Group Blog
  •  

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  ชีวิตในญี่ปุ่น
  •  
  •   
  •  
  •  
  •  
All Blog
25. ประสบการณ์ในระยะปฐมวัย  เป็นพื้นฐานของความคิดอ่าน และการกระทำในภายหน้า
     หากมีใครมาบอกให้เราเล่าเรื่องสมัยยังเด็กเล็กๆ ถ้าไม่ใช่เรื่องที่ฝังจิตฝังใจจริงๆ แล้ว เราคงนึกไม่ค่อยออก เหตุการณ์เมื่อสมัยอายุขวบสองขวบซึ่งเราจำได้ มักจะเป็นเรื่องที่แม่หรือคนรอบข้างเล่าให้ฟังมากกว่าจะเป็นเรื่องซึ่งเราจดจำไว้ด้วยตนเอง

     แต่กระนั้นก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเราลืมหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วว่า ประสบการณ์และสภาพแวดล้อมในระยะแรกเกิดถึง 3 ขวบนั้น จะกลายเป็นเส้นสายที่ฝังอยู่ในสมอง และเป็นพื้นฐานสร้างชีวิตของเราในปัจจุบัน

     ผมได้ยินว่า คนที่ถูกสะกดจิตและได้รับคำสั่งว่าตอนนี้กำลังอยู่ในวัย 1 ขวบ เขาจะพูดภาษาเด็กที่เขาเคยพูด และทำสิ่งที่เขาเคยทำเมื่ออายุ 1 ขวบนี่ย่อมหมายความว่า ประสบการณ์ในวัยเด็กนั้นเราอาจจำไม่ได้ แต่มันก็เป็นเส้นสายสมองซึ่งฝังอยู่ในหัวของเราเรียบร้อยแล้ว

     นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวกันว่า คนเราเมื่อถูกต้องให้อยู่ในสภาพจนมุมแล้วจะย้อนไปนึกถึงเรื่องในวัยเด็ก คุณคาคุเอ ทานากะ (Kakuei Tanaka) ซึ่งเป็นนักการเมือง (อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น-ผู้แปล) เคยเล่าว่า สมัยสงครามเขาเคยตกอยู่ในระหว่างความเป็นกับความตาย ระหว่างที่นอนอยู่ในโรงพยาบาล เรื่องราวในวัยเด็กของเขาวิ่งผ่านตาเขาไปอย่างรวดเร็วเหมือนตะเกียงหมุน มีทั้งเรื่องที่คุณแม่พาเขาไปวัด พระสงฆ์ซึ่งยืนอยู่หน้าวัด หน้าตาของพระรูปนั้น การแต่งกาย คำพูด เขาจำได้หมดทุกอย่างทีเดียว ภายหลังเขานำเรื่องนี้ไปถามคุณแม่ ท่านบอกว่าเป็นเหตุการณ์เมื่อตอนที่เขาอายุ 2 ขวบ

     คุณโมริอัทสึ มินาโตะ (Moriatsu Minato) ซึ่งเป็นประธานที่ศูนย์วิจัยนิคโล (Nikko Research) นั้น เกิดที่ประเทศจีนและใช้ชีวิตในวัยเด็กที่นั่น หลังจากนั้นเขาไม่เคยใช้ภาษาจีนและใช้ชีวิตในวัยเด็กที่นั่น หลังจากนั้นเขาไม่เคยใช้ภาษาจีนเลย ต่อมาอีก 10 ปีเขามีธุรกิจที่จะต้องไปเมืองจีนและจำเป็นต้องพูดภาษาจีน เขาก็พูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ ภาษาจีนของเขาถูกต้องและคล่องแคล่วจนกระทั่งคนจีนเองยังแปลกใจ ทำให้การเจรจาทางธุรกิจของเขาดำเนินไปอย่างราบรื่น

     เรื่องราวเหล่านี้ให้เห็นว่าประสบการณ์หรือสภาพแวดล้อมในวัยเด็กนั้นถูกฝังอยู่ในสมองอย่างแนบแน่น ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าประสบการณ์และสภาพแวดล้อมตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบเป็นรากฐานของความคิดและการกระทำของเราในทุกวันนี้

     ถ้ารากฐานนี้ไม่มั่นคง ถึงเราจะพยายามสร้างตึกใหญ่โตแค่ไหนก็เป็นไปไม่ได้ หรือแม้ว่าจะสร้างได้ ตึกนั้นก็ดูใหญ่แต่ภายนอก หากมีใต้ฝุ่นหรือแผ่นดินไหวเพียงเล็กน้อยก็คงพังครึนลงมา

     การศึกษาในวัยเด็กเล็กเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ถ้าเราไม่สร้างรากฐานเอาไว้เสียแต่แรก ภายหลังเราอยากจะสร้างรากฐานที่ดีเยี่ยมสักแค่ไหนก็เป็นไปไม่ได้



Create Date : 24 มกราคม 2556
Last Update : 24 มกราคม 2556 15:26:37 น.
Counter : 432 Pageviews.

0 comment
24. การให้คนอื่นเลี้ยงลูก  เป็นการเสี่ยงที่สุด
     ผมได้ยินเรื่องอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของสองสามีภรรยาซึ่งเป็นคนร่าเริงแจ่มใส ใครๆ ก็ชอบ แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุไร ลูกชายคนโตอายุ 5 ขวบกลับชอบหมกตัว เงียบขรึมและดื้อรั้น ในขณะที่น้องชายอายุ 4 ขวบนั้นร่าเริงมีชีวิตชีวาและเป็นที่ชื่นชอบในโรงเรียนอนุบาล สองสามีภรรยากลุ้มใจมาก และไม่เข้าใจว่าทำไมลูกชายคนโตจึงเป็นเช่นนั้น

      ในที่สุดทั้งสองไม่ทราบจะทำอย่างไร จึงต้องไปปรึกษาแพทย์ ทางฝ่ายคุณหมอก็หาสาเหตุไม่ได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม หลังจากชักถามเรื่องราวต่างๆ ก็ได้ความว่าตอนที่ลูกคนเล็กเกิด ผู้เป็นแม่สุขภาพไม่ค่อยดี จึงนำลูกชายคนโตซึ่งตอนนั้นอายุ 1 ขวบไปฝากคนอื่นเลี้ยงเป็นระยะเวลา 6 เดือน

     คุณหมอคิดว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นเช่นนั้นจะต้องเกิดขึ้นในระยะ 6 เดือนนี้แน่ จึงเรียกตัวผู้หญิงที่เคยเลี้ยงเด็กตอนนั้นมาซักถาม ตอนแรกหญิงที่เลี้ยงอึกอักไม่ค่อยยอมเล่า แต่ในที่สุดเธอก็เปิดเผยความจริงให้ฟัง

    ปรากฏว่าเวลาเธอพาเด็กไปเดินเล่น เธอมักจะแอบไปพบคู่รักของเธอในโรงดินเก่าๆ ท้ายสวนเกือบทุกวัน เด็กน้อยอายุ 1 ขวบจึงถูกทิ้งให้อยู่ในมุมมืดของโรงดินประมาณวันละ 2 ชั่วโมง นั่งดูทั้งคู่พลอดรักกัน

    แล้วจะไม่ให้เหตุการณ์เช่นนั้นมีผลกระทบต่ออุปนิสัยใจคอของเด็กได้อย่างไร แทนที่เด็กจะได้รับแสงแดดอันอบอุ่น กลับต้องมาจมอยู่ในโรงดินที่มืดอับ ซึ่งมีผลทำให้จิตใจของเด็กพลอยมืดหม่นไปด้วย

    แน่ละ เด็กอายุเพียง 1 ขวบคงยังไม่เข้าใจความหมายและพฤติกรรมพี่เลี้ยง แต่อาการหวาดระแวงลุกลี้ลุกลนของพี่เลี้ยง รวมทั้งเสียงสวบสาบซึ่งดังอยู่ในความมืด ย่อมทำให้เด็กน้อยซึ่งถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวเกิดความหวาดหวั่นสั่นกลัว และพอจะเข้าใจได้ว่าทำไมแกถึงกลายเป็นเด็กขี้ขลาดและเก็บตัวขรึมในภายหลัง

    สองสามีภรรยาต้องหลั่งน้ำตา เสียใจที่คิดผิดนำลูกไปฝากให้คนอื่นเลี้ยงถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเพราะแม่สุขภาพไม่ค่อยดี เนื่องจากคลอดลูกห่างกันเพียงปีเดียว และไม่สามารถดูแลลูก 2 คนได้ไหว แต่น่าจะพูดด่าพ่อแม่คู่นี้เอาใจใส่เรื่องความละเอียดอ่อนของจิตใจเด็กน้อยไปมิใช่หรือ สถานการณ์ต่างๆ อาจจะบีบบังคับให้พ่อแม่จำนวนมากจำต้องนำลูกของตนไปฝากคนอื่นเลี้ยงในกรณีเช่นนี้ พ่อแม่ต้องคอยเอาใจใส่ดูแลเสมอว่าลูกของตนอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นใด



Create Date : 24 มกราคม 2556
Last Update : 24 มกราคม 2556 15:25:16 น.
Counter : 505 Pageviews.

0 comment
23. เด็กเล็กซึมซับเรื่องราวต่างๆ ในหนังสือนิทาน แตกต่างจากผู้ใหญ่โดยสิ้นเชิง
     เด็กเล็กกับผู้ใหญ่รับรู้และประทับใจกับเรื่องราวต่างๆ ไม่เหมือนกันเวลาเราให้หนังสือภาพหรืออ่านนิทานให้เด็กฟัง เรื่องนี้จะปรากฏชัด นักการศึกษาชาวอิตาลีชื่อ มาดาม มอนเตสโซรี่ (Madam Montesson) ซึ่งเป็นทั้งนักพฤษฏิและนักปฏิบัติในด้านการศึกษาระดับปฐมวัย ได้เฝ้าดูพฤติกรรมของเด็กเล็กอย่างละเอียดและเขียนรายงานไว้มากมาย

     ในตัวอย่างหนึ่ง เธอเล่าว่า มีเด็กผู้ชายอายุประมาณขวบครึ่งคนหนึ่งแม่ของเด็กซื้อการ์ดภาพสีรูปสัตว์และการล่าสัตว์ให้ เด็กคนนั้นเอาภาพมาให้มาดาม มอนเตสโซรี่ ดู และพูดภาษาเด็กว่า “รถยนต์ๆ” แต่เมื่อเธอดูภาพเหล่านั้นก็ไม่เห็นมีอะไรที่เหมือนรถยนต์สักแผ่นเดียว เธอจึงพูดขึ้นมาอย่างสงสัยว่าไม่เห็นมีรถยนต์เลยจ้ะ เด็กผู้ชายคนนั้นชี้มือไปที่การ์ดแผ่นหนึ่งอย่างภาคภูมิและตอบว่า “ก็อยู่นี่ยังไงล่ะ” เมื่อเธอเพ่งดูภาพซึ่งมีรูปสุนัข นายพราน และบ้านอันสวยงามนั้น เธอจึงสังเกตเห็นจุดจุดหนึ่งบนเส้นซึ่งดูเหมือนเป็นถนน เด็กคนนั้นชี้มือไปที่จุดนั้นและพูดว่า “รถยนต์"” ซึ่งมันก็น่าจะเป็นรถยนต์จริงๆ ตามที่เด็กว่า และการเขียนภาพเช่นนั้นกลับทำให้เด็กรู้สึกสนุก

     อีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งมาดาม มอนเตสโซรี่ ยกขึ้นมา เป็นเรื่องของเด็กชายอายุขวบครึ่งเช่นกัน แม่ของเด็กซื้อหนังสือนิทานภาพเรื่อง “แซมโบ” ให้ และมีเพื่อนบ้านใกล้เคียง 2-3 คนมาชุมนุมกันอยู่ด้วย ในขณะที่แม่อ่านนิทานเรื่องนั้นให้ลูกฟัง

     “มีเด็กผู้ชายนิโกรตัวเล็กๆ คนหนึ่งชื่อ แซมโบ เดินถือของขวัญวันเกิดไปตามถนน แซมโบเจอสัตว์ป่ากลางทางและถูกแย่งของขวัญไปหมด เขาร้องไห้กลับมาบ้าน พ่อกับแม่ช่วยกันปลอบจนแซมโบหยุดร้องไห้ เดินไปนั่งโต๊ะที่เติมไปด้วยขนมวันเกิด เหมือนกับในภาพสุดท้ายนี้”

     พอแม่อ่านนิทานจบ เด็กผู้ชายคนนั้นเอ่ยออกมาทันทีว่า “ไม่ใช่ เขายังร้องไห้อยู่” พร้อมกับหยิบหนังสือนิทานขึ้นมา ชี้ไปที่ภาพหลังปกซึ่งเป็นภาพของแซมโบกำลังร้องไห้

     ผมจำได้ว่าเคยอ่านเรื่องกล้ายๆ กันนี้ จากหนังสือของนักประพันธ์ชื่ออายาโกะ โซโนะ (Ayako Sono) เป็นเรื่องของเด็กซึ่งย้ายไปอยู่กับพ่อที่ยุโรปเด็กไม่มีเพื่อน เหงาอยู่คนเดียวจึงอ่านหนังสือนิทานภาพเรื่อง “คาซิยามะ” (นิทานญี่ปุ่นเรื่อง ลิงกับกระต่าย ผู้แปล) ทุกวัน ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นานเด็กเกิดคลุ้มคลั่งขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ ภายหลังจึงพบว่าหนังสือนิทานภาพเล่มนั้นหน้าสุดท้ายขาดหายไป ทำให้เรื่องจบลงอย่างผิดธรรมดา

     เรื่องเช่นนี้ สำหรับผู้ใหญ่คงไม่มีปัญหาอะไร แต่เด็กเล็กๆ นั้นยังไม่มีความคิดอื่นล่วงหน้าอยู่ในสมอง แกรับรู้เรื่องราวตามสภาพที่เป็นอยู่ จึงแสดงปฏิกิริยาออกมาชนิดที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึง



Create Date : 24 มกราคม 2556
Last Update : 24 มกราคม 2556 15:22:58 น.
Counter : 651 Pageviews.

3 comment
22. เด็กเล็กได้รับอิทธิพลอย่างนึกไม่ถึง จากสิ่งที่คาดไม่ถึง
     ชื่อของ คาร์ล ฟรีดริช เกาส์ (Carl Freidrich Gauss) เป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูพวกเรานัก แต่เขาเป็นนักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยศตวรรษที่ 19 เขาเป็นผู้ที่คิดสูตรบวกเลขสูตรหนึ่งขึ้นมาได้เมื่ออายุเพียง 18 ปีเท่านั้น

     ที่ผมเอ่ยชื่อเขาขึ้นมา เพราะผมพบสิ่งที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับตัวเขาในหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งผมเพิ่งอ่านไปหยกๆ

     พ่อของเกาส์ไม่ได้เป็นนักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงอะไรเลย เขาเป็นเพียงช่างก่ออิฐธรรมดาสามัญ และเมื่อพ่อของเขาออกไปทำงานก็จะพาเกาส์ไปด้วย

     สิ่งที่เกาส์ทำคือ นั่งลงข้างๆ พ่อของเขาและนับอิฐส่งให้พ่อ ความสามารถทางคณิตศาสตร์ของเขาคงจะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในวัยเด็กนี่เอง หนังสือที่ผมอ่านได้สรุปไว้เข่นนั้น

     ผมไม่ได้แปลกใจกับข้อสรุปนั้นเท่าไรนัก เพราะก่อนหน้านั้นผมเคยได้ยินเรื่องแบบนี้มาแล้วจากคุณโชอิชิโร ฮอนด้า (Soichiro Honda) ประธานบริษัทฮอนดะกิเคง (The Honda Engineering Company) ผมถามเขาว่า “ทำไมคุณถึงเกิดชอบรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาล่ะ” เขาหยุดคิดสักครู่หนึ่งแล้วเล่าให้ฟังว่า...

     “สมัยก่อนน่ะ ยังไม่มีมอเตอร์ไฟฟ้าหรอกครับ เวลาสีข้าวต้องใช้เครื่องยนต์พลังน้ำมัน แล้วตอนที่ผมยังเด็ก ใกล้ๆ บ้านมีโรงสีข้าว ผมชอบเสียงเครื่องยนต์มันดัง ปัง ปัง สนุกดี อุตส่าห์ขี่หลังคุณปู่ไปดูบ่อยๆ พอคุณปู่ไม่พาไปผมจะไม่พอใจ แผดเสียงร้องลั่นได้ยินไปถึงข้างบ้าน คุณปู่เลยจำต้องพาผมไปดูทุกวัน ต่อมาเสียงดัง ปัง ปัง ของเครื่องยนต์เลยเหมือนกับเพลงกล่อมเด็กสำหรับผม กลิ่นควันน้ำมันก็คุ้นกับผมเหลือเกิน นึ่อาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผมบ้ารถมอเตอร์ไซค์ก็ได้นะครับ

     พอผมได้ยินเรื่องนี้ ผมก็ถึงบางอ้อทีเดียว วัยเด็กเล็กเป็นวัยที่มีเครื่องรับรู้ที่ละเอียดมาก ประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่พ่อแม่นึกไม่ถึงหรือไม่สนใจ เด็กกลับรับเอาไว้อย่างว่องไว และพัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็นความสามารถพิเศษ ในกรณีนี้กล่าวได้ว่า การกระทำโดยไม่ตั้งใจของคุณปู่ได้สร้างคุณฮอนด้า ราชามอเตอร์ไซค์ของโลกขึ้นมา

 



Create Date : 24 มกราคม 2556
Last Update : 24 มกราคม 2556 15:21:07 น.
Counter : 409 Pageviews.

0 comment
21.ห้องที่ว่างเปล่า มีผลร้ายต่อเด็กเล็ก
     เพดานขาวสะอาดล้อมรอบด้วยกำแพงขาวบริสุทธ์ เงียบสงบปราศจากเสียงภายนอกรบกวน คุณแม่ทั้งหลายคงอยากเลี้ยงเด็กแรกเกิดในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ แต่ทว่าห้องซึ่งไม่มีสิ่งกระตุ้นกลับเป็นผลร้ายและไม่มีผลดีต่อเด็กทารก

     ผลการทดลองของศาสตราจารย์ชาวอเมริกันชื่อ บรูเนอร์ (Bruber) ชี้ให้เห็นว่า เด็กทารกที่มีสิ่งกระตุ้นกับไม่มี มีการพัฒนาทางสติปัญญาแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเขาทำการทดลองดังนี้คือ

     แบ่งทารกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้อยู่ในห้องว่างเปล่าปราศจากสิ่งกระตุ้น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ให้อยู่ในห้องกระจกซึ่งสามารถมองออกมาเห็นหมอพยาบาลกำลังทำงานกันอย่างขวักไขว่ ผนังเพดานและผ้าห่มใช้ลายดอกไม้สีสดใส และเปิดเพลงฟังตลอดเวลา นับว่าเป็นห้องซึ่งมีสิ่งกระตุ้นอยู่เต็มอัตราที่เดียว

     หลังจากการเลี้ยงดูเด็กทั้งสองกลุ่มในห้องดังกล่าวเป็นเวลาหลายเดือน ก็ทำการวัดระดับสติปัญญาของเด็กทั้งสองกลุ่ม โดยใช้วัตถุส่องแสงยื่นไปตรงหน้าเพื่อดูว่าเด็กจะสนใจจับมันเมื่อไร ผลการทดลองปรากฏว่าเด็กทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันของระดับสติปัญญาถึง 3 เดือน กล่าวคือ เด็กทารกที่ถูกเลี้ยงอยู่ในห้องว่างเปล่าจะมีการพัฒนาด้านสติปัญญาช้ากว่าอีกกลุ่มหนึ่งถึง 1 เดือน

     กล่าวกันว่าการพัฒนาด้านสติปัญญาของเด็กแรกเกิดถึง 3 ขวบ นั้นเท่าเทียมกับการพัฒนาด้านสติปัญญาของเด็กในช่วงอายุ 4-17 ปี เพราะฉะนั้นความล่าช้าไป 3 เดือนนี้มีความหมายยิ่ง นักวิชาการบางคนยืนยันว่า ถึงจะมีความล่าช้าในวัยนี้ก็สามารถเร่งให้ทันในภายหลังได้ด้วยการศึกษา แต่การทำเช่นนั้นผมคิดว่าเป็นการทำให้เด็กต้องรับภาระอันหนักอึ้งในภายหลังโดยไม่จำเป็น

     ทุกวันนี้ ไม่เฉพาะแต่การทดลองของ ศาสตราจารย์ บรูเนอร์เท่านั้น มีนักจิตวิทยาอีกหลายคนที่ได้ทำการทดลองต่างๆ และสรุปได้อย่างแน่ชัดว่า การมีสิ่งกระตุ้นหรือไม่มี ทำให้เกิดความแตกต่างทางความสามารถของเด็กอย่างเห็นได้ชัด ในระยะหลังนี้การวิจัยได้ก้าวหน้าไปถึงขั้นที่ว่า สิ่งกระตุ้นประเภทไหนจึงจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางสติปัญญาของเด็กเล็ก

     มีการใช้เตียงโยก พู่ห้อยสีสดใส ลูกแก้วส่องแสง กระดาษสีต่างๆ ฯลฯ และกล่าวกันว่าสิ่งกระตุ้นที่ได้ผลคือ กังหันลมมีเสียงดนตรี ผ้าม่านลายดอกไม้ เป็นต้น

     ศาสตราจารย์ไวท์ (White) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดซึ่งเป็นหนึ่งในนักจิตวิทยากลุ่มนี้ประกาศว่า “เราได้ทำการพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การสร้างสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ มีผลอย่างชัดเจนต่อการพัฒนาของเด็กแรกเกิด”



Create Date : 24 มกราคม 2556
Last Update : 24 มกราคม 2556 15:19:25 น.
Counter : 457 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

Harutoaki
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]



ตอนนี้ผันตัวมาเป็นแม่ค้าทำขนส่งจากจีนมาไทย หาตังค่าขนมให้เจ้าหนูฮิโร ใครสนใจติดต่อมาได้เลยนะคะ เราคิดราคาถูกสุดๆ

ส่วนอะไรที่เป็นข้อมูลเอามาแชร์กับเพื่อนๆเท่าที่จะทำได้นะคะ เพื่อนๆจะได้ไม่เจอเหตุการเซ็งแบบเรา หากเพื่อนๆมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมก็เขียนแนะนำเราเอาไว้ได้เลยนะคะจะได้เป็นความรู้กับเราด้วย.

สำหรับเพื่อนๆที่สงสัยเกี่ยงกับเรื่องวีซ่า สามารถทิ้งอีเมล์ไว้ให้เราได้นะค่ะ เวลาตอบบางทีบางคนไม่ใช่สมาชิกเราก็ไม่รู้ว่าจะได้เห็นข้อความเราไหม

เรื่องวีซ่าเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญแต่อย่างใด แต่ที่ลงข้อมูลไว้เผื่อคนที่ต้องการทำวีซ่าอย่างเราจะได้มีที่หาข้อมูลได้