==== ก็แค่ผู้ชายธรรมดาๆคนหนึ่ง ที่อยากจะเป็นสามี และ เป็นพ่อให้ได้ดีกว่าที่เคยเป็นเมื่อวาน ====
Group Blog
 
All Blogs
 
ตราบาป และ โรคทางจิตเวช

โดย. พญ.พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์

เมื่อถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางจิต ผู้ป่วยจะถูกตราหน้าตั้งแต่วินาทีนั้นว่าเป็นผู้ป่วยโรคจิต เป็นตราบาปที่ติดตัวผู้ป่วยไปตลอดชีวิต เปรียบเสมือนแผลเป็นบนใบหน้าที่ไม่สามารถลบเลือนได้ ทำให้คนทั่วไปไม่อยากคบหาสมาคม ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับผู้ป่วย มองผู้ป่วยในแง่ลบ ตราบาปนี้จึงมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วย ทั้งในด้านชีวิตประจำวัน สัมพันธภาพกับบุคคลอื่น การหางานทำ การหาที่พักอาศัย การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย สังคมจะพยายามกีดกันผู้ป่วยออกจากกลุ่มของตนเอง ผลกระทบยังมีต่อครอบครัวผู้ป่วยอีกด้วย จากผลเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยพยายามปกปิดอาการของตน ไม่ยอมรับการรักษา ไม่กล้าพบจิตแพทย์ ก็ยิ่งจะทำให้อาการผู้ป่วยรุนแรงมากขึ้น สังคมก็ยิ่งหวาดกลัวและรังเกียจผู้ป่วยมากขึ้น เป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป นอกจากนี้บุคลากรทางจิตเวชก็มักจะถูกผลกระทบนี้เช่นกัน ดังเช่น จิตแพทย์และโรงพยาบาลจิตเวชมักจะถูกล้อเลียนและเป็นตัวตลกอยู่เสมอ

ในสมัยก่อน การป่วยด้วยโรคทางจิตเวชเชื่อกันว่าเกิดจากการสิงสู่จากสิ่งชั่วร้าย ต่อมาความเชื่อได้เปลี่ยนไป คิดว่าเกิดจากความอ่อนแอทางจิตใจของผู้ป่วย เกิดจากความขัดแย้งของจิตใต้สำนึกตั้งแต่วัยเด็ก ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้แก้ไขด้วยตัวเองให้ดีขึ้น เป็นตราบาปที่ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบ

ผู้ป่วยวัณโรค โรคเรื้อน โรคลมชัก ในยุคก่อน ก็เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ ถูกตีตราบาปและมีผลกระทบเหมือนผู้ป่วยจิตเวช แต่ปัจจุบันแนวความคิดได้เปลี่ยนไปมาก เนื่องจากมีการรักษาที่ได้ผลดีขึ้น แต่สำหรับผู้ป่วยจิตเวชถึงแม้ว่าจะมีวิธีการรักษาที่ดีขึ้น หรือแม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม ตราบาปสำหรับผู้ป่วยจิตยังคงอยู่ตลอดไป

ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดตราบาปในผู้ป่วยจิตเวช เนื่องจาก

1. ตัวผู้ป่วยเอง
ผู้ป่วยบางคนมีพฤติกรรมแปลกๆ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ทำให้คนอื่นตกใจกลัว หรือบางครั้งมีพฤติกรรมและการตัดสินใจที่ไม่เหมาะสม เป็นที่น่าขบขันหรือน่ารำคาญ ทำให้คนทั่วไปยากที่จะยอมรับได้

2. ทัศนคติของบุคลากร
ในโรงพยาบาลจิตเวช ทั้งจิตแพทย์และทีมผู้รักษา ได้เสริมตราบาปที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวช ตึกจิตเวชมีลักษณะโครงสร้างตึกเฉพาะไว้สำหรับควบคุมพฤติกรรมของผู้ป่วย เช่น มีลูกกรงล้อมรอบ มีห้องแยก โดยอ้างว่าเพื่อการรักษาและเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลจะถูกตัดสิทธิ์ส่วนตัวต่างๆ นานา และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของตึก ต้องเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ตามที่กำหนด ซึ่งแตกต่างไปจากชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยต้องทานอาหารตามเวลาที่โรงพยาบาลกำหนด คือ 08.30, 11.30 และ 16.30 น. ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ไม่มีใครทานอาหารห่างกันเพียง 3-4 ชั่วโมง เช่นนี้ ถ้าผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานอาหาร ก็จะถูกประเมินว่าไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา เป็นต้น

นอกจากนี้ในโรงพยาบาลทั่วไป ผู้ป่วยยังมีสิทธิจะดูโทรทัศน์ คุยโทรศัพท์ในห้องส่วนตัวตามความต้องการได้ แต่สำหรับผู้ป่วยจิตเวชไม่สามารถทำได้ แม้ว่าผู้ป่วยจะอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม เนื่องจากกลัวว่าผู้ป่วยจะทำร้ายตัวเองด้วยสายไฟฟ้าหรือสายโทรศัพท์ หรือเกรงว่าผู้ป่วยควบคุมตัวเองไม่ได้ จะโทรศัพท์ไปรบกวนญาติ เป็นต้น

3. แพทย์ทั่วไป
ในโรงเรียนแพทย์ นักศึกษามักจะพบผู้ป่วยจิตเวชที่เรื้อรัง รักษาไม่หาย เมื่อจบเป็นแพทย์ ได้พบผู้ป่วยทั่วไปที่เริ่มมีอาการทางจิต ก็ไม่สามารถวินิจฉัยและรักษาได้ เพราะจากประสบการณ์รู้สึกว่า ผู้ป่วยจิตเวชจะต้องมีอาการหนักมีสภาพเสื่อมถอยชัดเจน และจะวินิจฉัยโรคได้ยากขึ้น ถ้าผู้ป่วยเป็นคนมีความรู้หรือมีเศรษฐานะดี เพราะรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้ไม่น่าจะป่วยได้

4.วิธีการรักษา
การรักษาด้วยไฟฟ้า ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้ผลดีมาก สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายอย่างรุนแรงได้ แต่คนทั่วไปรวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์เอง มองว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว ป่าเถื่อน และจะใช้เป็นวิธีสุดท้ายในการรักษา หรือการรักษาด้วยยา ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับไม่ได้ เพราะสังคมจะมองว่าผู้ที่ป่วยทางจิตเป็นที่อ่อนแอ ไม่มีความสามารถ แก้ไขปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ ถ้าผู้ป่วยเข้มแข็งกว่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาทางจิตเวชแล้ว

5. ตราบาปทางสังคม
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผู้ป่วยจิตเวชนั้นอันตราย ก้าวร้าว ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้ว มีผู้ป่วยจิตเวชเพียง 3% เท่านั้น ที่จะมีพฤติกรรมรุนแรงได้ แต่จากสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์จะมีภาพยนตร์ที่แสดงถึงอันตรายจากผู้ป่วยจิตเวชถึง 77% หรือมีข่าวอาชญากรรมที่กระทำโดยผู้ป่วยจิตเวช จะมีการประโคมข่าวอย่างครึกโครม ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงมีเพียงจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับคดีอาชญากรรมที่เกิดจากการกระทำของคนปกติทั่วไป

ในชุมชนเราอาจจะมองเห็นผู้ป่วยจิตเวชแต่งตัวแปลกๆ พฤติกรรมแปลกๆ เดินตามท้องถนน คนส่วนใหญ่จะพยายามเดินหนีไปและปล่อยให้ผู้ป่วยเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าเราพบเห็นคนเป็นลม บาดเจ็บ จะมีคนเข้าไปช่วยเหลือรีบนำส่งโรงพยาบาล นั่นก็คือ จริงๆ แล้วสังคมต้องการปล่อยผู้ป่วยจิตเวชไปตามยถากรรม ไม่สนใจดูแลคนกลุ่มนี้ และไม่ยอมรับเข้าสู่สังคมของตนเอง

ในอดีต เรารักษาผู้ป่วยจิตเวชโดยวิธีวิเคราะห์ ซึ่งผู้ป่วยต้องพบนักจิตบำบัดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมงหรือมากกว่า โดยให้ผู้ป่วยพูดอย่างอิสระ นอนอยู่บนเตียง มีนักจิตบำบัดนั่งอยู่เหนือศีรษะ คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าเป็นวิธีที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าจะรักษาได้ผล และยังเชื่อว่าปัจจุบันจิตแพทย์ก็ยังใช้วิธีรักษาแบบเดิมนี้อยู่ ประกอบกับความเชื่อว่าทุกคนควรจะเข้มแข็งและต่อสู้แก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง จึงละเลยที่จะสนใจต่อความก้าวหน้าในวงการจิตเวช และแนวความคิดใหม่ที่ว่า โรคทางจิตเวชนั้นไม่ได้เกิดจากความบกพร่องทางจิตใจของตัวเองแต่เกิดจากความผิดปกติทางกายภาพ เช่น ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ส่วนปัจจัยทางจิตใจและสังคมเป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดอาการป่วย และโรคทางจิตเวชเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ มีวิธีการรักษาหลายรูปแบบด้วยกัน

6. ครอบครัว
เมื่อมีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคทางจิตเวช ครอบครัวมักจะรู้สึกผิด คิดว่าตนเองมีส่วนทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยสมควรจะรับผิดชอบต่อการป่วยนี้ แล้วยังถูกเสริมด้วยความเชื่อของบุคลากรทางการแพทย์ยุคก่อนว่า โรคทางจิตเวชนั้นเกิดจากครอบครัวที่มีปัญหาการเลี้ยงดูเด็กไม่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันเราพยายามเปลี่ยนความเชื่อที่ผิดเหล่านั้น และให้ความรู้ถึงสาเหตุการเกิดโรคทางจิตเวช

โรคทางจิตเวชสามารถทำลายครอบครัวได้ การหย่าร้างพบได้บ่อย สัมพันธภาพในครอบครัวเป็นไปในทางลบและยังมีผลต่อเนื่องถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ครอบครัวต้องรับผิดชอบ ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยจิตเวชจึงไม่ควรเน้นเฉพาะการรักษาด้วยยา แต่ควรจะเน้นถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม และการเตรียมสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม รวมถึงการให้คำแนะนำช่วยเหลือแก่ครอบครัวด้วย

7. การประกัน
บริษัทประกันมักจะไม่ครอบคลุมสำหรับโรคทางจิตเวช เนื่องจากเชื่อว่าเป็นโรคที่เรื้อรัง รักษาไม่หาย ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง และมีผลกระทบต่อบริษัทระยะยาว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดหัวใจ การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังแล้ว ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยจิตเวชนั้นน้อยกว่ามาก

ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรตระหนักว่า ตราบาปที่มีต่อโรคทางจิตเวชนั้นไม่เพียงแต่จะมีผลต่อผู้ป่วยเท่านั้น ยังมีผลต่อครอบครัว สังคม ก่อเป็นปัญหาระดับชาติและระดับโลกทีเดียว

กรณีตัวอย่างผู้ป่วย
ประสบการณ์ของผู้ป่วยและแพทย์
ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 1
ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทมาประมาณ 20 ปี ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด 15 ครั้ง ครั้งที่นานที่สุดประมาณ 1 ปี ในที่สุดผู้ป่วยอาการดีขึ้นอยู่ในช่วงอาการสงบ ได้เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ถึงแม้ว่าอาการทั้งหลายจะดีขึ้น แต่ตราบาปที่มีต่อเขานั้นไม่เคยหายไปเลย เหมือนกับแผลเป็นบนใบหน้าของผู้กระทำความชั่วเป็นตัวบ่งบอกถึงความเลวทราม ความน่าละอาย ที่แตกต่างไปจากคนทั่วไปและทุกคนต้องหลีกหนี เป็นคนที่ไม่น่าเชื่อถือและไว้ใจไม่ได้

ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เมื่อคนอื่นรู้ว่าผู้ป่วยเคยมีประวัติโรคจิตก็จะไม่อยากคุยด้วย พยามยามหลีกเลี่ยงที่จะพบปะกัน มีปัญหาในการหางานทำ ไม่มีคนจ้างงานเมื่อรู้ว่าผู้ป่วยเคยป่วยทางจิตมาก่อน หรือให้ค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐาน มีปัญหาในการหาที่พักอาศัย ผู้ป่วยจึงเรียนรู้ว่าถ้าอยากมีเพื่อนต้องปิดบังประวัติส่วนตัวไว้ ในขณะเดียวกันก็กลัวว่าความลับจะถูกเปิดเผย และถ้าผู้ป่วยไม่ต้องการจะคุยกับใครเวลาเดินทาง ก็จะบอกว่าเคยมีอาการทางจิตเท่านั้นผู้ป่วยก็จะได้พักผ่อนตลอดการเดินทาง

เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ทั่วไปด้วยอาการทางกาย แพทย์ได้ข้อมูลในแฟ้มประวัติว่าเป็นอาการเหลือของโรคจิตเภทแพทย์ก็จะเข้าใจว่า อาการเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน หรืออากรทางกายเหล่านั้น เกิดจากผู้ป่วยคิดไปเอง

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 2
จากประสบการณ์ของผู้เขียนขณะเป็นแพทย์ฝึกหัดทางจิตเวช ได้รับปรึกษาผู้ป่วยหญิงอายุ 60 ปี ด้วยประวัติโรคจิตเภทและเบาหวาน มีอาการซึมลง ไม่พูด ทานอาหารน้อยลง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มาเป็นเวลา 3 วัน แพทย์ที่ห้องฉุกเฉินได้รับปรึกษาจิตแพทย์ โดยไม่ได้ตรวจร่างกายหรือตรวจเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งผู้เขียนได้มาพบผู้ป่วย ได้ ตรวจพบว่าน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยมีเพียง 20 mg% เท่านั้น (ค่าปกติ 80-120 mg%) นี่คือตราบาปว่า เมื่อผู้ป่วยจิตเวชมีอาการใดๆ ก็ตาม ต้องเกิดจากโรคทางจิตเวชเป็นสาเหตุเท่านั้น ถ้าเพียงแต่ผู้ป่วยไม่มีประวัติโรคจิตเภทในแฟ้มประวัติแล้ว ก็คงจะได้รับการรักษาจากแพทย์ห้องฉุกเฉินอย่างรีบด่วน

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 3
ผู้ป่วยเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอารมณ์แปรปรวน ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ผู้ป่วยก็สามารถต่อสู้กับอาการป่วยจิตจนเรียนจบได้ และทำงานด้านจิตเวชชุมชน ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ตราบาปนั้นมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตมากกว่าอาการของโรคที่ผู้ป่วยเป็น พฤติกรรมของผู้ป่วยทุกอย่างจะถูกคิดว่าเป็นผลจากโรคอารมณ์แปรปรวน เช่น ถ้าวันไหนทำงานมาก อารมณ์ดี ก็จะถูกแปลว่ากำลังเริ่มมีอาการคลั่ง ถ้าวันไหนรู้สึกเบื่อๆ เซ็งๆ ก็จะถูกแปลว่ากำลังซึมเศร้า หรือถ้าผู้ป่วยหงุดหงิดจากสาเหตุใดก็ตาม ครอบครัวและเพื่อนร่วมงานก็จะมาถามว่าผู้ป่วยทานยาสม่ำเสมอดีหรือไม่ ต้องการพักผ่อนไหม ในขณะที่คนทั่วๆ ไปนั้น สามารถมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปได้ในแต่ละวัน โดยไม่มีใครมาตัดสินว่าเป็นจากอะไร

แนวทางการแก้ไข

1. การเผยแพร่ความรู้ทางจิตเวชแก่ชุมชน
ดังที่กล่าวมาแล้ว ตราบาปที่มีต่อโรคทางจิตเวชมักจะเกิดจากความเชื่อที่ผิดต่างๆ นานา การเผยแพร่ความรู้ทั้งในด้านสาเหตุการเกิดโรค ว่าเกิดจากสาเหตุทางกายภาพ (ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง) ไม่ได้เกิดจากโรความอ่อนแอทางจิตใจของผู้ป่วยหรือไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่ดี ครอบครัวมีปัญหา เป็นต้น และโรคทางจิตเวชนั้นทางเป็นโรคที่รักษาได้ด้วยวิธีการที่ชัดเจนเป็นเหตุเป็นผล เช่น การใช้ยา การรักษาด้วยไฟฟ้าหรือครอบครัวบำบัด รวมทั้งความสำคัญในการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้ป่วย และความรับผิดชอบของชุมชนต่อผู้ป่วย ยอมรับผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการให้โอกาสผู้ป่วยจิตเวชได้กลับเข้ามาใช้ชีวิตในสังคมอักครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ยังรวมถึงมุมมองที่มีต่อโรคทางจิตเวช เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง ควรจะมองว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพ ไม่ใช่เพราะความเสื่อมทรามทางจิตใจของผู้ป่วย เป็นต้น และการที่มีโรคทางจิตเวชและโรคติดสารเสพติดเพิ่มขึ้น ไม่ใช่สิงเลวร้าย แต่เป็นสิ่งที่ท้าทายสะท้อนให้เห็นปัญหา จะได้หาแนวทางช่วยเหลือและรักษาให้ได้ผลยิ่งขึ้น

2. การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคทางจิตเวช และสร้างทัศนคติที่ดีต่อนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล แพทย์ทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

นักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาล มักจะพบผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการหนัก โดยเฉพาะผู้ป่วยใน ในบางครั้งพบผู้ป่วยก้าวร้าว อยู่ในห้องแยก ทำให้รู้สึกกลัว หรือบางครั้งพบผู้ป่วยที่เรื้อรัง มีประวัติการเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยครั้งทำให้รู้สึกว่าโรคจิตเวชเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และนักศึกษาจะมีโอกาสได้พบผู้ป่วยนอกน้อยมาก ทั้งๆ ที่เมื่อปฏิบัติงานจริงแล้วมีโอกาสพบผู้ป่วยจิตเวชปะปนในโรงพยาบาลทั่วไปเป็นจำนวนมาก จากการศึกษาในประเทศสหราชอาณาจักรพบว่า 9 ใน 10 ของผู้ป่วยจิตเวชจะไปพบแพทย์ทั่วไป และความกลัวในตราบาปของโรคจิตเวชก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าไปพบจิตแพทย์

ดังนั้นควรจะเสริมความรู้โรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยให้แก่นักศึกษา เช่น โรคกลุ่ม Anxiety disorders, กลุ่ม Mood disorder, กลุ่ม Substance use disorders (โดยเฉพาะ alcohol), กลุ่ม Psychotic disorders และกลุ่ม Organic brain syndrome และให้นักศึกษาสามารถให้การรักษาเบื้องต้นได้ โดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉิน เช่น Alcohol withdrawal delirium เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พบปะผู้ป่วยทั้งที่มีอาการมากและอาการน้อย ให้รู้จักการใช้ยาจิตเวชอย่างเหมาะสม ให้เข้าใจการรักษาทางจิตบำบัดและการช่วยเหลือทางสังคม ว่ามีหลักการชัดเจน เป็นเหตุเป็นผล มีความมั่นใจที่จะเลือกวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม จะช่วยสร้างทัศนคติที่ดีได้

แพทย์ทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์เองมักจะรำคาญที่จะต้องพบผู้ป่วยจิตเวช คิดว่าผู้ป่วยจิตเวชขี้บ่น พูดไม่รู้เรื่อง ทั้งที่จริงๆแล้วเป็นความกังวลใจที่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้และไม่ทราบว่าจะจัดการเช่นไร ทำให้เกิดการปฏิเสธผู้ป่วย ยิ่งเป็นตัวเสริมตราบาปให้ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

ดังนั้น จึงควรเสริมสร้างทั้งองค์ความรู้และทัศนคติที่ดีตั้งแต่เป็นนักศึกษา และเมื่อทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยจิตเวชก็จะเกิดความมั่นใจในการช่วยเหลือผู้ป่วย ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากตราบาปที่เกิดขึ้น

3. การฝึกอบรมความรู้แก่บุคลากรทางจิตเวชเกี่ยวกับครอบครัวบำบัด
จากความเชื่อเดิมที่ว่าครอบครัวมีส่วนทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคทางจิตเวช ทำให้บุคลากรทางจิตเวชสมัยก่อนทำครอบครัวบำบัด โดยเน้นเรื่องความบกพร่องในสัมพันธภาพของครอบครัว มองเรื่องความกังวลใจและความไม่ก้าวหน้าในการรักษาว่าเป็นการต่อต้านไม่ร่วมมือของครอบครัว

ปัจจุบันนี้เราควรจะฝึกบุคลากรทางจิตเวช ทั้งทักษะและวิธีการใหม่ที่จะเข้าไปช่วยเหลือครอบครัวของผู้ป่วย โดยถือว่าครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการรักษา การให้ความรู้ทางจิตเวชให้ช่วยเหลือตามความเหมาะสม

ตราบาปและโรคทางจิตเวช
//www.dmh.go.th
Department of Mental Health, Ministry of Public Health,Public Health, กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข


Create Date : 17 มิถุนายน 2557
Last Update : 17 มิถุนายน 2557 14:11:46 น. 0 comments
Counter : 2084 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nong Fern Daddy
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 782 คน [?]




... Blog นี้ ...
แด่ ... แม่น้องเฟิร์นและน้องภัทร
เธอ..ผู้เปลี่ยนห้องที่มืดมิดให้สว่างไสวได้ด้วยรอยยิ้ม
เธอ..ผู้อยู่เบื้องหลังความเข้มแข็งและความสำเร็จทั้งมวล
... และ ...
เธอ ... ผู้เป็น "บ้าน" เพียงแห่งเดียวของผม

---------------------------------------------

หรือเพียง "ฝัน" ที่หาญท้าชะตาฟ้า ?

หรือจะเพียง "ศรัทธา" (ที่)ไร้ความหมาย ?

แม้จะเป็นแค่เพียง "ฝัน" จนวันตาย

แต่ผู้ชายคนนี้จะอยู่ข้างเธอ ... ตลอดไป ...

แด่ ... ลูกที่กล้าฝันของพ่อ

Friends' blogs
[Add Nong Fern Daddy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.