเดียวกัน)

เกมควรจะเป็นเรื่องของเกมเพลย์ อันนี้ถูกต้องอย่างที่สุด

แต่ถ้าเนื้อเรื่องเป็นส่วนหนึ่งของเกมเพลย์ล่ะ?



ผมอยากแนะนำให้ทุกคนเล่น Her Story ครับ เคยเขียนบทความไว้แล้ว ไปอ่านกันก่อนได้เลยครับ



Her Story เป็นตัวอย่างที่เนื้อเรื่องกับเกมเพลย์มารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน 

ทั้งเกมคือคุณจะต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ และเลือกดูวิดีโอ (เนื้อเรื่อง) หลังดูวิดีโอเสร็จ คุณต้องเสิร์ชหาคำโดยค้นหาจากคำในวิดีโอเช่นคำว่า “murder” เพราะได้ยินตัวละครพูดคำว่า “murder” เมื่อตะกี้นี้ (เกมเพลย์) แล้วคุณก็ค้นพบวิดีโอใหม่เพื่อที่จะมานั่งดูเนื้อหาอีกครั้ง (เนื้อเรื่อง) แล้วก็ค้นหาคำน่าสงสัยที่ซ่อนอยู่ในคำพูดตัวละครอีกครั้ง (เกมเพลย์) 

สลับกันไปเรื่อยๆแบบนี้จนคุณได้ข้อสรุปด้วยตัวของคุณเองว่า “เฮ้ย หรือว่ามันจะเกิดเรื่อง...ขึ้น?”



ภาพโดยรวมจึงออกมาเป็น "เกมเพลย์" --> "เนื้อเรื่อง" --> "เกมเพลย์" --> "เนื้อเรื่อง" --> "บทสรุปที่คนเล่นต้องสรุปเอง"

เนื้อเรื่องกับเกมเพลย์ได้หลอมรวมตัวผู้เล่นให้กลายเป็นหนึ่งในตัวละคร ที่ต้องค้นหาความเป็นจริงของผู้หญิงที่อยู่ในวิดีโอคำให้การไปเสียแล้ว!!

ถ้าเอา “เนื้อเรื่อง” ออกก็ไม่มี “เกมเพลย์” 

ถ้าไม่มี “เกมเพลย์” ก็ไม่มี “เนื้อเรื่อง”!!

ผมคิดว่าเกม Her Story เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจมากครับ!


ผมรักเกม

แต่ผมก็รักเนื้อเรื่องในเกม

เพราะฉะนั้นบล็อกผมจึงมักจะพูดถึงเนื้อหาที่อยู่ในเกม 

การพูดถึงระบบเกมเพลย์นั้น ใครๆก็มักจะพูดถึงกัน แต่ประสบการณ์ที่ได้จากเนื้อหากลับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากไปกว่าคำว่าความบันเทิง

Metal Gear Solid V : The Phantom Pain ที่มีคนตำหนิเนื้อเรื่องของเกมนี้ไม่ใช่เพราะคนเล่นเกมหรือว่าตัวผมใจร้าย แต่เป็นเพราะ Metal Gear Solid มันเคยมีจุดเด่นด้านเนื้อเรื่องมาก่อน มันเคยมีตัวร้ายที่ดีกว่านี้ 

อย่าง Metal Gear Solid 3 : Snake Eater ผมคิดว่านี่เป็นเกม MGS ที่มีเนื้อหาลงตัวที่สุดแล้ว ผมค่อนข้างประทับใจมากทีเดียว


The Boss เป็นตัวละครที่มีความน่าสนใจกว่าตัวละครใน The Phantom Pain หลายตัวมารวมกันเสียอีก


เมื่อเกมที่มีจุดเด่นด้านเนื้อเรื่องออกเกมใหม่มา ผู้คนย่อมคาดหวัง 
ทุกคนยอมรับว่า The Phantom Pain มีเกมเพลย์ที่ดี และผมก็ให้ 8.9/10 

เพียงแต่ถ้ามองในแง่เนื้อเรื่องที่โคจิม่าเคยทำไว้ได้ดีมากๆแล้ว มันกลับรู้สึกผิดหวัง

แน่นอนว่า 8.9/10 ของ The Phantom Pain เป็นคะแนนที่วัดค่ามาจากตัวเกมเพลย์เป็นหลัก ไม่ใช่ว่าหักแต้มเพราะเนื้อเรื่องไม่ดีเท่าภาคอื่นๆเพียงอย่างเดียว

ขอบอกตามตรงนะ ผมไม่ได้ประทับใจ open world ในเกมนี้สักเท่าไหร่ และการสู้กับบอสก็น่าผิดหวัง (แต่ผมสนุกกับระบบบัดดี้ ระบบการต่อสู้-สเตลท์ และระบบการค้นหาทหารแล้วดึงกลับฐาน)



สรุปแล้ว

ถ้าเกมใดมีจุดเด่นด้านเกมเพลย์มาตลอด เช่น Mario, Tetris, Donkey Kong, Fallout , Elder Scroll ฯลฯ คนเล่นก็จะโฟกัสไปที่เกมเพลย์ เนื้อเรื่องจะเป็นยังไงก็ได้ ขอให้เกมเพลย์ออกมาสนุกก็พอ

ถ้าเกมใดเคยมีจุดเด่นด้านเนื้อเรื่องมาตลอด เช่น Final Fantasy, Metal Gear Solid, Silent Hill, Persona, The Witcher, Tales of… ฯลฯ คนเล่นย่อมจะคาดหวังที่เนื้อเรื่อง จะอดเปรียบเทียบกับความประทับใจด้านเนื้อเรื่องจากเกมภาคก่อนไม่ได้ ถ้าเนื้อเรื่องเกมภาคใหม่ไม่มีความน่าสนใจเท่า คนเล่นก็จะอดเอามาเปรียบเทียบและก็ต้องรู้สึกผิดหวังเป็นของธรรมดา

เกมเป็นเรื่องของเกมเพลย์ ข้อนี้ถูกต้องอย่างที่สุด

แต่ถ้าเนื้อเรื่องของเกมบางเกม มันสามารถมาเติมเต็มประสบการณ์ที่มากไปกว่าความสนุก ได้ผูกพันกับตัวละคร ได้ตื่นเต้นไปกับเรื่องราว ได้ครุ่นคิดไปกับเนื้อหา นั่นย่อมเป็นประสบการณ์ที่ทั้งล้ำลึกและรู้สึกพึงพอใจจนยากจะอธิบายเป็นคำพูดได้ 

เพราะฉะนั้น ผมจึงรักทั้งเกมเพลย์ และผมก็รักเนื้อเรื่องในเกมเช่นเดียวกันครับ




Create Date : 25 ตุลาคม 2558
Last Update : 26 ตุลาคม 2558 5:24:25 น.
Counter : 2489 Pageviews.

1 comment
The Witcher 3 : Heart of Stone ฟินเหลือเกิน~! (No spoilers)

Heart of Stone เกรัลท์จะโชว์ลีลาแบบที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน!


ผมคิดว่าปีนี้ CD Projekt Red เป็นค่ายเกมที่ส่วนตัวแล้วอยากจะยกให้เป็น “dev (ผู้พัฒนาเกม) ยอดเยี่ยมแห่งปี 2015” เสียเหลือเกิน

The Witcher 3 : Wild Hunt ไม่ใช่เกมที่สมบูรณ์แบบ ระบบการต่อสู้กับการควบคุม บางครั้งก็ชวนให้รู้สึกหงุดหงิดเล็กๆ มีบั๊กเรื่องภาพและเสียงตรงนู้นบ้างตรงนี้บ้าง (เช่น เวลามีคนมาชุมนุมและร้องปรบมือ ตอนนั้นลองฟังดูดีๆจะรู้สึกว่ามันแปลกๆตลอด) 

แต่โดยรวมแล้ว The Witcher 3 คือเกมที่น่าประทับใจมากถึงมากที่สุด นอกจากจะมีจุดเด่นเรื่องโอเพ่นเวิลด์ที่มีชีวิตชีวา มีรายละเอียดหรือสิ่งที่เราให้ค้นหามากมายแล้ว มันยังมีการเขียนบทที่น่าประทับใจทั้ง main quest และ side quest อีกด้วย พูดง่ายๆคือ “สามารถสัมผัสได้ถึงความตั้งใจและความทุ่มเทของทีมพัฒนาเกมทุกฝ่าย”

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้คาดหวังอะไรกับตัว DLC อย่าง Heart of Stone กับ Blood and Wine มากนัก จริงอยู่ที่ผม pre-order DLC สองตัวนี้ทันทีหลังเล่นเกมจบรอบสอง แต่เกมใหญ่ๆหลายเกมมักมี DLC ที่น่าผิดหวัง

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายหรือเปล่า ผมถึงรู้สึกว่า Heart of Stone เป็น DLC ที่น่าประทับใจมาก สั้นแต่น่าประทับใจมากจริงๆ

ทาง dev ออกมาบอกแล้วว่าเกม DLC ตัวแรกนี้จะมีความสั้นกว่าตัวที่สอง คืออยู่ที่สิบกว่าชั่วโมง 

ใช่ มันสิบกว่าชั่วโมงจริง

แต่มันเป็นสิบกว่าชั่วโมงที่สนุกและน่าประทับใจเสียเหลือเกิน


ระบบใหม่ที่เพิ่มเข้ามาใน DLC ก็คือไอ้นี่งั้นหรือ!? 





Heart of Stone มาในรูปแบบของเควสท์ยาวๆที่แทรกอยู่ในแผนที่หลักของ Valen เกรัลท์รับงานกำจัดสัตว์ประหลาดซึ่งจ้างโดยโอลเกียร์ วอง เอเวอเรค (Olgierd von Everec ไม่รู้สะกดถูกหรือเปล่า อ่านยากเป็นบ้า) ก่อนทุกอย่างจะพลิกผันจนต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอันตรายและศัตรูที่ร้ายกาจเข้าให้


ตัวละครหลักตัวใหม่ในภาคนี้ โอลเกียร์ ฝรั่งเรียก "เดวิด เบ็กแฮม"


งานนี้เกรัลท์ต้องมาเจอกิ๊กเก่า... เพื่อนเก่า "อีกคนหนึ่ง"


เกรัลท์คั่วสาวไม่เลือกหน้าเลยต้องเข้าซังเต...


แถมคราวนี้เกรัลท์ยังคุยกับหมา-แมวรู้เรื่องอีก?


เรื่องระบบเกมมีอะไรให้พูดถึงน้อย เพราะมันเป็น “ส่วนเสริม” ของตัวเกมหลัก ระบบเกมใน DLC จึงไม่ได้แตกต่างจากเดิมมาก แค่คราวนี้มีเพิ่มระบบการอัพเกรดความสามารถเสริมของเกราะและอาวุธด้วย “อักษรรูน” ขึ้นมา แต่ใน Heart of Stone ผมยังไม่เห็นประโยชน์ของระบบนี้สักเท่าไหร่


DLC นี้จะเกี่ยวพันกับชนเผ่าโอเฟียริ (Ofieri) ซึ่งปรากฏในเกมเป็นครั้งแรก


ระบบใหม่ที่เสริมเข้ามาใน DLC Heart of Stone



แต่... โอ้ แม่เจ้า! 

พล็อตมันลงตัวเหลือเกิน!

วิธีการเขียนบทมันช่างดีเหลือเกิน! 

มันมีเนื้อหาบางส่วนที่ผมรู้สึกว่ามันยืดๆไปหน่อย อย่างตอนที่ไปงานแต่งงานกับชานิ (ไม่ใช่ “ชะนี” นะ Shani เพื่อนของเกรัลท์ที่โผล่มาตั้งแต่นิยายต้นฉบับกับเกมภาคแรก) แต่โดยรวมแล้วมันมีการเชื่อมโยงพล็อตและพัฒนาการของตัวละครได้ดีมาก


ชะนี... เอ๊ย ชานิ หมอสาวที่โผล่มาเป็น "เหยื่อ" ของเกรัลท์อีกรอบ


ลองเทียบกับภาคแรกดูสิ...


เกรัลท์แดนซ์ของจริง!


เรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของโอลเกียร์น่าสนใจมาก

เควสท์ที่เกรัลท์ต้องเข้าไปดูเรื่องราวในอดีตผ่านภาพวาดก็สุดยอดทั้งวิธีการนำเสนอด้านภาพและอารมณ์
ศัตรูตัวร้ายอย่าง The Man of Glass ก็สร้างสีสันให้กับเรื่องได้ดียิ่งกว่าไวลด์ฮันท์ ศัตรูในเกมหลักเสียอีก ผมมองว่าเขาเป็นเหมือนกับโจ๊กเกอร์ใน The Dark Knight เลยทีเดียว

แม่เจ้า! เมื่อตัวละครสามตัวอย่างเกรัลท์ โอลเกียร์ และ The Man of Glass ถูกพล็อตร้อยเข้าด้วยกัน มันกลับกลายเป็นการดำเนินเรื่องที่ขับเคลื่อนไปด้วยพลังอย่างเหลือเชื่อ!


The Man of Glass ตัวละครผู้ร้ายกาจที่เขียนออกมาได้น่าสนใจมาก


เกรัลท์, นายกระจก และ "เบ็กแฮม" จะเกี่ยวเนื่องกันไปจนถึงตอนจบ


จริงๆแล้ว Heart of Stone มีอารมณ์คล้ายๆกับเควสท์ของบารอนในเกมหลัก แต่ส่วนตัวแล้วผมว่า dev ทำพล็อตของ Heart of Stone ออกมาได้น่าประทับใจไม่แพ้กัน ...หรืออาจจะเหนือกว่าก็ได้!

ตัวเควสท์มีอะไรสนุกๆอยู่เต็มไปหมด เช่น กลายเป็น Grand Theft Auto V คือมีวางแผนจารกรรมของในโรงประมูล (มีให้เลือกลูกทีมด้วย), เข้าไปบ้านผีสิงที่น่าขนลุก, เข้าไปในรูปภาพเพื่อค้นหาเรื่องราวในอดีตของโอลเกียร์กับคนรัก และที่สุดๆเลยคือฉากตอนท้าย ซึ่งถ้าหาก “เกรัลท์เลือกจะช่วยโอลเกียร์” เราจะได้เข้าไปเล่นเกมกับ The Man of Glass  

ด่านสุดท้ายที่ตามหาตัว The Man of Glass นี่ เพลงมันประกอบมันเจ๋งสุดยอด!


GTA V เวอร์ชั่นแฟนตาซี?


เควสท์จารกรรมเป็นเควสท์ที่สนุกใช้ได้นะ


เควสท์นี้ได้อารมณ์หนังสยองขวัญดี


เข้าไปสืบเรื่องราวในภาพวาด!


มีพัซเซิลเพื่อประติดประต่อเรื่องราวแบบพอหอมปากหอมคอ


ฉากนี้ดีมาก!


เพลงประกอบด่านนี้ ชอบมาก!


บทพูดตอนนี้มันดีเหลือเกิน


ในเกมหลัก มีคนบ่นผิดหวังเรื่องการสู้กับบรรดาบอสทั้งหลาย คราวนี้ Heart of Stone เลยมีการปรับปรุงเรื่องการสู้กับบอสให้ดีและท้าทายขึ้น ถึงแม้ในความรู้สึกของผู้เล่นบางคน มันอาจจะเทียบกับพวก Dark Soul หรือ Bloodborne ไม่ได้ (บอกไว้ก่อนว่าผมไม่ได้เล่นเกมทั้งสองเกมนั่น แต่เคยเห็นคนเปรียบเทียบให้ดู) ส่วนตัวผมน่ะถือว่ามันท้าทายใช้ได้นะ บอสมีการจู่โจมที่หลากหลายขึ้น จริงๆแล้วมันมีแพทเทิร์นของมัน แต่เป็นแพทเทิร์นที่มีอะไรเซอร์ไพรส์ซุกซ่อนอยู่ด้วย ต้องใช้สติกับไหวพริบแบบพอหอมปากหอมคอ


บอสคางคกยักษ์นี่สู้สนุกใช้ได้


แคร์เทคเกอร์ ดูเหมือนว่าจะเป็นบอสที่หลายคนมีปัญหาในการสู้ด้วย (ส่วนผม ชนะแบบหืดขึ้นคอเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับตาย)


ทั้งฉากทั้งตัวบอส ให้อารมณ์แบบ Silent Hill มาก!




ถ้าให้คะแนน Heart of Stone ผมคงจะให้อยู่ที่ 9.1/10 (ตัวเกมหลัก The Witcher 3 ผมให้ที่ 9.3/10)

แค่ตอนนี้รู้สึกเคืองอยู่อย่างเดียว...

คือ Blood and Wine มันดันไปออกตั้งปี 2016 นั่นแหละ! บ้าจริง!!





Create Date : 17 ตุลาคม 2558
Last Update : 18 ตุลาคม 2558 16:15:59 น.
Counter : 23927 Pageviews.

0 comment
Metal Gear Solid V : The Phantom Pain (2) Quiet เธอคือตัวปัญหา? (Spoilers Alert)
คำเตือน มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องอย่างรุนแรง

**ต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว : Metal Gear Solid V : The Phantom Pain (1) พวกคุณคือ "คนขายโลก"! (Spoilers alert!)



“ไควเอท (Quiet)” คือตัวละครเจ้าปัญหาที่ถูกวิจารณ์เรื่องการแต่งตัว ถึงโคจิม่าจะบอกว่าให้รอดูเหตุผลที่เธอต้องโชว์เนื้อโชว์หนังแบบนั้นก่อน จริงอยู่ที่คนเล่นบางคนอาจรับได้ แต่ก็มีบางคนที่ยังมองว่า “โป๊เกินจำเป็น” อยู่ดี



ในมุมของผม

ไม่เห็นจะเป็นปัญหาเลยสักนิด

โคจิม่าสร้าง Metal Gear โดยเอาหนังฮอลลีวู้ดมาผสมกับอนิเมญี่ปุ่นอยู่แล้ว และอย่างที่รู้ๆกันอยู่ อนิเมหรือหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น การมีตัวละครใส่บิกินี่หรือนุ่งเสื้อผ้าน้อยชิ้น เป็นเรื่องปกติจะตายไป

มันเป็นปัญหาตรงไหนหรือ?

ตรงกันข้าม ผมมองว่าเรื่องของไควเอทลงตัวที่สุดในบรรดาซัพพล็อต (สิ่งที่เข้ามาเสริมพล็อตหลัก) ทั้งหลายของเกม The Phantom Pain!

เพื่อให้เข้าใจชัดขึ้น เราจะมาพูดกันถึงตัวสกัลเฟซ, อีไล แล้วก็โรคระบาดก่อนจะพูดถึงไควเอท



Metal Gear Solid V : The Phantom Pain เป็นเกมที่ดี แต่เนื้อเรื่องกลับมีปัญหา ทั้งๆที่เนื้อเรื่องคือจุดขายของ Metal Gear มาเกือบจะทุกๆภาค (ยกเว้น Metal Gear ปี 1987 และ Metal Gear 2 : Solid Snake ปี 1990 ซึ่งเนื้อเรื่องยังไม่ซับซ้อนมากเท่ากับภาคต่อหลังจากนั้น)

หลายคนบอกว่าปัญหาที่ทำให้เนื้อเรื่องแย่คือ “โอเพ่นเวิลด์” 

การที่โลกเปิดอิสระทำให้จังหวะของการเล่าเรื่องเสียไป

แต่ในปีเดียวกัน เรามี The Witcher 3 และ Batman : Arkham Knight ซึ่งเป็นเกมโอเพ่นเวิลด์เหมือนกัน แต่สองเกมนี้กลับเล่าเรื่องได้ดีกว่า The Phantom Pain มาก ดังนั้นปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องโอเพ่นเวิลด์

ผมรู้สึกเหมือนโคจิม่าไม่รู้จะเล่าเรื่องยังไงในโลกโอเพ่นเวิลด์มากกว่า ภาพรวมของ The Phantom Pain คือมีการ “เซ็ทอัพ” (Setup - ตั้งประเด็นหรือเงื่อนไขให้กับพล็อต) ได้ดี แต่กลับมีการ “เพย์ออฟ” (Payoff - คลี่คลายประเด็นที่ตั้งขึ้น) ได้แย่ในหลายเรื่องๆ

ใน Ground Zeroes โคจิม่า “เซ็ทอัพ” ให้สกัลเฟซและ XOF คือวายร้ายใหม่ที่น่าสะพรึงกลัว ตั้งใจจะเล่นงานทั้งซีโร่และบิ๊กบอสในเวลาเดียวกัน เป็นคนทำลายฐาน “กองทัพไร้พรมแดน” ของบิ๊กบอสเสียย่อยยับ ซ้ำวางระเบิดในตัวพาซ (Paz) ถึงสองลูกเพื่อระเบิดบิ๊กบอสในระยะประชิด



ภายหลังเฉลยว่าสกัลเฟซมีชีวิตอยู่ได้ด้วยปรสิต ซึ่งเป็นที่มาของพลังพิเศษในหน่วยคอบร้าของ Metal Gear Solid 3 : Snake Eater อย่างพวก The End, The Pain, The Fear, The Fury



ดูแบบนี้แล้วสกัลเฟซน่าจะร้ายกาจสุดยอดเลยใช่ไหมครับ?

ไม่ครับ ไม่เลย The Phantom Pain ไม่ได้ขุดความร้ายกาจของสกัลเฟซออกมาให้เห็นเท่าไหร่เลย

ภารกิจในเกม The Phantom Pain มีถึง 50 ภารกิจ แต่ภารกิจที่เป็นส่วนในการขับเคลื่อนเนื้อหาหลักกลับมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นภารกิจแบบเกี่ยวข้องเนื้อเรื่องพอหอมปากหอมคอ เช่น “บอส เรารู้ว่าไอ้ xxx นี่จะต้องเกี่ยวพันกับไซเฟอร์ บอสไปจับมันแม่งที!” หรือ “บอส เรารู้ว่าไอ้ yyy เกี่ยวข้องกับสกัลเฟซ ไปรอบฆ่ามันแม่งที!” หรือ “บอส เรารู้ว่าไอ้ zzz มันเกรียนแตก ไปดีดไข่มันที!” เป็นต้น



ปัญหาคือภารกิจพวกนั้นไม่ได้ช่วยทำให้สกัลเฟซในฐานะ “คาแร็กเตอร์ผู้ร้าย” ดูแข็งแกร่งขึ้นมาเลยสักนิด! เรียกว่าขาดการพัฒนาคาแร็กเตอร์อย่างรุนแรง

หนำซ้ำเมื่อมาถึงจุดคลี่คลายเรื่องราวของสกัลเฟซ บทจะจบเห่ก็จบกันแบบง่ายๆ โดนเมทัลเกียร์ที่ตัวเองสร้างแล้วถูกคนอื่นควบคุม อาละวาดจนเสาเหล็กทับใส่ตัว ก่อนจะโดนบิ๊กบอสกับคาซยิงกระหน่ำชำระแค้น!



แต่ก็ไม่ตาย ดันมาตายด้วยมือของฮิวอี้ เอมเมอริช นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นหนอนบ่อนไส้อีก!



อะไรกันวะ!? อุตส่าห์ “เซ็ทอัพ” มาอย่างเจ๋ง แต่สุดท้ายไม่มีอะไรในก่อไผ่ แล้วก็จบเห่ลงง่ายๆ!! ไอ้ความร้ายกาจที่เหมือนจะมีมันหายไปไหนหมด!?

นี่คือ Chapter 1 เนื้อเรื่องอันแสนจะบางเบา... ผู้ร้ายน่าผิดหวัง 


ใน Chapter 1 มีการ “เซ็ทอัพ” เรื่องของเด็กชายสวมหน้ากาก (ไซโคแมนทิส) และเด็กชายที่ชื่ออีไล ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน แต่ในอนาคตเขาจะเป็น “ลิควิด สเน็ค” ตัวร้ายสำคัญของเกม Metal Gear Solid ปี 1998!



อารมณ์ในช่วงท้ายของ Chapter 1 เหมือนคู่นี้จะมีความสำคัญมากถึงมากที่สุด ทำให้เกิดความคาดหวังว่าจะมีอะไรเข้มข้นขึ้นใน Chapter 2

เรากำลังจะได้สำรวจถึงความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างอีไล (ลิควิด), เด็กชายสวมหน้ากาก (ไซโคแมนทิส) และบิ๊กบอสใช่ไหม?



เปล่าเลย!

Chapter 2 เนื้อหาเบาบางเสียยิ่งกว่า Chapter แรกอีก! เนื้อหาที่จับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอันมีน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็น “ภารกิจเก่าที่เพิ่มเงื่อนไขให้ยากกว่าเดิม” อย่างพวก [Extreme] หรือ [Total Stealth] ทั้งหลาย! ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อเรื่องหลักของ Chapter นี้เลย ฮ่วย!



ตอนที่อีไลกับเด็กชายสวมหน้ากากร่วมมือกันขโมยเมทัลเกียร์ไป ผมรู้สึกตื่นเต้น รู้สึกว่า ไอ้นี่แหละน่าจะเป็นการ “เซ็ทอัพ” ไปสู่ไคลแม็กซ์ของเกม!




ผมคิดถูก มันนำไปสู่ไคลแม็กซ์ของเกมจริง...

แต่มัน “ถูกตัด” ครับพี่น้อง!

ฉากต่อสู้โคตรจะอีพิคใน Episode 51 : “Kingdom of the Flies” กลับเหลือเป็นแค่มูวี CG ที่ไม่มีเกมเพลย์ เป็นช่วงที่ “เวน่อม สเน็ค” ต้องไปตามเคลียร์กับอีไล และ “เวน่อม” กับไดมอนด็อกส์จะต้องรวมพลังกันปราบเมทัลเกียร์ชนิดถอนรากถอนโคน

นี่ควรจะเป็นไคลแม็กซ์ของเกม

อีไลควรจะเป็นตัวร้ายหลักของ Chapter 2 โดยมีฮิวอี้ เอมเมอริชเป็นตัวร้ายรอง ในฐานะคนปล่อยโรคระบายกลายพันธุ์ ซึ่งฮิวอี้ร่วมมือกับอีไล

คือไอ้ไคลแม็กซ์ใน Episode 51 มันไม่ได้ทำให้เนื้อเรื่องโดยรวมของ The Phantom Pain ดีเท่ากับภาคอื่นๆหรอก แต่มันรับประกันว่าจะลงท้ายได้ดีกว่าที่เป็นอยู่แน่

แต่มันถูกตัด!

ผลสุดท้ายคือ เกมนี้ไม่มีภารกิจที่เป็นฉากไคลแม็กซ์ของเรื่องเหมือนเกมอื่นๆ!

การ “เซ็ทอัพ” ที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับ “บิ๊กบอส VS ลิควิดวัยเด็ก” กลับกลายเป็นส่วนถูกทิ้งค้างไว้โดยสิ้นเชิง! เหลือเพียงแค่มูวี CG ที่ยังทำไม่เสร็จ ปากของอีไลไม่ขยับเลยสักนิด!

บ้าที่สุด!


นอกจากนั้น ใน Chapter 1 ยังมีการ “เซ็ทอัพ” เรื่องโรคระบาดที่เกิดจากปรสิตของสกัลเฟซ 

การเซ็ทอัพเกี่ยวกับปรสิตนั้นมาค่อนข้างช้า เรารับรู้เกี่ยวกับมันหลัง Episode 20 เป็นต้นไป หากรวมซับพล็อตหลักๆทั้งหมดเข้าด้วยกัน ถือว่ากลางเรื่องเข้าไปแล้ว

เรื่องปรสิตนับได้ว่าเป็นกุญแจหลักที่เชื่อมโยงเรื่องราวทุกเรื่องเข้าด้วยกัน น่าจะเรียกว่าเป็น "พล็อตดีไวซ์ (Plot Device - ตัวขับเคลื่อนพล็อต) สำคัญของเกมได้เลย ยิ่งกว่าเมทัลเกียร์ อาวุธสงครามที่เป็นชื่อเรื่องอีก

จริงๆมันคือโปรเจคท์ “ล้างเผ่าพันธุ์” ด้วยปรสิตของ Philosophers ฝ่ายอเมริกา แต่โครงการนี้พับไป สกัลเฟซเลยเอามาสานต่อแทน ผลิตปรสิตที่โจมตีโดยใช้ “ภาษา” เป็นตัวเปิดกลไกในการระเบิด เช่น ถ้าคนติดเชื้อพูดภาษาคิคองโก คนอื่นๆที่พูดคิคองโกก็จะติดโรคไปด้วย เป้าหมายหลักของสกัลเฟซคือ “ภาษาอังกฤษ” 



การเชื่อมโยงกันของบรรดาซัพพล็อตที่เกี่ยวกับตัวปรสิต ทำให้พล็อตหลักของ The Phantom Pain ถูกร้อยเป็นเนื้อเดียวกันจะออกมาตามนี้

1. คือมันเป็นจุดกำเนิดของตัวสกัลเฟซและแผนการของเขาอย่างที่ว่ามาข้างต้น
2. คือจุดกำเนิดของตัวไควเอท 
3. มันถูกส่งต่อไปถึงตัวอีไล กลายเป็นอีกหนึ่งในสามของผู้ถือครองปรสิตสายพันธุ์ภาษาอังกฤษ
4. ทำให้เกิดศัตรูอย่างพวกหน่วยพาราไซต์ยูนิต
5. เป็นภัยคุกคามที่ "เวน่อม" ต้องรับมือนอกจากเมทัลเกียร์
6. เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงพล็อตระหว่าง Chapter 1 กับ Chapter 2 และระหว่างตัวร้ายหลักของสอง Chapter คือสกัลเฟซกับอีไล

เพราะฉะนั้นมันถึงได้สำคัญมาก โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับข้อ 5!

มาเธอร์เบสของบิ๊กบอสมีการติดโรคระบาดจากปรสิตที่ว่าจนต้องสร้าง “ฐานกักกันเชื้อ” ขึ้นมาแยกย่อยอีกหนึ่งฐาน แล้วก็ต้องไปค้นหาทางแก้ไขซึ่งคนที่จะแก้ไขได้ก็คือชายแก่ชื่อ “โค้ดทอล์คเกอร์”



อุตส่าห์แก้ไขเรื่องโรคระบาดได้ทั้งที แต่ใน Chapter 2 โรคระบาดกลับมาอีกครั้งพร้อมกับการกลายพันธุ์!

จนบิ๊กบอสต้องถึงกับลงมือฆ่าลูกน้องตัวเองทั้งตึก!



ผมชอบอารมณ์ตรงนี้นะ จริงๆแล้วเรื่องอีไลกับโรคระบาดควรจะต้องเป็นเนื้อหาหลักที่ขับเคลื่อน Chapter 2 ไปจนถึงขั้นที่บิ๊กบอสหรือ “เวน่อม” ถูกต้อนจมมุมแล้วเข้าสู่ “ความบ้าคลั่ง” เหมือนอย่างที่มีการโปรโมทกันในตอนต้นมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่อย่างว่า... เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นและจบลงแค่มิชชั่นสั้นๆมิชชั่นเดียว คือ Episode 43 : “Shining Lights, Even in Death” แล้วหลังจากนั้นก็ไม่ได้ถูกขุดมาเล่นอีกเลย พัฒนาการของ "เวน่อม" หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ก็เหมือนไม่ได้ส่งผลอะไรต่อพล็อตหลักเป็นพิเศษ

และแล้วบทสรุปเกี่ยวกับปรสิตและโรคระบาด ซึ่งเป็นพล็อตดีไวซ์สำหรับเชื่อมโยงจิ๊กซอว์ที่กระจัดกระจายเข้าด้วยกัน ก็ "ขาดหายไป" พร้อมกับ Episode 51 ที่ถูกตัดทิ้งเหมือนกับอีไล...

เสียของ...



เท่านั้นยังไม่พอ!

แล้วไซเฟอร์ล่ะ? แล้วซีโร่ล่ะ? โอเซอล็อตล่ะ? ซีโร่กับโอเซอล็อตวางแผนอะไร? สกัลเฟซทำอะไรกับซีโร่? ฯลฯ เนื้อหาพวกนี้น่าสนใจมากถึงที่สุด 

อย่างตอนที่สกัลเฟซโทรคุยกับซีโร่ แล้วแอบวางแผนทำให้ซีโร่ต้องกลายเป็นอัมพาตเหมือนอย่างที่เห็นใน Metal Gear Solid 4 : Gun of the Patriots น่ะ จริงๆแล้วตรงนั้นถ้าทำเป็นคัตซีนจะดีมาก! จะทำให้สกัลเฟซดูน่าสนใจมากขึ้น! เอามันไปใส่ไว้ในตอนช่วงกลางๆเรื่องของ Chapter 1 ที่จะโยงอารมณ์ไปถึงฉากไคลแม็กซ์ได้เลย!

แต่เปล่าเลย! ไม่มีคัตซีนฉากเจ๋งๆที่ว่านี่เลย เรารู้สิ่งเหล่านั้นได้จากการฟังเทปครับพี่น้อง! แค่การฟังเทปเท่านั้น!



ยิ่งไม่ต้องพูดถึงบุคลิกของโอเซอล็อตที่ไม่เข้ากับภาคอื่นๆเลย ดูนิ่งผิดหูผิดตาไปจริงๆ



แต่ในบรรดาซัพพล็อตทั้งหมด 

ผมพึงพอใจที่สุดคือเรื่องของ “ไควเอท” ตัวละครที่มีคนถกเถียงกันมากที่สุด

หลายคนมองว่าไควเอทเป็นบัดดี้ที่เจ๋ง เป็นตัวละครที่เท่ แต่การแต่งชุด “โป๊ๆ” ทำให้คุณค่าของตัวละครลดลง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการโพสท่ายั่วๆในเฮลิคอปเตอร์ต่อหน้าบิ๊กบอส...




ที่สำคัญคือ เนื้อเรื่องของไควเอทนั้น แตกต่างจาก “เดอะบอส” กับ “อีวา” ใน Snake Eater อย่างสิ้นเชิง 

เอาจริงๆแล้วไควเอทจะตัดออกไปจากเกม The Phantom Pain เลยก็ได้ เนื้อหาของเธอไม่ได้มีส่วนสำคัญต่อเนื้อเรื่องโดยรวมเหมือนตัวละครหญิงสองคนที่ว่ามาข้างต้น



แต่อย่างน้อยที่สุด!

อย่างน้อยที่สุดเรื่องของไควเอทก็มี “เซ็ทอัพ” และ “เพย์ออฟ” ที่น่าพึงพอใจที่สุดในเกมแล้ว!

ใช่ มันดีกว่าเรื่องของสกัลเฟซ ดีกว่าเรื่องของอีไลกับเด็กชายสวมหน้ากาก!

สกัลเฟซมี "เซ็ทอัพ" ที่แข็งแรง แต่ขาดการพัฒนาคาแร็กเตอร์ที่ดีก่อนจะจบลงอย่างน่าผิดหวัง

อีไลมี "เซ็ทอัพ" ที่น่าสนใจเหมือนกัน แต่กลับขาดบทสรุปชนิดที่เรียกว่าถูกปล่อยให้ค้างคาไว้โดยสิ้นเชิง (ต้องไปดูมูวี CG ง่าวๆแทน)

ปรสิตและโรคระบาด มีการ "เซ็ทอัพ" ช้า แต่มีพัฒนาการที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม มันถูกทอดทิ้งไปพร้อมกับอีไล

ส่วนเรื่องของไควเอทกลับมีพัฒนาการที่ดีและมีบทสรุปที่ลงตัว!

เมื่อตอนเริ่มเกม ไควเอทเป็นนักฆ่าของ XOF ที่ส่งมาฆ่าบิ๊กบอสที่นอนรักษาในโรงพยาบาล ในคืนที่เธอบุกจะฆ่าบิ๊กบอส (เวน่อม) กลับถูกชายพันหน้า (บิ๊กบอสตัวจริง) จุดไฟเผาจนไหม้ไปทั้งตัว สกัลเฟซช่วยเธอเอาไว้ด้วยการใส่ปรสิตเข้าไป



ไควเอทมีชีวิตอยู่ ทว่ากลับไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้ เพราะปอดของเธอพังไปหมดแล้ว เธอหายใจและดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยปรสิต



จริงๆแล้วไควเอทเหมือน “ดิเอนด์” ใน Snake Eater คือเป็นมือสไนเปอร์ที่ดำรงอยู่ด้วยการสังเคราะห์แสงผ่านผิวกายเหมือนกัน โค้ดทอล์กเกอร์ศึกษาเรื่องปรสิตจาก “ดิเอนด์” นี่เอง ดังนั้นไควเอทจึงเป็นเหมือน “ดิเอนด์” เวอร์ชั่นผู้หญิง



มีคนเถียงว่า เฮ้ย ไม่เห็น “ดิเอนด์” จะต้องแก้ผ้าเพื่อดำรงชีวิตอยู่เลย

แต่ก็มีคนตอกกลับว่า เอ่อ “ดิเอนด์” ยังมีปอดอยู่โว้ย แต่ไควเอทไม่มีปอดแล้วนะ!

สรุปคือฝ่ายที่ไม่ชอบเรื่องไควเอทโป๊ก็ยังยอมรับเหตุผลเรื่องที่ไควเอทต้องนุ่งน้อยชิ้นเพื่อดำรงชีวิตไม่ได้อยู่ดี... แต่นั้นมันเรื่องของคนๆนั้นว่ะ  ไม่เกี่ยวกับผม

ตอนท้ายมีการเปิดเผยว่าจริงๆแล้วไควเอทเป็นผู้ครอบครองหนึ่งในสามปรสิต "สายพันธุ์ภาษาอังกฤษ" นอกเหนือจากสกัลเฟซ (และอีไลในภายหลัง) ถ้าเธอพูดภาษาอังกฤษออกมา จะเป็นการปล่อยโรคระบาดออกมาทันที

ดูเหมือนจะเป็นแผนการของสกัลเฟซที่ส่งไควเอทมาทำงานกับบิ๊กบอส ทำให้บิ๊กบอสเชื่อใจแล้วก็หาทางปล่อยโรคระบาดด้วยการพูดภาษาอังกฤษออกมาซะเลย



แต่ในระหว่างที่ทำงาน ดูเหมือนว่าไควเอทจะเกิดมีใจให้กับเวน่อม...



มีหลายคนรู้สึกว่าฉากคัทซีนของไควเอทอย่างเช่น ฉากอาบน้ำ หรือฉากเล่นน้ำเป็นคัทซีนไร้สาระ เป็นแค่แฟนเซอร์วิส




อย่างไรก็ตาม...

ไควเอทไม่ได้มีซีนเพื่อที่จะเซอร์วิสอย่างเดียว แต่กลับมีซีนดีๆหลายฉากที่ขับเคลื่อนเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเธอด้วย

อย่างเช่น 

ตอนที่เธอเกิดอาละวาดจะเลาะฟันสต๊าฟของไดมอนด็อกส์โดยไม่ได้อธิบายสาเหตุ ก่อนจะเฉลยทีหลังว่าเธอรู้ว่าโรคระบาดกำลังจะเกิดขึ้นในฐาน



หรือตอนที่เสี่ยงลงไปเก็บของสำคัญให้เด็กจนต้องบาดเจ็บ




หรือ ฉากถูกคาซสอบปากคำโหดเรื่องปรสิตในตัวเธอ แต่ยังเลือกจะหุบปาก



ไควเอทพูดได้ แต่เธอเลือกจะไม่พูดแม้แต่นิดเดียว เพราะกลัวว่าจะปล่อยโรคระบาดออกมา จริงอยู่ที่ของเธอเป็นสายพันธุ์ภาษาอังกฤษ ถ้าพูดภาษาอื่นก็คงไม่มีปัญหา แต่โค้ดทอล์กเกอร์เคยบอกว่า ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าปรสิตจะไม่พัฒนาไปยังภาษาอื่นด้วย แค่การไม่พูดภาษาอังกฤษภาษาเดียวไม่ได้รับประกันว่าโรคระบาดจะไม่ทำงาน ดังนั้นไควเอทจึงเลือกพูดภาษานาวาโฮแทน และคนที่ฟังภาษานาวาโฮได้ ทั้งฐานมีแค่คนเดียวคือโค้ดทอล์กเกอร์ (ซึ่งมีปรสิตอยู่ในตัวเหมือนกัน)




โอเค มันอาจจะไม่มีเหตุผล เช่น ทำไมไควเอทถึงไม่สื่อสารด้วยวิธีอื่น อย่างการพิมพ์หรือเขียนแทน หรือไม่ก็ไปศึกษาภาษาใบ้มาก็ได้ ไม่ใช่เงียบอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม เมื่อไควเอทตัดสินใจหนีออกจากฐาน แล้วถูกพวกโซเวียตจับตัว “เวน่อม” ตามไปช่วยเธอจนกลายเป็นฉากโหดๆหนึ่งฉาก 




ทว่าผลจากการต่อสู้นั้นทำให้ไควเอทบาดเจ็บ “เวน่อม” จึงต้องช่วยอุ้มเธอไปยังจุดนัดพบกับเฮลิคอปเตอร์ แต่ฮ.ยังไม่ทันจะมารับ “เวน่อม” ก็ต้องถูก “งูพิษกัด” ขณะซ่อนตัวจากพวกศัตรู (“งูพิษ---เวน่อม สเน็ค” จะตายเพราะ "พิษงู"!)



เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น เพื่อช่วยชีวิต “เวน่อม” ไควเอทจึงต้องยอมพูด... เธอเลือกพูด “นาวาโฮ” แต่ฮ.ฟังไม่รู้เรื่อง (ไม่มีโค้ดทอล์กเกอร์อยู่ด้วย) เธอจึงจำใจต้องพูดภาษาอังกฤษ เพื่อให้ฮ.มารับเวน่อมได้ถูกต้อง

เมื่อพูดภาษาอังกฤษ ปรสิตก็เริ่มทำงาน 

ดังนั้นหลังช่วย “เวน่อม” ได้แล้ว เธอจึงเลือกที่จะเดินจากไป... ไปใช้ชีวิตกลางทะเลทรายเพียงลำพัง...



อารมณ์ของฉากนี้เยี่ยมมาก

ผมเกลียดบทของโคจิม่าตรงที่ โคจิม่าจะชอบให้ทุกอย่างสื่อมาเป็นคำพูดหมด เมโลดราม่าของโคจิม่าส่วนใหญ่จึงเป็นการพูด พูด แล้วก็พูด

แต่ไควเอทแตกต่างจากตัวละครตัวอื่นๆของโคจิม่าที่ผ่านมา เธอเป็นตัวละครที่ไม่พูดเลย

ดังนั้นเมื่อเธอพูด มันจึงมีความสำคัญเหลือหลาย

วินาทีที่ไควเอทกำลังตัดสินใจหนักว่าจะพูดเพื่อช่วย “เวน่อม” ดีหรือไม่ สีหน้าท่าทางตอนนั้นมันสื่อออกมาอย่างชัดเจน ชนิดที่เรียกว่าไม่ค่อยได้เห็นในซีรีส์ Metal Gear 





เรียกว่า “ท่าทางหน้าตาสื่ออารมณ์ทุกอย่างเป็นหลัก”

แม่เจ้า! โคจิม่าทำฉากดราม่าทรงพลังที่ไม่ต้องพูดอะไรมากก็ได้ด้วยเว้ยเฮ้ย!

หลังจากฮ.ลงมาช่วย “เวน่อม” ไว้ได้ “เวน่อม” ออกตามหาไควเอท แต่กลับเจอเทปบันทึกเสียงแทน คำพูดของไควเอทมีเพียงไม่กี่ประโยค แต่มันกลับสื่ออารมณ์ได้ดียิ่งกว่าคำพูดร่วมสิบนาทีของภาคอื่นๆ

แบบนี้เขาเรียกว่า “น้อยนิดแต่ได้มหาศาล” เราไม่รู้เหตุผลเบื้องหลังของเธอมากมาย ว่าทำไมเธอถึงต้องตัดสินใจอย่างนู้นอย่างนี้อย่างนั้น แต่การเปิดเผยไม่ใช่การสร้างตัวละครที่ดีเสมอไป บางครั้งการทิ้งช่องว่างให้คนดู (คนเล่น) ได้ลงไปต่อเติมเองบ้าง กลับจะส่งพลังยิ่งกว่า

เรื่องของไควเอท ถ้าไปอยู่ใน Metal Gear Solid ภาคอื่นๆอาจจะถือว่าด้อย ไม่ได้มีความจำเป็นต่อพล็อตโดยรวม แต่พอมาอยู่ใน The Phantom Pain ที่เต็มไปด้วย “การเซ็ทอัพเจ๋งๆ แต่เพย์ออฟได้น่าผิดหวัง” แล้ว... 

ผมถือว่ามันสวยงามมาก!! 



Create Date : 26 กันยายน 2558
Last Update : 26 กันยายน 2558 11:09:28 น.
Counter : 24286 Pageviews.

12 comment
Metal Gear Solid V : The Phantom Pain (1) พวกคุณคือ "คนขายโลก"! (Spoilers alert!)
คำเตือน : มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องของเกมเด้อ!

*หมายเหตุ : อยากได้โปสเตอร์อันนี้มาติดผนังจังเลย ได้อารมณ์หนังแอ็กชั่นเก่าๆมาก



Metal Gear Solid V : The Phantom Pain เป็นเกมที่ดี 

ผมเล่นจบ 99 ชั่วโมง (อยากอวดเพราะเลขสวย) จริงอยู่ที่เคลียร์ไม่ถึง 50% ของเกม แต่เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปกับการเดินทางจากเหนือลงใต้ ตามเก็บทหารและวัตถุดิบกลับฐานเพื่ออัพเกรดมาเธอร์เบส ลำพังแค่นั้นผมก็หมดเวลาเป็นชั่วโมงๆแล้ว



เพื่อให้เห็นภาพอะไรบางอย่าง ผมขอเกริ่นนำนอกเรื่องนิดหน่อย

ปีนี้ 2015 เรามีเกมระดับทริปเบิ้ล A สามเกมที่ประกาศจบซีรีส์และเป็นโอเพ่นเวิลด์เหมือนกัน นั่นคือ The Witcher 3, Batman Arkham Knight และ Metal Gear Solid V : The Phantom Pain

ถ้าเรียงลำดับตามความดีของเกมเพลย์ : 
อันดับ 1 – MGS V : TPP, อันดับ 2 – The Witcher 3, อันดับ 3 – Batman : AK (ผมเป็นแฟนแบทแมน แต่ไม่ค่อยชอบแบทโมบิลกับแบทแทงก์เท่าไหร่)

ถ้าเรียงลำดับความดีของเนื้อเรื่อง : 
อันดับ 1 – The Witcher 3, อันดับ 2 – Batman : AK, อันดับ 3 – MGS V : TPP

ถ้าเรียงที่ภาพรวมทั้งหมดของเกม : 
อันดับ 1 – The Witcher 3, อันดับ 2 – MGS V : TPP, อันดับ 3 – Batman : AK

...

พอจะเห็นภาพหรือยังครับว่าผมคิดว่า MGS V :  TPP เป็นเกมที่ดีแต่ผมกลับรู้สึกว่ามัน “เสียของ” ตรงไหน?

อย่างไรก็ตาม ถึงเนื้อเรื่องหรือวิธีการเล่าเรื่องจะเป็นปัญหา แต่พอเล่นจบแล้วมาคิดดูดีๆ ก็รู้สึกว่าเพลง The Man Who Sold The World มีความหมายค่อนข้างน่าสนใจมากทีเดียว รวมถึงความตั้งใจของตัวโคจิม่าที่ต้องการจะเชื่อมคนเล่นเข้ากับตัวละครเหมือนเกม RPG ด้วย





ผมไม่ใช่แฟนโคจิม่า ฮิเดโอะเหมือนอย่างใครหลายคน ผมคิดว่าโคจิม่าไม่ได้เป็น “นักเขียนบท” ที่เก่งเลยสักนิด ผมเกลียดฉากเมโลดราม่าอย่างการร้องไห้ร่วมสิบนาทีของตัวละครในเกม หรือฉากพูดยืดยาวเกินความจำเป็น รวมถึงความซับซ้อนของเนื้อเรื่องที่ซับซ้อนเกินเหตุ ชนิดที่เรียกว่า DC Comics กับ Marvel Comics ต้องอ้าแขนต้อนรับ... (หมายถึง การสร้างเรื่องราวที่ต่อจากของเดิมไปเรื่อยๆ เพิ่มรายละเอียดนู่นนี่นั่นจนภาพรวมของซีรีส์หรือหัวหนังสือซับซ้อนเกินเหตุ)



แต่ผมชอบโคจิม่าที่เป็นความเป็น “โอตาคุหนังฮอลลีวู้ด” ชอบที่เขาทำเกมอย่างบริสุทธิ์จริงใจต่อสิ่งที่เขารักและเทิดทูน ในขณะเดียวกันก็เอาองค์ประกอบของการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างเช่น อาวุธที่เหมือนหุ่นยนต์เท่ๆ หรือตัวร้ายแบบการ์ตูนญี่ปุ่นใส่เข้าไปด้วย จนกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของซีรีส์ Metal Gear



สรุปคือจุดเด่นของซีรีส์ Metal Gear คือการผสมผสานระหว่างหนังฮอลลีวู้ดทุนสูง + อนิเมญี่ปุ่น

สิ่งที่โคจิม่าทำได้ดีมาตลอดคือการสร้างเนื้อเรื่องและเนื้อหาที่น่าติดตามไม่ว่าระบบเกมเพลย์จะดีมากดีน้อยก็ตาม

ตอนที่ Metal Gear Solid V ประกาศว่าจะเป็นภาคสุดท้าย และจะเป็นเรื่องของบิ๊กบอส (หรือเนคเก็ด สเน็ค หรือสเน็ค หรือแจ๊ค หรือจอห์น) ทุกๆอย่างที่สื่อออกมา เหมือนกำลังบอกให้คนเล่นเกมเตรียมใจว่ามันเป็นภาคที่บิ๊กบอสกำลังจะเข้าสู่ “ด้านมืด” คือหนทางการเป็นตัวร้ายใน Metal Gear ภาคแรก (ปี 1987) ที่ลงเครื่อง MSX



มันน่าตื่นเต้นในความรู้สึกของแฟนๆหลายๆคน

แต่สิ่งที่ออกมากลับไม่ใช่อย่างที่คิด!

นอกจากตัวเกมจะมีการดำเนินเรื่องที่เบาบาง และ Chapter 2 ที่สะเปะสะปะสุดๆแล้ว บทสรุปของบิ๊กบอสยังน่าผิดหวัง!

บทสรุปของเรื่องกลับกลายเป็นว่า เกม MGS V : TPP กลับเป็นเรื่องของ “เวน่อม สเน็ค” ตัวตายตัวแทนของบิ๊กบอสที่จะไปตายเอาตอน Metal Gear ภาคแรก (ปี 1987) เพราะสู้กับโซลิด สเน็คที่ “เอาท์เตอร์เฮเว่น” 


(Smileyเผื่อใครไม่รู้ นี่คือฉากที่โซลิดสเน็คเผชิญหน้ากับบิ๊กบอสในเกม Metal Gear 1987) 

คำถาม มันเป็นการตกสู่ด้านมืดอย่างไร ในเมื่อแต่เดิม “เวน่อม” คือทหารที่จงรักภักดีต่อบิ๊กบอส และพร้อมจะทำดำเนินตามแผนการของบิ๊กบอสทุกอย่างแม้กระทั่งการเป็นตัวตายตัวแทน และจบชีวิตลงในฐานที่เป็นสรวงสวรรค์ของเหล่าทหาร เรียกว่าเป็นหุ่นเชิดตั้งแต่ต้นยันจบ!

หรือโคจิม่าต้องการจะพูดถึงสภาพจิตใจของ "เวน่อม" ที่ถูกล้างสมองแล้วปลูกฝังให้เชื่อว่าตัวเองคือบิ๊กบอส? ผมไม่รู้สึกอะไรแบบนั้นเลยนะ!

ในความเห็นของผม The Phantom Pain ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าส่วนขยายจาก The Peace Walker ซึ่งไม่ได้เลวร้ายอะไร แต่มันไม่ได้ถูกเน้นย้ำในเรื่องของ "การก้าวเข้าสู่ด้านมืด" เหมือนอย่างที่มีการนำเสนอกันก่อนที่เกมจะวางขาย เราไม่ได้สัมผัสถึง "สภาพจิตใจ" ของ "เวน่อม" ที่จะพาไปสู่เรื่องราวของ Metal Gear เกมปี 1987 เสียเท่าไหร่

เนื้อหาในเกมส่วนใหญ่จะเป็นการแก้แค้นของ "เวน่อม" รวมไปถึงการสร้างฐานใหม่ชื่อไดมอนด็อกส์ และออกทำงานหาเงินทุนเพื่อทำให้เป้าหมายของตัวเองเป็นจริง ซึ่งสำหรับผมแล้วมันไม่ถึงกับมีความสำคัญอะไรมาก เพราะยังไงบิ๊กบอสตัวจริงก็ไปสร้าง "เอาท์เตอร์เฮเว่น" อยู่แล้ว คิดจะพัฒนาเมทัลเกียร์อยู่แล้ว (ตั้งแต่ The Peace Walker)...

ฉะนั้นการเข้าสู่ด้านมืดหรือไม่เข้าสู่ด้านมืดของ "เวน่อม" สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อโลกโดยรวมของ Metal Gear มากนัก...



...เพียงแต่เวลามองย้อนกลับไปมอง Metal Gear ภาคแรกสุด เราจะเข้าใจว่า อ้อ... มันไม่ใช่บิ๊กบอสตัวจริง เพราะงั้นบิ๊กบอสถึงกลับมาสู้กับสเน็คใน Metal Gear 2 : Solid Snake (เกมปี 1990) ที่ “แซนซิบาร์แลนด์” ได้

เท่านั้น...


(Smileyเผื่อใครไม่รู้ นี่คือฉากที่โซลิดสเน็คเผชิญหน้ากับบิ๊กบอส "ตัวจริง" ในเกม Metal Gear 2 : Solid Snake) 

หรือไม่ก็ ทำให้เราเข้าใจว่าเงินทุนที่บิ๊กบอสเอามาใช้สร้าง “เอาท์เตอร์เฮเว่น” นั้น อาจจะมาจากกิจการของไดมอนด็อกส์ที่ "เวน่อม" ดูแลอยู่ก็เป็นได้

เท่านั้น...

แฟน Metal Gear หลายคนถึงบอกว่า The Phantom Pain เป็นเหมือน Side Story ไม่ใช่ภาคต่อของจริง...

ผมเห็นด้วยนะ

เพียงแต่ ผมไม่ได้รังเกียจเรื่อง “เวน่อม” ว่ะ

แค่รู้สึกเสียของที่เราจะไม่ได้เห็น “อนาคิน” กลายเป็น “ดาร์ธเวเดอร์”

แต่ก็ไม่ได้รังเกียจอะไร

ตรงกันข้าม กลับรู้สึกว่ามันมีอะไรน่าสนใจด้วย



โคจิม่าบอกว่า “สเน็ค” ในภาค The Phantom Pain จะพูดน้อย เพราะมันเป็นเกมโอเพ่นเวิลด์ และสเน็คหรือบิ๊กบอสคือตัวละครในตำนาน จึงอยากจะเชื่อมโยงคนเล่นมากที่สุด

ตอนเปิดเกม The Phantom Pain ที่โรงพยาบาลถูกบุก ผมมั่นใจว่าชายพันหน้าคือ "คีเฟอร์ ซูเธอแลนด์" หรือที่แจ็ค บาวเออร์จาก 24 ซึ่งเป็นคนที่ภาคบิ๊กบอสทั้งใน Metal Gear Solid V : Ground Zeroes และ The Phantom Pain




แถมตลอดทั้งเรื่อง ตัวสเน็คยังพูดน้อยมากกกกกทั้งที่ใน Ground Zeroes ยังพูดเยอะอยู่เลย ตอนแรกผมเข้าใจว่าตัวซูเธอแลนด์ค่าตัวแพง งบเลยหมด

แต่พอมาถึงตอนจบ ผมถึงบางอ้อเลย

อ้อ มันต้องพูดน้อยสิ ก็แม่งคนละคนกันเลยนี่หว่า! ทำไมถึงไม่เชื่อในลางสังหรณ์ของตัวเองตั้งแต่ต้นนะ ไอ้ชายพันหน้านั่นน่ะ มันเสียงพี่แจ็ค บาวเออร์แน่ๆ! ฮ่วย!

ความตั้งใจของโคจิม่าคือ

ผู้เล่นเกม --> เวน่อมสเน็ค --> แฟนธ่อมของบิ๊กบอส = บิ๊กบอส = ผู้เล่นเกมคือบิ๊กบอส

แปลว่าคนเล่นเกมได้สวมบทบาทเป็นบิ๊กบอสของแท้ ในขณะที่บิ๊กบอสตัวจริงแอบไปดำเนินการแผนการอื่นอย่างลับๆ

นี่มัน... หลุดไปจากที่สัญญากันตอนแรกเลยนี่หว่าว่า The Phantom Pain จะเป็นการเดินทางสู่ด้านมืดของบิ๊กบอส (ที่เป็นเนคเก็ด สเน็คใน Metal Gear Solid 3 : Snake Eater กับ The Peace Walker) ไม่ใช่ "แฟนธ่อม" ของบิ๊กบอสหรือก็คือ "ผู้เล่นเกม"!!

ตกลงแล้วโคจิม่าคือ Troll ของแท้!


แต่ความรู้สึกสนใจของผมต่อเรื่อง "เวน่อม" และบิ๊กบอส มันอยู่ตรงนี้...

ในความเห็นของผม บิ๊กบอสไม่ใช่ตัวร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์พอๆกับซีโร่ หรือเดอะแพทริออตส์ ทุกฝ่ายล้วนแล้วแต่มีอุดมการณ์ของตัวเองและต่อสู้กันและกันเพื่ออุดมการณ์นั้น (แม้เดอะแพทริออตส์ ตกลงแล้วจะเป็น A.I. ก็เถอะ แต่มันก็ดำเนินไปตามแผนการที่มันเห็นว่าถูกต้อง)

บิ๊กบอสเรียกได้ว่าเป็น “Anti-hero” หรือพระเอกนอกคอก 

เขาเป็นผู้ก่อการร้าย ตั้งกองกำลังของตัวเองขึ้นมา เป้าหมายคือสร้างประเทศของทหารที่ไร้พรมแดน ไร้การควบคุมจากทางการเมือง ที่ๆทหารทุกคนจะมีเกียรติยศ และการจะเป็นอิสระจากการควบคุมได้ จำเป็นต้องสู้เท่านั้น ชีวิตคือการต่อสู้ไร้ที่สิ้นสุด การต่อสู้คือสัญลักษณ์ของการมีชีวิตอยู่

ในขณะเดียวกัน บิ๊กบอสก็ช่วยเหลือเหล่าทหาร ช่วยเหลือเด็กๆที่ต้องได้รับภัยจากสงครามหรือการเมือง หรืออะไรก็ตามที่เป็นการสร้างชีวิตคนไปด้วย



ฉะนั้นสิ่งที่บิ๊กบอสใน Metal Gear 2 : Solid Snake และ Metal Gear Solid 4 : Gun of the Patriots เป็นนั้น แทบไม่ต่างอะไรกับบิ๊กบอสใน The Peace Walker เท่าไหร่




ฉะนั้น... ในความเห็นของผม การไม่ได้เห็น “อนาคิน” กลายเป็น “ดาร์ธเวเดอร์” จึงไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอย่างที่คิด

ตรงกันข้าม ผมกลับรู้สึกสนใจเรื่องของ “เวน่อม” ที่ต้องยอมเสียสละตัวเอง กลายมาเป็นบิ๊กบอสเพื่อมารับ “หน้าเสื่อ” ในทุกๆเรื่องแทน 



ต้องสร้างตำนานของบิ๊กบอสขึ้นมาบนการตัดสินใจที่ทั้งดีและไม่ดี โดยเฉพาะการต้องฆ่าลูกน้องตัวเองเกือบหมดทั้ง “ตึกกักกันโรค” 



เพลงประจำธีมของ The Phantom Pain คือ The Man Who Sold The World ของเดวิด โบวี่ เพลงนี้ขึ้นชื่อของความหมายเชิงกวีที่ต้องมีการตีความกันพอสมควร แต่โดยรวมแล้วมันหมายถึงการเผชิญหน้ากับ "คู่แฝด" หรือ "ตัวเราอีกคน" ที่อยู่ลึกๆด้านใน พูดง่ายๆคือ "อึกหนึ่งบุคลิกของตัวเราเอง"

ส่วนเดวิด โบวี่เคยให้สัมภาษณ์ว่าเพลงนี้สำหรับตัวเขาแล้ว มักจะอธิบายถึงความรู้สึกเมื่อตอนที่คุณยังเด็ก เมื่อตอนที่คุณมีความรู้สึกว่ายังมีบางส่วนของตัวคุณเองที่ยังไม่ได้ใส่เข้าไปให้มันสมบูรณ์ คุณก็เลยต้องเริ่มการค้นหาอันยิ่งใหญ่นี่ เพื่อที่จะค้นหาว่าแท้จริงแล้วคุณคือใคร

ตัวโคจิม่าเหมือนตั้งใจจะให้ "บิ๊กบอสตัวจริง" เป็น The Man Who Sold The World เพราะนอกจากจะทำสงครามเป็นธุรกิจ รวมถึงการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ที่เกี่ยวกับโลกในอุดมคติของตนแล้ว "บิ๊กบอสตัวจริง" ยังต้องเผชิญหน้ากับ "คู่แฝด" ตัวเองซึ่งก็คือ "เวน่อม" หรือ "ตัวผู้เล่น" ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกว่าเพลงนี้มันมีอะไรบางอย่างที่เชื่อมโยงกับตัว "เวน่อม" กับตัว "ผู้เล่น" ไม่ความหมายใดก็ความหมายหนึ่งด้วยเช่นกัน


บางทีมันอาจจะหมายถึงตัวคุณเองนั่นแหละ ที่ขายชีวิตให้กับโลกของเกม ถอดความเป็นตัวคุณออกไปแล้วสวมบทบาทเป็นบิ๊กบอส ชายผู้เป็นนักรบในตำนาน ตัวคุณกลายเป็นคู่แฝดของบิ๊กบอส เป็นอีกหนึ่งบุคลิกของบิ๊กบอส ใช้เวลาเป็นสี่สิบห้าสิบชั่วโมง (หรือของผมมคือ 99 ชั่วโมง) เพื่อล้างแค้นแทนบิ๊กบอสตัวจริงและร่วมสร้างตำนานของบิ๊กบอสให้แข็งแกร่งขึ้น ก่อนจะลงท้ายด้วยการสละชีพเพื่อแผนการของบิ๊กบอสด้วย!

คุณเองก็คือ The Man Who Sold The World!




ผมชอบไอเดียนี้ว่ะ!

โอเค ผมผิดหวังกับเนื้อเรื่อง รู้สึกเสียของกับไอเดียดีๆที่อยู่ในเกม

แต่ชอบไอเดียนี้มากถึงมากที่สุด!

เพราะฉะนั้นตอนจบ เพลง The Man Who Sold The World ถึงยังก้องอยู่ในหัวของผมต่อไป และผมก็ค่อนข้างพึงพอใจกับการเป็นอีกหนึ่งบุคลิกของบิ๊กบอสซะด้วย!






Create Date : 21 กันยายน 2558
Last Update : 22 กันยายน 2558 23:06:32 น.
Counter : 6319 Pageviews.

1 comment
Her Story : หลอน-ฉลาด


ก่อนอื่นรู้จักคำว่า “Unreliable narrator” หรือ “ผู้เล่าเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ” บ้างไหมครับ มันเป็นตัวละครในเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถืออย่างรุนแรง พูดอะไรเหมือนจะจริงแต่กลับขัดแย้งความเป็นจริง หรือพูดแล้วคลุมเครือจนรู้สึกสับสน เช่น ตัวละครใน Rashomon ที่เล่าเรื่องกันไปคนละมุมเลย, ตัวเอกใน Fight Club, ตัวละครในหนังเรื่อง Memento เป็นต้น 

ผมคิดว่า Her Story เป็นเกมที่ทั้งหลอนและฉลาด 

ฉลาดในที่นี้ไม่ใช่ในด้านเนื้อเรื่อง แต่เป็น “วิธีการเล่าเรื่อง”

หลอนในที่นี้ไม่ใช่เพราะมันสยองขวัญหรือน่ากลัว แต่เป็นเพราะ “วิธีการเล่าเรื่อง” อีกเช่นเดียวกัน

มันเป็นเกมสั้นๆที่เล่นจบได้แค่ไม่ถึงสามชั่วโมง แต่ตัวเนื้อหาของเกมจะยังอยู่ในความคิดและความรู้สึกของคนเล่นไปอีกนานอย่างน้อยก็หลายชั่วโมง 

นี่ถึงเรียกว่าหลอนและฉลาด

เนื้อหาของเกม Her Story นั้นช่างง่ายแสนง่ายเสียเหลือเกิน มันเป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งถูกจับมาสอบปากคำในฐานะผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรม 



จุดเริ่มต้นของเกมคือมีคลิปวีดีโอมาให้จำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นเราก็ต้องพิมพ์คำภาษาอังกฤษเข้าไปในช่อง search เช่น murder, kill, cat, car อะไรทำนองนี้เป็นต้น และทุกครั้งที่เสิร์ช ถ้าคีย์เวิร์ดถูกจะปรากฏคลิปขึ้นมา คลิปไหนเป็นคลิปใหม่จะมีรูปดวงตาขึ้น คลิปไหนเป็นคลิปที่เคยดูแล้ว รูปดวงตาจะหายไป



เกมตอนแรกๆจะรู้สึกสับสนกับเนื้อหา รู้สึกว่า “ไปไม่ถูก”

แต่เมื่อลองเสิร์ชหาทีละคำสองคำ เริ่มมีคลิปทยอยออกมาให้เราดูมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็ยิ่งรู้เรื่องมากขึ้น และรู้ว่าจะเสิร์ชหาคำไหนต่อไป

เอาจริงๆเนื้อเรื่องใน Her Story ไม่ได้ซับซ้อนมากนัก แต่วิธีการ “ซอยคลิป” สั้นๆประมาณคลิปละสิบกว่าวินาที และคลิปก็เป็นการสอบปากคำอย่างต่อเนื่องในหลายๆวันนี่แหละ ที่เป็นจุดแข็งของเกม 

ไอ้การซอยเป็นคลิปสั้นๆนี่แหละที่เรียกว่า “ฉลาด” 

มันกระตุ้นให้เราอยากรู้เรื่องมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้คนเล่นต้องลองเสิร์ชหาคำมากขึ้นเรื่อยๆ เอ๊ะ เมื่อกี้มันพูดอะไรเกี่ยวกับนิทาน ลองเสิร์ช fairy tales ซิ เอ๊ะ เมื่อกี้พูดอะไรถึงรถ ลองเสิร์ช car ดูซิ เอ๊ะ เมื่อกี้มันเล่าเรื่องขับรถ ลองเสิร์ชคำว่า drive หรือ driving ดูซิ 



ยิ่งพยายามติดตามเรื่องราวของผู้หญิงที่ให้ปากคำมากเท่าไหร่ เนื้อหาก็ยิ่งถูกฝังเข้าไปในความรู้สึกของผู้เล่นไม่รู้ตัว เพราะตอนนี้ผู้เล่นได้กลายเป็นเหมือนนักสืบหรือคนที่พยายามหาความเป็นจริงจากคลิปวีดีโอสอบปากคำเสียเองแล้ว

ที่ฉลาดยิ่งกว่าคือ ผู้สร้างกล้าที่จะไม่เฉลยทุกอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ต่อให้เราเรียบเรียงเรื่องราวในหัว หรือเอาคลิปทุกคลิปมาเรียงตามวันและเวลาแล้วก็เล่นต่อเนื่องกันไป มันก็ยังมีประเด็นที่ยังค้างคาใจ ยากจะหาข้อสรุปที่แน่ชัดได้ 

“เธอ” ในเกม Her Story ถือว่าเอาจุดแข็งของ Unreliable narrator มาใช้ได้เป็นประโยชน์มาก เหมือนจะพูดตรงๆ เล่าเรื่องตรงๆ เหมือนจะไม่ซับซ้อน แต่พอมานั่งนึกย้อนดูก็พบว่ามันอาจจะไม่ใช่อย่างที่คิดก็ได้ เหมือนจะยังมีความเป็นไปได้อื่นอยู่อีก ต้องพยายามรวบรวมคำพูดแล้วมาตั้งเป็นข้อสรุปว่า “ตกลงแล้วเรื่องราวมันเป็นยังไงกันแน่”

นี่แหละคือที่มาของคำว่า “หลอน” เพราะความเป็นจริงในเกมค่อนข้างคลุมเครือ มีแต่ทฤษฎีที่อ้างอิงจากเนื้อหาในคลิป จนทำให้เกิดอารมณ์ “เกมจบแต่คนไม่จบ” ต้องมีการตั้งข้อทฤษฎีและเอาไปพูดคุยกันในเว็บบอร์ด



Her Story เป็นเกมราคาถูกแค่ 149 บาทเอง (ใน Steam) แต่มันมีวิธีการเล่าเรื่องที่ดีพอๆกับเกม AAA หลายๆเกม (หรืออาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ) แน่นอน

โดยเฉพาะในมุมมองของคนที่ชอบนิยายหรือหนังที่มี Unreliable narrator รู้สึกพึงพอใจอย่างบอกไม่ถูก!

**หมายเหตุ เกมนี้เหมาะแก่ผู้ที่ชอบแนวสืบสวน หรือการปะติดปะต่อเนื้อหาด้วยตัวเอง มากกว่าจะพุ่งเข้าไปหาบทสรุปทันที ผู้ที่ไม่ชอบการมานั่งพิมพ์คำศัพท์ หรือการร้อยเนื้อหาของคลิปเข้าด้วยกันเอง อาจจะรู้สึกว่ามันน่าเบื่อได้






Create Date : 12 สิงหาคม 2558
Last Update : 13 สิงหาคม 2558 12:46:58 น.
Counter : 3141 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  

หมาหัวโจก
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]



All Blog