Group Blog
 
All Blogs
 
เปิดโปงกลยุทธ์ เฮดจ์ฟันด์

เปิดโปงกลยุทธ์ เฮดจ์ฟันด์ อสูรร้ายหรือเจ้าชายรูปงาม

จาก: Posttoday วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2551

คนบางคนที่หลงคิดว่าเป็น “เทพบุตร” แต่ที่ไหนได้กลายเป็น “อสูรร้าย” ทำให้เราต้องน้ำตาเช็ดตาตุ่ม แต่คนบางคน ที่เคยชิงชังว่า “อัปลักษณ์” ดันถอดรูป ออกมาเป็น “เจ้าชายรูปงาม” น้ำใจดีอย่างไม่น่าเชื่อ


นี่ล่ะหนาโบราณท่านถึงได้บอกว่า อย่าตัดสินใครเพียงแค่ได้ยินชื่อ แค่ได้เห็นหน้า แต่ต้องคบหาดูใจกันให้นานๆ มองกันให้ ลึกซึ้ง
“เฮดจ์ฟันด์” ก็เช่นเดียวกัน เพราะเฮดจ์ฟันด์มักจะถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ร้ายในวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ทำให้ประเทศไทยสะบักสะบอมมาเป็นสิบปี รวมทั้งวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาที่กำลังสั่นคลอนเศรษฐกิจโลกอยู่ในขณะนี้

แท้จริงแล้ว เฮดจ์ฟันด์ เป็น อสูรร้าย ที่พร้อมจะทำลายทุกอย่างในโลกใบนี้ เพียงเพื่อต้องการกำไร โดยไม่สนใจว่า ใครหน้าไหนจะต้องบาดเจ็บล้มตาย

หรือ เฮดจ์ฟันด์ เป็น เจ้าชายรูปงาม ที่พยายามจะทำให้ทุกอย่างในโลกใบนี้ที่ถูกบิดเบือนให้ผิดปกติ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมีกำไรที่ไม่มีความเสี่ยงเป็นของแถม

ต้องขอบคุณ โชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย ช่วยกะเทาะเลาะเปลือกของเฮดจ์ฟันด์ ในบทวิจัยเรื่อง “เฮดจ์ฟันด์กับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ในหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่น 20 ที่ช่วยให้ เข้าใจเฮดจ์ฟันด์มากขึ้น

โชติกา บอกว่า คำว่า “เฮดจ์ฟันด์” ไม่มีคำจำกัดความอย่างเป็นทางการ

แต่ที่ได้ชื่อว่า “เฮดจ์ฟันด์” เพราะ ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดด้วยการขายชอร์ต แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลยุทธ์การลงทุนเริ่มหลากหลายมากขึ้น ตามวิวัฒนาการของโลกการลงทุน

แต่ถ้าไปถาม ฟิลิปโป สเตฟานินี ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Investment strategies of hedge funds เขาจะบอกว่า กองทุนที่จะถูกนับให้เป็นเฮดจ์ฟันด์จะมีบุคลิกลักษณะที่สำคัญอยู่ 5 ประการ

1.ผู้จัดการกองทุนสามารถใช้เครื่องมือในการลงทุนที่มีอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างเสรีไม่มีข้อจำกัด ทำให้การลงทุนของเฮดจ์ฟันด์ เป็นการรบที่ “ไร้รูปแบบ” และหลายครั้งเฮดจ์ฟันด์ก็ใช้การรบแบบ “กองโจร”

2.ผู้จัดการกองทุนสามารถขายชอร์ต (Short Selling) ได้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ ทำให้เฮดจ์ฟันด์สามารถทำกำไรได้แม้ ในตลาดขาลง แต่มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้ไม่จำกัด

3.ผู้จัดการกองทุนสามารถก่อหนี้ (Leverage) ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะทำให้ได้กำไรหรือขาดทุน ได้มากกว่าการลงทุนแบบปกติ ยิ่งมีสัดส่วนการใช้ Leverage ต่อทุนสูงมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น (ข้อมูลตามตาราง)

4.ผู้จัดการกองทุนจะได้รับค่าตอบแทนทั้งจากค่าบริหารจัดการกองทุนในอัตรา 1-3% ต่อปี และยังได้ผลตอบแทนพิเศษอีก 15-25% ของกำไรที่กองทุนทำได้

โชติกา บอกว่า ส่วนแบ่งกำไรที่ผู้จัดการ กองทุนเฮดจ์ฟันด์จะได้รับจะต้องเป็นผลกำไรที่เกิดขึ้นจริง หลังจากล้างขาดทุนสะสมของกองทุนแล้วเท่านั้น

“จึงเป็นตัวอธิบายพฤติกรรมการลงทุนที่เข้าออกเร็ว และต้องการสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกในทุกสภาวะตลาดของผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ได้เป็นอย่างดี” โชติกา กล่าว

5.ผู้จัดการกองทุนจะลงทุนจำนวนมาก (ถึงมากที่สุด) ในกองทุนของตัวเอง ซึ่ง จะทำให้ผู้จัดการกองทุนทุ่มเทให้กับการ บริหารจัดการกองทุนอย่างเต็มที่

เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นกองทุนไหนที่มีบุคลิกลักษณะเข้าข่าย 5 ข้อนี้ รู้ไว้เลยว่า เขาชื่อ “เฮดจ์ฟันด์”

โชติกา บอกว่า ถ้าเป็นเฮดจ์ฟันด์ ตัวจริงเสียงจริงจะต้องใช้เครื่องมือการลงทุน 2 ประเภท คือ Short Selling และ Leverage บวกกับอีก 1 แนวคิด ที่เรียกว่า อาร์บิตราจ (Arbitrage)

การทำอาร์บิตราจ เป็นแนวคิดที่นิยมมากในโลกของเฮดจ์ฟันด์ เพราะเป็นการทำกำไรโดยปราศจากความเสี่ยงของตลาด หรือ ทำกำไรได้ไม่ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะขาขึ้นหรือขาลง แต่การทำอาร์บิตราจจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมี “ความบิดเบือนของราคา”

เพราะเฮดจ์ฟันด์เป็น “นักรบไร้รูป แบบ” ทำให้การจัดแบ่งหมวดหมู่กลยุทธ์การลงทุนจึงไม่ได้มีแบบแผนชัดเจน ต่างคน ต่างตำรา ก็จัดแบ่งแตกต่างกันไป แต่โชติกายึดถือเอาการจัดแบ่งของบริษัท เฮดจ์ฟันด์ รีเสิร์ช ที่แบ่งกลยุทธ์ของเฮดจ์ฟันด์ออกเป็น 4 หมวดหลัก จาก ทั้งหมด 26 กลยุทธ์ (ตามแผนผัง)

Equity Hedge หรือ Long/Short Equity

กลยุทธ์หมวดนี้จะเป็นการลงทุนในหุ้น แต่ไม่ใช่แค่ซื้อขายหุ้นแบบธรรมดา เพราะเฮดจ์ฟันด์ที่ใช้กลยุทธ์นี้จะทั้งซื้อหุ้น (Long Equity) และขายชอร์ต

ถ้าเลือกหุ้นโดยใช้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน จะเรียกว่า Fundamental Value และ Fundamental Growth แต่ถ้าใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์จะเรียกว่า Equity Market Neutral เพราะจะเป็นการขจัดความเสี่ยงของตลาดออกไป ซึ่งจะรวมถึงการซื้อขายหุ้นเป็นคู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ที่เรียกว่า Pair Trading

ทั้งนี้ จะกระจายลงทุนทั้งตลาด หรือ เลือกลงทุนเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมรักษาพยาบาล ก็ได้ ซึ่งจะเรียกว่า Specialized Long/Short

หมวด Long/Short Equity เป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เมื่อเทียบกับ 3 หมวดที่ เหลือ เพราะมีสัดส่วนสูงถึง 36% โดยในจำนวนนี้เป็นกลยุทธ์ Fundamental Value มากถึง 62.7%

Event Driven

เป็นกลยุทธ์ที่จะแสวงหากำไรจาก เหตุการณ์ไม่ปกติทางการเงินที่เกิดกับบริษัทหรือตลาดหุ้น ซึ่งหมายถึงการซื้อกิจการ การควบรวม การปรับโครงสร้างทางการเงิน การล้มละลาย การซื้อหุ้นคืน การทำคำเสนอซื้อของผู้บริหารบริษัท และเหตุการณ์อื่นๆ ซึ่งรวมๆ แล้วมีเฮดจ์ฟันด์ที่ใช้กลยุทธ์นี้ประมาณ 23% ของเฮดจ์ฟันด์ทั้งโลก

Relative Value

หมวดนี้จะอยู่บนแนวคิดการทำอาร์บิตราจในตลาดตราสารหนี้ ทำให้บางครั้ง จะเรียกกลยุทธ์นี้ว่า Fixed Income Arbitrage ซึ่งเฮดจ์ฟันด์ที่ใช้กลยุทธ์นี้มักมีสัดส่วน Leverage สูง

กลยุทธ์หนึ่งในหมวดนี้ คือ การทำ อาร์บิตราจตราสารหนี้ประเภท Asset-Backed Securities เช่น CDO หรือ ตราสารหนี้ที่เกิดจากการแปลงสินเชื่อเป็นตราสารหนี้ ที่ โชติกา บอกว่า เป็น “ตัวจุดพลุ” ของวิกฤตซับไพรม์ตั้งแต่ปี 2550

เฮดจ์ฟันด์ประเภทนี้จะใช้ 3 กลยุทธ์ย่อยในการลงทุน คือ

1.Carry Trade ที่หมายถึงการกู้เงิน ที่มีดอกเบี้ยต่ำมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง จึงเป็นกลยุทธ์ที่ง่ายที่สุดและเสี่ยงที่สุด และเฮดจ์ฟันด์ส่วนมากนิยมซื้อ CDO ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด เพราะมี ผลตอบแทนสูงที่สุด

2.Long/Short Structured Credit โดยเฮดจ์ฟันด์จะซื้อ CDO ที่มีความ เสี่ยงสูงที่สุด และซื้อตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยง

3.Correlation Trade หมายถึงการ ซื้อและขายชอร์ต CDO กลุ่มเดียวกัน แต่คนละลำดับชั้น (ที่มีความเสี่ยงแตกต่างกัน) และผู้จัดการกองทุนมองเห็นความ ผิดปกติของส่วนต่างราคา

Macro

หมวดนี้น่าจะเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยมากที่สุด แม้ว่า จะเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่มีอยู่ 16% น้อยที่สุด แต่ถูกตราหน้าว่า สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมาแล้วทั่วโลก เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ผู้จัดการกองทุน (เช่น จอร์จ โซรอส) จะแสวงหาโอกาสทำอาร์บิตราจในทุก รูปแบบและทุกตลาด

โชติกา บอกว่า แม้ว่าเฮดจ์ฟันด์จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกทุกครั้ง แต่คงจะไม่ยุติธรรมนักหากจะกล่าวหาว่า เฮดจ์ฟันด์เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

“สาเหตุที่แท้จริงของวิกฤตเศรษฐกิจทุกครั้งมีที่มาจากความบกพร่องหรือ ผิดพลาดในการดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง รวมทั้งความอ่อนแอและไร้สมรรถภาพในการบริหารความเสี่ยงของประเทศหรือของสถาบันการเงินก่อนหน้าวิกฤตมากกว่า”



Create Date : 27 กันยายน 2551
Last Update : 27 กันยายน 2551 9:38:24 น. 4 comments
Counter : 799 Pageviews.

 
อา.า.า.า.า.า.า Hedge Fund มันเป็นอย่างนี้นี่เอง


โดย: Oops! a daisy วันที่: 27 กันยายน 2551 เวลา:10:34:00 น.  

 
แต่จะว่า แฮมเบอร์เกอร์ไคซิส ครั้งนี้ มันเกิดขึ้นเพราะความโลภแท้ๆ เลย


โดย: หญิงอ้วน IP: 125.26.164.67 วันที่: 27 กันยายน 2551 เวลา:10:49:34 น.  

 
ได้ความรู้ดีจัง ขอแอดเป็นเป็นสมาชิกแก๊งนะคะ
ขอติดตามอ่านบล๊อคไปเรื่อยๆ ค่ะ ชอบ ^^


โดย: อ้อ (indulge corner ) วันที่: 7 มิถุนายน 2552 เวลา:9:20:36 น.  

 
ยินดีครับ คุณอ้อ


โดย: nut_siri วันที่: 7 มิถุนายน 2552 เวลา:11:15:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nut_siri
Location :
Koriyama, Fukushima Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add nut_siri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.