Group Blog
 
All blogs
 

พระพุทธรูป ในสมัยต่างๆ

พระพุทธรูปสมัยต่างๆ

พุทธศาสนาและศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ ก่อให้เกิดศิลปของโบราณวัตถุและโบราณสถาน ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งที่มีมาก่อนที่ชนชาติไทยจะเข้ามาครอบครองดินแดนส่วนนี้ และหลังจากที่ ชนชาติไทยได้ครอบครองแล้ว จากหลักฐานทางโบราณคดีพอจะแบ่งออกได้เป็น ๔ ยุคด้วยกัน คือ

ยุคแรก เป็นลัทธินิกายหินยานอย่างเถรวาท
ยุคที่สอง เป็นลัทธินิกายมหายาน
ยุคที่สาม เป็นลัทธินิกายหินยานแบบพุกาม
ยุคที่สี่ เป็นลัทธินิกายลังกาวงศ์

พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในประเทศไทย จะผันแปรไปตามยุค และลัทธินิกายดังกล่าวข้างต้น พอจะแบ่ง ศิลปะออกเป็นสมัยต่างๆ ได้ดังนี้

สมัยทวาราวดี

อยู่ในห้วงเวลาพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ เป็นอาณาจักรที่มีศูนย์กลางอยู่บริเวณภาคกลางของไทยในปัจจุบัน พระพุทธรูปในสมัยนี้ทำด้วย ศิลา ดินเผา และโลหะ มีลักษณะพระเกตุมาลาเป็นต่อมสั้น ขมวดพระเกตุโตและป้าน ไม่มีไรพระศก พระนลาฏไม่เรียบเสมอกัน หลังพระเนตรอูมเกือบเสมอพระนลาฏ พระขนงยาว พระพักตร์กว้างและแบน พระโอษฐ์แบะ พระหนุป้าน จีวรบางแนบติดกับพระองค์ ชายผ้าสังฆาฏิมีทั้งแบบสิ้นเหนือพระอุระ และชนิดยาวถึงพระนาภีพระหัตถ์ และพระบาทมีขนาดใหญ่ ฐานบัวเป็นกลีบขนาดใหญ่ และมีกลีบเล็กแซม มีทั้งแบบบัวคว่ำและบัวหงาย และบัวหงายอย่างเดียว พระพุทธรูปในสมัยนี้มี ๒ ยุค มีพุทธลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือ ในยุคแรกพระพักตร์จะยาวและกลมกว่ายุคหลัง ซึ่งพระพักตร์มีลักษณะแบนกว่าและกว้างกว่า พระเนตรโปนโตพระนลาฏแคบ และพระนาสิกแบน



สมัยศรีวิชัย

ด้านตะวันตกของ เมืองปาเล็มบังในปัจจุบัน ได้แก่ อาณาเขตไปถึงเกาะชะวา และแหลมมะลายูขึ้นเหนือมาถึงเมือง นครศรีธรรมราชสมัยนั้นมีชื่อว่า ตามพรลิงค และเมืองไชยา (สมัยนั้นชื่อว่าครหิ) นำศิลปวิทยาของ สกุลช่างศรีวิชัย เข้ามาแพร่หลายในภาคใต้ของไทยในปัจจุบัน บรรดาศิลปวิทยาดังกล่าวก็มีที่มาจาก อินเดีย เช่น อาณาจักรทวาราวดี

พระพุทธรูปในสมัยนี้ จะมีลักษณะองค์พระอวบกว่าสมัยทวราวดี คล้ายกับพระพุทธรูปครั้งราชวงศ์ปาละในอินเดีย พระเกตุมาลาเป็นต่อมสั้น ขมวดพระเกศเล็กและละเอียด และมักจะมีใบโพธิ์ ติดอยู่ทางด้านหน้าของพระเกตุมาลา พระพักตร์แบน พระนลาฏเรียบ พระขนงโก่ง พระโอษฐ์ไม่แบะ พระหนุไม่ป้าน ชายสังฆาฏิมีทั้งแบบสั้นเหนือพระอุระ และชนิดยาวถึงพระนาภีเช่นเดียวกับสมัยทวาราวดี ชายจีวรมักจะซ้อนกันเป็นริ้ว อยู่บนพระอุราเบื้องซ้าย พระหัตถ์และบัวรองฐานกลีบใหญ่ มีกลีบเล็กแซม เกษรละเอียด



สมัยลพบุรี

อยู่ในห้วงเวลาพุทธศตรรรษที่ ๑๗-๑๙ สมัยขอมมีอำนาจแผ่เข้ามาถึงบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้ตั้งเมืองลพบุรีเป็นเมืองของอุปราช และตั้งเมืองหน้าด่านออกไป ทางเหนือถึงเมืองศรีสัชนาลัยและสุโขทัย ทางใต้ถึงเมืองเพชรบุรี

พระพุทธรูปสมัยนี้ มีทั้งฝ่ายลัทธินิกายมหายานและลัทธิ นิกายหินยาน มีลักษณะพระเกตุมาลาแบ่งออกได้เป็นสี่แบบ คือ เป็นต่อมแบบก้นหอยเป็นแบบฝาชีครอบ เป็นแบบมงกุฎเทวรูป และเป็นแบบดอกบัว เครื่องศิราภรณ์มีแบบกระบังหน้าแบบมี ไรพระศกเสมอ และแบบทรงเทริด (แบบขนนก) เส้นพระศก ทำอย่างเส้นผมคนทั่วไป พระพักตร์กว้าง พระโอษฐแบะ พระหนุป้าน พระกรรณยาวจรดพระอังสา
การห่มจีวร ถ้าเป็นพระยืนจะห่มคลุมส่วนพระนั่ง มีทั้งห่มคลุมและห่มดอง ชายสังฆาฏิ ยาวถึงพระนาภี ขอบอันตรวาสก (สบง) ข้างบนเป็นสัน สำหรับพระทรงเครื่องจะมีฉลองพระศกกำไลแขน และประคด
บัวรองฐานมีทั้งแบบบัวคว่ำบัวหงายและแบบบัวคว่ำอย่างเดียวกับบัวหงายอย่างเดียว



สมัยเชียงแสน

อยู่ในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๒๒ อยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย มีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง เชียงแสนเก่า ชาวไทยได้เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้มาแต่โบราณ ดังนั้นพระพุทธรูปในพื้นที่นี้ ซึ่งให้ชื่อว่าสมัยเชียงแสนจึงเป็นฝีมือช่างไทย เราสามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ รุ่น

รุ่นแรก ที่เรียกกันว่ารูปสิงห์หนึ่ง น่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบปาละของอินเดีย มีลักษณะองค์พระอวบ พระรัศมีเป็นต่อมกลมคล้ายดอกบัวตูม เส้นพระศกใหญ่เป็นต่อมกลมหรือเป็นก้นหอยไม่มีไรพระศก พระพักตร์กลมสั้น พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก พระหนุป้านพระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือพระอุระด้านซ้าย ตรงชายมักทำเป็นแฉกหรือแบบเขี้ยวตะขาบ

ฐานมีบัวรองมีทั้งบัวคว่ำบัวหงาย มีกลีบแซมและมีเกสรกับแบบฐานเอียงแบบโค้งออก
รุ่นที่สอง ที่เรียกกันว่ารุ่นสิงห์สอง ส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนรุ่นแรก แต่องค์พระจะอวบน้อยกว่า และชายสังฆาฏิจะยาวลงมาอยู่เหนือพระนาภี

รุ่นหลัง ที่เรียกกันว่ารุ่นสิงห์สาม เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นแรกค่อนข้างมาก ทำตามแบบสุโขทัยเป็นส่วนใหญ่ กล่าว คือ พระรัศมีเป็นเปลว เส้นพระศกละเอียดมีไรพระศกกับระหว่างเส้นพระเกศากับพระนลาฏ ชายสังฆาฏิอ้างถึงพระนาภี ฐานเอียงแบบโค้งออก



สมัยสุโขทัย

อยู่ในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ นับตั้งแต่พ่อขุนบางกลางท่าวเจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดได้ร่วมกันตีได้เมืองสุโขทัย พ่อขุนบางกลางท่าวได้รับสถาปนาเป็นเจ้าเมืองสุโขทัย ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับขอม และได้มีพระมหากษัตริย์ปกครองกรุงสุโขทัยต่อมาอีกหลายพระองค์ ตั้งอาณาจักรสุโขทัยเป็นปึกแผ่น

ในห้วงเวลาดังกล่าว พุทธศาสนาในลังกาเจริญรุ่งเรืองมาก บรรดาพระสงฆ์ในสุวรรณภูมิอันได้แก่ ไทย พม่า มอญ พากันไปศึกษาพุทธศาสนาในลังกาเป็นอันมาก และได้มีพระสงฆ์ชาวลังกา เข้ามาเผยแพร่ พุทธศาสนาในดินแดนส่วนนี้ด้วย โดยในระยะแรกมาอยู่ที่นครศรีธรรมราช ต่อมาจึงขึ้นไปอยู่สุโขทัย และเชียงใหม่ ดังนั้นพระพุทธรูปในยุคนี้จึงได้แบบอย่างมาจากลังกา ลักษณะโดยทั่วไปมีดังนี้คือ รัศมียาว เส้นพระศกขมวดก้นหอย ส่วนมากไม่มีไรพระศก พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระหนุเสี้ยม หัวพระถันโปน ชายสังฆาฏิยาว ปลายมี ๒ แฉก และย่นเป็นเขี้ยวตะขาบ ฐานส่วนใหญ่เป็นแบบฐานเอียง ตอนกลางโค้งเข้าด้านใน ตรงข้ามกับสมัยเชียงแสน

พระพุทธรูปสมัยนี้ แบ่งออกเป็น ๓ รุ่น ด้วยกัน คือ
รุ่นแรก มีวงพระพักตร์กลมแบบลังกา
รุ่นที่สอง มีวงพระพักตร์ยาว และพระหนุเสี้ยม
รุ่นที่สาม น่าจะสร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชา หรือ พระเจ้าลิไท พระองค์ทรงหาหลักฐานต่าง ๆ จากพระไตรปิฎก มาประกอบการสร้างพระพุทธรูป จึงได้เกิดพระพุทธรูปแบบสุโขทัยขึ้นอีกแบบหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ วงพระพักตร์ รูปไข่คล้ายแบบอินเดีย ปลายนิ้วพระหัตถ์เสมอกันทั้ง ๔ นิ้ว



สมัยอู่ทอง

อยู่ในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๒๐ พื้นที่อยู่ในภาคกลางของประเทศไทย พระพุทธรูปแบบนี้ แบบผสมระหว่างศิลปะแบบทวาราวดีลพบุรี และสุโขทัย แบ่งออกได้เป็น ๓ รุ่น คือ

รุ่นที่ ๑ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ เป็นฝีมือช่างไทย แต่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบ ทวาราวดี ลักษณะโดยทั่วไปมีพระรัศมีทั้งแบบต่อม นูนเป็นกระเปาะ และคล้ายทรงฝาชีเตี้ย พระพักตร์เหลี่ยม มีไรพระศกเป็นกรอบรอบวงพระพักตร์ แบ่งส่วนพระเกษากับพระนลาฎ เส้นพระเกศาละเอียด พระหนุ ค่อนข้างแหลม พระนาสิกค่อนข้างแบน พระโอษฐ์แบะ
ชายสังฆาฏิยาว ชายขอบอันตรวาสก (สบง) ด้านบนเป็นสัน
ฐานหน้ากระดาษ ด้านหน้าเป็นร่องเข้าด้านใน ด้านหลังเรียบและโค้งออก

รุ่นที่ ๒ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมมากขึ้น ลักษณะส่วนใหญ่เหมือนรุ่นที่ ๑ ที่ต่างกัน คือ รุ่นนี้มีรัศมีเป็นเปลว พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยมมากขึ้น พระนาสิกโค้งมากขึ้น พระหนุสี่เหลี่ยม

รุ่นที่ ๓ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย จึงทำแบบสุโขทัยเป็นส่วนใหญ่ มีลักษณะ พระกายค่อนข้างสูง พระพักตร์รูปไข่ มีไรพระศกเป็นแถบแบนกว้างกันระหว่างพระนลาฏกับเส้นพระศก พระรัศมีเป็นเปลวแบบสุโขทัย แต่ด้านหลังเรียบ ระหว่างเส้นพระศกกับพระรัศมีมีแถบกั้น สังฆาฏิมีขนาดใหญ่
ฐานเป็นแบบหน้ากระดานสองแผ่นซ้อนกัน มีร่องตรงกลางเว้าเข้า ด้านหลังโค้งออกและเรียบ



สมัยอยุธยา

อยู่ในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๓ ในขั้นต้นน่าจะมีที่มาจากสมัยอู่ทอง ต่อมาในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ศิลปสมัยสุโขทัยแพร่หลายมาถึงอยุธยามากขึ้น ช่างจึงสร้างพระพุทธรูปตามแบบสุโขทัย แต่ไม่งามเท่า มาถึงรัชสมัยพระเจ้าประสาททอง ได้มีการสร้างพระพุทธรูปด้วยศิลาทรายแบบเขมร ปลายสมัยอยุธยา นิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบมหายาน

ลักษณะโดยทั่วไป วงพระพักตร์และพระรัศมีทำตามแบบสุโขทัย ที่ต่างกันคือ มีไรพระศก และสังฆาฏิใหญ่สำหรับพระทรงเครื่อง พระรัศมีทำเป็นก้นหอยหลายชั้น บ้างก็เป็นแบบมงกุฎของเทวรูปสมัยลพบุรี ถ้าทรงเครื่องใหญ่มักทำเป็นมงกุฎแบบพระมหากษัตริย์ ถ้าทรงเครื่องน้อย มักเอาแบบมาจากศิลปะสุโขทัย ต่างกันที่ในสมัยอยุธยาจะมีครีบยื่นออกมาสองข้างเหนือพระกรรณ

ยังมีพระพุทธรูปสกุลช่างทางใต้ พบมากที่นครศรีธรรมราช จึงเรียกว่าสมัยอยุธยาแบบนครศรีธรรมราช ลักษณะเหมือนสมัยเชียงแสนรุ่นแรก ลักษณะทั่วไปพระรัศมีเป็นต่อมกลางคล้ายดอกบัวตูม เส้นพระศกใหญ่ พระโอษฐกว้างกว่าสมัยเชียงแสน ชายสังฆาฏิอยู่เหนือพระอุระ ชายจีวรใหญ่มีหลายแฉกซ้อนอยู่ใต้ชายสังฆาฏิ พระอุระนูน องค์พระอวบนั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย ฐานไม่มีบัวรอง ชนิดไม่มีบัวรองก็ไม่เหมือนบัวแบบเชียงแสน



สมัยรัตนโกสินทร์

เริ่มตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงปัจจุบัน มีลักษณะผสมกันของแบบสุโขทัย และแบบอยุธยา มีที่ต่างกันคือ พระเกตุมาลาและพระรัศมีสูงกว่า เส้นพระเกษาละเอียดกว่า มีวิวัฒนาการตามลำดับ ดังนี้


สมัยรัชกาลที่ ๑ และ รัชกาลที่ ๒ คงทำตามแบบอยุธยา
สมัยรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม
สมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้า ฯ ให้แก้ไขพุทธลักษณะ ให้คล้ายคนธรรมดามากยิ่งขึ้น ได้แก่ ตัดพระเกตุมาลาออก คงมีแต่พระรัศมีเป็นเปลวอยู่บนพระเศียร
สมัยรัชกาลที่ ๕ พระพุทธรูปกลับมีพระเกตุมาลาอีก
สมัยรัชกาลปัจจุบัน เมื่อคราวฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ได้สร้างพระพุทธรูปปางลีลา มีลักษณะเหมือนมนุษย์สามัญ แต่มีศิลปแบบสุโขทัยปนอยู่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระพุทธรูปโดยพระราชนิยมขึ้น ๒ ปาง คือ พระพุทธรูปประทับนั่ง ปางประทานพร และพระพุทธนวราชบพิตร เป็นปางมารวิชัย



ที่มา สำนักพิธีการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
//www.buddha-cp.com/readarticle.php?article_id=78




 

Create Date : 18 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 18 กรกฎาคม 2551 21:45:07 น.
Counter : 2962 Pageviews.  

ข้อห้ามในการปลูกเรือน

เป็นปกติสำหรับแต่ละวัฒนธรรมที่จะมีประเพณีปฏิบัติ รวมทั้งกฎข้อห้ามต่างๆ ในการใช้ชีวิต วัฒนธรรมไทยเองก็มีมากมายวิถีปฏิบัติซึ่งก็ถือเป็นความเชื่อแต่โบราณ บ้างก็เป็นกุศโลบายที่ปู่ย่าตายายสร้างขึ้นเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับคนในบ้าน บ้างก็เป็นข้อห้ามซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไรถึงได้ระบุไว้ แต่พวกเราๆท่านๆ ก็ยินดีที่จะทำตามมาจนปัจจุบัน

สำหรับการสร้างบ้านเองในสังคมไทยมีกฏข้อห้ามอยู่พอสมควร ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงข้อห้ามในการปลูกเรือนไทยนะครับ

..........................................................................

1. บันไดห้ามใช้จำนวนขั้นคู่ (ต้องเป็นขั้นคี่ นับเฉพาะขั้น ไม่นับพื้นหรือชานพัก)
2. บันไดไม่ลงไปทางทิศตะวันตก
3. ไม่หันหัวนอนไปทางทิศตะวันตก
4. ไม่ทำน้ำพุน้ำตกไหลเข้าตัวเรือน
5. ไม่ปลูกต้นหางนกยูง ลั่นทม โศก ตรุษจีน ฯลฯ
6. ไม่ทำทางเข้าลอดใต้ห้องน้ำห้องส้วม
7. ไม่ทำอาคารรูปตัว "ที" มีปีกเท่ากันสองข้างเรียก "แร้งกระพือปีก" ถือเป็นอัปมงคล
8. ไม่ทำเรือนทะลุหน้าตลอดหลัง ถือว่าเป็น "เรือนอกแตก" เป็นอัปมงคล
9. ไม่ทำภูเขาจำลองไว้ในบ้าน
10. ห้ามใช้ไม้ตะเคียน ไม้มะค่าในการปลูกเรือน
11. ห้ามใช้เสาตกน้ำมัน
12. ห้ามทำทางเข้าออกคู่ไว้ตอนมุมของพื้นดินที่ทางสามแพร่งหรือสี่แยก
13. ห้ามนำภาพยักษ์ไว้ในบ้าน
14. ห้ามนำหนังใหญ่หรือหนังตะลุงไว้ในบ้าน
15. ห้ามใช้ช่อฟ้า ใบระกา เครื่องวัด เครื่องหลวง หรือมีเครื่องประดับชั้นสูงในบ้าน
16. ห้ามปลูกเรือนคร่อมตอ
17. ห้ามตั้งศาลพระภูมิใต้เงาเรือน
18. ไม่ปลูกต้นมะละกอใกล้ตัวเรือน
19. ห้ามทำบันไดเวียนซ้ายขาขึ้น
20. ไม่ปลูกบ้านใต้ต้นไม้ใหญ่
21. ห้ามมิให้มีสัตว์ตกตายในหลุมตอม่อ
22. ห้ามใช้เสาไม้มีตาในระยะ "เป็ดไซ้ ไก่ตอด สลักรอด หมูสี"
23. ห้ามวางรูปพื้นเรือนในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงรูโลงศพ
24. ห้ามทำเตียงนอนขาสิงห์ เครื่องใช้ขาสิงห์ (ซึ่งเทียมเจ้านาย)
25. ห้ามนำศพออกประตูเรือน หรือลงบันไดบ้าน (ให้ออกทางด้านฝาหุ้มกลอง เพราะสะดวกในการเคลื่อนศพฝาหุ้มกลองถอดออกและประกอบใหม่ได้)
26. ห้ามนำของวัดเข้าบ้านหรือมาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน
27. ห้ามทำทางเข้าเวียนซ้ายของอาคาร


ปฏิบัติตามก็ไม่เสียหายนะครับ เพื่อความสบายใจของคนในบ้านครับ
..........................................................................

ที่มา: //www.baanmaithong.com/Html/Trohobition.html




 

Create Date : 29 สิงหาคม 2549    
Last Update : 29 สิงหาคม 2549 21:55:11 น.
Counter : 737 Pageviews.  

ประเภทของเรือนไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่า ครอบครัวไทยมีลักษณะเป็นครอบครัวใหญ่ คือ นอกจากพ่อแม่ลูกแล้ว ยังพรั่งพร้อมไปด้วยวงศาคณาญาติหลายชั้นด้วยกัน แม้เมื่อลูกๆ แต่งงานออกเรือนแล้วก็ยังคง พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่และยังรวมเอาญาติพี่น้องฝ่ายเขยหรือสะใภ้เข้ามาอยู่ด้วย หรือแม้จะแยก ครอบครัวไปแล้ว พ่อแม่ก็ยังคงติดตามดูแลเอาใจใส่อยู่เสมอ

ด้วยเหตุดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวไทย จึงแน่นแฟ้น และเคารพเชื่อฟังกันตามลำดับอาวุโส และก่อให้เกิดบ้านหรือเรือนไทยในลักษณะต่างๆ ดังนี้คือ

1. เรือนครอบครัวเดี่ยว

เรือนประเภทนี้เป็นเรือนสำหรับพ่อ แม่ และลูกที่ยังไม่แต่งงาน โดยทั่วไปมักประกอบไปด้วยเรือนนอน 1 หลัง เรือนครัว 1 หลัง ระเบียงและชานร่วม สำหรับเรือนนอนนั้นมีห้องนอน 1 ห้อง โถง 1 ห้อง ซึ่งมีขนาดความกว้างประมาณ 6-9 ศอก และความยาวประมาณ 15-18 ศอก ความยาวของเรือนนอนนี้แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเสา โดย 1 ช่วงเสาเป็นห้องโถง ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับพิธีเลี้ยงพระและตั้งแท่นบูชา ส่วนอีก 2 ช่วงเสาเป็นห้องนอน บริเวณหน้าห้องนอนมีระเบียงยาวตลอดเป็นตัวเชื่อมระหว่างห้องนอนกับชาน และพื้นที่พักผ่อนที่มีกันสาดคลุม ส่วนเรือนครัวมี 2 ช่วงเสา โดยช่วงเสาแรกสำหรับทำครัว และช่วงเสาที่สองเป็นที่รับประทานอาหาร เรือนครัวนี้จะเชื่อมต่อกับเรือนนอนด้วยชาน

สำหรับพื้นที่ชานนั้น นอกจากทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างเรือนนอนกับเรือนครัวแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนภายนอกอาคารอีกด้วย ส่วนชานซึ่งอยู่หลังครัวเป็นพื้นที่สำหรับอาบน้ำและทำประโยชน์อย่างอื่นๆ เช่น ล้างจาน ซักผ้า ฯลฯ

2. เรือนหมู่สำหรับครอบครัวขยาย

เมื่อครอบครัวเดี่ยวเจริญขึ้น ลูกแต่งงานไปกลายเป็นครอบครัวขยาย กล่าวคือ เมื่อลูกชายแต่งงานแล้วส่วนใหญ่มักไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง ส่วนลูกผู้หญิงแต่งงานแล้วก็มักให้ฝ่ายชายมาอยู่บ้านตนเอง เรือนหลังเดิมซึ่งมีห้องนอนเพียงห้องเดียวจึงไม่เพียงพอจำเป้นต้องก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม การต่อเรือนหลังเก่าไปตามยาวมีความยุ่งยากมาก เพราะต้องรื้อปีกนก กันสาด เปลี่ยนฝาเรือนใหม่ และยังยากลำบากในการต่อไม้ รวมทั้งทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นอิสระ เพราะเมื่อแต่งงานแล้วก็อยากจะแยกเรือนนอนต่างหากอีกหลังหนึ่ง เพื่อความเป็นส่วนตัว

ดังนั้น ในการขยายเรือนนอนของลูกจึงมักอยู่ตรงข้ามกับเรือนพ่อแม่ โดยหันหน้าจั่วไปในทิศทางเดียวกัน ด้านหลังเป็นครัวซึ่งเป็นเรือนขวาง ตรงข้ามกับเรือนครัวจะสร้างขึ้นอีกหลังหนึ่ง ก็ได้ โดยเป็นเรือนขวางกับเรือนนอน มักทำฝา 3 ด้าน ด้านที่ติดกับชานเปิดโล่งไว้ใช้เป็นหอนั่งสำหรับพักผ่อน รับแขก นอน นั่งเล่น เลี้ยงพระ ส่วนห้องโถงหลังเดิมอาจกั้นฝาขยายห้องนอนเป็น 3 ช่วงเสา หรือเก็บห้องโถงเดิมไว้เป็นห้องพระตั้งโต๊ะหมู่บูชา ดังนั้น หากต้องการขยายเรือนนอนเพิ่มขึ้นก็สามารถทำได้ใน 3 ลักษณะด้วยกันคือ

1 ปลูกเรียงตามยาวต่อจากเรือนนอนพ่อแม่ หรือเรือนนอนที่อยู่ตรงข้ามกับเรือนนอนพ่อแม่

2. จัดวางตัวเรือนเป็นกลุ่ม โดยมีชานเชื่อมตรงกลาง และชานเชื่อมนี้จะเปิดโล่งไม่มีหลังคาคลุม

3. ปลูกเรือนขึ้นใหม่เป็นหลังๆ อยู่ในบริเวณนั้น โดยไม่มีชานเชื่อมระหว่างเรือนแต่ละหลัง

3. เรือนคหบดี

เรือนคหบดีเป็นเรือนของผู้มีอันจะกิน ตั้งใจสร้างขึ้นให้มีขนาดใหญ่โตหรูหรา แล้วแต่ว่าจะมีลูกหลานบริวารมากน้อยเพียงใด โดยมีการวางแผนผังไว้ก่อน เรือนหมู่นี้มักประกอบไปด้วยเรือนต่างๆ ดังนี้

1. เรือนนอน ซึ่งเป็นเรือนประธานมักมีขนาดช่วงขื่อกว้างมากประมาณ 8-9 ศอก มักมี 3 ช่วงเสา

2. เรือนลูก มักมีขนาดย่อมลงมาจากเรือนนอน และมักจะปลูกด้านตรงข้ามกับเรือนนอนของพ่อแม่ เรียกชื่อว่า "เรือนรี" หันหน้าจั่วไปในทิศทางเดียวกัน

3. เรือนขวาง ใช้เป็นหอนั่งหรือหอกลาง มีฝา 3 ด้าน ด้านที่ติดกับชานเปิดโล่งสำหรับเป็นที่พักผ่อนและรับแขก รับประทานอาหารเลี้ยงพระ และใช้จัดงานประเพณีต่างๆ เช่น โกนจุก ทำขวัญ แต่งงาน เป็นต้น หอกลางนี้อาจจะอยู่ตรงกลางชานหรือไม่อยู่ตรงกลางชานก็ได้ ถ้าเป็นกุฎิพระเราเรียกว่า "หอฉัน" หรือ "หอสวดมนต์" ลักษณะเป็นเรือนโปร่งมี 3 ช่วงเสา และปลูกขวางเรือนนอน อย่างไรก็ตาม การวางหอกลางไว้กลางชานนั้นต้องพิจารณาที่ว่างโดยรอบให้เหลือมากเพียงพอและต้องมีความสัมพันธ์กับขนาดพื้นที่ของหอกลางด้วย

4. เรือนครัว อยู่ทางด้านหลัง มีลักษณะขวางกับเรือนนอน ครัวของเรือนคหบดีนี้มักมีขนาดใหญ่ ฝาเรือนเป็นฝาขัดแตะ หน้าบันมีช่องเปิดสำหรับระบายควันไฟ

5. หอนก พวกคหบดีผู้มีอันจะกินมักมีงานอดิเรกคือ การเลี้ยงนก เลี้ยงปลากัด เลี้ยงบอนไว้เป็นสิ่งเพลิดเพลินใจ สำหรับการเลี้ยงนกมักนิยมเลี้ยงนกเขาชนิดต่างๆ ดังนั้น ด้านข้างของหอขวางที่มีพื้นที่เหลือจึงมักจะปลูกเรือนขนาด 2 ช่วงเสาไว้เป็นที่แขวนกรงนก จึงมักเรียกเรือนนี้ว่า "หอนก"

นอกจากนี้ เรือนคหบดีบางหลังมักนิยมนำเอาธรรมชาติเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาคารโดยการปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้กลางชาน เช่น จำปี จำปา มะม่วง ขนุน เป็นต้น ด้านข้างด้านหนึ่งด้านใดจะปลูกต้นไม้เลื้อยชนิดมีดอกหอม เช่น กระดังงาจีน มะลิวัลย์ ฯลฯ และแบ่งส่วนพื้นที่จัดไม้ในร่มไว้ประกอบ

4. กุฏิ

กุฏิ หมายถึง ที่อยู่เฉพาะรูป กุฏิเป็นที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ โดยมีจุดมุ่งหมายให้อยู่ได้เพียงองค์เดียว ห้ามมิให้สะสมสิ่งของและเครื่องใช้เกินความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต หรือแม้แต่อาหารก็ไม่สามารถเก็บไว้ในกุฏิ โดยจะต้องมีที่เก็บแยกออกไปต่างหากเรียกว่า "กัปปิยกุฏิ" (โรงเก็บอาหารอันสมควรอยู่นอกห้องพัก)

ขนาดของกุฏิตามพระวินัยได้กำหนดไว้ในสังฆาทิเสส 13 ข้อ 6 กล่าวคือ

"ภิกษุสร้างกุฎิที่ต้องก่อและโบกด้วยปูนหรือดิน ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของจำเพาะเป็นที่อยู่ของตนต้องทำให้ได้ประมาณโดยยาวเพียง 12 คืบ พระสุคต โดยกว้างเพียง 7 คืบ วัดในร่วมใน (ยาวประมาณ 4.017 เมตร กว้างประมาณ 2.343 เมตร) และต้องให้สงฆ์แสดงให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก็ดี ทำให้เกินประมาณก็ดี ต้องสัมฆาทิเสส"

สำหรับกุฏิที่ยังคงเหลือให้ทำการสำรวจหาข้อมูลได้นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะด้วยกันคือ

1) กฎิของวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับชุมชนหรืออยู่ในเมือง กุฎิประเภทนี้มักมีการวางผังและ รูปร่างคล้ายเรือนไทยแบบเรือนหมู่ หมู่ละประมาณ 6 หลัง โดยหลังหนึ่งมีห้องนอน 3-6 ห้อง กุฏิแต่ละหลังจะถูกจัดวางรวมกันเป็นหมู่หรือเป็นแถว และเชื่อมต่อกันด้วยชาน

บริเวณตรงกลางของหมู่กุฏิมักเป็นที่ตั้งขอหอฉันหรือหอสวดมนต์แต่หอฉันของบางวัดอาจตั้งอยู่บริเวณริมหนึ่งริมใดของหมู่เรือนก็ได้ โดยบริเวณตรงกลางจะเป็นชานเปิดโล่งโดยตลอด และนิยมปลูกต้นไม้ใหญ่บริเวณกลางชาน

พรรณไม้ที่นิยมปลูก ได้แก่ มะม่วง ชมพู่ จำปี จำปา ขนุน จัน ฯลฯ ลักษณะของกุฏิ ดังกล่าวเป็นหมู่กุฏิที่รวมกันเป็น "หนึ่งคณะ" ซึ่งวัดหนึ่งๆ อาจมีหลายคณะก็ได้ โดยทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตบริเวณที่เรียกว่า "สังฆาวาส"

สำหรับกุฏิที่อยู่ในเมืองมักมีลักษณะรูปร่าง ผัง พื้นและโครงสร้างเหมือนกับเรือนไทยเดิมมาก โดยเฉพาะเรือน 3 ห้อง มักได้มาจากเจ้าของเรือนไทยเดิมรื้อเรือนของตนเองถวายวัด หรือ รื้อเรือนของพ่อแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว เอามาถวายวัดเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้

ส่วนกุฏิชนิด 4 ห้อง 5 ห้อง และ 6 ห้องนั้นเป็นเรือนที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสงฆ์โดยตรง มิใช่เรือนพักอาศัยที่รื้อมาถวายวัด

กุฏิเหล่านี้ยังคงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง เช่น กุฏิ 4 ห้องที่วัดใหม่ บางกระสอบ จ. สมุทรปราการ สำหรับกุฏิ 5 ห้อง และกุฏิ 6 ห้อง ยังมีปรากฎอยู่ที่วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ วัดราชสิทธาราม และวัดหงส์รัตนาราม ธนบุรี

กุฏิอีกลักษณะหนึ่งซึ่งนิยมสร้างในต่างจังหวัด ได้แก่ กุฎิที่มีลักษณะหลังคาแฝดเหมือนกับเรือน 2 หลังติดกัน หลังหนึ่งมีฝากั้นเป็นห้อง ส่วนอีกหลังหนึ่งปล่อยเป็นเรือนโถงไม่มีฝา ด้านหน้าติดกับชานร่วม เรือนหลังในมีที่กั้นห้องมิดชิดเป็นที่หลับนอนของพระสงฆ์โดยเฉพาะ ส่วนเรือน หลังนอกเป็นที่นั่งพักผ่อนและรับแขกทั้งอุบาสกและอุบาสิกา

การจัดผังของคณะนั้นจัดเรียงกันไปตามยาว 2 แถว หอฉันอยู่ตรงกลาง ล้อมรั้วชาน มีประตูหัวท้าย ตัวอย่างเช่น กุฏิวัดพระรูปและกุฏิวัดปู่บัว จ. สุพรรณบุรี กุฏิเจ้าอาวาสวัดบุพผาราม จ.ตราด เป็นต้น

2. กุฏิวัดที่อยู่ในป่า โดยทั่วไปวัดลักษณะนี้มักมีบริเวณกว้างขวางและมีพรรณไม้สูงต่างๆ ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น เช่น ต้นยาง วัดในป่านี้จะยึดปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นหลัก ลักษณะกุฏิของวัดป่านี้มักเป็นหลังเดียวโดดๆ มีความกว้างประมาณ 2 เมตร และยาวประมาณ 2.50 เมตร ส่วนระยะห่างของกุฏิประมาณ 3-5 เมตร เรียงยาวอย่างเป็นระเบียบแสดงลักษณะของความสันโดษอย่างชัดเจนและเนื่องด้วยวัดมีบริเวณกว้างขวาง อาคารที่ใช้ประกอบกิจทางศาสนาและอาคาร ชนิดอื่นมักตั้งอยู่ห่างจากกุฏิออกไป

5. เรือนร้านค้าริมน้ำ

เรือนร้านค้าริมน้ำเป็นเรือนที่สร้างขึ้นเพื่อกิจกรรมค้าขาย รวมทั้งกินอยู่หลับนอน ดังนั้น ประโยชน์ใช้สอยของเรือนร้านค้าริมน้ำจึงแตกต่างจากเรือนไทยพักอาศัยทั่วไป กล่าวคือ

เรือนร้านค้าริมน้ำจะแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนหน้าเปิดเป็นร้านค้ามีพื้นที่สำหรับ การค้าขายและวางสินค้า พื้นที่ส่วนหลังเป็นที่อยู่อาศัยซึ่งประกอบด้วยห้องโถง ห้องนอน เรือนครัว และที่รับประทานอาหาร ส่วนการอาบน้ำจะใช้คลองหรือแม่น้ำในบริเวณใกล้เคียง

พื้นที่บริเวณด้านหน้าเรือนซึ่งติดต่อกับส่วนค้าขาย มีสะพานทางเดินทำด้วยไม้กว่างประมาณ 1 เมตร ยาวตลอดเชื่อมติดต่อถึงกันทุกหลังคาเรือน ถัดจากสะพาพออกไปจจะมีท่าน้ำเพื่อเป็นท่าเทียบเรือสำหรับการขนถ่ายสินค้าขึ้นลงได้สะดวก

ท่าน้ำดังกล่าวมีอยู่ด้วยกันหลายลักษณะ ได้แก่

1. ท่าน้ำมีระดับเท่ากับทางเดิน และมีบันไดลงไปเพื่อรับส่งสินค้า

2. ท่าน้ำลดระดับ 1 2 โดยมีบันไดเชื่อมจากท่า 1 ลงสู่ท่า 2 ไม้และบางแห่งยังมีท่าน้ำเสมอหรือต่ำกว่าระดับน้ำประมาณ 10-15 เซนติเมตร เป็นไม้กระดานกว้างประมาณ 20-40 เซนติเมตร ยาวโดยตลอด

บริเวณด้านข้างของเรือนร้านค้าริมน้ำจะเหมือนเรือนไทยพักอาศัยทั่วไป ยกเว้นแต่ตอนหน้าทำเป็นฝาหน้าถังหรือฝาบานกระทุ้ง ตามแต่ความต้องการของเจ้าของเรือน หากเป็นฝาบานกระทุ้งก็มักทำด้วยวัสดุที่มีน้ำหนักเบา เช่น ฝาจาก ฝาขัดแตะ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการยกเพื่อเอาไม้ค้ำ แต่ปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนเป็นฝาหน้าถังไม้ และฝาบานกระทุ้งทำด้วยสังกะสี

เรือนร้านค้าริมน้ำมักสร้างติดต่อกันเป็นแถว และมีช่องเว้นระยะห่างพอสมควรคือ ประมาณ 1 ช่วงเรือน เพื่อเจ้าของเรือนจะได้นำเรือขนาดเล็กของตนเข้าเก็บ โดยรอดใต้สะพานทางเดินเข้ามา การค้าขายก็มักทำกันเฉพาะช่วงเช้าถึงเที่ยง สินค้าที่นำมาขาย ได้แก่ ผลไม้ ข้าว ผัก เนื้อสัตว์ เสื้อผ้า ฯลฯ

ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเรือนร้านค้าริมน้ำมีความแตกต่างกับเรือนพักอาศัยมาก เพราะมีการติดต่อทางสังคมกว้างขวาง พื้นที่ส่วนใหญ่ของเรือนเป็นที่ค้าขายและวางสินค้าง เพราะมีสินค้ากักตุนไว้มาก เมื่อพื้นที่ค้าขายเต็มก็ต้องนำเอาสินค้านั้นมาเก็บไว้ในส่วนพักอาศัย ยกเว้นชานซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นของเรือนไทยกลับไม่มีในเรือนร้านค้าริมน้ำ

6. เรือนแพ

เรือนแพ คือ เรือนร้านค้าที่ลอยน้ำเคลื่อนที่ไปมาได้ รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยหลับนอน เรือนแพมีลักษณะเหมือนเรือนไทยแฝด เรือนหลังในเป็นที่พักผ่อนหลับนอน ส่วนเรือนหลังนอกเป็น ร้านค้า มีฝาถังปิดเปิดด้านหน้าเป็นระเบียงติดกับน้ำ

สำหรับเรือนบางหลังมีระเบียงโดยรอบ ช่วงยาวของเรือนมี 3 ห้อง ด้านหลังเป็นครัวและเป็นที่รับประทานอาหาร หลังคาครัวมีขนาดเล็กกว่าหลังคาเรือนใหญ่ ส่วนด้านล่างเป็นแพรองรับตัวเรือน ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะคือ เป็นไม้ไผ่ผูกรวมกันเป็นแพเรียกว่า "แพลูกบวบ" และเป็นไม้จริงต่อเป็นแพสี่เหลี่ยมยาวเรียกว่า "โป๊ะ" มีโครงกระดูกภายใน ลักษณะคล้ายเรืออุดยาด้วยชัน ติดต่อกัน 3-4 โป๊ะ ต่อ 1 หลัง

โครงสร้างของเรือนแพเหมือนกับเรือนไทย แต่การยึดของตัวไม้ ต้องไม่ตรึงแน่น ปล่อยให้ทุกจุดขยับเขยื้อนได้เล็กน้อย ส่วนฝาหน้าถังของเรือนมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ แต่เดิมมักนิยมทำเป็นฝากระแชงอ่อน หรือฝาขัดแตะ มีน้ำหนักเบาและสามารถเปิดเป็นบานกระทุ้งได้ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนเป็นฝาถังบานเลื่อย ซึ่งสามารถถอดออกเป็นแผ่นๆ นำไปเก็บที่อื่นได้

7. เรือนร้านค้าริมทาง

เรือนร้านค้าริมทางเป็นเรือนที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านการค้าและพักอาศัย ตัวเรือนมีลักษณะเดียวกับเรือนร้านค้าริมน้ำ การขนส่งสินค้าใช้เกวียนเป็นพาหนะ ในปัจจุบัน หาเรือนร้านค้าริมทางดูได้ยาก เพราะส่วนใหญ่ได้ถูกรื้อเปลี่ยนแปลงไปเกือบหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม เรือนร้านค้าริมทางแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะคือ

1. เรือนหลังคาเดียว มีระเบียงเกือบเท่าเรือนนอน ลดระดับพื้นระเบียงกับพื้นเรือนนอนมาก ระดับพื้นระเบียงสูงจากพื้นดินไม่เกิน 2 ศอก เพื่อใช้ที่ว่างของพื้นที่ระเบียงเป็นที่วางสินค้า ส่วนที่ปิด-เปิดของฝาระเบียงด้านหน้าทำเป็นฝาเฟี้ยม ฝาถัง (ฝาขัดแตะเป็นผืนใหญ่ๆ ใช้ไม้กระทุ้งเวลาต้องการเปิด) พื้นบนเป็นส่วนของเรือนนอน และต่อเรือนครัวอีกหลังหนึ่งออกไปทางด้านหลังคาหรือด้านข้าง ส่วนพื้นที่ใต้ถุนเรือนนอนจะใช้เป็นที่สำหรับเก็บเกวียน

2. ในกรณีครอบครัวใหญ่ ด้านหลังจะสร้างเป็น 2 หลังแฝด ใช้เป็นเรือนนอน ส่วนด้านหน้ายังคงเหมือนกับลักษณะที่ 1

3. เหมือนลักษณะที่ 2 แต่ระเบียงที่ใช้วางสินค้าหันมาอยู่ด้านฝาหุ้มกลอง (ฝาด้านสกัดของเรือนฝากระดาน)

4. แยกเรือนร้านค้าออกห่างจากเรือนนอน ไม่มีฝากั้น คล้ายศาลาโถง เมื่อเวลาจะขายก็ขนสินค้าออกมาวาง เมื่อเลิกขายก็เก็บเข้าที่อย่างเดิม

นอกจากนี้เรือนไทยยังสามารถแบ่งประเภทออกตามลักษณะภูมิภาคต่างๆ อันได้แก่ เรือนไทยภาคกลาง เรือนไทยภาคเหนือ เรือนไทยภาคอีสาน และเรือนไทยภาคใต้


ที่มา: บ้านทรงไทยดอทคอม
//www.bansongthai.com/index.php?option=com_content&task=view&id=13&Itemid=2&lang=




 

Create Date : 29 สิงหาคม 2549    
Last Update : 29 สิงหาคม 2549 1:49:07 น.
Counter : 1322 Pageviews.  


หมีแมนยู
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Hi Folks
Leave Your Message Here
Friends' blogs
[Add หมีแมนยู's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.