==== ก็แค่ผู้ชายธรรมดาๆคนหนึ่ง ที่อยากจะเป็นสามี และ เป็นพ่อให้ได้ดีกว่าที่เคยเป็นเมื่อวาน ====
Group Blog
 
All Blogs
 
ประเทศเรามีน้ำมันเยอะไหม ทำไมน้ำมันจึงแพง และ ฯลฯ

ในฐานะที่คุณพ่อน้องเฟิร์นทำงานด้านนี้ ประเทศเรามีน้ำมันเยอะไหมคะ แล้วพอสูบขึ้นมากว่าจะนำมาใช้เติมให้รถได้มันมีค่าใช้จ่ายแพงมากไหม ทำไมน้ำมันจึงแพง เพราะบ้านเกิดที่ศรีสะเกษมีการปลูกข้าวเราก็ไม่เดือดร้อนกับราคาข้าวสารเพราะผลิตข้าวเอง แต่นี่ประเทศเรามีน้ำมัน แต่ทำไมประชาชนต้องซื้อแพง จบชีววิทยาไม่กระดิกหูเรื่องฟิสิกส์(พื้นฐานของคนถาม) ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ตอนแรกก็ว่าจะไม่ยุ่งไม่คุยเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว ผมเองก็อยู่ในวงการ พูดไปก็ว่าเอียงไปทางหม้อข้าวตัวเอง แต่ด้วยจรรยาบรรณความตั้งใจที่ตั้งไว้ตอนเปิดบล๊อกว่าจะพยายามตอบทุกคำถาม ก็อุตส่าห์หาข้อมูลตอบ พอตอบไปแล้วก็เลยคิดว่า น่าจะเอามาเผยแพร่ในวงกว้าง ส่วนว่าจะได้รับการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยประการณ์ใด ก็ละไว้ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริโภคข่าวสารล่ะกัน

นี่ครับ ที่ผมตอบเธอที่ถามไป ...

====================================

อ่านคำถามของคุณจบไปรอบหนึ่ง มาสะดุดใจคำว่า "ศรีษะเกษ" (ไม่เกี่ยวกับคำถามคำตอบเล้ย 555) แต่ทำให้ผมนึกถึงวันเวลาเก่าๆเกือบๆ 35 ปีมาแล้วในวัยเด็กประถมที่ได้ไปอยู่ที่นั่นหลายปี ปั่นจักรยานบุเลงๆเข้าป่า เหน็บหนังสติ๊ก ปั้นข้าวเหนียว แจ่วแห้ง กับหมู่เพื่อน ตะลอนๆ ยิงมะม่วง กะปอม(กิ้งก่า) สอยบักเขียบ(น้อยหน่า) ลักปลาเบ็ด ลักมัน เอามาเผากิน สนุกตามประสาทะโมน ชาวบ้านก็ไม่ได้ว่าอะไร คงคิดว่าแบ่งเด็กกินเสียมากกว่า อบอุ่นดีในแบบต่างจังหวัดๆ ถึงจะกันดารของแต่ร่ำรวยน้ำใจจริงๆ ความกันดารของศรีษะเกษ ได้หล่อหลอมและสั่งสอนสั่งสม อะไรมากมายในรูปแบบความคิดและมีอิทธิพลต่อวิธีมองชีวิตของผมมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นวัยเด็กที่มีค่าและบางครั้งก็หายหล่นไปในความทรงจำเป็นช่วงๆ วันนี้ เห็นคำว่า "ศรีษะเกษ" โผล่ขึ้นมา ความคิดเลยกระเจิงไปนิด ก็เอามาเพ้อพกกันดังๆ อืม ... คำถามคุณจึงทำให้เกิดรอยยิ้มและความสุขเล็กๆในความทรงจำของผม

เอาล่ะ เพ้อพกมาเยอะแล้ว มาตอบคำถามคุณดีกว่า ...

ก่อนอื่น ขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ปิโตรฯ เป็นวิศวกรไฟฟ้ากำลังที่ทะลึ่งมาขุดน้ำมันโดยบังเอิญ จำขี้ปากคนโน้นคนนี้ทีมาตอบ ผสมๆกับความรู้ทางเศรษศาสตร์ที่เรียนมาตอนป.โท เอามาตอบคุณ เรามาว่ากันเป็นข้อๆเลยดีกว่าเนอะ ...

ประเทศเรามีน้ำมันเยอะไหมคะ

คำตอบอยู่ที่นี่ครับ ผมเขียนตอบไว้นานแล้ว
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=nong-fern-daddy&month=02-05-2008&group=6&gblog=2

แล้วพอสูบขึ้นมากว่าจะนำมาใช้เติมให้รถได้มันมีค่าใช้จ่ายแพงมากไหม

ดูตามแผนภาพข้างล่างนี้เลยครับ





ที่มา ... อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก บริษัท ปตท. จากัด (มหาชน) ในงาน "ศักยภาพและสถานการณ์ด้านปิโตรเลียมของประเทศและราคาพลังงานไทย ความเข้าใจ และภูมิปัญญาวิศวจุฬาฯ สู่การปฏิรูปพลังงานไทย 11 มีนาคม 2557"

จะเห็นว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นที่เรารับมานั้นไม่แตกต่างกันเลย แล้วมันแพงเพราะอะไร ดูกราฟก็คงตอบได้ ถามต่อว่า แล้วข้อมูลในกราฟ ตัวเลขต่างๆเชื่อได้แค่ไหน ก็ต้องตอบตรงๆว่าผมก็ไม่สามารถยืนยันความถูกต้องในข้อมูลของคุณ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ แต่ผมเชื่อว่า ที่เขาเอามานำเสนอในวงกว้างที่มีทั้งผู้รู้มากมายในเชิงลึกของข้อมูล เขาก็ต้องมั่นในการถูกตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในระดับหนึ่งล่ะ สมมติว่าคลาดเคลื่อน +/- 20% ในส่วนข้อมูลเชิงปริมาณ(quantitative) แต่ข้อมูลเชิงคุณภาพ (qualitative) ก็สื่อข้อเท็จจริงในระดับหนึ่งล่ะครับ

ทำไมน้ำมันจึงแพง เพราะบ้านเกิดที่ศรีสะเกษมีการปลูกข้าวเราก็ไม่เดือดร้อนกับราคาข้าวสารเพราะผลิตข้าวเอง แต่นี่ประเทศเรามีน้ำมัน แต่ทำไมประชาชนต้องซื้อแพง

คำตอบนี้มีสองส่วนประกอบกันครับ

ส่วนแรก ... ต้นทุนการผลิต

ผมขอพูดภาษาบ้านๆเลยนะครับ จะได้เข้าใจง่ายๆ เราไม่มีน้ำมันครับ จริงๆมี แต่จิ๊ดเดียว และคุณภาพก็ไม่ได้ดีอะไร (เจอค่าปรับคุณภาพก็อ้วกแล้ว) เมื่อเทียบกับความต้องการน้ำมันของประเทศ เรามีแต่ก๊าซ เราซื้อน้ำมันมาใช้ครับ อันนี้ ชัดๆ ไม่มรใครเถียงแน่ๆ งั้นผมเปลี่ยนคำถามว่า ทำไมต้นทุนก๊าซเราแพง ทั้งๆที่เรามีก๊าซเป็นของตัวเอง อันนี้ผมก็ตอบได้ง่ายๆอีกครับว่า เรามีเองจริง แต่การจะเอาขึ้นมามันต้องใช้เทคโนฯที่เราไม่มีครับ เราต้องไปทำสัญญาปิโตรฯ(petroleum contract) ที่มีหลายรูปแบบมาก เพื่อให้เอกชน(ทั้งในและนอกประเทศ) มาเอาขึ้นมา แล้วมันก็แพง เทียบกับข้าวก็ได้ครับ เราปลูกข้าวเองจริงครับ มีพันธ์ข้าวเอง แต่ ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง(เคมี) เราซื้อมาใช่ไหมครับ มันก็รวมลงไปในต้นทุนการปลูก(ผลิต)ข้าว อ้าว ก็ข้าว เรายังมีทางเลือกที่จะใช้ปุ๋ยและกำจัดแมลงแบบไม่ใช้สารเคมี เราก็ไม่ต้องพึ่งบ.ขายปุ๋ยขายยาฆ่าแมลงนี่นา จริงครับ ผมไม่เถียง แต่ความจริงอันน่าเศร้าคือ ในการผลิตก๊าซเราไม่สามารถใช้เทคโนฯทางเลือกแบบบ้านๆได้ครับ เราไม่สามารถใช้เสียม ใช้จอบ หรือ เทคโนฯที่เรามีเอามันขึ้นมาได้

เราปลูกข้าว นาเรา สีข้าวด้วยเแรงงานคน ตำเอา ฝัดเอา เราก็มีข้าวกิน ไม่ต้องซื้อ แต่ก๊าซมันอยู่ใต้ดิน ขุดด้วยเสียมด้วยจอบแบบขุดมันแกวมันเทศไม่ได้น่ะครับ พูดแบบกวนโอ๊ยๆก็เหมือนหมาเป็นเจ้าของปลากระป๋อง เป็นเจ้าของจริง แต่ต้องไปซื้อไปจ้างคนมาเปิดให้กิน

อ้าว ... ก็เรามีบ.ไทยๆอย่าง ปตท.สผ.นี่ครับ เราก็น่าจะทำเองได้หมด ผิดครับ ปตท.สผ.เป็นผู้ประกอบการที่ก็ต้องพึ่ง(ซื้อ+จ้าง)บ.ที่ขายและให้บริการโดยใช้เทคโนฯที่เราไม่มี ในราคาซื้อราคาจ้างตลาดโลก ค่าซื้อของค่าจ้างเหล่านี้ต่างหากครับ ที่ทำให้ราคาต้นทุนการเอาก๊าซขึ้นมา(lifting cost)แพง ทั้งที่ตัวก๊าซนั้น "ฟรี" เพราะมันอยู่ใต้ถุนบ้านเรา

เอ๊ะ ... เราให้สัปทานฯกับบ.ต่างๆมาเอาขึ้นมา เราบีบคอเขาให้ขายให้เราคนเดียวในราคาที่เราตั้งเองไม่ได้เหรอ ก็ของมันอยู่ใต้ถุนบ้านเรา ของก็ของเรานี่นา ... ใช่ครับ เรากำหนดเงื่อนไขแบบนั้นได้ แต่พอบ.ต่างๆเห็นเงื่อนไขเราแล้ว ดีดลูกคิด ป๊าบๆ lifting cost ลิตรล่ะ 100 บาท เจ้าของประเทศจะบีบไข่ตูให้ขายมัน ลิตรล่ะ 60 บาท (ตัวเลขสมมุติ) โอ้ย ตูไม่ประมูลไม่ร่วมสังฆกรรมดีก่า นี่ไงครับ มันอารมณ์นี้อ่ะครับ แมวที่ไหนจะมาเอาสัมประทานที่เงื่อนไขที่ทำให้เขาเจ๊ง อ้าว เราก็ตั้งบ.ขึ้นมาเองเลย พี่ปตท.สผ.นี่ไง มาเอาไปทำ แล้วขายให้ประเทศลิตรล่ะ 60 บาท แล้วไงล่ะครับ ปตท.สผ. ก็ต้องซื้อของจ้างบ.รับเหมาช่วงที่ชำนาญการพิเศษด้านต่างๆต่อในราคาตลาดโลก (ในราคาที่ไม่ต่างกับบ.ต่างชาติจ้างมากนัก) เอาว่าค่าตัวนักธรณีไทยวิศวกรไทยถูกกว่าฝรั่งหัวขาว(น่าน้อยใจเล็กๆ ฮือๆ) แต่ค่าของ ค่าบ.ให้บริการอื่นๆมันก็ไม่ต่างกัน สรุป ติต่างว่า lifting cost ของ ปตท.สผ.ลิตรล่ะ 90 บาท (ถูกกว่าบ.ต่างชาตินิดหน่อย เพราะเราจ้างคนไทยประกอบการ) บีบคอช๊อตไข่ให้ขายให้ประเทศ ลิตรล่ะ 60 บาท ... แล้วจะเอาที่ไหนจ่ายเงินเดือนให้คนทำงานที่เป็นคนไทยตาดำๆที่กินข้าวน้ำพริกปลาทู ไม่ได้กินแฮมเบอร์เกอร์ ล่ะครับ แมวที่ไหนจะมาทำงานให้บ.ในเงื่อนไขที่ทำงานฟรีแล้วยังต้องจ่ายตังค์ให้บ.ลิตรล่ะ 90-60=30 บาท (คูณจำนวนลิตรที่ขายให้ประเทศหารด้วยจำนวนพนักงานในบ.) ต่อคน

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้จ๊ะ โยม ... (เฉพาะในส่วนของต้นทุนการผลิตนะเนี่ย)

ส่วนที่สอง ... กลไกตลาด

เอาล่ะ พอเราเอามันขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะโดยปตท.สผ.หรือบ.ต่างชาติเอาขึ้นมา (แล้วบีบไข่บังคับขายในราคาที่เราต้องการไม่ได้) แล้วจะตั้งราคากันยังไงล่ะทีนี้

นึกถึงสินค้าง่ายๆในอำเภอเล็กๆ เอาหมูปิ้งดีกว่า หมูก็หมูเราเลี้ยงเอง เพาะพันธุ์เอง กินอึ กินหยวกกล้วย กินรำ(ที่มาจากการปลูกและสีข้าวเอง) เศษอาหารใต้ถุนเรือนเราเอง พ่ออีหนูเชือดเอง ปิ้งย่างเอง ไม้เสียบก็เอามากอไผ่ตัดจากที่ปลูกข้างบ้าน ค่าแรงก็เกณฑ์เด็กๆลูกหลาน (ที่ปั๊มปรู๊ดๆ คลอดออกมากันเอง 555) จะเห็นว่า เกือบไม่ต้องพึ่งพาอะไรจากภายนอกเลย (high local content สุดๆ)

งั้นเราก็ควรตั้งราคาเองได้ใช้ป่ะ .... อยากได้กำไรเท่าไร ตั้งราคาขายเองโลด ...

ผิดอะครับ ... ขึ้นอยู่กับอำเภอนั้นมีคนขายหมูปิ้งเหมือนเรากี่คน แต่ล่ะคนทำขายได้คนล่ะกี่ไม้ และ คนทั้งอำเภอต้องการซื้อรวมทั้งหมดกี่ไม้ ดูกันทีล่ะกรณีเลยครับ

1. มีเราขายคนเดียวปิ้งกันหน้าดำหน้าแดงได้สุดๆวันล่ะ 100 ไม้ เอาไปขายที่ตลาดยายแม้น คนทั้งอำเภอแห่กันมาซื้อทั้งวันต้องการวันล่ะ 120 ไม้ ... แบบนี้ เราโขกราคาสุดๆ ทำไรบานทะโล่ เหมือน โทรฯมือถือสมัยก่อนนู้นนนนนที่เจ้าขอ(คนที่คุณก็รู้ว่าใคร)รวยพุงอืดพุงหลามไป

2. เราปิ้งได้มากสุดวันล่ะ 50 ไม้ มีอีกสามเจ้าปิ้งได้วันล่ะ 20 20 10 ไม้ (รวม 100 ไม้) คนทั้งอำเภอต้องการจะซื้อวันล่ะ 100 ไม้ แบบนี้เราก็โขกไอ้พวกตื่นสายได้อีกเหนาะๆ เพราะพวกตื่นเช้าเอา 50 ไม้จากรายย่อยไปหมดในราคาต่ำ พวกตื่นสายก็ต้องกัดฟันโดนเราจิ้มสะดือฟันพุงกะทิไปตามระเบียบ ก็คล้ายๆตอนที่มือถือเรามีเจ้าใหญ่รายนึง เจ้าเล็กๆ อีก 2-3 เจ้าที่ถูกบังคับให้มีหมายเลขบริการจำกัด

3. คราวนี้ถ้าเราปิ้งได้วันล่ะ 20 ไม้ อีก 3 เจ้าปิ้งได้วันล่ะ 60 10 10 ไม้ (รวม 100 ไม้) คนทั้งอำเภอไปตลาดยายแม้นต้องการซื้อวันล่ะ 80 ไม้ ซวยล่ะซิคราวนี้ ปิ้งเอง ต้นทุนก็คุมเองได้หมด ตั้งราคาขายตามใจได้ป่ะ ขืนไปโขกราคา คนซื้อก็ไปซื้ออีก 3 เจ้านั่นหมดอิ

ฯลฯ ครับ จะยกตัวอย่างอีกกี่กรณีก็ได้ สุดท้ายมันขึ้นกับว่า เราปิ้งได้กี่ไม้ มีคนอื่นขายอีกกี่เจ้า ปิ้งกันได้เจ้าล่ะกี่ไม้ และทั้งอำเภอต้องการจะซื้อกี่ไม้ (ในช่วงเวลาหนึ่งๆ) เราเรียกกลไลนี้ว่า กลไกราคา ฟังดูหรูหราไฮโซไฮซ้อ แต่ถ้าให้ดูหรูขึ้นไปอีก เราเรียกว่า ระบบตลาดเสรี หรือ ระบบอุปสงค์อุปทาน ราคาก๊าซเราก็อยู่ภายใต้มือที่มองไม่เห็นนี่แหละครับ คิดดูขนาดราคาหมูปิ้งที่เราทำเองได้หมด เรายังกำหนดราคาไม่ได้เลย นับประสาอะไรกับราคาข้าว ราคายาง ราคาก๊าซ เราอาจจะบิดเบือนได้นิดหน่อย แต่ก็ในช่วงเวลาสั้นๆ โดยการบริหารจัดการราคา ฤดูกาล สินค้าคงคลัง อัตราแลกเปลี่ยน สนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ฯลฯ แต่ในระยะยาว ก็ต้องตกอยู่ใต้กลไกมือที่มองไม่เห็นนี่อยู่ดีครับ

แวะมาดูตลาดยายแม้นกันหน่อย ยายแม้นปลูกข้าว ทำไร่ไม่เป็น แต่บังเอิญมีที่แปลงนึงอยู่ในอำเภอ แบ่งเป็นบล๊อกๆ ให้เช่ารายวัน ขายหมูขายปลาขายผักโอเลี้ยงโจ๊ก มากมายจะขาย รวมไปถึงหมูปิ้ง ใครมีค่าเช่า ก็มาเช่าที่ขายได้ ด้วยทำเลที่อยู่หลังสถานีรถไฟประจำอำเภอ(นึกถึงภาพตลาดหลังสถานีรถไฟศรีษะเกษเมื่อ 35 ปีก่อนเลยอะ คิดถึงๆ) คนก็มาเช่าที่แกเต็มพรืดๆทุกวัน มีชื่อว่าเป็นตลาดประจำอำเภอ ชื่อดังไปถึงอำเภอข้างเคียงในจังหวัดเดียวกันและต่างจังหวัด แกเลยเดินเก็บค่าที่ไปวันๆ ไม่ต้องปลูกข้าวเลี้ยงปลาก็มีกินสบายไปแปดชาติ แกก็ตอบแทนด้วยการ จัดที่จัดทาง เก็บขยะให้สะอาดสะอ้าน จักที่จอดรถสามล้อถีบ จัดยามดูแลของที่พ่อค้าแม่ค้าทิ้งค้างคืนไว้ ปลอดภัยไม่หาย และ ฯลฯ แลกกับค่าที่ที่แกเก็บรายวัน ใครไม่อยากมาเช่าที่เพราะแพง(ในสายตาคนเช่า) หรือ ไกล เดินทางไม่สะดวก จะไปเช่าที่หลังศาลากลาง หลังโรงพยาบาล หรือ ไม่อยากเช่า ก็ขายหน้าบ้านตัวเองก็ไม่ว่ากัน

อีที่นี้เราจะตั้งราคาหมูปิ้งที่เราจะวางขายหน้าบ้านเรา ไม่ยอมไปขายที่ตลาดยายแม้น แต่เราก็ต้องไปเงี่ยหูฟังว่าที่ตลาดยายแม้นน่ะ เขาขายกันไม้ล่ะเท่าไร แล้วถึงมาตั้งราคาขายของเรา ราคาที่ตลาดยายแม้นมีชื่อสามัญว่าราคาตลาดของอำเภอ แต่เรียกสั้นๆภาษาบ้านๆว่า ราคาตลาดยายแม้น หรือสั้นลงไปอีกว่า ราคายายแม้น ถามซื่อๆโง่ๆว่า ยายแม้นแกไปตั้งราคากลางมะละกอ ข้าว ส้มตำ หมูปิ้ง หรือเปล่า ก็คงไม่ จริงไหมครับ ยายแม้นแค่จัดที่จัดทางให้สะดวกให้พ่อค้าแม่ค้ามาขายกันเอง

คราวนี้มันก็จะมี ตลาดยายแอ๋ว ตลาดลุงเพิ่ม ตลาดโน้นตลาดนี่ อำเภอโน้นอำเภอนี้ ก็ว่าไป สำหรับของหลายๆอย่าง ตามแต่อำเภอไหนจะปลูกจะเลี้ยงจะทำอะไรได้มาก ก็ว่าไป

สำหรับราคาก๊าซ ราคาน้ำมัน นี่ก็เช่นกัน ตลาดยายแม้นในอำเภอเอเชียคือยายสิงค์โปร์ เราก็เลยเรียกว่า ราคาตลาดสิงค์โปร์ นั่นเอง (โดยที่รัฐบาลสิงค์โปร์ไม่ได้ไปตั้งราคาเลย แค่เก็บค่าต๋งและให้ความสะดวกสะบายในการซื้อการขาย เหมือยยายแม้น)

ไหนๆก็ไหนๆ มาดูตลาดอื่นๆบ้าง



ที่มา ... ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ในงาน "ศักยภาพและสถานการณ์ด้านปิโตรเลียมของประเทศและราคาพลังงานไทย ความเข้าใจ และภูมิปัญญาวิศวจุฬาฯ สู่การปฏิรูปพลังงานไทย 11 มีนาคม 2557"

จะเห็นว่า ถ้าโลกเป็นจังหวัดหนึ่ง ในแง่สินค้าที่ชื่อว่า ปิโตรเลียม มี 4 อำเภอใหญ่ๆ ที่มีตลาดกลางปิโตรเลียม โดยที่ชื่อประเทศหรือชื่อเมืองที่เอามาเป็นชื่อตลาดไม่ได้เป็นคนกำหนดราคาของในตลาด เช่น ตลาดดูไบ ก็ยืมชื่อดูไบมาใช้เฉยๆ เหมือนราคากล้วยตลาดลุงเพิ่ม ลุงเพิ่มไม่ได้กำหนดราคากล้วย (WTI = Western Texas Intermidiate รัฐเทกซัสก็ไม่ได้มาตั้งราคา ยืมชื่อมาเฉยๆ) คราวนี้หมูปิ้งเราขายอยู่ใกล้ตลาดยายแม้นที่สุด เราก็ต้องเอาราคากลางหมูปิ้งตลาดยายแม้นมาตั้งราคาหมูปิ้งเรา จะไปเอาราคาหมูปิ้งตลาดลุงก๊วย (ซึ่งอยู่ถัดไป 8 อำเภอ) มาตั้งราคามันก็ดูตลก เพราะลูกค้าเราไอ้มาลุงมีป้าพรก็อยู่ในละแวกตลาดยายแม้น

ราคาหมูปิ้งตลาดลุงก๊วยอาจจะถูกกว่าราคาหมูปิ้งตลาดลุงยายแม้น แต่ถ้ามีคนคิดว่าจะขนใส่ปิ๊กอัพมาแล้วขายในอำเภอตลาดยายแม้นอาจจะไม่คุ้มค่าน้ำมันขนมา หรือ ราคาหมูปิ้งตลาดป้าแอ๋ว(ห่างถัดไป 5 อำเภอ)แพงกว่าหมูปิ้งตลาดป้าแม้น เออ เราไปเอาราคานั้นมาตั้งราคาหมูปิ้งหน้าบ้านเราดีกว่า แล้วเราจะขายได้ไหมล่ะครับ ก็ลูกค้าเราไอ้มาลุงมีป้าพรก็อยู่ในละแวกตลาดยายแม้น มันจะมาซื้อเราไหมล่ะ แล้วคนที่อยู่ตลาดป้าแอ๋วที่ห่างเราไป 5 อำเภอ คงไม่ถ่อมาซื้อหมูปิ้งหน้าบ้านเรา ยกเว้นแต่ค่าหมูปิ้งตลาดยายแม้น + ค่าเดินทางขนส่งมากินหรือขนไปกิน ถูกกว่าราคาหมูปิ้งตลาดป้าแอ๋ว ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เดี๋ยวราคาหมูปิ้งตลาดยายแม้นจะสูงขึ้นเอง ไม่ก็ราคาหมูปิ้งตลาดยายแอ๋วก็ต่ำลง จนไม่คุ้มค่าเหมาปิ๊กอัพมาขนไปขายหรือขนคนมากินแบบข้ามอำเภอ ก็ด้วยฤทธิ์เดชของมือที่มองไม่เห็นนี่เอง

หวังว่าทนอ่านกันมาถึงตรงนี้คงได้คำตอบกันบ้างนะครับ อย่างที่เกริ่นเอาไว้ นี่มันหม้อข้าวผม จะบอกว่าผมแก้ตัวแทนหม้อข้าวผมก็ได้ครับ ไม่ได้บอกให้เชื่อผม 100% บริโภคข้อมูลข่าวสารกันด้วยสติและปัญญานะครับ

นี่ของแถมครับ แหล่งข้อมูลด้านพลังงานไทย

โครงสร้างราคาก๊าซหุงต้มและนํ้ามันเชื้อเพลิงรายวัน มีทุกวันย้อนหลังมากกว่า 10 ปี โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) //www.eppo.go.th/petro/price/index.html

ข้อมูลพลังงานทั้งหมด ปริมาณการผลิต บริโภค นำเข้า ส่งออก นํ้ามัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ไฟฟ้า ฯลฯ ย้อนหลัง 28 ปี !!! โดย สนพ. //www.eppo.go.th/info/index-statistics.html

ข้อมูลเกี่ยวกับสัมปทานปิโตรเลียม การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปริมาณการผลิตรายเดือน มูลค่าการขาย ค่าภาคหลวง การจัดสรรค่าภาคหลวงให้ท้องถิ่น ปริมาณสำรอง ราคาปิโตรเลียม ฯลฯ โดย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ //www.dmf.go.th/index.php

ข้อมูลรายงานการรับ-จ่ายเงินกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง โดย สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) //www.efai.or.th/

ข้อมูลความรู้ด้านพลังงานโดย ปตท. //www.pttplc.com/TH/Media-Center/Energy-Knowledge/pages/Petroleum-Business.aspx

ข้อเท็จจริงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดย ปตท.สผ. //www.pttep.com/th/PTTEP_Fact.aspx

รอบรู้เรื่องพลังงาน โดย เชฟรอน ประเทศไทย //www.chevronthailand.com/business/knowledge/

ที่มา ... นาย เทวินทร์ วงศ์วานิชประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ในงาน "ศักยภาพและสถานการณ์ด้านปิโตรเลียมของประเทศและราคาพลังงานไทย ความเข้าใจ และภูมิปัญญาวิศวจุฬาฯ สู่การปฏิรูปพลังงานไทย 11 มีนาคม 2557"


Create Date : 20 มีนาคม 2557
Last Update : 20 มีนาคม 2557 11:38:04 น. 4 comments
Counter : 1532 Pageviews.

 
ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับพี่นก

เห็นภาพมากขึ้น สำหรับตลาดน้ำมันเมืองไทยเลยครับ (:


โดย: Silence-Jealousy IP: 202.57.132.162 วันที่: 6 พฤษภาคม 2557 เวลา:16:32:29 น.  

 
Silence-Jealousy - ขอบคุณที่ทิ้งรอยมาเยี่ยมเยียนไว้กระทู้หนักๆแบบนี้ :) ความจริงอันน่าเศร้าที่มีรู้แต่แกล้งไม่รู้เยอะครับ


โดย: พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร (Nong Fern Daddy ) วันที่: 8 พฤษภาคม 2557 เวลา:4:50:55 น.  

 
ถ้าเราไม่เก็บเจ้าตัวสีแดง ๆ (ตามกราฟ) อะไรจะเกิดขึ้นครับ

ผมคิดเล่น ๆ ราคาน้ำมันถูกลง ต้นทุนการผลิตถูกลง สินค้าราคาถูกลง ของขายได้ดีขึ้น(เพราะราคาถูก) ประชาชนมีอำนาจซื้อมากขึ้นเพราะทุกอย่างถูกลง รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น(เพราะผู้ผลิตขายของดีมีกำไรจึงจ่่ายภาษีมากขึ้น) ภาษีส่วนนี้น่าจะทดแทนการไม่เก็บตัวแดง ๆ ได้หรือเปล่าครับ ผมคิดจากตักกะที่ว่าน้ำมันเป็นต้นทุนของทุกภาคการผลิต

พี่นกคิดว่าไงครับ


โดย: เอกรินทร์ IP: 61.90.177.243 วันที่: 30 กันยายน 2557 เวลา:13:43:55 น.  

 
เอกรินทร์ - เห็นด้วยคับ ขึ้นกับว่า จะประเมินว่า ตอนไหนรัฐจะได้มากกว่ากัน ระหว่าง 1 เก็บสีแดงๆนั่น หรือ 2 ไม่เก็บแต่ปล่อยให้กลไกมันเป็นไปอย่างที่คุณว่า แล้วรัฐก็จะได้กลับคืนมาอยู่ดี

ถ้าคุณเรียนเศรษฐศาสต์มาบ้าง คงจะคุ้นๆกับวลีที่ว่า "pay me now or pay me later" ก็คล้ายๆกับกรณีนี้แหละครับ ขึ้นกับว่า pay now กับ pay later อันไหนมันมากกว่ากัน มันก็พูดยาก ต่างคนต่างจุดยืนก็ตีความกันไป


โดย: พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร (Nong Fern Daddy ) วันที่: 1 ตุลาคม 2557 เวลา:8:22:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nong Fern Daddy
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 782 คน [?]




... Blog นี้ ...
แด่ ... แม่น้องเฟิร์นและน้องภัทร
เธอ..ผู้เปลี่ยนห้องที่มืดมิดให้สว่างไสวได้ด้วยรอยยิ้ม
เธอ..ผู้อยู่เบื้องหลังความเข้มแข็งและความสำเร็จทั้งมวล
... และ ...
เธอ ... ผู้เป็น "บ้าน" เพียงแห่งเดียวของผม

---------------------------------------------

หรือเพียง "ฝัน" ที่หาญท้าชะตาฟ้า ?

หรือจะเพียง "ศรัทธา" (ที่)ไร้ความหมาย ?

แม้จะเป็นแค่เพียง "ฝัน" จนวันตาย

แต่ผู้ชายคนนี้จะอยู่ข้างเธอ ... ตลอดไป ...

แด่ ... ลูกที่กล้าฝันของพ่อ

Friends' blogs
[Add Nong Fern Daddy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.