All Blog
อ้วนลงพุง
อ้วนลงพุง
การพิจารณาว่าใครเป็นคนที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ ต่ำกว่า หรือมากกว่ามาตรฐานนั้น กำหนดโดยการใช้ค่า Body Mass Index (BMI) ซึ่งได้จากการคำนวณ สัดส่วนระหว่างความสูงและน้ำหนักตัว มีวิธีคำนวณโดยใช้ น้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง (เวลากดเครื่องคิดเลขให้กดน้ำหนักแล้วหารด้วยส่วนสูงสองครั้ง)

BMI = น้ำหนักตัว (กก.) / ส่วนสูง (ม.)/ ส่วนสูง (ม.)

ค่าที่ได้จะเป็นเลข 2 หลัก หากใครมีค่าอยู่ระหว่าง 20-25 ถือว่าปกติ หากต่ำกว่า 20 ถือว่าน้ำหนักน้อย และถ้าอยู่ในช่วง 25-30 ถือว่า น้ำหนักเกิน และมากกว่า 30 ถือว่าเป็นโรคอ้วน แต่ในปัจจุบัน แพทย์ให้ความสำคัญกับไขมันที่อยู่ในช่องท้อง เพราะมีผลการวิจัยออกมาสนับสนุนว่า ผู้ที่มีรอบเอว หรือ ไขมันในช่องท้องมาก จะก่อให้เกิดโรคต่างๆมากมาย

ภาวะอ้วนลงพุง หรือ เมตาบอลิคซินโดรม คือ กลุ่มของอาการประกอบด้วย ภาวะที่มีไขมันในช่องท้องมากเกินไป ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง
เกณฑ์การวินิจฉัย
 ผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่า 90 ซม.
 หญิงที่มีรอบเอวมากกว่า 80 ซม.
ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอีก 2 ใน 4 อย่าง ดังต่อไปนี้
1. ความดันโลหิตสูง 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
2. น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารมากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
3. ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ มากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
4. ระดับไขมัน HDL น้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในชาย
และน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในหญิง

คนที่มีภาวะอ้วนลงพุงจะมีการสะสมของไขมันในช่องท้องเป็นจำนวนมาก ยิ่งรอบเอวมากเท่าไร ไขมันยิ่งสะสมในช่องท้องมากเท่านั้น ไขมันที่สะสมในช่องท้องนี้จะแตกตัวเป็นไขมันอิสระ เข้าสู่ตับทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆตามมา เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
• เอวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ซม. ทำให้มีโอกาสเกิดโรคเบาหวานสูงขึ้น 3-5 เท่า
• อ้วนลงพุงร่วมกับเบาหวาน เสี่ยงต่อโรคหัวใจหลอดเลือด 45 เท่า
• ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง 3 ข้อ จะมีอัตราการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า
• ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง 4 ข้อ จะมีอัตราการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 3 เท่า

เอวใหญ่นี่ สร้างปัญหาจริงๆเลย นิ




Create Date : 16 พฤษภาคม 2555
Last Update : 16 พฤษภาคม 2555 8:23:12 น.
Counter : 1432 Pageviews.

0 comment
ภาชนะเมลานีน ปลอดภัยหรือไม่กับเตาไมโครเวฟ

ปัจจุบันเรามักนิยมใช้ภาชนะเมลามีนในการเตรียมและบรรจุอาหาร ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปทั้งใน ร้านจำหน่ายอาหารและใช้ในบ้านเรือน เพราะภาชนะเมลามีนมีราคาไม่แพง มีสีสัน ลวดลายและขนาดให้เลือกมากมาย มีความทนทานตกแล้วไม่ค่อยแตกดังเช่นภาชนะเซรามิก แก้ว หรือกระเบื้อง ใช้กับเตาไมโครเวฟได้ ไม่เหมือนกับภาชนะโลหะที่นำใส่ในเตาไมโครเวฟไม่ได้ การใช้ภาชนะเมลามีนจึงมีความสะดวกหลายอย่าง แต่ทราบหรือไม่ว่า หากเราใช้ภาชนะเมลามีนไม่ถูกวิธีก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

ภาชนะเมลามีนก่อให้เกิดอันตรายได้อย่างไร

ภาชนะเมลามีนไม่ได้ผลิตขึ้นจากเมลามีนเดี่ยวๆ แต่ผลิตขึ้นโดยการใช้ยูเรีย ซึ่งยูเรียจะแตกตัวออก ได้เป็นสารเมลามีน แอมโมเนีย และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาผสมกับสารฟอร์มาลดีไฮด์ภายใต้ความร้อนและแรงดันที่สูง ได้เป็นเมลามีนเรซิน แล้วนำไปขึ้นรูปด้วยความร้อนเป็นจาน ชาม และผลิตภัณฑ์อื่น ภาชนะเมลามีนจึงทนความร้อนได้สูงกว่าพลาสติกอื่นๆ แต่หากถูกความร้อนที่สูงมาก เช่น เอาเข้าเตาอบ หรือเอาเข้า เตาไมโครเวฟ จะทำให้จาน ชาม เมลามีน อ่อนตัวและปล่อยฟอร์มาลดีไฮด์ออกมา ฟอร์มาลดีไฮด์เป็นสาร ก่อมะเร็ง ทำให้เกิดโรคมะเร็งทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร รวมทั้งระคายเคืองระบบทางเดินหายใจได้

จากการวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถึงการแพร่กระจายของสารฟอร์มาลดีไฮด์ในภาชนะเมลามีนเมื่อใช้ในความร้อนที่อุณหภูมิเกิน ๑๐๐ องศาเซลเซียส พบว่า มีการแพร่กระจายสูงระหว่าง ๘.๗-๒๖.๙ มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้แพร่กระจายได้ไม่เกิน ๒ มิลลิกรัม/ลิตร และหากใช้เวลาในการบรรจุอาหาร หรืออยู่ในเตาไมโครเวฟนาน สารฟอร์มาลดีไฮด์ยิ่งแพร่กระจายออกมามากขึ้น โดยการใช้ที่อุณหภูมิเกิน ๑๐๐ องศาเซลเซียส จะมีสารฟอร์มาลดีไฮด์กระจายออกมาทุกครั้ง แม้ว่าจะใช้งานมานานถึง ๒๐ ครั้งแล้วก็ตาม

สำหรับอุณหภูมิที่ปลอดภัยในการใช้ภาชนะเมลามีนจะอยู่ระดับประมาณ ๖๐ องศาเซลเซียส เพราะสารฟอร์มาลดีไฮด์จะแพร่กระจายออกมาไม่เกิน ๒ มิลลิกรัม/ลิตร แต่หากจะใช้งานที่อุณหภูมิ ๖๐ - ๙๙ องศาเซลเซียสต้องระมัดระวังไม่ควรคงอุณหภูมิสูงไว้นาน และเมื่อใช้ในเตาไมโครเวฟควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน ๒ นาที ที่ระดับกำลังไฟฟ้า ๙๐๐ วัตต์

ภาชนะเมลามีนที่จำหน่ายในท้องตลาดส่วนมาก พบว่า มีการติดฉลากระบุว่าภาชนะชนิดนี้สามารถทนต่ออุณหภูมิ ๑๒๕ องศาเซลเซียสได้ แต่ระดับอุณหภูมิที่ปรากฏจะเป็นอุณหภูมิที่ทำให้ภาชนะยังคงรูปได้ ไม่บิดเบี้ยว ไม่ใช่ระดับอุณหภูมิที่ปลอดภัยต่อการใส่อาหาร

ควรใช้ภาชนะเมลามีนอย่างไร

๑. เลือกใช้ภาชนะเมลามีนที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)

๒. เมื่อซื้อภาชนะเมลามีนมาใช้ใหม่ควรจะล้างด้วยน้ำเดือดก่อนการใช้งาน เพื่อชะสิ่งสกปรกและฟอร์มาลดีไฮด์บางส่วนออกไป

๓. ไม่ควรใช้งานกับเตาไมโครเวฟ (ทั้งนี้ภาชนะที่ใช้กับเตาไมโครเวฟควรเป็นภาชนะแก้วทนไฟหรือเซรามิกที่ไม่มีลวดลาย) ไม่ใช้อุ่นอาหารที่ต้องใช้อุณหภูมิสูง นอกจากนี้ ไม่ควรใช้ภาชนะเมลามีนบรรจุอาหารที่ร้อนจัดจนเดือด เช่น น้ำเดือดจัด ของทอดร้อนๆ จากกระทะ เพราะสารเคมีในภาชนะอาจละลายออกมา ถ้าจะนำมาใส่ภาชนะควรตักขึ้นมาพักทิ้งไว้ประมาณ ๒ -๓ นาทีก่อน

๔. ควรระวังไม่ให้ผิวของภาชนะเมลามีนเกิดรอยขูดขีดจากการล้างทําความสะอาด ถ้าภาชนะเมลามีนเปลี่ยนสีชัดเจน ก็ไม่ควรใช้ต่อไป เพราะสารเคมีจะละลายออกมาปนเปื้อนในอาหารได้



โดย กลุ่มพัฒนาสุขศึกษาและพฤติกรรมสุขภาพ



Create Date : 14 พฤษภาคม 2555
Last Update : 14 พฤษภาคม 2555 17:06:36 น.
Counter : 3605 Pageviews.

0 comment
หมออภิชาตเล่าเร์่อง มะเร็งเต้านม1
“รู้ทันมะเร็งเต้านม”
น.พ.อภิชาต พลอยสังวาลย์

มะเร็งเต้านมจัดเป็นโรคที่คุกคามสตรีเพศเป็นลำดับต้นๆ สถิติในโรงพยาบาลตติยภูมิในปัจจุบันมีอุบัติการณ์มากเป็นอันดับหนึ่ง ในผู้ป่วยเพศหญิง (มากกว่ามะเร็งปากมดลูก) ผลการรักษามะเร็งเต้านม นับว่าดีมาก เมื่อเปรียบเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ ประสิทธิผลในการรักษายังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ชนิดของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรคเมื่อตรวจพบ ธรรมชาติของเซลล์มะเร็ง เช่น การมีตัวรับฮอร์โมนหรือไม่ การได้รับการรักษาตามมาตรฐานรวมทั้งปัจจัยของตังผู้ป่วยเองด้วย เช่น อายุ ดังนั้น การรู้จักธรรมชาติของมะเร็งเต้านม จะเป็นสิ่งที่ทำให้ ผลการรักษาดีที่สุด
อาการและอาการแสดงที่จะพบได้สำหรับความผิดปกติของเต้านม ได้แก่
1. คลำพบก้อนที่เต้านม
2. มีอาการเจ็บ
3. มีเลือดหรือน้ำเหลืองออกมาบริเวณหัวนม
4. เต้านมใหญ่ขึ้นและไม่สมดุลย์กันในสองข้าง
5. หัวนมบอดหรือถูกดึงรั้งเข้าข้างใน (สำหรับผู้ที่เดิมเคยปกติ)
6. มีแตกเป็นแผลบริเวณด้านข้างของเต้านม
7. คลำได้ก้อนที่รักแร้
อาการและอาการแสดงดังกล่าว มิได้เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าจะต้องเป็นมะเร็ง เพียงแต่เป็นสิ่งผิดปกติที่จำเป็นจะต้องพบแพทย์ และตรวจยืนยันเพิ่มเติมว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
ก้อนที่เต้านม เป็นอาการที่ผู้ป่วยนำมาพบแพทย์มากที่สุด ถึงแม้ว่า จะคลำได้ก้อนที่ชัดเจนขนาดใหญ่ ก็ยังมีโอกาสที่จะเป็นเนื้องอกธรรมดาที่มิใช่มะเร็ง เนื่องจาก ก้อนนี้อาจเกิดจากถุงน้ำในเต้านมที่ตึงมาก และล้อมรอบด้วยเนื้อเต้านมปกติ เมื่อตรวจร่างกาย อาจคลำได้คล้ายเป็นก้อนเนิ้อ อย่างไรก็ตามก้อนลักษณะดังกล่าวก็อาจ เป็นมะเร็งได้
อาการเจ็บที่่เต้านม ส่วนใหญ่ มักจะไม่ใช่มะเร็ง แต่ถ้ามะเร็งมีขนาดโตขึ้นและกดเบียดเนื้อนมข้างคียงมากขึ้นก็อาจมีอาการเจ็บได้
มีน้ำเหลืองหรือเลือดออกมาจากบริเวณหัวนม อาจเกิดพยาธิสภาพในท่อน้ำนม หรือ บริเวณอื่นของเต้านม ที่ติดต่อกับท่อน้ำนมได้ เช่นเดียวกัน อาการแสดงนี้ส่วนใหญ่มิใช่มะเร็ง แต่จำเป็นต้องตรวจยืนยันเพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนต่อไป อย่างไรก็ตาม การมีเลือดหรือน้ำเหลือง หรือลักษณะคล้ายน้ำนมออกมาจากหัวนมทั้งสองข้าง มักจะเป็นตัวบอกว่าอาจไม่ใช่ความผิดปกติภายในเต้านมหรือท่อน้ำนม แต่อาจเกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมน ซึ่งสามารถตรวจได้จากการตรวจเลือด
คลำได้ก้อนที่รักแร้ บริเวณรักแร้จะมีต่อมน้ำเหลืองอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในภาวะปกติ จะคลำไม่ได้ก้อนชัดเจน เมื่อมีการคลำได้จึงจำเป็นต้องแยกให้ได้ว่า ก้อนนั้นเป็นต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้นจากการอักเสบหรือการกระจายของมะเร็งเต้านมมาที่รักแร้ แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ด้วย เช่น รูขุมขนอักเสบ ก้อนไขมันที่รักแร้ เป็นต้น
จาก 7 ข้อที่กล่าวมา หากมีอาการดังกล่าวข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ จำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อการตรวจเพิ่มเติม แพทย์จะใช้หลักการเพื่อการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมที่เรียกว่า การประเมิน 3 ประการ (Triple Assessment)อันได้แก่
1. การสอบถามประวัติ และการตรวจร่างกาย (History taking and Physical examination)
2. การตรวจเพิ่มเติมด้วยภาพ (Imaging) ได้แก่ การตรวจแมมโมกราฟฟี่(Mammography) การตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasonography) การฉีดสีเพื่อดูท่อน้ำนม (Ductography) เพื่อดูรอยโรคในท่อน้ำนม
3. การวินิจฉัยจากการตรวจชิ้นเนื้อ (Tissue Diagnosis) ซึ่งจะมีวิธีทำได้ 4อย่าง ได้แก่
3.1 การเจาะตรวจด้วยเข็มเล็ก (Fine Needle Aspiration)
3.2 การเจาะตรวจด้วยเข็มใหญ่ (Core Needle Biopsy)
3.3 การตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจบางส่วน (Incisional Biopsy)
3.4 การตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจทั้งหมด (Excisional Biopsy)
ในการถามประวัติแพทย์จะเพ่งเล็งไปที่ประวัติที่เป็นความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม เนื่องจาก มะเร็งเต้านมก็คล้ายกับมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่เรายังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุการเกิดที่ชัดเจนได้ แต่จะมีปัจจัยบางอย่างที่พบว่า เมื่อมีปัจจัยดังกล่าวแล้ว จะมีผลทำให้เกิดเป็นมะเร็งได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยนั้นๆ


ปัจจัยเสี่ยงในด้านฮอร์โมน
ผู้ที่มีประจำเดือนครั้งแรกมาเร็ว (อายุน้อยกว่า 12 ปี) ไม่เคยมีการตั้งครรภ์ และหมดประจำเดือนช้า จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การตั้งครรภ์มีบุตร และบุตรดูดนมเป็นระยะเวลานานจะเป็นปัจจัยที่ช่วยในการป้องกันการเป็นมะเร็งเต้านม
ผู้ที่อ้วนมีไขมันมาก จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเนื่องจาก หลังหมดประจำเดือน การสร้างฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen) จะอาศัยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อไขมัน
การรับประทานอาหาร ไขมันและการดื่มแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยง ในการเกิดมะเร็งเต้านมเนื่องจาก มีผลให้ฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้น
พันธุกรรม ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนหนึ่ง (20-30) จะมีประวัติในครอบครัว เป็นมะเร็งเต้านมด้วย ดังนั้น ประวัติการเป็นมะเร็งเต้านมในญาติที่ใกล้ชิด (First Degree Relative) เช่น มารดาหรือพี่น้อง จึงจัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่แพทย์จะสอบถามด้วยเสมอ


ในการตรวจร่างกาย แพทย์จะใช้หลักการดูและการคลำในการตรวจเต้านม โดยจะดูความสมดุลย์ของเต้านมทั้งสองข้าง ขนาด การบวม รอยบุ๋มของผิวหนัง รอยหัวนมถูกดึงรั้ง ส่วนการคลำจะตรวจรายละเอียดของก้อนในเต้านมทั้งขนาด ความแข็ง ความขรุขระของขอบก้อน และการยึดติดกับเนื้อนมโดยรอบ นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจบริเวณปานนมและหัวนม รวมทั้งตรวจก้อนที่บริเวณรักแร้ โดยจะตรวจทั้งสองข้าง เนื่องจากอาจมีโรคซ่อนอยู่ในเต้านมอีกข้างหนึ่ง ซึ่งมิได้ตรวจพบโดยผู้ป่วยก็ได้

หลังการสอบประวัติและการตรวจร่างกายแล้ว แพทย์จะรวบรวมข้อมูลทุกอย่าง และส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจแมมโมแกรม และ/หรือ การตรวจอัลตราซาวด์ การตรวจทั้งสองอย่างนี้ ถือเป็นมาตรฐาน ในการตรวจผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเต้านม และมีอายุ 35 ปีขึ้นไป (ผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปี จะมีความหนาแน่นของเนื้อเต้านมค่อนข้างมาก อาจเห็นไม่ชัดเจน) ซึ่งในปัจจุบันจะมีเครื่องตรวจในระบบดิจิตอล (Digital Mammography) ทำให้สามารถเห็นรอยโรคได้ชัดเจนมากขึ้น

ผลการตรวจดังกล่าวร่วมกับประวัติและการตรวจร่างกาย จะทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาและติดตามผล ในกรณีที่ยังมิได้วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งแพทย์ก็จะดำเนินการนำชิ้นเนื้อมาตรวจเพิ่มเติมต่อไป

สำหรับเนื้อหาในฉบับนี้ท่านผู้อ่านคงจะพอได้รู้จักธรรมชาติของมะเร็งเต้านม และแนวทางการวินิจฉัยโดยย่อในฉบับต่อไปจะขอให้รายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ ว่าเมื่อผลการตรวจเป็นอย่างไร จะดำเนินการอย่างใดต่อไป รวมถึงการวินิจฉัยด้วยการตรวจชิ้นเนื้อชนิดต่างๆและการระวังป้องกันในผู้ที่ยังไม่มีอาการ



Create Date : 13 พฤษภาคม 2555
Last Update : 14 พฤษภาคม 2555 10:51:09 น.
Counter : 1996 Pageviews.

1 comment
หมออภิชาตเล่าเร์่อง มะเร็งเต้านม2
รู้ทัน “มะเร็งเต้านม” 2
ฉบับที่แล้ว เราพูดถึงการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมว่า ต้องอาศัยการประเมิน 3 ประการ อันได้แก่ ประวัติและการตรวจร่างกาย การตรวจด้วยภาพ เช่น แมมโมกราฟฟี่ และอัลตราโซโนกราฟฟี่ และการตรวจชิ้นเนื้อ วันนี้ผู้เขียนจะมาให้รายละเอียดเพิ่มเติม ในส่วนของแมมโมกราฟฟี่ ซึ่งมักตรวจร่วมกับอัลตร้าโซโนกราฟฟี่ ว่ามีการตรวจได้ 2 รูปแบบ คือ
1.การตรวจเพื่อการเฝ้าระวัง (Screening mammography) คือ การตรวจโดยที่ยังไม่มีอาการผิดปกติของเต้านม เช่น ไม่มีก้อนที่เต้านม ไม่มีอาการเจ็บหรืออาการอื่นๆ การตรวจชนิดนี้หวังผลเพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นโดยที่ยังไม่ปรากฏอาการ เช่น มีก้อนขนาดเล็กที่ไม่สามารถคลำพบจากการตรวจเต้านม
ในอเมริกา แนะนำให้สตรีอายุ 35 ปี ตรวจแมมโมกราฟฟี่เพื่อเฝ้าระวังเป็นพื้นฐานไว้ก่อน 1 ครั้ง ถ้าไม่พบความผิดปกติก็ให้ตรวจอีกครั้งเมื่ออายุ 40 ปี หลังจากนั้นตรวจปีละครั้ง แต่จากการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการตรวจ โดยประเมินค่าใช้จ่ายในการตรวจและผลที่พบโรค โปรแกรมที่คุ้มค่าที่สุดคือ ตรวจทุก 2 ปี ในช่วงอายุ 40-50 ปี และตรวจทุก 1 ปีในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไปแต่ในปัจจุบันการตรวจแมมโมกราฟฟี่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก จึงเป็นมาตรฐานว่าหลังอายุ 40 ปี อาจพิจารณาทำการตรวจปีละ 1 ครั้ง ซึ่งสำหรับผู้เขียนมีความเห็นว่า ถ้าผู้ใดมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ควรจะตรวจตามโปรแกรมที่แนะนำแม้ว่าจะยังไม่มีอาการแสดงก็ตาม
2.การตรวจเพื่อการวินิจฉัย (Diagnostic mammography) หมายถึง การตรวจเมื่อเกิดความผิดปกติของเต้านมขึ้นแล้ว เช่น คลำได้ก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ มีเลือดหรือน้ำเหลืองออกจากหัวนม ฯลฯ การตรวจนี้มุ่งหาพยาธิสภาพของเต้านม เช่น ถุงน้ำ (cyst) ก้อนเนื้อ (solid mass) การขยายตัวของท่อนม (ductal dilatation) การโตของต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ การมีหินปูนหรือแคลเซี่ยมในเต้านม (calcification) เพื่อเป็นข้อมูลในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป

ผลการตรวจทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าว จะมีระบบการรายงานที่เป็นมาตรฐานสากล เรียกว่า BIRADS (Breast Imaging Reporting And Data System) โดยที่ถ้าสามารถทำการตรวจได้อย่างสมบูรณ์และยังมิได้ทราบผลชิ้นเนื้อมาก่อน จะทำการรายงานผลตามระบบ BIRADS เป็น 5 category ดังนี้ครับ

BIRADS category 1 : ปกติ (negative)
ผลตรวจเป็นปกติ คือ เนื้อเต้านมทั้งสองมีสัดส่วนสมดุลกัน (symmetric) ไม่พบก้อนเนื้อใดๆ โครงสร้างของเนื้อเต้านมไม่บิดเบี้ยว และไม่พบหินปูน (calcification) ที่น่าสงสัย รวมทั้งผลการตรวจอัลตร้าโซโนกราฟฟี่ปกติ (negative)

BIRADS category 2 : พบลักษณะไม่ใช่เนื้อร้าย (benign finding)
ผลตรวจถือว่าเป็นปกติ แต่ต่างจากกลุ่ม 1 คือพบลักษณะบางอย่าง แต่สามารถชี้ชัดว่าไม่น่าจะใช่มะเร็ง เช่น พบถุงน้ำ (cyst) ก้อนไขมัน ซึ่งสรุปได้ว่าไม่มีลักษณะของมะเร็ง และผลการตรวจอัลตร้าโซโนกราฟฟี่พบลักษณะไม่ใช่เนื้อร้าย (benign finding) โดยจะตรวจพบเป็นถุงน้ำธรรมดา (simple cyst) หรือก้อนเนื้องอกธรรมดา

BIRADS category 3 : น่าจะไม่ใช่เนื้อร้าย (Probably benign finding)
ผลตรวจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่าร้อยละ 2 ลักษณะที่ตรวจพบในกลุ่มนี้ เช่น มีก้อนที่เต้านม ไม่มีหินปูนอยู่ภายใน (noncalcified mass) ลักษณะกลุ่มของเนื้อนมไม่สมดุล (focal asymmetry) และกลุ่มของหินปูนที่มีลักษณะกลมเป็นจุด [cluster of round (punctate) calcifications] การตรวจทางอัลตร้าโซโนกราฟฟี่พบว่า ก้อนเนื้อมีขอบเรียบชัดเจน (well circumscribed mass) รวมถึงถุงน้ำเล็กๆ (clustered micro cysts) หรือถุงน้ำที่ภายในมีลักษณะไม่ใช่ถุงน้ำธรรมดา (complicated cysts) ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
ผลการตรวจลักษณะดังกล่าว จำเป็นต้องมีการติดตามการตรวจเป็นระยะ เช่น ในอีก 6 เดือนต่อมา และอาจมีการแนะนำให้ผ่าตัดหรือเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจทางพยาธิวิทยา เมื่อผลการตรวจมีขนาดเพิ่มขึ้นหรือขยายตัวออกไปมากขึ้น

BIRADS category 4 : สงสัยจะเป็นเนื้อร้าย (suspicious abnormality)
ผลตรวจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมประมาณร้อยละ 3-94 ขึ้นอยู่กับลักษณะการตรวจพบที่มีความหลากหลาย เช่น การตรวจพบก้อนเนื้อที่ขอบเริ่มจะไม่เรียบ การตรวจพบกลุ่มของหินปูนเล็กๆ รวมเป็นกลุ่ม (cluster of microcalcification) ผลการตรวจอัลตร้าโซโนกราฟฟี่ พบก้อนเนื้อที่มีลักษณะขอบไม่เรียบ ไม่ชัดเจน เนื้อก้อนไม่สม่ำเสมอ หรือมีลักษณะความสูงของก้อนมากกว่าความกว้างของก้อนชัดเจน

BIRADS category 5 : สงสัยอย่างมากว่าจะเป็นเนื้อร้าย (highly suggestive of malignancy)
พบลักษณะที่ชัดเจนว่าน่าจะเป็นมะเร็งสูงมาก (มากกว่าร้อยละ 95) เช่น ก้อนเนื้อที่ขอบเขตไม่ชัดเจน มีการดึงรั้งผิวหนัง พบมีต่อมน้ำเหลืองรักแร้โต และลักษณะต่อมน้ำเหลืองแสดงชัดเจนว่าน่าจะมีการกระจายของมะเร็ง เป็นต้น

การวินิจฉัยและแนวทางการรักษาตาม BIRADS category
กลุ่มที่ 1 และ 2 แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง ถ้าไม่พบความผิดปกติก็ให้มาตรวจแมมโมกราฟฟี่และอัลตร้าโซโนกราฟฟี่ซ้ำทุก 1 ปี แต่ในกลุ่มที่ 2 ที่มีถุงน้ำ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ามารับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้
กลุ่มที่ 3 แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง และนัดให้มาตรวจแมมโมกราฟฟี่หรืออัลตร้าโซโนกราฟฟี่ในอีก 6 เดือน
กลุ่มที่ 4 และ 5 มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจชิ้นเนื้อวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น เจาะด้วยเข็มเล็ก/ใหญ่ ผ่าตัดก้อนออกมาตรวจบางส่วน หรือตัดก้อนออกทั้งหมด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละราย เพราะการตรวจด้วยภาพ โดยไม่ตรวจชิ้นเนื้อ จะทำให้การวินิจฉัยล่าช้า และอาจส่งผลถึงประสิทธิภาพในการรักษาได้
ในฉบับหน้า มาคุยกันต่อถึงแนวทางการรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันซึ่งหลากหลายมาก ทำให้ผู้ป่วยแต่ละคนอาจได้รับการรักษาที่ต่างกัน และผลการรักษาแม้เป็นในระยะเดียวกันก็อาจให้ผลที่ต่างกันได้ อย่าลืมติดตามกันนะครับ



Create Date : 11 พฤษภาคม 2555
Last Update : 11 พฤษภาคม 2555 19:34:28 น.
Counter : 7480 Pageviews.

5 comment
อันตรายจากเครื่องเขียน


ปัจจุบันตลาดเครื่องเขียนในบ้านเราแต่ละปีมีมูลค่านับหมื่นล้านบาท จากจำนวนสินค้านับพันไอเท็ม แต่ประเภทที่ส่อว่าจะเกิดปัญหากับผู้บริโภคนอกจากน้ำยาลบคำผิดที่ปัจจุบันมีมูลค่า 1,000 ล้านบาทต่อปีแล้ว ยังมีสินค้าประเภทอื่นๆอีก โดยเฉพาะชนิดที่มีตัวทำละลายเป็นส่วนประกอบสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ปากกาลูกลื่น ปากกาเคมี(Marker) ปากกาไฮไลท์ เป็นต้น

ปัจจุบันมีน้ำยาลบคำผิดเข้ามาในตลาดบ้านเราค่อนข้างมาก แต่ที่ผิดสังเกตก็คือสินค้าเหล่านี้หลายตัวที่มาจากจีนไม่ได้ผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งที่ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า น้ำยาลบคำผิดซึ่งเป็นเครื่องเขียนเพียงตัวเดียวต้องผ่านอย. เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมจะตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าในสารละลาย หรือสารประกอบที่ใช้ในตัวน้ำยาจะประกอบไปด้วยวัตถุอันตราย เพราะในน้ำยาลบคำผิดจะมีสารที่เป็นตัวทำละลายเพื่อให้เกิดน้ำยาสีขาว น้ำยาทำลายที่เขาใช้โดยทั่วไปมันมีอยู่หลายกลุ่มมาก แต่บางกลุ่มที่เขาใช้มันมีอันตรายในแง่ของการทำลายระบบหายใจ และเป็นสารที่ทำให้ก่อเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะน้ำยาลบคำผิดที่มีส่วนประกอบของน้ำมันเบนซิน และสาร trichloroethane หรือที่รู้จักกันดีในหมู่ของผู้ประกอบการภายใต้ชื่อ 111

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเทคนิคคณะที่ 26 โครงการฉลากเขียว สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมระบุถึงข้อกำหนดพิเศษของน้ำยาลบคำผิดว่า จะต้องไม่มีสารดังต่อไปนี้เป็นส่วนประกอบ คือ

1.สารที่เป็นสารก่อมะเร็งตามรายชื่อใน group 1 (สารก่อมะเร็งที่ได้รับการยืนยันแล้ว)

และ group 2 (สารที่มีหลักฐานเพียงพอว่าก่อมะเร็ง) ของ International Agency for Research on Cancer (IARC) และที่มีประกาศเพิ่มเติม และ 2.สารประกอบอินทรีย์ฮาโลจิเนต (halogenated organic components) เช่น สาร 1,1,1-trichloroethane

“ตอนนี้มีผู้นำเข้าอิสระมาจากหลายแหล่งนำเข้ามาเอง ด้วยความรวดเร็ว ราคาถูก ต้นทุนถูก นำเข้ามาโดยไม่ได้ขออนุญาตจากอย. และมีขายในตลาดเต็มไปหมด”

จากการสำรวจตลาดพบว่าตลาดน้ำยาลบคำผิดในบ้านเรา แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่

กลุ่มแรก เป็นของที่มีคุณภาพ ตราสินค้ามีชื่อเสียง ได้รับอนุญาตจากอย. มีมาตรฐานอุตสาหกรรม ที่เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มนี้ ได้แก่ ลิควิดเปเปอร์, เรโนลต์ เป็นต้น เนื่องจากเป็นสินค้าคุณภาพทั้งตัวน้ำยาลบคำผิด และบรรจุภัณฑ์ จึงทำให้ราคาสินค้าค่อนข้างสูงตามไปด้วย คือประมาณ 45-55 บาท มีลิควิดเปเปอร์เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งประมาณ 60%

กลุ่มที่สอง เป็นน้ำยาลบคำผิดที่นำเข้าจากประเทศจีน ในกลุ่มนี้ยังสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ส่วนคือ

ส่วนแรก นำเข้าสินค้าจากจีน แต่นำเข้าโดยถูกกฎหมายด้วยการส่งสินค้าไปให้อย.ตรวจสอบ สินค้ามีตราสินค้า และมีการทำตลาดพอสมควร

ส่วนที่สอง นำเข้าจากจีนเช่นกันแต่ไม่ได้ส่งสินค้าให้อย.ตรวจสอบมาตรฐาน วางขายในราคาถูกเพียง 9-12 บาทเท่านั้น ไม่มีการทำตลาด ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่าเป็นสินค้าค่อนข้างเสี่ยง

เราเจอกันบ่อยๆตามตลาดนัดที่เขียนว่าทุกอย่าง 10 บาท


ที่น่าตกใจก็คือสินค้าที่ถือว่าอันตรายต่อผู้บริโภคคนไทยตัวนี้มีขายในบ้านเรามานานนับสิบปี และถึงเวลานี้ก็ยังคงมีจำหน่ายอยู่ตามร้านเครื่องเขียนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดแทบทุกร้าน โดยมีแหล่งกระจายสินค้าใหญ่อยู่ที่ตลาดสำเพ็ง ซึ่งกระบวนการนำเข้าก็ง่ายแสนง่าย และยากจะจับมือใครดม เพราะมีผู้นำเข้าอิสระเป็นจำนวนมาก แถมมูลค่าตลาดยังสูงถึง 200 ล้านบาทต่อปี จึงยั่วยวนให้รายใหม่ๆทยอยเข้าตลาดเป็นจำนวนมาก

แต่จะว่าไปแล้วสินค้าประเภทน้ำยาลบคำผิดทุกตัวที่มีสารทำละลายไม่ว่าแบรนด์ใดๆ ล้วนมีข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่สูดแล้วไม่เป็นอะไร หรือสูดแล้วก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น กรณีของลิควิดเปเปอร์ก็ตระหนักในเรื่องนี้ แม้ว่าตัวผลิตภัณฑ์และตัวทำละลายจะผ่านมาตรฐานอย. และได้รับฉลากเขียวว่าไม่เป็นภัยต่อผู้บริโภคก็ตาม แต่ก็ยังจงใจใส่กลิ่นคัสตาร์ดเข้าไปเพื่อทำสร้างกลิ่นให้ฉุน เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกระคายเคืองจะได้ไม่ดม ขณะที่บางยี่ห้อที่เป็นอันตรายอาจใช้จุดขายตรงกลิ่นหอม ทำให้ผู้บริโภคคิดว่าเป็นของดี

ใครคือเหยื่อ

หากพิจารณาผู้ใช้สินค้าพวกนี้คงหนีไม่พ้นบรรดานักเรียน นักศึกษา เป็นหลัก เนื่องจากนิยมซื้อของโดยคำนึงถึงราคามากกว่า โดยเฉพาะนักเรียนตามต่างจังหวัด อีกทั้งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ว่าน้ำยาลบคำผิดต้องมีเครื่องหมายอย. อยู่ด้วย จึงคิดว่าใช้สินค้าของยี่ห้อไหนก็เหมือนกัน โดยไม่คาดคิดมาก่อนว่ามีอันตรายแอบซ่อนอยู่ในน้ำยาลบคำผิดชนิดขวดหรือชนิดปากกาที่พวกเขาใช้อยู่ บางครั้งบรรดาตะกั่ว หรือปรอทยังอาจเคลือบมากับบรรจุภัณฑ์ และบางครั้งน้ำยาที่ถูกทาทับบนกระดาษทั้งที่แห่งแล้วหรือยังเปียกอยู่ก็อาจเป็นอันตรายหากใครบางคนไปสัมผัสเข้า

“สัมผัสก็สามารถซึมเข้าร่างกายได้ด้วย เพราะมันมีสารตกค้าง เพราะบางทีการฉีดตัวด้าม หรือบาร์เรล บางทีเขาฉีดด้วยพลาสติกในพลาสติกบางทีมีการใส่เม็ดสีลงไปเพื่อให้ตัวด้ามเป็นสีนั้นสีนี้ มันจะมีสารตะกั่วสารปรอท เหมือนกับกรณีของเล่นเด็กที่สารปรอทหรือตะกั่วตกค้างอยู่ มันก็รับได้ทั้งในแง่ของไอระเหย จับ และการกินเข้าไป”

ขณะที่บรรดาบริษัท หรือหน่วยงานราชการ แม้จะเป็นอีกกลุ่มที่นิยมใช้น้ำยาลบคำผิด แต่กลุ่มนี้มักซื้อสินค้าที่มียี่ห้อมากกว่า เนื่องจากกลุ่มนี้อาจเคยมีประสบการณ์จากการซื้อสินค้าโดยมองที่ราคา แต่เมื่อนำไปใช้จะพบว่าจากจำนวนที่ซื้อมา 10 แท่งจะใช้ได้จริงเพียง 5 แท่งเท่านั้น มิหนำซ้ำมีระยะเวลาในการใช้ได้เพียงไม่กี่วัน หรือบางกรณีระบุข้างบรรจุภัณฑ์ว่ามีปริมาตร 7 หรือ 10 ml แต่พอเขย่าจริงมีจำนวนของเหลวที่อยู่ข้างในไม่ถึงจำนวนที่ระบุ

สำหรับรูปร่างหน้าตาของสินค้าในกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่มักจะใช้กระดาษ หรือสติ๊กเกอร์รูปการ์ตูน สีสัดสดใส พันทับบรรจุภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นแบบปากกา เพื่อดึงดูดใจกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มผู้หญิง

นอกจากน้ำยาลบคำผิดแล้ว เครื่องเขียนประเภท ปากกาลูกลื่น ปากกาเคมี(Marker) ปากกาไฮไลท์ ยังอาจเป็น “อาวุธ” พิฆาตตนเองโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากแต่ละสินค้าที่ว่านั้นต่างมีตัวทำละลายเป็นองค์ประกอบหลัก ที่สำคัญ และสินค้าหลายตัวเป็นสินค้าที่ผลิตมาจากประเทศจีน แถมมีบางสินค้าเป็นโรงงานของคนจีนที่เข้ามาเปิดในประเทศไทยทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม สินค้าเหล่านี้ที่ผลิตจากจีนหรือผลิตโดยคนจีนในไทยไม่ใช่จะน่ากลัวไปทั้งหมด แต่ที่ควรจับตาให้มากก็คือปากกาที่ขายปลีกต่ำกว่าราคาขายตามในท้องตลาดมาก เช่น ราคาจำหน่ายตามร้านทั่วไปอาจจะประมาณ 20-40 บาทต่อด้าม แต่สินค้าที่ “น่ากลัว” อาจจำหน่ายในราคาเพียงด้ามละ 6-12 บาทเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันสินค้าที่เข้าข่ายในลักษณะนี้มีเป็นจำนวนมาก เพราะทุกโรงงานสามารถผลิตสินค้าพวกนี้กันได้ทั้งนั้น ที่สำคัญเวลานี้คนไทยใช้ปากกาเคมีทั้งที่มี 1 หัว หรือ 2 หัวกันมากทั้งนักเรียนที่ใช้เขียนบอร์ดทำรายงาน พ่อค้าแม่ขายที่ใช้เขียนป้ายบอกราคา พนักงานตามบริษัทที่ต้องใช้เขียนเพื่อระบุประเภทสินค้า ซึ่งกลุ่มต่างๆที่กล่าวมาล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ใช้สินค้าประเภทนี้เช่นกันเพราะจะให้ความสำคัญกับราคาเช่นเดียวกับน้ำยาลบคำผิด จนเวลานี้มูลค่าตลาดสูงกว่าตลาดน้ำยาลบคำผิด แสดงให้เห็นว่ามีคนที่ใช้สินค้าที่ว่านี้จำนวนมหาศาล

บางครั้งผู้บริโภคอาจไม่รู้ว่าตนกำลังซื้อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และกำลังจะทำร้ายตนเองโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่พอจะช่วยได้ในการซื้อสินค้าประเภทนี้ก็คือ พิจารณาจากตราสินค้า บริษัทนำเข้าที่เชื่อถือได้ ผลิตภัณฑ์อยู่ในแพ็คสะอาด มีวันที่หมดอายุ มีผู้ผลิตแน่นอน วัสดุที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์เป็นของดี ส่วนการดูตรา อย. ก็เป็นอีกหนทางที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการซื้อสินค้า แต่ควรพึงระวังไว้สักเล็กน้อยว่า บางสินค้าอาจสวมรอยใช้ตรา อย.ปลอม เหมือนกรณีรถยนต์ที่สวมทะเบียนปลอม ทำให้การซื้อโดยพิจารณาจากตรงนี้เพียงอย่างเดียวอาจยากพอสมควร

เฮ้อ ก็อย่างว่า ของถูกก็คุณภาพไม่ดี ของดีมันก็ไม่ถูก นิ



Create Date : 28 มกราคม 2552
Last Update : 28 มกราคม 2552 7:32:04 น.
Counter : 2332 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

ข้าเจ้า
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]