Group Blog
 
All blogs
 
เซียนหุ้นหน้าหยก 'กิติชัย เตชะงามเลิศ' พอร์ตหุ้น 400 ลบ. ตอนที่3


ในสนามอสังหาฯ กิติชัย คือ 'นักเก็งกำไร' ตัวยง แต่ในสนามหุ้นเขาคือ'นักลงทุน' ที่รอบคอบทุกฝีก้าว ไม่รีบตะครุบเหยื่อโดยไม่รู้จักเหยื่อนั้นดีพอ
"กิ๊ด" หรือ กิติชัย เตชะงามเลิศ เซียนหุ้นวัย 40 เจ้าของพอร์ตหุ้นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ไม่เสี่ยงโดยไม่เข้าใจความเสี่ยงการเดินทางในตลาดหุ้นของเซียนหุ้นหน้า หยกรอบคอบทุกฝีก้าว ส่วนหนึ่งอาจมี "โชคช่วย" แต่หากขาด "ฝีมือ" ไม่มีทางที่จะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เขาย้อนมองกลับไปพร้อมกับพูดถ่อมตัวถึงความสำเร็จที่ได้มา

"ผมมีความรู้สึกว่าคนเรา "เก่ง" อย่างเดียวไม่พอ มันต้อง "เฮง" ด้วย"

"กิ๊ด" เปิดประเด็นพร้อมยกตัวอย่าง เสี่ยตันโออิชิ เขาทั้งเก่งทั้งเฮงคุณตันเริ่มจับธุรกิจชาเขียวก่อนคนอื่นแล้วการที่เขาขาย หุ้นโออิชิให้แก่คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ในราคา 32.50 บาท หลังจากนั้นหุ้น OISHI ก็ลงไป 15.70 บาท เสียดายที่เขาไม่ได้ซื้อกลับเพราะหลังจากนั้นราคาขึ้นไป 105 บาท

"ผมว่าเขาไม่ได้เสียดายเพราะว่าคุณตันเอาเงินที่ขายหุ้นได้ไปซื้อหุ้น บริษัทเพลินจิตอาเขต เป็นเจ้าของที่ดินตรงถนนเพลินจิต ปัจจุบันเขาน่าจะขายที่ดินตรงนั้นไปแล้วตารางวาละ 1.2 ล้านบาท ไทม์มิ่งเขาดีมากขายหุ้นโออิชิมาซื้อที่ดินแล้วที่ดินก็ราคาขึ้นเอาๆ หลายครั้งที่ผมมองดูชีวิตของคนที่ประสบความสำเร็จหลายๆ คน ต้อง "เก่ง+เฮง" ถ้าเลือกระหว่างเก่งกับเฮง ผมว่าเฮงดีกว่าเก่ง เพราะคุณเก่งแต่บางทีคุณไม่มีโอกาส หรือบางทีคุณไม่มีทุนในจังหวะที่โอกาสมันมา คุณก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าคุณเฮงอยู่เฉยๆ ก็มีโอกาสวิ่งเข้ามาหาเอง"

กิติชัย ยกตัวอย่างหุ้นไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต (SCNYL) หุ้นตัวนี้มีสภาพคล่องต่ำมากวันหนึ่งซื้อขายระดับ "ร้อยหุ้น" แต่ตอนที่อยากซื้อใช้เวลาเก็บไม่นานได้หุ้นมา 200,000 หุ้น เพราะมีคนอยากขายพอดีไม่น่าเชื่อ

การลงทุนของเขาจะมีหลักการคัดเลือกหุ้นดังนี้คือ 1.จะดูประเภทธุรกิจก่อน ธุรกิจไหนน่าสนใจค่อยลงลึกไปดูว่าในธุรกิจนี้ในอุตสาหกรรมนี้มีบริษัทไหนที่ น่าสนใจบ้างแล้วคัดหุ้นออกมา 2.เจาะลึกลงไปดูแต่ละบริษัทว่าผลประกอบการย้อนหลังในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จากนั้นถึงจะคัดหุ้นตัวที่โอเคที่สุดมาไว้ในจอมอนิเตอร์

"ผมจะแกะงบดูรายละเอียด ดูรายได้รายจ่ายกำไรว่ามาจากไหน แล้วดูรายไตรมาสว่าไตรมาสไหนดี ฤดูกาลไหนไม่ดี จากนั้นก็เลือกเอาเฉพาะตัวที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมนั้นมาเก็บๆ ไว้อยู่ในจอเรดาร์ ในมุมมองของผมธุรกิจประกันชีวิตกับโรงพยาบาลดีที่สุดแล้ว ในระยะยาวยังไม่เห็นว่าธุรกิจอะไรจะดีเท่า 2 ธุรกิจนี้"

ถ้าดูจากรายชื่อหุ้นที่ถือ (BGH, BLA, SCNYL และ NBC) กิติชัย บอกว่าอาจจะคล้ายๆ แวลูอินเวสเตอร์เหมือนกันเพราะเวลาที่จะซื้อหุ้นจะมีเกณฑ์คือ 1.จะเลือกหุ้นที่พื้นฐานดี และ 2.ราคาต้องถูกกว่าปัจจัยพื้นฐาน ส่วนจังหวะเข้าซื้อขายจะใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเข้าช่วย สมัยก่อนมี 30-40 ตัวในจอเรดาร์ แต่ตอนนี้คัดออกเหลือ 20-30 ตัว จะคอยติดตามอยู่เรื่อยๆ ทั้งราคาและผลประกอบการ

กิติชัย กล่าวว่า จะดูกราฟทุกวันโดยเลือกดูเฉพาะหุ้นที่ถูกเลือกมาอยู่ในกลุ่มที่ต้องจับตามอง เป็นพิเศษว่าราคาหุ้นใกล้ "แนวรับ-แนวต้าน" หรือยัง ส่วนเครื่องมือทางเทคนิคที่ใช้อยู่เป็นประจำหลักๆ จะดู 3 ตัว คือ Moving Averages (เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่) RSI และ MACD บางครั้งก็จะดู Stochastics บ้าง

"ถ้าเป็น MACD จากประสบการณ์ถ้ามันตัดขึ้นยิ่งใกล้ๆ เส้น 0 ความน่าเชื่อถือจะสูงมาก ถ้าตัดอยู่ใต้ 0 นิดหนึ่ง หรือเหนือ 0 นิดหนึ่ง หรือตรง 0 พอดี มั่นใจ 99% มีความแม่นยำค่อนข้างมากทั้งตัดลงหรือตัดขึ้น ส่วนตัวอื่นก็จะดู Convergence กับ Divergence ประกอบกับการดู Bar Chart ถ้าเป็น Bullish Divergence สมมติเกิด 2 ครั้งแล้วน่าซื้อแล้วนะ ค่อนข้างชัวร์ ถ้า RSI 80-90 ก็ต้องระวังแล้วอยู่ในเขตซื้อมากเกินไป ส่วนใหญ่ถ้าเป็นรายตัวจะดูกราฟ Day กับ Week เป็นหลัก ส่วนกราฟ Month จะใช้ดู SET มากกว่า"

เลือกหุ้นได้แล้ว ดูแนวรับ-แนวต้านรู้จังหวะเข้าซื้อแล้วจากนั้น กิติชัยจะทำการกำหนดวงเงินคร่าวๆ ว่า จะซื้อเท่าไร ถ้าซื้อเกินจากที่วางแผนอาจจะเป็นเพราะเทคนิคมันฟ้องว่าราคากำลังจะไป ส่วนที่เกินจะเป็นการเก็งกำไรเท่านั้น ถ้าขาดทุนกรณีเข้าผิดจังหวะก็จะ Cut Loss ออกเฉพาะส่วนที่ซื้อเกินจากที่ตั้งใจ โดยถือเกณฑ์ 10% เป็นจุดตัดขาดทุน

ถามว่าหุ้น SCNYL ต้นทุน 70 บาท ราคาขึ้นมา 500-600 บาท กำไรเยอะแยะแล้วทำไมถึงไม่ขายหรือว่า "โลภ" ถือมานานตั้ง 4 ปี เขากล่าวว่า บริษัทประกาศผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส เพราะความที่อัตราส่วนทางการเงินถูกกว่าตลาดมาตลอดพอกำไรขึ้นทีราคาหุ้นก็ ขึ้นที

"ถ้าเจอหุ้นแบบนี้ไม่รู้จะรีบขายไปทำไม ผมให้เหตุผลกับตัวเองไม่ได้ว่าผมขายหุ้นที่ดีในราคาที่ถูก แล้วผมไปซื้อหุ้นในตลาดที่ราคาแพงกว่า ผมบ้ารึเปล่า! มันให้เหตุผลกับตัวเองไม่ได้ ผมจะบอกตัวเองว่าไม่ขาย..ไม่ขาย..ไม่ขาย"

ถามต่อว่าทำไม! เวลาซื้อคอนโดถึงมองในลักษณะ "เก็งกำไร" เขาบอกว่าเพราะคอนโดเวลาเราขาย "เราขายราคาตลาด ในราคาที่เหมาะสม" แต่ถ้าเป็น "หุ้นดี" กำไรเพิ่มขึ้นๆ ตราบใดที่ราคายัง "ถูกกว่า" ราคาเหมาะสมไม่ใช่รีบขายสมควรจะ "ซื้อเพิ่ม" ด้วยซ้ำ แต่ที่ไม่กล้าซื้อ (หุ้น SCNYL) เพิ่มเพราะว่าหุ้นมีสภาพคล่องต่ำมากเวลาจะขายไม่รู้จะขายใครดี

สมัยก่อนบางวันเคยมีกำไร 4-5 ล้านบาท ขาดทุนก็ขาดทุนเยอะ แต่ถึงจะเก็งกำไรอย่างไรแต่ไม่เคยไปเล่นหุ้นปั่นที่ไม่มีพื้นฐานเขาจะไม่ ตะครุบเหยื่อโดยไม่รู้จักเหยื่อนั้นดีพอ เจ้าตัวเล่าประสบการณ์เล่นเก็งกำไร "หุ้นผีบอก" ให้ฟัง

"ผมเคยเล่น ESTAR มีคนมาบอก เขาบอกสองตัวแรกถูกหมดตัวที่สามก็เลยซื้อตาม แต่เรารู้ว่าเป็นหุ้นเก็งกำไรก็เลยซื้อนิดเดียว ซื้อเสร็จรอบแรกกำไร ราคาลงมาก็ซื้ออีกรอบที่สองก็กำไรแต่เล่นนิดเดียว ราคาลงมารอบที่สามได้ใจซื้อเยอะเลย รอบนี้ผิดทางขาดทุน 10% Cut Loss ทิ้งเลย สรุปว่ากำไรสองรอบแรกไม่พอขาดทุนรอบหลัง"

ถามว่าลักษณะตลาดหุ้นแบบไหนเล่นง่ายเซียนหุ้นร้อย ล้าน กล่าวว่า ตลาดหุ้นจริงๆ แล้วในทุกสถานการณ์สามารถที่จะหากำไรได้หมด บางจังหวะอาจจะได้กำไรทันที บางจังหวะอาจจะซื้อแล้วต้องถือรอ

"อย่างเช่นตลาดขาลงถ้าช่วงนั้นผมมีหุ้นอยู่ในพอร์ตน้อย ผมจะรู้สึกเหมือนว่าผมจะได้ไปงานปาร์ตี้สนุกๆ เพราะว่าถ้าเราสามารถซื้อหุ้นดีๆ ได้ในราคาถูกผลตอบแทนจะสูงมาก แต่ต้อง "ถือรอ" จนตลาดกลับมาดี หรือช่วง 1-2 ปีนี้ที่หุ้นเป็นขาขึ้นตลอดมันก็ดีเพราะเราเล่นเราก็ได้กำไร หรือถ้าเป็นตลาดไซด์เวย์ข้อดีที่ผมชอบคือจะเป็นช่วงของการ "เก็บของ" เข้าพอร์ตไม่ต้องไล่ราคามากนัก"

กิติชัย บอกว่า ในมุมมองของตัวเองไม่ว่าตลาดจะอยู่ในช่วงไหนก็สามารถทำกำไรให้เราได้ ถ้าดูกราฟตลาดเป็นขาลงก็อาจจะลดพอร์ตถือหุ้นน้อยหน่อยแล้วคอยจังหวะซื้อกลับ แต่ไม่ได้ขายหมด อย่าง SCNYL ก็ถือไว้ไม่ได้ขาย ไม่จำเป็นว่าหุ้นขาลงต้องขายหุ้นทุกตัวในพอร์ต ถ้าผลการดำเนินงานยังดีราคายังถูกก็ไม่จำเป็นต้องขาย

"จริงๆ รอบนี้ผมก็พลาดตอนขึ้นมาจาก 380 จุดขึ้นมาถึงกว่า 500 จุดผมยังกลัวไม่กล้าซื้อเพราะว่าก่อนหน้านั้นเพิ่งจะขาดทุนเลือดซิบๆ กลับมาเล่นตอน 500-600 จุดแล้ว ช่วงนั้นหยุดเล่นเลย ช่วงที่หุ้นตกหนักๆ โหมไปดูคอนโดมิเนียมเกิดใหม่ เอาเวลาไปมุ่งทางด้านนั้น ทำตัวให้ดูยุ่งๆ จะได้ไม่มาสนใจตลาดหุ้นมาก"

ในส่วนของการวิเคราะห์ข่าวเซียนหุ้นราย นี้จะดูแหล่งข่าวว่ามาจากที่ไหน น่าเชื่อถือแค่ไหน แล้วดูว่าผู้บริหารบางคนขี้โม้รึเปล่าอ่านข่าวหลายๆ ครั้ง ถ้าพูดแล้วไม่เป็นจริงเวลาเขาพูดอะไรเราก็ต้อง "หาร 2" ไม่ให้น้ำหนักมาก

"ผมรู้จักผู้บริหารในตลาด mai คนหนึ่ง ชอบขี้โม้บอกว่าบริษัทเขาดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่เห็นเป็นอย่างนั้นเลย บางทีต้องหาร 3 ด้วยซ้ำ แต่ผู้บริหารบางบริษัทไม่โม้เลยและพูดน้อยกว่าความเป็นจริงนิดหน่อยด้วยซ้ำ ไป อย่างคุณอภิชาต ลี้อิสสระนุกูล ผู้บริหารไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า เขาพูดโอเคเลยเชื่อถือได้เป็นหุ้นตัวหนึ่งที่อยู่ในจอเรดาร์ของผม แต่ถ้าชื่นชมในความสามารถก็ต้องคุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ ผู้บริหารบ้านปู"

กิติชัย มองว่า ผู้บริหารบ้านปูคนนี้อัจฉริยะจริงๆ เขาซื้อหุ้น บมจ.อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) หรือ ATC (ควบรวมกับโรงกลั่นน้ำมันระยองเป็น PTTAR) แถว 3 บาท มาขาย 40-50 บาท แล้วเขาซื้อไว้เยอะมากช่วงที่ไม่มีใครกล้าซื้อ แล้วการที่เขาขายหุ้น RATCH เอาเงินไปลงทุนเหมืองถ่านหินก็แสดงว่าหุ้น RATCH ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าผลตอบแทนไม่น่าสนใจแล้ว

"วิธีคิดของผมก็เหมือนกับคุณชนินท์ ถ้าผมจะขายหุ้นตัวหนึ่งก็คิดแล้วว่าเอาไปซื้อหุ้นตัวอื่นจะต้องได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า"

เซียนหุ้นราย นี้ยังเจาะลึกถึงขนาดที่ว่า ชาญ วรรธนะกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรุงเทพประกันชีวิต ขายหุ้น BLA มาตลอดไปเช็คแล้วว่าเขาใกล้จะเกษียณคนนี้เขารวยมากที่ขายออกมาจิ๊บๆ เขามีทรัพย์สินไม่รู้กี่พันล้านบาทเป็นเจ้าของโรงแรม (รอยัล คลิฟ บีช พัทยา) ด้วย

"ผมถือหุ้น BLA เยอะก็เช็คข้อมูลสอบถามคนโน้นคนนี้ จนเราแน่ใจว่าไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจ ส่วนการวิเคราะห์วอลุ่ม ถ้าจู่ๆ วอลุ่มวันนี้โตขึ้นผิดปกติขึ้นมา 5-6 เท่าของวอลุ่มเฉลี่ย 1 เดือนย้อนหลังแสดงว่าข้างในต้องมีข่าวอะไรสักอย่าง ถ้าวอลุ่มเข้าแล้วหุ้นขึ้นแสดงว่า "ดี" จะมีข่าวดี แต่ถ้าหุ้นขึ้นมาเยอะแล้วแล้ววอลุ่มก็พีคมากๆ "ต้องระวัง" แสดงว่ารายใหญ่อาจจะ "ออกของ" มันอยู่ที่ว่าวอลุ่มเยอะช่วงไหนของการขึ้นของราคา ถ้าจะดีต้องมีวอลุ่มเข้าช่วงเริ่มต้นขาขึ้นของราคา แสดงว่าหุ้นตัวนั้นกำลังจะไปแล้ว"

สมมุติว่าในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาเทรดวันละ 1 ล้านหุ้น แต่วันนี้ผ่านไปครึ่งวันมีวอลุ่มแล้ว 3-4 ล้านหุ้น แล้วราคาก็ขึ้นด้วยอันนี้ "ผิดปกติ" ต้องมีข่าวดีอะไรสักอย่างหนึ่งที่มีคนรู้แล้ว ในแง่ราคาหุ้นถ้าราคานิ่งๆ วอลุ่มไม่มาก แต่จู่ๆ ราคาหุ้นขึ้นพร้อมวอลุ่มมากด้วย ต้องมีอะไรแล้ว

สำหรับปัจจัยที่จะทำให้ราคาหุ้นขึ้นโดยหลักการแล้วหุ้นอะไรก็ตามถ้าพื้น ฐานบริษัทดีจริงๆ ในที่สุดราคาก็ต้องขึ้นมาตอบสนองกับพื้นฐาน เขาเชื่อว่า หัวใจของการลงทุนให้ได้กำไรก็คือเลือกซื้อหุ้นในราคาถูกกว่าราคาที่เหมาะสม เยอะๆ นี่คือหลักการ Margin of Safety ที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ใช้ แต่ราคาเหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวก็ไม่เท่ากัน

"อย่าง BGH ผมมีความรู้สึกว่ามันควรอยู่ที่ 48 บาท บางคนอาจจะบอกว่าอยู่ที่ 42 บาท ความคิดแต่ละคนไม่เหมือนกัน ตอนลงไป 15-16 บาท ไม่ได้ซื้อผมมาเก็บเยอะแถว 28 บาท ตอนนี้ผมมองราคาเหมาะสมที่ 48 บาท เวลาการขึ้นของหุ้นสมมติราคาเหมาะสม 48 บาท มันอาจจะขึ้นไป 50 กว่าก็ได้ ตอนขาลงบอกว่าเหมาะสมที่ 30 บาท ลงไป 20 บาทก็ได้ เสน่ห์ของหุ้นก็ตรงที่ว่าราคามันขึ้นหรือลงมากกว่าที่ควรจะเป็นได้เยอะ ถ้าเราเข้า-ออกถูกจังหวะก็จะได้กำไรเยอะ"

ถามว่าหุ้นถูกหุ้นแพงดูตรงไหนเขาตอบว่า จะดู P/E เป็นหลักเลยบางครั้งแพงกว่าตลาดไม่มากก็ซื้อ หุ้นบางตัว P/E ต่ำกว่าตลาดมากก็ไม่ซื้อ เพราะธุรกิจไม่มีอะไรน่าสนใจ ลักษณะธุรกิจต้องน่าสนใจ ต้องมีสตอรี่การเติบโตที่น่าสนใจ และดูความสามารถในการทำกำไรในอนาคตเป็นหลัก
แหล่งที่มา กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ



 
ขอบคุณค่ะ จะเข้ามาอ่านที่เหลือไปเรื่อย ๆ ค่ะ ข้อมูลและหลักการลงทุนดี ๆ ทั้งนั้นนะคะ


โดย: aree09 IP: 223.205.162.112 วันที่: 5 มกราคม 2554 เวลา:7:43:09 น.  

 
ยินดีครับ ขอให้ทุกท่านที่ได้อ่านแล้วนำหลักการลงทุนต่างๆที่ได้ไปใช้ ประสบความสำเร็จกันมากๆครับ


โดย: girdpol วันที่: 5 มกราคม 2554 เวลา:19:29:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

girdpol
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add girdpol's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.