Group Blog
 
All blogs
 
การเป็นผู้ประกอบการ สรุปส่วนที่ 6

บทที่ 6
ขั้นตอนการจัดตั้งธุรกิจ


1. รูปแบบของธุรกิจ
1.1 ธุรกิจเจ้าของคนเดียว (Sole Proprietorship) เป็นกิจการที่ดำเนินโดยคนๆเดียว

ข้อดี
- จัดตั้งง่ายโดยคนๆ เดียว
- มีอิสระในการตัดสินใจ
- เจ้าของเป็นผู้รับผิดชอบคนเดียวต่อผลการดำเนินงาน
- ข้อบังคับทางกฎหมายน้อย
- การเลิกกิจการทำได้ง่าย
- ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารต่ำ

ข้อเสีย
- เจ้าของกิจการต้องรับหนี้สินไม่จำกัดจำนวน
- ขาดความน่าเชื่อถือของกิจการ
- การจัดหาเงินทุนทำได้ยาก
- การตัดสินใจอยู่ที่คนคนเดียว
- ธุรกิจอาจไม่ยืนยาวและไม่ต่อเนื่อง
- เสียเปรียบด้านภาษีอากร
- บุคลากรมีข้อจำกัดด้านความเจริญก้าวหน้า

1.2 ห้างหุ้นส่วน (Partnership) คือธุรกิจที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ทำสัญญาด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรตกลงจะกระทำกิจการร่วมกันด้วยวัตถุประสงค์ ที่จะแบ่งกำไร ที่ได้รับจากการกระทำ ผู้ที่เป็นหุ้นส่วนต้องลงทุนร่วมกัน ซึ่งอาจเป็นตัวเงิน หรือทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ในสัญญาห้างหุ้นส่วนกำหนดรายละเอียดไว้

การเลิกกิจการ
- เลิกตามที่สัญญากำหนดไว้
- เลิกตามกำหนดระยะเวลาที่วางเอาไว้
- หุ้นส่วนตาย ล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ
- คำสั่งศาล

การแบ่งประเภทห้างหุ้นส่วน
- ห้างหุ้นส่วนสามัญ (Ordinary Partnerships) หุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบในการชำระหนี้สินร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวน ซึ่งจะจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นห้างหุ้นส่วนสามัญจึงแยกเป็นสองประเภท

- ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่ได้จดทะเบียน ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล เมื่อเกิดคดีจะฟ้องใครก็ได้
- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล เป็นนิติบุคคลแยกจากหุ้นส่วน หากมีการฟ้องร้องต้องทำในนามห้างหุ้นส่วนก่อน ต่อเมื่อทรัพย์สินของห้างไม่พอชำระหนี้ จึงจะฟ้องร้องจากหุ้นส่วนต่อไป

- ห้างหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership) ต้องจดทะเบียน ซึ่งนิติกรรมใดๆ จะทำในนามของห้างหุ้นส่วน ซึ่งผู้รับผิดชอบในห้างหุ้นส่วน แบ่งออกเป็นสองประเภท

- หุ้นส่วนชนิดจำกัดความรับผิดชอบ รับผิดชอบหนี้สิน ไม่เกินจำนวนเงินที่นำมาลงทุน ซึ่งหุ้นส่วนประเภทนี้ไม่มีสิทธิ์เข้าจัดการห้างหุ้นส่วน มีสิทธิ์เพียงแสดงความคิดเห็น กฎหมายห้ามนำชื่อหุ้นส่วนประเภทนี้มาตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน ซึ่งหากหุ้นส่วนนี้ตาย หรือล้มละลาย ธุรกิจก็ยังดำเนินต่อไปได้

- หุ้นส่วนชนิดไม่จำกัดความรับผิดชอบ รับผิดชอบหนี้สินอย่างไม่จำกัดจำนวน อย่างน้อยต้องมี 1 คน และมีสิทธิ์จัดการงานของห้างหุ้นส่วนได้

ข้อดี
- ระดมทุนจากแหล่งอื่นได้ง่าย มั่นคงและน่าเชื่อถือกว่าเจ้าของคนเดียว
- ระดมความรู้ที่หลากหลายมาช่วยกันบริหาร
- การจัดตั้งไม่ยุ่งยาก การรวมหุ้นมีสัญญาต่อกันที่ไม่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้
- หุ้นส่วนที่รับผิดชอบไม่จำกัดต้องเอาใจใส่การดำเนินงานคล้ายกิจการของตน มีอิสระในการบริหาร
- เลิกกิจการได้ง่าย

ข้อเสีย
- มีข้อจำกัดในการโอนหุ้น
- ถอนเงินทุกออกได้ยาก
- อายุธุรกิจถูกจำกัดด้วยชีวิตของผู้เป็นหุ้นส่วน
- หุ้นส่วนก่อหนี้ได้ไม่จำกัด
- อาจเกิดความขัดแย้งในหมู่ผู้ร่วมหุ้น
- ไม่จำกัดความรับผิดชอบของหุ้นส่วน ทำให้ไม่กล้าเสี่ยงขยายกิจการ

1.3 บริษัทจำกัด (Limited Corporation) คือธุรกิจซึ่งเกิดจากการร่วมทุน ของกลุ่มคนเพื่อทำกิจการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไรมาแบ่งกัน ลักษณะของบริษัทมีดังนี้

- ต้องมีผู้ร่วมทุนอย่างน้อย 7 คน (เป็นนิติบุคคลก็ได้)
- ทุนจะแบ่งออกเป็นมูลค่าต่างๆ กันเรียกว่าหุ้น
- ผู้ถือหุ้นจะขาย หรือโอนหุ้นให้ใครก็ได้
- ความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นจำกัด เท่ากับจำนวนหุ้นที่ถือ
- การแบ่งกำไร บริษัทจะแบ่งกำไรตามสัดส่วนหุ้นที่ถือ

ข้อดี
- มีสภาพเป็นนิติบุคคล แยกตัวจากผู้ถือหุ้น มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน มีสิทธิ์ดำเนินคดีในนามบริษัท
- บริษัทสามารถหาทุนเพิ่มในการขายหุ้น
- ผู้ถือหุ้นมีความรับผิดชอบเพียงมูลค่าที่ตนค้างชำระ
- ผู้ถือหุ้นสามารถขายหรือโอนหุ้นให้กับคนอื่นได้
- กรณีผู้ถือหุ้นตาย ล้มละลาย หรือศาลมีคำสั่งให้ออกจากผู้ถือหุ้น บริษัทก็ยังดำเนินกิจการได้
- มีความน่าเชื่อถือกว่าการจัดตั้งโดยเจ้าของคนเดียว หรือห้างหุ้นส่วน การเพิ่มทุนสามารถทำได้ด้วยการจดทะเบียนเพิ่มทุนและออกหุ้นขาย

ข้อเสีย
- ขั้นตอนในการจัดตั้งยุ่งยาก และหน่วยงานรัฐดูแลเข้มงวด
- ค่าใช้จ่ายในการบริหารสูง ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต
- ต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 7 คนขึ้นไป
- ความลับเปิดเผยได้ง่าย
- บางครั้งบริษัทอาจต้องจ้างมืออาชีพจากภายนอกเข้ามา ทำให้ขาดความตั้งใจ ซื่อสัตย์ และเสียสละ

การจดทะเบียนเลิกบริษัทจำกัด
- กรณีเป็นข้อบังคับของบริษัท
- เมื่อสิ้นกำหนดเวลา กรณีที่ตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะกาล
- เมื่อเสร็จการ เมื่อบริษัทถูกตั้งขึ้นเพื่อทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง
- เมื่อมีมติให้เลิก
- เมื่อบริษัทล้มละลาย
- เมื่อศาลสั่งให้เลิก

การตัดสินใจเลือกรูปแบบการทำธุรกิจ
1. ประเภทของธุรกิจที่จะดำเนินการ ขนาด เงินลงทุน
2. ต้องการบริหารกิจการและตัดสินใจเอง หรือจ้างมืออาชีพ
3. เปรียบเทียบกฎหมายและภาษี ตามรูปแบบธุรกิจ ซึ่งมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบต่างกัน
4. พิจารณาถึงการขยายธุรกิจหรือยกเลิกธุรกิจ

2.การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจกับกระทรวงพานิชย์
- ธุรกิจเจ้าของคนเดียว ให้จดทะเบียนกับสำนักบริการจดทะเบียน กรมการค้า กระทรวงพานิชย์ ณ ท้องที่ที่ตั้งสถานประกอบการ
- ห้างหุ้นส่วนไม่จดทะเบียน ให้ปฏิบัติเหมือนธุรกิจเจ้าของคนเดียว
- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล และห้างหุ้นส่วนจำกัด (ดูในหนังสือหน้า 156-158)
- บริษัทจำกัด ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (ดูในหนังสือหน้า 159-163)

3. การจัดทำบัญชีตามกฎหมาย
ธุรกิจเจ้าของคนเดียว (บุคคลธรรมดา) และห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน

- ไม่ต้องทำบัญชี เว้นแต่รัฐมนตรีจะประกาศให้เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี


ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและบริษัทจำกัด

ตาม พรบ.ทางการบัญชี พ.ศ. 2543 กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและบริษัทจำกัด มีหน้าที่จัดทำบัญชีดังนี้

- วันเริ่มทำบัญชี ต้องเริ่มนับแต่วันที่ได้รับจดทะเบียนป็นนิติบุคคล
- บัญชีที่ต้องจัดทำ ผู้ที่รับผิดชอบทำบัญชี จะต้องจบการศึกษาด้านบัญชี ยกเว้นผ่อนผันให้ผู้ที่ทำงานด้านนี้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้จบบัญชีมา โดยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ

1. บุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ต้องจบการศกษาด้านบัญชี โดยมีวุฒิ ปวส.(บัญชี) หรือปริญญาตรี(บัญชี)

2. ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีสินทรัพย์ไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ผู้ทำบัญชีต้องมีคุณวุฒิ ปวส.(บัญชี) และสำหรับทุนจดทะเบียนมากกว่า 5 ล้าน มีสินทรัพย์มากกว่า 30 ล้านบาท และมีรายได้มากกว่า 30 ล้านบาท ผู้ทำบัญชีจะต้องมีวุฒิปริญญาตรี (บัญชี)

3. บริษัทมหาชน นิติบุคคลต่างประเทศ กิจการร่วมการค้า บริษัทจดทะเบียน SET บริษัท BOI ผู้จัดทำบัญชีต้องมีวุฒิปริญญาตรี (บัญชี)

ชนิดบัญชีที่นิติบุคคลจะต้องจัดทำคือ
1. บัญชีรายวัน
- บัญชีเงินสด
- บัญชีเงินฝากธนาคาร
- บัญชีรายวันซื้อ รายวันขาย
- บัญชีรายวันทั่วไป

2. บัญชีแยกประเภท
- บัญชีแยกประเภททรัพย์สิน หนี้สินและทุน
- บัญชีแยกประเภทรายได้และค่าใช้จ่าย
- บัญชีแยกประเภทลูกหนี้และเจ้าหนี้

3. บัญชีสินค้า

4. บัญชีรายวันและแยกประเภทตามความจำเป็น

การปิดบัญชี ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ต้องจัดให้มีการปิดบัญชีของนิติบุคคลทุกรอบ 12 เดือน นับแต่วันเปิดบัญชีครั้งก่อน

การจัดทำงบการเงิน ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ต้องจัดทำงบการเงินและยื่นต่อสำนักงานกลางบัญชี หรือสำนักงานบัญชีประจำท้องที่ภายใน 5 เดือน นับแต่วันเปิดบัญชี

การเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีมีหน้าที่ต้องรักษาบัญชีและเอกสารไว้ ณ สถานประกอบการหรือสถานที่ที่ใช้เป็นที่ทำการผลิตหรือเก็บสินค้าประจำ โดยเก็บรักษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี

บทกำหนดโทษ พรบ.การบัญชี 2543 ได้กำหนดโทษมีกระทำผิด โดยต้องได้รับโทษตามลักษณะความผิดซึ่งมีโทษจำคุกและโทษปรับ หรือทั้งจำคุกและปรับ แล้วแต่ประเด็น

4. ภาษีอากรสำหรับธุรกิจ (ตามประมวลรัษฎากร) การประกอบธุรกิจมีรายได้ก็ต้องเสียภาษีอากร ภาษีเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งในการประกอบธุรกิจ ซึ่งภาษีมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะฯลฯ

หลังจากได้มีการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการด้านภาษีซึ่งแยกคร่าวๆได้ดังนี้

ธุรกิจเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน

- ขอมีเลขบัตรประจำตัวผูเสียภาษี ภายใน 60 วันนับจากวันที่มีเงินได้
- การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยกำหนดให้ยื่นปีละ 2 ครั้ง

ยื่นภาษีครึ่งปี แบบ ภ.ง.ด. 94 ตั้งแต่วันที่ 1 กค. – 30 กย. ของทุกปี

ยื่นตอนสิ้นปี แบบ ภ.ง.ด. 91 ตั้งแต่วันที่ 1 มค. – 31 มีค. ของทุกปี

- ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการ ซึ่งจะเริ่มประกอบกิจการตามที่กฎหมายกำหนดให้มีสิทธิ์ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนวันเริ่มทำการ หรือผู้ประกอบการที่มีรายได้ตั้งแต่ 1,200,000 บาท ต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีมูลค่าเพิ่มคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือน และนำยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

- ภาษีธุรกิจเฉพาะ การธนาคาร ธุรกิจการเงิน การประกันชีวิต การรับจำนำ การประกอบกิจการปกติเยี่ยงธนาคารพานิชย์ การขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าหรือกำไร การขายหลักทรัพย์ การประกอบกิจการอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เหล่านี้ต้องยื่นขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะภายใน 30 วันหลังจากวันเริ่มประกอบกิจการ โดยคำนวณจากยอดขายในอัตราร้อยละ 3.3 ในแต่ละเดือน นำยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด

- ขอมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี ภายใน 60 วัน นับจากวันจดทะเบียนนิติบุคคล

- การเสียภาษีงินได้นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราร้อยละ 30 ของยอดกำไรสุทธิ

- การยื่นแบบ กำหนดให้ยื่นปีละ 2 ครั้ง การยื่นกลางปี (ภ.ง.ด. 51) ยื่นภายใน 60 วัน นับจากวันสุดท้ายของงวด 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี อีกครั้งคือการยื่นสิ้นปี (ภ.ง.ด. 50) ต้องยื่นภายใน 150วันหลังจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

- ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับธุรกิจเจ้าของคนเดียว

5. การขออนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรม
(ดูในหนังสือหน้า 168-175)

6. การขอก่อสร้างอาคารโรงงาน
(ดูในหนังสือหน้า 175-176)


7. การปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน
กฎหมายแรงงานแบ่งออกเป็น 4 กฎหมาย

7.1 กฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ค่าจ้างขั้นต่ำ ใช้หลักเกณฑ์จากดรรชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า ความสามารถของธุรกิจผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกำหนดเป็นสามอัตราคือ

- กลุ่มจังหวัดที่มีสภาพทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า จะกำหนดอัตราค่าจ้างไว้สูง
- กลุ่มจังหวัดที่มีสภาพทางเศรษฐกิจดี กำหนดค่าจ้างรองลงมา
- กลุ่มจังหวัดอื่นๆ โดยอัตราค่าจ้างจะต่ำกว่าสองกลุ่มแรก

เวลาทำงานปกติ ไม่เกิน 8 ชม.ต่อวัน และไม่เกิน 48 ชม.ต่อสัปดาห์ เว้นงานอันตราย ไม่เกิน 7ชม.ต่อวัน และไม่เกิน 42 ชม.ต่อสัปดาห์

เวลาพัก ต้องมีเวลาพักระหว่างการทำงานวันหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ชม. หลังจากลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชม.ติดต่อกัน เวลาพักจะไม่นับเป็นเวลาทำงานเว้นแต่เวลาพักที่รวมกันแล้วเกิน 2 ชม.ต่อวัน ให้นับเวลาที่เกิน 2 ชม. เป็นเวลาทำงานปกติ

วันหยุดประจำสัปดาห์ ให้จัดวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 1 วัน โดยต้องมีระยะห่างไม่เกิน 6 วัน แล้วแต่ตามตกลงว่าจะเป็นวันใด

วันหยุดตามประเพณี ให้มีวันหยุดไม่น้อยกว่า 13 วันต่อปี โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย ให้นายจ้างกำหนดวันหยุดจากวันหยุดราชการ วันหยุดทางศาสนา หรือตามธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น หากตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้างก็ให้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป กรณีที่ไม่อาจหยุดในวันหยุดตามประเพณีได้ ก็ให้ตกลงหยุดในวันอื่นชดเชย หรือจ่ายค่าตอบแทนในวันหยุดไป

วันหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 1 ปี มีสิทธิ์หยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานต่อปี ในปีต่อมาอาจให้หยุดได้มากกว่า 8 วันก็ได้ ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมวันหยุดที่ลูกจ้างไม่ได้หยุดในปีนั้น รวมเข้ากับปีต่อๆไปได้ ส่วนลูกจ้างที่ยังทำงานไม่ครบ 1 ปี นายจ้างอาจคำนวณตามสัดส่วนของการทำงานแล้วแต่กรณี

การลาป่วย ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาป่วยได้ตามที่ป่วยจริง หากลา 3 วันขึ้นไปนายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์ หากลูกจ้างไม่สามารถแสดงใบรับรองแพทย์ได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงกับนายจ้างทราบว่าไม่สามารถมาทำงานได้เนื่องจากประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยระหว่างทำงาน หรือลาคลอด ซึ่งจะไม่ถือเป็นวันลาป่วยตามเงื่อนไขนี้

สิทธิ์ลาเพื่อการอื่น ให้สิทธิ์เพื่อลาทำหมัน และลาเนื่องจากการทำหมันตามเวลาที่แพทย์กำหนด ให้สิทธิ์เพื่อรับราชการทหาร ในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

สิทธ์ลาคลอดบุตร ลาคลอดบุตรได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90วัน โดยนับรวมวันหยุดที่มีระหว่างวันลาด้วย

ข้อห้ามในการใช้แรงงานหญิง
- งานเหมืองแร่หรืองานก่อสร้างใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ อุโมงค์ หรือปล่องภูเขา เว้นแต่ลักษณะงานไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- งานที่ต้องทำบนนั่งร้านสูง 10 เมตรขึ้นไป
- งานผลิตหรือขนส่งวัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ
- งานอื่นตามกฎกระทรวง
ห้ามลูกจ้างหญิงที่ตั้งครรภ์ทำงานระหว่างเวลา 22:00 น. – 06:00 น. ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด หรือทำงานดังต่อไปนี้
- งานเกี่ยวกับเครื่องจักรที่มีความสั่นสะเทือน
- งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับพาหนะ
- งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม
- งานในเรือ
- งานอื่นๆ ตามกฎกระทรวง

ข้อห้ามในการใช้แรงงานเด็ก
- ห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี หากต้องจ้างเด็กอายุไม่ถึง 18 ปี ต้องแจ้งพนักงานตรวจแรงงานภายใน 15 วัน จัดทำบันทึกสภาพการจ้าง และแจ้งสิ้นสุดการจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 7 วันนับจากวันที่เด็กออกจากงาน

- ให้มีเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ชม.ติดต่อกัน หลังจากทำงานมาแล้วไม่เกิน 4 ชม. และใน 4 ชม.ให้มีเวลาพักเพื่อให้เด็กมีโอกาสเปลี่ยนอิริยาบถ

- ห้ามนายจ้างให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานระหว่างเวลา 22:00 น. – 06:00 น. เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากกรมคุ้มครองแรงงาน และห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานล่วงเวลาหรือวันหยุด ยกเว้นในบางกรณี

ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานต่อไปนี้
- งานหลอม เป่า หล่อ รีดโลหะ
- งานปั๊มโลหะ
- งานเกี่ยวกับความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน เสียงและแสงที่มีระดับต่างจากปกติ
- งานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตราย
- งานเกี่ยวกับจุลชีวันเป็นพิษ
- งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ เว้นแต่งานสถานีน้ำมันเชื้อเพลิง
- งานขับ บังคับ หรือยกปั้นจั่น
- งานใช้เลื่อยเดินด้วยพลังไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์
- งานใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ อุโมงค์ หรือปล่องในภูเขา
- งานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี
- งานทำความสะอาดเครื่องจักร หรือเครื่องยนต์ขณะที่เครื่องจักรหรือเครื่องยนต์กำลังทำงาน
- งานบนนั่งร้านสูงกว่า 10 เมตรขึ้นไป

งานบรรทุกหรือขนถ่ายสินค้าเรือเดินทะเล (ดูในหนังสือหน้า 185)

งานประมงทะเล (ดูในหนังสือหน้า 185)

ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด งานที่เท่าเทียมกัน ปริมาณเท่ากัน นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างเท่ากันไม่ว่าชายหรือหญิง และจ่ายเป็นเงินตราไทย เว้นแต่จะได้รับการยินยอมจากลูกจ้าง

- นายจ้างตองจ่ายค่าจ้างตามปกติในวันหยุดประจำสัปดาห์ (เว้นแต่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือต่อหน่วย) วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี

- ค่าจ้างในวันลาป่วยเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน ตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ 1 ปีต้องไม่เกิน 30 วันทำงาน

- ลูกจ้างใช้สิทธิ์ลาเพื่อทำหมัน หรือลารับราชการทหาร ให้จ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน ตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ 1 ปี ต้องไม่เกิน 60 วัน

- ลูกจ้างหญิงที่ลาคลอดบุตรจะได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 45 วัน

- ค่าจ้างล่วงเวลาในวันทำงาน ต้องจ่ายในอัตราไม่น้อยกว่า 1 ½ ของอัตราค่าจ้างต่ชั่วโมงในวันทำงาน หรือของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานสำหรับลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

- ค่าจ้างในวันหยุด แบ่งเป็นสองกรณี
1. ลูกจ้างที่มีสิทธิ์ได้ค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มจากค่าจ้างไม่น้อยกว่า 1 เท่าของอัตราค่าจ้างตามจำนวนที่ทำ

2. ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายไม่น้อยกว่า 2 เท่าของอัตราจ้าง ตามจำนวนที่ทำ

- ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ให้จ่ายไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างตามจำนวนที่ทำ ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือหยุดงานน้อยกว่าที่กำนดในกฎหมาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เสมือนลูกจ้างทำงานในวันหยุด
(กรณีเฉพาะอื่นๆ ในหนังสือหน้า 188)

การคำนวณค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด

1. อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน = ค่าจ้างรายเดือน หารด้วย (30 x ชั่วโมงทำงานโดยเฉลี่ย)

2. การคำนวณชั่วโมงทำงานล่วงเวลา ในกรณีนายจ้างกำหนดเวลาทำงานปกติเป็นสัปดาห์ ให้นับวันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลาเป็นวันทำงาน

3. การคำนวณค่าจ้างเป็นรายเดือน รายวัน รายชั่วโมง หรือระยะเวลาอย่างอื่นไม่เกิน1 เดือน หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ให้จ่ายไม่น้อยกว่า 1 ครั้งต่อ 1 เดือน เว้นแต่ตกลงกันอย่างอื่นอันเป็นประโยชน์ต่อลูกจ้าง เช่นเดียวกับค่าล่วงเวลา และค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่หากนายจ้างเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลา และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตามสิทธิที่ลูกจ้างควรได้ ภายในสามวันหลังจากเลิกจ้าง
(กรณีเฉพาะอื่นๆ ในหนังสือหน้า 189)

ค่าพักงาน นายจ้างมีสิทธิพักงานเพื่อสอบสวนความผิดของลูกจ้าง เว้นแต่มีข้อบังคับหรือข้อตกลงในการพักงาน ได้ไม่เกิน 7 วัน และต้องจ่ายเงินในช่วงพักงาน ตามอัตราที่กำหนดไม่ต่ำกว่า 50% ของค่าจ้าง เมื่อสอบสวนแล้วพบว่าไม่มีความผิดนายจ้างต้องจ่ายเงินให้กับลูกจ้างคืนให้เท่ากับวันทำงานปกติ นับแต่วันที่ถูกพักงาน พร้อมดอกเบี้ย 15% ต่อปี

ค่าชดเชย
- ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าอัตราสุดท้าย 30 วัน
- ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่า 90 วัน
- ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่า 180 วัน
- ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่า 240 วัน
- ทำงานครบ 10 ปีขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่า 300 วัน
- ค่าชดเชยพิเศษนอกเหนือจากค่าชดเชยปกติ กรณีนายจ้างเลิกจ้างเพราะปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต เนื่องจากเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยลูกจ้างที่ทำงานครบ 6 ปีขึ้นไป และได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่า 15 วัน รวมแล้วไม่เกิน 360 วัน

นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีต่อไปนี้
1. ทุจริตในหน้าที่หรือทำผิดทางอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง
2. จงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
3. ประมาทเลินเล่อทำให้นายจ้างเสียหายอย่างร้ายแรง
4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง อันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือ ยกเว้นกรณีร้ายแรงที่นายจ้างไม่ต้องตักเตือน
5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันควร
6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพาทษาสูงสุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ

กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องจัดลูกจ้างเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในกรณีออกจากงานหรือตาย หรือในกรณีอื่นตามกำหนด โดยนายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างแต่ละคนเข้ากองทุน พร้อมกับหักค่าจ้างของลูกจ้างแต่ละคน แล้วจัดทำทะเบียนรายชื่อของลูกจ้าง ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

7.2 กฎหมายเงินทดแทน (ดูในหนังสือหน้า 194)

ในกรณีที่ลูกจ้างได้รับเงินทดแทนรายเดือนและยังไม่ครบตามจำนวนค่าทดแทนที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับแล้วลูกจ้างนั้นตายลง ผู้ที่จะได้รับเงินดังกล่าวต่อไปตามกฎหมายคือ

ก. ทายาทเงินทดแทน
- บิดาของลูกจ้าง - มารดาของลูกจ้าง - คู่สมรสของลูกจ้าง
- บุตรของลูกจ้าง ซึ่งมี 4 ประเภท
1. บุตรที่เกิดภายใน 310 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างตาย หรือสูญหาย
2. บุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี
3. บุตรที่อายุครบ 18 ปี หรือเกิน 18 แล้ว แต่ยังศึกษาอยู่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี
4. บุตรที่อายุตั้งแต่ 18 ปี และทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนที่ลูกจ้างจะตายหรือสูญหาย

ข. ผู้ที่อยู่ในอุปการะ คือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หากขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตายหรือสูญหาย

- ลูกจ้างไม่สามารถทำพินัยกรรมมอบเงินทดแทนให้กับใครได้
- นายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินทดแทนในการประสบอันตราย หรือเจ็ปป่วยของลูกจ้าง เพราะเหตุดังนี้

1. เสพของมึนเมาจนขาดสติ เว้นแต่อันตรายนั้นเกิดจากสาเหตุอื่นๆ
2. ลูกจ้างมีเจตนาให้ตนเองประสบอันตราย

7.3 กฎหมายแรงงานสัมพันธ์
- สถานประกอบการตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ต้องมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยทำเป็นหนังสือซึ่งมีข้อตกลงอย่างน้อยคือเรื่อง เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง การยื่นเรื่องร้องทุกข์ของลูกจ้าง การแก้ไขเพิ่มเติม หรือการต่ออายุข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

- ต้องอนุญาตให้ลูกจ้างตั้งสหภาพแรงงานโดยมีผู้เริ่มก่อตั้งไม่น้อยกว่า 10 คน โดยมีสิทธิเรียกร้องนายจ้าง และให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาภายในสามวัน นับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้อง ถ้าเจรจาไม่ได้ถือว่าเกิดข้อพิพาทแรงงาน ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทราบภายใน 35 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ตกลงกันไม่ได้ หากไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ นายจ้างจะปิดงานหรือลูกจ้างจะนัดหยุดงานก็ได้ แล้วคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะพิจารณาและแจ้งให้ทั้งสองฝ่ายทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่รับข้อพิพาท

- ในขณะที่อยู่ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ย ห้ามนายจ้างเลิกจ้าง หรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้อง

การร้องทุกข์ของลูกจ้าง (ดูในหนังสือหน้า 197)

7.4 กฎหมายประกันสังคม ใช้บังคับในกิจการที่มีลูกจ้าง 10 คนขึ้นไป ยกเว้นครูของโรงเรียนเอกชนตาม กม.ว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ลูกจ้างองค์กรระหว่างประเทศ ข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำของราชการ ลูกจ้างที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานบ้าน ลูกจ้างกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ เลี้ยงสัตว์ ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปี และไม่มีลักษณะงานอื่นเกี่ยวข้องด้วย

ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบ
- นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบฝ่ายละเท่าๆกัน ในอัตราไม่เกินร้อยละ 1.5 ของค่าจ้างในเวลาทำงานปกติของผู้ประกันตน กรณีประสบเหตุอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และตาย ในอัตราไม่เกินร้อยละ 3 กรณีสงเคราะห์บุตรและผู้ชราภาพ และในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 ในกรณีว่างงาน

หน้าที่ของนายจ้างตามกฎหมายประกันสังคม
- ยื่นแบบแสดงรายชื่อผู้ประกันตน อัตราค่าจ้างและข้อความอื่นๆ ตามสำนักงานประกันสังคมกำหนด ภายใน 30 วันหลังจากลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตน หากมีการเปลี่ยนแปลงต้องแจ้งภายใน 15 วันนับแต่มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อนายจ้างยื่นแบบแล้ว สนง.ประกันสังคมจะออกหนังสือแสดงการขึ้นทะเบียนประกันสังคม ให้แก่นายจ้างและออกบัตรประกันสังคมแก่ลูกจ้าง

- จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมร่วมกับผู้ประกันตนและรัฐบาล ฝ่ายละเท่าๆกัน

- หักค่าจ้างของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง ตามจำนวนที่จะต้องส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนและส่งสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

- จัดให้มีทะเบียนผู้ประกันตนและเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่ทำงานของนายจ้างสำหรับให้เจ้าหน้าที่ตรวจตราได้

ประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้จากกฎหมายประกันสังคม
- กรณีประกันอันตรายหรือเจ็บป่วย - กรณีคลอดบุตร
- กรณีทุพพลภาพ - กรณีตาย
- กรณีสงเคราะห์บุตร - การณีชราภาพ
- กรณีว่างงาน
(รายละเอียดของประโยชน์ในแต่ละกรณี ดูในหนังสือหน้า 199-201)

..........................................................................
ที่มา : ก้าวสู่ความเป็นผู้ประกอบการ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


Create Date : 06 กันยายน 2549
Last Update : 6 กันยายน 2549 22:44:05 น. 0 comments
Counter : 575 Pageviews.

หมีแมนยู
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Hi Folks
Leave Your Message Here
Friends' blogs
[Add หมีแมนยู's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.