แค่เปลี่ยนวิธีคิด ภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่เรื่องยาก (ครูหนุ่ย)
 
 

ค่าครองชีพในเมลเบิร์น

การตัดสินใจจะไปเที่ยว ไปเรียนต่อ หรือไปอยู่ในเมืองใด ๆ ข้อมูลด้านค่าครองชีพ (Cost of living) เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่กำลังตัดสินใจมาเรียนต่อที่นี่ ไม่ว่าจะด้วยทุนเต็มจำนวน ทุนบางส่วน หรือ ทุนส่วนตัว ข้อมูลดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดกระเป๋า และวางแผนค่าใช้จ่าย แต่บอกไว้ก่อนนะครับว่าราคาสินค้าต่าง ๆ นี้ เป็นราคาโดยประมาณ เพราะราคาจริง ๆ ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ สถานที่ขาย ช่วงลดราคา ฯลฯ ซึ่งราคาที่นี่ผันผวนมาก วันหลังจะเล่าเรื่องนี้ให้ฟังนะครับ


เรื่องสำคัญที่สุดคือ เรื่องอาหารการกิน เวลาเทียบค่าครองชีพ ผมมักจะเทียบค่าอาหารหนึ่งมื้อ กับรายได้ขั้นต่ำ ที่นี่ราคาอาหารกลางวันอย่างถูกเช่น burger + chips + Coke, fish and chips, ก๋วยเตี๋ยว, อาหารจานเดียว ฯลฯ อยู่ที่ประมาณ 7-10 dollars (คูณค่าเงินไทยประมาณ 30 บาทดูเองนะครับ) กาแฟแก้วละ 3-4 dollars ถ้าเป็น dinner จะค่อนข้างแพงหน่อย ส่วนใหญ่จะสั่ง Entree (อ๊องเทร) เป็นอาหารทานเล่น ราคาประมาณ 7 dollars ขึ้นไป แล้วก็ main course เป็นพวก สเต๊กต่าง ๆ จะอยู่ที่ประมาณ 15 dollars ขึ้นไป แล้วแต่ว่าสั่งเนื้ออะไร และส่วนไหน อาหารที่นี่จานค่อนข้างใหญ่ คนที่มาใหม่ ๆ อาจจะทานไม่หมด (แต่อยู่สักพักกระเพาะเราจะปรับขนาดได้เอง เหมือนผม ^_^) เราอาจขอ takeaway (เอากลับไปกินที่บ้าน) ก็ได้


สรุปให้เลยครับ ของที่นี่แพงกว่าบ้านเราทุกอย่าง ถ้าเราทานข้าวนอกบ้านบ่อย ๆ เงินที่เราเอามาจากเมืองไทยจะหมดไปอย่างรวดเร็ว ข่าวดีก็คือ ถ้าเราทำกับข้าวทานเอง นอกจากจะอร่อยกว่าแล้ว ยังประหยัดไปได้เยอะเลยทีเดียว ผมจะลองเล่าราคาวัตถุดิบให้อ่านเล่น ๆ แล้วกันนะครับ ข้าวสารหอมมะลิ 5 กิโลกรัม ประมาณ 15 dollars บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองละ 35 cents ไข่ 12 ฟอง ประมาณ 2-3 dollars หมูบดกิโลกรัมละประมาณ 6 dollars กุ้งกิโลกรัมละ 15 dollars ผักราคาหลากหลายแล้วแต่ชนิดครับ เช่น แครอท กิโลกรัมละ 1 dollars กว่า ๆ ผักชี กำละประมาณ 2 dollars มะเขือเทศ ประมาณกิโลกรัมละ 2 dollars นมลิตรละประมาณ 1.5-2 dollars น้ำเปล่า ถ้าซื้อเป็นขวดค่อนข้างแพง (600 ml ประมาณ 2 dollars) ส่วนใหญ่เราต้มน้ำก๊อกกิน น้ำอัดลม ยิ่งซื้อขวดใหญ่ยิ่งถูก (2 ลิตร ประมาณ 3 dollars แต่กระป๋องละ 2 dollars) เบียร์ขวดเล็ก 2 dollars ขึ้นไป ไวน์ค่อนข้างถูก มีตั้งแต่ 4 dollars ขึ้นไป


ผลไม้บ้างดีกว่า apples ที่นี่ค่อนข้างอร่อย รสจัด หอมหวาน ยี่ห้อที่ผมว่าอร่อยก็เช่น Royal Gala, Pink Lady, Fuji ราคาก็ผันผวนมากครับ เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 4-5 dollars แตงโมไร้เมล็ด กิโลกรัมละ 1 dollar กว่า ๆ องุ่นไร้เมล็ด (หวานกรอบอร่อยมากครับ) กิโลกรัมละ 4-6 dollars สับปะรดไร้เมล็ด ลูกละ 2 dollars (เอ่อ...สับปะรดมันไม่มีเมล็ดอยู่แล้วนี่นา...ก็ประเทศนี้อะไรมันก็ไร้เมล็ดไปหมดนี่ครับ ^_^)


ของใช้บ้างดีกว่านะครับ ยาสระผม 400 ml ประมาณ 5-6 dollars, ยาสีฟัน160 g ประมาณ 2 dollars , ครีมอาบน้ำ 1 ลิตร ประมาณ 8-9 dollars, แป้งเด็ก 100 g ประมาณ 2 dollars, โลชั่น 400 ml ประมาณ 5-7 dollars โฟมล้างหน้า 175 g ประมาณ 10-14 dollars น้ำยาซักผ้า 475 ml ประมาณ 4 dollars ค่าซักผ้าหยอดเหรียญถังละ 3 กว่า ๆ ปั่นแห้งอีก ประมาณ 3 dollars


ค่าที่พักที่นี่ค่อนข้างแพง บางคนบ่นว่าทำงานมาจ่ายแต่ค่าห้องหมด ผมเห็นด้วยครับ ค่าห้องที่นี่คิดเป็นสัปดาห์ ราคาห้องพักขึ้นอยู่กับทำเล และสภาพห้อง เป็นหลัก อย่างที่พักขนาด 1 ห้องนอน 1 ห้องรับแขก 1 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว มีที่จอดรถ มีรถประจำทางผ่าน อยู่ที่ประมาณ 200 dollars ต่อสัปดาห์ แต่หากไปอยู่แถวนอก ๆ เมือง ราคาก็จะถูกลง นักศึกษาไทยส่วนใหญ่มักเลือกที่จะแชร์ห้องพักกัน ก็จะลดค่าใช้จ่ายลงไปได้เยอะทีเดียว แต่ก็ต้องทำใจเรื่องความเป็นส่วนตัว และต้องมีความไว้ใจกันสูงมาก เพราะห้องที่นี่ (แม้แต่ห้องน้ำ) ล็อกไม่ได้ครับ


การเดินทางในเมลเบิร์นค่อนข้างสะดวกสบาย มีทั้ง tram, train และ bus แต่ค่าเดินทางที่นี่เป็นแบบเหมาจ่าย คือสามารถเลือกได้ว่าจะซื้อตั๋วแบบ 2 hour (3.50 dollars) daily (6.50 dollars) weekly (28 dollars) monthly (104.40 dollars) yearly (1117 dollars) ก็ได้ โดยเดินทางได้ไม่จำกัดเที่ยว เช่น ถ้าซื้อตั๋ววัน daily เราจะสามารถไปไหนก็ได้ ขึ้น tram, train หรือ bus ก็ได้ ภายในหนึ่งวัน


พูดถึงแต่รายจ่ายให้ปวดสมองแล้ว ต้องพูดเรื่องรายได้ให้ชื่นใจขึ้นมาบ้างนะครับ นักเรียนส่วนใหญ่ (ที่ไม่ใช่การเรียนแบบทำวิจัย) สามารถทำงานได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง ส่วนใหญ่คนไทยมักจะเริ่มงานจากร้านอาหารไทยก่อน เพราะรู้สึกอุ่นใจ มีเพื่อน ได้ทานข้าวฟรี แถมมีอาหารติดไม้ติดมือกลับบ้านอีกด้วย แต่ข้อด้อยของการทำร้านอาหารไทยคือ ค่าแรงค่อนข้างน้อย (ประมาณ 8 -10 dollars ต่อชั่วโมง) เมื่อเทียบกับร้านฝรั่ง (15 dollars ขึ้นไป ต่อชั่วโมง)


สรุปได้ว่า ค่าครองชีพโดยรวมแล้วแพงกว่าเมืองไทย แต่ถ้าเทียบกับรายได้แล้ว ก็ถือว่าอยู่ได้ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนจะมากจะน้อย ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตแต่ละคน บางคนจึงเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำกลับบ้าน บางคนเลือกใช้ชีวิตเต็มที่ หาประสบการณ์ให้มากที่สุด เป็นกำไรกลับบ้าน แต่ถ้าถามผม ผมขออยู่ตรงกลาง คือ เลือกประหยัดถ้าทำได้ (เช่น หาแหล่งที่ขายของถูก หรือ คอยซื้อของเวลาลดราคา) และหาประสบการณ์ใหม่ ๆ เมื่อโอกาสอำนวย เผื่อว่าจะเหลือเงินเล็ก ๆ น้อย ๆพร้อมประสบการณ์กลับบ้านไงครับ




 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2552   
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2552 7:05:43 น.   
Counter : 461 Pageviews.  


การเรียนปริญญาเอก

คำถามที่ผมถูกถามมากที่สุดตั้งแต่มาเรียนคือ “เรียนอะไร” ซึ่งจะว่าตอบง่ายก็ง่าย จะว่าตอบยากก็ยาก เพราะการเรียนระดับปริญญาเอกที่นี่ ไม่มีวิชาเรียน (coursework) แต่ “เรียนรู้” จากการทำงานวิจัย โดยแต่ละคณะจะระบุขอบเขตงานวิจัยที่นักศึกษาสามารถทำได้ ในหลาย ๆ กรณีจะพบว่างานวิจัยที่เราทำนั้นคาบเกี่ยวกันในหลาย ๆ คณะ เช่น ด้านการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ นักศึกษาสามารถเข้าไปทำวิจัยได้ทั้งในคณะศิลปศาสตร์ (Arts) หรือคณะศึกษาศาสตร์ (Education) ก็ได้ เพราะฉะนั้นเวลาคนในมหาวิทยาลัยเจอกันเขาจะถามว่า สนใจงานวิจัยด้านไหน (research interests) เพราะแม้เรียนคณะเดียวกันแต่งานวิจัยอาจจะไม่คล้ายกันเลยก็ได้ ในทางตรงกันข้ามงานวิจัยของเราอาจจะไปตรงกับความสนใจของเพื่อนคณะอื่น หากสนใจไปในทางเดียวกันก็มักจะหาทางติดต่อ รวมกลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน


อีกคำถามหนึ่งที่ผมถูกถามบ่อยอีกเช่นกันคือ “ไม่มี coursework แล้วไปทำอะไรตั้ง 4 ปี” ก่อนผมมาเรียนผมก็สงสัยเหมือนกัน ผมจินตนาการไว้ว่าคงเป็นการเรียนที่เหงาน่าดู อยู่คนเดียวในห้องสมุด ไม่เจอผู้คน แต่เมื่อมาถึงที่นี่แล้วจึงรู้ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ผม หรือหลาย ๆ คนคิดเลยครับ ปริญญาเอกที่เป็น Ph.D. ที่นี่ไม่มี coursework ก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ได้สัมผัสประสบการณ์การเข้าห้องเรียนเลย เพราะทางมหาวิทยาลัยจัดอบรม สัมมนา ประชุม ตลอดเวลา เรียกได้ว่ามีเกือบทุกวัน นักศึกษาแต่ละคนต้องตัดสินใจเองว่าจะเข้าไปเรียนวิชาไหน คอร์สอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นฐานด้านการวิจัย การบริหารจัดการข้อมูล การเขียนอ้างอิง การเขียนวิทยาพนธ์ การหาข้อมูล ฯลฯ ซึ่งนักศึกษาจากทุกคณะสามารถเข้าร่วมรับฟัง และแสดงความคิดเห็นได้ นอกจากนั้นหากเราต้องการเข้าเรียนวิชาเฉพาะด้าน เช่น ผมอาจจะอยากเรียนวิชาภาษาศาสตร์ ผมก็ยังสามารถเข้าไปร่วมเรียนกับนักศึกษาปริญญาตรี หรือโท ก็ได้ เพราะฉะนั้นปริญญาเอกที่นี่มีการ “เรียน” ในห้องเรียนจริง ๆ แต่วิชาเรียนเหล่านี้ไม่ได้นำไปคิดเป็นหน่วยกิตเพื่อจบการศึกษา แต่เรียนเพื่อนำความรู้ไปทำงานวิจัย ยิ่งไปกว่านั้นนักศึกษาต้องเข้าประชุมรายงานความก้าวหน้า เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองกับอาจารย์และเพื่อนนักศึกษา และทุก ๆ สองสัปดาห์จะต้องเข้าปรึกษางานวิจัยกับอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งอาจารย์จะต้องทำรายงานความก้าวหน้าของนักศึกษาเป็นประจำ เห็นไหมครับ การเรียนที่นี่ไม่มีเวลาให้เหงาเลยจริง ๆ


ได้เป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่นี่ผมรู้สึกเหมือนเป็นลูกคนสุดท้องที่ถูกพ่อแม่ตามใจ เพราะเราถือได้ว่าเป็นอภิสิทธิ์ชนเลยทีเดียว คำว่า “ตามใจ” ในที่นี้หมายถึง ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการทุกด้านอย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรที่เราอยากได้ (ในเชิงวิชาการ) แล้วไม่ได้ เช่น นักศึกษาปริญญาเอกทุกคนจะได้ห้องทำงานส่วนตัวพร้อมชุดอุปกรณ์สำนักงาน คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (มาก) ซึ่งเราสามารถเข้าไปใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เราสามารถเข้าไปดาวน์โหลดหนังสือ บทความ วารสารทางวิชาการได้จากทั่วโลก (ปกติการเข้าดูบทความแต่ละครั้งจะต้องเสียเงิน แต่ในที่นี้มหาวิทยาลัยเป็นคนจ่ายให้ คาดว่ามหาวิทยาลัยคงจะเสียเงินค่าสมาชิกวารสารต่าง ๆ ปีหนึ่งหลายล้านทีเดียว) หากเราต้องการหนังสือเล่มไหน หรืองานวิจัยจากมหาวิทยาลัยใด เพียงแค่อีเมล์ไปบอกบรรณรักษ์ เขาก็ต้องหามาให้เราจนได้ นอกจากนี้ยังมีทุนสำหรับการเดินทางไปนำเสนอผลงานหรือร่วมประชุมระดับนานาชาติ ฯลฯ


การที่มหาวิทยาลัยสนับสนุนด้านวิชาการอย่างเต็มที่แล้ว ทำให้พวกเราไม่มีข้อแก้ตัวหากงานวิจัยไม่มีคุณภาพตามที่มหาวิทยาลัยคาดหวัง ผมไม่แปลกใจเลยหากคนที่มาอยู่สภาพแวดล้อมแบบนี้จะผลิตผลงานที่มีคุณภาพออกมา เพราะสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลมากมายมหาศาลได้เพียงนิ้วคลิก คนไทยฉลาดไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่สิ่งที่เราสู้เขาไม่ได้คือโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ผมไม่ได้คาดหวังให้มหาวิทยาลัยของเราเป็นเหมือนที่นี่หรอกครับ เพราะบริบทเราต่างกัน แต่ลึก ๆ ผมก็ยังเชื่อว่าการลงทุนทางวิชาการไม่ว่าจะเป็นด้านฐานข้อมูล หนังสือ หรือวารสาร เป็นสิ่งจำเป็นมากในการทำงานด้านวิชาการ และการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา


อ่านมาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าถ้าทุกอย่างมันดีขนาดนั้น เคยคิดจะอยู่ที่นี่ไปตลอดหรือเปล่า ผมอยากจะเปรียบเทียบอย่างนี้ครับ ถึงแม้ชีวิตอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่นี่จะเป็นชีวิตในอุดมคติของคนที่รักงานด้านวิชาการ เปรียบเหมือนเราไปพักในโรงแรมหรู ๆ ไม่ว่าโรงแรมนั้นจะสวยงาม สะดวกสบายขนาดไหนแต่ก็ไม่มีใครคิดจะย้ายเข้าไปอยู่ในโรงแรมเป็นการถาวร เพราะที่ ๆ เรานอนหลับอย่างมีความสุขที่สุดก็คือเตียงเล็ก ๆ ในบ้านของเรา อย่างมากเราก็แค่จดจำความประทับใจ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ดี ๆ กลับไปปรับปรุงห้องเล็ก ๆ ของเราให้น่าอยู่ขึ้น เท่านั้นเอง





 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2552   
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2552 7:04:30 น.   
Counter : 387 Pageviews.  


เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

ขออภัยที่หายหน้าไปอีกแล้ว พอดีช่วงนี้ยุ่งเรื่องเรียนอยู่ วันหลังจะเล่าเรื่องเรียนให้อ่านกันนะครับ วันนี้ขอประเดิมเรื่องราวในแดนจิงโจ้ด้วยเรื่องสภาพอากาศแล้วกัน ออกตัวไว้ก่อนว่านี่เป็นข้อสังเกตส่วนตัวจากการมาอยู่ได้แค่หนึ่งเดือน จึงอาจมีข้อมูลผิดพลาดได้ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ^_^


สิ่งที่ผมแปลกใจเป็นสิ่งแรกตั้งแต่ยังไม่ได้เหยียบพื้นดินประเทศนี้คือ เรื่องสภาพอากาศครับ ผมได้รับการบอกกล่าวจากเพื่อนว่า เวลาที่นี่ต่างจากบ้านเรา คือเร็วกว่าประมาณ 4 ชั่วโมง* ตอนอยู่บนเครื่อง ผมจึงตั้งนาฬิกาให้เป็นเวลาท้องถิ่น เมื่อนั่งเครื่องบินมาใกล้ถึงเมลเบิร์น เวลาประมาณเกือบสองทุ่มแล้ว แต่ท้องฟ้ายังสว่างปาน 4โมงเย็น ก็ได้แต่เก็บความสงสัยไว้ เมื่อมาอยู่ที่นี่ได้สักพักจึงพบว่า ช่วงหน้าร้อนจะมืดช้า ผมสังเกตดู ช่วง 5 โมงเย็นพระอาทิตย์ยังอยู่เกือบตรงหัว ตอน 2 ทุ่ม ก็ยังสว่างอยู่ ผมพบว่าการที่พระอาทิตย์ตกช้าแบบนี้ส่งผลให้ผมน้ำหนักขึ้นทันทีเกือบ 2 กิโล เพราะทำให้ผมทานข้าวดึก และนอนดึกไปด้วย (ข่าวดีคือ ตอนนี้น้ำหนักกลับไปเท่าเดิมแล้ว ^_^)


สิ่งที่ผมแปลกใจต่อไปก็คือ คนที่นี่สนใจพยากรณ์อากาศมาก ที่น่าแปลกกว่านั้นคือ พยากรณ์อากาศที่นี่ค่อนข้างแม่นเสียด้วย มีรายงานล่วงหน้าเป็นอาทิตย์กันตลอดเวลาทั้งทางทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งมีบอร์ดอิเล็คทรอนิคอันใหญ่เพื่อบอกสภาพอากาศ อีกทั้งสภาพอากาศยังเป็นหัวข้อสนทนาของคนทั่วไป และคุยกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ small talk อย่างที่เราเคยเรียนมา เหตุผลก็คือ อากาศที่นี่เปลี่ยนแปลงบ่อย และเร็วมาก การรู้สภาพอากาศส่งผลต่อการแต่งตัวและการดำรงชีวิต มีอยู่ช่วงหนึ่งอุณหภูมิสูงถึง 40 องศา วันรุ่งขึ้นลดลงมาเหลือ 20 องศา ในหนึ่งวันสภาพอากาศก็แปรปรวนอย่างมาก อยู่ดี ๆ ก็แดดออก แล้วก็ฝนตก เดี๋ยวก็หนาว เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาภายในไม่กี่นาที คนมาที่นี่ใหม่ ๆ จึงอาจไม่สบายได้


ข้อสังเกตอีกอันหนึ่งก็คือ คนที่นี่ไม่กลัวฝน ผมไม่ค่อยเห็นฝรั่งกางร่มเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะฝนที่นี่ตกไม่นาน ร่มที่ใช้ก็มักเป็นสีดำ (คนที่นี่ชอบแต่งตัวสีดำ กับสีขาว ดู ๆ ไปเหมือนไว้ทุกข์กันทั้งเมือง) และคนที่นี่ไม่กลัวแดด หากเดินไปเห็นคนเอามือ หรือหนังสือบังแดด สันนิษฐานเลยว่าเป็นคนเอเชีย โดยเฉพาะคนไทย (ก็เรากลัวดำนี่ครับ) ปกติถ้าแดดแรง ๆ เรามักจะใส่เสื้อแขนยาวเพื่อกันแดด แต่ฝรั่งกลับถอดเสื้อ กับใส่แว่นกันแดดอันใหญ่ ๆ (ใหญ่จริง ๆ )


ช่วงที่ผมเขียนอยู่นี้กำลังเข้าฤดูใบไม้ร่วง อุณหภูมิประมาณ 15-20 องศา อาจจะฟังดูไม่หนาวนัก แต่ความหนาวเพิ่มเป็นทวีคูณเพราะที่นี่ลมแรงมาก เสื้อกันหนาวที่เตรียมมาจากเมืองไทยคงไม่พอสำหรับหน้าหนาวนี้ คงต้องซื้อเสิ้อที่กันลมด้วย เพราะมีคนขู่ไว้ว่าหน้าหนาว อุณหภูมิลดลงเหลือ 0-5 องศาเลยทีเดียว ผมล่ะนึกไม่ออกจริง ๆ ว่าหนาวขนาดนั้นจะรู้สึกอย่างไร เอาเป็นว่าหนาวนี้ (อีกประมาณ 3 เดือน) จะกลับมาเล่าให้ฟัง



* มาเพิ่มเติมข้อมูลครับ เมื่อวันอาทิตยที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา มีการปรับเวลาถอยกลับมา 1 ชั่วโมง ตอนนี้ที่นี่จึงห่างจากประเทศไทย 3 ชั่วโมงแล้วครับ จริง ๆ เวลาที่นี่ห่างจากประเทศไทย 3 ชั่วโมงอยู่แล้ว แต่มีการปรับเป็น 4 ชั่วโมงในช่วงหน้าร้อนซึ่งเรียกว่า Daylight Saving




 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2552   
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2552 7:03:04 น.   
Counter : 393 Pageviews.  



กลับมาแล้วเหรอ เก่งมาก ๆ เลย
 
Location :
นครราชสีมา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ขอฝากผลงานหนังสือเล่มแรกด้วยนะครับ "แค่เปลี่ยนวิธีคิด ภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่เรื่องยาก" Photobucket
[Add กลับมาแล้วเหรอ เก่งมาก ๆ เลย's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com