...Wellcome to คุงนู๋ Story...
 

มาฝึกดูจิตกันดีกว่า



รู้สึกตัวที่ว่าคือรู้อะไร ?   Smiley
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า สติปัฏฐาน 4 มาบ้าง การมีสติก็คือการฝึกสติปัฏฐาน 4 ,  สี่อย่างที่ว่านั้นคือ กาย เวทนา จิต ธรรม ฟังดูอาจจะงง พูดง่าย ๆ ก็คือเมื่อใดเราเกิดความรู้สึกในสิ่งใดที่ชัด ก็ให้รู้อันนั้น การรู้นั้นรู้อะไร ก็เช่น หากเดินอยู่ก็รู้ว่าเดินอยู่, นั่งก็รู้ว่านั่ง, ยืนก็รู้ว่ายืน, นอนก็รู้ว่านอน, ดีใจก็รู้ว่าดีใจ, โกรธก็รู้ว่าโกรธ, สุขก็รู้ว่าสุข, ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์, จะขยับซ้าย แลขวา หันหน้า มองหลัง เคลื่อนไหวใด ๆ ก็รู้ตามนั้น คิดก็รู้ว่าคิด, จะฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน เผลอลืมไม่มีสติก็รู้ว่าเผลอ
รู้ไปเพื่ออะไร ?
สตินั้นหากนำมาใช้กับทางโลกทั่วไปก็ย่อมมีประโยชน์มหาศาลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการงาน, ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ การคิดอ่านย่อมเป็นระบบ, จิตย่อมมีสมาธิในการทำกิจการงานใด ๆ , อารมณ์มักจะเป็นปกติ ไม่ค่อยโกรธ เครียด หรือทุกข์ใจอะไรมาก ๆ กล่าวโดยรวมคือย่อมเกื้อกูลชีวิตประจำวันทางโลกได้อย่างดีซึ่งเป็นประโยชน์ที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจน

หากแต่ถ้ารู้เนือง ๆ มาก ๆ เข้าจนเป็นมหาสติ ก็จะได้ประโยชน์จากทางธรรมด้วย การที่เรามีสติอยู่เนือง ๆ รู้ตัวบ้าง ไม่รู้บ้าง ทำอย่างติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็เพื่อให้สติเกื้อกูลต่อการ “เห็นความจริง” ความจริงนี้เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุดก็คือกายกับใจของเรา แต่เราไม่เคยรู้สึกถึงความจริงนี้เลย
จุดหมายของการรู้ก็เพื่อให้เห็นความจริง อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่ากายและใจของเรานั้นเป็นสิ่งไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวเรา เนื่องจากสัมมาสติทำให้เราได้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามสภาวธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่นับครั้งไม่ถ้วน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนในที่สุดจิตจะยอมรับความจริงในข้อนี้ (หรือที่ท่านพระพุทธทาสชอบเรียกว่าให้ละตัวกู ของกู)  อันนำไปสู่หนทางแห่งการดับทุกข์ ที่เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของพระพุทธศาสนา   
ดูจิตมีอะไรดี ?


1.ดูจิต คือการเรียนธรรมะที่ “เรียบง่ายและธรรมดาที่สุด” ไม่จำเป็นต้องรู้คำศัพท์ทางศาสนายาก ๆ หรือนั่งท่องพระไตรปิฎก เพราะจุดมุ่งหมายคือการเรียนรู้กายและใจของตัวเอง ให้ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น (อุปทาน) อันเป็นสาเหตุทำให้เรา ๆ มีความทุกข์กัน


2.การดูจิตสามารถทำได้ “ทันที” , “ที่นี่” และ  “เดี๋ยวนี้” ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยมักเข้าใจผิดว่าการปฏิบัติธรรมต้องทำอะไรที่มันดูยาก ๆ, เคร่งเครียด, น่าเบื่อ, หรือต้องใช้เวลา เนื่องจากตนไม่มีเวลาจึงไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้ ซึ่งความจริงเราสามารถเรียนธรรมะด้วยการฝึกสติได้ตลอดเวลา ด้วยใจที่ปกติสบาย ๆ ไม่ว่าจะดูทีวี, กินข้าว, เล่นเน็ต, อาบน้ำ, ไปเที่ยว, ออกกำลังกาย ฯลฯ ล้วนสามารถฝึกสติได้ทั้งสิ้น


3.ธรรมทั้งปวงรวมที่จิต (ตามที่ครูบาอาจารย์ได้กล่าวไว้) ดังนั้นการดูจิตคือการเรียนรู้ธรรมะภาคปฏิบัติที่เป็นเส้นทางตรง ไม่อ้อม ช่วยให้ถึงจุดหมายปลายทางได้ไวขึ้นและไม่หลงทาง


4.หากพูดถึงในแง่ของบุญกุศลสำหรับคนชอบทำบุญ  การดูจิตเปรียบเสมือนการทำวิปัสสนากรรมฐาน จึงเป็นภาวนาบารมี ซึ่งเหนือกว่าศีลและทาน (อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ "วิธีสร้างบุญบารมี" สมเด็จพระสังฆราชฯ)มายืมนู๋นิ่นได้นะอ่านแล้วเข้าใจง่าย ดังนั้นจึงเสมือนเป็นการทำบุญโดยไม่เสียสตางค์ และเป็นบุญสูงสุด ทำได้ทุกที่ ทุกเวลาตามกำลังสติที่เรามี







Free TextEditor




 

Create Date : 24 มกราคม 2553    
Last Update : 24 มกราคม 2553 12:07:58 น.
Counter : 478 Pageviews.  

หลบกรรมให้ถูกจุด



เมื่อก่อนคุงนู๋เคยคิดนะคะว่าเราพลาดพลั้งทำกรรมใดแล้ว หากเราสำนึกผิดและทำบุญลบล้างบาปที่เคยทำไว้ก็จะหายกัน

ขอทำความเข้าใจกับผู้ที่สนใจเรื่องกรรมนะคะ

กรรมที่ทำไป...เราไม่สามารถแก้ไขได้ค่ะ...หากแต่สร้างบุญบารมีไว้เป็นเกราะคุ้มครองตอนที่ผลกรรมชั่วที่ทำไปนั้นมาถึงเราจะได้ผ่อนให้เป็นเบา

นี่แหล่ะค่ะที่มาของการทำบุญแก้กรรม ไม่ใช่ว่ากรรมนั้นจะหายไป แต่เพียงจะมีกรรมดีมาช่วย ให้เราต้องทุกข์ใจน้อยลงเท่านั้นเอง


กรรมที่ไม่มีลูก
กรรมจาก การทำร้ายลูกของสัตว์อื่น พรากสัตว์อื่นจากพ่อแม่หรือเคยข่มเหงลูกคนอื่น
ลดกรรม ด้วยการงดกินเนื้อสัตว์ทุกๆ 7 วัน ในทุกๆเดือนทำบุญปล่อยปลาลงน้ำ ปล่อยนกปล่อยกา ทำบุญบริจาคทานที่มูลนิธิสัตว์หรือ
มูลนิธิเด็กอ่อน

อาภัพคู่ ร้างคู่
กรรมจาก เคยผิดลูกผิดเมียเขา
ลดกรรม บวชพระ หรือบวชชีพราหมณ์ ร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพงานแต่งงานคู่บ่าวสาวที่ยากจน ถวายของเป็นคู่ เช่น แจกันคู่
เชิงเทียนคู่ หมอนคู่ เป็นต้น

ได้คู่ที่เลวร้าย ทำร้ายตนหรือทำให้เป็นทุกข์
กรรมจาก เคยข่มขืนเขาในชาติก่อน เคยทุบตีทำร้ายคู่
ลดกรรม บวชพระ หรือบวชชีพราหมณ์ ทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา

อยู่โดดเดี่ยวยามบั้นปลาย
กรรมจาก เคยจับสัตว์ขัง
ลดกรรม ทำบุญปล่อยปลาลงน้ำ ปล่อยนกปล่อยกา ทำบุญทำทานแก่เด็กอนาถาและสัตว์อนาถา

เป็นเมียน้อย เมียเก็บ
กรรมจาก เคยผิดลูกผิดเมียเขามาก่อน ขืนใจเขาโดยไม่ยินยอม เคยอธิษฐานจิตร่วมกันมาว่ากี่ภพก็ขอให้ได้ใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน
ลดกรรม ถวายธงคู่ ธูปคู่ เชิงเทียนคู่ หมอนคู่ อย่างใดก็ได้ อธิษฐานจิตขอให้ชีวิตคู่ที่ดีขึ้น บวชชีพราหมณ์ ปีละ 1 ครั้ง 3 วัน อุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรที่เคยล่วงเกินให้ได้รับกุศลและเปิดทางให้ชีวิตคู่ดีขึ้น ร่วมเป็นเจ้าภาพงานแต่ง เพื่อชีวิตตนจะดีขึ้นและสมหวัง สวดมนต์ขอพรทุกวันเกิดด้านความรักให้สมหวังต่อไป ทำบุญสังฆทานสด ในวันเกิดตนเอง เดือนละครั้ง เพื่ออุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรในอดีตชาติปัจจุบันชาติและวิญญาณที่ตามมาให้ได้รับกุศลและอโหสิกรรม

เป็นทุกข์เพราะความรัก
กรรมจาก ชาติก่อนเจ้าชู้ หลอกผู้อื่นให้อกหัก
ลดกรรม ประพฤติดีปฏิบัติดีทั้งความคิด กาย วาจา ใจ ร่วมทำบุญงานแต่งงาน ทำสิ่งดีๆให้คนอื่น

ตามคำสอนที่ว่า เราหว่านพืชฉันใด เราย่อมได้ผลเช่นดังที่หว่านไว้แล




 

Create Date : 24 มกราคม 2553    
Last Update : 24 มกราคม 2553 11:44:40 น.
Counter : 933 Pageviews.  

บทสวดมนต์

กราบพระรัตนตรัย

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)
สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ (กราบ)

นมัสการ (นะโม)

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

ไตรสรณคมน์ (พุทธัง ธัมมัง สังฆัง)

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉาม

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ

พระพุทธคุณ (อิติปิ โส)

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ
สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติฯ

พระธรรมคุณ

สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม
สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติฯ *

(* อ่านว่า วิญญูฮีติ)

พระสังฆคุณ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย* ปาหุเนยโย* ทักขิเณยโย* อัญชะลี กะระณีโย
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติฯ

(อ่านออกเสียง อาหุไนยโย ปาหุไนยโย ทักขิไณยโย โดยสระเอ กึ่งสระไอ)

พุทธชัยมงคลคาถา (พาหุงฯ)

พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง
โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง
ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง
เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง
ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง
อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

กัตตะวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา
จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง
วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง
ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง
พรัหมัง* วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา โย
วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที
หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ
โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญฯ

* พรัหมัง อ่านว่า พรัมมัง

มหาการุณิโก

มะหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินัง
ปูเรตวา ปาระมี สัพพา ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เต ชะยะมังคะลังฯ

ชะยันโต โพธิยา มูเล สักยานัง นันทิวัฑฒะโน เอวัง
ตะวัง วิชะโย โหหิ ชะยัสสุ ชะยะมังคะเล อะปะรา
ชิตะปัลลังเก สีเส ปะฐะวิโปกขะเร อะภิเสเก
สัพพะพุทธานัง อัคคัปปัตโต ปะโมทะติฯ

สุนั ขัตตัง สุมังคะลัง สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง สุขะโณ
สุมุหุตโต จะ สุยิฏฐัง พรัหมะ** จาริสุ ปะทักขิณัง
กายะกัมมัง วาจากัมมัง ปะทักขิณัง ปะทักขิณัง
มะโนกัมมัง ปะณิธี เต ปะทักขิณา ปะทักขิณานิ
กัตตะวานะ ละภันตัตเถ ปะทักขิเณฯ

** พรัหมะ อ่านว่า พรัมมะ

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะพุทธานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เตฯ

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะธัมมานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เตฯ

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะสังฆานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เตฯ

หลังจากสวดมนต์ตั้งแต่ต้นจนจบบทพาหุงมาหากาฯ แล้วก็ให้สวดเฉพาะบทพระพุทธคุณ หรืออิติปิโส ให้ได้จำนวนจบเท่ากับอายุของตนเอง แล้วสวดเพิ่มไปอีกหนึ่งจบ ตัวอย่างเช่น ถ้าอายุ ๓๕ ปี ต้องสวด ๓๖ จบ จากนั้นจึงค่อยแผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศล

พุทธคุณเท่าอายุเกิน ๑ (อิติปิโสเท่าอายุ+๑)

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ
สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติฯ

บทแผ่เมตตา

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กัน และกันเลย
อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้ พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อะนีฆา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ

บทอุทิศส่วนกุศล (บทกรวดน้ำ)

อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตา ปิตะโร
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้า จงมีความสุข

อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงมีความสุข

อิทัง เม คุรูปัชฌายาจะริยานังโหตุ สุขิตา โหนตุ คุรูปัชฌายาจะริยา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า จงมีความสุข

อิทัง สัพพะ เทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เทวา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เทวดาทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข

อิทัง สัพพะ เปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่เปรตทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เปรตทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข

อิทัง สัพพะ เวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เวรี
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข

อิทัง สัพพะ สัตตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ สัตตา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข


บทสวดมนต์ (แปล)
คำแปลกราบพระรัตนตรัย

พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
ข้าพเจ้า อภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน (กราบ)

พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว
ข้าพเจ้านมัสการพระธรรม (กราบ)

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว
ข้าพเจ้านอบน้อมพระสงฆ์ (กราบ)

คำแปลนมัสการ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็น ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง (๓ จบ)

คำแปลไตรสรณคมน์

ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก

แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก
แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก

แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก
แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก

คำแปลพระพุทธคุณ

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
เป็นผู้ไกลจากกิเลส
เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ (ความรู้และความประพฤติ)
เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว
เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งไปกว่า
เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
เป็นผู้มีความเจริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้ฯ

คำแปลพระธรรมคุณ

พระธรรมเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ดีแล้ว
เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัตึพึงเห็นได้ด้วยตนเอง
เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล
เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว
เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้ฯ

คำแปลพระสังฆคุณ

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติดีแล้ว
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติตรงแล้ว
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรม เป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติสมควรแล้ว

ได้แก่ บุคคลเหล่านี้คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัว บุรุษได้ ๘ บุรุษ
นั่นแหละสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา
เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ
เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน
เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี
เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้ฯ

คำแปลพุทธชัยมงคลคาถา

๑. พระจอมมุนีได้ทรงชนะพญามารผู้เนรมิตแขนมากตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ ขี่คชสารชื่อครีเมขละ พร้อมด้วยเสนา มารโห่ร้องกึกก้อง
ด้วยธรรมวิธี คือ ทรงระลึกถึงพระบารมี ๑๐ ประการ ที่ทรงบำเพ็ญแล้ว มีทานบารมีเป็นต้น
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๒. พระจอมมุนีได้ทรงชนะอาฬวกยักษ์ ผู้มีจิตกระด้าง ดุร้ายเหี้ยมโหด มีฤทธิ์ยิ่งกว่าพญามาร ผู้เข้ามาต่อสู้ยิ่งนัก จนตลอดรุ่ง
ด้วยวิธีที่ทรงฝึกฝนเป็นอันดี คือ ขันติบารมี
(คือ ความอดทน อดกลั้น ซึ่งเป็น ๑ ในพระบารมี ๑๐ ประการ)
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๓. พระจอมมุนีได้ทรงชนะพญาช้างตัวประเสริฐชื่อ นาฬาคิรี เป็นช้างเมามันยิ่งนัก ดุร้ายประดุจไฟป่า และร้ายแรงดังจักราวุธและสายฟ้า (ขององค์อินทร์) ด้วยวิธีรดลงด้วยน้ำ คือ พระเมตตา
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๔. พระจอมมุนีทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ทางใจอันยอดเยี่ยม ชนะโจรชื่อองคุลิมาล (ผู้มีพวงมาลัย คือ นิ้วมือมนุษย์) แสนร้ายกาจ
มีฝีมือ ถือดาบวิ่งไล่พระองค์ไปสิ้นทาง ๓ โยชน์
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๕. พระจอมมุนีได้ทรงชนะความกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา
ผู้ทำอาการประดุจว่ามีครรภ์ เพราะทำไม้สัณฐานกลม (ผูกติดไว้) ให้เป็นประดุจมีท้อง
ด้วยวิธีสมาธิอันงาม คือ ความสงบระงับพระหฤทัย
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๖. พระจอมมุนี ทรงรุ่งเรืองแล้วด้วยประทีป คือ ปัญญา ได้ชนะสัจจกนิครนถ์
(อ่านว่า สัจจะกะนิครนถ์, นิครนถ์ คือ นักบวชประเภทหนึ่งในสมัยพุทธกาล)
ผู้มีอัชฌาสัยในที่จะสละเสียซึ่งความสัตย์ มุ่งยกถ้อยคำของตนให้สูงล้ำดุจยกธง
เป็นผู้มืดมนยิ่งนัก
ด้วยเทศนาญาณวิธี คือ รู้อัชฌาสัยแล้ว ตรัสเทศนาให้มองเห็นความจริง
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๗. พระจอมมุนีทรงโปรดให้พระโมคคัลลานะเถระพุทธชิโนรส นิรมิตกายเป็นนาคราชไปทรมานพญานาคราช ชื่อ นันโทปนันทะ ผู้มีความหลงผิดมีฤทธิ์มาก
ด้วยวิธีให้ฤทธิ์ที่เหนือกว่าแก่พระเถระ
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๘. พระจอมมุนีได้ทรงชนะพรหมผู้มีนามว่าพกาพรหม ผู้มีฤทธิ์ สำคัญตนว่าเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยคุณอันบริสุทธิ์ มีความเห็นผิดประดุจถูกงูรัดมือไว้อย่างแน่นแฟ้นแล้ว
ด้วยวิธีวางยาอันพิเศษ คือ เทศนาญาณ
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

นรชนใดมีปัญญา ไม่เกียจคร้าน สวดก็ดี ระลึกก็ดี ซึ่งพระพุทธชัยมงคล ๘ บทนี้ทุก ๆ วัน
นรชนนั้นจะพึงละเสียได้ ซึ่งอุปัทวันตรายทั้งหลายมีประการต่าง ๆ
เป็นอเนกและถึงซึ่งวิโมกข์ (คือ ความหลุดพ้น) อันเป็นบรมสุขแล

คำแปลมหาการุณิโก

ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ประกอบแล้วด้วยพระมหากรุณา ยังบารมีทั้งหลายทั้งปวงให้เต็ม เพื่อประโยชน์แก่สรรพ
สัตว์ทั้งหลาย ได้บรรลุสัมโพธิญาณอันอุดมแล้ว ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

ขอท่านจงมีชัยชนะ ดุจพระจอมมุนีที่ทรงชนะมาร ที่โคนโพธิพฤกษ์ ถึงความเป็นผู้เลิศในสรรพพุทธาภิเษก ทรงปราโมทย์อยู่บนอปราชิตบัลลังก์อันสูง เป็นจอมมหาปฐพี ทรงเพิ่มพูนความยินดีแก่ เหล่าประยูรญาติศากยวงศ์ฉะนั้นเทอญ

เวลาที่ “สัตว์” (หมายถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เช่น มนุษย์และสรรพสัตว์) ประพฤติชอบ ชื่อว่า ฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี และขณะดี ครู่ดี บูชาดีแล้ว ในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย กายกรรม เป็นประทักษิณ วจีกรรม เป็นประทักษิณ มโนกรรม เป็นประทักษิณ ความปรารถนาของท่านเป็นประทักษิณ สัตว์ทั้งหลายทำกรรม อันเป็นประทักษิณแล้ว ย่อมได้ประโยชน์ทั้งหลาย อันเป็น ประทักษิณ*

ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน
ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน
ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

ขอสรรพมงคลจงมีแกท่าน ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน
ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ


หมายเหตุ ประทักษิณ หมายถึง การกระทำความดีด้วย ความเคารพ โดยใช้มือขวาหรือแขนด้านขวา หรือที่หลายท่าน เรียกว่า “ส่วนเบื้องขวา” ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่มีมาช้านานแล้ว ซึ่งพวกพราหมณ์ถือว่า การประทักษิณ คือ การเดินเวียนขวารอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบุคคลที่ตนเคารพนั้น เป็นการให้เกียรติ และเป็นการแสดงความเคารพสูงสุด เป็นมงคลสูงสุด เพราะฉะนั้นบาลีที่แสดงไว้ว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ความปรารถนาและการที่กระทำกรรมทั้งหลาย เป็นประทักษิณ อันเป็นส่วนเบื้องขวาหรือเวียนขวานั้น จึงหมายถึงการทำการพูดการคิดที่เป็นมงคล และผลที่ได้รับก็เป็นประทักษิณ อันเป็นส่วนเบื้องขวาหรือเวียนขวา ก็หมายถึงได้รับผลที่เป็นมงคลอันสูงสุดนั่นแลฯ




 

Create Date : 21 มกราคม 2553    
Last Update : 21 มกราคม 2553 13:15:38 น.
Counter : 305 Pageviews.  

วิธีแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศล

วันนี้จะขอฝากญาติโยมไว้ การอุทิศส่วนกุศล และการแผ่ส่วนกุศลไม่เหมือนกัน การแผ่คือการแพร่ขยาย เป็นการเคลียร์พื้นที่ แผ่ส่วนบุญออกไป เรียกว่า สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เรียกว่าการแผ่แพร่ขยาย แต่การอุทิศให้ เป็นการให้โดยเจาะจง ถ้าเราจะให้ตัวเองไม่ต้องบอก ไม่ต้องบอกว่าขอให้ข้าพเจ้ารวย ขอให้ข้าพเจ้าดี ขอให้ข้าพเจ้าหมดหนี้ ทำบุญก็รวยเอง เราเป็นคนทำ เราก็เป็นคนได้ และการให้บิดามารดานั้นก็ไม่ต้องออกชื่อแต่ประการใด ลูกทำดีมีปัญญา ได้ถึงพ่อแม่ เพราะใกล้ตัวเรา พ่อแม่อยู่ในตัวเรา เราสร้างความดีมากเท่าไรจะถึงพ่อแม่ มากเท่านั้น เรามีลูก ลูกเราดี ลูกมีปัญญา พ่อแม่ก็ชื่นใจโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปบอก

จากหนังสือกฎแห่งกรรมเล่ม ๖ เรื่อง การอุทิศส่วนกุศล โดย พระธรรมสิงหบุราจารย์

ผู้ปรารถนาจะปลูกเมตตาให้งอกงามอยู่ในจิต พึงปลูกด้วยการคิดแผ่ ในเบื้องต้นแผ่ไปโดยเจาะจงก่อน ในบุคคลที่ชอบพอ มีมารดา บิดา ญาติมิตร เป็นต้น โดยนัยว่าผู้นั้น ๆ จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีสุขสวัสดี รักษาตนเถิด เมื่อจิตได้รับการฝึกหัดคุ้นเคยกับเมตตาเข้าแล้ว ก็แผ่ขยายให้กว้างออกไปโดย
ลำดับดังนี้ ในคนที่เฉย ๆ ไม่ชอบไม่ชัง ในคนไม่ชอบน้อย ในคนที่ไม่ชอบมาก ในมนุษย์และดิรัจฉานไม่มีประมาณ เมตตาจิต เมื่อคิดแผ่กว้างออกไปเพียงใด มิตรและไมตรีก็มีความกว้างออกไปเพียงนั้น เมตตา ไมตรีจิตมิใช่อำนวยความสุขให้เฉพาะบุคคล ย่อมให้ความสุขแก่ชนส่วนรวมตั้งแต่สองคนขึ้นไป คือ หมู่ชนที่มีไมตรีจิตต่อกัน ย่อมหมดความระแวง ไม่ต้องจ่ายทรัพย์ จ่ายสุข ในการระวังหรือเตรียมรุกรับ มีโอกาสประกอบการงาน อันเป็นประโยชน์แก่ตนเอง และหมู่เต็มที่ มีความเจริญรุ่งเรืองและความสงบสุขโดยส่วนเดียว

จากหนังสือกฎแห่งกรรมเล่ม ๑๓ เรื่อง สุจริตธรรมเหตุแห่งความสุขที่แท้จริง โดย พระธรรมสิงหบุราจารย์


สวดมนต์เป็นนิจ อธิษฐานจิตเป็นประจำ อโหสิกรรมเสียก่อนและเราก็แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่เราไปสร้างกรรมมาครั้งอดีต รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง
รู้เท่าทันหรือไม่เท่าทันก็ตาม ถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์เช่นนี้แล้ว ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้า มันก็จะน้อยลงไป

สาธุ




 

Create Date : 21 มกราคม 2553    
Last Update : 21 มกราคม 2553 13:12:26 น.
Counter : 419 Pageviews.  

ลำดับการสวดมนต์

บางคนอยากสร้างบุญบารมี  แต่ไม่มีเงิน  ไม่มีเวลาSmiley
คุงนู๋ขอชวนทุกท่านมาสร้างบุญบารมี  แบบไม่เสียเงิน  ใช้เวลาไม่มาก...



ตั้งนะโม ๓ จบ
สวดพุทธัง ธัมมัง สังฆัง
สวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ
สวดพุทธชัยมงคลคาถา (พาหุงฯ)
สวดมหาการุณิโก
สวดพุทธคุณ อย่างเดียวเท่ากับอายุ บวก ๑
เช่น อายุ ๒๘ ปี ให้สวด ๒๙ จบ อายุ ๕๔ ปี ให้สวด ๕๕ จบ เป็นต้น
แผ่เมตตา
อุทิศส่วนกุศ
จากหนังสือกฎแห่งกรรมเล่ม ๓ เรื่อง อานิสงส์ของการสวดพุทธคุณ โดย พระธรรมสิงหบุราจารย์
//www.jarun.org/v6/th/lrule03r0801.html



อนุโมทนาผู้ที่คิดดี  ทำดี   ทุกท่านนะคะ






Free TextEditor




 

Create Date : 21 มกราคม 2553    
Last Update : 21 มกราคม 2553 13:12:51 น.
Counter : 364 Pageviews.  

 
 

nunin_naka
Location :
นครปฐม Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีจร้า...
บล็อคนี้จะรวบรวมเรื่องราวต่างๆของนู๋นิ่น
เชิญเลือกอ่านได้ตามความสนใจเลยค่ะ
เจริญรุ่งเรืองนะคะ