คำบัญญัติและคำสมมุติในพระพุทธศาสนา

คำบัญญัติ

คำบัญญัติ คือ การกำหนด หรือ ตั้งคำพูดเพื่อใช้เรียกขาน
บรรดาวัตถุหรือสิ่งของที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้ใช้พูดจากันรู้เรื่อง.


หมายความว่า ภาษาคำพูดทั้งหมดเป็นบัญญัติทั้งสิ้น

เมื่อบัญญัติคำใดขึ้นก็ตาม จะต้องมีสิ่งรองรับคำบัญญัตินั้นอยู่ก่อนแล้ว
ใครจะคิดตั้งเป็นบัญญัติคำพูดขึ้นโดยที่ไม่มีวัตถุหรือสิ่งของรองรับคำบัญญัตินั้นไม่ได้เลย.

ดังนั้น คำบัญญัติ จึงต้องมีภายหลังวัตถุหรือสิ่งของ
เช่น ถ้วยแก้ว เป็นต้น จะต้องมีผู้ประดิษฐ์ภาชนะที่ทำด้วยแก้วสำหรับใส่น้ำขึ้นก่อน
แล้วจึงบัญญัติชื่อเรียกภาชนะอันนี้ว่า “ถ้วยแก้ว”ในภายหลัง
แล้วต่างคนต่างก็ยอมรับและจดจำความหมายของคำว่า“ถ้วยแก้ว” ไว้

ถ้าใครเอ่ยถึงคำที่ได้บัญญัติว่า“ถ้วยแก้ว” ขึ้นเมื่อใด
ก็ต้องรู้ว่าผู้เอ่ยหมายถึงอะไร? รูปร่างสัณฐานเป็นอย่างไร?

คำสมมุติ

คำสมมุติ คือ การกำหนด หรือ ตั้งบัญญัติซ้อนบัญญัติ ลงไปอีกชั้นหนึ่ง
เพื่อให้จำกัดชัดลงไปว่า หมายถึงวัตถุชิ้นนั้น,สิ่งนั้น หรือหมายถึงคนๆนั้น
ไม่ใช่หมายถึง วัตถุชิ้นอื่น,สิ่งอื่น หรือคนอื่น
ซึ่งอยู่ในบัญญัติคำเดียวกันหรือมีชื่อเรียกอย่างเดียวกัน


เช่นคำสมมุติ พ่อแม่ สามีภรรยา ลูกหลาน พระราชา พระราชินี เป็นต้น
คำสมมุติที่กล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้ มาจากคำบัญญัติเดิมว่า “คน” เหมือนกัน
แต่เพราะคนๆนั้นได้ทำหน้าที่หรือมีภาระในการให้กำเนิดแก่บุตร
ฝ่ายชายก็เรียกว่าพ่อ ฝ่ายหญิงก็เรียกว่าแม่ ดังนี้เป็นต้น.


บัญญัติ แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ

๑.อัตถบัญญัติ
ตั้งขึ้นเพื่อให้รู้เนื้อความ,รูปร่าง,สัณฐาน,กิริยาอาการ ของสิ่งที่ได้ตั้งชื่อนั้นๆไว้
เช่น ต้นไม้ เมฆ น้ำ เดิน สวย เป็นต้น.

๒.สัททบัญญัติ
ตั้งเป็นถ้อยคำสำหรับใช้พูดจากันตามที่ได้ตกลงยอมรับว่าหมายถึงอะไร
ในตอนที่ตั้งเป็นอัตถบัญญัติ เมื่อได้ยินเสียงกล่าวขานออกมาอย่างใดก็เข้าใจ
และรู้เรื่องตามนั้น เช่น ได้ยินเสียงคนพูดออกมาว่า “ต้นไม้”
ผู้ได้ยินก็สามารถนึกรูปร่างของต้นไม้ได้ถูกต้อง ตรงกับที่ผู้พูดหมายความถึงได้
เป็นต้น.

คำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อัตตา นิพพาน
และคำที่เรียกว่า ปรมัตถ์
เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นคำบัญญัติ และต้องมีสภาวะรองรับทั้งสิ้น
จะบอกว่าคำบัญญัติคำหนึ่งคำใดเหล่านี้ ไม่มีสภาวะรองรับย่อมไม่ได้

ถ้าหากหยุดพูดกล่าวขานเสียเมื่อใด คำบัญญัตินั้นก็ดับไป
แต่วัตถุหรือสิ่งนั้นๆอันเป็นสภาวะรองรับยังคงมีอยู่โดยปกติธรรมดา
มิได้หายสูญไปตามบัญญัติที่เลิกพูดถึงไปด้วย.



คำบัญญัติ และ คำสมมุติ ในพระพุทธศาสนา

ดังที่ได้กล่าวมา คำบัญญัติและคำสมมุติเป็นกระบวนการทางคำพูด
ที่ตั้งขึ้นสำหรับเรียกขานสิ่งต่างๆที่มีอยู่แล้วในโลก
เพื่อใช้เป็นสื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของบุคคลหนึ่งให้อีกบุคคลหนึ่งเข้าใจ
ซึ่งเป็น เรื่องของโลก. ดังนั้น ทุกคนจึงต้องใช้คำบัญญัติ-สมมุติ
และต้องจดจำไว้สำหรับพูดให้เป็นอย่างเดียวกันทั้งหมด จึงจะพูดกันรู้เรื่อง

ด้วยเหตุนี้ คำบัญญัติ-สมมุติทั้งหลาย จึงต้องตั้งขึ้นอย่างมีหลักเกณฑ์ คือ
๑.มีเหตุผล
๒.มีคำไวพจน์อื่นที่ใช้พูดแทนกันได้
๓.พันธุ คือ บัญญัติให้เป็นพวกๆไม่ปะปนกัน
๔.เป็นทวินิยม เพื่อให้เห็นสิ่งคู่กันโดยตรงกันข้าม


คำบัญญัติ-สมมุติ ย่อมอยู่ในหลักทวินิยม

คำบัญญัติ-สมมุติทั้งหลาย ที่ใช้เรียก หรือ พูดถึงวัตถุ สิ่งของและอารมณ์ต่างๆนั้น
เป็นเรื่องฝ่ายโลก ดังนั้น จึงต้องอยู่ในหลักทวินิยม จึงจะพูดกันรู้เรื่องชัดเจน.

หลักทวินิยมนี้ เจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ทรงดำริและปรารภก่อนตรัสรู้
จนนำพระองค์ให้ได้ตรัสรู้ธรรมวิเศษมาแล้ว

กล่าวคือ เมื่อครั้งเสด็จประพาสสวนนั้น ได้ทรงพบเทวทูตสี่
มีคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และ พระสมณะตามลำดับ
แล้วได้ทรงดำริปรารภด้วยพระปรีชาญาณตามหลักทวินิยมว่า

ตามธรรมดานั้น เมื่อมี ของร้อน ก็ย่อมมี ของเย็น แก้
เมื่อมี ที่มืด ก็ย่อมมี ที่สว่าง แก้

ดังนั้น เมื่อมีแก่ มีเจ็บ และมีตาย
ก็ย่อมต้องมีที่ที่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แก้เช่นเดียวกันด้วย.

สิ่งที่แก่ เจ็บ ตายนั้น พระองค์ทรงพบและรู้จักแล้ว
แต่สิ่งที่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายนั้น พระองค์ทรงยังไม่พบและไม่รู้จัก
แต่ทรงเชื่อว่าจะต้องมีคู่กันด้วย

ครั้นอนุมานด้วยพระปรีชาญาณว่า หลักปฏิบัติตามแบบพระสมณะ เป็นวิธีเดียว
ที่สามารถนำพระองค์เข้าไปพบสิ่งที่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายซึ่งเรียกว่า อมตธรรมได้
จึงทรงละพระราชสมบัติและผนวชเพื่อปฏิบัติธรรม
จนกระทั่งได้ทรงพบ อมตธรรม คือ จิตอันบริสุทธิ์ ในที่สุดสมพระประสงค์.

คำบัญญัติสมมุติในหลักทวินิยมอื่นๆ ได้แก่

สัตว์ ตรงข้ามกับ พุทโธ
อนัตตา ตรงข้ามกับ อัตตา เป็นต้น

สัตว์ แปลว่า ผู้ติดข้อง
จิตที่ยึดติดหรือข้องอยู่กับอารมณ์ต่างๆ เรียกว่า สัตว์

พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ไม่ติดข้อง
เมื่อปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์ ๘ จนจิตเลิกติดข้องกับอารมณ์แล้ว
ก็ไม่ใช่สัตว์อีกต่อไป กลายเป็น พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในที่สุด


อัตตา แปลว่า ตัวตน
อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน

แต่ในปัจจุบัน มักแปล อนัตตา ว่า ไม่มีตัวตน
ซึ่งมีความหมายผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงอย่างมาก


ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า
คำบัญญัติสมมุติตั้งขึ้น เพื่อเรียกขานสิ่งที่มีอยู่ในโลกตามปกติ
ถ้าไม่มีสิ่งนั้นๆในโลก ก็ย่อมจะไม่มีการบัญญัติสมมุติขึ้นมา

ถ้าไม่มีตัวตนจริงๆแล้ว
ก็ย่อมจะบัญญัติสมมุติคำว่า “อัตตา (ตัวตน)” ขึ้นมาเพื่อประโยชน์อันใดมิได้.


จาก ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์

download ไฟล์หนังสือธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ คลิกที่นี่เลยครับ





Create Date : 01 สิงหาคม 2551
Last Update : 1 สิงหาคม 2551 7:07:19 น. 0 comments
Counter : 566 Pageviews.  

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]