Group Blog
 
All Blogs
 
การจัดทำมาตรฐานข้อกำหนดด้านเทคนิค

แนวทางในการจัดทำมาตรฐานข้อกำหนดด้านเทคนิค

ของโครงการทางด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ

GUIDELINE FOR DETERMINATION OF STANDARD TECHNICAL SPECIFICATIONS

FOR WATER RESOURCES ENGINEERING PROJECTS





บทคัดย่อ : การศึกษานี้ เป็นการนำเสนอแนวคิดในการจัดแบ่ง จำแนกหมวดหมู่ของงานโครงการทางด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ให้เป็นระบบ ระเบียบ และวางแนวทางในการจัดทำข้อกำหนดด้านเทคนิคของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในการศึกษาได้จัดแบ่งหมวดหมู่ประเภทของงานโครงการทางด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ศึกษาและสรุปลักษณะของข้อกำหนดแบบต่าง ๆ ของหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ วางแนวทางในการจัดหมวดหมู่และเสนอแนะวิธีการจัดทำข้อกำหนดด้านเทคนิค โดยได้เสนอแนะและวางแนวทางเพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม และใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาปรับปรุง ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการระดมสมอง และอาศัยการมีส่วนร่วมจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะพัฒนาให้เป็นมาตรฐานและมีประโยชน์ต่องานวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ วิศวกรรมโยธา และวิศวกรรมสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีมาตรฐานต่อไป


ABSTRACT : This study is to present the proposed guideline for determination of Standard Technical Specifications which contains classification of water resources engineering projects to form the unique of standardization and guideline settings. Classifications, types and formats of the specifications, both local and foreign have been reviewed. New arrangements of specifications divisions and writing formats are presented. The proposed concept is an initiative idea of practicable guideline for further research and development. However, brain storming and public participation are necessarily required for future development and finalization of complete Standard Technical Specifications in Water Resources Engineering, Civil Engineering and all other related Engineering fields.



KEYWORDS : Technical Specifications, Water Resources Engineering Projects, Specifications’ Division Classification.





1. บทนำ

ประเทศไทยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างงานโครงการทางด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ หลายหน่วยงาน อาทิเช่น กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และอื่น ๆ อีกหลายหน่วยงาน ซึ่งล้วนแต่มีโครงการทางด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ แตกต่างกันหรือคล้ายกันหลายประเภท ประกอบกับมาตรฐานข้อกำหนดการก่อสร้างในประเทศไทย มิได้มีการกำหนดให้เป็นมาตรฐาน แม้ว่าวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จะได้จัดทำหนังสือคู่มือมาตรฐานหลายเล่มเกี่ยวกับข้อกำหนดการก่อสร้างไว้บ้างแล้วก็ตาม แต่หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ก็มักจะมีมาตรฐานข้อกำหนดของตนเอง จึงมีแนวคิดที่จะจัดแบ่ง จำแนกหมวดหมู่ของงานโครงการทางด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ให้เป็นระบบ ระเบียบ และวางแนวทางในการจัดทำข้อกำหนดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน



1.1 ความหมายและจุดมุ่งหมายของข้อกำหนด (Purpose of Specifications)

ข้อกำหนด (Specifications) บางครั้งอาจเรียกว่า รายการประกอบแบบ หรือ รายการก่อสร้าง โดยทั่วไปมักคิดถึงรายละเอียดประกอบแบบด้านเทคนิค เช่นกล่าวถึงรายละเอียด วัสดุ อุปกรณ์ ขั้นตอนและวิธีการก่อสร้าง เป็นต้น (วิสูตร, 2543)



รายการก่อสร้างคือ “เอกสารที่อธิบายความคิดของผู้ออกแบบต่อบุคคลต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างเพื่อกำหนด ชนิด ขนาด มาตรฐานการทำงาน และรายละเอียดของงานก่อสร้าง” จึงถือว่าเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างและเป็นเอกสารสำคัญช่วยให้แบบรูปกระจ่างยิ่งขึ้น ทำให้ผู้รับเหมาทราบได้ว่ามีอะไรบ้างอยู่ในความคาดหมายของเขา ข้อมูลส่วนมากที่ใช้ในการทำงานจะกำหนดไว้ในแบบรูป ซึ่งเขียนขึ้นในลักษณะต่าง ๆ กัน แต่รายละเอียดเกี่ยวกับฝีมือ และวัสดุอุปกรณ์นั้น ไม่สามารถระบุลงไปในงานเขียนแบบได้ (พนม, 2539)



1.2 ประเภทของโครงการทางด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ (Classification of Water Resources Projects)

สมบูรณ์ (2530) ได้จำแนกประเภทของโครงการทางด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ดังนี้คือ 1. โครงการชลประทาน 2. โครงการน้ำประปา 3. โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 4. โครงการควบคุมอุทกภัย และ 5. โครงการรักษาคุณภาพน้ำ
นอกจากนี้ยังมีโครงการทางด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ อื่น ๆ อีก ดังต่อไปนี้ คือ 6. โครงการทางด้านวิศวกรรมแม่น้ำ และ 7. โครงการทางด้านวิศวกรรมชายฝั่งทะเล

ลักษณะและส่วนประกอบของโครงการด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเอกสารอ้างอิงหมายเลข [6]



1.3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ และลักษณะรูปแบบของข้อกำหนดในประเทศไทย

1.3.1 โครงการชลประทาน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการชลประทาน ได้แก่

กรมชลประทาน

รูปแบบข้อกำหนดของกรมชลประทาน มิได้มีการกำหนดรูปแบบเป็นมาตรฐานแน่นอน บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาจะเป็นผู้จัดทำข้อกำหนดตามความเหมาะสมของโครงการ และตามมาตรฐานของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษานั้น ๆ

1.3.2 โครงการน้ำประปา

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการน้ำประปา ได้แก่ การประปานครหลวง และ การประปาภูมิภาค

รูปแบบของข้อกำหนดของการประปานครหลวงและการประปาภูมิภาค ทั้ง 2 หน่วยงาน มีมาตรฐานข้อกำหนดของตนเอง มีทั้งรูปแบบภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภท ชนิด และขนาดของโครงการ รายละเอียดข้อกำหนดที่นอกเหนือจากข้อกำหนดมาตรฐาน จะจัดทำในรูปเล่มแยกเฉพาะต่างหากเรียกว่าข้อกำหนดเพิ่มเติม (Supplemental Specification) ในกรณีที่เป็นโครงการพิเศษเช่นเป็นโครงการเงินกู้ขนาดใหญ่ โครงการออกแบบรวมก่อสร้าง หรือโครงการพิเศษประเภทอื่น ๆ ก็จะมีข้อกำหนดพิเศษ ซึ่งจะดำเนินการโดยบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ซึ่งก็จะอิงตามรูปแบบมาตรฐานของบริษัทที่ปรึกษานั้น ๆ

1.3.3 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ได้แก่

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

รูปแบบข้อกำหนดของทั้ง 2 หน่วยงานมิได้มีการกำหนดรูปแบบเป็นมาตรฐานแน่นอน บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาจะเป็นผู้จัดทำข้อกำหนดตามความเหมาะสมของโครงการ และตามมาตรฐานของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษานั้น ๆ

1.3.4 โครงการควบคุมอุทกภัยและโครงการทางด้านวิศวกรรมแม่น้ำ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการควบคุมอุทกภัยและโครงการทางด้านวิศวกรรมแม่น้ำ ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพมหานคร กรมเจ้าท่า และการท่าเรือแห่งประเทศไทย

รูปแบบของข้อกำหนดของกรมโยธาธิการและผังเมืองมีมาตรฐานข้อกำหนดของตนเอง เป็นฉบับภาษาไทย เรียกว่ามาตรฐานงานก่อสร้าง และมาตรฐานงานช่าง (เอกสารอ้างอิงหมายเลข [1]) รายละเอียดข้อกำหนด ที่นอกเหนือจากข้อกำหนดมาตรฐาน จะจัดทำเพิ่มเติมเฉพาะต่างหากเรียกว่าข้อกำหนดเฉพาะงาน สำหรับรูปแบบข้อกำหนดของกรุงเทพมหานคร มีมาตรฐานข้อกำหนดของตนเอง เป็นฉบับภาษาไทย เรียกว่ารายการมาตรฐานงานก่อสร้าง รายละเอียดข้อกำหนดที่นอกเหนือจากรายการมาตรฐานงานก่อสร้าง จะจัดทำเพิ่มเติมเฉพาะต่างหากเรียกว่าข้อกำหนดเฉพาะงาน

1.3.5 โครงการรักษาคุณภาพน้ำ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรักษาคุณภาพน้ำ ได้แก่

กรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ องค์การจัดการน้ำเสีย และเทศบาลจังหวัด กระทรวงมหาดไทย

1.3.6 โครงการทางด้านวิศวกรรมชายฝั่งทะเล

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการทางด้านวิศวกรรมชายฝั่งทะเล ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย เทศบาลจังหวัด กระทรวงมหาดไทย



1.4 ลักษณะรูปแบบข้อกำหนดของต่างประเทศ

1.4.1 รายงานการศึกษา รายละเอียดลักษณะและการเปรียบเทียบของระบบข้อกำหนด นานาชาติ (A Description and Comparison of National Specification Systems)
International Construction Information Society (2001) ได้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานแสดงรายละเอียดรูปแบบลักษณะของข้อกำหนดและทำการเปรียบเทียบ ระบบการจัดทำข้อกำหนดของสมาชิกของสมาคมข้อมูลการก่อสร้างระหว่างประเทศ (The International Construction Information Society) จำนวน 12 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา สาธารณรัฐ เชค ฟินแลนด์ เยอรมัน ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

รายละเอียดสามารถดูเพิ่มเติมได้จากเอกสารอ้างอิงหมายเลข [9]

1.4.2 ลักษณะรูปแบบข้อกำหนดตามระบบของประเทศสหรัฐอเมริกา

Construction Specifications Institute (CSI) เป็นสถาบันมาตรฐานข้อกำหนดของสหรัฐอเมริกา ได้ดำเนินการจัดทำรูปแบบสำหรับข้อกำหนดเพื่อการก่อสร้าง ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1961 จนแล้วเสร็จเป็น มาตรฐานการจัดแบ่งหมวดหมู่ของข้อกำหนดเพื่อการก่อสร้าง MasterFormat (The CSI Format for Construction Specifications) ใน ปี ค.ศ. 1964 จากนั้นก็มีการปรับปรุง เพิ่มเติม เป็นระยะ ๆ จนถึงฉบับล่าสุด ใน ปี ค.ศ. 1995 มีการจัดแบ่งหมวดหมู่ของข้อกำหนดเป็น 16 หมวด และได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

1.4.3 หัวข้อการจัดหมวดหมู่ตามมาตรฐาน ของ สถาบันข้อกำหนดการก่อสร้าง สหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1995 (MASTER LIST OF SPECIFICATIONS : CONSTRUCTION SPECIFICATIONS INSTITUTE 1995)

CSI ได้จัดหมวดหมู่ข้อกำหนดเป็น 16 หมวด ดังนี้

1. ความประสงค์ ทั่วไป 2. งานสนาม 3. งานคอนกรีต 4. วัสดุก่อ 5. งานโลหะ 6. งานไม้ 7. งานป้องกันความร้อนและความชื้น 8. งานประตู และหน้าต่าง 9. งานตกแต่ง 10. งานพิเศษเฉพาะอย่าง 11. งานอุปกรณ์ 12. งานเฟอร์นิเจอร์ 13. งานก่อสร้างพิเศษ 14. งานระบบการลำเลียงขนส่ง 15. งานเครื่องกล และ 16. งานระบบไฟฟ้า

1.4.4 การปรับปรุง แก้ไข ขยายเพิ่มเติม รายละเอียดการจัดหมวดหมู่ตามมาตรฐาน ของ สถาบันข้อกำหนดการก่อสร้าง สหรัฐอเมริกา

ด้วยเหตุแห่งความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ทั้งทางด้านการก่อสร้าง ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต การใช้ฐานข้อมูล ระบบการประกวดราคาออนไลน์ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ CSI จึงได้ทำการ ปรับปรุงแก้ไข ขยายเพิ่มเติม รายละเอียดการจัดหมวดหมู่มาตรฐาน ตั้งแต่ เดือน เมษายน ปี ค.ศ. 2001 จนแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2003 และประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2004 โดยได้จัดแบ่งหมวดหมู่ใหม่ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 : การจัดซื้อจัดหาและสัญญา

กลุ่มที่ 2 : ข้อกำหนด ประกอบด้วย กลุ่มย่อย 5 กลุ่ม คือ

กลุ่มย่อยที่ 1 : ความต้องการทั่วไป

กลุ่มย่อยที่ 2 : การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย ลักษณะสภาพที่เป็นอยู่ งานคอนกรีต งานวัสดุก่อ งานโลหะ งานไม้ พลาสติก และวัสดุประกอบอื่น ๆ งานป้องกันความร้อนและความชื้น งานช่องเปิด ประตูและหน้าต่าง งานตกแต่ง งานพิเศษเฉพาะอย่าง งานอุปกรณ์ งานเฟอร์นิเจอร์ งานก่อสร้างพิเศษ และงานระบบการลำเลียงขนส่ง

กลุ่มย่อยที่ 3 : งานสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านบริการ ประกอบด้วย งานระงับอัคคีภัย งานท่อสุขาภิบาล และสุขภัณฑ์ งานระบบระบายอากาศและปรับอากาศ ระบบควบคุมอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ งานไฟฟ้า งานระบบโทรคมนาคม การรักษาความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยด้วยอิเล็กทรอนิกส์

กลุ่มย่อยที่ 4 : งานสนามและโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย งานดิน งานปรับปรุงพื้นที่ภายนอก ระบบสาธารณูปโภค งานขนส่ง และงานทางน้ำและทะเล

กลุ่มย่อยที่ 5 : งานอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการ ประกอบด้วย กระบวนการแบบเบ็ดเสร็จ อุปกรณ์ในการควบคุมจัดการวัสดุ อุปกรณ์ในการควบคุมความร้อน ความเย็น และกระบวนการลดความชื้น อุปกรณ์ในการควบคุมแก๊ส ของเหลว การทำให้บริสุทธิ์และการเก็บบรรจุ อุปกรณ์ในการควบคุมมลภาวะ อุปกรณ์ในงานอุตสาหกรรมการผลิตเฉพาะ และแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้า

หัวข้อและหมายเลขหมวดหมู่โดยละเอียด สามารถดาวน์โหลดได้จากเอกสารอ้างอิงหมายเลข [8]



2. พื้นฐานและความเข้าใจในข้อกำหนด

2.1 คำจำกัดความและความหมาย

ข้อกำหนด เป็นคำซึ่งวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติมาจากคำว่า Specification ในภาษาอังกฤษ

ซึ่งสามารถสรุปความว่าการจัดทำข้อกำหนด คือ กระบวนการระบุพรรณนาเพื่อแสดงรายละเอียดเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะรายละเอียดที่แสดงถึงคุณลักษณะของวัสดุ ขนาด ขั้นตอน วิธีการ และคุณภาพ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้ปฏิบัติหรือดำเนินการเพื่อให้ได้งาน สิ่งก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ หรือการติดตั้ง และการบริการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการดังที่กำหนดไว้



2.2 วัตถุประสงค์และความสำคัญของข้อกำหนด วัตถุประสงค์ของข้อกำหนดเพื่อ ระบุรายละเอียดต่าง ๆ ที่ไม่สามารถแสดงไว้ในแบบก่อสร้าง อาทิเช่น มาตรฐานต่าง ๆ คุณสมบัติของวัสดุ วิธีการก่อสร้างหรือปฏิบัติ วิธีการทดสอบ ความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ ตลอดจนถึงวิธีการวัดปริมาณงานและการจ่ายเงิน ความสำคัญของข้อกำหนด คือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาในโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้รับจ้างปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์และความต้องการของโครงการ การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดอาจนำมาซึ่งอันตรายและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้



2.3 ประเภทของข้อกำหนด

2.3.1 ประเภทของข้อกำหนดแบ่งตามลักษณะของข้อกำหนด ได้แก่ ข้อกำหนดมาตรฐาน (Standard Specification) และข้อกำหนดเฉพาะงาน (Special Provision, Particular Specification or Supplementary Specifications)

2.3.2. ประเภทของข้อกำหนดแบ่งตามลักษณะรายละเอียดของเนื้อหา ได้แก่ ข้อกำหนดแบบละเอียด (Descriptive Specifications) ข้อกำหนดเพื่อการปฏิบัติงาน (Performance Specifications) ข้อกำหนดแบบอ้างอิง (Reference Specifications) ข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิต (Proprietary Specifications) และมาตรฐานอ้างอิง (Reference Standards)



3. การเขียนข้อกำหนด

การเขียนข้อกำหนดจัดเป็นงานที่สำคัญ ผู้เขียนข้อกำหนด จะต้องเป็นผู้รอบรู้ในงานนั้นอย่างยิ่ง อีกทั้งต้องรอบคอบละเอียดถี่ถ้วน เขียนรายการชัดเจนและปฏิบัติได้ ฉะนั้น การเขียนข้อกำหนดใด ๆ ย่อมขึ้นอยู่กับ 6 C ดังนี้

Correct ถูกต้อง เนื้อหาต้องตรงกับวัตถุประสงค์ ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ใช้ภาษาได้ถูกต้องทั้งโครงสร้างประโยค สำนวน ลีลา เครื่องหมายวรรคตอน ตัวสะกด

Complete สมบูรณ์ มีเนื้อหาครบถ้วน

Clear ชัดเจน ไม่กำกวม อ่านเข้าใจง่าย ตรงตามที่ต้องการสื่อ บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่ต้องตีความ

Concise กระชับ กะทัดรัด รัดกุม ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย

Coherence สัมพันธภาพ มีการเชื่อมโยงในข้อความ แต่ละประโยคต้องมีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกัน

Convincing สมเหตุผล มีความเป็นไปได้



4. ข้อเสนอแนะในการจัดแบ่งหมวดหมู่ข้อกำหนด

4.1 แนวทางเลือกที่ 1

การจัดแบ่งหมวดของข้อกำหนด ตามแนวทางของ CSI MasterFormat ปี ค.ศ. 1995

การจัดแบ่งหมวดหมู่ในแนวทางเลือกนี้ ใช้วิธีการจัดแบ่งหมวดหมู่ตาม รูปแบบของ CSI MasterFormat ปี ค.ศ. 1995 โดยมีการจัดแบ่งหมวดหมู่ประเภทของงานเป็น 16 หมวด เหตุผลในการเลือกใช้ รูปแบบของ CSI MasterFormat ปี ค.ศ. 1995 เนื่องจากเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับ และใช้กันแพร่หลายทั่วโลก (คณะอนุกรรมการบริหารการก่อสร้าง, 2542)



4.2 แนวทางเลือกที่ 2

จากประสบการณ์ในการทำงาน ผู้เรียบเรียงมีข้อสังเกตเกี่ยวกับงานจัดทำข้อกำหนดสำหรับโครงการทางด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำในประเทศไทย ดังนี้ คือ โครงการแต่ละประเภท มีความแตกต่างในองค์ประกอบของงานและในประเทศไทยยังไม่เคยมีแบ่งหมวดหมู่ประเภทและการกำหนดรหัสของ ข้อกำหนดที่แน่ชัด แม้ว่าการจัดแบ่งหมวดหมู่ประเภทของงานเป็น 16 หมวดตาม รูปแบบของ CSI MasterFormat ปี ค.ศ. 1995 ตามแนวทางเลือกที่ 1 จะมีรายละเอียดหมวดหมู่ของงานครบถ้วนและครอบคลุมงานทุกประเภท ทุกรายการก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ โครงการแต่ละประเภทอาจมีประเภทและชนิดของงานไม่ครบทุกหมวด ฉะนั้นการจัดแบ่งหมวดหมู่ของข้อกำหนดตามแนวทางเลือกที่ 1 จึงอาจเกิดข้อกังขา แก่ผู้ใช้ข้อกำหนด ว่าข้อกำหนดฉบับที่ใช้อยู่นั้น ครบถ้วน สมบูรณ์ ขาดตกบกพร่องหรือไม่ เนื่องจากหัวข้อของงานประเภทที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้น จะถูกละเว้นข้ามไป และมักจะไม่เป็นที่ยอมรับของเจ้าของโครงการ ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้วข้างต้น

แนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวสามารถกระทำได้ ดังนี้ คือ หัวข้อหมวดหมู่ตามที่จัดแบ่งตามแนวทางเลือกที่ 1 หากไม่มีใช้ ให้ทำการกำกับข้อความว่า “ไม่ใช้ในโครงการนี้” หรือทำการ จัดแบ่งหัวข้อหมวดหมู่หรือจัดบทใหม่ ตามแนวทางเลือกที่ 2 นี้

แนวคิดในการจัดแบ่งหมวดหมู่ แนวทางเลือกที่ 2 คือ พยายามคงหมวดหมู่ ตาม รูปแบบของ CSI MasterFormat ปี ค.ศ. 1995 ให้มากที่สุด และปรับแต่ง รวมหมวด และจัดหัวข้อหรือบทใหม่ ดังนี้ 1. ความประสงค์ทั่วไป 2. งานสนาม 3. งานคอนกรีต 4. วัสดุก่อ 5. งานโลหะ 6. งานไม้ 7. งานป้องกันความร้อนและความชื้น 8. งานอาคาร 9. งานอุปกรณ์ 10. งานเครื่องกล 11.งานระบบไฟฟ้า และ 12.งานเบ็ดเตล็ด สำหรับรายละเอียดของงานย่อยในแต่ละหมวดจะจัดแบ่ง เป็นบทย่อย ด้วยระบบทศนิยม ให้มีความต่อเนื่องกันไปตลอดทั้งเล่มใหม่ได้ตามความเหมาะสม



5. การจัดทำมาตรฐานข้อกำหนด

เมื่อเริ่มงานออกแบบโครงการ ควรจะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือระหว่าง วิศวกรสาขาต่างๆ สถาปนิก ผู้ประมาณราคาและคำนวณปริมาณงาน ผู้จัดเตรียมข้อกำหนด นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อร่วมกันจัดทำ เกณฑ์การออกแบบ (Design Criteria) เพื่อให้โครงการ มีประโยชน์ใช้งานสูงสุดและมีระยะเวลาก่อสร้างตรงตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง สะดวกต่อการดูแลและบำรุงรักษา เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ทั้งในระยะเวลาก่อสร้าง และระยะเวลาใช้งาน ใช้วัสดุในท้องถิ่นให้มากที่สุด เพื่อลดราคาค่าก่อสร้าง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และสอดคล้องกับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Mitigation Plan) ของโครงการ

รูปแบบของข้อกำหนดที่เสนอ หนึ่งบทจะครอบคลุมงานหนึ่งงาน และจะประกอบด้วยหัวข้อหลัก 4 หัวข้อ เหมือนกันทุกบทเป็นส่วนใหญ่ คือ

หัวข้อ X.1 ทั่วไป จะประกอบด้วยหัวข้อย่อยตามความจำเป็น คือ

X.1.1 ขอบเขตของงาน

X.1.2 มาตรฐานที่ใช้กับงานในบทนี้

X.1.3 นิยาม งานบางงานจำเป็นที่จะต้องให้คำนิยามงานย่อยเพื่อบ่งชี้ความแตกต่างให้ชัดเจน

X.1.4 การเสนอเอกสารและตัวอย่างวัสดุ

หัวข้อ X.2 วัสดุ/เครื่องจักร/เครื่องมือ

หัวข้อ X.3 วิธีการก่อสร้าง/วิธีการดำเนินงาน

หัวข้อ X.4 การวัดปริมาณงานและการจ่ายเงิน



6. สรุปและข้อเสนอแนะ

6.1 สรุป
บทความนี้ได้นำเสนอ วัตถุประสงค์และความสำคัญของข้อกำหนด ประเภท และองค์ประกอบ ต่าง ๆ ของโครงการทางด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ หน่วยงานในประเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ลักษณะของข้อกำหนดที่ใช้ในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้เรียบเรียงได้เสนอแนวทางในการจัดหมวดหมู่ของข้อกำหนด รวมถึงวิธีการเขียนข้อกำหนด ซึ่งน่าจะนำไปปรับปรุงใช้ให้เป็นมาตรฐานต่อไป

สำหรับตัวอย่างของข้อกำหนดมาตรฐานสามารถดูเพิ่มเติมได้จาก เอกสารอ้างอิงหมายเลข [7] โดยใช้ โปรแกรมบรรณกร (Edit Program) “SpecsIntact” (Specifications-Kept-Intact) ในเอกสารอ้างอิงหมายเลข [10] ในการอ่าน



6.2 ข้อเสนอแนะ
บทความนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น ในการพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมและสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล และได้รับการยอมรับ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการระดมสมอง ความคิดเห็น และอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานก่อสร้าง โดยมีหน่วยงาน องค์กรหรือสมาคมวิชาชีพ เป็นแกนหลักในการประสานงาน หาข้อสรุปและจัดทำเป็นเอกสารคู่มือ เพื่อพัฒนาให้เป็นมาตรฐานและมีประโยชน์ต่องานวิศวกรรมทรัพยากรน้ำและงานวิศวกรรมโยธา สาขา อื่น ๆ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป



เอกสารอ้างอิง

[1] กรมโยธาธิการและผังเมือง, มกราคม 2547. มาตรฐานงานช่าง.

[2] คณะทำงานแนวทางการจัดการข้อมูลก่อสร้าง, คณะอนุกรรมการบริหารงานก่อสร้าง, คณะกรรมการวิชาการวิศวกรรมโยธา 2541-2542, 2542. แนวทางการจัดการข้อมูลงานก่อสร้าง สำหรับการประเมินและควบคุมราคางานก่อสร้าง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ. : วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย.

[3] คณะทำงานแนวทางการวัดปริมาณงานก่อสร้าง, คณะอนุกรรมการบริหารงานก่อสร้าง, คณะกรรมการวิชาการวิศวกรรมโยธา 2538-2540, 2540. แนวทางการวัดปริมาณงานก่อสร้างอาคาร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ. : วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย.

[4] พนม ภัยหน่าย, 2539. การบริหารงานก่อสร้าง. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ. : สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น).

[5] วิสูตร จิระดำเกิง, 2543. สัญญา ข้อกำหนด และการประมาณราคา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ. : วรรณกวี.

[6] สมบูรณ์ ลุวีระ, 2530. เศรษฐศาสตร์วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ. : วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย.

[7] Construction Criteria Base, 29 October 2004. Unified Facilities Guide Specifications. USACE, NAVFAC, and AFCESA.

[8] Construction Specifications Institute (CSI), 8 June 2004. MasterFormat™ 2004 Edition: Numbers & Titles (PDF).

[9] Mcgregor D Colin, November, 2004. A Description and Comparison of National Specification Systems. International Construction Information Society.

[10] The National Aeronautics and Space Administration (NASA), 8 October 2004. SpecsIntact.





Create Date : 18 พฤษภาคม 2548
Last Update : 18 พฤษภาคม 2548 16:13:59 น. 0 comments
Counter : 2137 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นู๋เองค่ะ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add นู๋เองค่ะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.