สมาคมครูหนุ่มหล่อแห่งประเทศไทย
Group Blog
 
All Blogs
 
Put the right job on the right man :: แนวคิดการบริหารงานและบริหารคนยุคใหม่

Put the right job on the right man :: แนวคิดการบริหารงานและบริหารคนยุคใหม่
ใครเรียนวิชาการบริหารงานบุคคลมา อ่านหัวข้อเรื่องนี้แล้วคงจะคิดว่าผมเขียนผิด เพราะเราคุ้นเคยกับคำว่า “Put the right man on the right job” เพียงอย่างเดียว จริงๆ แล้วไม่ผิดหรอกครับ ผมตั้งใจจะสื่อปัญหาการบริหารคน และการบริหารงานในองค์กร ที่กำลังสร้างผลกระทบให้เกือบทุกองค์กรในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าปัญหานี้จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ในอดีต ภารกิจหรืองานขององค์กรต่างๆ มักจะนิ่งไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะผู้ผลิตเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เช่น ถ้าเป็นโรงงานผลิตสินค้า ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตแบบ Mass Production คือ ผลิตเป็นล๊อตใหญ่ๆ เพื่อขาย ผู้ผลิตมักจะเป็นผู้กำหนดว่า จะผลิตอะไร เท่าไหร่ เมื่อไหร่ ดังนั้น กระบวนการทำงานจึงถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน รูปแบบการบริหารคนแบบเดิม จึงใช้แนวคิดที่ว่า “Put the right man on the right job” คือ หาคนที่เหมาะสมมาทำงานที่ได้กำหนดไว้อย่างถูกต้องแล้ว

แต่....เมื่อ โลกเปลี่ยนไป ธุรกิจเปลี่ยนแปลง การแข่งขันรุนแรงขึ้น สภาพแวดล้อมมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้องค์กรปัจจุบันและอนาคตต้องปรับตัว ภารกิจขององค์กรปรับบ่อยขึ้น ทำให้กระทบต่อโครงสร้างการบริหารงานที่ต้องปรับบ่อยขึ้น และตำแหน่งงานแต่ละตำแหน่ง ก็ต้องปรับเปลี่ยนตาม คนทำงานในหลายองค์กรเริ่มเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น โดยสังเกตง่ายๆ จากจำนวนครั้งที่มีการปรับผังการบริหารองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ในแต่ละปี ปรากฏว่ามีการปรับเปลี่ยนบ่อยกว่าในอดีต บางคนเริ่มบ่นแล้วว่า ผังเก่ายังไม่ทันเข้าที่เลย ผังใหม่จะออกมาอีกแล้ว ผู้บริหารจะเอายังไงกันแน่ คนทำงานตามไม่ทันแล้ว

มีเหตุผล มากมายที่ทำให้องค์กรต้องมีการปรับผังการบริหารแบบใหม่ เช่น งานบางงานใช้บริการจากภายนอก (Outsource) จะมีประสิทธิภาพมากกว่า งานบางงานต้องปรับเพราะกลยุทธ์ขององค์กรเปลี่ยน แนวคิดการบริหารสมัยใหม่เข้ามาทำให้มีการรื้อโครงสร้างองค์กร บางครั้งปรับเปลี่ยนเพราะผังการบริหารงานแบบเดิมทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง ฯลฯ

อีกปัญหา หนึ่งที่หลายองค์กรกำลังประสบอยู่ นั่นก็คือ Put the wrong job on the right man หมายถึง การที่เรามีคนเก่ง มีความรู้ความสามารถสูง แต่เรามอบหมายงานที่ไม่เหมาะสมกับฝีมือให้เขา เรามอบหมายงานที่เขาไม่ถนัดให้ทำ ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นมากกับหลายองค์กร สาเหตุหลักๆ มาจาก
คนทำงานคิดอย่างเดียวว่าขอให้ได้งานไว้ก่อน ไม่สนใจว่างานนั้นเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบหรือไม่
การหาคนให้เหมาะสมกับงาน ถือเป็นหลักเกณฑ์ที่ยังใช้ได้อยู่ แต่ต้องไม่ลืมว่า คนหางานหลายคนมีความสามารถหลายด้าน เราอาจจะเห็นว่า เขามีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่เรากำลังหาอยู่ แต่เราอาจจะไม่รู้ว่า คนๆ นั้น เขาอาจจะมีความสามารถในด้านอื่นๆ ที่โดดเด่นกว่า มีความสามารถที่เหมาะสมกับงานที่เรากำลังหาอยู่หรือไม่ ปัญหาที่ติดตามมาคือ เราได้คนที่ทำงานนั้นๆ ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ คนๆ นั้นก็จะรู้สึกเบื่องาน เพราะไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบหรือถนัดมากที่สุด บางคนก็ทนทำไป แต่บางคนก็ทนไม่ไหวก็ลาออกไป ทำให้คนทำงานก็เสียเวลาที่มาจมอยู่กับงานที่ไม่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็ม ที่ องค์กรเองก็เสียเวลา ที่ไม่สามารถพัฒนาให้เขาเติบโตขึ้นไปในสายงานนั้นๆ ได้ ผมเชื่อว่าปัญหานี้มีเยอะมากในเกือบทุกองค์กร ถ้าอยากจะรู้ก็แค่สอบถามพนักงานทุกคนว่า คุณคิดว่าความสามารถที่โดด เด่นมากที่สุดของคุณคืออะไร? และถ้าให้เลือกได้ คุณอยากจะทำงานในตำแหน่งไหน?
การอนุรักษ์งานเดิมให้คงอยู่ โดยไม่สนใจว่าใครจะมาดำรงตำแหน่ง
เมื่อเรายึดแนวคิด Put the right man on the right job มากจนเกินไป คือยึดมั่นถือมั่นว่า ฝ่ายเราจะต้องมีตำแหน่งนี้ต่อไป การยุบตำแหน่งงานใดตำแหน่งงานหนึ่งของแต่ละหน่วยงาน ไม่เคยอยู่ในความคิดของคนที่เป็นหัวหน้าหน่วยงาน ยังไงก็จะพยายามรักษาตำแหน่งงานที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด เว้นเสียแต่ว่าผู้บริหารระดับสูงสั่งมา อยู่ดีๆ จะคิดยุบเองคงไม่มีทางเป็นไปได้ และตำแหน่งงานต่างๆ ในองค์กร มักจะมีอัตราการเกิดตำแหน่งใหม่สูงกว่าอัตราการตาย (ยุบ) ของตำแหน่งงานเก่า สุดท้ายตำแหน่งงานเยอะมาก ทั้งๆ ที่ภาระงานโดยรวมขององค์กรยังมีเท่าเดิม
มีงานฝากอยู่เรื่อยๆ จนงานฝากมากกว่างานที่ควรจะทำในตำแหน่งงานนั้นๆ
บางครั้งเราได้คนทำงานเก่งๆ มาดำรงตำแหน่งที่ถูกต้องและเหมาะสมในช่วงแรก แต่พอเวลาผ่านไปนานๆ งานบางงานไม่มีคนทำ งานบางงานขาดผู้ดำรงตำแหน่งชั่วคราว งานบางงานขาดผู้ดำรงตำแหน่งงานถาวร ก็จะมีเศษๆ งานของตำแหน่งต่างๆ โอนมาให้คนทำงานในตำแหน่งอื่น โอนไปโอนมา บางครั้งก็บอกว่าฝากไว้ก่อน มีทั้งประเภทฝากเผื่อเรียก(ออมทรัพย์) ฝากประจำ และงานบางงานฝากลืม(ไม่รู้จะเอาคืนเมื่อไหร่) สุดท้ายคนที่เก่งในตำแหน่งงานหนึ่ง จะต้องไปทำงานที่ตัวเองไม่เก่ง บางครั้งต้องใช้เวลาหมดไปกับงานที่ตัวเองไม่ถนัดมากกว่างานที่ตัวเองถนัด เหตุการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีความสามารถ เพราะคนที่ไม่ค่อยเก่ง ผู้บริหารก็ไม่ค่อยมอบงานอะไรให้เพิ่ม ดังนั้น คนเก่งจึงได้รับงานเพิ่มเสมอ สุดท้าย วันๆ ก็นั่งทำแต่งานที่ตัวเองถนัดน้อย

จากปัญหาที่ผม อธิบายมานี้ ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า การบริหารคนและบริหารงานในปัจจุบันและอนาคต จะใช้เพียงแนวคิดเดิมที่ว่า “Put the right man on the right job” เพียงอย่างเดียวคงจะไม่ได้แล้ว แต่จะต้องบวกด้วยแนวคิดที่ว่า “Put the right job on the right man” เพราะการที่เรามีคนเก่งอยู่ในองค์กรแล้วเราไม่ได้ใช้เขาอย่าง เต็มที่ หรือใช้งานเขาผิดที่ผิดทาง อาจจะสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันได้ แต่ถ้าเรามีคนเก่งอยู่แล้ว และไม่อยากเสียเขาไปให้กับองค์กรอื่น ผมคิดว่าเราอาจจะต้องหันมาพิจารณาแนวคิดที่ว่า หางานให้เหมาะสมกับคนเก่งๆ (Put the right job on the right man) ให้มากขึ้น เช่น มีคนบางคนทำงานในตำแหน่งงานที่รับเข้ามาดี แต่เขาเป็นคนที่คิดอะไรแปลกอยู่เรื่อย คิดไม่เหมือนคนอื่น แต่งานที่ทำอยู่ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรใหม่ องค์กรอาจจะพิจารณาหางานที่เหมาะสมกับความสามารถให้เขา ด้วยแนวทางต่างๆ เช่น ทำงานในตำแหน่งเดิมแต่เพิ่มงานด้านการพัฒนาทางความคิดสร้างสรรค์ให้เขาด้วย หรือสร้างงาน (ตำแหน่ง) ใหม่ ที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์และย้ายเขาไปทำงานนั้นแทน

การบริหารองค์กร ในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาทั้งคนและงานควบคู่กันไป ถ้างานเหมาะสมกับภารกิจและกลยุทธ์ขององค์กรแล้ว ก็คงจะต้องมาพิจารณาดูว่า เรามีคนที่เหมาะสมกับงานนั้นหรือไม่ ในขณะเดียวกัน ถ้าเรามีคนที่เก่งๆ เหมาะสมกับกลยุทธ์ขององค์กร ก็คงจะต้องมาพิจารณาดูว่า งานต่างๆ ที่เรามีอยู่นั้นเหมาะสมกับคนเก่งๆ และเหมาะสมกับกลยุทธ์ขององค์กรในช่วงเวลานั้นๆ มากน้อยเพียงใด การที่จะพิจารณาว่าคนเก่งสำคัญกว่า หรืองานที่เหมาะสมสำคัญกว่า ในแต่ละช่วงเวลานั้น ให้ดูจากภารกิจและกลยุทธ์หลักขององค์กร แต่อยากจะฝากข้อคิดไว้ให้ทุกองค์กรคือ ถ้าวันนี้เราเอางานบางงานออกไป (จ้างคนข้างนอกทำ) พรุ่งนี้เราสามารถเอางานนั้นกลับมาทำใหม่ได้ แต่...ถ้าวันนี้เราเปลี่ยนเอาคนเก่งๆ ออกไป (เพราะไม่เหมาะกับงานวันนี้) พรุ่งนี้จะหาคนเก่งๆ มาใหม่นั้นทำได้ยาก จึงอยากให้ผู้บริหารองค์กรพิจารณาว่า การที่เรามีคนเก่งๆ อยู่กับองค์กรนั้น ถ้าวันนี้เรามีงานที่ไม่เหมาะสมให้เขาทำ แต่พรุ่งนี้ เดือนหน้าหรือปีหน้า งานที่เหมาะสมกับเขากำลังจะมีเข้ามาี เราควรจะให้เขาอยู่ต่อเพื่อรองานที่เหมาะสม หรือจะให้เขาออกไปก่อน แล้วค่อยหาคนใหม่เข้ามาทำเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

“งานดีๆ สร้างได้ภายในวันเดียว แต่คนเก่งๆ ต้องใช้เวลาพัฒนาเป็นปี”

ที่มา : //www.e-hrit.com/


Create Date : 28 มีนาคม 2554
Last Update : 28 มีนาคม 2554 22:12:22 น. 0 comments
Counter : 2139 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

hangclub
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 29 คน [?]




Friends' blogs
[Add hangclub's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.