==== ก็แค่ผู้ชายธรรมดาๆคนหนึ่ง ที่อยากจะเป็นสามี และ เป็นพ่อให้ได้ดีกว่าที่เคยเป็นเมื่อวาน ====
Group Blog
 
All Blogs
 
FAQ #11

ผมเพิ่งจบ ป.ตรี วิศวเครื่องกล และเคยเมลล์มาถามเกี่ยวกับงานของ geologist บน rig เมื่อประมาณ 2 เดือนที่แล้ว หลังจากนั้นผมก็เริ่มดำเนินการเพื่ออาชีพในฝันด้วยการเข้ามาเรียนต่อโทในสายวิชาที่เกี่ยวข้องซึ่งก็คือ GEPG (Geosystem Exploration and Petroleum Geoengineering) ที่ AIT..........เพิ่งสอบ midterm เสร็จพอดีเลยมีโอกาสเมล์มาสอบถามพี่เพิ่มเติม

หลังจาก 2 เดือนที่ผมเข้ามาเรียนที่นี่ ความคิดผมก็เริ่มเปลี่ยนไป จากที่ตอนแรกอยากฉีกตัวเองไปทำงานสาย geologist เลย เนื่องจากผมมองว่า 4 ปีของวิศวกับ 4 ปี ธรณีวิทยา มันให้ความรู้ที่แตกต่างกันมาก ถึงแม้ผมจะมีโอกาสได้เข้าไปทำงานสาย geologist แต่ก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะมี performance ที่โดดเด่น ประกอบกับผมคิดในมุมกลับว่า ถ้าตัวผมเองเป็น manager แผนก production ผมจะเลือกใคร ระหว่างคนที่จบตรีวิศวะเคมีหรือเครื่องกลแล้วต่อโท petroleum geoengineering กับ อีกคนที่จบตรี geology แล้วต่อโททางด้าน petroleum geoengineering ผมก็คงเรื่องคนที่มีพื้นหลังเป็นวิศวะ เพราะฉะนั้น ผมเลยคิดว่าตัว manager แผนกทาง geologist เอง ก็คงจะมีความเชื่อมั่นในตัวคนที่มีพื้นหลังทางด้าน geology มากกว่า

ตอนนี้ผมเลยเปลี่ยนเป้าหมาย เลือกมุ่งไปทาง drilling เป็นอันดับ 1 แทน เพราะผมคิดว่าพื้นหลังผมจะทำให้ผมไปในสายงานนี้ได้ดีขึ้น ซึ่งบังเอิญว่าที่ AIT ปีนี้เป็นปีแรกที่มี course วิชา drill & well completion เปิดให้ลง แล้วอันดับ 2 เป็นงาน well logging ที่ผมคิดว่าผมไม่เสียเปรียบคนที่จบตรี geo มากนัก แล้วอันดับ 3 เป็นงานสาย production ผมก็เลยมีข้อสอบถามพี่ดังต่อไปนี้ครับ

1) ช่วยแนะนำ career path ของงานทางด้าน drilling engineer กับ well logging ด้วยครับ ว่าเริ่มจากตำแหน่งอะไร ควรเริ่มกับบริษัทกลุ่มไหน ทำไปซักกี่ปีจะกลายเป็นตำแหน่งอะไร อายุเท่าไหรถึงเริ่มกลับฝั่งกัน แล้วกลับมาจะทำอะไร ประมาณนี้อ่ะครับ

2) พวก short course ทางด้าน drilling ที่มหาลัยใน Australia เปิดๆกันเนี่ย (ยกตัวอย่างเช่นของ UNSW //www.petrol.unsw.edu.au/in_house_available_courses.html ) มันหวังผลได้มากขนาดไหนครับ ทั้งในแง่ของความรู้ที่จะนำไปใช้งานจริง และในแง่ของการแข่งขันในการได้ตำแหน่งงาน

3) ผมอยากทราบเกี่ยวกับ directional drilling ครับว่า ปัจจุบันมันมีความสำคัญกับวงการมากขนาดไหน คิดเป็นประมาณกี่เปอร์เซนต์ของหลุมทั้งหมด และการอ่านค่าตำแหน่งและ มุม inclination & azimuth ใครเป็นคนทำครับ

อ่านจะเกริ่นยาวหน่อย(โทษทีนะครับ - -") แต่ผมคิดว่าถ้าพี่รู้ background ผมบ้าง มันจะทำให้พี่ตอบคำถามผมง่ายขึ้น ยังไงก็รบกวนด้วยนะครับ

P.S. : ถ้าใครมีเรื่องสงสัยเกี่ยวกับการเรียนต่อในสายวิชาทางด้าน petroleum ที่ AIT ก็ส่งต่อมาให้ทางผมได้นะครับ จะพยายามช่วยแบ่งปันความรู้ครับ


เกริ่นมายาวดี ดีครับผมชอบ จะได้รู้พื้นฐานที่มาที่ไป จะได้ใบ้หวยได้แม่นขึ้น ไม่เหมือนบางคำถาม ถามมาสั้นจิ๊ดเดียว ไม่รู้จะตอบยังไง

drilling engineer vs. well logging

คืองี้ครับ drilling engineer เป็นส่วนของการสร้างหลุม(well construction) อยู่ภายใต้แผนกขุดเจาะ ส่วน well logging อยู่ในส่วนของ formation evaluation อยู่ในส่วนของ นักธรณีฟิสิกส์ ซึ่งโดยมากก็จะอยู่ภายใต้ส่วนของนักธรณีอีกทีหนึ่ง

มาว่ากันเรื่องโครงสร้างก่อน เอาแบบเป็นทางการเลยสำหรับบ.ใหญ่ๆ (ส่วนบ.เล็กๆมันก็จับฉ่ายไปหมดนั่นแหละ) แผนกขุดเจาะ แผนกธรณี แผนกวิศวกรรมแหล่ง (reservoir eng department) และ อีกหลายๆแผนก โดยมากจะเป็นสมบัติส่วนกลาง ให้หยิบยืมคนและของไปใช้ชั่วคราวหรือถาวรก็แล้วแต่ โดยส่วนงานที่เรียกว่า Asset หรือผมเปรียบเทียบง่ายๆว่า Asset นี่ภาษาทั่วไปเราๆก็เรียกว่าโปรเจคนั่นแหละ ซึ่ง Asset จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและผลผลิตจากพื้นที่สัมปทานหนึ่งๆที่กำหนดโดยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ที่เราเรียกสั้นๆว่าบล๊อก(block) นั่นแหละครับ ถ้าเป็นโปรเจคก็เหมือนกับโปรเจคพัฒนาหมู่บ้านจัดสรรขึ้นมาจากพื้นที่ว่างเปล่า จนขายหมดโครงการคนเต็มตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านได้ แล้วเจ้าของโปรเจคก็ถอนตัวออกไป ประมาณนั้น แต่กรณีของเรา Asset ไม่มีการถอนตัวออกไปจนกว่า 1. พิสูจน์ได้แน่นอนว่าบล๊อกนั้นๆ ไม่มีปิโตรฯควรค่าแก่การลงทุนพัฒนา ไม่คุ้ม ว่างั้นเหอะ หรือ 2. คุ้ม และ ดูดจ๊วบๆขึ้นมาจนหมดแล้ว ก็ปิด Asset (ปิดโปรเจค)ไป

คราวนี้ Asset จะมีคนส่วนหนึ่งเป็นคนของ Asset เอง (โดยมากเป็นนักธรณี) แต่คนที่ทำงานให้ Asset ส่วนใหญ่จะถูกยืมมาจากส่วนกลาง ซึ่งก็คือ แผนกขุดเจาะ แผนกธรณี แผนกวิศวกรรมแหล่งผลิต ฯลฯ คนกลุ่มหลังนี้จะเหมือนมีผู้บังคับบัญชา 2 คน คนนึงคือผจก.แผนกต้นสังกัดตัวเอง อีกคนนึ่งคือ ผจก.asset เนื่องจาก asset เป็นเจ้าของเงิน จะใช้จ่ายอะไรอย่างไๆรก็ต้องแล้วแต่ asset ดังนั้นส่วนใหญ่ก็ต้องฟังทางนั้น แต่ก็ต้องฟังทางแผนกสนับสนุนด้วย ว่าไอ้ที่อยากจะทำนะ ทำได้ไหม เสี่ยงแค่ไหน ยังไง แต่ถ้ายังจะรั้นทำก็เรื่องของเขา เขาเป็นเจ้าของเงิน แต่โดยมากก็ไม่รั้นหรอกครับ เราต้องเชื่อความเป็นมืออาชีพของแผนกสนับสนุน ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วอยากทำอะไรทำได้หมดเมื่อไรกันครับ

ในบ.ใหญ่ๆ จะมีหลายพื้นที่สัมประทาน หลาย asset ถ้า asset ใหญ่มีผลผลิตเยอะ มีศักยภาพดี เสียงก็จะดัง(เป็นธรรมดา) ถ้า asset เล็กๆ แถมโดนปรามาสว่าขุดไปก็ไม่เจออะไร เสียงก็อ่อย จะขออะไรจากแผนกสนับสนุนก็ต้องรอเหลือกำลังสนับสนุน (drilling eng, แท่น นักธรณี วิศวกรแหล่งสำรวจ เรือ ฯลฯ) จาก asset ใหญ่ๆ ชีวิตมันก็งี้แหละครับ เหมือนโครงการสร้างบ้านจัดสรรไม่มีผิด โครงการไหนดูท่ากำไร ขายได้หมด ขออะไรจากบ.แม่ แม่ก็ให้ โครงการไหนแววเจ๊ง แม่ก็บอก รอไว้ก่อนนะลูก .... ฮ่าๆ

จริงๆคุณถามมานิดเดียว แต่ผมอยากตอบยาว เพราะจะได้เห็นภาพกว้าง

คราวนี้มาดูเรื่องการทำงาน โดยมากแผนกขุดเจาะนั้นเป็นหัวใจของบ.น้ำมัน บ.น้ำมันขนาดใหญ่จะมีแผนกนี้เป็นของตัวเอง เอาไว้ให้บริการขุดกับ asset ต่างๆภายในบ. ดังนั้น career ในบ.น้ำมันก็จะเริ่มตรงนี้ แบ่งแยกเป็นสองสายว่าจะเป็นแผนกบุ่น (engineer - วิศวกรออกแบบหลุม) หรือ บู๊ (operation - วิศวกรคุมงาน) ไปจนสุดเป็น Drilling manager ถ้าไม่อยากเป็น drilling manager เพราะบริหารไม่เป็นหรือไม่อยากปวดกระบาลกับการเมืองภายใน(ที่ไหนๆก็มี) ก็สามารถเป็นเป็น วิศวกรเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญ อวุโสก็ได้ เชี่ยวๆหน่อย ก็ลาออกมาเป็นมือปืนรับจ้าง อย่างที่เราเรียกว่า contractor รับค่าแรงรายวัน วันล่ะ หลักพันเหรียญ สบายจะตายไป

คราวนี้ ในบางประเทศ บางพื้นที่ บ.น้ำมันเล็กๆ ไม่อยากมีแผนกขุดเป็นของตัวเอง ก็ไป outsource คือจ้างบ.ขุดโดยเฉพาะก็มี คุณก็สามารถไปทำกับบ.กลุ่มนี้ได้ แต่ผมยังไม่เห็นมีใครที่ไหนใช้บริการแบบนี้ในบ้านเรา ที่เห็นก็มีแต่ประเทศออสเตรเลียที่มีบ.รับจ้างขุดโดยเฉพาะ แล้วบ.น้ำมันก็ไปจ้างบ.พวกนี้มาขุดให้ ซึ่งแน่นอน บ.พวกนี้มี drilling eng ก็เหมือนบ.ทำบ้านจัดสรรที่ไม่มีผู้รับเหมาเป็นลูกจ้างประจำ ก็ต้องไปเอาผู้รับเหมาภายนอกมาสร้างเป็นหลังๆไป

คราวนี้มาว่าเรื่อง well logging โดยมากบ.น้ำมันไม่มีแผนกนี้เป็นของตัวเองครับ จ้างบ.ที่เรียกว่า service company มาทำการ logging แล้วเอาผลที่ได้มาใช้งานครับ ถ้าคุณอยากเป็น well logging eng (เหมือนผมเมื่อ 20 ปีก่อน) ก็ต้องไปทำกับบ.service ครับ เช่น Schlumberger Halliburton weatherford และอีกหลายที่ ส่วน career path ก็คือ เป็นผู้บริหารในบ.service เหล่านั้น

บางที่ บ.service ใหญ่ๆเหล่านี้มีให้บริการหลายๆอย่าง จึงมีบางบ.service เอาหลายๆอย่างมารวมกันแล้วขายเป็น Package ไปเลย รวมถึงการขุดหลุมให้ด้วย ดังนั้น ข้อดีของบ.service ใหญ่ๆ ก็คือ คุณมีอะไรให้เล่นให้ทำเยอะ (ถ้าคุณเก่งนะ)

ส่วน well logging ใน บ. น้ำมัน ทำอะไรกัน - โดยมากก็คุม บ.service ที่จ้างมาอีกทีนึง เอาข้อมูลมาตรวจสอบและใช้งานเท่านั้นแหละครับ โดยมากจะเป็นหน้าที่ของนักธรณีฟิสิกส์ครับ ความก้าวหน้าก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนของแผนกส่วนกลางของนักธรณี หรือเป็นคนของ asset ถ้าคนของ asset career path ก็ไปโน้น asset manager (ปวดกระบาลแน่ๆ การเมืองเยอะ) ถ้าเป็นคนของแผนกธรณีส่วนกลาง ก็จะไปเป็น ผจก.แผนกนักธรณีนั่นแหละ ทั้งสองตำแหน่งก็ขึ้นไปเป็น AVP, VP, P (President) ได้เหมือนกัน (ถ้าจะไปให้ถึงนะ ฮ่าๆ)

ส่วนเรื่องความลังเลโดยรวมของคุณ ระหว่าง วิศวกรรมกร กับ นักธรณี ผมไม่มีคำตอบหรอกครับ ลังเลต่อไปเถอะครับ แต่อย่าลังเลนาน ถึงเวลาเลือกแล้วเลือกสักอย่าง อย่าเหยียบเรือสองแคม แล้วทำให้ดีที่สุดในอย่างที่เลือก คุณก็จะประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้นครับ

short course

คอร์สพวกนี้ให้ผลทางด้านการทำงานจริงๆมากกว่าครับ ทำให้รู้ถึงวิธีการขุดแบบต่างๆเทคนิคใหม่ๆ โดยมากบ.น้ำมันจะส่งวิศวกรตัวเองไปเรียนรู้(เด็กใหม่) หรือ เพิ่มเติมวิทยายุทธ (เป็นบ้างแล้ว) ส่วนผลในการแข่งขันหางานทำ ผมว่ายังไม่ค่อยมีเท่าไร และโดยมากคอร์สพวกนี้แพงมากๆครับ คนจัดคอร์สเขาไม่ได้เอาไว้ขายคนทั่วๆ เขาเอาไว้ขายบ.น้ำมัน ขนาดเบาะๆ คอร์สขนาด 5 วัน ก็ราวๆ 4000-5000 เหรียญต่อคนแล้วครับ แต้มต่อในการหางานโดยมากเป็นเรื่องของประสบการณ์ครับ ต้องค่อยๆสะสมไปครับ เริ่มๆก็ต้องเป็น drilling eng กิ๊กก๊อกไปก่อน

directional drilling ครับว่า ปัจจุบันมันมีความสำคัญกับวงการมากขนาดไหน คิดเป็นประมาณกี่เปอร์เซนต์ของหลุมทั้งหมด และการอ่านค่าตำแหน่งและ มุม inclination & azimuth ใครเป็นคนทำครับ

สำคัญมากครับ - เกือบ 100% ครับ ที่เป็นการขุดแบบนี้ ถ้าจะตอบให้กวนแบบกำปั้นทุบดินหน่อยก็จะบอกว่า การขุดหลุมตรง (vertical) ก็เป็นงานยากนะครับ เป็น directional แบบหนึ่งที่ต้องให้ตรง เพราะถ้าขุดไปเรื่อยๆตามธรรมชาติแล้ว หลุมมันจะเอียงเป๋ไปเป๋มา ดังนั้น ขุดลงไปดิ่งๆให้ได้หลุมดิ่งๆนี่ ไม่หมูนะครับ ขอบอก ... ส่วนการอ่านค่า incl Azm เป็นหน้าที่ของ MWD eng - measurement while drilling ครับ คนๆนี้เป็นเหมือน well logging eng คือ เป็นคนของบ.service คนๆนี้จะหอบเอาอุปกรณ์ชุดๆหนึ่ง ลงไปติดไว้บนก้านเจาะ แล้วก็คอบอ่านค่า incl และ azm ให้กับ DD - directional driller อีกที DD จะเป็นคนปรับค่าต่างๆในการขุดเพื่อให้ไปได้ตามที่วิศวกรขุดเจาะฝ่ายบุ่น (คนของบ.น้ำมัน) เขียนไว้บนกระดาษ(คอมพิวเตอร์) ถ้าขุดไปไม่ได้ทิศทาง ทั้ง MWD และ DD ก็จะโดนวิศวกรขุดเจาะฝ่ายบุ่นเบิร์ดกระโหลกเอา ไล่ออกจากแท่นเอาง่ายๆ

ฝอยมาเสียยาวเลย หวังว่าคงได้คำตอบนะครับ

ท้ายที่สุด ขอบคุณสำหรับการเสนอตัวช่วยผมในด้านให้คำปรึกษาในส่วนของ petroleum ที่ AIT (ในที่สุดก็มีผมก็ขยายสาขาไป AIT จนได้ อิอิ) ดีครับ ช่วยเหลือกัน เป็นวิทยาทาน บางทีสิ่งที่เรารู้แล้ว หรือเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อาจจะเป็นข้อมูลที่จุดประกายผลิกชีวิตของใครอีกหลายคนได้



ผมขออนุญาตถามเรื่องฝึกงานครับ ตอนนี้ผมเรียนวิศวกรรมระบบเครื่องมือวัด (instrumentation engineering) อยู่ชั้นปีที่สาม กำลังหาที่ฝึกงานครับ ซึ่งตอนนี้ส่งใบสมัครไปที่โรงแยกก๊าซ

ของปตทที่ระยองครับ ซึ่งน่าจะมีโอกาศสูงแล้วที่จะได้ฝึกงานที่นี่

แต่ผมทราบมาว่าโรงแยกก๊าซเป็นอุตสาหกรรมที่เรียกว่าปลายน้ำ ซึ่งผมตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบอยากหางานที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำครับ

ผมจึงอยากถามว่าเมื่อจบไป สถานที่ที่เราไปฝึกงานมีผลกับการพิจารณาเข้าทำงานมากน้อยเพียงใดครับ หากมีผลมากผมจะได้หาที่ฝึกงานใหม่ได้ทัน สุดท้ายผมอยากทราบว่าบริษัทกลุ่ม

service company นิยมรับเด็กฝึกงานหรือไม่ครับ ผมเกรดเฉลี่ย 2.5 toeic 600 จะพอมีลุ้นไหนครับ


ขึ้นอยู่กับผลการเรียนของคุณด้วยครับ ถ้าผลการเรียนหรู ภาษาดี มันก็ลื่นไหล แต่ 2.5 toeic 600 ก็เห็นจะต้องมีตัวช่วย ตัวช่วยที่ว่าก็คือที่ฝึกงาน ถ้าเกี่ยวข้องกันก็มีภาษีขึ้นมาหน่อย แต่ก็ไม่

ได้รัปประกันอะไร แต่อย่างน้อยก็อาจจะทำให้ได้เรียกสัมภาษณ์

รวบยอดตอบว่า กรณีคุณ สถานที่ฝึกงานมีผลครับ

service company รับเด็กฝึกงานนะครับ ลองสมัครๆดูครับ แน่นอน บ.ใหญ่ๆก็มักรับเด็กเกรดดีๆ เพื่อที่จะตกเขียวเอาไว้รับตอนจบจริง บ.รองๆลงไปก็ลดหลั่นลงไปน่ะครับ มีลุ้นไหม ก็พอมีนะครับ ลองสมัครๆดูก็แล้วกันครับ ไม่ลองไม่รู้ พรสวรรค์บางทีก็แพ้พรแสวงครับ ... โชคดีนะครับ ได้ที่ไหนก็ส่งข่าวกันบ้างก็ดีครับ ...



ตัวผมมีความสนใจในงานเกี่ยวกับแท่นเจาะ ถือได้ว่าเป็นอาชีพในฝันมานานแล้ว เพราะทราบมาว่ารายได้เยอะกว่าอาชีพอื่นหลายเท่าเลยทีเดียว

ประวัติส่วนตัวผมคร่าวๆนะครับ ตอนนี้อายุ 34 ย่าง 35 แล้วครับ กำลังศึกษาปีสุดท้าย วศบ.เครื่องกล (ต่อเนื่อง) มหาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง เพราะฐานะทางบ้านไม่ค่อยจะดีนะ จบ ปวส.(อิเล็คฯ)มาตั้งแต่ปี 39 ก็ต้องมาทำงานก่อนยังไม่มีโอกาสเรียนต่อปริญญาตรี ทำงานด้านซ่อมระบบควบคุม (Automation Paper) โรงงานกระดาษที่มีชื่อเสียง ดูแลระบบควบคุมต่างๆ เช่น การควบคุม DCS , ระบบควบคุม QCS , การควบคุม LEVEL , TEMPERATURE , PRESSURE , CONSISTENCY , CONTROL VALVE , ON-OFF VALVE ประสบการณ์ 7 ปีกว่า หลังจากนั้นจึงได้มีโอกาส มาเรียนต่อปริญญาตรี ก็เลือกเรียน วศบ.เครื่องกล และทำงานไปด้วย โดยเป็นงานที่ต้องเริ่มใหม่เลย เป็นโฟร์แมนงานระบบประกอบอาคาร(เครื่องกล) อยู่ปีกว่า คราวนี้อยากเขียนแบบเป็นบ้าง ก็เลยลาออกจากที่เดิมมาสมัครตำแหน่งพนักงานเขียนแบบ เขียนแบบจบไปหนึ่งไซน์ (เขียนแบบทั้งระบบไฟฟ้า-และเครื่องกล) คราวนี้บริษัท xxx (บริษัทรับเหมาก่อสร้าง)ก็ชวนมาอยู่ด้วย (ลืมบอกไปว่าบริษัทที่อยู่ตอนเป็นพนักงานเขียนแบบเป็นแค่บริษัทซับคอนแทร็ค) เขาชวนมาทำในตำแหน่งซุปเปอร์ไวเซอร์งานระบบ งานคือประสานงานและควบคุมดูแลงานก่อสร้างและงานระบบให้ทำงานสอดคล้องกัน โดยไม่ให้เกิดความ ขัดแย้งกัน เพื่องานจะได้ดำเนินไปตามแผนที่วางไว้.

ผมมีเรื่องจะสอบถามดังนี้ครับ

1. ผมกำลังจะเรียนจบใน มี.ค 53 จะแก่ไปไหมถ้าผมจะเรียนต่อ ป.โท แล้วเริ่มงานกับแท่นขุดเจาะ


ไม่มีคำว่าสายครับ สำหรับการเริ่มต้น คำถามที่สำคัญคือ คุณมีแผนรองรับความเสี่ยงไหม ตีวะว่าคุณอายุ 35 เรียนโทอีก 2 ปี ก็ 37 มันก็ไม่น้อยแล้ว แต่ก็ว่าไม่ได้ มันขึ้นกับความต้องการของตลาด ซึ่งผมก็ไม่ทราบจริงๆ แต่ถ้าตลาดยังเป็นแบบวันนี้ บอกได้ว่าให้ทำใจครับ แต่ถ้าอีก 2-3-4 ปีข้างหน้าผมก็ตอบไม่ได้หรอกครับ เพราะถ้าตลาดบูมขึ้นมา อายุ 37 หรือ 40 จบโทใหม่มาก็รับครับ

ผมสงสัยอะไรอย่างนึงครับ ว่าที่อยากมาทำงานที่ในนี้เพราะรายได้เยอะกว่าอาชีพอื่น อันนี้จริง แต่ไม่ได้หลายเท่าตัวอย่างที่เข้าใจ แค่ราวๆ 1.5 - 1.7 ของงานเดียวกันบนบกเท่านั้นเองครับ แล้วอีกอย่าง ถ้าเป้าคุณคือเรื่องรายได้ ผมดูประวัติตามที่คุณว่ามานั้น คุณก็นับได้ว่าเป็นหนึ่งในตองอู หนึ่งในวงการของคุณที่เรียกว่ารู้จริงทีเดียว ทำมาหมดทั้งระดับช่างซ่อมบำรุง คนทำงานระบบ ไฟฟ้า อิเลคฯ เครื่องกล เป็นคนคุมงาน เป็นคนเขียนแบบ คนประสานงาน อีกไม่กี่เดือน คุณก็จะเป็นวิศวกร เรียกได้ว่า ทั้งบุ๋นทั้งบู๊ คุณครบเครื่องเลย ถึงตอนนี้ ประสบการณ์ขนาดนี้ จบม.ไหน ไม่สำคัญแล้วครับ ถ้าคุณเอาคุณสมบัติแบบนี้มาเป็นทุน เป็นแต้มต่อ หางาน ขึ้นค่าตัว make money ในวงการของคุณเอง ผมว่า ใครๆก็สู้คุณยาก ผมเป็น project manager ผมก็อ้าแขนรับคุณแน่ๆถ้าผมมีตำแหน่งว่าง

อีกอย่าง อายุราวๆคุณ ประสบการณ์ขนาดนี้ ติดดีกรีวิศวกร ผมว่าเงินเดือนรายได้ต้องดีเอาเรื่องแล้วครับ คุณมาเรียนอีกสองปี จบออกมา ก็ไม่แน่ว่าตลาดจะเป็นไง สมมุติว่าตลาดดี กว่าคุณจะทำเงินได้เท่ากับวันนี้ + 2 ปี (+ค่าเสียโอกาสตอนเรียนโท) คุณต้องใช้เวลาอีก ไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีแน่ๆ ตอนนั้นคุณก็อายุ ราวๆ 37+5 ก็ 42 คือ อายุ 42 รายได้คุณจะเท่ากับ ถ้าคุณอยู่ที่เดิมตอนอายุ 37 ... กลับกัน ลองคิดดูว่า ถ้าคุณอยู่ในวงการเดิมต่อไป ตอนที่คุณอายุ 42 คุณจะรายได้เท่าไร ...

ผมแค่สมมุติประมาณ วิธีคิด decision process ให้คุณ ส่วนรายละเอียด คุณเองเท่านั้นที่ดีดลูกคิดเองได้ ลองวาดกราฟแล้วหาจุดตัด (break even) ดู ผมกะให้คร่าวๆว่า สมมุติถ้าคุณจบโท ได้งานเลยทันที น่าจะเริ่มสัก 35000-45000 เท่านั้นแหละครับ ถ้าออกสนามก็คูณ 1.5-1.7 เข้าไป (ดูน้อยไปสำหรับอายุ ป.โท และประสบการณ์ ใช่ไหมครับ อย่าลืมว่าคุณไม่มีประสบการณ์ตรง) จาก 35000-45000 คุณสมมติว่าได้เงินเดือนขึ้นสัก 5-7% ต่อปี เอาล่ะข้อมูลแค่นี้คุณก็พล๊อตกราฟได้แล้วใช่ไหม อย่าลืมคิดให้รอบด้านด้วยนะ พวกค่าใช่จ่ายระหว่างเรียน ดอกเบี้ย(ถ้ายืมเงินมาเรียน) ค่าเสียโอกาสที่คุณจะได้เงินเดือนขึ้นถ้าอยู่ในวงการเดิม ฯลฯ

ถือโอกาสตอบตรงนี้ยาวหน่อย เพราะมันสำคัญครับ

2. ที่ว่าจะเรียนต่อ เพราะว่าตอนนี้มีทุนของ AIT โครงการปริญญาโทวิชาชีพนานาชาติ สหวิชาเทคโนโลยีและการจัดการแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซโพ้นทะเล Professional Master of Engineering Degree in OFFSHORE TECHNOLOGY AND MANAGEMENT คิดว่าจะสมัครเพราะว่าเป็นหนทางเดียวที่จะไปทำงานด้านแท่นขุดเจาะได้ เห็นว่าอย่างไรบ้างครับ

ไม่เชิงเป็นทางเดียว เพราะมี ม.สุรนารี มี โท.ปิโตรจุฬาอีก ลองไปหาข้อมูลดูครับ ส่วนเรื่องหลักสูตร OFFSHORE TECHNOLOGY AND MANAGEMENT ถ้าอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติม ลองถามคนที่กำลังเรียนอยู่ได้ครับ คุณ eakarin.w@gmail.com อีเมล์ถามได้ เจ้าตัวอาสาเป็นสาขาสองให้ผมที่ AIT ให้ บอกไปเลยว่าผมแนะนำให้มาปรึกษาครับ

3. จากประวัติข้างต้นของผม ถ้าสมัครเรียนแล้วจะมีบริษัทไหนรับพิจารณาให้ทุนในการศึกษาต่อไหมครับ

ยากครับที่จะหาคนให้ทุน เพราะคุณไม่ได้จบหรือมีประสบการณ์ตรง แต่ผมเข้าใจว่าที่คณะฯน่าจะมีทุนแบบไม่ผูกมัดไม่เจาะจงอยู่บ้างนะครับ ลองถามคุณ eakarin.w@gmail.com

4. ถ้าสมัคร ป.โท AIT ไม่ผ่าน ยังมีทุน ป.โท พลังงานของบางมด เหมือนกัน ก็น่าสนใจ คิดว่าทางไหน อนาคตน่าจะดีกว่ากันครับ

ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับ ป.โท พลังงานของบางมด เลยครับ คงให้ความเห็นไม่ได้ว่าเรียนอะไรกันบ้าง

ก่อนจบ ผมอยากให้คุณทบทวนเป้าประสงค์ วิเคาระห์ผลได้ผลเสีย ชั่งน้ำหนักให้ดีๆนะครับ ที่ผมวนเวียนอยู่ที่ประเด็นนี้ก็เพราะว่าคุณเกริ่นนำมาว่าเป็นเรื่องรายได้ที่ทำให้คุณสนใจงานด้านนี้ ซึ่งก็ไม่ผิดครับที่รายได้จะเป็นปัจจัยจูงใจ คนเราทำงานก็เพราะเรื่องปากท้องนี่ล่ะครับ ผมยอมรับคนนึงล่ะ

นอกเรื่องหน่อย เป็นอุธาหรณ์ ... ตอนผมจบโท.บริหารใหม่ๆ ฟองสบู่แตก ก่อนเรียนโท ผมตั้งเป้าไว้ว่าจะล้างมือทางช่าง ทางวิศวกรรม ทางน้ำมัน ผมอยากจะเป็น นักการเงิน การธนาคาร นักเศรษฐศาสตร์ ... ฟองสบู่แตก คนในวงการ การเงินการธนาคาร กูรูต่างๆ เผ่นหนีตายกันทั้งประเทศ (คุณจำได้ไหม) ผมกลับไปคณะฯที่เรียนโทฯ จะไปให้อ.ช่วยหางานให้ อ.บอกว่าไงรู้ไหม อ. ถามคำเดียว(แบบพระเซน) "core competency ของคุณคืออะไร" ผมกลับมาคิดทบทวนอยู่หลายวัน จนตาสว่าง คุณเชื่อไหม ในขณะที่คนอื่นแทบล้มประดาตาย งานใหม่ของผม(ในวงการฯ) ตอนนั้น ให้รายได้ผมหกหลัก ทำให้ผมกลับมาได้รายได้หกหลักครั้งแรกจากการทำงานในประเทศ (ไม่นับตอนจบใหม่ที่ผมได้หกหลักเพราะผมไปขายแรงงานตปท.)

ผมกำลังถามว่า ถ้าจุดมุ่งหมายคุณคือรายได้ ผมขอยืมคำถามอ.ผมมาถามคุณว่า "core competency ของคุณคืออะไร"

ขอโทษที่ตอบยาวและคำตอบอาจจะไม่โดนใจ แต่ผมจริงใจและตรงไปตรงมากับการให้คำปรึกษาทุกครั้ง ... โชคดีครับ



ในพวก installation commissioning, start-up platform และอื่นๆในแนวนี่ ตำแหน่งมันมีอะไรบ้างคับแล้ว มันมีบริษัทไหนทำบ้างในอ่าวไทย แล้วถือว่าบริษัทพวกนี้เป็น service company รึป่าวครับ ความเจริญทางสายงานเป็นอย่างไรและรายได้ดีมั้ยครับ แล้วต้องทำงาน 4/2 หรือ 3/1 หรือไม่นานๆครั้งลงทะเลที่หนึ่งรึป่าว แล้วถ้าทำงานพวกนี้แล้วงานมันจะมีให้ทำเยอะรึป่าว เพราะคิดว่านานๆจะ install สักแท่งหนึ่งนะครับ แล้วมีอันตรายมากน้อยอย่างไรเมือเทียบกับ drilling eng หรือ filed eng

บอกตามตรงครับว่าไม่ได้อยู่ในสายงานนี้ ตอบตามที่สังเกตุเห็นจากภายนอกนะครับ อาจจะไม่ถูกต้องนัก

ตำแหน่งมันมีอะไรบ้าง - ไม่ทราบครับ

มันมีบริษัทไหนทำบ้างในอ่าวไทย - ไม่ทราบเช่นกันครับ

ถือว่าบริษัทพวกนี้เป็น service company รึป่าวครับ - ไม่ใช่ครับ เป็น กลุ่มผู้รับเหมาช่วงประเภทก่อสร้าง (construction)

ความเจริญทางสายงานเป็นอย่างไร - ไม่ทราบครับ

รายได้ดีมั้ยครับ - ไม่ทราบครับ

ทำงาน 4/2 หรือ 3/1 หรือไม่นานๆครั้งลงทะเลที่หนึ่งรึป่าว - ไม่ทราบอีกครับ

ถ้าทำงานพวกนี้แล้วงานมันจะมีให้ทำเยอะรึป่าว มีเยอะแน่นอนครับ เราสร้าง platform กันในอ่าวตลอดเวลาครับ และบ.พวกนี้ก็รับงานจากนอกประเทศด้วย รู้สึกว่าอู่ต่อจะอยู่ที่แหลมฉบังนะครับ

มีอันตรายมากน้อยอย่างไรเมื่อเทียบกับ drilling eng หรือ filed eng ถ้าต้องลงไปบู๊ติดตั้งหน้างาน มันก็อันตรายพอๆกันนั่นแหละครับ แต่อาจจะอัตรายคนล่ะอย่าง แต่ถ้านั่งออกแบบสั่งงานอยู่ที่สนง.ก็ชิวๆครับ





ผมจบเครื่องกล ตอนนี้ผม 25 จะ 26 ทำงานสาย electronic มา 4 ปี ผมสนใจงานสาย oil flied มาก คือที่เก่าผมมันดูจะไม่โตและน่าเบื่อ(สบายเกิน)ผมมีปัญหาอยูอย่างนึงคือ Toeic คะแนน Toeic ผมแค่ 465 มันจะมีปัญหากับงานสายนี้มั้ยครับ (แต่จริงๆผมก็ไม่ได้อ่อนภาษาขนาดนั้น) หรือต้องไปสอบใหม่ ผมอยากรู้ว่า ทำยังไงเค้าถึงจะเรียกผมไปสอบข้อเขียน/สัมภาษณ์ การเลือกคนเข้าไปทำงาน มีหลักเกณฑ์อะไรพิเศษ ...ผมสนใจงาน rig company ครับเพราะดูลุยดี

Toeic ผมแค่ 465 มันจะมีปัญหากับงานสายนี้มั้ยครับ

มีแน่ๆครับ ไปฝึกให้คล่องๆแล้วสอบใหม่เหอะ อย่าให้ด้านนี้เป็นตัวฉุด 750 นะครับ ถึงจะดูไปวัดไปว่าได้สำหรับระดับวิศวกร

ทำยังไงเค้าถึงจะเรียกผมไปสอบข้อเขียน/สัมภาษณ์ หลักเกณฑ์อะไรพิเศษ

อย่างแรกก็ภาษา ทำให้ดูดี อย่างที่บอกไปแล้ว ... ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่คุณผ่านๆมาแล้ว กลับไปแก้ไขลำบาก เช่น เกรดเฉลี่ย กิจกรรมพิเศษประเภทกลางแจ้ง กีฬากลางแจ้ง กิจกรรมที่เราทำแล้วมีตำแหน่งเป็นประธาน รองประธาน ถ้ามีถ้าทำ ใส่ไปด้วยใน CV สุขภาพที่ดี พร้อมที่จะไปทำงานกลางแจ้ง ระบุในใบสมัครไปด้วยว่าทำงานสนาม (field) บ.แท่น รับคนไทยน้อยตำแหน่งครับ ส่วนมากติดมากับแท่นอย่างที่เขียนเล่าไว้ในบล๊อก ลองบ. service ดูด้วยกับ บ. service รับคนไทยมากกว่าเยอะเลยครับ เพราะเขามีฐานที่มั่นที่นี่ บ.แท่นมันแร่ร่อนไปเรื่อยๆ มันจึงไม่มีอะไรถาวรที่ประเทศไหนเลย ไปถึงไหนๆมันก็จ้างบ.ายหน้าให้หาคนให้มันเอา



อยากรู้ว่า waste จากการขุดเจาะน้ำมันคืออะไร แล้วมีการจัดการยังไงอ่ะค่ะ

ของเสียจากการขุดเจาะน้ำมันคือ เศษหิน (cutting) และ น้ำโคลน (drilling fluid) ครับ ส่วนอื่นๆ ก็เหมือนๆกันกับพวกเรือเดินทะเล หรือ การตั้งแคมป์ในป่าในเขา เช่น พวกขยะและของเสียที่เกิดจากการกินอยู่ของมนุษย์ ซึ่งผมจะไม่กล่าวถึง เพราะมันไม่มีอะไรพิเศษ คือโกยในถังแล้วส่งเข้าฝั่ง โดยมีบ.รับเหมาที่ประมูลได้มาซื้อขยะเหล่านั้นไป แยกและกำจัด

เรากำจัดได้หลายวิธีครับ ขึ้นอยู่กับกฏเกณฑ์ของผู้ให้สัมปทาน สารเคมีที่เราใช้ส่วนมากจะเป็นแบบที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Biodegradable) ซึ่งสามารถทิ้งลงทะเลได้อย่างปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องทำตามกฏเกณฑ์ของผู้ให้สัมปทานอยู่ดี

ในกรณีที่ผู้ให้สัมปะทานไม่ต้องการให้ทิ้งลงทะเล หรือ ฝังกลบ(กรณีแท่นบก) เลยแม้แต่นิดเดียว อย่างที่คนในวงการเราเรียกว่า ซีโร่ดีสชาร์จ (zero discharge) เราก็ทำได้ แต่มันค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก็จะแพงตามกันไปด้วย

วิธีการก็เหมือนเดิมคือ ขนลงเรือให้ผู้รับเหมาประมูลเอาไปกำจัดตามกรรมวิธีที่ได้รับอนุญาติจากผู้ให้สัมปะทาน จะเห็นว่า เอะอะอะไรก็อิงผู้ให้สัมปะทาน เพราะเขาคือผู้คุ้มกฏ ประเทศของเขา เราเข้าไปทำมาหากินในประเทศเขาก็ต้องเคารพกฏหมายเขา ส่วนกฏหมายเขาจะเคร่งครัดแค่ได้ ทำได้ในทางปฏิบัติแค่ไหน กลไกตลาดจะเป็นตัวบอกเอง เช่นตั้งกฏไว้เยอะมาก ทำได้ยากต้นทุนการดำเนินงานสูง คำนวนรายได้ที่ว่าจะได้แล้ว มันเสี่ยงขาดทุน ก็ไม่มีใครเข้ามาประมูลพื้นที่ไปทำการสำรวจและผลิต

ไม่มีคนยื่นประมูลนานๆเข้า ผู้ให้สัมปะทานก็ต้อง ลดหย่อนข้อกำหนดลงมาเองนั่นแหละครับ ส่วนจะลดหย่อนลงมากแค่ไหน ก็ขึ้นกับพื้นที่ที่จะให้ประมูลเจาะสำรวจและผลิตนั้นมีศักยภาพที่จะเจอได้แค่ได้ คือทุกอย่างมันโดนสร้างตัวต้นแบบ(model)ทางความเป็นไปได้ในการลงทุน เอาไว้อยู่แล้ว

ในกรณีที่ใช้น้ำโคลนประเภทที่ใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบ เศษหินที่ขึ้นมาก็จะมีน้ำมันแทรกซึมอยู่ โดยมากผู้รับเหมาที่ประมูลได้ก็จะเอาไปขายต่อให้โรงปูนเพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิง ส่วนจะขายได้เท่าไรก็ขึ้นกับว่ามีน้ำมันติดค้างอยู่ในเศษหินมากน้อยแค่ไหน ซึ่งวัดกันได้ในทางวิศวกรรม คล้ายๆความชื้นในข้าวเปลือกนั่นแหละครับ ชื้นมากราคาต่อเกวียนก็ถูก ถ้ามีน้ำมันติดอยู่มาก ราคาต่อตันก็แพง คำว่าน้ำมันในที่นี้ไม่ได้หมายถึงน้ำมันดิบนะครับ หมายถึงน้ำมันที่เป็นส่วนประกอบของน้ำโคลนที่ติดมากับเศษหิน

หรืออีกวิธีก็คือเอาเศษหินที่มีน้ำโคลนประเภทน้ำมันติดมา เอาไปปั่นในเครื่องเหวี่ยง หลักการคล้ายเครื่องซักผ้าเวลาให้ปั่นหมาดน่ะครับ แต่แรงกว่าหลายเท่า สลัดเอาน้ำโคลนออกเหลือแต่เศษหินเป็นผงๆแห้ง ที่มีค่าน้ำมันติดเศษหิน (%OOC - oil on cutting) ต่ำถึงค่าที่ผู้ให้สัมปะทานกำหนด จากนั้นก็สามารถทิ้งลงทะเลได้เลย ถ้าผู้ให้สัมปะทานอนุญาติ ส่วนน้ำโคลนที่สลัดออกมาได้ก็เอาไปใช้ใหม่ได้ครับ

ถ้าเป็นน้ำโคลนประเภทที่ใช้น้ำเป็นส่วนประกอบ เศษหินที่ได้ก็เอาไปขายเอาไปถมที่ก็ได้ ส่วนมากไม่ค่อยมัปัญหากับน้ำโคลนประเภทนี้เท่าไร ส่วนผสมต่างๆย่อยสลายได้เองหมด



อายุจะสามสิบปีหน้า เพศหญิงที่ห้าวหาญ แต่จะแปลกไปไหมที่ยังไม่รู้ว่าชอบที่จะทำอะไร BE Chem Eng ม xxx เกรดไม่สวยหรู แต่ก้อ สี่ปีจบ จบปุ๊บอยาก ได้ภาษามาก เรียนภาษา เพื่อมาต่อโท ที่ xxx จบ Chem Eng โท ใบแรก กระแส การขอเป็นพลเมืองของ xxx มันแรงจริงๆ เลยตัดสินใจเรียนอีกเพื่อให้ตรงคุณสมบัติที่สุดที่ xxx Manufacturing Engineering and Management จบปุ๊บ สอบไอเอล 6.5 ขอเป็นพลเมืองที่นี่ ได้ตามที่หวัง

แต่ที่แปลกคือ ยังไม่มีประสบการณ์ชีวิตทำงานที่ บริษัท เลย (เคยทำงานแต่ตอนเรียน เป็นผู้ช่วยวิจัยที่ xxx) อยากกลับไปทำงานที่ไทย แต่ยังรู้สึกขาดอะไรอ่ะค่ะ ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง รึว่าควรจะหาเรียนอะไรที่ชอบที่สุด การทำงานที่ไทยเพื่อนบอกว่าเค้าค่อนข้างดูเพศ อายุ ปสก เกรด สถาบัน เลยไม่มั่นใจที่จะกลับไทยเลย อยู่ที่นี่ ห้าปีเต็มๆค่ะ เพิ่งรับปริญญา และก้อ PR เลยรู้สึกเคว้ง ว่าจะยังไงต่อ ระหว่าง หางานทำที่นี่ เพื่อ หา ปสก (แต่รู้สึกยังไม่ชอบ) เรียนเพิ่มเติม เพื่อหาสิ่งที่ชอบหรือถนัด (เพราะเป็นพลเมืองที่นี่ค่าเรียน xxx ถูกมากๆๆ แต่กลัวจะเสียเวลา สายไปรึป่าว) กลับทำงานที่ไทย เพื่อหา ปสก ได้อยู่กับครอบครัว (ประโยชน์)

ไม่คาดหวังว่าเงินเดือนที่ไทยต้องเริด หรู แต่ๆๆ คนอื่นและคนในครอบครัวคาดหวังจนไม่อยากกลับอ่ะค่ะ ช่วยรบกวนดูคร่าวๆ แล้วใบ้หวย บอกทางให้ทีนะ เคยปรึกษาคุยกับหลายคน แต่ มีแต่คนหัวเราะ ว่าเรียนมาจนป่านนี้ยังไม่รู้อีกเหรอว่าชอบอะไร ไม่ก้อ คิดเองโว้ย เรียนยังจบได้ ความรู้สึกตอนนี้ เหมือนโดดเดี่ยวค่ะ เรื่องนี้ อาจเป็นเพราะเรา profile ดีมั้ง จนไม่มีคนกล้าออกความเห็นอะไร ขอบคุณล่วงหน้านะคะ และก้อยินดีที่รู้จักค่ะ


เป็นคนแรกนะครับที่เขียนมาปรึกษากว้างๆ ไม่เหมือนคนอื่นๆที่อยากเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างผม ไหนๆถามมาก็จะขอตอบกว้างๆทั่วๆไปในฐานะที่เกิดมาก่อนคุณ 13 ปีก็แล้วกันครับ

บางคนมีปัญหาว่า ไม่สวยเลือกไม่ได้ แต่คุณกลับเป็นปัญหาตรงข้าม คือสวยเลือกได้ แต่ไม่รู้ว่าจะเลือกอะไร บางครั้งการที่ทำอะไรก็ได้ไปหมดก็ทำให้ลำบากใจเหมือนกัน เพราะไม่รู้จะเลือกทำอะไรดี ไม่เหมือนคนที่ไม่ค่อยมีทางเลือกเท่าไร แบบนั้นก็ไม่ต้องคิดมาก ทำเท่าที่ทำได้นั่นแหละ

ปัญหาใหญ่ที่สุดของคุณคือคุณยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร ทำอะไรในที่นี้หมายถึงอาชีพเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพนั้นมี 2 ทางเลือกใหญ่ๆ 1. คือเป็นผู้ประกอบการ เป็นเถ้าแก่เสียเอง หรือ 2. เป็นมือปืนรับจ้าง เป็นมืออาชีพ ว่างั้นเหอะ ข้อแรกตอบก่อนเลยว่าคุณคิดว่าคุณทำแบบ 1. หรือ 2. แล้วมีความสุข

คนที่เป็นเถ้าแก่แล้วรุ่งก็ไม่ได้แปลว่าเป็นลูกจ้างแล้วรุ่ง กลับกัน คนเป็นลูกจ้างแล้วรุ่ง พอผันมาเป็นเถ้าแก่แล้วร่วงก็มีให้เห็นถมไป

พอมาเป็นลูกจ้าง ก็มีแนวให้เลือกอีกว่า คุณจะเป็นกลุ่มนักคิด (thinker) หรือ นักทำ (implementer) สองพวกนี้ก็ไม่เหมือนกันอีก คุณทำอะไรแล้วมีความสุขล่ะ นี่ยังไม่นับว่า เรียนหรือทำงาน ที่นี่หรือกลับเมืองไทยอีกนะ ผมว่าคุณเรียนมาก็เยอะ ลองเอาที่เรียนมา เอามาใช้ซิ

เลือกวันที่กินอิ่มนอนหลับ สมองปลอดโปร่ง หยิบกระดาษ A4 มาแผ่นนึง พับเป็น 3 ส่วนตามแนวยาว คอลัมภ์แรก เขียนสิ่งที่คุณต้องการในชีวิต เช่น เวลากับครอบครัว สุขภาพที่ดี ครอบครัวที่อบอุ่น โอกาสเจอผู้ชายดีๆสักคน อยู่ใกล้พ่อแม่ ส่งเสียน้องเรียน มีเงิน 100 ล้านก่อนเกษียณ โอกาสตอบแทนบุณคุณแผ่นดิน ฯลฯ แล้วก็ให้น้ำหนักของแต่ล่ะหัวข้อ ตั้งแต่ 1 ถึง 3 คือ 1 ไม่สำคัญ ได้ก็ดี 2 ปากกลาง 3 คือ สำคัญมั๊กๆ

ด้านบนของคอลัมภ์ที่สอง กับ สาม เขียนทางเลือกที่คุณต้องการตัดสินใจลงไป เช่น หางานทำที่นี่ vs. กลับไปหางานทำที่เมืองไทย เสร็จแล้วก็ให้คะแนน 1 ถึง 5 ในแต่ล่ะหัวข้อในคอลัมภ์แรก เช่น หางานทำที่นี่ ได้ 0 คะแนนในหัวข้อเวลากับครอบครัว แต่กลับไปทำงานเมืองไทยได้ 5 คะแนน หรือ ทำงานที่นี่ ได้ 5 คะแนนในหัวข้อ มีเงิน 100 ล้านก่อนเกษียณ แต่กลับเมืองไทยได้แค่ 3 คะแนน

ที่เหลือคงนึกออกนะว่าผมจะให้ทำอย่างไร ถ้านึกไม่ออก เอาปริญญา 3 ใบคืน ม. ต่างๆที่คุณได้มันมากก็แล้วกัน ... ผมกำลังจะให้คุณหา ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (weighted average) ถ้าคุณไม่โกหกตัวเองจนเกินไป ผมว่าวิธีนี้น่าจะเป็นการหาคำตอบที่ดีที่สุดครับ เป็นไปได้ครับ ถ้าคุณมีมากกว่า 2 ทางเลือก เช่น มีทางเลือกที่สามคือเรียนต่อเอกที่นั่น เป็นต้น ก็ทำอย่างเดียวกัน เพิ่มอีกคอลัมภ์ไปก็ได้ครับ

อ่านระหว่างบรรทัดจับได้ว่า คุณออกจะให้ความคาดหวังของคนรอบข้างมีอิทธิพลกับการเลือกเดินทางและความสุขของคุณ เป็นการดีครับที่เอาความคิด ความรู้สึกของคนที่รักเราและเรารักมาเป็นส่วนประกอบการตัดสินใจ เอามันใส่ไว้ในคอลัมภ์แรกด้วยเลย เช่น ความเห็นด้วยของพ่อ ความเห็นด้วยของแม่ แล้วก็ให้น้ำหนัก 1-3 ตามแต่ความรู้สึกของเราว่าเราให้ความสำคัญแค่ไหน

ผมก็คงคล้ายคนอื่นๆที่คุณไปขอความเห็นที่ไม่รู้จะตัดสินใจแทนคุณได้อย่างไร แต่ผมไม่หัวเราะคุณหรอก เพราะในช่วงหนึ่งของชีวิตผมก็เคยรู้สึกแบบนี้ "ตูอยากทำอะไรว่ะ"

แต่ถ้าคิดไม่ออกจริงๆ ผมแนะนำให้หยุดทุกอย่าง เอาเสื้อผ้ายัดใส่เป้แล้วซื้อตั๋วเครื่องบินไปอินเดีย ท่องเที่ยวสักพัก ทำไมอินเดีย เพราะที่นั่นมีความหลากหลายสูงมาก มีอะไรๆให้คุณได้เรียนรู้ ได้ดู ได้คิด ได้ฝึกฝน และที่สำคัญ ไม่แพงมาก คุณท่องเที่ยวได้นานๆ ผมไปมาแล้ว 22 ประเทศ ไม่มีที่ไหนเหมือนที่นั่น .... แบกเป้เที่ยวสักเดือน 2 เดือน บางทีคุณอาจจะได้คำตอบของชีวิตก็ได้ครับ บางที สิ่งที่คุณอยากทำมันอยู่ใกล้คุณนิดเดียว แต่คุณมองข้ามมันไป มันอาจจะไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่อะไร แต่เป็นเรื่องที่คุณตื่นนอนขึ้นมาแล้ว มีความสุขที่คิดว่าเดี๋ยวจะได้ทำมัน

ผมไม่รู้ว่าตกลงผมได้ตอบอะไรคุณไหม แต่อย่างน้อยก็ถือว่าคุยกันก็แล้วครับ คำตอบผมคงไม่มีให้คุณ ผมออกจะมีแต่คำถามกลับไปมากกว่า ...

ตัดสินใจอะไรยังไง ส่งข่าวคราวมาบ้างนะครับ ... ยินดีที่ได้รู้จักเช่นกันครับ ...



ผู้หญิงอยากอยู่ฝ่ายสำรวจ เรียนด้านรังสี กัมมันตภาพรังสี อุปกรณ์ เครื่องมือ พอดีเห็นแผนกนี้ใช้หลักการสะท้อนของเสียงอะไรพวกนี้ จะมีสิทธิ์มั้ยอ่ะคะ พอดีดันมารู้จักตอนเรียนจะจบแระ พี่ที่ทำงานด้านนี้แนะนำให้ลองสมัครดู เอ่อ รบกวนทุกคนหน่อยน้าเผื่อจะมีอีกแขนงมาช่วยลุย

ถูกต้องครับ ในงานสำรวจปิโตรเลียมเราใช้ศาสตร์ด้านที่คุณเรียนมาทุกอย่างครบเลยครับ แล้วก็มีงานอย่างนั้นอยู่ในสนามจริงๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนของบ.service น่ะครับ ใหญ่ๆก็ Schlumberger Haliburton Baker weatherford อะไรพวกนี้ และมี บ.service ขนาดกลางและเล็กอีกมากมายครับ ลองสมัครไปซิครับ รายชื่อบ.อยู่ในห้องสมุดผม ดาว์นโหลดเอาก็แล้วกันครับ ส่วนจะมีสิทธิ์ไหม มันขึ้นกับหลายปัจจัย ถ้าเด็กจบใหม่ก็คงไม่พ้นเกรด กิจกรรมในคณะที่เคยทำ ชื่อชั้นปริญญาของสถาบันที่จบ อะไรประมาณนี้น่ะครับ



ตอนนี้กำลังจะโดนเรียกสัมภาษณ์ที่ xxx ค่ะกำลังกลัวได้ที่เลย มีคนแนะนำว่าต้องอย่ากลัวต้องพูดอังกฤษอย่าได้อาย(ซึ่งมันยากมากเพราะพูดได้เป็นคำๆเองค่ะT-T) คือเลยมีเรื่องอยากจะปรึกษาพี่นิดนึงค่ะว่า ถ้าพี่เป็นคนสัมภาษณ์คนเข้าทำงานแล้วต้องการให้หนูแนะนำตัว พี่ต้องการคำตอบแบบไหนค่ะ คือขอบเขตของคำตอบอ่ะค่ะ ว่านอกจากเรียนอะไร ที่ไหน แล้วต้องการแนวไหนอีกคือ ไม่รู้จะตอบยังไงค่ะ (อาจจะดูว่าเป็นคำถามที่บ้าๆ แต่หนูไม่รู้จริงๆ แล้วคิดว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ต้องเจอแน่ๆ) ปล.เนื่องจาก เป็นคนที่ไม่เก่งภาษาเท่าไรเลยต้องพยายามเตรียมตัวไปก่อนค่ะอย่างมากค่ะ รบกวนพี่ด้วยนะค่ะ

ขั้นตอนการแนะนำตัวนั้น ถือเป็นการอบอุ่นร่างกาย (warm up) ในการสัมภาษณ์ เป็นการดูว่าคนๆนั้นเตรียมตัวมาดีแค่ไหน คนพูดได้ไม่ดี แต่เตรียมตัวมาดี ก็จะเห็นได้จากตอนให้แนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษ จะทำได้ดี เพราะท่องมา แต่พอถามนอกบทสนทนาเรื่องอื่นๆทั่วไป ไม่รู้เรื่องเลย อย่างนี้ ผม(และหลายๆคน)ให้คะแนนความตั้งใจ และ ความพยายามเต็มสิบเลย เพราะรู้ว่าตัวเองด้อย แต่ก็เตรียมท่องบทมา ทำให้เห็นได้ว่าคนๆนี้ มีความตั้งใจจริงและทำการบ้าน ตรงข้าม คนที่ขนาดเปิดโอกาสให้พูดอะไรก็ได้ ซึ่งก็น่าจะรู้อยู่ก่อนว่ามันต้องมีแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้เตรียมมา ยังงี้ผมจะไปไว้ใจรับมาทำงานด้วยได้ไง

ตอบเคำถามเราว่า "ถ้าพี่เป็นคนสัมภาษณ์คนเข้าทำงานแล้วต้องการให้หนูแนะนำตัว พี่ต้องการคำ ตอบแบบไหนค่ะ คือขอบเขตของคำตอบอ่ะค่ะ"

ไม่ได้ต้องการรายละเอียดอะไรเลย จะพูดจะฝอยอะไรก็ได้สัก 5 นาที ท่องเอายังได้เลย ผมแค่ต้องการจะรู้ว่า คุณทำการบ้านมาหรือเปล่า ส่วนข้อมูลที่ผมต้องการเจาะลึกจริงๆผมจะถามเป็นภาษาไทยครับ

โชคดีนะครับ



ผู้หญิงจะลงไปทำงานที่ rig ได้มั้ยค่ะ จริงๆแล้วก็พอทราบคำตอบอยู่บ้าง แต่อยากจะสอบถามพี่นกอีกครั้งพร้อมกับคำอธิบาย แล้วถ้าเป็นผู้หญิงควรจะทำงานแบบไหนดีค่ะ พอดีเรียนวิศวกรรมปิโตรเลียมอยู่ค่ะ กำลังจะจบ แต่ปัญหาก็มีมากมาย ตอนนี้ก็หาที่ฝึกงานอยู่ด้วย ถ้าพี่แนะนำได้ ก็ช่วยแนะนำให้หน่อยนะค่ะ รบกวนด้วยค่ะ ปล.ถ้าอยากจะให้พี่นกช่วยดู cv ให้ ส่งไปทาง E-mail ของพี่ได้เลยเปล่าค่ะ

คำตอบคือ "ทำได้ครับ" เหตุผลหลักๆคือ เดี๋ยวนี้ทัศนคติเกี่ยวกับการทำงานบนแท่นเปลี่ยนไป เครื่องทุ่นแรงต่างๆก็มากขึ้น สภาพแวดล้อมก็เอื้ออำนวยเพราะเทคโนโลยีดีขึ้น เช่น ทำแท่นได้ใหญ่มากขึ้น จุคนได้มากขึ้น ทำให้แบ่งห้องหับเป็นสัดเป็นส่วนได้ แทนที่จะต้องอัดๆกันเป็นปลากระป๋องเหมือนแต่ก่อน ผู้คนก็เป็นคนรุ่นใหม่ ทัศนคติก็เปลี่ยนไป ประกอบกับวิชาการสำรวจและผลิตได้แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนมีแต่เรียนกันในวงจำกัดและเฉพาะผู้ชายเรียนกัน ผู้หญิงมาเรียนมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมต้องปรับตัวปรับทัศนคติ บางบ.ใหญ่ๆถึงกับมีเป้าหมายกำหนดเลยว่า ปีนั้นปีนี้จะต้องมีจำนวนผู้หญิงในบ. ในงานสนาม เท่านั้นเท่านี้เปอร์เซนต์

อีกอย่างรุ่นพี่ผู้หญิงที่คณะฯคุณก็น่าจะมีบ้างที่ออกไปทำงานบนแท่น ผมเห็นอยู่เป็นพักๆเหมือนกัน ลองติดต่อสอบถามพี่ๆดูก็ได้ครับ ถ้าผมหาอีเมล์ของน้องผู้หญิงที่อยู่บนนั้นเจอแล้วจะส่งไปให้ จะได้ลองคุยกันดูว่าน่าทำไหม

ทำงานแบบไหน ... ก็ทำแบบที่ใช้สมองมากกว่าใช้แรงซิครับ เพราะเรื่องแรงกายเราสู้ผู้ชายไม่ได้อยู่แล้ว แต่ผู้หญิงก็มีข้อได้เปรียบหลายอย่าง เช่น ความละเอียดถี่ถ้วน ความใจเย็น ฯลฯ ถ้าในสาขาที่คุณเรียนมา (วศบ.ปิโตรฯ) คุณเป็น well site engineer ได้ เป็น reservior engneer ก็ได้ครับ ต่างกันที่ well site engineer ก็คือ drilling engineer ที่อยู่บนแท่น คอยตรวจดู และ แก้ไข งานด้านวิศวกรรมที่ส่งมาจากสนง.บนฝั่ง ส่วน พวก company man หรือ night company man ก็ดูทางเครื่องไม้เครื่องมือและกระบวนการในการปฏิบัติงาน รวมไปถึงทำรายงาน วิเคราะห์ แนะนำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลของการทำงานแบบวันต่อวัน

ส่วน reservoir eng ก็จะมาดูแลเรื่องการทดสอบหลุมบนแท่นให้เป็นไปตามโปรแกรมที่สนง.สั่งมาให้ทำ รวมถึงตัดสินใจ และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆเกี่ยวกับการทดสอบหลุม ผมคงไม่อธิบายละเอียดเพราะคุณก็เรียนมาทางนี้อยู่แล้ว

เรื่องที่ฝึกงาน ผมว่าทางคณะดูแลให้อยู่แล้ว บ.ในวงการมีไม่กี่ที่ อ.และม. ต่างๆเขาก็มีเครือข่ายของเขาอยู่ เท่าที่ผมรู้ ทุกบ.เขาก็มีโปรแกรมรับทั้งนั้น ถ้าเราไม่เลือกว่าต้องฝึกงานกับบ.น้ำมันใหญ่ๆล่ะก็ มันก็ไม่ยากเท่าไรที่จะหาหรอกครับ

ส่ง CV มาที่ nnookk@hotmail.com ได้เลยครับ ว่างแล้วจะดูให้ ... พี่นก



ผมทำงานด้าน Instrument Construction ( Supervisor ) มีประสบการณ์ ประมาณ 10 ปี ผมกำลังหางานด้านนี้อยู่ พี่นกพอมีคำแนะนำหรือคำปรึกษาให้ผมบ้างไหมครับ ผมทำงานเป็น Contract ครับ

อืม Instrument Construction เนี่ย ถ้าจะเอาตรงๆคงไม่มีล่ะครับบนแท่นขุดน่ะ ถ้าใกล้เคียงก็ต้องเป็นแท่นผลิต ซึ่งมีสองทางที่จะลงไปทำ คือ 1 เป็นคนของบ.น้ำมันซึ่งเป็นเจ้าของแท่น ก็มีไม่กี่บ.ในอ่าวไทยที่มีแท่นผลิต มีเชฟรอน กับ ปตท.สผ. ก็ต้องสมัครไปที่สองที่นี้ ระบุไปว่าต้องการเป็น วิศวกรสนามด้าน offshore surface facilities หรือ 2 เป็นคนของบ.รับเหมาขายติดตั้งอุปกรณ์เหล่านั้นบนแท่นผลิต ก็จะลงไปติดตั้ง และ บำรุงรักษาประจำ อะไรประมาณนั้น บ.พวกนี้มีหลายบ.แต่ผมไม่รู้จักสักบ.เดียวเพราะผมเป็นพวกคนบนแท่นขุด ไม่ใช่คนฝั่งแท่นผลิต คงแนะนำได้ไม่ถนัดถนี่นักครับ



- อยากทราบเกี่ยวกับตำแหน่ง fire watch ครับ ว่าหน้าที่มีอะไรบ้างครับ

พนักงานเฝ้าระวังเพลิงครับ ก็คอยตรวจตราสอดส่องดูแลความปลอดภัยและความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้ รวมไปถึงเป็นนักผจญเพลิงด้วย พูดง่ายๆก็พนักงานดับเพลิงบนแท่นนั่นแหละครับ

- อนาคตแนวแทงลู่ทาง ช่วยแนะนำด้วยครับ

เป็นบันไดขั้นแรกๆของการไต่ไปเป็นบุคคลากรด้านความปลอดภัยไงครับ พวก safety officer, supervisor, manager อะไรไปทำนองนั้น แต่คุณต้องรักที่จะเรียนรู้ ศึกษาไปตลอดด้วย

- BBS JSA and permit to work ช่วยแนะนำด้วยครับ

BBS ผมไม่ทราบจริงๆครับ นึกไม่ออก

JSA - Job safety accessment คือการทำประเมินความเสี่ยงในการที่จะทำงานชิ้นนั้นๆ บนแท่น ทุกงานที่ทำจะต้องมีการทำการประเมิน บันทึก และ อนุมัติทุกครั้ง เช่น คุณจะไปเชื่อมเหล็กที่สมอเรือ ต้องทำ JSA โดยบอกว่า มีความเสี่ยงอะไรบ้าง เสี่ยงระดับไหน กลุ่มความเสี่ยงอะไร เกี่ยวข้องกับอะไร เลี่ยงได้อย่างไร มีวิธีไหนที่จะลดหรือขจัดความเสี่ยงออกไปได้ มีใครเกี่ยวข้องกับงานนั้นบ้าง ใครเสี่ยงตรงไหนอย่างไร ฯลฯ แต่ล่ะบ.จะมี JSA ฟอร์มให้กรอกละเอียดหรือแบ่งกลุ่มประเภท แตกต่างกันออกไป มีตั้งแต่แบบครึ่งหน้าเอ4 ไปจนถึงเขียนกันเป็นเล่ม

permit to work - ใบอนุญาติการทำงาน สำหรับงานกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น งานที่อยู่สูงจากพื้นกี่เมตรขึ้นไปเช่น งานทาสีผนังแท่นด้านนอก งานในที่แคบอากาศถ่ายเทไม่ได้ เช่น ใต้ท้องแท่น งานที่เกี่ยวกับสารเคมี วัตุกัมตรังสี วัตถุระเบิด ไฟฟ้า ฯลฯ งานพวกนี้ต้องการใบอนุญาติ ซึ่งคนจะทำต้องกรอกแบบฟอร์มที่แต่ล่ะบ.ก็ต่างกันออกไป แต่เนื้อหาคร่าวๆคล้ายกัน คือ ใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไรทำอย่างไรแล้วใครรับผิดชอบ ถ้าไม่สร็จใครจะลงไปเก็บศพ เอ๊ย ไปช่วยเอาขึ้นมา แล้วมักจะต้องแนบ JSA ทุกครั้งไป



อ่านต่อเลือกคลิ๊กกันเลยครับ
=> FAQ #1 FAQ #2 FAQ #3 FAQ #4 FAQ #5 FAQ #6 FAQ #7 FAQ #8 FAQ #9 FAQ #10 FAQ #11
FAQ #12 FAQ #13

ห้องสมุดเล็กๆของผม <=== คลิ๊ก
รวบรวมตำราการขุดเจาะ คลิ๊ปการทำงานในบางตำแหน่ง แบบประเมินความเหมาะสมกับงานในสนามเบื้องต้น วิธีเขียน resume ที่ไม่โดนโยนทิ้งตะกร้า รายชื่อบริษัทฯในวงการ และ อื่นๆอีกมากมาย


มีคลิปการทำงานของบางตำแหน่งให้ดูเป็นน้ำจิ้ม มีตำราวิศวกรการขุดเจาะให้ดาว์โหลดเป็นบทๆ มีความหวังดีและเอื้ออาทรเสมอ ถ้ารู้สึกขอบคุณ ไม่ต้องตอบแทนอะไรผม แค่คุณจะแบ่งปันสิ่งที่คุณมีให้คนอื่นต่อไป ผมก็รู้สึกว่าคุณได้ตอบแทนผมแล้ว


Create Date : 20 ตุลาคม 2552
Last Update : 12 เมษายน 2556 15:43:12 น. 2 comments
Counter : 4223 Pageviews.

 
เรียนถามพี่ว่าสายงานในพวก installation
commissioning, start-up platform และอื่นๆในแนวนี่ ตำแหน่งมันมีอะไรบ้างคับแล้ว
มันมีบริษัทไหนทำบ้างในอ่าวไทย แล้วถือว่าบริษัทพวกนี้เป็น service company รึป่าวครับ
ความเจริญทางสายงานเป็นอย่างไรและรายได้ดีมั้ยครับ แล้วต้องทำงาน 4/2 หรือ 3/1 หรือไม่นานๆครั้งลงทะเลที่หนึ่งรึป่าว
แล้วถ้าทำงานพวกนี้แล้วงานมันจะมีให้ทำเยอะรึป่าว เพราะคิดว่านานๆจะ install สักแท่งหนึ่งนะครับ
แล้วมีอันตรายมากน้อยอย่างไรเมือเทียบกับ drilling eng หรือ filed eng ขอบคุณล่วงหน้าครับ



โดย: เด็กขี้สงสัย IP: 116.68.144.11 วันที่: 29 ตุลาคม 2552 เวลา:8:51:40 น.  

 
ตอบ เด็กขี้สงสัย - ตอบอยู่ข้างบนแล้วครับ


โดย: พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร (Nong Fern Daddy ) วันที่: 30 ตุลาคม 2552 เวลา:15:33:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nong Fern Daddy
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 782 คน [?]




... Blog นี้ ...
แด่ ... แม่น้องเฟิร์นและน้องภัทร
เธอ..ผู้เปลี่ยนห้องที่มืดมิดให้สว่างไสวได้ด้วยรอยยิ้ม
เธอ..ผู้อยู่เบื้องหลังความเข้มแข็งและความสำเร็จทั้งมวล
... และ ...
เธอ ... ผู้เป็น "บ้าน" เพียงแห่งเดียวของผม

---------------------------------------------

หรือเพียง "ฝัน" ที่หาญท้าชะตาฟ้า ?

หรือจะเพียง "ศรัทธา" (ที่)ไร้ความหมาย ?

แม้จะเป็นแค่เพียง "ฝัน" จนวันตาย

แต่ผู้ชายคนนี้จะอยู่ข้างเธอ ... ตลอดไป ...

แด่ ... ลูกที่กล้าฝันของพ่อ

Friends' blogs
[Add Nong Fern Daddy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.