Deus Ex: Mankind Divided - ไซบอร์กคีอานู รีฟสมานฉันท์ (ไม่สปอยล์)


หมายเหตุ: ภาพประกอบในเกม แคปเจอร์จากโน้ตบุค Lenovo Y410p ซึ่งเซ็ทโดยรวมได้ระดับ High และลด Detail of Level ลงเป็น Low กับตัด Motion Blur ออก 

ถ้าให้สรุป Deus Ex: Mankind Divided แบบง่ายๆ ก็ต้องบอกว่า "รู้สึกเหมือนเป็น Metal Gear Solid V: The Phantom Pain ของปีนี้ ไอเดียดี เนื้อเรื่องใช้ได้ ตอนจบน่าผิดหวัง
 แต่เนื้อหาของไซด์เควสท์ใน Mankind Divided นั้นน่าสนใจมาก และโดยรวมแล้ว นี่เป็นประสบการณ์ที่สุดเหวี่ยงไปเลย!"



เนื้อเรื่องเกิดขึ้นหลังเกม Deus Ex: Human Revolution สองปี แต่ทางผู้สร้างเกมพยายามบอกว่า "เล่นภาคนี้ได้เลย โดยไม่ต้องเล่นภาค Human Revolution ถ้ากลัวไม่รู้เรื่อง ก็ดู recap หรือสรุปเนื้อเรื่องแบบย่อๆได้เลย!"... 

อืม เอาเป็นว่าเหตุการณ์ในตอนท้ายของ Human Revolution เกิดความยุ่งเหยิง กลุ่มผู้อัพเกรดอวัยวะเทียมเกิดคลุ้มคลั่งเพราะแผนการของตัวร้ายจนทำให้สังคมมนุษย์ปั่นป่วน กลายเป็นการแบ่งแยกชนชั้นระหว่าง "คนเทียม (Aug)" กับ "คนแท้ (No aug/Natural)" 

ในปี 2029 อดัม เจนเซ่นมาเยือนกรุงปรากพร้อมกับเหตุการณ์ระเบิดที่สถานีรถไฟ เขากับ Task Force 29 หน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบผู้ก่อการร้าย (ที่ส่วนใหญ่เป็นมนุษย์แท้) จึงต้องออกสืบหาตัวคนร้ายที่อยู่เบื้องหลังการระเบิดครั้งนี้ให้ได้ ท่ามกลางความขัดแย้งของสังคม






แง่บวก

Smiley มันมีฉากที่เปิดกว้างกว่า Deus Ex: Human Revolution มาก และฉากก็ดีไซน์ได้สนุก มีอะไรให้สำรวจมากมายจนสงสัยว่า ไอ้คนที่เล่นจบภายในสิบกว่าชั่วโมงเนี่ย... จะรีบเล่นให้จบไปทำไม? ผมใช้เวลา 40 ชั่วโมงในการจบรอบแรก เอาจริงๆยังเก็บไซด์เควสท์ไม่หมดด้วยซ้ำ (แต่ก็เกือบแล้ว)




Smiley โลกรอบตัวคือส่วนหนึ่งของเรื่องราว ทั้งข่าว อีเมล โปสเตอร์ นิตยสาร คำพูดของพลเมือง ถ้าใช้เวลาไปกับโลกรอบตัวสักนิดจะรู้สึกได้เลยว่ามันมีรายละเอียดอะไรให้ค้นหาเยอะมาก จนผมไม่อาจจะอ่านได้หมด ต้องแคปเจอร์ภาพมาอ่านทีหลัง





Smiley ระบบเกมคล้ายกับของ Human Revolution แต่มีการปรับปรุงให้ไหลลื่นขึ้นอีกนิด เพิ่มความท้าทายขึ้นอีกหน่อย เช่น แถบพลังแบตเตอรี่ต้องพึ่งพา Biocell ในการคืนพลัง ฉะนั้นเวลาใช้ต้องคิดให้ดีๆ ถ้า Biocell หมดก็ใช้สกิลต่างๆไม่ได้ (แต่เกมก็มีระบบคราฟท์ของมาให้ เผื่อยามฉุกเฉิน) ระบบในการ "ลอบเร้น" ก็ทำให้ง่ายขึ้น ผมเล่นเวอร์ชั่น PC จึงสามารถใช้เมาส์กำหนดการเคลื่อนย้ายจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งได้ง่ายมาก




Smiley วิธีการไปถึงเป้าหมาย มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นต้องสำรวจสภาพแวดล้อมมากขึ้น หลายๆครั้งผมต้องโหลดเซฟเดิมเพื่อลองหาหนทางในการไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้ใช้เวลาในการเล่นมากขึ้นอีก





Smiley วิธีการเคลียร์เควสท์มีหลากหลายขึ้น ถ้าอัพเกรดสกิลในการ "พูด" หลายครั้งจะคลี่คลายปัญหาได้โดยไม่ต้องพึ่งความรุนแรง หลายเควสท์มี "เส้นทางเลือกอื่น" ให้คนเล่นลองไปตรวจสอบดูก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ "เส้นทางเลือกอื่น" มักจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า โดยเฉพาะคนที่คิดจะเล่นแบบไม่ฆ่าใครเลย แน่นอนว่าเกมนี้มีคนเล่นจบได้โดยไม่ต้องฆ่าใครสักคน แม้กระทั่งบอส ซึ่งเป็นสิ่งที่ Human Revolution ขาดไป! (ภาคนั้นเราถูกบีบให้สู้กับบอส)




Smiley ผมเลือกเล่นแบบ "ฆ่าแหลก" ซึ่งก็มีความยากความง่ายแตกต่างกันกับแบบ "ลอบเร้น" ศัตรูในเกมนี้มี A.I. ค่อนข้างน่าประทับใจ ผมพยายามกำจัดตำรวจในแมพๆหนึ่ง แต่ต้องตายหลายหนเพราะบางคนมันอ้อมหลังมารุมผมที่หลบซ่อนอยู่ คือการสู้กับศัตรูเกมนี้สนุกมาก เสียดาย ถ้าไปเอาระบบ "ศัตรูอัพเกรดตามสไตล์ผู้เล่น" ของ Metal Gear Solid V มาใช้ จะดีมาก




Smiley การเล่นที่ผมรู้สึกชอบและสนุกที่สุด (ทั้งเกมนี้และเกมอย่าง Metal Gear Solid V) ก็คือการเป็น "Hitman (มือสังหาร)" หรือ "เจมส์ บอนด์"! ทันทีที่ผมได้ "กระบอกเก็บเสียง" มาติดปืนพก 9 มม. ผมก็ได้เล่นในสไตล์แบบที่ตัวเองชอบ คือแอบลอบเร้นแล้วพยายามฆ่าให้หมดแมพ ถ้าศัตรูรู้ตัวก็ฆ่าทิ้งให้หมด! การเล่นแบบนี้ ทำให้ผมต้องพึ่งพาการยิงแบบเฮ้ดช็อตเพื่อประหยัดกระสุน แต่เกมนี้หลังๆศัตรูใส่หมวกป้องกัน ทำให้การยิงเฮ้ดช็อตแบบเงียบๆในครั้งเดียวไม่ได้ผล ต้องยิงกระหน่ำไปสองสามนัด ซึ่งก็เสี่ยงทำให้ศัตรูรอบข้างรู้ตัวอีก ถ้าอยากยิงให้ตายแบบง่ายๆ ก็ต้องใช้กระสุนเจาะเกราะ แต่ปืนที่ผมติดกระบอกเก็บเสียงมีแค่ปืนพกกับปืนกล ดังนั้นผมจึงตัดปืนลูกซองทิ้งไปในรอบนี้ แล้วพยายามใช้ปืนแค่สองกระบอกที่ติดกระบอกเก็บเสียงเท่านั้น... ฟู่... สรุปง่ายๆคือ คนเล่นอยากเล่นในสไตล์แบบไหน ก็เชิญเลือกเล่นได้ตามสบายเลย





Smiley ความบันเทิงอีกอย่างสำหรับผมคือ การแฮ็กป้อมปืนแล้วสั่งให้ป้อมปืนยิงศัตรูทุกตัวที่ขวางหน้า! สะใจเป็นบ้า





Smiley อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมตายบ่อยคือ ผมพยายามเล่นเป็น Grand Theft Auto แปลว่าว่างๆก็ลองยิงตำรวจในเมืองเล่น โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆเกมก่อนไคลแม็กซ์ที่กรุงปรากอยู่ในกฎอัยการศึก ช่วงนี้ตำรวจเป็นศัตรูกับเราอย่างชัดเจน พยายามสู้ด้วยปืนกลกับปืนพกและปืนสไนเปอร์แล้ว เป็นได้จบเห่ทุกที!





Smiley ศัตรูอีกประเภทที่น่าหงุดหงิดแต่ก็ท้าทายอยู่ในทีก็คือ พวกหน้ากากทองนี่แหละ มันจะมีเกราะ TITAN ซึ่งเป็นความสามารถที่เรามีเหมือนกัน ทำให้กระสุนธรรมดายิงไม่ค่อยเข้า ถ้าไม่ลอบเร้นแล้วยิงเฮ้ดช็อตก่อนเกราะเหล็กเหลวจะทำงาน ก็ต้องใช้กระสุนเจาะเกราะ (หรือไม่ก็แฮ็กป้อมปืน)





Smiley ระบบการแฮ็กมีเพิ่มความท้าทายขึ้น การแฮ็กแบบระยะไกลก็ทำให้เพลินดี นอกจากนี้ยังมีเพิ่มระบบคราฟท์ของขึ้นมาด้วย ซึ่ง... ก็มีประโยชน์ในการอัพเกรดอาวุธพอสมควร ทำให้อาวุธยิงแรงขึ้นได้ หรือยิงรัวขึ้นได้




Smiley เกมนี้เล่นได้หลายรอบ รอบแรกเราอาจเล่นสไตล์หนึ่ง แล้วอีกรอบหนึ่งก็สามารถลองเล่นอีกสไตล์ดูได้ New Game+ เอื้ออำนวยให้คนเล่นสามารถเล่นรอบสองได้หลากหลายขึ้น


Smiley ถึงจุดๆหนึ่งเกมจะให้เลือกระหว่างเส้นทางสองเส้นทาง เช่น ต้องช่วย A แต่ทอดทิ้ง B ทำให้เรารู้เนื้อเรื่องส่วนหนึ่ง แต่ไม่รู้เนื้อเรื่องอีกส่วนหนึ่ง ทำให้มีค่าในการเล่นอีกรอบมาก


Smiley สังคม "การแบ่งแยกมนุษย์" ระหว่าง "คนที่ติดอวัยวะเทียม" กับ "คนปกติ" เป็นไอเดียที่น่าสนใจมาก มันเหมือนกับการแบ่งแยกคนผิวสี หรือการแบ่งขั้ว "เหลือง-แดง" ทางการเมือง 




Smiley ไซด์เควสท์ของเกมนี้น่าสนใจมาก เอาจริงๆคือ เนื้อหาของไซด์เควสท์บางไซด์เควสท์ ดีกว่าเนื้อหาหลักเสียอีก


Smiley การกระทำผ่านเควสท์ของเรา มีผลต่อโลกระดับหนึ่ง และมีผลต่อเควสท์หลังๆในบางเควสท์ด้วย




Smiley ฉากกรุงปรากสวยมาก! งานดีไซน์หลายอย่างดีมาก ทั้งเกราะของตำรวจและอุปกรณ์ต่างๆ จนผมต้องสั่งซื้อหนังสือ The Art of Deus Ex Universe เลย!







แง่ลบ

Smiley ไอเดียเรื่องสังคมแบ่งแยกมนุษย์นั้นน่าสนใจ เสียดายที่พล็อตเรื่องโดยรวมค่อนข้างจะเฉยๆ คือมันสนุก แต่จะน่าผิดหวังถ้าเทียบกับ Human Revolution หรือ Deus Ex ภาคปี 2000 คือสเกลของเนื้อหาภาคนี้มันมีขนาดเล็กไปหน่อยหากเทียบกับภาคก่อนๆ โดยเฉพาะในตอนจบของทั้งสองภาคที่กล่าวอ้างมา คุณจะรู้สึกเหมือนเป็น "ผู้เปลี่ยนประวัติศาสตร์" แตกต่างจาก Mankind Divined โดยสิ้นเชิง อีกทั้งเกมยังผูกปมที่น่าสนใจมากมาย แต่กลับไม่ได้รับการคลี่คลายหรือพาไปถึงจุดสูงสุดในหลายๆประเด็น เช่น เนธาเนียล บราวน์ ถ้าเป็นภาคอื่นๆ อาจถูกนำเสนอในแง่มุมที่กำกวมด้านศีลธรรมกว่านี้ หรือปมอดีตเกี่ยวกับตัวอดัม เจนเซ่น เป็นต้น หนำซ้ำฉากจบยังน่าผิดหวัง จบแบบชนิดที่คนเล่นต้องอ้าปากค้าง เหมือนอารมณ์ของเนื้อเรื่องกำลังทะยานขึ้นสูง แล้วอยู่ดีๆก็ตัดฉับทิ้ง... ปล่อยให้คนเล่นได้แต่เงียบกริบ... เอ่อ มันจบแล้วเหรอ? แบบนี้เนี่ยนะ? อะไรทำนองนี้




Smiley เอาจริงๆแล้วพล็อตค่อนข้างตามสูตรสำเร็จ มันคล้ายๆกับของ Human Revolution คือ มันมีกลุ่มๆหนึ่งทำอะไรสักอย่าง แล้วเอาจริงๆมันมีคนอยู่ระดับสูงสักคนอยู่เบื้องลึกเบื้องหลัง บลาๆๆๆ ทำให้พล็อตบางจุดค่อนข้างจะเดาได้ง่ายทีเดียว


Smiley ทุกการกระทำ ทุกตัวเลือกที่เราเลือกหรือทำผ่านภารกิจต่างๆ สุดท้ายจะไปสรุปที่รายงานข่าวในตอนจบ ซึ่ง... ค่อนข้างจะน่าผิดหวังนิดหน่อย เลือกไม่ถูกเลยว่าตอนจบแบบ Human Revolution ที่จบแบบพระเอกมาพูดๆๆๆๆ กับจบแบบนี้ อันไหนดีกว่ากัน...




Smiley ตัวเลือกจากการทำเควสท์มีผลต่อโลกในกรุงปรากก็จริง แต่การกระทำอื่นๆในตัวเกมแทบไม่ได้มีผลอะไรต่อโลกเป็นพิเศษ ซึ่งน่าเสียดายมาก เช่น ถ้าผมฆ่าคนในแก๊งยกฝูง หรือฆ่าตำรวจยกแมพ ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน สุดท้ายผมก็เดินลอยนวลตามพื้นที่ต่างๆได้โดยที่พวกแก๊งหรือตำรวจไม่ทำอะไรผมเลย ในเกม Fallout New Vegas กลุ่มหลายๆกลุ่มจะชอบหรือจะเกลียดเราแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา ถ้าผมฆ่าคนในแก๊งลีเจี้ยนมากๆจนแก๊งเกลียดผม มันจะส่ง "นักฆ่าระดับตำนาน" มาฆ่าผมเลยทีเดียว แล้วตัวเลือกจะมีผลต่อเควสท์ที่จะพาไปสู่ตอนจบของเกมที่แตกต่างกันในภายหลังด้วย! ลองจินตนาการดูสิครับ ถ้าเกม Mankind Divided เป็นแบบนั้นบ้าง มันจะเจ๋งขนาดไหน จะทำให้การเล่นหลายๆรอบ มีความสนุกมากขึ้นขนาดไหน โลกของ Deus Ex เต็มไปด้วยองค์กรมากมายและกลุ่มคนที่มีเป้าหมายแตกต่างกันไป มันเอื้อให้ทำอะไรแบบนี้มาก 




Smiley ระบบการคราฟท์ มีประโยชน์จริง แต่เพียงน้อยนิด... ถ้าในด้านการอัพเกรดอาวุธละก็ มีประโยชน์มาก แต่พวกของอื่นๆ อย่างเช่น Biocell ผมคราฟท์เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น เพราะของพวกนี้หาได้ตามปกติ สงสัยว่าต้องเล่นแบบยากๆ ระบบคราฟท์ของถึงจะมีประโยชน์ขึ้น


Smiley ผมเกลียดท่าทางการเคลื่อนไหวของตัวละครมาก หลายครั้งหลังพูดจบ มักจะทำท่าทางอะไรแปลกๆเป็นการตบท้าย จังหวะการลิปซิงก์ก็แย่ การเคลื่อนไหวปากของตัวละครดูตกยุคมาก




Smiley โหลดนานมาก ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเครื่องโน้ตบุ๊กผมหรือเปล่า แต่การขึ้นรถไฟแล้วโหลดพื้นที่ใหม่ มันใช้เวลาโหลดนานจนต้องหยิบมือถือมาเล่นฆ่าเวลาเลยทีเดียว




Smiley ถนนในบ้านเมืองเหมือนกับ Human Revolution คือมีรถยนต์ แต่ไม่มีคันไหนวิ่งเลยสักคัน แปลกมาก!






สรุปแล้วผมให้ Deus Ex: Mankind Divided...

8/10

ซึ่งเท่ากับ Human Revolution 

พูดก็พูดเถอะ ถึง Square Enix จะบอกว่าเล่นเกมนี้ได้โดยไม่ต้องไปเล่นภาคก่อนหน้านี้ แต่ผมก็ยังแนะนำให้คนที่ไม่เคยเล่น ไปหาภาค Human Revolution มาเล่นกับตาตัวเองเถอะ รับรองว่าคุ้มค่าแน่นอน





Create Date : 30 สิงหาคม 2559
Last Update : 2 กันยายน 2559 12:02:52 น.
Counter : 4292 Pageviews.

0 comment
Batman: The Telltale Series Episode 1 - ...อีกแล้วหรือ?


ในฐานะแฟนแบทแมนทั้งหนัง, หนังสือการ์ตูน และเกมมายาวนาน

Batman: The Telltale Series เป็นเกม Adventure ที่ดีตามสไตล์ค่าย Telltale Games ผู้ทำเกมอย่าง The Walking Dead และ The Wolf Among Us... แต่ผมต้องอดรำพึงในใจไม่ได้ว่า... "อีกแล้วหรือ?"






Batman: TT (ขอเรียกย่อๆ) Episode 1: Realm of Shadows เริ่มต้นที่ปฏิบัติการของแบทแมนที่ต้องสู้กับวายร้ายติดอาวุธหนัก ทว่าระหว่างนั้นเขาก็ต้องเผชิญหน้ากับนางแมวจอมขโมย แคทวูแมนด้วย 

ปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้แบทแมนต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีที่เกี่ยวพันกับเจ้าพ่ออาชญากรรม คาลไมน์ ฟาลโคนีอย่างลึกซึ้ง ไม่เพียงเท่านั้น บรูซ เวย์นยังต้องพบกับความจริงบางอย่างที่สั่นคลอนไปถึงอุดมการณ์ และชื่อเสียงตระกูลเวย์นต้องสั่นคลอนด้วย





แง่บวก:
+ แบทแมนใช้ทักษะสืบสวน และแสดงความเป็นเจ้ากลยุทธ์ 
+ เนื้อเรื่องน่าสนใจ มีปริศนาอยากให้ติดตาม ผูกเรื่องหลายๆส่วนเข้าด้วยกันได้ดี
+ มีหลายสถานการณ์สร้างความตึงเครียดได้ดี โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง

แง่ลบ:
- ไม่มีอะไรใหม่สำหรับแฟนแบทแมน 
- ระบบเกมเหมือนเกมอื่นๆของค่าย Telltale Games 
- พัซเซิลในการสืบสวนง่ายมากจนเหมือนเป็นแค่ "น้ำจิ้มประกอบอาหาร" เฉยๆ



แง่บวก:

1) แบทแมนกับทักษะสืบสวน & เจ้ากลยุทธ์

ในหนังสือการ์ตูน แบทแมนจะต้องใช้ทักษะกับเครื่องไม้เครื่องมือในการสืบสวนคดีอยู่หลายครั้ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญจนแบทแมนได้ชื่อว่าเป็น "นักสืบที่ดีที่สุดในโลก (the world's greatest detective)"

แต่เวอร์ชั่นหนังใหญ่หลายภาค ค่อนข้างจะละเลยทักษะนี้ของแบทแมนไป ที่เห็นชัดที่สุดคงเป็น The Dark Knight ของคริสโตเฟอร์ โนแลน

อย่างไรก็ตาม ในเวอร์ชั่นเกมค่อนข้างเอามาใช้อย่างคุ้มค่า เช่น Batman : Arkham Series

Batman: TT ก็เช่นเดียวกัน ในเกมนี้จะมีฉากที่แบทแมนต้องสืบสวนคดีในที่เกิดเหตุ ซึ่งจะมีระบบ "เชื่อมโยงข้อมูล" ให้เราจับเอาสิ่งที่เห็นในที่เกิดเหตุมาโยงกันจนเป็นรูปเป็นร่าง




นอกจากนี้ ระบบ "เชื่อมโยงข้อมูล" ยังถูกเอามาใช้อีกครั้งในช่วงไคลแม็กซ์ของ episode 1 คือแบทแมนต้องบุกออฟฟิศของคาลไมน์ ฟาลโคนี แต่มีลูกน้องพกอาวุธอยู่เต็มไปหมด แบทแมนจึงต้องใช้โดรนสแกนออกมาเป็นกลยุทธ์การเข้าจู่โจมสามมิติ เช่น

จะโจมตีลูกน้อง A ต้องลองเชื่อมโยงดูว่า ถ้าเอาลูกน้อง A โยงเข้ากับเสาต้นใกล้ๆ จะกลายเป็นการโจมตีแบบไหน? 



แล้วถ้าจะเอาลูกน้อง A ไปโยงกับบันไดล่ะ จะกลายเป็นการจู่โจมแบบไหน?

เจ๋งมาก เสียดายที่มันสั้นไปหน่อย



2) เนื้อเรื่องน่าสนใจ

ผมขอชมว่า Telltale Games ดึงหัวใจของหนังสือการ์ตูนแบทแมนออกมาได้ค่อนข้างดี คือมันไม่ใช่แค่การมีตัวร้ายโผล่ออกมา แล้วแบทแมนสู้ๆๆๆแล้วก็จบ แต่หลายครั้งมันมีเรื่องของโลกอาชญากรรม, ปริศนาการฆาตกรรม, การคอร์รัปชั่นของตำรวจและนักการเมือง, เต็มไปด้วยคนร้ายจิตเภท ฯลฯ

เมืองก็อทแธมเป็นส่วนหนึ่งของตัวละครสำคัญในโลกแบทแมน นักเขียนเนื้อเรื่องการ์ตูนอย่างสก็อต สไนเดอร์มักชอบเขียนให้แบทแมนเป็นสิ่งมีชีวิตที่คอยกลืนกินจิตวิญญาณของผู้คนในเมืองอยู่บ่อยครั้ง พูดง่ายๆคือเมืองก็อทแธมมักจะถูกเอามาใช้เล่นในเชิงอุปมาอุปไมยอยู่หลายครั้ง



Batman: TT มีประเด็นที่ผมว่ามาอยู่ไม่น้อย ในตัวเกม เราได้เห็นว่าเมืองก็อทแธมถูกกัดกินด้วยอาชญากรรมและคอร์รัปชั่นผ่านตัวละครเจ้าพ่ออย่างฟาลโคนีหรือแคทวูแมน นอกจากนี้เมืองก็อทแธมกำลังจะให้กำเนิดวายร้ายเพิ่มขึ้นมาอีกมากมายหลังจากนี้ด้วย (ใน episode 1 ใครรู้จักออสวอลด์ คอบเบิลพ็อทคงรู้ว่าเขาจะกลายเป็นใครในอนาคต) 

ในขณะที่พ่อแม่ของบรูซ เวย์นเป็นเหมือนกับแสงสว่างของเมืองก็อทแธม อย่างไรก็ตาม หากบรรยายในมุมแบบนักเขียนเรื่องของการ์ตูนแบทแมนอย่างสก็อต สไนเดอร์ ก็ต้องบอกว่า เมืองก็อทแธมได้ลากเอาคนที่ดีที่สุดในเมืองมาคลุกโคลน เมื่อบรูซ เวย์นได้พบว่า พ่อแม่ของเขาอาจจะเกี่ยวข้องกับฟาลโคนีก็ได้!




สิ่งที่ต้องชม Taletale Games มีอีกอย่างก็คือ ตัวละครส่วนใหญ่จะค่อนข้างอิงบุคลิกมาจากหนังสือการ์ตูน แต่ในขณะเดียวกันก็มีโยงความสัมพันธ์ใหม่โดยไม่อิงเนื้อหาจากหนังสือการ์ตูนฉบับไหนๆมาเลย เช่น ฮาร์วีย์ เดนท์ออกเดทกับเซลีน่า คายล์ (แคทวูแมน... จะยังเรียกว่าเป็นการสปอยล์มั้ยเนี่ย? ถามจริงเหอะ?), หรือบรูซเป็นเพื่อนกับออสวอลด์ คอบเบิลพ็อท (ในหนังสือการ์ตูน ตระกูลเวย์นกับตระกูลคอบเบิลพ็อทเป็นตระกูลเก่าที่มีมาตั้งแต่สมัยเมืองก็อทแธมยังไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่ด้วยซ้ำ แต่บรูซกับออสวอลด์ไม่เคยเป็นเพื่อนกัน) เป็นต้น

น่าสนใจว่าเนื้อเรื่องจะพลิกไปทางไหนกันแน่?




3) สถานการณ์ทางการเมืองที่สร้างความตึงเครียดได้ดี

นี่เป็นอารมณ์ที่ผมคาดไม่ถึงว่าจะได้เจอใน Batman: TT ผมชอบหลายๆฉากที่เกี่ยวข้องกับบรูซ เวย์นและการเมืองภายในเรื่อง

เริ่มตั้งแต่ตอนที่บรูซ เวย์นต้องเผชิญหน้ากับฟาลโคนีภายในงานเลี้ยง จนไปถึงตอนที่บรูซพบว่า การที่เขาสนับสนุนฮาร์วีย์ ทำให้บรูซกับพ่อแม่ที่ตายไปแล้ว ต้องตกอยู่ในเกมการเมืองสกปรกเข้าเสียแล้ว



ระบบเกมของ Batman: TT ก็เหมือนกับของเกมค่าย Telltale Games ส่วนใหญ่คือ มันมีตัวเลือกให้เราเลือก และสิ่งที่เราเลือกก็จะไปเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง

ตัวเลือกของ Batman: TT เกี่ยวข้องกับการเมือง และมันทำให้ผมรู้สึกใจสั่นคลอนทุกครั้งที่เกมขึ้นเตือนว่า "ตอนนี้ xx จำว่าคุณได้เลือกอย่างนี้" หรือ "ตอนนี้ xx รับรู้เรื่องนั้นแล้ว" เป็นต้น มันไม่ต่างจากเกมของค่ายนี้เกมอื่นๆ เพียงแต่พอโยงเข้ากับเรื่องอารมณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นสูงแล้ว ผมรู้สึกว่าไอ้ประโยคขึ้นเตือนของระบบเกมพวกนั้น มันจะต้องส่งผลกระทบอะไรต่อชื่อเสียงของบรูซ เวย์นกับตระกูลเวย์นแน่นอน




ว้าว... การเป็นบรูซ เวยน์นี่ ไม่ใช่เรื่องง่ายพอๆกับการเป็นแบทแมนเลยแฮะ




แง่ลบ:

1) ไม่มีอะไรใหม่สำหรับแฟนแบทแมน 

"อีกแล้วเหรอ" คือความรู้สึกขณะที่เล่นเกม Batman: TT 

ผมอ่านหนังสือการ์ตูนแบทแมนมาเยอะ ดูการ์ตูนแบทแมนมาเยอะ เล่นเกมแบทแมนอยู่หลายภาค ดูหนังแบทแมนทุกภาค...

ให้ตายเหอะ ผมต้องมาเจอกับบทสนทนาเชิงสั่งสอนระหว่างอัลเฟรดกับบรูซ เวย์นอีกแล้ว คือมันเป็นอะไรที่ผมเจอบ่อยมากพอๆกับฉากการตายของพ่อแม่บรูซ เวย์น คือแค่อัลเฟรดอ้าปาก ผมก็รู้แล้วว่าอัลเฟรดจะบ่นอะไร แล้วมันก็จริงๆด้วย โอ้... ช่วยทำอะไรให้สร้างสรรค์กว่านี้หน่อยเถอะ!



เรื่องตระกูลเวย์นเกี่ยวพันกับฟาลโคนีก็ไม่ใช่ของใหม่อีกเหมือนกัน มีปรากฏอยู่ในหนังสือการ์ตูนด้วย

และแน่นอน... พ่อแม่แบทแมน ถูกยิงตายอีกแล้ว ฮิ้วววว รอบที่ล้านแปด!!



แล้ว Batman: TT คือแบทแมนที่เพิ่งออกปฏิบัติการในช่วงปีแรกๆ แปลว่าเราจะได้เห็นแบทแมนตอนทำอะไรครั้งแรกหลายๆเรื่อง เช่น ฉากแรก หลังสู้เสร็จแล้วก็มาโชว์อาการบาดเจ็บที่คฤหาสน์ แล้วอัลเฟรดก็จะเทศนาตามเคย

มันไม่ผิดหรอก จริงๆก็ถือว่าเข้าท่าดีสำหรับการดึงคนที่ไม่เคยรู้จักแบทแมนมาเล่น

แต่! แต่ว่า! ขอเรื่องราวของแบทแมนหลังจากที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชนแทนได้ไหม คือจะเป็นช่วงที่มีแบทแฟมิลี่อย่างโรบิน, ไนท์วิงก์, แบทเกิร์ล, แบทวูแมน ฯลฯ จะได้ไหมว้า... เหมือนอย่างในเกม Batman : Arkham Series น่ะ คือเรื่องราวของแบทแมนที่ผ่านประสบการณ์มามากๆ มันก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจและหลากหลายกว่าอยู่เหมือนกันนะตัว!




2) ระบบเกมเหมือนเกมอื่นๆของค่าย Telltale Games 

ระบบเกมของค่ายนี้คือ การกดปุ่มตามคำสั่งบนหน้าจอ หรือเหตุการณ์ QTE (Quick Time Event) 

Batman: TT มีทุกอย่างที่เกมค่ายนี้ควรจะมี อาจมีเพิ่มอะไรเข้ามานิดๆหน่อยๆ แต่โดยรวมแล้วเหมือนๆกัน... ก็เลยรู้สึกว่ามันเบื่อๆอยู่บ้าง

แล้ว Batman: TT เป็นเกมแนวสืบสวนผสมการเมือง อะไรหลายอย่างเลยชวนให้นึกไปถึง The Wolf Among Us พิลึก เพียงแต่รู้สึกว่าการเมืองใน Batman: TT น่าจะดูเข้มข้นกว่า... มั้ง?

ตรงส่วนนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นข้อเสียอะไรนักหรอก แต่... อย่างที่บอก บางครั้งก็เบื่อๆจะต้องคอยกดปุ่ม QTE อยู่เหมือนกัน





3) พัซเซิลในการสืบสวนง่ายมาก

ผมชอบระบบ "เชื่อมโยงข้อมูล" ในสถานที่เกิดเหตุ

แต่มันไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย แค่จับลากเส้นโยง แล้วก็รอดูคอมเมนท์ของแบทแมน สักพักก็รู้แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น คือไม่มีความท้าทายอะไรเลยจริงๆ

หรือตอนที่แบทแมนจะจำลองการเข้าจู่โจมผ่านโดรน มันก็เจ๋งอยู่หรอกที่เราเอาตัวลูกน้องไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่รอบตัวได้

แต่เผอิญว่ามันเชื่อมโยงได้แค่ 2 จุดเองน่ะสิ!

อย่างที่อธิบายข้างต้น สมมติกลับไปที่เหตุการณ์ของลูกน้อง A อีกครั้ง 

คือเราเลือกจะเชื่อมโยงลูกน้อง A เข้ากับสิ่งรอบตัวได้แค่สองจุดเท่านั้น แปลว่าวิธีการเข้าจู่โจมจะไม่หลากหลายอะไรมากมาย ซึ่งก็พอเข้าใจได้ เพราะมันไม่ใช่เกมแอ็กชั่นแบบ Batman: Arkham เพียงแต่รู้สึกเสียดาย ไหนๆก็อุตส่าห์คิดระบบเจ๋งๆแบบนี้ขึ้นมาแล้ว น่าจะเอามาใช้ประโยชน์ให้หลากหลายหน่อยนะ




โดยรวมแล้ว ผมให้ Batman: TT Episode 1 ที่...

7/10

คือเนื้อเรื่องมันน่าสนใจพอจะกระตุ้นให้ติดตามตอนต่อไปเอามากๆเลยทีเดียว






Create Date : 05 สิงหาคม 2559
Last Update : 5 สิงหาคม 2559 13:34:38 น.
Counter : 3067 Pageviews.

0 comment
Inside (PC) : เกมน้อยนิดแต่ได้มหาศาล




บล็อกนี้จะแบ่งเป็นสองส่วน
ครึ่งแรกคือส่วนไม่สปอยล์
ครึ่งหลังคือส่วนสปอยล์





Inside 
(ส่วนไม่สปอยล์)

เกมนี้แม้จะน้อยนิด แต่กลับได้มหาศาล
ไม่มีมูวียาวๆ
ไม่มีคำพูดใดๆมาเล่าเรื่อง
เป็นแค่ตัวละครเด็กที่วิ่งหลบผู้ไล่ล่า
วิ่งหลบหมากระหายเลือด
แก้ไขปริศนาเพื่ออะไรสักอย่าง






ทว่า
มันกลับมีเนื้อเรื่อง

ฉากหลังของเกม...
เล่าถึงเรื่องราวแบบไซไฟ-ดิสโทเปีย
ผู้คนถูกจับตัวไปทดลอง
ผู้คนถูกควบคุมจิตใจ
หรือถูกทำให้เป็นดั่งซอมบี้





เรื่องราวของตัวละคร...
ถูกเล่าเรื่องผ่านการกระทำ
เป็นการผจญภัยของเด็กคนหนึ่ง
ซึ่งมีเป้าหมายไม่แน่ชัด
จนกว่าจะไปถึงจนจบเกม





พัซเซิลในแต่ละด่าน
บ่งบอกว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง
บางครั้งต้องแสร้งทำเป็นซอมบี้
บางครั้งต้องควบคุมคนอื่นเพื่อผ่านด่าน






ทั้งหมดนี้คือพล็อตของเกม
ไร้คำพูด
แต่มันกำลังเล่าเรื่อง


เกมควบคุมง่าย
เพียงแต่ห้าปุ่มสบายๆ
ขึ้น ลง ซ้าย ขวา และ R-Ctrl
ไม่มีเก็บไอเท็ม
ไม่มีสกิลยุ่งเหยิง
แต่พัซเซิลกลับมีหลากหลาย





ทั้งการเคลื่อนไหวตัวละคร
ทั้งเพลงประกอบ
ทั้งเสียงประกอบ
ทั้งบรรยากาศของฉาก
สุดยาวราวกับงานศิลป์





เรียบง่าย
แต่ซับซ้อนในที

9/10





จบส่วนไม่สปอยล์
ต่อไปนี้เป็นส่วนสปอยล์ทั้งเนื้อหาและรูปภาพ
ผู้ไม่ต้องการถูกสปอยล์...
พึงระวัง!



Inside 
(ส่วนสปอยล์)

เกมเรียบๆ
ทว่าเนื้อหาซับซ้อน
ไร้คำพูด
จึงตีความได้หลากหลาย
เล่นจบแล้วต้องครุ่นคิด
ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่
หลายคน
หลายการตีความ
แต่ดูเหมือนว่า...


Inside จะเกี่ยวข้องกับ "การควบคุม"


การควบคุม
ซ้อนการควบคุม
ซ้อนการควบคุม
และซ้อนการควบคุม

ฉากในเกมทำให้เห็นว่า
มีคนพยายามควบคุมมนุษย์





เด็กชายพยายามหลบหนี
ระหว่างหลบหนีเด็กชายก็ควบคุมซอมบี้

แต่กลับกลายเป็นว่า
เด็กชายกำลังมุ่งหน้าไปหาสิ่งหนึ่ง
เพื่อจะถูกควบคุม

สิ่งซึ่งอยู่ในฉากสุดท้าย
มันคือ "ก้อนมนุษย์ขนาดใหญ่"
ราวกับว่า ก้อนเนื้อมนุษย์นั้น
กำลังควบคุมเด็กชายอยู่
เพราะก้อนเนื้อมนุษย์
มีหมวกสำหรับควบคุมติดอยู่
หมวกแบบเดียวกับที่...
เด็กชายใช้ควบคุมซอมบี้





กลายเป็นว่า
เด็กชายหลบหนีจากการควบคุม
เพื่อจะถูกก้อนเนื้อควบคุมในตอนท้าย

ในฉากจบลับ
หลังไขปริศนาด่านลับได้ครบ
เราจะได้เห็นเด็กชาย...
ดึงปลั๊กเครื่องๆหนึ่งออก
และเด็กชายก็นิ่งไป
เกมจบแค่นั้น
พร้อมกับที่ผู้เล่น...
ถูกตัดขาดจากเด็กชาย
ก้อนเนื้อก็ถูกตัดขาดจากเด็กชาย
ทำให้ฉากจบนี้...
เราไม่ได้เห็นเด็กชายเป็นส่วนหนึ่งของก้อนเนื้อ





ทีนี้...
เราควบคุมเด็กชายให้เคลื่อนไหว
ก้อนเนื้อก็บงการเด็กชายให้พาหลบหนี
เมื่อยามเด็กชายรวมตัวกับก้อนเนื้อ
เราก็ควบคุมก้อนเนื้อได้เช่นกัน





คำถามสำคัญคือ...
ใครเป็นฝ่ายควบคุมใคร
เราควบคุมก้อนเนื้อ
หรือก้อนเนื้อควบคุมเรา?

เรากำลังพาก้อนเนื้อหลบหนี?
หรือก้อนเนื้อบงการคนเล่นให้พาหลบหนี?
ใครเป็นฝ่ายควบคุมใครกันแน่?

คำถามนี้ชวนให้รู้สึกหลอน
สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายนี่เอง...
ที่ทำให้ Inside เป็นเกมพิเศษ

ไร้คำพูด
แต่เล่าเรื่องได้มากมาย
โดยมีผู้เล่นเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องด้วย


คนเล่น...
ถูกคนทำเกมควบคุมไปเสียแล้ว


ช่างเป็นเกมที่พิเศษยิ่งนัก




Create Date : 14 กรกฎาคม 2559
Last Update : 15 กรกฎาคม 2559 12:13:50 น.
Counter : 1921 Pageviews.

0 comment
SOMA : ล้ำลึกเกินกว่าคำว่าเกม (สปอยล์แหลก!)




(บทความนี้ มีสปอยล์เนื้อหาแหลก ผู้หลงเข้ามาพึงหลีกเลี่ยง)



ในฐานะแฟนหนังกับซีรีส์ Sci-fi และได้อ่านนิยาย Sci-fi เป็นบางเรื่อง SOMA เป็นเพชรเม็ดงามที่ทำให้ผมถึงขั้นไม่อาจละความคิดจากมันได้

ไอเดียและการเขียนบทฉลาดล้ำ ซ้ำยังลึกซึ้งจนไม่แน่ใจว่าอะไรถูกอะไรผิด

ผมเล่น SOMA จบด้วยเวลา 10 ชั่วโมงพอดีเป๊ะ ผมไม่ใช่แฟนของเกมสยองขวัญที่สู้กับศัตรูไม่ได้ ความอึดอัดระดับสุดยอดทำให้ผมขี้เกียจกลับไปเล่นรอบ 2 

แต่มันมีคุณค่าให้ทบทวนเรื่องราวมากมาย! 



ผมยังเรียบเรียงเนื้อหาของเกมไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้นอาจจะไม่สมบูรณ์ แต่นี่คือ 3 สิ่งที่ผมอดชื่นชม SOMA ไม่ได้ 



3 สิ่งที่ผมอดชื่นชม SOMA ไม่ได้ 


1) มันตั้งคำถามเรื่อง "ตัวตน"

"ตัวตน" ของเราคืออะไร คอนเซ็ปท์นี้มีกลาดเกลื่อนอยู่ในเกม หนัง ซีรีส์ การ์ตูน และนิยายแนว Sci-fi อย่างเช่น Ghost in the Shell, The Matrix แต่ SOMA มันพาไปยังขอบเขตที่เปรียบได้กับสุดขอบจักรวาล

เกมเริ่มต้นด้วยตัวเราที่สวมบทเป็นไซมอน จาร์เรทท์ ใช้ชีวิตอยู่ในโตรอนโตประเทศแคนาดาในปี 2015 ทว่าระหว่างขับรถกับแฟนสาวชื่อแอชลีย์ ฮอลล์ ก็เกิดอุบัติเหตุขึ้น แอชลีย์ตาย ไซมอนรอด แต่สมองกลับมีบาดแผลขั้นรุนแรง และดูท่าทางจะเกินเยียวยา ดังนั้นไซมอนจึงตัดสินใจเข้ารับการสแกนสมองกับดร.เดวิด มุนชี่





หลังจากเข้าไปนั่งในเครื่่องสแกนสมอง จู่ๆไซมอนก็ตื่นขึ้นมาในสถานที่ที่แปลกประหลาดสุดๆ เต็มไปด้วยหุ่นยนต์พังๆ ข้าวของพังๆ สถานที่ร้างผู้คน และมีอะไรประหลาดๆเกาะอยู่บนกำแพง 



ไซมอนมารู้ทีหลังว่า ตัวเองมาอยู่ในปี 2104 และตึกร้างนี่ก็คือส่วนหนึ่งของฐานวิจัยใต้น้ำชื่อเพธอส-ทู (PATHOS-II) แต่ทำไม อะไร ยังไง? คนเล่นต้องมึนไปพร้อมกับไซมอน เขาออกค้นหาความจริงพร้อมกับเผชิญหน้ากับสัตว์ประหลาดที่จะวิ่งมาฆ่าเขาได้ทุกเมื่อ




เมื่อผมเล่นมาถึงตรงนี้ สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือ เกมจะเฉลยว่า "ทั้งหมดเป็นเรื่องทางจิตใจของไซมอน" อารมณ์เหมือน Silent Hill หรืออะไรแบบนั้น

แต่มันไม่ใช่! ผมโคตรดีใจเลยที่มันไม่ใช่!!

ปรากฏว่าไซมอนตัวจริงได้ตายไปแล้ว ส่วนไซมอนที่อยู่ในเพธอส-ทูคือความทรงจำที่ถูกสแกนเอาไว้เมื่อปี 2015 และตอนนี้เขาย้ายมาอยู่ในชิปสมองของมนุษย์ในอนาคตชื่ออิโมเจน รี้ด!! รี้ดเป็นหนึ่งในทีมงานของฐานใต้น้ำที่ตายไปแล้วนั่นเอง 

พูดง่ายๆคือมีไซมอนสองเวอร์ชั่น ไซมอน v.1 ตายไปแล้ว ไซมอน v.2 อยู่ในร่างของรี้ด แล้วทำไมไซมอนถึงมาอยู่ร่างของรี้ดล่ะ? 

คำตอบคือ WAU ตัวร้ายหลักของเกม

WAU (WArden Unit) คือปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ ทว่าสุดท้ายมันกลับควบคุมเพธอส-ทูทั้งหมด และไซมอนก็ได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งด้วย WAU นี่เอง

พอเล่นต่อไปเรื่อยๆ ผมถึงได้รู้ว่า จริงๆแล้วโลกเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ ดาวหางเทรอสพุ่งเข้าชนโลกตั้งแต่ปี 2103 ทำให้ประชากรบนพื้นโลกเสียชีวิตเกือบหมด เพธอส-ทูจึงเป็นเหมือนสถานที่สุดท้ายที่มนุษย์หลงเหลืออยู่ ทว่าพวกที่อยู่ใต้น้ำอย่างเพธอส-ทูก็ใช่ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้นิรันดร ยังไงจุดจบก็ต้องมาถึงที่ใต้น้ำอยู่ดี วิศวกรรายหนึ่งชื่อแคทเธอรีน ชัน ตัดสินใจใช้ความสามารถของ WAU ที่สร้าง "ความจริงเสมือนขึ้นมาได้" ในพัฒนาสร้างเรืออาร์คขึ้นมา เพื่อรักษามนุษยชาติเอาไว้!



แคทเธอรีนสร้างอาร์คขึ้นมาโดยอิงเทคโนโลยีที่ให้มนุษย์สามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้ผ่านเก้าอี้ สแกนสมองของมนุษย์และส่งเข้าเครื่องอาร์คก่อนจะส่งไปยังนอกอวกาศ และใช้ชีวิตใหม่บนอวกาศแทน

ใช่แล้ว เรืออาร์คที่ว่าไม่ใช่การส่ง "ร่างกายของมนุษย์" ขึ้นไป แต่ส่ง "จิตใจ" ของมนุษย์ในรูปแบบดิจิตอลขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนอวกาศนั่นเอง... จริงๆก็ฟังดูไม่เลวเท่าไหร่ ปัญหามันไม่ใช่แค่นั้นน่ะสิ



ปรากฏว่า... มันไม่ใช่การ "ถ่ายทอดความทรงจำจากสมองมนุษย์ไปเป็นข้อมูลในอาร์ค" แบบง่ายๆอย่างที่คนนึกกัน จริงๆแล้วมันคือการ "Copy" แล้ว "Paste"

เข้าใจใช่ไหมครับ? ก็อปปี้ "ตัวตน" ของมนุษย์คนหนึ่ง แล้วไปแปะเอาไว้ในอาร์ค กลายเป็นคนสองคนขึ้นมา นั่นคือ นาย A ที่ยังอยู่ในโรงงานเพทอส-ทู กับนาย A ที่ไปอยู่ในอาร์คแล้ว! มันเลวร้ายยังไง ลองนึกดูง่ายๆแบบนี้ครับ

คุณกำลังจะตาย แล้วจู่ๆก็มีคนมาบอกว่า "นี่ มาสแกนสมองให้เป็นดิจิตอลแล้วส่งไปใช้ชีวิตใหม่ที่โคตรจะอมตะในโลกเวอร์ชวลเอามั้ย"

สมมติว่าคุณตอบว่า "ตกลง" เพราะคุณกำลังจะตาย คุณดีใจที่จะได้ไปใช้ชีวิตในโลกเวอร์ชวลที่จะทำให้คุณไม่มีวันแก่ตาย! แต่ว่า! 

พอสแกนสมองเสร็จปุบ คุณค้นพบความจริงว่า ตัวคุณยังอยู่ในโลกเส็งเคร็งเหมือนเดิม และกำลังจะตายเหมือนเดิม!! 

คุณด่าหมอว่า "หมอ ทำอะไรน่ะ ไหนบอกว่าจะพาฉันไปยังโลกอันสมบูรณ์แบบที่ไม่มีวันตายไง" 

แต่หมอตอบว่า "แน่นอน คุณได้ไปอยู่เรียบร้อยแล้ว ตัวคุณอีกคนที่ถูกสแกนสมอง ได้ไปอยู่ในโลกแสนสุขนั่นแล้ว" 

คุณได้ยินแบบนั้นก็ด่าตอบกลับไปว่า "หมอ! แบบนี้มันก็ไม่ต่างอะไรจากเดิมน่ะสิ ฉันก็ยังต้องทรมานจากความตายอยู่น่ะสิ" 

แล้วหมอก็ตอบว่า "อย่างมองแบบนั้นสิ อย่างน้อยคุณก็ได้มีชีวิตใหม่ไปแล้วนะ ในอีกโลกนึงไง"

ลองทำความเข้าใจดูดีๆนะครับ คุณจะรู้สึกยังไง

สิ่งที่เกิดขึ้นกับพนักงานในเพธอส-ทูทุกคนคือความหวังที่จะมีชีวิตรอดจากหายนะ ด้วยการสแกนสมองไปอยู่ในอาร์ค แต่กลับพบความจริงว่า ไอ้ที่ไปอยู่ในอาร์คน่ะ คือ "ข้อมูลก็อปปี้ของตัวเอง" ไม่ใช่จิตสำนึกที่แสดงถึงความเป็น "ตัวตน" ของตัวเอง 

พูดง่ายๆคือ มนุษยชาติเวอร์ชั่นดิจิตอล จะไปใช้ชีวิตในอวกาศอยู่ในดาวเทียมที่กินพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้อย่างไม่มีวันหมด ในขณะที่ "ตัวตนต้นฉบับ" ยังต้องเน่าตายอยู่ในโลกเหมือนเดิม!

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลายคนรับไม่ได้และฆ่าตัวตาย! 

ไซมอนได้พบความจริงอันเจ็บปวดนี้ครั้งแรกตอนที่เขากำลังจะดำไปสถานีอัลฟ่า ซึ่งอยู่ลึกที่สุดในบรรดาโรงงานทั้งหมด เป้าหมายของไซมอนคือหาทางเอาชีวิตรอดจากเพธอส-ทูโดยส่งอาร์คออกสู่อวกาศตามแผนการ แต่การจะลงไปยังสถานีน้ำลึกได้ ไซมอนต้อง "ถ่ายตัวตน" จากร่างเดิมไปยังร่างใหม่ที่เป็นชุดดำน้ำลึก

แล้วไซมอนก็ต้องตะลึง เมื่อพบว่าหลังจากตัวเขาได้มาอยู่ในชุดดำน้ำลึกแล้ว เขาก็เจอกับตัวเองอีกคนหนึ่งซึ่งยังอยู่ในชุดเดิมไม่เปลี่ยน!

แปลว่า ตอนนี้มีไซมอนเกิดขึ้นสองคน คนหนึ่งคือ ไซมอน v.2 ที่เป็นร่างของอิโมเจน รี้ด กับไซมอน v.3 ที่เป็นร่างใหม่ในชุดดำน้ำลึก!!

สรุปอีกทีนะครับ ตอนนี้เรามีสามไซมอน

1. ไซมอนปี 2015 ที่ตายไปแล้ว
2. ไซมอนที่อยู่ในร่างอิโมเจน รี้ด และถูกทิ้งไว้ที่ฐานโอมิครอน
3. ไซมอนที่อยู่ในร่างชุดดำน้ำลึก และจะเดินหน้าไปยังอาร์ค





ไซมอน v.3 ยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อไปปล่อยจรวดอาร์คขึ้นสู่อวกาศ ไซมอน v.3 ดีใจที่กำลังจะมีชีวิตรอด จรวจกำลังถูกยิงขึ้นไป "ตัวตน" ของเขากำลังถูกอัพโหลดไปสู่อาร์ค สำเร็จ ในที่สุดก็สำเร็จ!

แต่ว่า... หลังอาร์คถูกยิงขึ้นไปแล้ว ไซมอน v.3 พบว่าตัวเองยังอยู่ในใต้น้ำเหมือนเดิม... แปลว่า คนที่มีชีวิตรอดคือ ไซมอน v.4 ที่ไปอยู่ในอาร์คแล้ว ส่วนไซมอน v.3 ได้แต่เผชิญหน้ากับวาระสุดท้าย!?

ตอนนี้กลายเป็นมีไซมอนเกิดขึ้นสี่คน

1. ไซมอนปี 2015 ที่ตายไปแล้ว
2. ไซมอนที่อยู่ในร่างอิโมเจน รี้ด และถูกทิ้งที่ฐานโอมิครอน
3. ไซมอนที่อยู่ในร่างชุดดำน้ำลึก และถูกทิ้งที่ฐานฟี
4. ไซมอนที่ไปอยู่ในอาร์ค บนอวกาศ




...
...

ตกลงแล้ว "ตัวตน" ของมนุษย์คืออะไร

ผมถามจริงๆว่า เมื่อคุณอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกับไซมอน คุณรับได้หรือไม่?

ผมคนนึงที่คงรับไม่ไหว...

ตัวเราอีกคนมีชีวิตรอดอยู่ในอนาคต แต่ตัวเราที่นั่งอยู่ตรงนี้กลับต้องรอความตาย แล้วมันจะมีความหมายอะไร? มันเหมือนจะดี แต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนถูกหลอก มันเหมือนจะเป็นแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ก็เหมือนจะเป็น bad end อยู่ในที!

นี่คือความคมคายของ SOMA มันเล่นประเด็นเรื่อง "ตัวตน" ได้อย่างลึกซึ้ง... มันลึกซึ้งมาก!

ไม่เพียงเท่านั้น

มีคนเคยตั้งคำถามกับเกมนี้ว่า ทำไมแคทเธอรีนถึงไม่ "Cut" แล้ว "Paste" ตัวตนของไซมอนไปไว้ในอาร์คล่ะ คือไซมอน v.3 จะได้ "ย้าย" ไปอยู่ในอาร์คแทน

แต่มีคนตอบประเด็นนี้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว... การ Cut หมายถึงการ "ลบไฟล์ทิ้ง"... ถูกไหมครับ? เวลาเรากด Cut ไฟล์ แล้วไป Paste ไว้อีกที่ มันคือการลบไฟล์เก่าทิ้ง แล้วเอาไฟล์ที่ก็อปปี้ไปไว้อีกที่หนึ่ง

ถ้าไซมอน v.3 ถูก Cut เพื่อไป Paste ไว้ในอาร์ค มันจะไม่ใช่ "ไซมอน V.3 ถูกตัด/แปะ (ย้ายตัวตน) ไปไว้ที่อาร์ค" แต่มันจะเป็นการ "ฆ่า ไซมอน v.3 ให้ตาย แล้วไปแปะไซมอน v.4 ที่อาร์คแทน"

ประเด็นแบบนี้มันเหมือนกับเทคโนโลยีเคลื่อนย้ายมวลสาร หรือการเทเลพอร์ตแบบใน Star Trek น่ะครับ

ในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจเคลื่อนย้ายมวลสารแบบใน Star Trek ได้ แต่เทคโนโลยีที่พวกเราคิดออกกันตอนนี้ อย่างเก่งก็ทำได้แค่ "แยกอะตอมของนาย A" แล้วส่งอะตอมของนาย A ไปประกอบยังเครื่องปลายทาง

แปลว่า นาย A คนแรกต้องตาย เพื่อจะให้นาย A อีกคนเกิดขึ้นมาใหม่ยังอีกสถานที่หนึ่ง

คำถามคือ... นาย A จะยังเป็นนาย A คนเดิมอยู่หรือเปล่า?

แล้วการที่นาย A คนแรกตายไป จะถือว่านาย A กำลัง "ฆาตกรรมตัวเอง" หรือเปล่า?

แล้วถ้าสมมติเราไม่ฆ่านาย A คนแรกให้ตาย และเครื่องย้ายมวลสารใช้หลักการ "การพัวพันทางควอนตัม (quantum entanglement)" จนเกิดเป็นนาย A ขึ้นมาสองคน แล้วนาย A คนไหนคือตัวจริง?

ประเด็นการ Cut/Paste หรือ Copy/Paste ใน SOMA มันก็เป็นแบบนี้แหละ!



2. WAU คือวายร้ายที่... เป็นคนดี?

ในโลกของนิยาย Sci-fi เราเคยเห็นปัญญาประดิษฐ์เกรียนแตกอย่าง HAL 9000 ใน 2001 : Space Odyssey ของอาเธอร์ ซี คลาร์ก ในโลกของเกม เราเคยเห็นปัญญาประดิษฐ์ในลักษะเดียวกันมาแล้วอย่าง SHODEN ใน System Shock 2

แต่ตอนนี้ คนเล่นเกมอินดี้คงจะต้องเพิ่ม WAU เข้าไปอีกตัว!

WAU คือปัญญาประดิษฐ์ที่มีเป้าหมายในการช่วยเหลือมนุษย์ แม้สุดท้ายมันจะเป็นตัวร้าย มันก็ยังมีเป้าหมายในการช่วยเหลือมนุษย์อยู่ดี!

หลังจากที่โปรเจ็คท์อาร์คเริ่มขึ้น และมีพนักงานฆ่าตัวตายเพราะรับความจริงเรื่องที่ตัวเองไม่ได้ "ย้ายตัวตน" เข้าไปอยู่ในอาร์ค แต่ถูก "ก็อปปี้ตัวตน" ไปใส่ไว้ในอาร์ค WAU เห็นดังนั้นเข้า จึงตัดสินใจจะ "ช่วยเหลือมนุษย์" ด้วยการควบคุมโรงงานทั้งหมดของเพธอส-ทู หยุดยั้งโปรเจ็คท์อาร์คไม่ให้ถูกปล่อยขึ้นอวกาศ และก็อปปี้มนุษย์กลุ่มหนึ่งให้มาอยู่ในร่างของหุ่นยนต์แทน! เท่านี้มนุษย์ที่ไร้ร่าง ก็มีร่างกายแล้ว เย้! (ในความรู้สึกของ WAU)



ส่วนพวกที่เหลือ WAU ตัดสินใจปล่อยสิ่งที่เรียกว่า "สตรัคเตอร์ เจล" ไปยังร่างกายของมนุษย์ "สตรัคเตอร์ เจล" มีความจำเป็นต่อการซ่อมบำรุงและสร้างตึกอาคารหรือสิ่งของต่างๆ... ดังนั้นเพื่อช่วยชีวิตให้มนุษย์ยังมีชีวิตต่อไป WAU ตัดสินใจอย่างไรน่ะหรือ ก็ให้เจลนี่บำรุงร่างกายมนุษย์น่ะสิ! เย้! (ในความรู้สึกของ WAU) 

เอ๋ เจลจะทำให้มนุษย์กลายเป็นพวกไร้สติ ใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้? เอ๋ เจลจะทำให้มนุษย์ทรมาน อยากตายก็ตายไม่ได้? เอ๋ เจลจะเปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นสัตว์ประหลาด ไม่เป็นไรนี่ มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่ไม่ใช่เหรอ เย้! (ในความรู้สึกของ WAU) 



สรุปคือ WAU ไม่ได้มองว่าการกระทำของมันเป็นความชั่วร้าย มันกำลังช่วยเหลือมนุษย์ต่างหาก มันไม่สนว่าผลลัพธ์จะสุดโต่งมากแค่ไหน แค่บรรลุเป้าหมายตามที่มันถูกสร้างขึ้นได้ก็พอ เย้! (ในความรู้สึกของ WAU) 

WAU เป็นหนึ่งในตัวร้ายที่มีมิติล้ำลึกที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นในโลกของเกมเลยทีเดียว



3. มันมีเทคโนโลยีที่เป็นไปได้

คิป ธอร์น (Kip Thorne) ที่อยู่เบื้องหลังหลักวิทยาศาสตร์ในหนัง Interstellar บอกว่า มันมีความแตกต่างระหว่าง Science Fiction กับ Science Fantasy อย่าง Star Wars จัดอยู่ในหมวดหลัง เพราะไม่อิงหลักการทางวิทยาศาสตร์มากนัก ส่วน Science Fiction ควรจะอ้างอิงหรือทำนายวิทยาการไปตามหลักการของวิทยาศาสตร์

ซึ่งหลักวิทยาศาสตร์ใน SOMA ค่อนข้างจะมีความเป็นไปได้!

อย่างเช่น

Smiley ฐานเพธอส-ทูนอกจากจะใช้สำหรับเป็นโรงงานใต้น้ำแล้ว มันยังมี "โอเมก้า สเปซ กัน" มันคือปืนที่ใช้ยิงจรวดขึ้นไปบนอวกาศ

ในปัจจุบัน การส่งจรวดขึ้นไปอวกาศจะต้องใช้เชื้อเพลิงมหาศาล การปล่อยครั้งหนึ่งต้องกินเงินไปมากโข เรียกว่าเอาไปบริจาคคนยากจนสักประเทศได้เลย ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ในตอนนี้จึงหาทางที่จะปล่อยจรวดโดยไม่ต้องพึ่งเชื้อเพลิงมากมายมหาศาลเหมือนเดิมอีก อย่างเช่น การสร้างลิฟท์ที่พาจรวดขึ้นไปจนถึงวงโคจรของโลก และปล่อยจรวดออกไปโดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง เป็นต้น 

นอกจากลิฟท์ที่ว่า มนุษย์เรายังคิดจะสร้าง "สเปซกัน" ขึ้นมาด้วย "ปืน" ที่ว่ามันจะเร่งจรวด (เช่น ดาวเทียมหรือโพรบ) ด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้าจนถึงระดับความเร็วสูงพอจะหนีจากแรงโน้มถ่วงของโลกได้ แล้วไปลอยเท้งเต้งอยู่บนวงโคจร หรือออกเดินทางสำรวจอวกาศต่อไป

กรณีของ SOMA ดาวเทียมที่บรรจุอาร์คเอาไว้ ก็จะถูกบรรจุอยู่ในกระสุนและส่งไปด้วยหลักการเดียวกันนี่เอง น่าสนใจมาก




Smiley เรื่องของปัญญาประดิษฐ์ มนุษย์เรากำลังพยายามสร้างคอมพิวเตอร์ที่ฉลาดมากๆขึ้นมา โดยอิงจากหลักที่ว่า "สมองของมนุษย์คือเครื่องการเรียนรู้ที่ซับซ้อน" นักวิทยาศาสตร์กำลังจำลองสร้างอะไรที่คล้ายกับ "เครือข่ายนิวรอน (เซลล์ระบบประสาท)" ขึ้นมา ดังนั้นเราน่าจะสร้างปัญญาประดิษฐ์แบบในนิยายวิทยาศาสตร์ขึ้นมาได้จริงๆ

แต่ปัญหา "ความจงรักภักดีแบบสุดโต่งของ WAU" ก็เป็นอะไรที่น่าคิดมากๆ เพราะถ้าเราสามารถสร้าง A.I. ขึ้นมาได้ตอนนี้ มันก็คงคล้ายๆกับ WAU นี่แหละ คือสามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้ แต่อาจจะปราศจากความเข้าใจหรือแนวทางที่ยืดหยุ่นพอสำหรับมนุษย์



Smiley เทคโนโลยี VR หรือเวอร์ชวลเรียลลิตี้ ตอนนี้ก็อย่างที่เห็นกันอยู่ เรามีอุปกรณ์ VR ออกมาให้ใช้กันแล้ว วันนี้เราอาจจะยังได้แค่สวมอุปกรณ์แล้วดูภาพสามมิติได้อย่างเดียว แต่ในอนาคตคงถึงขนาดที่เชื่อมโยงกับประสาทสัมผัสทั้งห้าของเราได้แน่นอน

กรณีของอาร์คในเกม SOMA มันคือโลกเวอร์ชวลที่โยน "จิต" ของเราไปในโลกดิจิตอลโดยตรง ดังนั้นสัมผัสทั้งหมด น่าจะสมจริงเอามากๆเลยทีเดียว



Smiley อีกประเด็นหนึ่งที่ผมชอบคือ การสแกน "ตัวตน" ของมนุษย์ให้ไปอยู่ในรูปแบบดิจิตอล

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้อ่านบทความทางวิทยาศาสตร์

ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งกำลังทำการวิจัยเรื่องสมองอย่างขมักเขม้น เป้าหมายคือ การย้าย "ตัวตนของเราในรูปแบบดิจิตอล" ไปสู่ร่างกายใหม่ที่ดีกว่าเดิม!

คล้ายๆกับใน Avatar ของเจมส์ คาเมรอน ที่พระเอกสามารถย้ายจิตของตัวเองไปอยู่ในร่างของชาวดาวนาวีนั่นแหละ

การเล่นเกม SOMA ทำให้ผมนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้ พูดง่ายๆคือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับ SOMA ก็อาจจะกลายเป็นความจริงในสักวันได้เช่นกัน!

ถ้าวันนั้นมาถึงจริง ชีวิตของมนุษยชาติจะเปลี่ยนไปในทิศทางใดกันหนอ?



เพราะอย่างนั้น SOMA จึงเป็นเกมที่ผมเล่นจบแล้ว ต้องทึ่งไปอีกหลายชั่วโมง... หรือไม่ก็อาจจะอีกหลายวันเลยทีเดียว!!



Create Date : 09 กรกฎาคม 2559
Last Update : 9 กรกฎาคม 2559 23:05:22 น.
Counter : 4118 Pageviews.

1 comment
[เกมรำพัน] Mass Effect 3 รอบสาม : มหาสงครามวันพิพากษาเจ๊เหล็กไขวิกฤต...


(หมายเหตุ : ในบล็อกนี้พยายามหลีกเลี่ยงการเปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญที่เกี่ยวกับพล็อตหลัก ส่วนประเด็นเรื่องตัวละครบางตัวอยู่หรือตายเป็นเรื่องการกระทำของตัวผู้เล่นแต่ละคน จึงไม่นับเป็นการสปอยล์ แต่เป็นเรื่อง "เงื่อนไขของระบบเกม')

ต่อจาก Mass Effect และ Mass Effect 2

ครานี้ข้าพเจ้าขอรำพันถึง Mass Effect 3 (2012) เกมที่เป็นบทสรุปไตรภาคอันยิ่งใหญ่ แต่มันก็เหมือนกับหนังฮอลลีวู้ดที่นำเสนอเรื่องราวแบบไตรภาค เกมภาคนี้เต็มไปด้วยฉากที่น่าประทับใจมากมาย คอนเซปท์อลังการจนต้องรู้สึกตื่นเต้น อัดแน่นไปด้วยสงครามและฉากแอ็กชั่น ทว่าตอนจบกลับน่าผิดหวัง



การเล่น Mass Effect รอบสามทั้งสามภาคตลอดเดือนพฤษภาคมของข้าพเจ้า ได้มาสิ้นสุดลงตรงวันที่ 28 พฤษภาคม 2559  

เป้าหมายของ Mass Effect : การทำให้เร็กซ์มีชีวิตรอดจนถึงภาคสุดท้าย = เคลียร์

เป้าหมายของ Mass Effect 2 : การช่วยทุกคนให้รอดชีวิตจาก Suicide Mission = เคลียร์

ยังเหลืออีกหนึ่งเป้าหมาย

เป้าหมายในการเล่น Mass Effect 3 รอบสามก็คือ การแก้ไขปัญหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างฝ่ายทาลิกับฝ่ายลิเจี้ยน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกี่ยวพันกับ Loyalty Mission และค่า Loyal ของทั้งคู่จาก Mass Effect 2 อย่างลึกซึ้ง




ข้าพเจ้ามองบทสรุปอันยิ่งใหญ่ผ่าน "เจน เชพพาร์ด" ฮีโร่สาวผู้หยุดยั้งแผนการของรีปเปอร์ลงไปได้สองครั้งสองครา

หลังจบ Suicide Mission ใน Mass Effect 2 หกเดือน เชพพาร์ดกลับมาอยู่กับฝ่ายทหารของโลกอีกครั้ง แต่ทุกคนยังไม่ยอมเชื่อเรื่อง "รีปเปอร์" ภัยร้ายที่ต้องการ "ล้มกระดาน" กวาดล้างหลายชีวิตในจักรวาลเพื่อเริ่มกระดานใหม่ตั้งแต่ต้น 

ทว่าตอนนั้นเอง รีปเปอร์ก็ยกพลมาบุกยึดโลก (ด้วยอารมณ์ที่ว่า "อ้อ มนุษย์โลกนี่แซ่บดีนัก งั้นเริ่มจากมันก่อนเลยเหอะ') 




เชพพาร์ดต้องหนีออกจากโลกโดยทิ้งเพื่อนร่วมศึกเอาไว้รับมือ ส่วนตัวเองต้องออกเดินทางไปเกลี้ยกล่อมสภาซิทาเดลบ้าง เกลี้ยกล่อมชาวดาวนู้นดาวนี้ให้มาร่วมศึกกันสู้กับรีปเปอร์เป็นยกสุดท้าย 

ทว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด ชาวดาวนู้นมีปัญหากับชาวดาวนี้ ชาวดาวนั้นมีปัญหากับชาวดาวโน้น เชพพาร์ดก็ต้องตระเวนแก้ไขปัญหาเพื่อจะพาทุกคนมาร่วมทำสงครามเสียที



ทันทีที่เริ่มเกม

ข้าพเจ้าสามารถเล่นต่อโดยใช้เซฟของ Mass Effect 2 ที่เพื่อนทุกคนรอดชีวิต, ไข่ดัน (เคย์ดัน-Kaidan) รอดชีวิต และราชินีแร็คไนถูกปล่อยตัวไปในภาคแรกได้





อย่างไรก็ตาม พอมาถึงหน้า "สร้างตัวละคร" ข้าพเจ้าอึ้งไปหน่อย... ทำไม... ใบหน้าที่เกมกำหนดให้ของเชพพาร์ดหญิง มันถึงได้ต่างจากสองภาคแรกซะขนาดนี้... แบบน่าเรียวแบบแปลกๆ แถมยังตกกระอีก... มันอะไรกันละเนี่ย

เอาวะ ก็เลือกหน้าตามนี้ไปแล้วกัน แม้จะรู้สึกคาใจก็เถอะ



เกมเปิดเรื่องมาได้อย่างตื่นเต้น คือรีปเปอร์บุกโลก และข้าพเจ้าก็ต้องเริ่มแอ็กชั่นในทันที ระบบต่อสู้ของ Mass Effect 3 นี้ ถือว่าเล่นแอ็กชั่นได้มันสุด อาชีพ Vanguard ที่ข้าพเจ้าเลือกมาตลอดการเล่นรอบสาม มาเปล่งปลั่งเอาตอนภาคนี้นี่เอง

ในเกมภาคนี้ เชพพาร์ดสามารถกลิ้งหลบซ้ายขวาได้ ม้วนตัวหลบไปข้างหน้าได้ วิ่งได้เร็วโดยไม่มีอาการเหนื่อย ท่าคอมโบของ Vanguard ยิ่งอัพเกรดก็ยิ่งมันมาก 



เริ่มจากใช้ท่า charge พุ่งเข้าชน ต่อด้วยท่า nova ที่ปล่อยพลังคลื่นทำลายรอบๆตัว แล้วอัดซ้ำด้วยอาวุธอย่างปืนพกหรือลูกซองในมือ นี่เป็นเอกสิทธิ์แห่งความมันที่มีใน Vanguard เท่านั้น!





นอกจากนี้หลังอัพเกรดไปเรื่อยๆ พลังการจู่โจมด้วยหมัดเปล่าๆของ Vanguard ก็จะแรงขึ้น สามารถกดปุ่มชกค้างไว้แล้วอัดพลังต่อยใส่ศัตรูหลังจากทำท่าคอมโบแล้วก็ยังได้! (แต่ก็เสี่ยงจะตายจากการถูกระดมยิงด้วยเช่นกัน)




ตารางสกิลของ Mass Effect 3 คล้ายกับของ Mass Effect 2 แต่เพิ่มการอัพเกรดแบบ "แยกกิ่งก้าน" ออกไปเป็นสองทาง เช่น จะอัพเกรดให้ใช้พลังได้แรงขึ้น หรือจะอัพเกรดให้รีชาร์จได้เร็วขึ้น เป็นต้น




ระบบอัพเกรดอาวุธผ่านอุปกรณ์เสริมกลับมาอีกครั้งหลังจากที่ห่างหายไปใน Mass Effect 2 คราวนี้ข้าพเจ้าสามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมบนอาวุธได้สองช่อง ซึ่งตัวอุปกรณ์เสริมก็สามารถอัพเกรดให้ดีขึ้นได้เหมือนกับในภาคแรก



แต่มีสิ่งที่เพิ่มขึ้นมานั่นก็คือ "น้ำหนักของอาวุธ"

น้ำหนักของอาวุธใน Mass Effect 3 มีผลต่อการรีชาร์จพลัง ยิ่งน้ำหนักมากก็ยิ่งรีชาร์จช้า ยิ่งน้ำหนักเร็วก็ยิ่งรีชาร์จเร็ว แรกๆข้าพเจ้าไม่ทราบข้อเท็จจริงตรงนี้ บวกกับ Vanguard ในช่วงแรกยังไม่อึดถึกพอจะลุยอะไรหนักๆ จึงติดตั้งอาวุธโดยไม่ได้คำนึงถึงค่าการรีชาร์จพลังสักเท่าไหร่ และอาวุธเวอร์ชั่นแรกๆ รุ่นที่ยังไม่อัพเกรด น้ำหนักจะค่อนข้างเยอะอยู่



แต่เมื่อสกิลของ Vanguard ถูกอัพสูงมากพอ ความอึดถึกของสายอาชีพนี้ก็เชิดฉาย ส่วนอาวุธก็สามารถอัพเกรดให้มีน้ำหนักเบาลงได้ พอมาถึงช่วงเกือบท้ายเกม Vanguard ของเชพพาร์ดหญิงมีค่าเท่ากับ +200%!! เมื่อรีชาร์จได้เร็ว ก็ยิ่งใช้คอมโบของสายอาชีพนี้ได้ต่อเนื่องขึ้น!!



อาวุธและอุปกรณ์เสริมจะมีขายตามร้านทั่วไป เมื่อเข้าไปดูในเครื่องคอมฯของร้านครั้งนึงแล้ว ร้านค้าก็จะไปปรากฏอยู่บนยานนอร์มังดี ทำให้สามารถซื้อหาอาวุธได้โดยไม่ต้องลงมาจอดที่ซิทาเดลแล้วหาซื้อของเหมือนสองภาคแรก นับว่าสะดวกดีทีเดียว



การใช้งานเพื่อนๆร่วมทีมยังคงระบบของ Mass Effect 2 เอาไว้ แต่ศัตรูของ Mass Effect 3 เพิ่มความยากมากขึ้นพอสมควร ดังนั้นต่อให้เลือกทีมเจ๋งๆมาแล้ว ก็ใช่ว่าจะผ่านด่านได้โดยง่าย ศัตรูฝ่ายมนุษย์มีการอัพเกรดที่น่าหงุดหงิด เช่น มีตัวถือโล่ออกมา หรือมีตัวที่ติดตั้งป้อมปืน ฝ่ายรีปเปอร์ก็มีทั้งตัวยักษ์ ตัวแมลงยิงสไนประยะไกล ตัวแบนชีที่น่ารำคาญ แถมปริมาณศัตรูที่ออกมา ยังมีมากเสียด้วย ซึ่งก็นับว่าเป็นความท้าทายอยู่เหมือนกัน






ข้าพเจ้ายังสามารถควบคุมทิศทางยานนอร์มังดีได้เหมือนเดิม ระบบเติมเชื้อเพลิงยังมีเหมือนเดิม แต่ระบบซื้อโพรบหายไป แล้วเพิ่มระบบสแกนแผนที่ขึ้นมา 

ทว่าเมื่อเรากดสแกนแผนที่ พวกรีปเปอร์ก็จะรู้ตัวและเมื่อเส้นสีแดงถึงขีดสุด พวกรีปเปอร์ก็จะโผล่ออกมารุมขย้ำยานนอร์มังดี ทำให้เราต้องหลบหนี!




ระบบการเจาะหาแร่หายไป เพราะคราวนี้เชพพาร์ดกลับมาอยู่กับทหารแล้ว แต่การสแกนช่วยทำให้ข้าพเจ้าค้นหาความลับหลายอย่าง เช่น ข้าวของที่จำเป็นสำหรับไซด์เควสท์ หรือข้าวของที่จะเอามาใช้อัพเกรดตัวเชพพาร์ดได้

ก็ถือว่าเป็นกิมมิคที่ช่วยให้ตื่นเต้นพอสมควร





แต่ที่มีปัญหาในส่วนของระบบเกมสำหรับข้าพเจ้า กลับเป็นระบบเควสท์นี่แหละ

ใน Mass Effect กับ Mass Effect 2 ระบบเควสท์จะมีการอัพเดทว่า เควสท์นี้ ข้าพเจ้าได้ทำถึงนี่แล้ว เหลือจะต้องทำอย่างนี้ แต่ขอโทษเถอะ Mass Effect 3 ไม่มีระบบติดตามเควสท์! มีแต่รายละเอียดคร่าวๆแล้วให้ข้าพเจ้าวิ่งหาเอาเอง! ไม่บอกด้วยว่าดาวดวงนี้อยู่ระบบไหนยังไง ให้หาเอาเอง! มองในแง่มุมหนึ่งก็คิดได้ว่าทางผู้สร้างอยากหาอะไรมาให้ท้าทายคนเล่นเกม แต่... ข้าพเจ้าหงุดหงิดเหลือเกิน 

ปริมาณเควสท์ของ Mass Effect 3 มีมากมาย ส่วนใหญ่จะเป็นเควสท์จุกจิกประมาณว่า ให้ออกไปค้นหาอันนั้นที แล้วข้าพเจ้าก็วิ่งขึ้นๆลงๆซิทาเดลบ้าง ออกไปนอกอวกาศ สแกนหาตามดวงดาวบ้าง บลาๆๆ แล้วก็เอาของมาส่งให้ ไม่เหมือนกับสองภาคแรกที่เควสท์จะดูจริงจังกว่านี้เยอะ ไม่ใช่ว่าระบบเควสท์จะเลวร้ายหรอก แต่มันน่าอึดอัดและน่าผิดหวังทั้งในแง่ตัวระบบและเนื้อหา





หัวใจสำคัญของ Mass Effect 3 คือการรวบรวมทุกๆฝ่ายเข้าด้วยกัน

ตัวเลือกใน Mass Effect 3 จะไม่เหมือนกับของ Mass Effect 2 ขณะที่ตัวเลือกของ Mass Effect 2 สัมพันธ์กับตอนจบของเกมตั้งแต่ตอนต้น Mass Effect 3 กลับเน้นไปยังสิ่งที่เรียกว่า War Assets หมายความว่าทิศทางการเลือกของข้าพเจ้าตั้งแต่ต้นเกมยันใกล้ท้ายเกม จะถูกปรากฏผลอยู่ในค่า War Assets นั่นเอง



เพื่อจะสู้กับรีปเปอร์ ข้าพเจ้าต้องเอาฝ่ายทูเรี่ยน (Turian ไม่ใช่ "ทุเรียน"!) มาเป็นพวก แต่การจะเอาทูเรี่ยนมาเป็นพวก ก็ต้องช่วยชาวโครแกนรักษาเจโนเฟจ (genophage) ก่อน เจโนเฟจเป็นอาวุธทางชีพภาพที่เอามาใช้คุมกำเนิดชาวโครแกนในช่วง "การก่อกบฏของโครแกน" ทำให้ชาวโครแกนไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ตามปกติ จนกลายเป็นปัญหาตลอดเกม Mass Effect ทั้งสามภาค (สาเหตุที่ทำให้เร็กซ์ตายในภาคแรกก็เรื่องนี้ด้วย)

แต่การจะช่วยชาวโครแกนรักษาเจโนเฟจ ต้องเลือกว่าจะยังอยากคงความสัมพันธ์ของชาวซาลาเรียนไว้หรือเปล่า เพราะชาวซาลาเรียนคัดค้านเรื่องเจโนเฟจหัวชนฝา 

แน่นอนว่าข้าพเจ้าเรื่องรักษาชาวโครแกน เพราะชาวโครแกนเข้าใจปัญหาของตัวเองลึกซึ้งแล้ว และต่อจากนี้จะแก้ไขตัวเองให้ดีขึ้น การไปเข้าข้างซาลาเรียนจจึงไม่อยู่ในหัวของข้าพเจ้าเลยไม่ว่าจะเล่นรอบไหนก็ตาม

เมื่อแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้ ชาวทูเรี่ยนกับโครแกนก็จะเข้ามาอยู่ใน War Assets ของข้าพเจ้า



จากนั้นก็มีปัญหาระหว่างชาวควอเรียนกับเกธอีก

และนี่คือปัญหาสำคัญที่ข้าพเจ้าค้างคาใจจากการเล่นทั้งสองรอบที่ผ่านมา แต่เรื่องนี้จะเอาไว้พูดทีหลัง

War Assets จะสามารถตามเก็บได้จากการทำเควสท์เล็กเควสท์น้อยอย่างที่ว่าไปข้างต้น แล้วก็เคลียร์เควสท์จากใน DLC ทั้งสามตัว พูดง่ายๆคือยิ่งเคลียร์ปัญหา ยิ่งทำเควสท์ ก็ยิ่งได้ค่า War Assets มากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว War Assets มีผลต่ออะไร?

War Assets จะมีเอาเข้ามาบวกกับตัวเลือกสามตัวเลือกในตอนท้าย ซึ่งมีผลต่อตอนจบสามแบบ และรายละเอียดจิปาถะอีกเล็กน้อย

กระนั้นตอนจบของ Mass Effect 3 ก็ยังน่าผิดหวังอยู่ดี



ข้าพเจ้าขอพูดถึง Mass Effect 3 ในแง่ดีก่อน

Mass Effect 3 มีอะไรหลายอย่างที่ดีเหลือเกิน มันมีฉากดีๆและคำพูดดีๆมากมาย เช่น 

การร่วมแรงร่วมใจของทุกเผ่าพันธุ์ ความหลากหลายของเผ่าพันธุ์แม้จะเป็นปัญหา แต่เมื่อมารวมตัวกันก็เป็นพลังที่แข็งแกร่งได้




การเปิดกว้างทางรสนิยมของเพศ เกมภาคนี้มีตัวละครที่เป็นทั้งชายรักชายและหญิงรักหญิง แต่ไม่ว่าใครก็ล้วนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนจักรวาล



ตัวละครผู้หญิงมีบทบาทสำคัญมากมาย ถ้าเลือกเชพพาร์ดให้เป็นผู้หญิง คนที่กู้จักรวาลก็จะเป็นผู้หญิง, คนที่คุมกำลังสำคัญของชาวโครแกนก็คือผู้หญิง, อาเรีย เจ้าแม่แห่งโอเมก้าก็เป็นผู้หญิง (โดยเฉพาะบทบาทใน DLC), ชาวอาซาริเป็นผู้หญิงยกดาว เป็นต้น 







และยังมีฉากดีๆมากมายจนนับไม่ถ้วน เช่น

Smiley ฉากรีปเปอร์ยึดโลก

Smiley ฉากรักษาเจโนเฟจ (ยิ่งถ้ามอร์ดินมีชีวิตรอดจาก Mass Effect 2 จะดีมาก)

Smiley ฉากเทรเชอร์มอว์สู้กับรีปเปอร์



Smiley ฉากที่เกี่ยวกับเธน (ถ้าเธนมีชีวิตรอดจาก Mass Effect 2)

Smiley ฉากเผชิญหน้ากับศัตรูที่เป็นมนุษย์ชื่อไค เลง (โดยเฉพาะถ้าเธนมีชีวิตรอดจาก Mass Effect 2)



Smiley ฉากฮาๆของเพื่อนร่วมทีมบางคนในยามพักผ่อน (โดยเฉพาะใน DLC : Citadel)




Smiley ฉากกรันท์สู้กับแร็คไน-รีปเปอร์ (ถ้ากรันท์รอดจาก Mass Effect 2)



Smiley ฉากรวมพลังกันของทุกๆฝ่ายในการโค่นรีปเปอร์ที่โลก



Smiley ฉากคำพูดระหว่างเชพพาร์ดกับเพื่อนๆทุกคนในตอนท้าย โดยเฉพาะของจาวิค ชาวโพรเธียนเพียงหนึ่งเดียวจากการถูกกวาดล้างเผ่าพันธุ์ของรีปเปอร์ในรอบที่แล้ว (แต่ต้องเล่น DLC ถึงจะได้จาวิคมา)

Smiley อุดมไปด้วยอาหารตาอาหารใจ







ในขณะเดียวกัน Mass Effect 3 กลับมีเรื่องน่าผิดหวังอยู่ไม่น้อย นอกจากเรื่องระบบเควสท์ที่ว่าไปข้างต้นแล้วก็ยังมี...

Smiley ตอนจบระดับตำนาน (ในแง่ที่ไม่ค่อยดี)... เพลงในตอนจบอาจจะช่วยสร้างอารมณ์ได้ดี แต่ถ้าไม่มีตัว Extended Cut มันจะเป็นอะไรที่หายนะมาก ความสัมพันธ์ของตัวละครที่สร้างขึ้นตลอดเกมทั้งสามภาค ถูกทิ้งไปเกือบหมดเลย แถมตอนจบยังแทบจะคล้ายๆกัน แค่เปลี่ยนสีเป็นเขียว, แดง, ฟ้าอีกต่างหาก... (Extended Cut เข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้นิดหน่อย เนื่องจากไม่ได้ทำใหม่ทั้งหมด แค่เพิ่มให้เห็นอะไรอีกนิด)

Smiley คำอธิบายเกี่ยวกับตัวเลือกในตอนท้าย จะมีผลดีถ้าผู้เล่นได้เล่น DLC ทั้งหมด รวมถึง DLC : Leviathan ส่วนเสริมที่จะเล่าประวัติว่ารีปเปอร์มาจากไหน ทำไมต้องซื้อ DLC เพื่อจะเข้าใจตอนจบได้ดีขึ้น? ทำไมคำอธิบายหลักๆจะอยู่ในเนื้อหาเกมเลยไม่ได้?



Smiley แล้วยังมีโมเดลตัวละครที่ค่อนข้างจะน่าเกลียดในหลายครั้ง เช่น ตัวละครเอี้ยวหัวไปด้านหลังแบบแปลกๆ (เหมือนไม่มีกระดูกคอยึด), นิ้วมือที่เหมือนเลอะอะไรสักอย่าง ทั้งที่ไม่ใช่ฉากสงครามหรือต่อสู้ (น่าเกลียดมาก), โมเดลหญิงของเชพพาร์ดที่เอามาใส่กระโปรงไม่ได้เลย เพราะถ้าใส่กระโปรง มันจะมีหลายจังหวะที่ดูไม่ค่อยได้ (น่าเกลียดที่สุด!)





เนื้อเรื่องของเกมค่อนข้างดี ระบบเกมก็เล่นได้สนุก มีช่วงเวลาดีๆมากมาย แต่เกมดีๆกลับถูกทำลายลงด้วยสิ่งเหล่านี้ น่าเสียดายมาก

ข้าพเจ้าเล่นรอบแรก เลือกตอนจบแบบสีเขียว Synthesis (ไม่ขออธิบายเพราะจะสปอยล์)

ข้าพเจ้าเล่นรอบสองแล้วเลือกแบบสีแดง Destroy เพื่อให้ได้ฉากจบสมบูรณ์แบบ คือตอนท้ายจะได้เห็นอะไรอีกนิด

ดังนั้นข้าพเจ้าก็เล่นรอบสามด้วยตอนจบแบบเดิมนั่นแหละ ไม่มีเหตุผลจะต้องเปลี่ยน

เป้าหมายของข้าพเจ้าที่จะต้องจัดการให้ได้ อยู่ที่ปัญหาของทาลิกับลิเจี้ยนต่างหาก!



ทาลิคือชาวควอเรียน

ชาวควอเรียนสร้างเกธขึ้นมา แล้วเกธก็ก่อกบฏจนชาวควอเรียนไม่อาจอยู่ในดาวบ้านเกิดของตัวเองได้ ต้องอพยพเร่ร่อนไปตามหมู่ดาว เป้าหมายของชาวควอเรียนคือ จะกลับไปทวงคืนบ้านเกิดจากเกธ

ลิเจี้ยนคือเกธ

แต่เป็นเกธรุ่นดั้งเดิมที่ไม่ได้ตั้งใจจะก่อสงครามอะไรกับสิ่งมีชีวิต เกธที่ไปเข้าร่วมกับรีปเปอร์ถูกเรียกว่า "พวกนอกรีต" ดังนั้นลิเจี้ยนจึงตั้งใจจะช่วยเชพพาร์ดในการทำลายรีปเปอร์ และดึงเกธให้กลับมาสู่ทิศทางของตัวเอง คืออยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิต

ในการเล่นรอบแรก ข้าพเจ้าไม่รู้จักลิเจี้ยน เพราะใน Mass Effect 2 ข้าพเจ้าไม่ได้ปลุกลิเจี้ยนให้ตื่นขึ้นมา พอลิเจี้ยนปรากฏตัวใน Mass Effect 3 และมีปัญหากับทาลิ ข้าพเจ้าฟังเหตุผลจากลิเจี้ยนแล้วจึงเลือกจะช่วยเหลือลิเจี้ยนในการปลดปล่อยเกธจากรีปเปอร์

แต่ผลคือจุดจบของชาวควอเรียน

เศร้ามาก ข้าพเจ้ารู้สึกผิดสุดๆ

พอเล่น Mass Effect 3 รอบสอง ข้าพเจ้าตั้งใจจะช่วยสองฝ่ายแก้ไขปัญหา แต่ไปทำพลาดตรงไหนสักแห่งไม่รู้ ไม่มีออพชั่นให้จบลงด้วยดี ข้าพเจ้าจึงเลือกจะยิงลิเจี้ยนตายคามือ พวกเกธถูกทำลายเละไม่เหลือ ทั้งที่เกธนั้น เอาจริงๆก็ไม่ได้ชั่วร้ายอะไรมาก

ฉะนั้นพอมารอบสาม จึงต้องหาวิธีจัดการให้สมบูรณ์ให้ได้

ข้าพเจ้ารู้ว่าเงื่อนไขมันอยู่ที่...


1) Loyalty Mission ใน Mass Effect 2 : 

ตอนเล่น Mass Effect 2 รอบสอง ตอนที่ทาลิถูกขึ้นศาลพิพากษา ข้าพเจ้าดันไปทำให้ทาลิโดนขับไล่ออกจากกองยาง พอมาถึง Mass Effect 3 เธอจึงไม่มีอำนาจพอจะช่วยสนับสนุนลิเจี้ยน และสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นระหว่างสองฝ่ายได้ 

ส่วนของทางลิเจี้ยน ข้าพเจ้าเลือกจะรีไรท์ข้อมูลของ "พวกนอกรีต" ตามที่ลิเจี้ยนต้องการ มากกว่าจะทำลาย "พวกนอกรีต" ทิ้ง จึงเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเกธ และชาวควอเรียนไม่ชอบเรื่องนั้น

วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือ ทำให้ทาลิไม่โดนขับไล่ใน Mass Effect 2 แล้วใน Mass Effect 3 ผลลัพธ์จะกลายเป็นว่า ทาลิได้เลื่อนขั้นเป็นนายพลเรือ มีอำนาจพอในกองทัพของควอเรียน 



ส่วนทางด้านลิเจี้ยน เพื่อให้ปลอดภัย ข้าพเจ้าต้องยอมทำลาย "พวกนอกรีต" ทิ้ง แม้จะได้ค่า renegade (ด้านลบ) มาเพียบเลยก็ตาม แถมยังคงค่า Loyal เอาไว้ได้ด้วย



ทั้งสองภารกิจจะมาบวกเข้ากับเหตุการณ์ที่ทาลิกับลิเจี้ยนทะเลาะกันบนยานใน Mass Effect 2 ถ้าเคลียร์แบบสันติวิธีได้ (ด้วยค่า Paragon หรือ Renegade สูงสุด) เงื่อนไขที่เป็นต้นเหตุก็จะคลี่คลายไประดับหนึ่ง



ผลลัพธ์จากการแก้ไขปัญหาใน Mass Effect 2 ----> เคลียร์


2) ค่า Paragon/Renegade ต้องมากพอ

เช่นเดียวกับ Mass Effect 2 การจะแก้ไขปัญหาของสองเผ่าพันธุ์นี้ได้ การที่ค่า Paragon/Renegade อยู่กึ่งกลางไม่ช่วยอะไร ต้องเอาให้มันสุดๆไปเลยสักทาง ถึงจะแก้ไขปัญหาได้

คราวนี้ข้าพเจ้าอัพ Paragon เต็มแม็กซ์ก่อนจะทำภารกิจกู้ดาวของชาวควอเรียน

ผลลัพธ์เรื่องอัพค่า Paragon เต็มแม็กซ์ใน Mass Effect 3 ----> เคลียร์


3) ต้องช่วยนายพลที่ติดอยู่ในดงข้าศึก

ใน Mass Effect 3 มันจะมีภารกิจให้ข้าพเจ้าต้องไปช่วยนายพลชาวควอเรียนคนหนึ่งที่ติดอยู่ในดงข้าศึก หากข้าพเจ้ายอมทำตามความต้องการของนายพล เลือกไปช่วยพวกพ้องแทน จะทำให้ขาดกำลังสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาระหว่างควอเรียนกับเกธ 

ข้าพเจ้าต้องการนายพลคนนี้มาเป็นเสียงสนับสนุนอีกหนึ่งเสียง จึงต้องยอมขัดใจ เลือกช่วยนายพลแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าพลาดในการเล่นรอบแรก!



ผลลัพธ์เรื่องการช่วยนายพลเท่านั้นใน Mass Effect 3 ----> เคลียร์


4) ทำภารกิจของลิเจี้ยน

ใน Mass Effect 3 ลิเจี้ยนจะขอให้เราเข้าไปช่วยปลดปล่อยเกธจากรีปเปอร์ในคลังข้อมูล ในระหว่างที่เราอยู่ในคลังข้อมูล จะได้เห็นประวัติศาสตร์ของเกธ ว่าจริงๆแล้วเกธไม่ได้ชั่วร้ายอะไร คนที่ก่อให้เกิดสงครามระหว่างสองฝ่าย คือชาวควอเรียนกลุ่มหนึ่งต่างหาก




ผลลัพธ์เรื่องการช่วยลิเจี้ยนทำเควสท์ใน Mass Effect 3 ----> เคลียร์


เมื่อข้าพเจ้าทำตามเงื่อนไขทั้งหมดนี้ครบ...

ในที่สุดก็มีออพชั่นที่จะช่วยสร้างสันติภาพให้กับทั้งสองฝ่ายได้โผล่ออกมา!



ในที่สุด! 

ในที่สุดเป้าหมายในการเล่นรอบสามของ Mass Effect ไตรภาคก็ครบถ้วนสมบูรณ์!

YES! YES, YES! YEEEESSSSSSS!!!!





โอ... รู้สึกเหมือนเป็นการเดินทางอันยาวนานทั้งที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงเดือนพฤษภาคมเดือนเดียว

ข้าพเจ้ารักเกมชุด Mass Effect ทั้งสามภาค แม้ Mass Effect 3 จะมีปัญหาในเรื่องตอนจบกับเนื้อหาสำคัญที่ต้องจ่ายตังค์เพิ่มก็ตาม 

มันมีอะไรดีๆให้ข้าพเจ้าจดจำมากมายเหลือเกิน ข้าพเจ้าคงจะจำเกมนี้ไปอีกเนิ่นนานแน่นอน หลังเล่นเกมรอบสามจบ ข้าพเจ้าอยากหาซื้อหนังสืออาร์ตบุค (The Art of Mass Effect Universe) และหนังสือการ์ตูนที่เล่าถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของตัวละครบางตัว มาเก็บไว้เป็นที่ระลึก

อยากได้ของที่ระลึกอีกมากมาย แต่กำลังทรัพย์มีจำกัด จึงต้องค่อยๆเลือกที่ต้องการจริงๆหน่อย 

การรำพันถึง Mass Effect ไตรภาครอบที่สาม จึงมีอันต้องจบแต่เพียงเท่านี้

หากอ่านมาถึงตรงนี้ได้ก็ขอขอบพระคุณมากขอรับ!


จบบริบูรณ์...?







Create Date : 29 พฤษภาคม 2559
Last Update : 5 มิถุนายน 2559 15:53:39 น.
Counter : 6086 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  

หมาหัวโจก
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]



All Blog