เติ้งเสี่ยวผิง เคยกล่าวไว้ว่า “แมวนั้นไม่สำคัญว่าสีขาวหรือสีดำ ขอให้จับหนูได้ ก็ต้องถือว่าเป็นแมวดี” งานแต่งบ้านก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะใช้วิธีใดแล้วแต่งบ้านให้ได้ ถูกใจเจ้าของบ้าน ก็ถือว่าถูกต้องซะทุกวิธี ละครับ

Group Blog
 
All Blogs
 

มาแว๊ว DIY #27 : แก้ปัญหาเครื่องซักผ้า น้ำรั่ว เครื่องสั่น ด้วยตัวเองอย่างง่ายๆ

เครื่องซักผ้าฝาหน้าประจำบ้าน ใช้มาร่วม 10 ปี ตอนนี้ ก็เริ่มมีอาการรวน อยู่สองอย่าง
อย่างแรก ทุกครั้งที่เครื่องถ่ายน้ำออก จะมีน้ำนองใต้เครื่องซะทุกครั้ง ถ้าแม่บ้านซักผ้า แม่บ้านก็จะเป็นคนเช็ด ถ้าแม่ของพ่อบ้านซักผ้า แม่ของพ่อบ้านก็จะเป็นคนเช็ด พร้อมกับบ่นเช็ดอีกชุด ฮา
อย่างที่สอง ตอนปั่นหมาด จะเกิดการสั่นอย่างรุนแรง ของที่วางบนฝาครื่องทุกอย่าง จะกระเด็นกระดอนตกลงมาหมด


และแล้วฤกษ์งามยามดี ก็เลยมาจัดการหาสาเหตุของปัญหาซะหน่อย ก็เปิดฝาหลังออก ด้านในก็ไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก ดูไปดูมาปัญหาก็เกิดจากท่อยางระบายน้ำใต้ถังนั่นเอง
ก็เลยเช็คจุดต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับท่อยางชุดนี้ ก็มีจุดเชื่อมอยู่ 3 จุด
จุดแรก เป็นท่อ pe เล็กโยงเข้ากล่องด้านบน
จุดสอง เป็นท่อย่น เชื่อมกับตะแกรงกรองก่อนปั้มน้ำออก
จุดสาม เป็นใต้ถังซัก
มีจุดเชื่อมแค่นี้ ก็ถอดได้เลย สองจุดแรก ก็มีห่วงบีบ ก็คลายออกปลดท่อออกได้
แต่ใต้เครื่อง ใช้หลักการของยางดูด ก็แค่ดึงแรงๆ ท่อยางก็จะหลุด


มองเข้าไปดูข้างใน ของท่อยางเส้นเดิม
อ่ะจึ๋ย คราบต่างๆ เกาะซะเต็มท่อ


เสร็จแล้วก็ไปหาซื้อท่อยางมาเปลี่ยนได้ ถ้าไม่ได้ใช้ของยี่ห้อเลิศหรู เฉพาะจริงๆ ก็คงหา part ได้ไม่ยาก
อย่างของเราก็ไปซื้อได้ที่ อมร
ความแตกต่างท่อยางของใหม่-ของเก่า หลักๆ เลยก็คงเป็นความนิ่ม ของเก่ายางมันค่อนข้างแข็ง น้ำเลยซึมผ่านจุดต่อออกมาได้


ได้ท่อใหม่มาแล้ว ก็ทำความสะอาด คราบเก่าๆ ที่ติดอยู่ตามปากขอบใต้ถังซัก ทั้งข้างใน-ข้างนอก ของเราเล่นซะหลายขนาน -น้ำยาล้างจาน, น้ายาทำความสะอาด, น้ำยาล้างคราบไขมันสำหรับล้างแอร์-- แต่คราบที่หนาๆ อาจต้องขูดออกก่อน ขูดออกได้เป็นแผ่นๆ เลยนิ
ตัวถังเป็นแสตนเลส ไม่มีปัญหา แต่พวกขายึด เป็นเหล็กแผ่นซะ สนิมเลยขึ้น ดังนั้น ถ้ามีปัญหาน้ำรั่วอย่าปล่อยไว้นาน รีบแก้ไขซะ


หลังจากทำความสะอาดเสร็จ ก็เริ่มทำการใส่ท่อยางได้ ท่อยางตัวนี้ จะมีส่วนที่อยู่ข้างใน และข้างนอก ต้องให้แผ่นยางทั้งสองแผ่นประกบกับ ตัวถังซัก ดังนั้น อาจจะใส่ลำบากนิดนึง ยิ่งถ้ายกเครื่องซักผ้าสูงมากไม่ได้ด้วย
ก็ค่อยๆ ใส่แผ่นยางเข้าทีจนเข้าที่ ตัวท่อยางจะดูดกับตัวถังอย่างเหนียวเลย ขยับไม่ได้ ดังนั้น ก่อนใส่ก็เล็งทิศทางให้ดีก่อน


การติดส่วนยากผ่านไป ต่อไปก็ใส่ท่อย่นระบายน้ำ กับท่อ pe ให้เหมือนเดิม


หลังจากเสร็จส่วนแรกไปแล้ว คราวนี้ เราก็มาหาสาเหตุที่ทำให้เครื่องสั่น ก็ลองไล่ดูจากตัวถังซัก จะถูกยึดด้วยสปริงค์กับตัวถัง มีโช๊คอยู่ด้านล่าง มีมอเตอร์ปั่นอยู่ด้านล่างถังซัก มีปูนหล่อหนักๆ ถ่วงถังซักไม่ให้แกว่ง
ดูไปดูมา ที่มอเตอร์ของเรามีที่ยึดน๊อต 4 จุด แต่ทำไมของเรายึดไว้แค่ 3 จุดฟร่ะ เราก็จัดแจงไปหาน๊อตยาวมายึดเพิ่มอีกจุด


ปัญหาทั้งสองก็หาสาเหตุเจอ แล้วก็แก้ไขแล้ว ก็เตรียมปิดฝาหลังคืนได้ ก็ยึดท่อน้ำทิ้งกลับที่ท่อน้ำออก


เสร็จแล้ว ทดสอบการใช้งานซะเลย ระบบทำงานปกติ ไม่มีน้ำรั่ว เครื่องปั่นนิ่งสนิท

สรุป เครื่องซักผ้าเป็นเครื่องใช้ที่เสียค่อนข้างยาก อย่างของบ้านแม่ ยี่ห้อนี้เหมือนกัน ใช้งานมาร่วม 20 ปีแล้ว เคยแค่โซลินอยล์น้ำเข้าเสียแค่ครั้งเดียว แต่ก็โดนค่าบริการ+ค่าอะไหล่ พันกว่าบาท ทั้งๆ ที่อะไหล่ตัวละแถวๆ ร้อยเอง
ส่วนอาการน้ำรั่วใต้ถังซักแบบนี้ บ้านน้องสาวก็เคยเจอ โดนไป พันห้าร้อย แต่ถ้าลงมือเองได้ ก็เสียค่าอะไหล่ท่อยาง 1 ชิ้น 150 บาท กับมือมอมแมมนิดหน่อย




 

Create Date : 15 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2550 11:04:48 น.
Counter : 23384 Pageviews.  

มาแว๊ว DIY#26 : ฝาไม้ฉำฉารองปิดปากขอบแทงค์เก็บน้ำใต้ดิน

ที่บ้านเรามีแทงค์น้ำใต้ดิน ใช้มาก็สิบปีแล้ว ถังตั้ง 3 พันลิตร พื้นที่รอบๆ ก็ทรุดนิดหน่อยตามสภาพ แต่ตอนที่สร้างบ้าน เค้าก็ลงเข็มให้แข็งแรงพอควร
ตัวปากบ่อก็กั้นขอบยกขึ้นสูงจากพื้นกระเบื้องนิดหน่อย แล้วปิดด้วยฝาแสตนเลส ทาสีน้ำมันทับ ตอนนี้ก็กระดำกระด่างไปตามกาลเวลา

มีโอกาสได้ไปริมทางรถไฟเก่าคลองเตย ไปหาไม้ฉำฉามาทำงานสวนหลายๆ งาน พอดีไปเจอไม้ขนาด 1.25 นิ้ว X 1.25 นิ้ว มัดละ 80 บาท ก็เลยหิ้วมาทำฝาครอบซะเลย

เราเรียงไม้ตามขนาดฝาบ่อน้ำเดิมของเรา อย่าลืมเลือกหน้าไม้ด้านสวยๆ ขึ้นล่ะ เพราะไ้ม้เก่าจะเยินตามสภาพ

ด้านล่างนอกจากที่เรายึดไม้ให้ติดกันด้วยน๊อตแล้ว เราก็ใช้เหล็กรูดัดเป็นฉากยึดเพื่อความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

ทำการเช็คความเรียบร้อยอีกครั้ง แล้วตัดแต่งไม้ที่เกินออก

เสร็จแล้ว เอาไปปิดทับฝาแสตนเลสเดิมได้ ทดสอบโดยการขึ้นไปเดิน ก็แข็งแรงดี

ปล. อย่าลืมทาพวกเคลือบไม้ เพื่อการใช้งานที่นานขึ้นนิ




 

Create Date : 24 มีนาคม 2550    
Last Update : 24 มีนาคม 2550 17:30:11 น.
Counter : 6582 Pageviews.  

มาแว๊ว DIY #24 : ประหยัดพลังงานในห้องนอนซะ ด้วยการติดพัดลมเพดาน

จากเดิมในห้องนอน ก็ใช้โคมไฟเพดานเหมือนบ้านทั่วๆ ไป แล้วก็เปิดแอร์ ที่ 25 องศา
หลายๆ ข้อมูลบอกว่าสามารถประหยัดค่าไฟได้ง่ายๆ โดยเปิดพัดลมช่วยกระจายความเย็นในห้อง แล้วลดการทำงานของแอร์ไปที่ 27-28 องศา เราก็เห็นว่าน่าจะเป็นไปได้ก็เลยจัดแจงวางแผนซื้อพัดลมเพดานมาติดแทนโคมไฟเดิมซะ

เริ่มจากขึ้นไปสำรวจบนเพดานใต้หลังคาตรงจุดที่เราจะติดพัดลม ปรากฎว่า แนวโคมไฟเดิมของเราตรงกับคานบ้านเป๊ะ อย่างนี้ไม่ยาก
ก็จัดแจงจัดอุปกรณ์ที่จะใช้แขวนพัดลมเพดาน ที่พอจะหาได้ ก็มี เหล็กฉาก, ตะขอเหล็ก, พุ๊กตะกั่ว 2 ตัว หลังจากนั้นก็ทำการยึดอุปกรณ์เข้ากับคานบ้าน ให้ตรงกับแนวกึ่งกลางโคมไฟเดิม

หลังจากนั้น ก็หาแป๊ปเหล็กอีกท่อน เสริมความยาวของแป๊ปเหล็กสำหรับการแขวนตัวพัดลมกับตะขอ เพราะปกติแป๊ปเหล็กที่ตัวชุดพัดลมจัดมาให้จะใช้สำหรับยึดกับระดับฝ้า ซึ่งเป็นความสูงพอดีกับการทำงานของพัดลม
ปล. ก็เคยติดตั้งพัดลม โดยแขวนพัดลมกับแป๊ปเหล็กสั้น ปรากฎว่า พัดลมหมุนได้ แต่ไม่มีลมออกมาเลย ต้องรื้อมาติดใหม่ ตามขนาดความยาวแป๊ปที่ชุดพัดลมจัดมาให้

แล้วทำการประกอบแป๊ปเหล็กทั้งสองชิ้นเข้าด้วยกัน ยึดด้วยน๊อต เราก็จะได้แป๊ปเหล็กขนาดพอดีที่จะแขวนกับตะขอด้านบน

ถอดโคมไฟเพดานออก แล้วนำแป๊ปเหล็กที่จัดทำไว้แล้ว ไปแขวนกับตะขอเหล็ก แล้วร้อยสายไฟผ่านแป๊ปเหล็กลงมา
นำมอเตอร์พัดลมขึ้นไปต่อสายไฟเตรียมประกอบเข้ากับแป๊ปเหล็ก
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ รูบนฝ้าเดิมมันใหญ่เกินที่จะปิดด้วยตัวครอบของพัดลม ทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการตัดแผ่นไม้เป็นวงกลม ขึ้นไปปิดรูก่อน แล้วจึงยึดที่ครอบ

ทำการประกอบใบพัดลม กับตัวมอเตอร์ ใบพัดลมที่ให้มาปรากฎว่ามี 2 สีให้เลือกใช้ได้ มีสีขาวกับสีลายไม้ ก็เลยเอาสีลายไม้ออก เพราะใช้สีขาวแล้วมันกลืนกับเพดานเกินไป

เปิดพัดลม เช็คการสั่น ปรากฎว่า พัดลมหมุนได้สมดุลย์ดี เลยไม่ต้องถ่วงด้วยตะกั่วในชุดที่บริษัทจัดมาให้ คงเป็นเพราะตัวใบไม่ได้เป็นแผ่นไม้จริง จึงทำให้น้ำหนัก และขนาดของใบ ใกล้เคียงกันหมด
.
ปล.1 ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงหน้าหนาว อากาศข้างนอกบ้านต่ำกว่าในห้อง ทำให้เปิดแอร์แล้ว ยิ่งทำให้อึดอัด เพราะแอร์มันเหมือนไม่ยอมทำงาน เลยปิดแอร์ซะแล้วเปลี่ยนไปเปิดพัดลมเบอร์เบาสุด แล้วแง้มหน้าต่างไว้ ช่วยได้มากจริงๆ เย็นเจี๊ยบ
.
ปล.2 พัดลมชุดนี้ซื้อไว้จะติดตั้งแต่งาน Home Pro Expo นี่ถ้ายังไม่หนาวก็คงยังไม่ติดอ่ะนะ
.
ปล.3 ถ้าพัดลมเพดานชุดอื่นเปิดทดสอบแล้ว ตัวพัดลมสั่นไม่สมดุลย์ ก็ต้องทำการถ่วงน้ำหนัก โดยใช้ตัวหนีบพลาสติกหนีบไปที่โคนใบพัดลม เริ่มจากโคนใบ ทีละใบ แล้วลองเปิดพัดลมดู ถ้าอาการสั่นหายก็ติดตัวตะกั่วถ่วงไว้ที่จุดนั้น แต่ถ้าตัวพัดลมยังสั่นอยู่ ก็ขยับตัวหนีบพลาสติกออกไปที่ปลายใบพัดลม ทีละนิด จนกว่าจะทำให้ตัวพัดลมทำงานได้อย่างสมดุลย์




 

Create Date : 23 ธันวาคม 2549    
Last Update : 26 ธันวาคม 2549 0:12:30 น.
Counter : 13180 Pageviews.  

มาแว๊ว DIY #23 : มาม๊ะ มาซ่อม บานประตูมุ้งลวด ซิหน่อย ชอบตกรางดีนัก

บานประตูมุ้งลวดกรอบอลูมิเนียม บานด้านขวาในรูป ที่บ้านเรามันออกอาการเจ บ่อยเอาๆ ตกร่องอยู่เรื่อย สาเหตุหนึ่ง เพราะบานมุ้งลวดเรามัน Oversize จากปกตินิดหน่อย

บ้านที่เราอยู่ พอดีเป็นบ้านขยายแบบจากปกติ บานหน้าต่าง-ประตู เลยใหญ่กว่าปกตินิดหน่อย อย่างบานประตูก็สูงถึง 2.40 เมตร ตัวฉากยึดกรอบเลยอาจพังเร็วกว่าปกตินิ๊ด ครั้งนี้ฉากยึดก็แตกเป็นครั้งที่สองแล้ว

เพื่อหาสาเหตุของปัญหา ก็ยกบานมุ้งลวด ออกมาตรวจดู ก็เจอสาเหตุทันที ตัวฉากยึดกรอบบนทั้งสองตัว เขี้ยวล๊อคล้อหัก ล้อดันกรอบบน เลยหลุด
สาเหตุนี้ เป็นสาเหตุหลักๆ ของปัญหากรอบอลูมิเนียมเลย

เราก็จัดหาฉากยึดกรอบใหม่ มา 2 ตัว ตัวละไม่กี่ตังค์ หาซื้อได้ตามร้านอลูมิเนียมทั้วไป

เริ่มกระบวนการ ถอดกรอบอลูมิเนียมได้
เริ่มจากปลดยางกันฝุ่นด้านข้าง แล้วขันน๊อตคลายฉากยึด หลังจากนั้น ก็ปลดยางอัดมุ้งลวดออก

หลังจากถอดมุ้งลวดออกได้ กรอบอลูมิเนียม ด้านที่มีปัญหาก็จะหลุดออกมาได้
ขั้นตอนต่อไป คงต้องออกแรงกันหน่อย เพราะปกติถ้าฉากยึดกรอบอลูมิเนียมหัก มันจะหักคาอยู่ในกรอบอลูมิเนียมเลย ก็ต้องทำการตอก-สกัดให้ส่วนที่หักคาในกรอบแตกออกเป็นชิ้นๆ นี่ก็คงเป็นเหตุผลที่เค้าใช้ ตัวฉากตะกั่ว ในการเข้ายึดฉากอลูมิเนียม เพราะถ้าใช้วัสดุอื่นในการเข้าฉาก แล้วมีปัญหา คงเอาออกยากถึงยากมาก

ประกอบชุดล้อเดิม เข้ากับตัวฉากตะกั่วชุดใหม่ แล้วขันน๊อตดันล้อออกด้วย จะได้อัดเข้ากรอบง่ายหน่อย

ค่อยๆ ตอกตัวยีดฉากประกอบล้อ เข้าไปในกรอบอลูมิเนียม จนสุด เราก็พร้อมที่จะประกอบ เป็นกรอบประตูเหมือนเดิมแล้ว

ประกอบกรอบอลูมิเนียม เข้าที่ ก่อนประกอบ สังเกตุรางอัดมุ้งลวดด้วย เพราะถ้าตอกกรอบเข้าที่แล้วจะเอาออกยาก ตัวฉากอาจแตกอีกก็ได้
ประกอบกรอบประตูเสร็จแล้ว ก็ปรับน๊อตตั้งระดับล้อให้ได้ระดับกับราง

ใส่มุ้งลวด ให้เข้าที่ โดยอัดยางเพื่อให้ตัวมุ้งลวดตึงเหมือนเดิม พร้อมทั้งใส่กรอบมุ้งลวดกลับเข้าราง
แค่นี้ เราก็ใช้งานประตูมุ้งลวดได้เหมือนเดิม




 

Create Date : 11 ธันวาคม 2549    
Last Update : 12 ธันวาคม 2549 0:19:43 น.
Counter : 24571 Pageviews.  

มาแว๊ว DIY #21 : (งานนอก) ทำกรอบมุ้งลวดอลูมิเนียม ลงทุนนิด ออกแรงหน่อย

หลังจากทำบ้านตัวเองมาซะหลายต่อหลายงาน คราวนี้ได้มีโอกาสไปช่วยแม่ปรับปรุงบ้านห้องแถวที่เราเกิดซะหน่อย

แม่เอ่ยปากมาว่า บ้านชั้นบนสุด ซ่อมแซมส่วนที่ทรุดโทรมเสร็จแล้ว บานหน้าต่างบานเกร็ดชั้นบน รวม 8 บาน ยังไม่ได้ใส่มุ้งลวดเลย เพราะมุ้งลวดเดิมขาดหมดแล้ว ให้ไปทำใส่ให้หน่อย

หลังจากขึ้นไปตรวจดู ก็เห็นว่าถ้าจะทำกรอบมุ้งลวดสำหรับบานหน้าต่างที่มี แป้นหมุนสำหรับบานเกร็ด ก็ต้องทำเป็นกรอบอลูมิเนียมครอบที่กรอบวงกบไม้เลย
ก็เลยจัดแจงไปซื้อ เส้นขอบอลูมิเนียมทำกรอบหน้าต่างมุ้งลวด กับอุปกรณ์เหล็กเข้าฉาก ตามจำนวนที่คำนวณไว้

หลังจากทำการวัดขนาดโครงไม้เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการตัดเส้นอลูมิเนียม ตามขอบด้านนอก แล้วตัดให้ได้มุม 45 องศา ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเข้ากรอบ
ดังนั้น วิธีที่สะดวกที่สุด ก็คือใช้รางบังคับเลื่อย เข้ามาช่วย รางบังคับเลื่อยอันนี้ ซื้อมานานมากแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีโอกาศเอามาใช้ซะที ตอนนี้ก็ได้โอกาสแล้ว โดยเอามาบังคับการตัดของเลื่อยเหล็ก

หลังจากเลื่อยเส้นอลูมิเนียมทำมุม 45 องศาครบทุกด้านแล้ว ก็ใช้เหล็กเข้าฉาก ตอกเข้าไปในเส้นอลูมิเนียม เพื่อยึด

เราก็ตอกประกอบเส้นอลูมิเนียมทุกมุมแล้ว จะได้โครงอลูมเนียม สำหรับหน้าต่าง ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็เสร็จ แล้ว

เมื่อได้กรอบมุ้งลวดครบตามจำนวนแล้ว เราก็ไปเตรียมมุ้งลวดไนลอน ปกติเค้าก็จะวัดขายเป็นเมตร แล้วแต่หน้ากว้าง และชนิดของตัวมุ้งลวด
เอามาทาบกับตัวกรอบ แล้วตัด อัดด้วยยางอัด เริ่มจากอัดมุมกรอบทั้ง 4 ก่อน กันมุ้งลวดเลื่อน แล้วใช้ของรอบตัวช่วยกดยางอัดลงร่อง อย่างที่เราใช้ เราก็เอาหัวค้อนกด กรึบกรึบ แล้วก็ใช้ด้ามกรรไกรที่มีขนาดใกล้เคียงกับร่องมุ้งลวด อัดแน่นอีกที

หลังจากอัดมุ้งลวดเข้ากับกรอบอลูมิเนียมเรียบร้อย แล้ว ก็คงต้องเสริมความแข็งแรงด้วย เส้นคาดอีกสักหน่อย สำหรับกรอบมุ้งลวดที่มีขนาดใหญ่ เราก็ยึดเส้นคาดอลูมิเนียมด้วย รีเวท เบอร์ 4-2

เสร็จแล้ว เราก็ทำการยึดกรอบมุ้งลวดเข้ากับโครงหน้าต่าง โดยที่อาจต้องมีการเจาะรูที่มุ้งลวดบ้างในจุดที่จำเป็น เช่น มือหมุนของบานเกร็ด เป็นต้น

สรุปอุปกรณ์
--เส้นอลูมิเนียมสีชา สำหรับกรอบหน้าต่าง ราคาเส้นละ 120 บาท ความยาว 6 เมตร
++++ปกติแล้ว เส้นกรอบประตู หรือหน้าต่าง จะมีหลายแบบ เช่น ยึดติดกับกรอบเลย เราก็ใช้กรอบที่ไม่มีปีก หรือ ยึดติดกับกรอบแต่ให้จมลงไปขอบหน้าต่าง เราก็ต้องเลือกใช้ เส้นอลูมิเนียม ที่มีปีก อันนี้ คนขายจะช่วยเราเลือกได้เป็นอย่างดี
--เหล็กฉากยึดมุม ตัวละ 1 บาท แต่ละกรอบจะใช้ 4 ตัว
--เส้นคาดอลูมิเนียมสีชา เส้นละ 60 บาท ความยาว 6 เมตร
--ยางอัดขอบ ถ้าซื้อเป็นม้วนจะถูก ม้วนละ 40 บาท ต่อ 30 เมตร แต่ถ้าจะซื้อเป็นเมตร ก็จะประมาณเมตรละ 4-5 บาท
--มุ้งลวด จะมีหลายชนิด หลายขนาด อย่างที่ซื้อ จะเป็นมุ้งลวดไนลอน หน้ากว้าง 1.20 เมตร เมตรละ 50 บาท
++++แต่ถ้าจะใช้เป็น มุ้งลวดอลูมิเนียม จะเป็นเมตรละ 85 บาท อาจเป็นปัญหาตอนล้าง เพราะอาจเกิดขี้เกลือตอนแห้ง แต่ที่ดีที่สุดจะเป็น มุ้งลวดไฟเบอร์ จะแพงที่สุด สามารถช่วยกรองแสงจากภายนอกได้บางส่วนด้วย
--รางบังคับเลื่อย หาซื้อได้ที่ร้าน 60 บาท ถูกที่สุดแล้ว




 

Create Date : 05 ธันวาคม 2549    
Last Update : 8 ธันวาคม 2549 1:28:34 น.
Counter : 83891 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  

น้องปลาดาว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 76 คน [?]




อย่าลืมตามไปเจอกันใน Web Pladaodesign.com

สินค้า ของสะสม แมคโดนัลด์ McDonald คลิ๊กเลยจร้า

mcdonald

กระดาษ แน๊พกิ้นสำหรับงานเดคูพาจ Decoupage

แน๊พกิ้น

ชิ้นงานดิบ ไม้-วัสดุสาน สำหรับงานเดคูพาจ Decoupage

แน๊พกิ้น



สำหรับ Fan FB อย่าลืมแอดเป็นเพื่อนกัน จะได้ไม่พลาดข่าวสารกันละค่ะ

Follow pladaodesign on Twitter

Friends' blogs
[Add น้องปลาดาว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.