สมาคมครูหนุ่มหล่อแห่งประเทศไทย
Group Blog
 
All Blogs
 
สำนักงานกิจการยุติธรรม

การพัฒนากฎหมายและงานวิจัยระบบงานยุติธรรม
ในปี 2550 สถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ได้จัดการประชุม/สัมมนา รวม 19 เรื่อง และจัดการประชุมคณะกรรมการ/ คณะอนุกรรมการ/ คณะทำงานต่าง ๆ รวม 9 คณะ ดังนี้

การประชุม/สัมมนา จำนวน 19 เรื่อง
1. การประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การส่งคนออกนอกราชอาณาจักรโดยกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (Extradition) และการเนรเทศ (Deportation)
2. การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง คอร์รัปชันยุคทุนนิยมกับกลยุทธ์ในการปราบปราม

3. การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ปัญหาและแนวทางพัฒนากฎหมายฟื้นฟูกิจการ
4. การประชุมโต๊ะกลมเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ผลกระทบของร่างรัฐธรรมนูญที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม
5. การประชุมโต๊ะกลมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ การยกร่างกฎหมายล้มละลายในประเทศไทย
6. การประชุมนิติศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 6 เรื่อง “ทิศทางของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
7. การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันและการสอบสวนคดีพิเศษ
8. การสัมมนา เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงระเบียบ กฎหมายให้เอื้ออำนวยต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในกระบวนการยุติธรรม
9. การสัมมนา เรื่อง การเผยแพร่กฎหมายที่ประกาศใช้ปี 2550

10. การสัมมนา เรื่อง การพัฒนาระบบการบังคับชำระหนี้กับทรัพย์หลักประกันในคดีแพ่ง
11. การสัมมนา เรื่อง การให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบังคับคดีทางแพ่ง

12. การสัมมนา เรื่อง ความสำคัญของร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ….
13. การสัมมนา เรื่อง ปัญหาการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการสำหรับระงับข้อพิพาทระหว่างภาครัฐและเอกชน
14. การสัมมนาเพื่อเผยแพร่แนวทางการจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาในคดีอาญา

15. การสัมมนาเพื่อพัฒนาระบบพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแพ่ง
16. การสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การพัฒนาบทบาทการให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในกระบวนการยุติธรรม : มาตรการคุ้มครองภาคประชาชนที่มีส่วนร่วม
17. การเสวนา เรื่อง แนวคิดการปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับการพัฒนากฎหมาย
18. การอบรมระบบบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (ระบบ NRPM) ของกระทรวงยุติธรรม

19. การอบรมและพัฒนาศักยภาพนักวิจัยในกระบวนการยุติธรรม
การประชุมคณะกรรมการ/ คณะอนุกรรมการ/ คณะทำงาน จำนวน 9 คณะ
1. การประชุมคณะกรรมการพิจารณาและประเมินผลงานวิจัยกระทรวงยุติธรรม
2. การประชุมคณะทำงานพิจารณาทบทวนร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน พ.ศ. ....
3. การประชุมคณะอนุกรรมการด้านการศึกษา วิจัยและพัฒนากฎหมายและระบบงานในกระบวนการยุติธรรม
4. การประชุมคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
5. การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการจัดหาสหวิชาชีพในการสอบปากคำเด็ก
6. การประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาคำขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนยุติธรรม
7. การประชุมคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ
8. การประชุมคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายล้มละลายในประเทศไทย
9. ประชุมคณะทำงานดำเนินการปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงและการปิดกิจการ




สรุปย่อการประชุม/สัมมนาเรื่องต่าง ๆ จำนวน 6 เรื่อง
1. การพัฒนาระบบบังคับคดีกับทรัพย์หลักประกัน
เนื่องจากปริมาณคดีในชั้นบังคับคดีมีมาก ย่อมส่งผลให้สถิติการบังคับคดีสูงขึ้น ดังนั้น ควรปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่วิธีพิจารณาคดีในชั้นศาล การสร้างกลไกเสริมกระบวนการยุติธรรม หรือแม้แต่การเตรียมความพร้อมของกรมบังคับคดีเพื่อรองรับปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น ควรมีการปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดที่เกิดขึ้น สำหรับมาตรการบังคับคดีอาจกำหนดมาตรการบังคับคดีแบบพิเศษ อาทิเช่น การบังคับชำระหนี้หลักประกัน ซึ่งเป็นการบังคับคดีกับทรัพย์ที่มีหลักฐานทางทะเบียนชัดเจน เป็นต้น การกำหนดระยะเวลาร้องขัดทรัพย์และงดการบังคับคดีให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ขั้นตอนการยึดทรัพย์เหมือนอย่างในต่างประเทศ ประกอบกับนำเรื่องเอกชนมีส่วนร่วมในการบังคับคดีมาใช้เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับเจ้าหนี้ โดยการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเป็นอย่างเดียวกับเจ้าพนักงานบังคับคดี มีกำหนดบทลงโทษผู้ทำการประวิงคดี
2. การพัฒนาระบบพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแพ่ง
ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีการนำกฎหมายเรื่องการเปิดเผยพยานหลักฐานก่อนการสืบพยาน (Discovery) เข้ามาใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะต้องมีการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์กฎหมายของไทยและปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรหรือหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม โดยมีข้อสังเกต ดังนี้
1. การนำมาใช้ไม่ควรจะบังคับให้มีการเปิดเผยทุกเรื่อง แต่ควรจะเป็นระบบสมัครใจ โดยบังคับเฉพาะคดีที่มีความสำคัญ ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาให้ดีว่าคดีประเภทใดบ้างที่จะถือว่าเป็น คดีสำคัญ
2. ควรจะมีการนำระบบบริหารจัดการคดี (Case Management) มาใช้ เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการสืบพยานเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ รวมทั้งประเทศไทยมีระบบ Pre-trial อยู่แล้ว แต่ไม่มีการบูรณาการ ซึ่งการนำระบบบริหารจัดการคดีมาใช้น่าจะมีความคล่องตัวมากกว่า แต่หากจะมีการแก้ไขกฎหมาย ควรคำนึงถึงความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดสำหรับคู่ความ โดยไม่ควรเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ควรจะกำหนดให้ออกเป็นข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
3. ควรนำระบบโนตารีปับเลิกเข้ามาใช้ โดยจะเป็นระบบที่เข้ามารองรับปัญหาเรื่องความถูกต้องของเอกสาร นิติกรรมสัญญาต่างๆ ที่ผ่านระบบโนตารีปับเลิกจะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่การนำมาใช้ก็ไม่ควรนำมาใช้โดยเตรง
4. อาจจะเกิดปัญหาเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบทางคดี เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจของคู่ความไม่เท่ากัน ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการทำ Discovery จะถือเป็นค่าใช้จ่ายในคดีหรือไม่
5. เมื่อนำ Discovery มาใช้จะเกิดความรวดเร็วในการดำเนินคดีจริงหรือไม่
6. ควรจะมีการนำ contingent fee มาใช้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีค่าเสียหายในเชิงลงโทษ นอกจากนี้ ควรจะมีการนำระบบ ADR มาใช้ในคดีแพ่งให้มากขึ้น
3. การประชุมโต๊ะกลมเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ผลกระทบของร่างรัฐธรรมนูญที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม
ด้วยที่ผ่านมาได้มีกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ตามมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งภายหลังจากการดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นคณะกรรมาธิการฯ ได้ดำเนินการส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญ และคำชี้แจงที่จัดทำขึ้นว่ามีความแตกต่างกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในเรื่องใดพร้อมด้วยเหตุผลในการแก้ไข ให้กับสภาร่างรัฐธรรมนูญและตัวแทนจากองค์กร 12 องค์กร เพื่อให้จัดทำความคิดเห็นและเสนอกลับมายังคณะกรรมาธิการฯ
โดยเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญบางส่วนเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม อาทิ การตัดเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมซึ่งได้ถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติต่างๆ แล้ว ออกจากร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สำนักงานกิจการยุติธรรมจึงเห็นควรให้มีการจัดประชุมโดยเชิญ องค์กรอิสระ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อรับทราบข้อคิดเห็นรวมทั้งสะท้อนผลกระทบของร่างรัฐธรรมนูญที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภายหลังจากการประชุมสำนักงานกิจการยุติธรรมได้เสนอความเห็นในที่ประชุมที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เพื่อประกอบการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป

4. การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ปัญหาและแนวทางพัฒนากฎหมายฟื้นฟูกิจการ”
ด้วยสำนักงานกิจการยุติธรรมพิจารณาเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ในปี 2541 นั้น ได้สร้างมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างของกิจการ (Reorganisation) การฟื้นฟูกิจการ (Rehabilitation) ขึ้น โดยเปิดโอกาสให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ โครงสร้างทุน โครงสร้างการบริหารจัดการภายใต้การคุ้มครองทางกฎหมาย เพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ ไม่เกิดภาวะตกงานของลูกจ้าง เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และส่งผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว การบังคับใช้กฎหมายหลายประการไม่อาจสนองตอบต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับยังมีหลักกฎหมายในระดับสากล ที่ควรจะได้นำมาพิจารณาและนำมาปรับใช้กับกฎหมายของไทย เพื่อให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเช่นในสากลอีกด้วยสำนักงานกิจการยุติธรรม จึงจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้น
ในการนี้ ผู้เข้าการสัมมนาได้มีการอภิปรายและมีข้อสังเกตหลายประการ โดยเห็นควรให้มีการแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติล้มละลายในกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการในหลายส่วน เช่น การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ คุณสมบัติของลูกหนี้ การทำแผนและการบริหารแผน การนับคะแนนในมติยอมรับแผนของเจ้าหนี้ เกณฑ์ในการพิจารณาของศาลต่อแผนฟื้นฟูกิจการ การยกเลิกการฟื้นฟูกิจการในกรณีที่ลูกหนี้ยังดำเนินการไม่สำเร็จตามแผน ผลของการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการกับหนี้บางอย่าง เป็นต้น

5. ประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง คอร์รัปชันยุคทุนนิยมกับกลยุทธ์ในการปราบปราม
สำนักงานกิจการยุติธรรมได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญในการติดตามสภาพปัญหา สถานการณ์ และกลไกในการคอร์รัปชันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการ การพัฒนารูปแบบและแนวทางที่นำไปสู่การคอร์รัปชัน กลยุทธ์ บทบาทของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ การพิสูจน์ข้อเท็จจริง การบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้กระทำการทุจริตคอร์รัปชัน รวมไปถึงทิศทางในการแก้ไขปัญหาในอนาคต จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังและติดตามสภาพปัญหา สถานการณ์และกลไกในการคอร์รัปชันในปัจจุบัน ซึ่งจากการประชุมดังกล่าวได้รับข้อมูล และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ ความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายในการกำหนดให้มีผู้เสียหายในการร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีทุจริตคอร์รัปชัน การปรับปรุงอำนาจสอบสวน หรือการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. การปรับปรุงเรื่องความรับผิดในทางอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีมีนโยบายหรือการสั่งการให้ข้าราชการกระทำทุจริต ปัญหาเรื่องอายุความในการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือ อายุความในการดำเนินคดีที่มีผู้ทุจริต รวมทั้งการเสนอให้มีมาตรการในการคุ้มครอง สนับสนุน ส่งเสริมผู้แจ้งเบาะแส (WHISTLE BLOWER) ให้ได้รับความคุ้มครองความปลอดภัย

6. สรุปย่อการประชุมทางวิชาการระดับชาติ ว่าด้วยงานยุติธรรมครั้งที่ 5 เรื่อง การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
กระทรวงยุติธรรมโดยสำนักงานกิจการยุติธรรม ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดการประชุมทางวิชาการระดับชาติ ว่าด้วยงานยุติธรรมครั้งที่ 5 เรื่อง การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก (Development of Justice Systems in a Changing World) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการ บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม องค์การภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนได้มีส่วนร่วมและแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็น เพื่อนำผลสรุปมากำหนดทิศทาง หรือกรอบแนวทางในการปรับปรุงนโยบาย กฎหมายและแนวทางปฏิบัติ รวมถึงเป็นประเด็นในการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมพร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมหลักนิติธรรมในสังคมไทย” โดยเล็งเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยมีการปรับปรุงทั้งในด้านของกฎหมาย องค์กร บุคลากร หน่วยงาน และเทคโนโลยี การปรับปรุงดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในสังคม เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และมุ่งพัฒนากระบวนการยุติธรรมของไทยให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรม และความสงบสุขให้กับสังคม
สรุปประเด็นการนำเสนอ ปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ได้จากการประชุม ดังนี้
1. การเสวนาทางวิชาการ 2 หัวข้อ
1.1 หัวข้อ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการส่งเสริมหลักนิติธรรมในสังคมไทย ประเด็นที่สำคัญ คือ
ในการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้เกิดประสิทธิภาพ จะต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงตามบริบทของสังคมไทย โดยจะต้องพิจารณาตั้งแต่การร่างกฎหมาย การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ความรวดเร็วในการตรากฎหมาย และให้ความสำคัญในเรื่องกระบวนการหรือวิธีการที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย มีการตรวจสอบ และไม่เป็นกระบวนการยุติธรรมที่แพงเกินไป
1.2 การปฏิรูประบบงานตำรวจ ประเด็นที่สำคัญ คือ
เพื่อให้การพัฒนาระบบงานตำรวจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ควรมีการกระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลาง เน้นการปรับปรุงสถานีตำรวจเนื่องจากใกล้ชิดประชาชน ปรับปรุงและพัฒนาระบบงานสอบสวน และถ่ายโอนภารกิจที่นอกเหนือจากภารกิจหลักบางอย่าง มีการสรรหาและพัฒนาบุคลากรตำรวจที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบการบริหารงานตำรวจ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์และขวัญกำลังใจของตำรวจด้วย
2. การประชุมกลุ่มย่อย เป็นการเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย ดังนี้
กลุ่มที่ 1 มิติใหม่ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ประเด็นที่สำคัญได้แก่
- การระงับข้อพิพาททางเลือก โดยระบบอนุญาโตตุลาการควรมีมาตรการกำกับในเชิงของวิชาชีพและจริยธรรมให้มากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นหรือหลักประกันแก่ประชาชนว่ากระบวนการยุติธรรมทางเลือกนั้นเป็นสิ่งดีและสามารถใช้บังคับได้
- ควรส่งเสริมให้อัยการมีบทบาทในขั้นตอนการสอบสวนคดีมากขึ้น รวมถึงการเข้าไปกำกับดูแล ซึ่งถือเป็นกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุล อีกทั้งการสั่งคดีของอัยการควรพิจารณาว่าเป็นไปตามข้อกฎหมายหรือการใช้ดุลพินิจ
- เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ควรมีการผลักดันกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการตรวจพิสูจน์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติของฝ่ายตุลาการให้รับฟังพยานหลักฐานที่ผ่านกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์มากขึ้น
- ควรมีการผลักดันให้มีการใช้โนตาลีปับลิกในประเทศไทย เพื่อช่วยลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลและลดค่าใช้จ่ายที่สูงในการดำเนินคดี
- ควรนำข้อมูลด้านสถิติอาชญากรรมมาจัดทำแผนที่อาชญากรรม เพื่อให้การป้องกันอาชญากรรมเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และให้ทราบถึงพื้นที่ที่อาจเกิดอาชญากรรมโดยละเอียด อันจะเป็นการเฝ้าระวังให้แก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง
- กระทรวงยุติธรรมควรมีการกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงานในการพัฒนามาตรการลงโทษระดับกลางมาใช้
กลุ่มที่ 2 กระบวนทัศน์และการเปลี่ยนแปลง ประเด็นที่สำคัญได้แก่
- ยุติธรรมทางเลือกควรให้ความสำคัญกับชุมชนและเหยื่ออาชญากรรม โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมอาชญากรรม และการจัดระเบียบชุมชน จัดการความขัดแย้งในชุมชน ลดและเยียวยาความเสียหายหรือความรุนแรงที่เกิดจากอาชญากรรม รวมถึงการรับผู้กระทำผิดกลับคืนสู่ชุมชนด้วย
- การก่อการร้ายทางชีวภาพ ถือเป็นอาชญากรรม ถ้าหากเกิดขึ้นแล้ววิธีการบำบัดรักษาค่อนข้างยุ่งยาก ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายสากล โดยมีวัตถุประสงค์ในการเฝ้าระวังการก่อการร้ายเรื่องต่าง ๆ และเรื่องอาวุธชีวภาพ จึงควรมีการพัฒนาการข่าวเกี่ยวกับการก่อการร้ายทางชีวภาพที่ดีและน่าเชื่อถือเพื่อเป็นมาตรการป้องกันในเรื่องดังกล่าว
- เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ควรให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ เรื่องของตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง เรื่องกระบวนการปิดช่องว่าง และเทคโนโลยีที่ทันสมัย
- ความผิดทางเศรษฐกิจเน้นความผิดอยู่ 2 ประการคือ การกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์กับความผิดในการฉ้อฉลในการบริหารจัดการนิติบุคคล
กลุ่มที่ 3 กระบวนการยุติธรรมไทยกับมาตรฐานสากล ประเด็นที่สำคัญได้แก่
- การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมยุคโลกาภิวัตน์คือ สนธิสัญญา ข้อตกลงหรืออนุสัญญาต่าง ๆ ซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ
- ควรมีกลไกในการตรวจสอบภายหลังเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่าง ๆ เช่น ต้องมีการทำรายงานเสนอต่อสหประชาชาติ หรือการให้องค์กรเอกชนสามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานระหว่างประเทศไทยได้
- เพื่อต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในพิธีสารอีก 2 ฉบับพร้อมทั้งมีการแก้ไขและยกร่างกฎหมายให้สอดคล้อง เมื่อเสร็จแล้วจะได้ให้สัตยาบันและเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อไป
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มีการรองรับหลักการของสิทธิมนุษยชนและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น
- กระบวนการยุติธรรมทางอาญาปัจจุบันจะเปลี่ยนจาก Crime control เป็น due process มากขึ้น
- หนทางสู่ความสำเร็จของปฏิญญากรุงเทพมี 4 ข้อด้วยกัน 1.ความรู้ความเข้าใจของประชาชนและสังคมจะเป็นส่วนผลักดันให้การปฏิบัติตามปฏิญญากรุงเทพนี้สำเร็จได้ 2.ความร่วมมือของหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ 3.การปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม 4.ต้องมีการติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบ
กลุ่มที่ 4 กระบวนการยุติธรรมกับผลกระทบทางสังคมในกระแสโลกา ภิวัตน์ ประเด็นที่สำคัญ เช่น
- ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยคุ้มครองเด็ก กฎหมายว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัว และกฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิต แต่ยังประสบกับปัญหาในการบังคับใช้ และผลในทางปฏิบัติ จึงควรมีมาตรการให้ผู้ปฏิบัติและประชาชนได้รับรู้และเข้าใจในสาระสำคัญและวัตถุประสงค์ของกฎหมายมากขึ้น
สรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ/ คณะอนุกรรมการ จำนวน 2 เรื่อง
1. คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
เนื่องด้วยมติที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2549 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 ได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่าง ๆ รวมจำนวน 7 คณะ ซึ่งมีคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศรวมอยู่ด้วย โดยมีอำนาจหน้าที่
1. พิจารณาภาพรวมนโยบายของกระบวนการยุติธรรมในด้านการให้ความร่วมมือตามหลักการของสหประชาชาติและข้อตกลงระหว่างประเทศ
2. ติดตามและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถปฏิบัติงานเพื่อเป็นไปตามหลักการของสหประชาชาติและข้อตกลงระหว่างประเทศ
จากการประชุมที่ผ่านมาของคณะอนุกรรมการฯ รวม 5 ครั้ง ที่ประชุมได้พิจารณาการจัดทำฐานข้อมูลด้านการจัดทำข้อตกลง อนุสัญญาและการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและทางแพ่ง และการกำหนดข้อมูลความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องสำคัญเพื่อติดตามความคืบหน้า นำเสนอแนวทางและนโยบายเพื่อให้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติพิจารณาต่อไป
2. คณะทำงานดำเนินการปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงและการปิดกิจการ
สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้สำนักงานกิจการยุติธรรมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการพิจารณาข้อมูลผลสำรวจตามรายงานการวิจัยของธนาคารโลก เรื่อง Doing Business ในหัวข้อการดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2 ด้าน คือ ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงและด้านการปิดกิจการ ซึ่งได้มีการประชุมคณะทำงานฯประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อพิจารณาการดำเนินงานด้านดังกล่าว
ผลการประชุมสรุปว่าข้อมูลด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงและด้านการปิดกิจการตามการสำรวจของธนาคารโลกไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่คณะทำงานฯได้รับ จึงได้ทำการปรับปรุงข้อมูลตัวชี้วัดในการจัดอันดับใหม่เพื่อให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและเสนอต่อสำนักงาน ก.พ.ร. ต่อไป


การเผยแพร่ผลงานการวิจัย จำนวน 24 เรื่อง
ในปีงบประมาณ 2550 มีการจัดพิมพ์ผลงานวิจัยด้านกฎหมายและระบบงานในกระบวนการยุติธรรมที่แล้วเสร็จ จำนวน 24 เรื่อง ดังนี้
1. การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนกับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
2. การประเมินผลการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์โดยวิธีสมานฉันท์โดยการใช้กระบวนการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชนมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
3. มาตรฐานการปฏิบัติงานในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติกับประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการดำเนินงานและการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด
4. ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการไม่ขอปล่อยตัวชั่วคราวเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
5. การติดตามประเมินผลเด็กและเยาวชนภายหลังปล่อยจากศูนย์ฝึกและอบรมของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
6. รายงานการวิจัยเรื่อง “โครงการติดตามประเมินผลและพัฒนารูปแบบและแนวทางลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล”
7. ปัญหากับเด็กและเยาวชน (โครงการยุติธรรมโพล ครั้งที่ 5)
8. การประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา(โครงการยุติธรรมโพล ครั้งที่ 6)
9. รายงานผลการศึกษา “โครงการติดตามประเมินผลการนำระบบการควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับผู้กระทำผิด”
10. รายงานการวิจัยเรื่อง “ความพึงพอใจของผู้ขอรับการสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายจากกองทุนยุติธรรม ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการสนับสนุนกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2549”
11. สิทธิมนุษยชนในวิถีทางของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
12. โครงการติดตามประเมินผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ ประจำปีงบประมาณ 2549
13. รายงานวิจัยเรื่อง “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง : การแก้จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเหนือผู้แทนปวงชนโดยใช้พรรคการเมือง
14. รายงานวิจัยเรื่อง “ที่มา บทบาทและอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา”
15. รายงานวิจัยเรื่อง “การปฏิรูปการเมือง : ศึกษากรณีขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
16. รายงานวิจัยเรื่อง “ว่าด้วยเรื่องสิทธิและเสรีภาพด้านแรงงาน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรรับรองสิทธิหน้าที่ด้านแรงงานอย่างไร”
17. รายงานวิจัยเรื่อง “ว่าด้วยเรื่องสิทธิและเสรีภาพด้านแรงงาน รัฐธรรมนูญและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งองค์กรนายจ้างและลูกจ้าง”
18. รายงานวิจัยเรื่อง “ว่าด้วยเรื่องสิทธิและเสรีภาพด้านแรงงาน ความมั่นคงในการดำรงชีวิตและระบบประกันความมั่นคงทางสังคมของปวงชนภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ : การสวนทางระหว่างทฤษฎีและสภาพความเป็นจริง”
19. รายงานวิจัยเรื่อง “การคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยรัฐธรรมนูญ”
20. รายงานวิจัยเรื่อง “สิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศกับรัฐธรรมนูญไทย”
21. รายงานวิจัยเรื่อง “ศาลกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ : ศึกษาเฉพาะกรณีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”
22. รายงานวิจัยเรื่อง “การใช้กฎหมายระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย : ศึกษากฎหมายเปรียบเทียบ”
23. รายงานวิทยานิพนธ์เรื่อง จิตสำนึกถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางสังคมอันเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ : การศึกษาผู้ถูกคุมประพฤติฐานขับขี่รถขณะเมาสุรา
24. รายงานวิทยานิพนธ์เรื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อการกระทำผิดในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของเด็กและเยาวชน : ศึกษาเฉพาะกรณีเด็กและเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล



การพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย ได้ทำการจัดกิจกรรม 4 กิจกรรม คือ
1. การอบรมและพัฒนาศักยภาพนักวิจัยในกระบวนการยุติธรรม ระหว่างวันที่ 12-16 กุมภาพันธ์ 2550 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร โดยมีผ่านการอบรมทั้งสิ้น 70 คน
2 . การอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นักวิจัยในกระบวนการยุติธรรมได้มุ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ความสามารถด้านการวิจัยให้กับนิสิตนักศึกษาในระดับชั้น ปี 3 - 4 โดยมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยนักวิจัย โดยมีนิสิต นักศึกษาที่ผ่านการอบรมทั้งสิ้น จำนวน 7 คน โดยทั้งหมดได้ประกาศนียบัตรรับรองการปฏิบัติงานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมด้วย
3. การสนับสนุนผลงานวิจัยในระดับอุดมศึกษา โดยมุ่งสนับสนุนและเปิดโอกาสให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้มีโอกาสฝึกฝนการวิจัย โดยการสนับสนุนการศึกษาวิจัยแก่นิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาโทในสถาบันการศึกษาที่มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานกิจการยุติธรรม ทั้งนี้ สำนักงานกิจการยุติธรรมจึงได้มอบทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยแก่ผู้รับทุนตามคุณสมบัติที่กำหนดจำนวน 8 ทุน ๆ ละ 10,000 บาท
4. โครงการอบรมระบบบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (ระบบ NRPM) ของกระทรวงยุติธรรม โดยระบบดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการจัดทำเอกสาร และข้อมูลประกอบการเสนอของบประมาณการวิจัยโดยทำงานบนเครือข่าย Internet ซึ่งช่วยลดขั้นตอนในการกรอกข้อมูลและครอบคลุมการติดตามโครงการวิจัยที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน และรวบรวมงานวิจัยที่เสร็จสิ้นแล้วมาเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลบนมาตรฐานและระบบเดียวกัน โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั้งสิ้น 50 คน ซึ่งเป็นผู้ประสานหน่วยงานด้านการวิจัย ผู้ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลการวิจัย และนักวิจัยจากหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม





กฎหมาย กฎกระทรวง หรือระเบียบที่สำคัญและประกาศใช้บังคับแล้ว จำนวน 8 ฉบับ (พระราชบัญญัติ 4 ฉบับ กฎกระทรวง 2 ฉบับ และระเบียบ 1 ฉบับ)

1 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2550 (แก้ไขมาตรา 66)
2 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2550 (วิธีการขังหรือจำคุก การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่เป็นหญิงมีครรภ์)
3 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2550 (การข่มขืนกระทำชำเรา)
4 พระราชบัญญัติว่าด้วยการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปร่วมชันสูตรพลิกศพตามมาตรา 148 (3) (4) และ (5) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2550
5 พระราชบัญญัติสถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2550

6 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติในการจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาในคดีอาญา พ.ศ. 2549
7 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกประกันหรือหลักประกันการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน พ.ศ. 2549

8 ระเบียบกระทรวงยุติรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่รัฐจัดหาให้ผู้ต้องหาในคดีอาญา พ.ศ. 2550







Create Date : 20 เมษายน 2553
Last Update : 20 เมษายน 2553 10:59:09 น. 0 comments
Counter : 1107 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

hangclub
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 29 คน [?]




Friends' blogs
[Add hangclub's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.