ดูจิตติดเกิด-ดับ จนพลาดจากความเป็นจริง
นักศึกษาธรรมะที่คิดว่าตนเองได้ปฏิบัติธรรมตามพระโอวาทของพระพุทธองค์แล้ว ควรต้องระมัดระวังศึกษาเรื่องจิต ให้รู้จักสภาพธรรมของจิตตามความเป็นจริง เมื่อขาดความรอบคอบ มักเกิดความเข้าใจในเรื่องจิตผิดไปจากความเป็นจริง ย่อมทำให้การปฏิบัติธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นนั้น ผิดไปจากความเป็นจริงตามไปด้วย

แต่ส่วนใหญ่กลับไม่เห็นความสำคัญ เพราะได้ปักใจเชื่อตามๆกันมา ตามตำราที่ว่าไว้เสียแล้วว่า "จิตผู้รู้" เป็นเรื่องเหลวไหล เป็นสิ่งที่ต้องเกิดๆ-ดับๆ เป็นกองทุกข์อยู่ตลอดเวลา ที่ได้ผัสสะกับอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย

ความเข้าใจตามนั้น ต้องถือว่า "ผิด" ไปจากความเป็นจริง เพราะเห็นแต่การเปลี่ยนแปลง ปรวนแปร ที่เกิดปรากฎขึ้นและดับหายไปจาก "จิตผู้รู้" อย่างรวดเร็ว ทำให้คิดไปว่านั่นเป็นสภาพธรรมของ "จิตผู้รู้"

แท้ที่จริงสภาพธรรมที่เปลี่ยนแปลง ปรวนแปร ไปอย่างรวดเร็วมากนั้น มีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้แต่อย่างเดียว
ที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเหมือนจิต

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้จะเปรียบเทียบให้เห็นว่า
จิตเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเพียงใดนั้น ก็กระทำไม่ได้ง่าย ฯ"


พระบาลีจากพระสูตรนี้ รจนาไว้ชัดๆว่า
"ฯ ยาว ลหุปริวตฺตํ จิตฺตนฺติ ฯ" จิตเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก

พระบาลีพูดถึงจิตในแบบลักษณะ คือ
จิตฺตนฺติ จิตย่อมรู้ชัดว่า ลหุปริวตฺตํ เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก

จิตเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก จนดูเหมือนกับจิตมีการเกิดๆ-ดับๆนั้น เป็น "จิตสังขาร" หรือ "สังขารจิต" คือจิตได้ยึดถือเอาสิ่งที่ถูกรู้นั้นเป็นของตนหรือเป็นตน ด้วยลืมหันกลับมามองดูตนเอง "จิตผู้รู้" ที่ยืนสภาพรู้ อยู่ทุกขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนนั้น

เหตุเพราะ "จิตผู้รู้" ขาดสติไม่สงบนิ่งพอ จึงรู้เห็นได้ไม่ทัน ถึงการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนนั้น จนเกิดเป็นความเข้าใจผิดๆ ของนักปฏิบัติธรรมมือใหม่ หรือนักตำรานิยมทั้งหลายแทบทุกคน


ตอนหนึ่งในพระธรรมเทศนาของ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร กล่าวไว้ว่า
"ดวงจิตดวงใจผู้รู้อันนี้ก็มีอยู่ภายใน แต่มีสังขารจิต คือจิตที่มันคิดอยู่ภายในนี้ แล้วมันก็แส่ส่ายออกไปภายนอก นั่นแหละคือ สังขารจิต"


เรื่องนี้เป็นแค่เรื่องพื้นๆ อันเป็นรากฐาน และเป็นสาระสำคัญยิ่ง ที่ทำให้เกิดผลของปฏิบัติตามมาในกาลข้างหน้า ควรมีเข้าใจให้ถูกต้องดีเสียก่อน ไม่ต้องไปสนใจอะไรที่ลึกซึ้งไปกว่านี้ เพราะพื้นฐานอันนี้ คือรากฐานที่สำคัญยิ่ง ที่จะเกิดขึ้น ในอนาคตของการ "ปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา"


ขอให้พิจารณา คำว่า "เกิด" กับคำว่า "ดับ" และคำว่า "เปลี่ยนแปลง" ซึ่งนักตำรานิยมยังสับสนกันอยู่เป็นจำนวนมาก

จิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย หรือแปรปรวนไปตามอารมณ์ ที่มาเกิดขึ้นที่จิต ตั้งอยู่ที่จิต และดับไปจากจิต คนส่วนใหญ่ก็มักเข้าใจไปว่า "จิต" เกิดๆ ดับๆ ส่วนอาการของจิตที่เกิดปรากฏขึ้นที่จิต ตั้งอยู่ที่จิต แล้วดับหายไปจากจิต ก็ยัดมันว่าเป็นจิตดวงใหม่ที่เกิดดับ-เกิดดับ ตลอดเวลาที่อารมณ์มาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับหายไปซะงั้น

คำว่า "เกิด" ชัดเจนในความหมาย คือ สิ่งที่ไม่มีอยู่ก่อนเกิดขึ้นมา เรียกว่า "เกิด" เช่น นาย ก.ไม่เคยมีมาก่อน แต่แม่นาย ก.ได้คลอดลูกออกมา จึงเรียกว่า "มีลูกเกิดขึ้นมา" เพราะนาย ก.ไม่เคยมีอยู่ก่อน ได้มีขึ้นในภายหลัง (อย่าพูดถึงตอนอยู่ในท้องนะ)

ส่วนระหว่างที่ดำเนินชีวิตไปนั้น คือ การเจริญเติบโต เรียกว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ตามวัย ตามปัจจัย ที่เกิดขึ้น พอถึงคราวอันควร นาย ก.นั้นต้องจากไป "ความตาย" ได้มาเยือน เรียกว่า "ดับ" ความหมายชัดเจนในตัว คือ สิ่งที่มีอยู่ก่อนนั้นดับหายไป ส่วนในระหว่าง "เกิด-ดับ" นั้น มักต้องมีความเปลี่ยนแปลงแฝงอยู่ในนั้นด้วยเป็นธรรมดา


ฉะนั้น ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนดีเสียก่อน การศึกษาปฏิบัติธรรมจะได้ดำเนินไปแบบถูกฝาถูกตัว ถ้าเข้าใจเรื่อง "จิต" แบบผิดๆตั้งแต่ต้นมือแล้ว การศึกษาปฏิบัติธรรม ย่อมผิดตามไปด้วยตลอดแนวเช่นกัน

ส่วนการเปลี่ยนแปลง แปรปรวน ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่หรือดับไปนั้น ต้องถือว่าเป็นสาระสำคัญยิ่ง คือ "จิตผู้รู้" ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ได้มีการเปลี่ยนแปลง แปรสภาพไปตามเหตุปัจจัย ที่มากระทบ หรือเข้าไปยึดถือเหตุปัจจัยนั้น

"จิตผู้รู้" ย่อมต้องหลงไหลไปตามความยึดมั่นในปัจจัยที่มากระทบ หรือ ยึดเข้ามาครอบครอง และได้ปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัยนั้น และยึดมาเป็นของๆตน จึงเกิด "วิญญาณ" รู้แจ้งในอารมณ์นั้นๆ ที่จิตปรุงแต่งยึดมั่นอยู่ เมื่อสิ่งที่ถูกปรุงแต่งอยู่นั้น "เกิด-ดับ" ไป วิญญาณที่แจ้งในอารมณนั้นๆ ก็เกิด-ดับตามไปด้วย เพราะความโง่เขลาเบาปัญญา (อวิชชา)

ตรงนี้เป็นจุดที่นักธรรมะมักสับสนกันมาก ด้วยลืมพิจารณาไปว่า ตนเองย่อมรู้เห็นถึง ความเปลี่ยนแปลง แปรปรวน ที่เกิด-ดับไปนั้น ตลอดสายของการเกิด-ดับ ที่เปลี่ยนแปลง แปรปรวนไป

ตัวอย่างเช่น น้ำที่เดิมนั้นสะอาดหมดจดใสบริสุทธิ์ ต้องแปรเปลี่ยนไป ด้วยมีสิ่งแปลกปลอมต่างๆ มาผสมคลุกเคล้าลงไป เมื่อนำเอาสภาพน้ำนั้นไปกลั่นมาใหม่ น้ำไม่ได้เกิดมาใหม่ ก็เป็นสภาพของมันอยู่ก่อน และก็ไม่ใช่ดับเช่นกัน ที่ดับไป คือสภาพน้ำก่อนหน้าที่น้ำได้ถูกผสมปนเปไปด้วยสิ่งแปลกปลอม เมื่อถูกผสมใหม่ก็แปรเปลี่ยนไปอีก ไม่ใช้คำว่าน้ำใหม่ แต่เป็นสิ่งแปลกปลอมที่มาผสมใหม่ เพราะมันถูกผสมของมันอยู่อย่างนั้นมาช้านาน

ที่อุปมามานั้น ต้องการเพียงสื่อให้เข้าใจคำว่า "เกิด-ดับ" กับ "เปลี่ยนแปลงแปรปรวน" ว่ามันเป็นคนละเรื่องที่เนื่องด้วยกันเป็นธรรมดา

เพียงเท่านี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจจนเหนื่อยแล้ว แต่ก็เป็นเรื่องที่ควรต้องทำความเข้าใจ เรื่อง "เกิด-ดับ" กับ "เปลี่ยนแปลง" เสียให้ถูกต้องก่อน

ส่วนเรื่อง "วิญญาณ" ถ้ายังสนใจ กระซิบมาได้ จะช่วยสงเคราะห์ให้ในโอกาสต่อไป ขอฝากพระธรรมเทศนาของหลวงปู่สิม พุทธจาโร ไว้

"ดวงสตินี้ก็ยังให้จิตในที่รู้อยู่นี้แหละ ตั่งมั่นสงบระงับ ไม่แส่ส่ายไปกับสังขารวิญญาณกริยาอาการของจิต"


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 12 กรกฎาคม 2556
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:56:57 น.
Counter : 1749 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์