Group Blog
 
All blogs
 
การเป็นผู้ประกอบการ สรุปส่วนที่ 5

บทที่ 5
ความสำเร็จ และความล้มเหลวของธุรกิจ


การทำธุรกิจ ไม่จำเป็นว่าทุกอย่างจะราบรื่น แต่ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นก็เหมือนยาชูกำลัง อย่างไรก็ตามการเรียนรู้โดยศึกษาจากความผิดพลาดของผู้อื่น ย่อมจะดีกว่าการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งอาจเป็นบทเรียนราคาแพงเกินไป

หากเลี่ยงปัญหาไม่ได้ ก็จงวางหลักการที่จะแก้ไขปัญหานั้นเสีย โดยยึดหลักต่อไปนี้

1. วิเคราะห์ให้เห็นว่าเกิดปัญหาอะไร
2. เมื่อได้ปัญหาชัดเจนแล้ว ดำเนินการแก้ไขปัญหานั้นทันที
3. อย่าหนีปัญหาด้วยการเปลี่ยนไปทำธุรกิจอย่างอื่น
4. สู้ต่อไป

สาเหตุแห่งความสำเร็จ และความล้มเหลว
1. การคาดคะเนความสำเร็จเร็วเกินไป
- ผู้ประกอบการรายใหม่ มีการค้นคว้าวิธีและประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ และมักนึกเอาเองว่ามองเห็นผลสำเร็จทางธุรกิจ เห็นกำไรตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มตั้งโรงงาน ซึ่งหากคาดการผิด ผู้ลงทุนก็อาจท้อแท้หมดกำลังใจได้
- ต้องศึกษาวางแผนธุรกิจเป็นอย่างดีจากข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความแน่ใจ และหากเกิดปัญหาระหว่างดำเนินงานจะได้ปรับแผนอย่างถูกต้อง
- บางครั้งปัญหาอาจเกิดจากภายนอก ซึ่งเป็นปัจจัยที่เรามักคาดไม่ถึง ดังนั้นเครื่องมือที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาคือ การวิจัยตลาด

2. การกำหนดราคาเพื่อเอาชนะคู่แข่ง
- เจ้าของธุรกิจเป็นผู้กำหนดราคาเอง มีหลายรายที่ตั้งราคาตามคู่แข่ง หรือตามทั่วไปที่ตั้งกัน ซึ่งยังไม่ถูกต้องเสียทีเดียว
- การตั้งราคา เป็นความเสี่ยงของเจ้าของธุรกิจ ซึ่งต้องศึกษาราคาตลาดของคู่แข่งตลอดเวลา ถ้าเราสามารถแข่งขันทำรายได้สูงกว่าผู้แข่งขัน เท่ากับได้ลูกค้ามาจากคู่แข่งเช่นกัน
- ควรใช้หลักการ ตั้งราคาเชิงรุก คือการทำให้สินค้าราคายืดหยุ่น และสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้

3. ไม่อยู่บริหารกิจการเอง
- ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง ส่วนใหญ่เจ้าของจะบริหารเอง แต่มีไม่น้อยที่เข้าใจว่าเมื่อธุรกิจดำเนินได้แล้วไม่จำเป็นที่เจ้าของจะต้องบริหารกิจการด้วยตนเอง ซึ่งความจริงแล้ว ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จพร้อมชีวิตที่สบายๆ คงเป็นไปไม่ได้
- ธุรกิจขนาดย่อมเจ้าของต้องดูแลด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เพราะขาดบุคคลากรที่มีประสิทธิภาพ และเจ้าของกิจการยังขาดการจัดการที่สามารถวางระบบที่ฝ่ายต่างๆ สามารถตรวจสอบกันเองได้

- วิธีการที่เจ้าของกิจการจะนำไปใช้ในการควบคุม ในกรณีที่จะไม่ดำเนินการบริหารเอง
1. ต้องมีคำสั่งมอบหมายให้ใครเป็นผู้จัดการแทน
2. พยายามสร้างระบบภายในบริษัท เพื่อให้มีการตรวจสอบกันได้ระหว่างแผนกต่างๆ
3. ไม่ควรละทิ้งการดูแลธุรกิจเป็นเวลานานเกินไป
4. เมื่อไม่ได้อยู่ที่ทำงาน ต้องให้รายละเอียดแก่ลูกน้องที่จะติดต่อกับท่านได้
5. ต้องมีมาตรการตรวจสอบการทำงานของลูกน้องเป็นระยะๆ
6. สร้างมาตรการเด็ดขาดกับการทุจริต

4. การลดต้นทุนการผลิตถาวรดีกว่าหักโหม
- วิธีหนึ่งที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาการแข่งขันที่สูง คือการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดด้วยการลดค่าใช้จ่ายอย่างกระทันหัน ซึ่งทำให้กำไรต่อหน่วยสูงขึ้น แต่วิธีนี้ก็อาจให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป
- การลดต้นทุนการผลิตด้วยการลดคนงาน หรือลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคนงาน ทำให้คนงานเสียขวัญและกำลังใจ อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลทางลบมากกว่า
- การลดต้นทุนระยะยาว เช่นการวางแผนการประหยัดพลังงาน แผนการช่วยกันใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างคุ้มค่า หรือลดความผิดพลาดต่างๆ ให้น้อยลงเพื่อประหยัดงบประมาณแก้ไข ถือเป็นการลดต้นทุนทั้งสิ้น
- ฝึกอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจในงานให้มากขึ้น
- สร้างจิตสำนึกให้รักองค์กร
- รู้จักควบคุมต้นทุนการผลิต

5. โลภมากในการรับคำสั่งซื้อ
- ผู้ประกอบการต้องมีข้อมูลละเอียดทุกขั้นตอน รู้ความสามารถในการผลิตของคนงาน ระยะเวลาของกระบวนการผลิต การวางแผน ทั้งวัตถุดิบ การหาเงินมาหมุนเวียนในการผลิต คำนวณเวลาตั้งแต่ลูกค้าเปิด L/C มาให้ ซึ่งก่อนนี้ต้องมีข้อมูลทุกอย่างพร้อม จึงจะรับคำสั่งซื้อ

6. ชอบเป็นวันแมนโชว์
- การทำธุรกิจใหม่ๆ ธุรกิจยังเล็กอยู่ท่านสามารถลงมือทำเองได้ทั้งหมด หลังจากธุรกิจเติบโตขึ้น มีคนงานมากขึ้น แต่ท่านก็อาจยังทำงานหนักเช่นเดิม โดยการทำงานหนักจนชินถือเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมว่าเมื่อธุรกิจเติบโตถึงจุดหนึ่ง ท่านจะไม่สามารถดูแลทุกอย่างเองได้อีกต่อไป ไม่มีใครสร้างธุรกิจใหญ่โตได้ด้วยผลงานของคนๆเดียว
- ผู้บริหารต้องรู้จักใช้คน กระจายอำนาจให้เหมาะสม จ้างคนมีความสามารถเข้ามาทำงาน โดยมีหลักการบริหารบุคคลคร่าวๆ ดังนี้

1. ประมาณการบุคลากรที่จำเป็นต้องใช้
2. เขียนคำบรรยายลักษณะงานให้ชัดเจน
3. กำหนดแผนภูมิองค์กร แสดงสายการบังคับบัญชา
4. ให้คนงานสามารถติดต่อท่านได้โดยตรง แม้จะมีสายการบังคับบัญชาแล้วก็ตาม
5. สร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน

7. ขาดระบบควบคุมสินค้าคงคลัง
- ผู้ประกอบการบางท่านปล่อยให้สินค้าคงคลังมีมากเกินไป ซึ่งหมายถึงการเอาเงินสดไปจมกับสินค้าที่วางอยู่เฉยๆ เงินจำนวนนี้สามารถงอกเงยได้โดยเปลี่ยนเป็นเงินสดสำรองแทนที่จะเอาไปซื้อสินค้าคงคลังเก็บไว้
- บางบริษัทใช้วิธีรุสต็อก เอาของออกมาขายลดราคาเพื่อให้ได้เงินสดมาเก็บไว้
- การเก็บสินค้าไว้มากทำให้ต้องกู้เงินจากธนาคารในอัตราดอกเบี้ยที่สูงโดยไม่จำเป็น
- แต่การเก็บสินค้าน้อยไป ก็อาจเกิดปัญหาสินค้าขาดมือ ดังนั้นต้องวางแผนการผลิตให้ดี โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องสต็อกวัตถุดิบเพื่อการผลิต
- ในญี่ปุ่นมีระบบการจัดการ JIT ที่จะไม่มีการสต็อกสินค้า แต่เมื่อมีใบสั่งก็สามารถเอาไปส่งได้ทันที หรือผลิตได้เลย

8. หาผู้อื่นมาช่วย
- หาคนที่ถนัดและตั้งใจในงานที่ได้รับมอบหมาย
- หมั่นตรวจสอบการทำงานของคนที่มาช่วย ซึ่งควรทำแต่เนิ่นๆ เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

9. ความประทับใจครั้งแรก
- มีธุรกิจมากมายที่เจ้าของธุรกิจเริ่มต้นอย่างผิดพลาด และไม่มีโอกาสแก้ตัวกับลูกค้านั้นอีก สร้างความไม่ประทับใจเมื่อแรกพบกับลูกค้าที่เขาจะจดจำตลอดไป
- ความผิดพลาดนี้ เป็นเพราะรีบเร่งเปิดกิจการเร็วเกินไป ไม่มีความพร้อมในการบริการลูกค้า ซึ่งความผิดพลาดนี้เราสามารถหลีกเลี่ยงได้โดย
1. มีการมอบหมายความรับผิดชอบให้พนักงานทุกคนอย่างชัดเจน
2. ต้องเตรียมพร้อมทุกด้าน ในการเปิดธุรกิจใหม่
3. ประมาณการวัตถุดิบเพื่อที่จะผลิตสินค้าและบริการให้เพียงพอกับความต้องการ
4. เตรียมทุกอย่างให้เรียบร้อย ซึ่งรวมถึงความสะอาดสวยงามของอาคารสำนักงาน
5. นำข้อเสนอแนะ หรือข้อร้องเรียนของลูกค้า มาปรับปรุงแก้ไข

10. เลือกหุ้นส่วนผิด
- ธุรกิจจะต้องทำเพื่อองค์กร ไม่ใช่เพื่อตนเอง ต้องมีความซื่อสัตย์ ข้อมูลทุกอย่างต้องเปิดเผย ไม่ใช่ปิดบังไม่ให้หุ้นส่วนรู้
- การเอาความสัมพันธ์แบบเพื่อนมาใช้ในการทำงานแบบหุ้นส่วน จะทำให้การทำงานไม่ชัดเจน
- ธุรกิจส่วนใหญ่เลือกหุ้นส่วนที่มีความสามารถต่างกัน แล้วนำจุดเด่นแต่ละคนมาช่วยบริหารกิจการ
- การเลือกผู้เข้าร่วมธุรกิจ จะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. หาคนที่มีความรู้ความสามารถสิ่งที่เราขาด
2. ตรวจสอบประวัติว่ามีความรู้ด้านนั้นมา และทำงานในองค์กรที่เชื่อถือได้ หรือเป็นเจ้าของธุรกิจเอง มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง
3. แน่ใจว่าคัดเลือกคนที่มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี
4. สิ่งที่หุ้นส่วนต้องมี คือ การทำงานทุ่มเทอย่างจริงจังให้กับองค์กร
5. ตรวจเรื่องคุณสมบัติผู้ร่วมหุ้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

11. เคล็ดลับการประหยัดเงิน
- ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง คนมีอำนาจซื้อน้อยลงมาก การขายสินค้ามีการต่อราคากันมาก ผู้บริโภคหันไปสนใจปัจจัยด้านราคามากกว่า คือสนใจสินค้า ราคาถูก มีของแถม หรือรายการพิเศษ พ่อค้าร้านปลีกบางกลุ่มจึงหันไปซื้อสินค้ารุสต็อก แล้วนำมาเลหลังแทนการซื้อจากผู้ค้าส่ง
- การขายทอดตลาด อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรของสำนักงาน หรือของใช้บางอย่างในราคาต่ำ เป็นอีกวิธีในการได้เงินสดมาบริหารธุรกิจต่อ หรือบางครั้งอาจจะตัดกิจการบางอย่างออกไป หรือทั้งกิจการ เพื่อนำเงินสดไปทำธุรกิจใหม่ที่เล็กกว่า
- การคาดคะเนผิดพลาด ทำให้มีสินค้าค้างสต็อกจำนวนมาก ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน ผู้ประกอบบางรายจึงยอมขายสินค้าเหล่านั้นในราคาเท่าหรือขาดทุนเพื่อแลกกับสินค้าอื่นที่ต้องการ การแลกเปลี่ยนจึงเป็นวิธีการประหยัดเงินอีกวิธี โดยการเปลี่ยนสินค้าที่มีมากเกินไป เป็นสิ่งอื่นๆ ที่มีความต้องการมากกว่า

12. ความล้มเหลวเกิดจากการรีบร้อนตัดสินใจ
- บางครั้งการรีบร้อนลงมือทำธุรกิจโดยไม่วางแผนให้รัดกุมจะทำเกิดความเสี่ยงสูง หลายกิจการประสบความล้มเหลว เพราะด่วนตัดสินใจ
- หากเกิดความล้มเหลวครั้งหนึ่ง ขอให้นำสิ่งนั้นเป็นประสบการณ์ นำมาศึกษาหาจุดบกพร่องและแก้ไขเสีย อย่าละทิ้งแล้วหันไปหาธุรกิจอื่น เพราะท่านก็จะประสบความล้มเหลวต่อไปไม่สิ้นสุด

13. การลงมือทำธุรกิจหลายอย่างพร้อมกันทั้งที่ไม่มีประสบการณ์
- ความสำเร็จในธุรกิจหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าทำธุรกิจอื่นแล้วจะประสบความสำเร็จ
- ธุรกิจใหม่ที่ไม่ได้สัมพันธ์กับธุรกิจเดิม ทำให้เกิดความเสี่ยงสูง
- การลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง จงแบ่งเงินที่จะลงทุนไว้ส่วนหนึ่ง หากพลาดไปจะได้มีเงินเหลือเพื่อตั้งตัวใหม่
- ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อาจทำให้ธุรกิจใหม่ที่ว่าดี ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าที่คาดการณ์ หรืออาจจะโตไม่ทันต่อโอกาสอันดีในการลงทุนด้านดังกล่าว
- การทำธุรกิจ ถ้าถนัดสิ่งใดก็ควรทำสิ่งนั้น
- หากจะทำธุรกิจที่ไม่มีประสบการณ์ ขอให้คิดให้รอบคอบ

14. อันตรายพึ่งพาเพียงตลาดเดียว
- การทำธุรกิจนั้น เก่งอย่างเดียวไม่พอ ตลาดเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมาก่อน เพราะตลาดเป็นเครื่องประกันว่าเมื่อผลิตแล้วสามารถขายได้
- ไม่ควรเลือกลูกค้าเพียงรายเดียว โดยเฉพาะเป็นลูกค้ารายใหม่ที่ผลิตมาแล้วขายให้ทั้งหมด หากเขาไม่ซื้อขึ้นมาจะลำบาก เพื่อความอยู่รอดควรต้องพึ่งพาลูกค้าหลายๆ รายจึงจะปลอดภัย

..........................................................................
ที่มา: ก้าวสู้ความเป็น ผู้ประกอบการ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม



Create Date : 06 กันยายน 2549
Last Update : 6 กันยายน 2549 22:40:36 น. 0 comments
Counter : 521 Pageviews.

หมีแมนยู
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Hi Folks
Leave Your Message Here
Friends' blogs
[Add หมีแมนยู's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.