การดูจิตที่ทำให้เกิดสัมมาสติได้นั้น ต้องกระทำหรือเจริญให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นเอง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระอรหันต์พระองค์นั้น ผู้ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ดังที่เคยได้กล่าวมาแล้ว เรื่องการรู้จักจิตผิดไปจากความเป็นจริงนั้น ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาของเรา ย่อมผิดไปจากความจริงตลอดแนวทางไปด้วยเช่นกัน เพราะเราไม่รู้จักสภาวะธรรมของจิตที่แท้จริงนั่นเอง ต่อเมื่อเรารู้จักของที่แท้จริงแล้ว ย่อมทำให้มีคู่เทียบเปรียบกับของเท็จเทียมได้ ว่าแท้จริงแล้วจิตปรุงแต่งไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดหรือที่เรียกว่าจิตสังขาร (จิตผสมอารมณ์) จิตเกิด-ดับไปตามอารมณ์ที่เข้ามาปรุงแต่งจิตในขณะนั้นๆ

เราจึงรู้จักจิตผิดไปจากความเป็นจริงที่เป็นอยู่ จนกระทั่งเข้าใจผิดไปว่า จิตเป็นของเหลวไหล ไม่มีแก่นสาร อบรมไม่ได้ และจิตกับสตินั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ต้องพึ่งพาอาศัยกันเลยก็ได้ ตัวสติที่เรียกว่าการระลึกนั้น สามารถเกิดขึ้นได้เองแบบลอยๆโดยไม่ต้องมีจิตเป็นผู้ระลึกรู้ก็ได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย

การที่เราจะระลึกรู้อะไรขึ้นมาได้สักอย่างนั้น เราต้องอาศัยปัจจัยประกอบขึ้นมาสองปัจจัยด้วยกันคือ ตัวจิตผู้รู้ ๑ และสิ่งที่ถูกจิตรู้ ๑ เมื่อสองปัจจัยดังกล่าวมากระทบกันเข้า ตัวจิตผู้รู้เองนั่นแหละ ย่อมเป็นผู้ระลึกรู้ได้ เมื่อสิ่งที่ถูกจิตรู้ปรากฏขึ้นมา ในช่องทางใดช่องทางหนึ่งใน ๖ ช่องทาง ที่จิตผู้รู้ได้อาศัยช่องทางนั้น ในการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเข้ามา แล้วเกิดมีอาการหวั่นไหวไม่ตั้งมั่นไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น

เมื่อจิตผู้รู้ได้มีการฝึกฝนอบรมให้หมั่นระลึกรู้ คือมีสติกำกับจิตผู้รู้อยู่ตลอดเวลาทุกขณะ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ก็ไม่อาจจะทำให้จิตผู้รู้หวั่นไหวไม่สงบตั้งมั่นไปกับอารมณ์ได้ เนื่องจากจิตผู้รู้ได้มีการฝึกฝนอบรมตนเองมาเป็นอย่างดี ให้มีสติคอยกำกับอยู่ ณ.ภายในจิตผู้รู้นั่นเอง จนกระทั่งจิตผู้รู้ มีฐานที่ตั้งของสติไว้ให้คอยระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา ทุกขณะอย่างมั่นคง จึงทำให้จิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอีกต่อไปนั่นเอง...

เนื่องจากจิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ หรือที่เรียกว่าจิตผู้รู้ก็ได้ และจิตเองก็ไม่มีรูปร่างให้เห็นด้วยตาเนื้อ(ตาเปล่า) หรือให้เราจับต้องได้ โดยมีรูปร่างกาย(กายเนื้อ) เป็นที่อยู่อาศัยของจิต

เมื่อเราถูกถามว่าไหนหละตัวจิต เราก็จะอึ้งไปสักเล็กน้อย แล้วค่อยตอบกลับไปว่า อะไรที่รู้ จำ รู้สึก นึก คิด ได้นั้น นั่นแหละ เรียกว่า “จิต”

ถ้าเราจะจำกัดความในเรื่อง “จิต” ให้ง่ายเข้าไปอีกนั้น ต้องบอกว่า เมื่อเราไปรู้อะไร ที่ไหนก็ตาม ย่อมมีจิตผู้รู้อยู่ที่นั่นด้วยเสมอไป เช่น เรารู้อยู่ที่การเดิน ยืน นั่ง นอน และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆอยู่นั้น ย่อมมีจิตผู้รู้รู้อยู่ที่อิริยาบถเดิน ยืน นั่ง นอน และเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นเหล่านั้นไปด้วย


ทำไมเราจึงต้องหมั่นฝึกฝนอบรมจิตในการสร้างฐานที่ตั้งของสติ หรือ เจริญสติขึ้น ณ.ภายในจิตของตนด้วยหละ

เราทุกคนย่อมรู้กันดีว่า ตัวสตินั้นเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก ที่สำคัญในการดำเนินชีวิตของตนเอง ให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรมอันดีงาม ได้ง่ายอยู่เป็นปรกติ ฉะนั้นตัวสติ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นเอง หรือตั้งอยู่ลอยๆได้โดยลำพังตัวมันเอง จะต้องมีจิตผู้รู้ รองรับสภาวธรรมที่เกิดขึ้นมานั้น

เนื่องจากจิตผู้รู้ เป็น ผู้สร้าง หรือเจริญสติให้เกิดขึ้นมา ณ.ภายในจิตของตนเอง จึงต้องเป็นผู้รับรู้สภาวธรรมที่เกิดขึ้นมา อย่าบอกนะว่า สติเกิดขึ้นเองโดยไม่มีจิตเป็นผู้ระลึกรู้เลย ถ้าเป็นอย่างที่พูดจริง ก็แสดงว่าผู้พูดก็ขาดสติอยู่สิ จึงไม่รู้ตัว ถ้าผู้พูดมีสติกำกับอยู่ในขณะนั้นต้องรู้ตัว หรือ ที่เรียกว่ามีสติคอยระลึกรู้อยู่

ถ้าตัวสติมีการเกิดขึ้นเอง หรือตั้งอยู่ลอยๆได้ โดยลำพังตนเอง และมีอยู่ในทุกหนทุกแห่งทั่วไปทุกๆที่แล้ว เราก็สามารถแอบไปหยิบฉวยเอาตัวสติดังกล่าวมานั้น มาเป็นของๆตนเองได้สิ โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อยยากลำบาก หรือหมั่นเพียรพยายามในการสร้างสติ หรือ เจริญสติให้เกิดขึ้นกับตนเองเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดไปจากความเป็นจริง


เราต้องรู้ไว้ก่อนว่า "จิตคือธาตุรู้" หรือ "จิตคือผู้รู้" ฉะนั้น "จิต" จึงมีหน้าที่ “รู้” และ “ระลึกรู้” ในเรื่องราวอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่จิตของตน ไม่มีสิ่งอื่นที่จะรู้และระลึกได้ มีแต่เฉพาะ "จิต" เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่มีหน้าที่นี้โดยตรง ซึ่งเราอีกนั่นแหละที่รู้ดีว่า ในทุกๆคนนั้นมีจิตผู้รู้ อาศัยอยู่ในร่างกายของเราอยู่ทุกๆคน คนละดวงของใครของมัน


ความระลึก ความระลึกถึง ความระลึกเฉพาะ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ สตินทรีย์ สติพละสัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนะมรรค นี้เรียกว่า สติ

บุคคลเป็นผู้เข้าใกล้เข้าชิด เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ประกอบด้วยสตินี้ บุคคลนั้นเรียกว่าเป็นผู้มีสติ.

ถ้าเป็นบุคคลที่เป็นผู้เข้าใกล้ เข้าชิด เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปถึง เข้าไปถึงพร้อม ที่เป็นผู้มีสติโดยเหตุ ๔ อย่าง คือ

เมื่อเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกายชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาสติ
เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลายชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาสติ
เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิตชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาสติ
เมื่อเจริญธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลายชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาสติ



แต่ภายในจิตของทุกๆคนที่ยังมีอวิชชาอยู่ ยังต้องกลับมาเกิดใหม่ และท่องเที่ยวไปมาในภพภูมิน้อยใหญ่อันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น หรือแม้แต่ในภพภูมิปัจจุบันนี้ ก็ด้วยอำนาจของ กิเลส กรรม วิบาก กดดันอยู่ ล้วนแล้วแต่เป็นจิตที่มีอวิชชาครอบงำอยู่ทั้งนั้น

ในพระสูตรมีกล่าวไว้ว่า จิตเดิมนั้น ได้ชื่อว่าประภัสสรผ่องใส เหตุที่เศร้าหมองไป เพราะมีกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง เป็นเหตุทำให้จิตเศร้าหมอง ความประภัสสรผ่องใสที่ปรากฏอยู่เดิมนั้น ก็ยังไม่ได้รับความบริสุทธิ์หมดจดจากการปฏิบัติอริยมรรคเพื่อขจัดขัดเกลา สละ สำรอก ปล่อยวางกิเลส และความเศร้าหมองให้ออกไปจากจิต ที่เราเรียกว่าจิตอวิชชานั่นเอง

เป็นจิตที่ยังชอบท่องเที่ยวไปมาตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่ตน รัก ชอบ ชังต่างๆ เนื่องจากจิตได้เคยรับและบ่มเป็นนิสัยในกิเลสต่างๆเหล่านั้น มาอย่างยาวนานนับไม่ถ้วนจนเป็นอนุสัยสันดานที่นอนเนื่องอยู่ ณ.ภายในจิต แจ้งในอารมณ์(วิญญาณ)เหล่านั้น ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติผ่านมาแล้ว

และจิตมักแสดงอาการสนองตอบต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วเหล่านั้น ในทันทีที่จิตกระทบกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นเข้า และมีการแสดงอาการของจิต เพื่อตอบสนองต่ออารมณ์ออกมา จะมากหรือน้อยก็ตามขึ้นอยู่กับการที่จิตของตนเอง ได้เคยเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ตน รัก ชอบ ชังเหล่านั้น มากหรือน้อยเพียงใด ตามไปด้วยเช่นกัน เหตุเพราะขาดสติ หรือ เผลอสติไปนั่นเอง

การที่จะสร้าง จะกระทำ หรือ เจริญ ”สติ” ที่เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก ให้เกิดขึ้นมาได้นั้น ต้องเพียรสร้าง หรือเจริญสติ ที่จิตของใครของมันนั่นเอง จะสร้างหรือเจริญให้กันและกันไม่ได้ เป็นสิ่งที่ทำแทนกันไม่ได้

ดั่งมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า เราตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทาง หรือชี้ทางให้ ส่วนการปฏิบัติตามนั้น ใครทำใครได้ เป็นของเฉพาะตน หรือ ที่เรียกว่า ปัจจัตตัง ที่ต้องเพียรสร้าง ต้องกระทำ หรือ เจริญสติ ให้มีขึ้น ให้เกิดขึ้น กับจิตของตนเท่านั้นเอง


"สติ" เป็นหน้าที่ของจิต ที่พึงต้องกระทำให้มีขึ้น ให้เกิดขึ้นในจิตของตนให้ได้ เนื่องจากสติเป็นธรรมที่มีอุปการะมากนั่นเอง และสติเองก็ไม่ใช่ "เจตสิกธรรม" ที่เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตให้เสียคุณภาพ หรือเศร้าหมองไปเลย

ผู้มีจิตที่ถูกเจตสิกครอบงำอยู่นั้น มักทำให้จิตเสียคุณภาพ หรือเศร้าหมองไปจากเดิมที่จิตเป็นอยู่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากห้วงเวลาที่จิตขาดสติไปหรือเผลอสติไปในขณะนั้นเอง

ฉะนั้นสรุปได้ว่า สติไม่ใช่ "เจตสิกธรม" ที่คอยปรุงแต่งจิตให้เสียคุณภาพ หรือเศร้าหมองไป แต่สติเป็นหน้าที่ของจิตที่จะต้องเพียรพยายามสร้าง ให้มีขึ้น ให้เกิดขึ้นมา ณ.ภายในจิตของตน เพื่อให้จิต มีคุณภาพ อ่อน ควรแก่การงานนั้นๆ

ผู้ที่เจริญสติจนจิตมีสติสัมปชัญญะคอยกำกับอยู่ ณ.ภายในจิตของตนตลอดเวลาได้นั้น ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่จิตมีคุณภาพ อ่อน สมควรแก่การงาน เป็นผู้ที่มีจิตเหมาะสมในการทำการงานให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี เป็นผู้มีสติ ณ.ภายในจิตของตน อันเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ หรือที่เรียกว่า เป็นผู้ที่ได้กระทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว เพราะจิตไม่ถูกอารมณ์เครื่องปรุงแต่งจิต(เจตสิก) ครอบงำ ให้จิตเสียคุณภาพ หรือเศร้าหมองไปได้นั่นเอง

การประพฤติปฏิบัติที่จะให้บรรลุผล และเข้าถึงจิตที่มีสติคอยกำกับ ณ.ภายใน หรือ ที่เรียกว่าสภาวธรรมของจิตที่แท้จริงได้ดีนั้น เราควรวางตำรับตำราที่ได้เล่าเรียนมา หรือ ความเชื่อที่เชื่อตามๆกันมา ลงไว้ชั่วคราวเสียก่อน และลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา “พุทโธ” (สัมมาสมาธิ) ด้วยความพากเพียรพยายามอย่างจริงจัง

เพื่อเป็นการเพียรสร้างสติ หรือเจริญสติ ให้มีขึ้น ให้เกิดขึ้น ณ.ภายในจิตของตน จนจิตมีฐานที่ตั้งของสติอย่างมั่นคง เพียงแค่เรานึกน้อม จิตก็จะมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอยู่ ณ.ภายใน ได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว ชำนิชำนาญ หรือ ที่เรียกว่า"เป็นวสี" เป็นนิมิตแห่งจิตนั่นเอง เป็นสภาวธรรม "จิตรู้อยู่ที่รู้" หรือ เรียกว่า "มีสติสงบตั้งมั่นโดยลำพังตนเอง" ไม่ไปปรุงแต่งเรื่องราวอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งภายในและภายนอก ไม่ใช่จิตไปรู้อยู่ที่เรื่องราวอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆหรืออุปกิเลสทั้งหลาย

เมื่อเรามารู้จักจิตที่แท้จริง และจิตที่มีฐานที่ตั้งของสติ ณ.ภายในได้แล้ว แม้จิตจะตั้งอยู่ ณ.ฐานใดฐานหนึ่งใน ๔ ฐานของสติปัฏฐาน ย่อมให้ผลเช่นเดียวกันหมด เนื่องจากจิตรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ณ.ภายในจิต และทำให้จิตต้องเศร้าหมองไปด้วย เพราะเหตุแห่งความยึดมั่นถือมั่นของจิตเอง ล้วนเป็นอุปกิเลสทั้งหลาย ที่เป็นแขกจรเข้ามา ณ.ภายในจิตของตนเอง เป็นการดูจิตที่รู้จักจิตอย่างถูกต้องเที่ยงตรงต่อพระบรมครูของเราที่ทรงสอนไว้

เราต้องเดินตามรอยพระบาทขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาไม่ใช่คิดเองเออเอง หรือ เชื่ออัตโนมัติอาจารย์ที่ไม่มีภูมิธรรมที่แท้จริงอยู่เลย แต่กลับสอนสานุศิษย์ให้ทำอย่างที่ตนคิดเองเออเองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด และกล่าวหาว่าคำสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆที่สอนอยู่นั้น เป็นการสอนธรรมที่คลาดเคลื่อนไป

แม้จะเป็นคำสอนของจอมศาสดา ที่เป็นพระพุทธพจน์ก็ตามเราจะต้องมีการตรวจสอบ สอบสวนเปรียบเทียบธรรมเ พื่อให้เข้าถึงสัจจะธรรมความจริงที่มีอยู่ เป็นอยู่ แต่เก่าก่อน

พวกเราคงยังจำกันได้ว่าแม้จอมศาสดาของเราชาวพุทธนั้น พระองค์ท่านเองยังทรงต้องเพียรสร้างสมบารมี มาด้วยการบำเพ็ญตนคือ"จิต" มาแล้วอย่างยาวนานไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ จนกระทั่งถึงพระชาติสุดท้ายที่ทรงอุบัติมา เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ในพระชาตินี้

พระองค์ยังทรงต้องมาเรียนรู้วิธีการสร้างสติ หรือเจริญสติให้เกิดขึ้นที่จิต โดยไปเรียนกับท่านอาจารย์อาฬารดาบส และท่านอาจารย์อุทกดาบส ขณะที่พระองค์ท่านเรียนอยู่นั้น พระองค์ท่านสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วมาก จนกระทั่งท่านอาจารย์ทั้งสองยังต้องออกปากชม เนื่องมาจากบารมีเก่าของพระองค์ท่านที่ได้เคยบำเพ็ญเพียรสั่งสมมาก่อน

เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าสิ่งที่พระองค์ได้ทรงเรียนรู้มานั้น เป็นสมาธิที่ไม่ใช่มาจากสัมมาสติ ที่จะยังให้เกิดสัมมาสมาธิขึ้นมาได้ เป็นสมาธิที่ต้องยึดอารมณ์รูปฌานและอารมณ์อรูปฌานไว้อย่างเหนียวแน่น ปล่อยวางอารมณ์ฌานทั้งหลายเหล่านั้นไม่เป็น

เนื่องจากเกรงไปว่าอารมณ์ฌานที่ตนได้ยึดเอาไว้อย่างเหนียวแน่นอยู่นั้น จะจืดจางหายไป ทำให้จิตไม่เกิดปัญญารู้แจ้งตามความจริงใ นการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปจากจิต จิตยังคงติดสุขอยู่ในอารมณ์ฌานทั้งหลายเหล่านั้น จิตไม่สามารถจะหลุดพ้นออกจากอารมณ์ฌานทั้งหลายเหล่านั้นไปได้เลย เป็นเพียงแต่ทำให้กิเลสที่เคยมีอยู่เก่าก่อนเบาบางลงไปได้เท่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นเพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง เพื่อความพ้นวิเศษจากอุปกิเลสที่จรมาทั้งหลาย

พระองค์จึงทรงกล่าวลาท่านอาจารย์ทั้งสองเ พื่อออกไปค้นหาโมกขธรรมด้วยพระองค์เอง และในวันเพ็ญเดือนหกอันเป็นวันวิสาขบูชา พระองค์ได้ทรงอธิษฐานจิต ณ.ภายใต้ต้นสาละว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงตรัสรู้ในค่ำคืนนี้ พระองค์จะทรงนั่งคู้บัลลังก์โดยไม่ยอมลุกขึ้นมาจากที่นั่งอีกเลย แม้เลือดเนื้อในกายของตนเองจะเหือดแห้งไปก็ตามที

โดยพระองค์ท่านทรงเริ่ม พิจารณากายคตาสติ ด้วยอานาปานสติกรรมฐาน เพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริงตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

โปรดพิจารณาพุทธอุทานบทหนึ่งซึ่งทรงเปล่งออกหลังจากตรัสรู้ใหม่ๆ ดังนี้คือ
ยทา จ อตฺตนาเวทิ มุนิ โมเนน พฺราหมฺโณ อถรูปา อรูปาจ สุขทุกฺขา ปมุญฺจติ แปลว่า
เมื่อใดพราหมณ์ผู้เป็นมุนี, มารู้จักตน เข้าด้วยปัญญาอันเกิดจาก (จิต) สงบ, เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมพ้นจาก รูป, อรูป, สุข, และ ทุกข์ดังนี้


แต่ก็ยังมีอัตโนมัติอาจารย์บางท่านที่เก่งเกินพระบรมครู เที่ยวสอนว่าการปฏิบัติธรรมนั้น ไม่จำที่ต้องทำสมาธิก็ได้ ให้พิจารณาจิตตานุปัสสนากรรมฐานหรือ ที่เรียกว่าวิปัสสนายานิกได้เลย โดยไม่ต้องผ่านการรู้จักกายในกายเป็นภายในมาก่อน แล้วสติจะเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ เพราะเหตุใกล้ทำให้เกิด ไม่ต้องมีเจตนาใดๆทั้งสิ้น แล้วสัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นมาได้เองเช่นกัน ล้วนเป็นการสอนแต่เรื่องโกหกพกลมทั้งสิ้นไม่มีทางเป็นไปไม่ได้เลย

ดั่งที่อัตโนมัติอาจารย์สอนมานั้นเป็นเพียงการให้สังวรอินทรีย์ คือการสำรวมระวังกาย วาจา ใจของตนเองให้ดีเท่านั้น แม้การจะสำรวมอินทรีย์ให้ได้ผลดีนั้น ยังต้องอาศัยเหตุ คือต้องมีการตั้งเจตนาไว้ ณ.ภายในใจ(ความตั้งใจ) ที่จะสำรวมระมัดระวังกาย วาจา ใจให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรมอันดีงาม ไม่แสดงอาการที่ละเมิดกรอบแห่งศีลธรรมอันดีงามไปทำในเรื่องอันไม่ดีงามซึ่งเป็นอกุศลธรรมออกไป

จะเห็นว่าไม่ได้เกิดขึ้นเอง อย่างที่สอนๆกันอยู่ในปัจจุบันนี้เลย ต้องมีเจตนาสั่งสมอบรมให้เกิดขึ้นที่จิตของตน

คำสอนดังกล่าวนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา ”อธิศีลสิกขา” อยู่เท่านั้น ยังห่างไกลจากความเป็นจริง ในการ"ดูจิต"ที่เป็น "อธิจิตสิกขา" หรือ "จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน" หรือ "วิปัสสนากรรมฐาน" อีกไกล

การจะเข้าถึงจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหรือ วิปัสสนากรรมฐานได้นั้น เราต้องรู้จักสภาวธรรมของจิตที่แท้จิตให้ได้เสียก่อน ที่เราเรียกว่า”อธิจิต”นั่นเอง การจะเข้าถึง "อธิจิต" ได้นั้นมีพระพุทธพจน์รับรองไว้ในพระสูตร ที่ว่าด้วยผู้มีสติโดยเหตุ ๔ ดังนี้

อธิจิตตสิกขาเป็นไฉน?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารเพราะวิตกและวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
เพราะปีติสิ้นไปจึงมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่าผู้ได้ฌานนี้
เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
บรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
นี้ชื่อว่า อธิจิตตสิกขา


ส่วนพวกที่ยังหลงเข้าใจผิดว่า ตนเองนั้นฝึก "วิปัสสนา" หรือ "ดูจิต" โดยไม่ต้องผ่านการฝึกฝนอบรมสมาธิกรรมฐานภาวนา "พุทโธ" มาก่อนนั้น ก็ได้เพียงแค่ "สัญญาวิปัสสนึก" หรือ "ดูจิตแบบติดอาการของจิต"และติดอยู่กับ กับดักของ "จิตสังขาร" ที่ละเอียดขึ้นไปเท่านั้น

เมื่อยังไม่รู้จัก ”อธิจิตสิกขา” หรือ เข้าไม่ถึงสภาวธรรมของจิตที่แท้จริงแล้ว ย่อมหลงไปกับ ”รูป-นาม ขันธ์ ๕” ซึ่งเป็นเพียงอาการของจิตที่แสดงตอบต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเท่านั้น

จนกระทั่งเข้าใจผิดๆไปว่าแม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และท่านพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็เป็นเพียงแค่ ”รูป-นาม อุปาทานขันธ์ ๕” โดยปรมัตถ์สัจจะเท่านั้นเอง คือไม่มีอยู่จริงโดยปรมัตถ์

ทั้งที่โดยความเป็นจริงอันสูงสุด (ปรมัตถ์สัจจะ) แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และท่านพระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้น ท่านได้ปฏิเสธ “รูป-นาม อุปาทานขันธ์ ๕” เหล่านั้นไปแล้วว่า นั่นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตนของเรา

ซึ่งมีพระพุทธพจน์รับรองไว้โดยปรมัตถ์ ในอนัตตลักขณสูตร อย่างชัดเจนทีเดียว ดังนี้

"ยมฺปนานิจฺจํทุกฺขํ วิปริณามธฺมมํ กลฺลํ นุ ตํ สมนุปสฺสิตํ เอตํ มม เอโส หมสฺสมิ เอโส เม อตฺตาติ. แปลว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง,เป็นทุกข์, มีความแปรปรวนเป็น ธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่านั่นเป็นเรา, เราเป็นสิ่งนั้น, สิ่งนั้นเป็นตัวตนของเรา"

พระปัญจวัคคีย์กราบทูลตอบว่า ไม่ควรเห็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า
ในตอนท้ายพระสูตรดังกล่าวได้สรุปความลงว่า

"เมื่อพระผู้มีพระภาคย์ตรัสเรื่องราวนี้จบลง
จิตของพระอาจารย์ปัญจวัคคีย์ ก็หลุดพ้นจากอุปาทานที่ทำให้เข้าไปยึดถือขันธ์ ๕"



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 30 เมษายน 2553
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:16:34 น.
Counter : 572 Pageviews.

1  2  

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์