==== ก็แค่ผู้ชายธรรมดาๆคนหนึ่ง ที่อยากจะเป็นสามี และ เป็นพ่อให้ได้ดีกว่าที่เคยเป็นเมื่อวาน ====
Group Blog
 
All Blogs
 
FAQ #6

ผมสมัครตำแหน่ง Electrical & Instrument Technician ของบริษัท xxxx ครับ ผมก็ไม่ทราบว่าต้องใช้แรงมากขนาดไหนเหมือนกัน ยังไงรบกวนพี่นกบอกรายละเอียด งานส่วนนี้เท่าที่ทราบจะได้ไหมครับ

เอาเท่าที่ทราบก็แล้วกัน ว่าก็คือช่างไฟหรือผู้ช่วยวิศวกรไฟฟ้าดีๆนี่เอง บ.นี้มีทั้งแท่นผลิต แท่นที่อยู่อาศัย และแท่นเจาะสำรวจเป็นของตัวเอง แท่นเจาะสำรวจนั้นบ.จ้างบ.แท่นฯมาอีกที ช่างไฟ ช่างกล ก็คงเป็นคนของบ.เจ้าของแท่น ตำแหน่งนี้ผมว่าน่าจะไปทำบนแท่นผลิต หรือ แท่นที่อยู่อาศัย เท่าที่ทราบก็มี แท่นเอราวัณ แท่น ไพลิน แท่นเบญจมาศ และอีก 1-2 แท่นที่ผมลืมชื่อไปแล้ว คุณก็คิดๆดูเอาว่าไฟฟ้าเป็นเกือบทุกๆอย่างบนนั้น มีอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องมือวัดเพียบ แต่ตรวจสอบประจำระยะเวลาก็แทบจะไม่ต้องทำมาหากินอะไรแล้ว ผมไม่คิดว่าใช้แรงกายอะไรมากนะ ปีนป่ายห้อยโหน มันก็คงมีบ้างตามประสางานสนาม ตากแดดตากฝนนั่นก็คงไม่ต้องพูดถึง มีอยู่แล้ว แบกหามคงไม่มี อดหลับอดนอนคงไม่มี ยกเว้นเร่งด่วนจริงๆ คุณจะได้รู้จักเครื่องไม้เครื่องมือมากมาย อุปกรณ์ไฟฟ้าคงไม่เท่าไร เพราะหลักๆมันก็มอเตอร์ เครื่องปั่นไฟ อุปกรณ์ความร้อน ประมาณนี้ แต่ที่จะได้เยอะคืออุปกรณ์วัดต่างๆที่ค่อยข้างเฉพาะกับอุตสาหกรรม ทำให้คุณเป็นไม่กี่คนที่รู้เรื่องอุปกรณ์พวกนี้ เอาไว้เป็นทุนประสบการณ์เอาไปขึ้นค่าตัวต่อได้ ... จบ



ผมเป็นเด็กจบใหม่ครับ. ผมจบChemical Engineering (Major: Petroleum) GPA:3+. เคยฝึกงาน Gas Separation Plant(Songkhla) 8 months สมัยเรียน, จบต่างประเทศครับ. แต่โง่ภาษาหน่อย ได้Toeic 760 ครับ. อยากถามว่าผมควรมีแนวทางเดินอย่างไร? PTTEP and Chevron เด็กจบใหม่เข้าได้เหรอเปล่า? ต้องมีประสบการณ์จาก field oil and gas ก่อนไหม? Pttep or chevron ต้องมีเส้นรึเปล่า? แล้วอย่างผมไม่ได้จบมหาลัยดังๆในไทยพอมีโอกาศไหมครับ?

อยากถามว่าผมควรมีแนวทางเดินอย่างไร? ดูรวมๆจาก CV ที่แนบมาแล้ว วุฒิที่คุณจบมามันเป็นทางปลายน้ำ (down stream) แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทำทางต้นน้ำไม่ได้ แต่ก็ยากหน่อย คือไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้หรอกครับ วิทยานิพนธ์ของคุณน่าสนใจมากนะครับ อาจจะใช้เป็นใบเบิกทางได้ เพราะมันเกี่ยวกับ oil wettability กับ การ flood โดย polymer ซึ่งทางต้นน้ำใช้กันเยอะ แต่เราไม่ได้ใช้ในโรงกลั่น เราเอา polymer ไป flood ในชั้นหิน เพื่อเอาน้ำมันออกมาก ประสบการณ์ฝึกงานคุณก็ออกไปแนวๆโรงกลั่นเสียมากกว่า แต่ทั้ง Chveron และ PTTEP ก็มีโรงกลั่นลอยน้ำเหมือนกัน ที่พวกเราเรียกว่า Production platform (แท่น) หรือ FPSO (Floating Production Storage and offloading - เรือ) ส่วนงานบนแท่นขุดเจาะคงลำบาก เพราะไม่มีส่วน production บนนั้น นอกจากคุณจะไปสมัครกับ service companies ที่รับทำเกี่ยวกับ testing หลุม (ประเมินการผลิตในระดับย่อมๆ) นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สรุปคือแนวทางของคุณต้องไปทาง production ครับ ซึ่งก็มีทั้งงานในสนามและแบบนั่งโต๊ะที่กทม. ตอนคุณสมัคร หรือ สัมภาษณ์ก็ระบุไปอย่าอยากทำแบบไหน

PTTEP and Chevron เด็กจบใหม่เข้าได้เหรอเปล่า? บ.ใหญ่ๆระดับนี้ เขามีกระบวนกันพัฒนาบุคคลากรภายในของเขาเองครับ คือเขารับเด็กใหม่ด้วย เอาไปสร้างเองด้วยครับ ต่างกับบ.น้ำมันเล็กๆที่ชอบซื้อตัว เอาแบบ plug n play มาเลย

ต้องมีประสบการณ์จาก field oil and gas ก่อนไหม? เด็กใหม่ก็ไม่มีประสบการณ์อยู่แล้วนี่ครับ

Pttep or chevron ต้องมีเส้นรึเปล่า? บ.ไหนก็มีทั้งนั้น บ.ฝรั่งก็ใช่ว่าไม่มี แต่มันก็มากน้อยต่างกัน บ.พี่ไทยเราอาจจะมีมากหน่อย เท่านั้นเอง แต่มันก็ไม่มากมายอะไรนัก เพราะถ้าเส้นกันหมด บ.มันก็อยู่ไม่ได้ มันต้องมีตัวจริงเสียงจริงบ้างซิ โดยเฉพาะบ.ไทยที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็ต้องโปร่งใสหน่อยล่ะครับ

ไม่ได้จบมหาลัยดังๆในไทยพอมีโอกาสไหมครับ? ก่อนอื่นคุณต้องทราบก่อนว่า ม.ที่คุณจบมา กพ.รับรองไหม ซึ่งผมคิดว่าคุณน่าจะตรวจสอบแล้วตั้งแต่ก่อนสมัครเรียนในม.นี้ต่อมาก็เรื่อง ดังไม่ดัง อันนี้ก็ต้องยอมรับอีกว่า ฝรั่งเองต้นตำหรับความเท่าเทียมกันก็ยังมีแบ่งเกรดม.ตัวเอง อย่างเป็นตุเป็นตะเป็นเรื่องเป็นราว (แล้วยังเผื่อแผ่ไปแบ่งเกรดให้ม.ประเทศอื่นด้วย) ดังนั้นพี่ไทยเราก็แบ่งเหมือนกัน ต้องก้มหน้ายอมรับความจริงตรงนี้ด้วย บ้านเราก็ตลาดแรงงานเสรี ใช้หลัก demand supply บ.ไหนใหญ่ๆมั่นคง จ่ายดี ก็เข้าข่ายสวยเลือกได้ ใครๆก็อยากทำด้วย เขาก็เลือกคนเก่งๆ จบม.ดังๆ เกรดดีๆ โทษเขาก็ไม่ได้ เพราะเขาจ่ายแพงนี่นา เขาก็มีสิทธิ์เลือก ถ้าเราเป็นเขาเราก็เลือกเหมือนกัน ถามว่าแล้วม.ธรรมดาๆมีโอกาสไหม ก็มีครับ เพราะไม่ได้มีบ.แบบสวยเลือกได้ 3-4 เจ้าให้ผูกขาดเมื่อไรเล่า มันก็มีบ.ที่ลดหลั่นกันลงไปให้เราไปฝึกวิทยายุทธนี้ครับ พอคาถาอาคมแกร่งกล้าแล้วเราค่อยไปสมัครกับบ.ใหญ่ๆที่เราหมายตาไว้ก็ได้นี่ครับ ถึงตอนนั้นเราก็เป็นพวกสวยเลือกได้เหมือนกัน บ.ไหนจ่ายงาม มั่นคง เงื่อนไขดี เราก็ไป ... ของแบบนี้มันเป็นเรื่องธรรมดาในตลาดแรงงานทุนนิยมเสรี

ส่วนเรื่องให้ผมดู CV ให้นั่น ผมตอบทางอีเมล์ก็แล้วกัน เพราะกรณีของคุณค่อนข้างพิเศษ ไม่น่าจะมีประโยชน์กับใครในวงกว้างเท่าไร

สุดท้าย อยากให้มานะพยายามมากๆเข้าไว้ อย่าไปแคร์มากเรื่องเส้นสาย เชื้อชาติ ศาสนา และ สถาบันที่จบ อย่าน้อยคุณก็มีภาษีดีกว่าอีกหลายๆคนนะครับ ... โชคดีครับ



ขอบคุณมากครับสำหรับคำแนะนำที่พี่มอบให้ ใครๆก็มักที่จะแนะนำให้ผมเลือกที่จะศึกษาต่อ ไม่ใช่ว่าผมจะคิดว่าการเรียนต่อนั้นไม่ดี มันเป็นสิ่งที่ดี แต่ตัวผมหลงรักงานด้านนี้ไปเต็มหัวใจแล้ว และก็ตัดสินใจที่จะมุ่งมั่นตามความฝันที่จะได้ทำงานด้านนี้ให้ได้ ผมมองว่าการทำงาน มันก้อคือการเรียนแบบนึงเช่นกัน นอกจากจะต้องศึกษาแล้ว ยังได้ลงมือปฏิบัติไปด้วย ผมอยากทำมันจนเป็นเหมือนพี่ อยากจะมีความชำนาญในงานด้านที่ทำ และสามารถที่จะนำความรู้มาถ่ายทอดรุ่นน้องที่เข้ามาสนใจในงานด้านนี้ได้ สักวันเท้าผมจะเหยียบพื้นของแท่นให้ได้ เกริ่นนำซะยาว

1. drilling sevice (service company ) กับ drilling engineer (Owner company) อันไหนน่าสนใจกว่ากัน - ในความคิดผม service จะได้ทำการปฏิบัติมากกว่า รู้เรื่องในเชิงลึกกว่า แต่ owner รู้เรื่องไม่ลึกแต่จะสามารถมองภาพรวมได้มากกว่าใช่ไหมครับ owner จะทราบขั้นตอนและวิธีการทั้งหมดใน drilling เลยไหมครับ แล้ว MWD/LWD จะรู้เรื่องแค่ scope ทีทำอย่างเดียวหรือไม่


เข้าใจถูกแล้วครับ มันเหมือนกับการสร้างบ้านแหละครับ มันมี ช่างปูน ช่างไม้ ช่างไฟ แอร์ ประปา เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ กว่าจะออกมาเป็นบ้านหลังหนึ่ง แมวที่ไหนมันจะไปรู้ละเอียดหมดล่ะ จริงไหม Owner company หรือที่เราเรียกว่า oil company นั้นก็คือเจ้าของหลุม วิศวกรของเขาก็ต้องออกแบบหลุม (บุ๋น) และมีวิศวกรคุมหน้างาน (บู๊) คนสองกลุ่มนี้ก็จะต้องรู้งานไปกว้างๆทุกๆด้าน ไม่ให้ผู้รับเหมาช่วงหรือ serevice company แหกตาได้ แน่นอนที่สุด หลายๆคนก็เริ่มจาก service company รู้มันอยู่อย่างเดียวจนชำนาญ แล้วค่อยเรียนรู้เพิ่มเติม ครูพักลักจำเอา แล้วขยับขยายมาเป็นผู้คุมงานอยู่กับ Oil company (อย่างผมเป็นต้น) แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้ บางคนก็เป็นช่างปูนช่างไฟจนชำนาญ ออกไปตั้งบ.รับเหมาช่วงรับงานเองจนรวยเละไปก็มีนี่นา ส่วน MWD/LWD ก็ใช่ครับ อย่างที่คุณเข้าใจแหละ ก็รู้แต่ MWD/LWD อย่างเดียวนี่แหละ แต่จะเชี่ยวชาญมากๆ ก็เท่านั้นเองครับ รวมๆแล้วมันขึ้นกับว่าคุณอยากเป็น generalist หรือ specialist แต่มันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างกันได้

2. ผมควรจะโทรเข้าไปสอบถามบริษัทก่อนหรือไม่ว่ามีตำแหน่งว่างไหม หรือผมควรจะส่งไปเลยดีครับ
ถ้าบ.เขามีเว็บ ก็ดูในเว็บก็ได้ ไม่ต้องโทรฯ แต่ถ้าบ.เล็กๆก็โทรฯไปถามหน่อยก็ดี แต่ไม่ว่าจะมีตำแหน่งว่างหรือไม่ก็ตาม คุณก็ควรส่ง CV ไปอยู่ดี

3. สมมุตินะครับ ถ้าส่งไปแล้วไม่เรียก ควรจะเว้นระยะเวลาไว้เท่าไหร่ ที่จะลองเข้าไปสมัครใหม่อีกครั้งครับ
คงต้องนานไปเลยแหละครับ ผมไม่รู้ซิ ไม่มีตัวเลขในใจ เพราะถ้าเขาไม่เรียกแปลว่าตำแหน่งที่ว่างนั้นไม่เหมาะกับเรา หรือไม่มีตำแหน่งว่าง 4-6 เดือนก็น่าจะส่งอีกทีได้ไม่น่าเกลียด แต่คุณก็ควรมั่นดูเว็บไซด์ของบ.ที่คุณหมายตาไว้

คุณเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นและแนวทางของตัวเอง เป็นสิ่งที่ดีครับ รักษาเอาไว้ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรผมเชื่อว่าคุณจะประสบความสำเร็จแน่นอนครับ



ผมเพิ่งโพสต์เรื่อราวเกี่ยวกับเรือประเภทต่างๆที่เราใช้ๆกันในอ่าวไทย สำหรับกิจกรรมสำรวจและผลิต ปิโตรเลียม เห็นว่ามีคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ประปรายใน FAQ ก็เลยขอเอาลิงค์มาแปะไว้ที่นี่ด้วย

อะไรที่มันลอยกันเกลื่อนอ่าวไทยเยอะแยะ ... มาทำความรู้จักกันหน่อยดีไหม

พี่คับผมจะขอรบกวนถามหน่อยอะครับ คือผมตัดสินใจแล้วว่าจะเรียน AIT , OTM Program อะครับ field ที่ผมสนใจก็คือ Exploreration ครับ หลักสูตร + วิชาที่เรียนก็ตามข้างล่างนี้เลยอะครับ

A Typical Study Plan for Subsurface Engineering

AUGUST-DECEMBER SEMESTER (12-15 Credits)

CE80.66 Petroleum Reservoir Engineering Elective 3 credits
CE71.21 Geoenvironmental Engineering I Elective 3 credits
CE71.12 Rock Mechanics Elective 3 credits
CE71.11 Mechanics of Soils and Laboratory/Field Testing Elective 4 credits
AT76.01 Geographic Information Systems Elective 3 credits
CE80.69 Fundamentals of Geosystem Exploration Elective 3 credits

JANUARY-MAY SEMESTER AND/OR INTER-SEMESTER AT AIT (12-15 Credits)

CE80.65 Exploration Geophysics Elective 3 credits
CE80.63 Work Flow in Oil and Gas Operations Elective 3 credits
AT76.06 Advanced Technologies in GIS Elective 3 credits
CE71.51 Foundation Engineering and Design Elective 3 credits
CE80.68 Well Logging Interpretation Elective 2 credits

MAY-JULY SHORT SEMESTER

INTERNSHIP in EUROPE/ASIA/AUSTRALIA or INTER-SEMESTER at AIT

พอดีรุ่นพี่ของเพื่อนเขาก็เรียน field นี้เหมือนกันผมเลยโทรไปถามพี่เขาอะครับ แต่พี่เขาแนะนำว่าพื้นหลังของไม่ได้เรียนพวก Geo มา ไม่ค่อยเหมาะที่จะเรียนส่วนนี้ควรไปเรียนเกี่ยวกับพวกโครงสร้างของ rig + design อะครับ เพราะพี่เค้ากลัวว่าถ้าเรียน subsurface ออกไปกลัวพวก oil & gas company ไม่ยอมรับอะครับเนื่องจาก ป.ตรีไม่ได้เรียนทางพวกธรณีมาก่อน เรื่องนี้จิงรึเปล่าครับพี่ ... ผมจึงอยากขอคำแนะนำจากพี่ครับ


ที่รุ่นพี่ของเพื่อนว่ามาก็มีส่วนถูกแต่ไม่ทั้งหมดครับ ผมมองต่างมุมน่ะครับ ถ้ามองอย่างนั้นแปลว่าคนที่เลือกเรียนอะไรในป.ตรีไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขทางเดินอาชีพเลยหรือ คำตอบก็รู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่อย่างนั้น มีตัวอย่างอยู่มากมาย ยก 1 ตย. มีศ.ดร.อาจารย์ผมอยู่คนหนึ่งสมัยเรียน เชื่อป่ะ ท่านจบ 3 ปริญญา วิศวกรรมศาสตร์ คนล่ะเรื่องเลยทั้ง 3 สาขา ท่านจบตรีโยธา โทเครื่องกล เอกคอมพิวเตอร์

ข้อสำคัญคุณเรียนให้รู้ให้จริงให้เจ๋งออกมาก่อนซิครับ เอางี้ คุณทำวิชาต่อไปนี้ให้ได้ A (ถ้ามี A+ เอา A+ มาให้ผมดู)

CE80.66 Petroleum Reservoir Engineering Elective 3 credits
CE71.12 Rock Mechanics Elective 3 credits
CE71.11 Mechanics of Soils and Laboratory/Field Testing Elective 4 credits
CE80.69 Fundamentals of Geosystem Exploration Elective 3 credits
CE80.65 Exploration Geophysics Elective 3 credits
CE80.68 Well Logging Interpretation Elective 2 credits

แค่ 6 วิชา เอา A มาให้ดูหน่อย (หวังว่าอีกปีกว่าๆพอคุณจบ ผมยังอยู่ในวงการฯอยู่) ทำวิทยานิพนธ์เจ๋งๆสักเรื่อง ไปขอทุนหรือไปขอดูปัญหาจริงๆที่บ.น้ำมัน ขอข้อมูลมาทำวิทยานิพนธ์กับปัญหาจริง โดยมากได้อยู่แล้ว เพราะทาง AIT ประสานไปให้ เสร็จแล้ว เอาวิทยานิพนธ์กับเกรด A 6 ตัวนี้ไปสมัคร บ.ไหนไม่รับก็แย่แล้ว คุณไปดูหลักสูตร PE จุฬาสิครับ 4 ปี ก็เรียนคล้ายๆกัน หรือ โท PE จุฬา ก็ได้ ก็คล้ายๆกันอีก ประเด็นคือไอ้คล้ายๆกันนี่แหละ คุณต้องทำให้มันดีและเด่นออกมา อีกอย่างคุณก็มีฝึกงาน (internship) ใช้ให้เป็นประโยชน์ พิถีพิถันเลือกบ.หน่อย ทำผลงานให้เข้าตากรรมการ

เรื่องมันอยู่ที่ว่าคุณทำตัวตลาดๆหรือเปล่า จับให้เด่นให้ดีเป็นจุดๆเป็นเรื่องๆไปเลย คุณอาจจะบอกว่า โอโห A ตั้ง 6 ตัว ผมขอมากไปหรือเปล่า ผมตอบได้คำเดียวว่า ตลาดแรงงานแข่งขันกันนะครับ คุณได้เปรียบที่คุณรู้ตัวก่อน ว่าคุณต้องเตรียมทำอะไรบ้างจึงจะแข่งขันได้เมื่อจบ ดีกว่าหลายคนที่สักแต่ว่าเรียน พอรู้ว่าต้องการอะไรไปแข่งขันก็เตรียมตัวไม่ทันเสียแล้ว

(ถ้าสนใจเรื่อง well construction ก็เข้าไปที่ห้องสมุดผมได้ มีตำราดีๆให้ดาวโหลด)

เอาน่า ... no pain no gain สู้ๆ ครับ



คือว่าผมมีเรื่องรบกวนสอบถามพี่เกี่ยวกับเรื่องสถานที่เรียนหน่อยครับ ตอนนี้ผมก็หาข้อมูลเกี่ยวกับที่เรียนอยู่ครับ ตอนนั้นผมเคยส่ง รายละเอียดเกี่ยวกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ที่จุฬาไปให้พี่คอมเม้นท์แล้ว หลังจากนั้นผมได้เข้าไปดูในบล็อกของพี่ที่พาไปดู บรรยากาศบนแท่นเจาะ รู้สึกชอบเลยครับ อยากไปทำงานบนนั้นจัง ผมเลยได้หาข้อมูลเพิ่มเติมครับ ผมได้เข้าไปดูที่เว็ปนี้ครับ //www2.dmf.go.th/kid/chap05_0601.htm เค้ามีแนะแนวการศึกษาไว้ ผมก็เข้าไปหาข้อมูล ตามมหาลัยต่างๆ ก็พบว่าอเมริกานั้นไม่ไหวจริงๆครับ ค่าเรียนสูงทีเดียว ตอนนี้เลยเทใจมาทางฝั่งยุโรปครับ ซึ่งก็มีอยู่ 3 มหาวิทยาลัย

1. Heriot-Watt University (Petroleum Engineering)
Lecture Program Drilling Engineering
examined by written exam

Petroleum Geoscience
examined by written exam

Formation Evaluation
examined by written exam

Reservoir Engineering
examined by written exam

Reservoir Simulation
examined by written exam and course work

Reservoir Engineering Well Test Analysis
examined by written exam and course work

Production Technology
examined by written exam

Petroleum Economics
examined by written exam and course work

DESIGN PROJECT
examined by written report and presentation

INDIVIDUAL PROJECT

2. The Robert Godon University (Drilling & Well Engineering)
Curriculum Semester 1
Subsurface
Wells
Facilities
Business Essentials Semester 2
Drilling Technology
Drilling Operations Management
Advanced Completion & Subsea Systems
Advanced Well Engineering
Semester 3
Individual Project Report
Or
Individual Design Exercise

3. University of Aberdeen (Subsea Engineering)

Course syllabus

Subsea Networks/Systems Engineering
Flow Assurance
Subsea controls
Pipelines and Soil Mechanics
Risers and Moorings
Subsea Operations and Integrity
Subsea Construction, Inspection and Maintenance
Basic safety, reliability, risk concepts and legislation
Individual Project

ทั้งสามที่ๆกล่าวมา อยู่ที่สก็อตแลนด์ครับ ระยะเวลาเรียน 1 ปี ค่าเรียนประมาณ 7 แสน พี่คิดว่าเป็นยังไงครับ เรื่องหลักสูตร ชื่อเสียงของสถาบัน และโอกาสที่จะได้ทำงานด้าน offshore ครับ ผมอยากเรียนเกี่ยวกับด้าน drilling ยังไงรบกวนพี่ช่วยแนะนำ


เป็นตัวอย่างที่ดีอีก 1 ท่านที่รู้จักทำการบ้านมาก่อน ประหยัดเวลาผมไปได้เยอะเลยครับ แถมให้ลิงค์แนะแนวที่เรียนมาด้วย ขอบคุณครับ

เอาล่ะครับ ผมจะไม่ถามว่าทำไมไม่เรียนเมืองไทย ทำไมอยากทำ Drilling และผมตั้งสมมุติฐานว่าคุณรู้แล้วว่า Drilling มันทำอะไร และคุณมีปัญญาจ่าย 7 แสนบาท + ค่ากินอยู่ตลอด 1 ปี ดังนั้น ผมจะตอบตามที่ถามว่าถ้าคุณอยากเรียน drilling ใน 3 ที่ที่คุณเลือกมา ผมแนะนำที่ไหน

ที่แรกเป็น Petroleum Engineer เรียนเป็นเป็ด (Drilling เป็นส่วนหนึ่งของวิชาที่เรียน) ไม่เฉพาะอะไรลงไป ที่หลังสุดเป็นเรื่องการก่อสร้างอะไรต่อมิอะไรก็ตามที่อยู่ระหว่างผิวน้ำกับพื้นทะเล สรุปทั้งสองที่ไม่ใช่ที่คุณต้องการแน่ๆ

ที่ที่สองครับ ตรงที่สุด ตรงประเด็นไปเลย คุณเข้าไปใน "ห้องสมุด" ของผม ซิครับ ในนั้นมีตำรา drilling ให้ลองชิมลองอ่านดู นั่นแหละคือสิ่งที่คุณต้องเรียนและเข้าใจถ้าอยากทำ Drilling



รบกวนสอบถามเรื่องการทำงานนอกชายฝั่ง ไม่ทราบว่าการรับพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ดูแลทางสุขภาพ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้างครับ อยากจะขอรายละเอียดการสมัครงานจะได้เตรียมตัวถูกในกรณีที่จะหางานใหม่ทำ คือผมหาข้อมูลมานานแล้วแต่ไม่ค่อยจะมีเลย ขอบคุณครับ

นานๆมีคนถามเรื่องนี้ที คืออย่างนี้ครับ ตำแหน่งนี้บนนั้นเราเรียก medic หรือ paramedic ผมก็ไม่แน่ใจว่าต่างกันอย่างไร เท่าที่คุยกัน พอทราบมาว่าอย่างน้อยก็ต้องจบพยาบาล และผ่านหลักสูตรอะไรอีกนิดหน่อย ผมจำไม่ได้แน่ ทางแท่นฯจะรับผ่านบ.นายหน้าอีกทีนึง คือไม่ได้เป็นลูกจ้างของบ.แท่นฯโดยตรงแต่เป็นลูกจ้างของบ.นานหน้าแล้วเขาเอาเราไปทำบนแท่นแล้วก็เก็บตังค์ค่าตัวเรา ซึ่งแน่นอนว่าแพงกว่าเงินเดือนเรา ส่วนรายได้เท่าไร มีอะไรบ้างนี่ผมไม่ทราบจริงๆครับ มี 2-3 บ.นายหน้า แต่ที่ผมหามาได้มีที่เดียวครับ กำลังให้เพื่อนหาเบอร์โทรฯกับอีเมล์ให้อยู่ ได้มาแล้วจะเอามาโพสต์ไว้ให้นะครับ

International SOS Service (Thailand) Ltd.,
11 Floor., GPF Wittayu Tower B
93/1 Wireless Road, Lumpini
Pathumwan, Bangkok 10300
Thailand

ไม่มีเบอร์โทรครับ ลองกูเกิล หรือไม่ก็ walk in ไปยื่น CV ถึงที่เลยก็ได้



ผมมีเรื่องรบกวนถามครับ คือผมจบวิศวกรรมปิโตรเคมี ม.xxxx ผมสนใจอยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับสายปิโตรเลียม ไม่ทราบว่าพอจะมีงานส่วนไหนที่ผมเข้าไปทำได้บ้างไหมครับ เคยมีรุ่นพี่มาแนะนำเกี่ยวกับ Mud engineer ซึ่งผมเองก็สนใจมากแต่ไม่ทราบว่าจะมีวิธีการสมัครงานได้อย่างไร หรือหากผมอยากจะเรียนต่อป.โท ควรจะเลือกเรียนทางด้านปิโตรเลียม (วิทยาลัยปิโตรฯ จุฬา) หรือเรียนธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมดีครับ

พอจะมีงานส่วนไหนที่ผมเข้าไปทำได้บ้างไหมครับ - ถ้าเอางานตรงๆบนแท่นขุดเจาะสำรวจและผลิต นั้นไม่มีครับ เพราะที่คุณเรียนมาเป็นทางปลายน้ำ (down stream) ที่พอถูไถได้ ก็จะเป็นงานที่เกี่ยวกับ จากกลั่นแยกเบื้องต้นบนแท่นผลิต (processing platform) ซึ่งก็อีกแหละ บนนั้นก็มีแต่ระดับเทคนิค พวกป.ตรี ก็ทำบนฝั่งกัน

Mud engineer ซึ่งผมเองก็สนใจมากแต่ไม่ทราบว่าจะมีวิธีการสมัครงานได้อย่างไร - มีบ. Mud อยู่ 3 บ. ที่ได้งานในอ่าว นี่ครับที่อยู่พร้อมเบอร์

MI Swaco 11th fl., Rasa Tower, 555 Phaholtothin Road, Chatuchak, Bangkok 10900. Tel 029370755

Scomi Oiltool (Thailand) Ltd., 13th fl., CTI tower, 191/77 Ratchadapisek Road, Klongtoey, Klongtoey, Bangkok 10110. Tel 022042910-3

Baroid - Halliburton, 11th fl., room B1101 & 15th fl., 123, Suntowers Building -B, Vibhavadi-Rangsit Rd., Jompol, Chatuchak, Bangkok 10900. Tel 022788100

แนะนำให้โทรฯไปถามที่อยู่ที่ชัดเจนก่อนส่งใบสมัครไป เดี๋ยวไม่ถึง เผื่อผมให้ที่อยู่ผิด แล้วก็เข้าไปอ่านเว็บของบ.นั้นๆ (กูเกิลหรือโทรฯถามเอา - รู้แต่ไม่บอก ทำการบ้านมั่ง อิอิ) ว่าไอ้ Mud engineer มันทำมาหารัปทานอะไรอย่างไร แล้วถ้าว่างๆ คุณไป ดาวน์โหลด บทที่ 2 กับ บทที่ 4 ในห้องสมุดของผมนะ เอาไปต้มชงดื่มกินสามเวลาหลังอาหาร เอ๊ย อ่าน อ่าน และ อ่าน ให้จบ นั่นแหละ งาน mud engineer

เรียนต่อป.โท ควรจะเลือกเรียนทางด้านปิโตรเลียม (วิทยาลัยปิโตรฯ จุฬา) หรือเรียนธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมดีครับ - เท่าที่ผมทราบนะครับ วิทยาลัยปิโตรฯของจุฬาจะเป็นแนวๆ down stream ครับ ก็จะออกไปแนวๆโรงกลั่นครับ ระหว่างสองที่ที่คุณบอกมา ผมแนะนำ ธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม (Petroleum Geology -น่าจะชื่ออย่างนี้นะ)ครับ แต่คุณจะต้องเรียน Geology ใหม่เกือบทั้งหมด ซึ่งก็ไม่ยากถ้าเขาให้คุณเรียนเพิ่มปูพื้นกันใหม่ เสร็จแล้วคุณก็อาจจะมาเป็นนักธรณีปิโตรฯให้กับบ.น้ำมัน จะทำเป็น Well site Geo หรือ นั่งในออฟฟิตก็ตามสะดวก แต่ส่วนใหญ่เขาก็ส่งคุณไปเป็น Well sit Geo ก่อนนั่นแหละ



ผมสนใจจะทำงานในบริษัทน้ำมัน โดยเฉพาะการทำงานบนแท่นขุดกลางทะเลมากๆๆ เหตุผลเพราะผมชอบลักษณะงานที่ต้องทำงานแบบลุยๆและมีการทำงานเป็นช่วงแบบ7/7 ,14/14 อีกเหตุผลคงเป็นเรื่องรายได้ แต่ปัญหาคือ ผมจะต้องจบวิศวะสาขาใดมาก่อนครับ ตอนนี้ผมเพิ่งเข้าเรียนที่คณะวิศวะ จุฬา ซึ่งต้องเลือกภาคตอนปี 2 แต่สาขาปิโตรเลียมของที่นี่รับเพียง 20 คนจาก 800คน ซึ่งเป็นการแข่งขันที่สูงมาก ซึ่งถ้าผมพลาดจากสาขานี้แล้ว ยังพอจะมีหนทางไหนที่จะพอจะทำงานที่แท่นได้อีกบ้างครับ

เอาล่ะ อย่างน้อยคุณก็รู้เป้าหมายว่าคุณอยากทำอะไร เพราะอะไร ซึ่งก็เท่ากับว่าคุณทำได้สำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่งที่จะไปยังที่ๆคุณหวังเอาไว้

20/800 = 1/40 อะไรทำให้คุณคิดว่าคุณจะเป็นหนึ่งใน 40 คนไม่ได้ล่ะ ถ้าระบบการศึกษายังไม่เปลี่ยน ผมเข้าใจว่านี่มันเพิ่งเปิดเทอมหนึ่งเองนะ คณะที่คุณเรียนก็ถือว่าอันดับต้นๆของประเทศ สาขาที่คุณใฝ่ฝันเข้าใจว่าหินเอาเรื่องอยู่ แต่ทำไงได้ล่ะ งานรายได้ดีแบบนี้ มันก็ว่าไปตามกฏอุปสงค์อุปทานนั่นแหละ ผมว่าคุณก้มหน้าก้มตาทำเกรดปีหนึ่งสองเทอมนี้ไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน เลือกภาคนี้ให้ได้

ถ้าถามผมว่าแผนสองล่ะ ... ตอบตามประสบการณ์ที่เห็นคนที่ไม่ได้จบภาควิชานี้หรือไม่ได้จบธรณี ส่วนใหญ่พวกเราก็เป็น เครื่องกลกันเสียมาก ถ้าจะแนะนำกันทางสถิติแล้วก็ให้เลือกเครื่องกลไว้อันดับสอง แล้วก็ที่เห็นบ่อยรองมาก็เคมีล่ะมังครับ ตอนฝึกงานปีสามก็สมัครไปตามบ.น้ำมันก็ได้ครับ ทำให้เพิ่มโอกาสได้งานตอนจบในบ.น้ำมันนั้นๆ

แล้วถ้าคุณไม่ได้เรียนปิโตรฯ ผมแนะนำให้คุณไปที่ห้องสมุดของผม (ลิงค์อยู่ข้างล่าง) ไปดาวน์โหลดตำราการขุดเจาะ คุณมีเวลา 4 ปีอ่านให้จบและเข้าใจให้ได้ทั้ง 10 บท ไม่เข้าใจก็ถามผมทางอีเมล์ หรือถามเพื่อนคุณที่เรียนปิโตรฯก็ได้ เขาเรียนเล่มนี้เหมือนกัน

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะเรียนสาขาอะไรคุณก็ต้องเรียนหนักอยู่ดี เพราะสาขาปิโตรฯ คุณก็ต้องแข่งกับพวก 18 อรหันต์ทองคำที่ฝ่าด่า 1/40 มาได้ด้วยกัน ถ้าคุณเรียนเครื่องกลก็ใช่ว่าสบาย เพราะถ้าคุณจบเครื่องกลฯเกรด 2 แก่ๆหรือ 3 อ่อนๆ คุณก็สู้เขาไม่ได้อยู่ดี ... หืดขึ้นคอครับ

ไม่ได้ขู่นะครับ .... ไม่มีความสำเร็จได้มาง่ายๆหรอกครับ ไม่มีทางลัดด้วย (ไม่ต้องคิดจะหาเลย) แต่อย่างน้อยคุณก็มีแต้มต่อที่ดีกว่าอีกหลายๆคนล่ะครับ ... สู้ๆครับ

ดูต้นไม้ต้นนี้ซิครับ
ถ้าคุณคิดว่าคุณทำได้ คุณทำได้ครับ




Ajourney of ten thousand miles begins with one step นะครับ




สวัสดีครับพี่ ยังจำผมได้อยู่ไหมครับ หายไปนานเลย ช่วงนั้นยุ่งๆหาที่เรียนน่ะครับ

คือที่ผมเคยบอกกับพี่ไปว่าจะไปเรียน Geology ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่น่ะครับ ตกลงผมไม่ได้เรียนที่นั่นแล้ว เพราะถ้าเรียนมันอาจต้องลงตัวพื้นฐานถึง 2 ปีเลยครับ ทางอาจารย์เค้าบอกว่ามันจะไม่มีเวลาทำทีสีส

แต่ตอนนี้ผมได้ที่เรียนแล้วครับพี่ ตอนนี้ผมเรียนต่อสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม (Petroleum Engineering) อยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีครับ แต่ยังไงก็ยังคงต้องเทคคอร์สของตัวป.ตรีบ้างเหมือนกัน โดยเทอมนี้ผมลงเรียน 3 ตัว คือ General Geology(ป.ตรี), Resevoir Engineering (ป.ตรี), Petroleum Field Planning & Development(ป.โทครับ) ส่วน Drilling นั้นลงผมเอาไว้เทอมหน้าครับ

คือผมก็มาพร้อมกับคำถามอีกนั่นแหละครับ คือผมอยากถามกับพี่เกี่ยวกับหัวข้อเรื่องการทำวิทยานิพนธ์น่ะครับ อยากทราบว่าเราจะสามารถไปขอหัวข้อ (ปัญหา) (อาจขอทุนทำวิจัยด้วยครับ) กับทางบริษัทน้ำมันได้หรือไม่ครับ ผมลองเข้าไปหาดูในเวบบริษัทมาบ้างแล้ว แต่ไม่เจออะไรแบบนี้เลยครับ แล้วพี่พอจะมีแนวทางแนะนำในเรื่องนี้บ้างรึเปล่าครับ

ผมโหลดหนังสือจากห้องสมุดพี่มาอ่านแล้วนะครับ แต่ยังไงถ้าผมมีข้อสงสัยในวิชาที่ผมเรียน หรือผมหาหนังสืออ่านเองไม่ได้จริงๆ ผมคงต้องขอรบกวนพี่หน่อยล่ะครับ


ดีใจครับ ที่ได้ทราบข่าวความคืบหน้า เรียน PE ของสุรนารีก็ดีเหมือนกันครับ ออกมาจะได้เป็นพวกเดียวกัน (อิอิ) ช่วยๆกันถล่มพวก Geo ... อย่าเข้าใจผิดนะครับ เรารักกันจะตายไป เอิ๊กๆ ... แต่ผมออกแนวครูพักลักจำนะครับ แนวๆลูกทุ่งๆไม่ได้เรียนเป็นเรื่องเป็นราวอะไร (ผมจบไฟฟ้า) เผลอๆอีก 2 ปีคุณจบแล้ว ผมอาจจะเป็นฝ่ายขอความรู้จากคุณก็ได้ครับ ผมก็ "ลักจำ" ของผมไปเรื่อย

ดีอีกครับ ที่คุณมองข้ามช๊อตไปถึงวิทยานิพนธ์ (เด็กๆดูไว้เป็นตัวอย่าง - ยอมันไว้ก่อน มันจบมาอาจจะต้องพึ่งมัน อิอิ) เพราะ 2 ปีมันไม่นานเลย วิทยานิพนธ์สำคัญมากสำหรับป.โทฯ เพราะช่วยได้มากในการหางานตอนจบโดยเฉพาะคุณจะจบมาในสาขาที่แคบกระจิดริ๊ดแบบที่ใครตดสักป๊าดก็ได้ยินกันไปทั้งวงการฯ

แหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดในการเลือกหัวข้อ ก็คืออ.ที่สอนคุณน่ะครับ บอกไปตรงๆเน้นๆ ว่าผมต้องการทำเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นปัญหาในความเป็นจริง ใช้ข้อมูลจริงในปัจจุบัน ไม่ใช่ไปทำอะไรเพ้อฝันซับซ้อนทางวิชาการ อ.ที่สอนคุณก็อยู่ในบ.ใหญ่ๆกันทั้งนั้น ดูประวัติการทำงานของอ.แต่ล่ะคนด้วยว่าใครเป็นใคร เคยทำอะไรที่ไหนกับใครมาก่อน ไม่ใช่ว่า ตรีโทเอก อยู่แต่กับน.ศ.และมหาวิทยาลัย ไม่เคยทำงานจริงเลย อย่านี้ไม่ควรเอามาเป็นที่ปรึกษาครับ ดู CV อ.ด้วย ขอแก แกคงไม่ให้ สืบเอาถามเอา เอาชื่อมาให้ผมก็ได้ เดี๋ยวสืบให้ (อิอิ)

เลือกที่ปรึกษา เลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ ตอนนี้เลยก็ดีครับ เพราะ 2 ปีไม่นาน แล้วการหาข้อมูลจากบ.ใหญ่ๆก็ใช้เวลานาน ไม่ใช่เเอาจม.จากคณะฯไปแล้วเขาจะให้เลย บางทีต้องรอเป็นเดือน ถ้าอ.ที่ปรึกษามีกำลังภายใน คือเคยทำที่นั่นมาก่อน หรือรู้จักคนในนั้น มันก็จะลัดขั้นตอนไปเยอะ มิหนำซ้ำยังรู้อีกว่าตอนนี้ปัญหาในสนามที่เจอๆกันหนักอกยกไม่ออกน่ะมันคืออะไร จะเอาเอามาทำวิทยานิพนธ์ซะเลย เห็นป่ะ ไม่ใช่แต่ Know how มันต้อง know who ด้วย มันถึงจะไปโลด

ส่วนเรื่องตำรา เมื่อคุณอยู่ในคณะฯนั่นแหละ ไม่ต้องห่วงเรื่องตำราเลย อ.แต่ล่ะท่านเซียนเหยียบเมฆทั้งนั้น อ.พวกนี้รุ่นเหยียบหิมะไร้ร่อยรอย ตำราผมมันแค่จิ๊บๆที่ผมลักจำเขามา (แต่ก็ใช้หาเลี้ยงลูกเมียได้จนทุกวันนี้แหละครับ) มีอะไรก็ถามอ.คุณก่อนล่ะกัน หาใครไม่ได้จริงๆแล้วค่อยมาหามวยวัด อิอิ ... โชคดีนะครับ ...



ผม จบโท จากวิทยาลัยปิโตรเลียม จุฬา มาอะคับ เลยสมัคร MI SWACO หลังจากนั้นเค้าเรียกสัมภาษณ์ บอกว่าจะให้ไป train ในหลักสูตร drilling school ที่ train โดย TPIT หกเดือน อยาก ขอความเห็นหน่อยว่า หลักสูตรนี้เป็นไงบ้าง

ก่อนอื่น ของแสดงความยินดีต้อนรับเข้าสู่วงการฯ

ผมอนุมานว่า MI รับแล้ว และส่งไปเรียนในหลักสูตรนี้ด้วยเงินของบ. ไม่ใช่เงินของคุณเอง

ในส่วนของความตรงกับงาน งานที่ MI นี่เหมาะกับปริญญาที่คุณจบมาก เพราะเป็นงานออกแนวๆเคมี process คล้ายๆ down stream และงานน้ำโคลนเป็นงานที่ยาก ท้าทาย เป็นพื้นฐานของกระบวนการขุดเจาะทั้งหมด คุณจะได้รู้ขบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ส่วนหลักสูตรนั้น เนื่องจากว่าเป็นของฟรี และเวลาตั้ง 6 เดือน น่าจะเรียนกันละเอียดในทุกแง่มุมพอควร ไม่ใช่เฉพาะน้ำโคลนอย่างเดียว ในส่วนของ TPIT นั้นชื่อชั้นก็พอรับได้ในระดับประเทศไทย คนสอนน่าจะเป็นคนไทย เพราะบ.เป็นบ.ของคนไทย ตั้งและบริหารโดยอดีตคนของกรมเชื้อเพลิงฯ

อย่างนี้ผมแนะนำอย่างแรงให้ไปดาวน์โหลดทุกบทในห้องสมุดผมมาอ่าน โดยเฉพาะบทที่ 2 กับ 4 ฉีกแล้วต้มกินแทนน้ำไปเลย คุณหนีไม่พ้นอยู่แล้ว 2 บทนี้ อ่านไปก่อน ไม่เข้าใจอะไรทิ้งคำถามไว้ที่อีเมล์ผม (ตูจบไฟฟ้า จะรู้ไหมเนี่ย เอิ๊กๆ) เวลาเรียนจะได้เข้าใจได้ง่ายๆ ชิวๆ ... อีก 6 เดือนเจอกันในสนาม(ของจริง)

=======

เนื่องด้วยดิฉันได้มีโอกาสอ่าน blog เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และเกิดความสงสัยเกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียที่เกิดขึ้นของทางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะบริษัทแท่นเจาะ จึงอยากขออนุญาตสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้หรือไม่คะ ทั้งนี้หัวข้อในการสอบถามโดยสังเขปมีดังต่อไปนี้ค่ะ

· เทคโนโลยีระบบการจัดการน้ำเสียที่ทางอุตสาหกรรมเลือกใช้
· หลักเกณฑ์และข้อบังคับของการจัดการน้ำเสียในอุตสาหกรรม
· ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการและระบบบำบัดน้ำเสีย
· ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้เทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำเสีย
· แนวโน้มอื่นๆที่เกี่ยวข้อง


ก่อนอื่นต้องขออรัมภบทสักเล็กน้อย ก่อนการขุดเจาะทุกโครงการ บ.ผู้ได้สัปทานจะต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA Environmental Impact Assessment) เสนอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงวิทย์ฯ กรมเชื้อเพลิงฯ กระทรางอุตฯ กรมประมงฯ ฯลฯ ความเคร่งครัดต่อคุณภาพและปริมาณของของเสียที่ปล่อยออกมาจะขึ้นกับบริเวณที่เข้าไปทำการขุดเจาะ เช่น ความใกล้ไกลชุมชน สภาพเขตป่า ในกรณีบนบก หรือ ในทะเลก็ ความใกล้ไกลฝั่ง และหรือ แหล่งประมง ฯลฯ

บ.เจาะสำรวจจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐฯอย่างเคร่งครัด เช่น อะไรปล่อยทิ้งลงทะเล ได้หรือไม่ได้ ถ้าได้ ได้ปริมาณเท่าไร ถ้าใกล้ฝั่งมากๆ(แล้วแต่กฏหมาย) ก็จะไม่ให้ปล่อยเลย (Zero discharge) ต้องใส่เรือขนมากำจัดทั้งหมด ถ้าไกลออกไปก็ปล่อยลงทะเลได้

ในกรณีที่ต้องส่งลงเรือมากำจัด โดยมากบ.ขุดเจาะจะไม่กำจัดเอง เพราะไม่มีความชำนาญ เนื่องจากของเสียมีหลายประเภท ไม่แต่เฉพาะน้ำเท่านั้น บ.จะใช้วิธีประมูลให้ผู้รับเหมาช่วงนำไปกำจัดตามข้อกำหนดของกระทรวงอุตฯ โดยบ.จะส่งพนักงานผู้เชี่ยวชาญเข้าไปกำกับตรวจสอบการทำงานของผู้รับเหมาช่วงร่วมกับจนท.กระทรวงที่เกี่ยวข้อง

เทคโนโลยีระบบการจัดการน้ำเสียที่ทางอุตสาหกรรมเลือกใช้ - ขึ้นกับผู้รับเหมาช่วงบ.เพียงดูแค่ผลการกำจัดได้ตามมาตราฐานของหน่วยงานกำกับของรัฐหรือไม่ อย่างไรก็ตามบ.แท่นขุดสงวนสิทธิ์ที่จะเจาะจงที่จะรับหรือไม่รับเทคโนโลยีบางประเภทเช่นกัน เพราะเทคโนโลยีบางประเภทให้ผลลัพธ์การกำจัดที่ได้ตามกำหนดแต่เกิดผลกระทบทางด้านอื่น เช่น มลพิษทางดิน อากาศ สุขอนามัย โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์เป็นเวลาพอสมควร เพราะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมบางลักษณะต้องใช้เวลาในการแสดงผลออกมา

หลักเกณฑ์และข้อบังคับของการจัดการน้ำเสียในอุตสาหกรรม - ไม่ทราบจริงๆครับ ต้องไปเปิดกฏหมายสิ่งแวดล้อม และข้อกำหนดของกรมโรงงานฯ

ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการและระบบบำบัดน้ำเสีย - ไม่มีครับ เพราะผู้รับเหมาช่วงโดยมากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ และตามสัญญา บ.รับเหมาช่วงจะเป็นผู้รับผิดชอบปัญหาเกี่ยวเนื่องทั้งหมด(ถ้ามี) แต่ในทางปฏิบัติ ปัญหาไม่ได้ถูกตัดตอนอย่างสิ้นเชิง เพราะความไม่รู้ ไม่เข้าใจหรือแกล้งไม่รู้ แกล้งไม่เข้าใจของ NGO สื่อ นักการเมือง แม้แต่ผู้กำกับดูแลฝ่ายรัฐเอง เนื่องจากเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา บ.ขุดเจาะมักจะเป็นเป้าใหญ่ให้ถล่ม ขู่กรรโชกทางการเงิน หรือขายข่าว ได้มากกว่าที่จะไปเล่นเอากับบ.รับเหมาช่วงจิ๊บจ้อยที่ได้งานไป โดยที่ไม่ได้ดูสัญญาว่าจ้างกันเลยว่าใครกันแน่ที่ต้องรับผิดชอบในกรณีไหน อย่างไรบ้าง นั่นทำให้ในทางปฏิบัติบ.ขุดเจาะก็ต้องเข้าไปกำกับดูแล หรือกำหนดเทคโนโลยีกันอย่างใกล้ชิด เพราะ "ขว้างงูไม่พ้นคอ" นี่เอง

ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้เทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำเสีย - ในแง่ผู้รับเหมาช่วงนะครับ น่าจะเป็น

๑ ชนิดของของเสีย
๒ ปริมาณ
๓ ระยะเวลาการขนส่ง (ของเสียบางประเภทแปรสภาพตามเวลาที่รอการกำจัด)
๔ ราคาที่ประมูลได้จากบ.ขุดเจาะ
๕ มาตราฐานของหน่วยงานรัฐที่กำกับ
๖ ราคาของเทคโนโลยีตัวที่จะใช้
๗ ค่าคอมมิสชั่นที่ต้องจ่ายรายทางให้กลุ่มคนที่คุณก็รู้ว่าเป็นใครบ้าง

แนวโน้มอื่นๆที่เกี่ยวข้อง - หลักๆก็น่าจะเป็น
๑ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และมาตราฐาน ใหม่ๆจากต่างประเทศ (ซึ่งบางทีก็ออกมาเพื่อจะขายเทคโนโลยี แต่ก็ดีเราจะได้ปลอดภัยขึ้น)
๒ ข้อกำหนดของรัฐที่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ
๓ บริเวณที่ได้สัปทานมักจะรุกเข้าไปในพื้นที่อ่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมเข้าทุกทีๆ (บริเวณไกลผู้ไกลคนก็ขุดกันไปจนจะพรุนหมดแล้ว)
๔ ความทันต่อเทคโนโลยีของ NGO ฉลาดขึ้นทุกวันๆ (แต่บางทีก็แกล้งโง่ซะงั้น)
๕ นักการเมืองระดับชาติ หรือ ท้องถิ่น คล้าย NGO ที่ฉลาดขึ้นทุกวันแต่แกล้งโง่
๖ ช่วงเวลาของปี เช่นช่วงเลือกตั้ง การกำจัดของเสียจะอ่อนไหวเป็นพิเศษ เพราะจะโดนคู่แข่งในพื้นที่จับตา จับผิดตลอด สิ่งที่ได้มาตราฐานก็กลายเป็นไม่ได้มาตราฐานได้ง่ายๆ
๗ สื่อมวลชน เหมือน NGO และ นักการเมือง คือ ฉลาดทันเทคโนโลยีขึ้นทุกวัน แต่แกล้งโง่ซะงั้นแหละ

นอกนั้นก็พวกความก้าวหน้าทางการวิจัยของนักวิชาการในประเทศของสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งส่วนมากจะได้ผลดี และ ราคาถูก แต่มักไม่ได้นำมาใช้ เพราะราคาถูก จึงไม่มีส่วนเกินบวกเป็นค่าบริหารการขาย (ค่าคอมมิสชั่น) ให้กลุ่มคนที่คุณก็รู้ว่าใคร แล้วก็ค่าเงินบาท GDP อะไรไปโน้น ....

โดยสรุปปัญหาเรื่องการกำจัดของเสีย ไม่ได้เป็นปัญหาทางเทคโนโลยี แต่เพียงอย่างเดียว ต้องพิจารณาด้านอื่นๆประกอบ เช่น การเมือง สังคม และ วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น



ตอนนี้ผมเรียนอยู่ ปี 4 สถาบันเดียวกับพี่เรียนเกี่ยวกับ Instrumentation Engineering (แถวหัวตะเข้เรียกว่าภาควัดคุม) ส่วนเรื่องผมการเรียนนั้นถ้าจับก็คาดว่าน่าจะประมาณ 3.15 กว่าๆ คือจากที่ผมได้อ่าน FAQ ของพี่มาก็ทำให้ผมได้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจนี้มากขึ้น(แต่ก่อนมีน้อยมาก) ซึ่งผมก็พอจะรู้ว่ามีกลุ่ม บ. ไหนบ้าง ลักษณะงานแต่ละ บ. เป็นอย่างไร

ที่นี้ผมอยากจะถามพี่ว่าหากว่าผมอยากจะทำงานที่ไปทำอยู่นอกชายฝั่งเนี่ยแต่ทีนี้ผมคงจะไม่เอาดีทางด้านการขุดหรือว่าทางปิโตรเลียมหรอกครับ ผมดูแล้วผมไม่ค่อยชอบ (ไม่ได้ต้องการเป็นพระเอก) ผมอยากจะเอาดีทางด้านเครื่องมือวัด(Instrument) คือว่าผมชอบทางด้านนี้อะครับ ไม่ทราบว่าการทำงานในแท่นขุดนั้นมี ลักษณะงานแบบนี้มากน้อยเพียงใด (Instrument Loop,DCS,Transmitterต่างๆ)คงจะเป็นงานทางด้านซ่อมบำรุง ซึ่งผมได้รับฟังจากเพื่อนๆบ้าง พี่ๆที่คณะบ้างว่า ในแท่นขุดก็เหมือนกับโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปงานจำพวกการวัดคุมค่าต่างการควบคุมกระบวนการก็ต้องมีเช่นเดียวกับบนบก

ผมอยากทราบว่าหากผมต้องการเข้าไปทำผมควรจะเริ่มต้นจาก บ. ไหนบ้าง ซึ่งในความคิดผมคิดว่าน่าจะเป็น บ. น้ำมัน อีกอย่างตอนปิดเทอมใหญ่ปี 3 ผมได้ไปฝึกงานกับ บ.กลั่นน้ำมันตราใบไม้ ผมฝึกงานที่เกี่ยวกับทางด้าน Instrument โดยตรง ไม่ทราบว่าบนแท่นนั้นจะคล้ายกับโรงกลั่นหรือไม่ แล้วความก้าวหน้านั้นเป็นอย่างไรบ้างครับ อีกอย่างค่าตอบแทนนั้นเป็นอย่างไม่บ้าง


ยินดีที่ได้รู้จักครับ คุณเข้าใจถูกต้องเลยครับ บนแท่นขุดสำรวจและผลิตมันก็คือโรงงานอุตสาหกรรมดีๆนี่เอง มีเครื่องมือวัดเยอะมากๆ ขอเน้นว่าเยอะมากๆ แต่มันต่างจากโรงงานอุตฯบนฝังตรงที่ ที่มันแคบ ไม่มีที่พอจะเก็บคนหลายๆคน ดังนั้นงานอะไรที่รวบได้ในคนๆเดียว เขาก็จะรวบกัน อย่างโรงงานนั้น คนงานไปเช้าเย็นกลับ บ้านใครบ้านมัน แต่บนนั้นมันไม่มีที่พอ

ดังนั้นงานของส่วนที่คุณจะทำ มันรวบไปไว้กับ "ช่างไฟ" ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของบ.แท่นขุด ซึ่งคุณคงอ่านธรรมชาติของบ.พวกนี้แล้วว่า ช่างไฟตัวจริงมันเป็นฝรั่งซะเป็นส่วนใหญ่ ลูกมือถึงจะจ้างคนท้องถิ่น แต่งานช่างไฟมันก็ไม่ได้ไฮเทคอย่างเดียว อย่างที่คุณอยากจะทำ มันรวมไปหมดตั้งแต่โลเทค เปลี่ยนหลอดไฟ ซ่อมเตาอบ ไปยันระบบควบคุมการลอยตัวของแท่น ซึ่งโคตรๆไฮเทค (คุณคงทราบดีว่าไฮเทคขนาดไหน)

ถ้าคุณอยากทำตรงนี้ คุณก็ต้องมาเป็นลูกมือช่างไฟที่นี่ โดยสมัครได้สองทางคือ บ.แท่นโดยตรง หรือ ผ่านานยหน้าค้าแรงงาน รายชื่อทั้ง 2 พวก มีให้ดาวโหลดในห้องสมุดของผม คราวนี้คุณอาจจะต้องไปเริ่มจากช่างไฟของแท่นบนบกเสียก่อน พอรู้ระบบอะไรต่อมิอะไรแล้วค่อยลงทะเล โดยมากขั้นตอนการเรียนรู้มันเป็นอย่างนั้น

นั่นคือส่วนของแท่นเจาะสำรวจ แต่มันจะมีแท่นอีกแบบหนึ่งที่เป็นแท่นผลิตอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นของบ.น้ำมัน คุณสามารถสมัครกับบ.น้ำมันได้โดยตรง หรือ ผ่านบ.นายหน้าอย่างที่แนะนำไว้แล้ว

อีกทางที่สามารถไปได้คือ คุณไปอยู่กับบ.ที่สร้างแท่น หรือ platform คือเป็น construction company รายชื่อก็อยู่ในที่ดาวโหลดนั้นแหละ แนวคร่าวๆคือ คุณไปเป็นวิศวกรออกแบบแท่น หรือ platform สัก 4-5 ปี จนรู้ว่าส่วนของเครื่องมือวัดคุมบนนั้นมันทำงานอย่างไรอยู่ตรงไหน เสร็จแล้วก็ลาออกมาสมัครกับ บ.น้ำมัน หรือ บ.แท่นโดยตรง คุณก็จะมีภาษีดีขึ้น เพราะคุณเคยออกแบบสร้างมันมากับมือ

ความก้าวหน้า ก็ต้องบอกว่า ไปได้ดีทีเดียวนะครับ ไปได้ถึงวิศวกรใหญ่ที่จะคุมทุกอย่างของแท่นได้เลย ขอให้คุณมีความสามารถ หรือถ้าคุณรู้จริงเกียวกับระบบบนนั้นจากบ.ออกแบบสร้าง คุณก็อาจจะ go inter ไปอยู่สาขาของบ. หรือ แท่น ในต่างประเทศได้เหมือนกัน ทั้งนี้และทั้งนั้น ขึ้นกับฝีมือและความสามารถของคุณ ส่วนค่าตอบแทน ผมว่าเริ่มต้นคงไม่เลวนั้น ยกเว้นคุณจะไปทำผ่านนายหน้าซึ่งจะดดนกดค่าแรงนิดนึง แต่ถ้าคุณไม่คิดเล็กคิดน้อย หรือมีภาระทางบ้านต้องรับผิดชอบ ผมว่าคุณอย่าเพิ่งเอาตรงนี้มาใส่ในสมการเลยครับ หางานที่ตรงที่ใช่ไว้ก่อน น้อยกว่าเพื่อนร่วมรุ่นนิดหน่อย 20-30% ไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไร เรามีเข็มทิศของเรา อยากให้เด็กรุ่นใหม่ทุกคนมีเข็มทิศเหมือนพวกคุณ ถามๆมาแต่ล่ะคนว่าจบแล้วอยากทำอะไร ตอบว่า ไมรู้ซะเยอะ ... เฮ้อ ...

ทุกหนทางนั้น ใช้เวลา และความอดทนนะครับ ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ผมใช้เวลา 20 กว่าปี ก็ยังไม่เรียกว่าสำเร็จเลยครับ แต่ตราบใดที่คุณตั้งเข็มทิศไว้แล้ว และคุณกัดไม่ปล่อย เมื่อนั้น ถึงแม้คุณไปไม่ถึงแต่คุณก็ไปได้ถูกทางและไปได้ไกลจากจุดที่คุณเริ่มต้นเดินทางล่ะครับ

ปล. บนนั้นไม่มีใครเป็นพระเอกนะครับ แม้แต่คนปูเตียง ล้างจ้าน พวกเขาก็คือพระเอกเช่นกันกับวิศวกร

================

ไม่ทราบว่าเราอยู่วงการเดียวกันหรือเปล่าครับ ผมก็ทำงาน offshore เช่นกัน ต่างกันตรงที่ ผมอยู่ supply vessel ครับ เป็น engineer ประจำเรือครับ รับของส่งของให้พวกพี่ประจำ ประสบการณ์ทำงานของผม ก็ประมาณ 6 ปีครับที่อยู่เรือ แรกเริ่มก็อยู่เรือสินค้าเดินทะเลระหว่างประเทศ มาอยู่เรือ offshore ได้ประมาณปีแล้วครับ ตำแหน่งผมตอนนี้คือ second engineer ครับ เรียนมาทางด้าน marine engineering โดยตรง

ผมขอรบกวนถามพี่ว่า

1. ผมอายุ 29 จากสายงานที่ผมทำอยู่ในตอนนี้ ผมสามารถ apply เข้าไปอยู่ drillng rig, fso, fpso ได้หรือไม่ครับ
2. ถ้าได้ผมจะต้องเริ่มจากตรงไหนดีครับ
3. ในความคิดของพี่ พี่ว่าอยู่เรือ ดีกว่า อยู่แท่นหรือเปล่าครับ ผมทำงานมาหลายปี เงินเดือนผมก็หลักหกแล้วครับ ผมควรจะเปลี่ยนดีหรือไม่ครับ

ผมพยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอด เพราะผมทำงานกับ rig ก็อยากจะรู้ว่าบนนั้นเขาทำงานกันอย่างไร จนได้มาเจอblogของพี่เนี่ยครับ ทำให้ผมเข้าให้มากขึ้น บ่อยครั้งครับที่ผมต้องมีปัญหาทะเลาะกับ rigเรื่อง cargo จะมีปัญหาเรื่อง mud,cement บ่อย เคยสงสัยครับว่า mud,cement มันจะเอาไปทำอะไร พวกผมเรียก mud ว่า idiot cargo ครับ เพราะมันสร้างปัญหาและความเหนื่อยยากให้ผมมาก และผมก็รู้แล้วว่ามันสำคัญมากๆ

ขอบคุณสำหรับ blog ดีๆนะครับ หวังว่าเราคงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และอาจจะขอความรู้จากพี่ในบางโอกาสครับ

เดี๋ยวอาทิตย์หน้าผมก็ต้องกลับไปลงเรือแล้ว ตอนนี้ ผมทำอยู่ Indian oil field ครับ kakinada oil field มันโหดร้ายมากสำหรับการทำงานใน India ผมอยากทำในไทยมากกว่า PTTEP สุดยอดครับ การบริหารจัดการดีมาก


เข้าไปอยู่ drillng rig, fso, fpso ได้หรือไม่ ได้แน่นอนครับ เพราะคุณจบมาทาง marine engineering ถ้าเป็น drilling rig ตำแหน่งที่คุณมองคือ barge engineer ซึ่งต่อไปก็จะเป็น barge caption หรือ barge master ซึ่งก็เทียบเท่ากัปตันดีๆนี่เอง ส่วน FSO หรือ FPSO มันคือเรือดีๆนี่เอง ตำแหน่งต่างๆมันก็เหมือนเรือทั่วไปเลยครับ ทำได้แน่นอน คุณก็ต้องสมัครไปที่บ.แท่นเจาะ ถ้ากรณี drilling rig หรือสมัครไปที่ บ.น้ำมัน ในกรณี FSO หรือ FPSO เพราะ โดยมาก บ.น้ำมันเป็นเจ้าของ

เริ่มจากตรงไหนดีครับ เริ่มจากหาชื่อบ.แท่นเจาะ หาชื่อบ.น้ำมัน เป้าหมายให้ได้มากที่สุด เขียนใบสมัครไป ก็เท่านั้นเองครับ

อยู่เรือ ดีกว่า อยู่แท่น นานาจิตตังน่ะครับ ถามผม ผมก็ว่าอยู่แท่นดีกว่า เหตุผลง่ายๆคือ ผมมาววววเรือง่ายมาก อ้วกแตกอ้วกแตนทุกทีที่ลงเรือ แล้วก็ผมมีครอบครัวแล้ว อยู่แท่นเวลามันแน่นอนกว่าและกะๆนึงจะสั้นกว่า ส่วนเรืองเงินเดือนนั้น มันได้อย่างเสียอย่าง ถ้าเขาต้องเอาคุณไปรอนแรมเป็นเดือนๆบนเรือเขาก็ต้องจ่ายมากกว่า แต่เงินเดือนหกหลัก กับ อายุ 29 ในวงการเราเป็นเรื่องธรรมดาๆครับสำหรับคนที่จบมาเฉพาะทางอย่างพวกคุณ วิศวปิโตรฯ หรือ นักธรณี แต่มันก็ไม่มากเท่าที่ถ้าคุณจะไปเดินเรือ liner ข้ามมหาสมุทร อย่างนั้นมันก็มากกว่าพวกผมอยู่แล้ว แต่งานมันก็ไม่เหมือนกันนี่นา จริงไหมครับ

mud,cement มันจะเอาไปทำอะไร เข้าไปดาวโหลดบทที่ 2 กับ 3 ในห้องสมุดผมเลยครับ เอาไปอ่านตอนเดินเรือหนต่อไป คุณจะได้คำตอบแน่ๆ

เรียก mud ว่า idiot cargo ครับ เพราะมันสร้างปัญหาและความเหนื่อยยากให้ผมมาก ฮะฮ่า เจอคู่กรณีแล้ว ผมกำลังรับผิดชอบเรื่องนี้อยู่พอดี ผมก็ปวดกระบาลกับมันพอๆกับคุณนั่นแหละ หนก่อนก็ cement หาย เร็วๆนี้ base oil หายไป 50 m3 เฮ้อ ... จับมือใครดมไม่ได้ ... ครั้งหน้า เรือลำไหนไม่มีมิเตอร์วัด base oil ไม่ให้งาน อิอิ

มันโหดร้ายมากสำหรับการทำงานใน India คุณรู้ไหมว่าผมนี่แหละ เรียกอินเดียเป็นบ้านหลังที่สองของผม เพราะผมไป(ตกระกำลำบาก)อยู่ที่นั้นนานมากตอนหนุ่มๆ แต่พอมองย้อนหลังกลับไป มันคือโรงเรียนที่ดี ที่ผมไม่มีวันลืม ตอนนั้นผมอยู่ bombay high (ในส่วนของทะเล บนบกก็หลาย field แต่คุณคงไม่รู้จัก)

PTTEP สุดยอดครับ การบริหารจัดการดีมาก โอเคเลย เดี๋ยวเจอคนสผ.จะบอกให้

ไม่ว่าคุณจะเลือกทำอะไรก็ขอให้ทำให้ดีที่สุดก็แล้วกันนะครับ ...

อ่านต่อเลือกคลิ๊กกันเลยครับ
=> FAQ #1 FAQ #2 FAQ #3 FAQ #4 FAQ #5 FAQ #6 FAQ #7 FAQ #8 FAQ #9 FAQ #10 FAQ #11
FAQ #12 FAQ #13

ห้องสมุดเล็กๆของผม <=== คลิ๊ก
รวบรวมตำราการขุดเจาะ คลิ๊ปการทำงานในบางตำแหน่ง แบบประเมินความเหมาะสมกับงานในสนามเบื้องต้น วิธีเขียน resume ที่ไม่โดนโยนทิ้งตะกร้า รายชื่อบริษัทฯในวงการ และ อื่นๆอีกมากมาย


มีคลิปการทำงานของบางตำแหน่งให้ดูเป็นน้ำจิ้ม มีตำราวิศวกรการขุดเจาะให้ดาว์โหลดเป็นบทๆ มีความหวังดีและเอื้ออาทรเสมอ ถ้ารู้สึกขอบคุณ ไม่ต้องตอบแทนอะไรผม แค่คุณจะแบ่งปันสิ่งที่คุณมีให้คนอื่นต่อไป ผมก็รู้สึกว่าคุณได้ตอบแทนผมแล้ว


Create Date : 22 พฤษภาคม 2552
Last Update : 12 เมษายน 2556 15:45:09 น. 33 comments
Counter : 4766 Pageviews.

 
แวะมาทักทายค่ะ


โดย: โยเกิตมะนาว วันที่: 22 พฤษภาคม 2552 เวลา:17:21:23 น.  

 
หวัดดีค่ะพี่นก น้องนพเองนะคะ จำได้รึเปล่าหว่า --"(แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำSLBแล้วล่ะ T_T พี่นกคงทราบข่าวแล้วมั๊ง)

บังเอิญว่านพsearchหาชื่อ บริษัทในscopeงานเราอ่ะค่ะก้อหลุดผลัวะมาที่blogพี่นกซะงั้น^^ ตอนแรกๆก้ออ่านๆเอาความรู้ที่รู้มั่งไม่รู้มากซึ่งสนุกและมีประโยชน์มากมายเลยค่ะ^^ พี่นกน่ารักมาก นพรู้ว่าพี่มีงานเยอะแยะเหลือเกิน ก้อยังสละเวลามาให้คำปรึกษาน้องๆและผู้สนใจงานด้านนี้มากมายๆ นับถือเลยค่ะ^^

หลังๆก้อเลยไปอ่านเรื่องของน้องเฟิร์น...พี่นกเป็นคุณพ่อและสามีที่น่ารักมากค่ะ น้ำตามันไหลออกมาเองโดยไม่รู้ตัวT_T เข้าใจถึงความรักที่พี่มีต่อลูกๆมากมายเหลือเกิน นพว่าน้องเฟิร์นและน้องภัทรไม่ต้องอ่านblogนี้ก้อรับรู้ได้อยู่แล้วแน่ๆค่ะ^^

ตอนนี้นพก้อกำลังสู้ๆอยู่ค่ะ (หางานๆ) ขอสมัครเป็นแฟนคลับและติดตามอ่านต่อไปนะคะ^^ จะคอยเป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ^^ สู้ๆเช่นกันนะคะ รักษาสุขภาพด้วยค่ะ^^


โดย: Nop^^ IP: 124.122.234.109 วันที่: 24 พฤษภาคม 2552 เวลา:1:37:47 น.  

 
พี่นกครับ ผม ติดตามและเคยรบกวนถามคำถามคุณพี่มาตั้งแต่ Faq#1 ตอนนี้ ออกลูกออกหลานมาเป็น Faq#6 แล้ว หุๆ

ขอให้สุขภาพแข็งเเรงทั้งครอบครัวนะครับ

Ps. สุดท้าย ผมเลือกเรียนต่อตามที่คุณพี่แนะนำครับ แล้วถ้ามีปัญหาที่ค้นหาไม่ได้ ขอรบกวนถามคุณพี่ อีกสัหรอบนะครับ

ขอบคุณครับ


โดย: Prince IP: 10.29.4.22, 203.144.139.234 วันที่: 24 พฤษภาคม 2552 เวลา:14:04:26 น.  

 
รบกวนนิดนึงได้ไหมคะ

เวลาพิมพ์ช่วยเคาะ enter สักนิด

เพราะที่พี่ตอบอ่านยากมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ


โดย: เป็นกำลังใจให้นะคะ IP: 124.120.176.141 วันที่: 30 พฤษภาคม 2552 เวลา:0:46:09 น.  

 
ครับผม มีคนบอกว่าให้เคาะ enter บ่อยๆหน่อย
รับทราบตามนั้นครับ
ดีครับ มีอะไรอยากให้ต่อเติมเสริมแต่งปรับปรุง
แนะนำติชมกันมาได้ครับ


โดย: พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร (Nong Fern Daddy ) วันที่: 30 พฤษภาคม 2552 เวลา:16:36:23 น.  

 
พอดีผมกำลังจะเรียนจบในเดือนตุลาคมนี้ จากสาขาวิศวกรรมต่อเรือและเครื่อกลเรือ คือผมอยากเรียนต่อในโครงการ drilling school ผมจะต้องทำอย่างไรบ้าง ผมยังไม่ค่อยมีข้อมูล จึงขอรบกวนให้พี่ช่วยหาข้อมูลให้หน่อย ขอบคุณคับ


โดย: ต่อเรือ IP: 112.142.83.86 วันที่: 1 กันยายน 2552 เวลา:17:16:34 น.  

 
ตอบคุณ ต่อเรือ

ตามลิงค์ไปเลยครับ

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=nong-fern-daddy&month=02-08-2009&group=7&gblog=33


โดย: พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร (Nong Fern Daddy ) วันที่: 4 กันยายน 2552 เวลา:9:53:35 น.  

 
หวัดีครับพี่นก
ผมทำงานด้าน Instrument Construction ( Supervisor ) มีประสบการณ์ ประมาณ 10 ปี ผมกำลังหางานด้านนี้อยู่ พี่นกพอมีคำแนะนำหรือคำปรึกษาให้ผมบ้างไหมครับ ผมทำงานเป็น Contrac ครับ ผมได้อ่านคำบรรยายแต่ละข้อทั้งหมดของพี่แล้ว มีประโยชน์ต่อผมมากเลยครับ ท้ายสุดขอให้พี่และครอบครัวพี่มีความสุขมากนะครับ


โดย: Thayong S. IP: 119.42.101.69 วันที่: 22 พฤศจิกายน 2552 เวลา:12:46:30 น.  

 
ตอบคุณ Thayong แล้วที่ FAQ#11 นะครับ ตามลิงค์ไปโลด

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=nong-fern-daddy&month=20-10-2009&group=7&gblog=35


โดย: พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร (Nong Fern Daddy ) วันที่: 24 พฤศจิกายน 2552 เวลา:11:06:44 น.  

 
ผมกำลังจะสอบเข้า ปิโตรเลียม ป.โทจุฬาครับ พอจะทราบไหมครับว่าต้องสอบวัดความรู้อะไรบ้างนอกจาก CU-TEP ครับ


โดย: โอ๊ด IP: 202.149.110.150 วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:16:18:03 น.  

 
ตอบ คุณโอ๊ต - ไม่ทราบจริงๆครับ เพราะผมก็ไม่เคยสอบเข้าที่นั่น (ผมว่าในเว็บไซด์ของคณะฯน่าจะมีบอกนะครับ)


โดย: พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร (Nong Fern Daddy ) วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:17:30:43 น.  

 
สวัสดีครับพี่

ผมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับงานในสาย offshore ซึ่งอยากจะรบกวนถามพี่นิดนึงครับ

คือผมจบป.ตรี วิศวะเคมีมา และคิดจะเรียนต่อทางด้าน offshore (ที่เล็งไว้ตอนนี้คือ OTM ของ AIT) โดยจากความเข้าใจคิดว่าน่าจะเรียนเน้นหนักไปทาง oil & gas management เนื่องจากอีก 2 สาขาไม่มีพื้นฐานจาก ป.ตรีมาเลย คำถามก็คือ พี่พอจะให้คำแนะนำได้มั้ยครับว่าถ้าผมเรียนในด้านนี้ จบออกมาแล้วจะต้องทำงานในลักษณะไหน (นั่งโต๊ะหรือไปอยู่แท่น) แล้วตลาดแรงงานของคนที่เรียนด้านนี้ ยังเป็นที่ต้องการอยู่หรือไม่ (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ)

ขอบคุณครับ


โดย: oat IP: 203.144.144.164 วันที่: 1 มีนาคม 2553 เวลา:2:51:15 น.  

 
ตอบคุณ oat - จบออกมาแล้วจะต้องทำงานในลักษณะไหน (นั่งโต๊ะหรือไปอยู่แท่น) - ได้ที่สองอย่างแหละครับ แต่ถ้าดูจากชื่อคอร์สแล้วน่าจะออกไปทางการบริหารบนฝั่งมากกว่า ของอีเมล์มาที่ nnookk@hotmail.com นะครับ จะส่งต่อให้ไส้ศึกที่กำลังเรียนที่นั่นช่วยไขความกระจ่างให้ คงจะให้หวยได้แม่นกว่าผม

ยังเป็นที่ต้องการอยู่หรือไม่ (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ) - ในความคิดผมนะครับ ผมว่ายังเป็นที่ต้องการอยู่ อย่างน้อยก็ในแง่ที่ว่า ทรัพยากรธรรมชาติบนบกพวกมนุษย์เราๆก็สำรวจและถลุงกันจนหมดแล้ว ก็มีแต่ในและใต้ทะเลที่แหละที่ยังเป็นแหล่งต่อไป ดังนั้น OTM หรือ อะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวกับ offshore - marine - sea ฯลฯ ทั้งเรื่องคนและเทคโนฯ ก็ยังคงเป็นที่ต้องการอยู่นะครับ


โดย: พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร (Nong Fern Daddy ) วันที่: 1 มีนาคม 2553 เวลา:13:27:36 น.  

 
สวัสดีครับพี่นก

ผมได้อ่านblogของพี่มาระยะหนึ่งแล้ว(เยอะจริงๆ) มีประโยชน์กับผมมากเลยนะครับเพราะผมอยากทำงานในสายoffshoreมาก(ความฝันตั้งแต่เลือกเรียนวิศวะเลย..55) คือผมเคยสมัครเรียนotmไป(เทอมสิงหาปีนี้เองoil and gas management)แต่เสียดายที่ี่ไม่ได้เรียนเพราะผมได้งานก่อนก็เลยเลือกทำงาน(ตอนนี้ผมทำงานทางด้านcontrol and instrument ที่โรงไฟฟ้าในระยอง)ตอนนี้ผมพร้อมที่จะเรียนแล้วแต่ผมคิดว่าผมจะสมัคร gepg ของ ait ในปีหน้าครับแต่ผมก็ยังลังเลว่าหลักสูตร oil and gas management กับ gepg ลักษณะของงานนั้นต่างกันในลักษณะไหนครับ แล้วสองหลักสูตรนี้พี่แนะนำอันไหนครับ

ขอบคุณมากครับ ผมขอชื่นชมblogของพี่เลยว่าดีมากๆเป็นแนวทางในหลายๆอย่างได้ดีเลยสำหรับผู้ที่สนใจทางด้านoffshore

ลืมบอกไปว่าผมเป็นเพื่อนของN.TUMครับ


โดย: POR IP: 222.123.110.200 วันที่: 21 ธันวาคม 2553 เวลา:21:55:22 น.  

 
ตอบคุณ POR - ขึ้นกับว่าคุณอยากทำอะไร ถ้าอยากทำงานสนาม งานเทคนิค เลือก gepg ถ้าอยากทำงานบริหาร เลือกที่มันลงท้ายว่า management มีเพื่อนๆที่ยินดีตอบคำถามเกี่ยวกับหลักสูตรใน AIT ครับ ตามอีเมล์นี้ไปได้เลย บอกว่าได้มาจากบล๊อกผมก็ได้ครับ เพื่อนๆอาสาตอบให้

eakarin.w@gmail.com
to_mazaki@hotmail.com
vivacity2004@hotmail.com
tiam_tme22@hotmail.com

โชคดีนะครับ


โดย: พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร (Nong Fern Daddy ) วันที่: 23 ธันวาคม 2553 เวลา:19:44:44 น.  

 
สวัสดีครับพี่ ผมได้อ่านบล็อกของมีมาแล้วเลยอยากจะปรึกษาเรื่องแผนการเรียนน่ะครับ คือตอนนี้ผมอยู่ ปวช.3 อิเล้กทรอนิกส์ ผมสนใจที่จะเรียนด้านวิศวะปิโตรเลียมมาก แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดีทั้งเรื่องแนวข้อสอบต้องติวอะไรบ้างหรือมหาลัยฯที่เรียนเป็นที่ไหนบ้าง(ผมอยู่ จ.สงขลาไม่ทราบว่ามีมหาลัยฯไหนในภาคใต้ที่เปิดสอนบ้าง) เลยอยากจะขอคำแนะนำจากพี่ครับ


โดย: Ayid IP: 113.53.11.6 วันที่: 17 มิถุนายน 2554 เวลา:22:33:38 น.  

 
Ayid ....

ตอบให้แล้วใน FAQ 22 นะครับตามลิงค์ไปได้เลย

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=nong-fern-daddy&month=20-06-2011&group=6&gblog=83


โดย: พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร (Nong Fern Daddy ) วันที่: 20 มิถุนายน 2554 เวลา:10:03:52 น.  

 
สวัสดค่ะ ^_^
หนูอยากปรึกษาพี่เรื่องเรียนต่ออะคะ
ตอนนี้หนูกำลังเรียนอยู่ปี4 ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร เกรดก็ประมาณ 3.6x แล้วอยากจะเรียนต่อวิทยาลัยปิโตร-จุฬา อยากทราบว่าถ้าหนูเข้าเรียนทางปิโตรเลี่ยม หนูจะสามารถเรียนไปรอดมั้ยคะ มันตรงกับที่หนูเรียนเคมีมากมั้ย และการเรียนปิโตรเลียมหนูสามารถไปทำงานที่แท่นขุดเจาะได้มั้ยคะ
การเรียนปิโตรเลียมกับปิโตรเคมี จบออกมาแล้วอย่างไหนเงินเดือนมากกว่ากันคะ ขอโทษนะคะที่ต้องพูดเรื่องเงินแต่ตอนนี้อยู่ในช่วงหาข้อมูลเพื่อการตัดสินใจค่ะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ ^___^


โดย: น้องอัง IP: 202.12.97.111 วันที่: 1 กันยายน 2555 เวลา:9:26:14 น.  

 
น้องอัง - วิทยาลัยปิโตรของจุฬา ตรงกับวุฒิที่หนูมีที่สุดแล้วครับ ถ้า 3.6x อย่างหนูเรียนไปไม่รอดแล้วแมวที่ไหนมันจะเรียนรอดล่ะครับ

แต่ที่นั่นเขาเน้น down stream ครับ คือนับจากโรงกลั่นขึ้นมา รวมไปถึงปิโตรเคมีทุกชนิด

แต่งานของพวกผมๆที่ทำอยู่เรียกว่า up stream ทางต้นน้ำ ว่ากันตั้งแต่ในชั้นหินขึ้นมาจนถึงหน้าโรงกลั่น

ถ้าหนูอยากทำ up stream จริงๆ ผมแนะให้ต่อวศบปิโตรครับ ที่จุฬาก็มี แต่ไม่ทราบว่าเขารับตรีวิทยาไหม ไม่งั้นอีกทางก็ไปต่อต่างประเทศเลย หรือไม่ก็สุรนารีก็มีครับ แต่จะเรียกว่า geo tech อะไรประมาณนี้น่ะ

เรื่องเงินเดือน ฝั่ง upstream ดีกว่าครับ

ถามว่าถ้าเข้าวิทยาบัยปิโตรจุฬาแล้วจะไปทำงานบนแท่นขุดได้ไหม มันก็ไม่ถึงกับไม่ได้ แต่มันไม่ตรงและยากหน่อย ผมว่าหนูเบนเข็มไปเรียนต่อทาง up stream ดีกว่าครับ ชัวร์ดี


โดย: Nong fern daddy (Nong Fern Daddy ) วันที่: 1 กันยายน 2555 เวลา:10:45:51 น.  

 
ตอนนี้ เป็น Assistance barge engineer ครับ อยู่แถวทะเลจีนใต้ ทำงานให้ประเทศเพื่อนบ้านเราครับ อยากทราบว่า ช่วงนี้ ในบ้านเรามี FPSO หรือ FSO เข้ามาใหม่ไหมครับ ถ้าเปรียบเที่ยบงานบน FPSO กับ Drillng rig ต่างกันมากหรือไม่ครับ เปรียบเทียบแล้วตัวไหนน่าอยู่กว่ากัน ผมมีแต่ประสบการณ์ Drilling rig เลยอยากทราบงานแนว FPSO เผื่อมีโอกาสครับ


โดย: tor cgr IP: 80.76.124.121 วันที่: 5 ตุลาคม 2555 เวลา:1:43:18 น.  

 
Tor cgr - ไม่ทราบการเคลื่อนไหวของ fpso fso เลยครับ วันๆเอาแต่ขุดหลุม ในแง่ของงาน barge ผมว่าอยู่แท่นขุดหรืออยู่ fpso ก็ไม่น่าต่างกันมากครับ ที่ผมเห็นต่างกันหน่อยอาจจะในส่วน เขาของขึ้นๆลงๆ ของแท่นขุดจะเยอะบ่อยและถี่กว่าบน fpso แต่มันก็ต้องมีงานบน fpso ที่บนแท่นขุดไม่มี


โดย: Nong fern daddy (Nong Fern Daddy ) วันที่: 5 ตุลาคม 2555 เวลา:4:45:26 น.  

 
สวัสดีครับ คุณพี่ “พ่อน้องเฟิร์น” ผมเรียนจบวิศวะเครื่องกล ทำงานที่บริษัท XXX เป็น Piping en และได้มีโอกาสติดตั้ง Pressure vessel and pump พอสมควร จากนั้น ย้ายไปบริษัท XXX ทำเกี่ยวกับงาน Painting and insulation รวมผมมีประสบการณ์ด้าน Construction 3 ปี เศษ ครับ จากนั้นผมลาออกมาเรียนต่อปริญญาโทด้านพลังงาน ตอนนี้เพิ่งจบครับ เพิ่งเริ่มทำงานเป็น Mechanical En ช่วยงานของ Project Engineer อยู่ครับ ผมมีความฝันอยากจะทำงานด้าน offshore มากครับ แต่พยายามติดต่อเพื่อสมัครงานที่ไหนๆ เค้าก็บอกว่าคุณไม่มีประสบการณ์ด้าน offshore แล้วก็ปฏิเสธทุกที่เลยแต่ผมก็ไม่ยอมแพ้นะครับ พยายามหาความรู้ด้านนี้ (แบบคนไม่มีประสบการณ์) แล้วก็ส่งประวัติไปให้เค้าพิจารณาแต่ก็ยังคงเงียบ ไม่มีการติดต่อมาเลย ผมอายุ 29 ปีแล้วครับ ผมมีเรื่องจะขอคำแนะนำครับ ว่า ผมควรจะทำยังไงบ้างเพื่อให้เข้าสู่วงการนี้ครับ (ผมอยากทำจริงๆ ขอความกรุณาด้วยนะครับ)


โดย: EnergyN IP: 58.8.83.115 วันที่: 21 ธันวาคม 2555 เวลา:10:43:51 น.  

 
EnergyN - ลองดูบ.แท่นบกบ้างหรือยังครับ มีหลายแท่นอยู่นะครับ มี great wall มี elite แล้วก็ของ pan orient หาดูรายชื่อได้จากห้องสมุดผมตอนที่หนึ่ง มีให้โหลด ลองบ.นายหน้าดูก็ได้

สำหรับผม ผมว่าเหตุผบที่บอกไม่มีประสบการณ์ offshore ใช้ได้กับบางงานเท่านั้น เช่นงานที่ต้องการคนด่วน แบบ plug n play แบบ มาม่า คือ เอาไปใช้เลย เท่านั้น ไม่ต้องเสียเวลาฝึกอบรม ซึ่งงานลักษณะนี้ มีไม่มาก และทุกบ.ก็รู้ดีว่า หาคนแบบ plug n play ยากมากๆ ดังนั้น ทุกบ.จึงต้องรับคนมาอบรมด้วยกันทั้งนั้น แต่จะปฏิเสธอย่างไรให้ดูมีเหตุผลก็มักจะเอาเหตุผลนี้บอกไว้ก่อน ผู้สมัครเถียงไม่ค่อยได้ ทั้งๆที่จริงๆอาจจะเป็นเหตุผลอื่นที่บอกไม่ถนัดปาก หรือมันโต้แย้งกันได้

ลองดูบ.แท่นบกจีน บ.นายหน้า และ บ.เซอร์วิสขนาดกลางๆเล็กๆ ทำงาน maintenance ใน workshop บนฝั่งไปก่อนก็ได้ครับ ค่อยๆก้าวไปทีล่ะขั้นๆครับ เข้ามาอยู่ใน workshop แล้วก็ค่อยๆเขยิบๆไป หาลู่ทางไปต่อจะกระโดดทีเดียวลงทะเลอาจจะยากถ้าไม่ได้มาสายตรง

เดินอ้อมสักหน่อย แต่ถ้าขยันเดิน และไม่หยุดเดิน โอกาสถึงจุดหมายมีเสมอครับ และที่แน่ๆ ถ้าขยันเดินและไม่หยุดเดิน วันนี้คุณมาไกลจากจุดเริ่มต้นเมื่อเทียบกับเมื่อวานแน่นอนครับ


โดย: Nong fern daddy (Nong Fern Daddy ) วันที่: 22 ธันวาคม 2555 เวลา:8:45:30 น.  

 
ขอบคุณมากเลยครับ คุณพี่ “พ่อน้องเฟิร์น”
รบกวนอีกครั้งครับ ระหว่าง Production engineer ของบริษัทงาน Construction (Offshore) กับ Operator ที่ทำงานบนแท่น มันเหมือนหรือว่าต่างกันครับ


โดย: EnergyN IP: 58.8.113.87 วันที่: 25 ธันวาคม 2555 เวลา:16:34:04 น.  

 
EnergyN - คนล่ะเรื่องกันเลยครับ คนล่ะงานกันครับ

Production engineer ของบริษัทงาน Construction - นั่นออกแบบสร้างแท่น ขายให้บ.น้ำมัน

Operator ที่ทำงานบนแท่น - เปิดปิดวาว์ล ซ่อมบำรุงแท่นและอุกรณ์บนแท่น ที่เกี่ยวกับหลุม


โดย: พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร (Nong Fern Daddy ) วันที่: 26 ธันวาคม 2555 เวลา:15:32:21 น.  

 
ขอขอบคุณอีกครั้งครับ

ขอให้พี่มีความสุขในช่วงปีใหม่และโชคดีตลอดทั้งปีครับ


โดย: EnergyN IP: 58.8.113.96 วันที่: 27 ธันวาคม 2555 เวลา:8:27:51 น.  

 
EnergyN - เช่นกันครับ


โดย: Nong fern daddy (Nong Fern Daddy ) วันที่: 27 ธันวาคม 2555 เวลา:12:58:07 น.  

 
รบกวนสอบถามหน่อยนะคะ อยากทราบว่า ธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม ของที่จุฬาเปิดอ่ะค่ะ จะรับเด็กวิทยาศาตร์เคมี จุฬาฯ ไหมคะ? แล้วงานที่ทำตอนจบไปเป็นงานแนวไหนอ่ะคะ? ต้องเรียนต่อ ป.เอก อีกไหม? หรือว่าแค่ ป.โท พอแล้ว พอดีหนูชอบทางสายอนินทรีย์อ่ะค่ะ เลยคิดว่าทางธรณีน่าสนใจ แต่ไม่ทราบว่าจะรับเคมีไหม


โดย: TAN IP: 115.67.38.185 วันที่: 24 มีนาคม 2556 เวลา:19:06:50 น.  

 
TAN - บอกตรงๆครับ ผมก็ไม่ทราบ เพราะผมเป็นวิศวกรไฟฟ้า แล้วหลงมาทำงานขุดเจาะ ไม่รู้เรื่องการเรียนทางธรณีแต่อย่างใด ถ้าตอบก็ต้องบอกว่าเดานะครับ

รับเด็กวิทยาศาตร์เคมี จุฬาฯ ไหมคะ? - คงต้องโทรฯถามแล้วล่ะว่าเขากำหนดรับวุฒิอะไรสาขาอะไร

งานที่ทำตอนจบไปเป็นงานแนวไหนอ่ะคะ? - เป็นนักธรณีตามบ.น้ำมัน คอยหาบริเวณที่น่าจะมีน้ำมัน วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการหยั่งธรณี(logging) หรือ เคลื่อนสั่นสะเทือน(Seismic)

ต้องเรียนต่อ ป.เอก อีกไหม? - ไม่น่าครับ


โดย: พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร (Nong Fern Daddy ) วันที่: 24 มีนาคม 2556 เวลา:19:14:45 น.  

 
ขอบคุณมากๆค่ะ ^^


โดย: TAN IP: 115.67.200.107 วันที่: 24 มีนาคม 2556 เวลา:19:28:02 น.  

 
Tan - ถ้าได้เรียนจบธรณีมาแล้วแวะมาเยี่ยมบล๊อกนะ :)


โดย: Nong fern daddy (Nong Fern Daddy ) วันที่: 24 มีนาคม 2556 เวลา:19:33:16 น.  

 
ผมเพิ่งจบวิศวอุตสาหการ แต่ อยากทำงานบริษัทน้ำมัน ผมควรเลือกเรียนสาขาไหนของ OTM ของ AIT ดีครับ ที่จะเรียนจบง่ายกว่าและหางานง่ายสำหรับผมครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ


โดย: Narong IP: 27.55.71.183 วันที่: 13 มิถุนายน 2558 เวลา:15:57:02 น.  

 
Narong - ผมยังไม่ทราบเลยครับว่า OTM ของ AIT เขาเปิดสาขาอะไร และ แต่ล่ะสาขาเรียนอะไร แต่คุ้นๆว่ามีคนเคยถามแล้ว นานมาแล้ว เลย ลืม ... แฮ่ๆ ...

แนะนำให้อ่านลิงค์นี้และลิงค์ย่อยๆให้หมดเลยนะครับ

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=nong-fern-daddy&month=27-01-2013&group=6&gblog=169

เรียนรู้จากประสบการณ์คนอื่น ทำการบ้านมากๆ จากในลิงค์ข้างบนนะครับ เหลือคำถามเท่าไร มาว่ากัน ยินดีตอบครับ


โดย: Nong fern daddy (Nong Fern Daddy ) วันที่: 15 มิถุนายน 2558 เวลา:9:02:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nong Fern Daddy
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 782 คน [?]




... Blog นี้ ...
แด่ ... แม่น้องเฟิร์นและน้องภัทร
เธอ..ผู้เปลี่ยนห้องที่มืดมิดให้สว่างไสวได้ด้วยรอยยิ้ม
เธอ..ผู้อยู่เบื้องหลังความเข้มแข็งและความสำเร็จทั้งมวล
... และ ...
เธอ ... ผู้เป็น "บ้าน" เพียงแห่งเดียวของผม

---------------------------------------------

หรือเพียง "ฝัน" ที่หาญท้าชะตาฟ้า ?

หรือจะเพียง "ศรัทธา" (ที่)ไร้ความหมาย ?

แม้จะเป็นแค่เพียง "ฝัน" จนวันตาย

แต่ผู้ชายคนนี้จะอยู่ข้างเธอ ... ตลอดไป ...

แด่ ... ลูกที่กล้าฝันของพ่อ

Friends' blogs
[Add Nong Fern Daddy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.