ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

ชุดไทยประจำชาติ ความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย

เปิดงานวิจัย ชุดไทยประจำชาติ ความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย

เป็น "ครั้งแรก" ที่มีการรวบรวม "ชุดไทยประจำชาติ" ที่ใช้ในการประกวดของเวทีระดับนานาชาติ 4 เวที คือ มิสยูนิเวิร์ส มิสเวิลด์ มิสเอิร์ธ และมิสอินเตอร์เนชั่นแนล ทั้งหมด 108 ชุด ในการมาจัดนิทรรศการ "อาภรณ์" นิทรรศการชุดประจำชาติของนางงามไทย ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์


แม้นิทรรศการจะเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ "องค์ความรู้" จากนิทรรศการครั้งนี้ ยังคงอยู่ให้ผู้สนใจได้ศึกษาถึงวิวัฒนาการและความวิจิตรบรรจงในการออกแบบชุดไทยประจำชาติในแต่ละยุคสมัยได้

"นายดนัย เรียบสกุล" หัวหน้าสาขาวิชาการออกแบบสื่อนวัตกรรม ภาควิชาศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ทำวิจัยระดับปริญญาเอก หัวข้อ การพัฒนากระบวนการออกแบบชุดประจำชาติไทย สำหรับการนำเสนอระดับนานาชาติ เผยถึงผลการวิจัยที่รวบรวมชุดประจำชาติ ปีที่เก่าแก่ที่สุด ในยุคของ "อมรา อัศวนนท์" ผู้เข้าประกวดนางงามจักรวาลคนแรก เมื่อปี 2497 จนถึงปี 2553

"แรงบันดาลใจงานวิจัยนี้ มาจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งปีนี้เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระองค์ถือเป็นผู้นำของสตรีไทยในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการแต่งกาย ทรงคิดค้นเครื่องแต่งกายสตรีไทยให้เป็นมาตรฐานที่เรียกกันว่า ชุดไทยพระราชนิยม"

สำหรับชุดไทยประจำชาติทั้ง 108 ชุดนั้น ผู้วิจัยเล่าตั้งแต่กฎเกณฑ์ในการออกแบบของแต่ละเวทีว่า เวทีแต่ละเวทีจะมีกฎเกณฑ์ในการออกแบบแตกต่างกัน เวทีมิสยูนิเวิร์สมีคอนเซ็ปต์ครีเอทีฟไทย ที่ต้องแสดงกลิ่นอายความเป็นไทย ขณะที่เวทีมิสเวิลด์ มีเงื่อนไขในการออกแบบไม่ตายตัว แต่จะใช้วิธีการนัดประชุมเพื่อระดมความคิดว่าสิ่งที่ต้องการสำหรับปีนี้คืออะไรและรูปแบบไหน ส่วนเวทีมิสเอิร์ธ สามารถออกแบบได้อย่างอิสระ โดยพิจารณาจากผู้สวมใส่เป็นหลัก และมิสอินเตอร์เนชั่นแนล เงื่อนไขคนต้องสวยงามและสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ชุดมีไว้เสริมให้คนโดดเด่นขึ้น

"แนวคิดของการออกแบบ ได้รับแรงบันดาลใจจากหลากหลายความเป็นไทย ทั้งยุคสมัยของไทย เช่น ทวารวดี สุโขทัย ชุดไทยพระราชนิยม หรือมาจากนางในวรรณคดีไทย ทั้ง นางมโนห์รา นางศกุนตลา นางละเวงวัณฬา เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้รับแรงบันดาลใจจากประเพณี วัฒนธรรม และการแสดงของไทย อาทิ โขน ประเพณีบุญบั้งไฟ สงกรานต์ ผีตาโขน รวมถึงแนวคิดจากชุดไทยท้องถิ่น มวยไทย รูปร่างของสัตว์ อย่าง ช้าง เป็นต้น"

ที่น่าสนใจคือ อิทธิพลของสถานการณ์ในยุคนั้นๆ ก็เป็น "เงื่อนไข" หนึ่งของการออกแบบชุดไทยประจำชาติ เช่นกัน


"สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ หรือความนิยมตามยุคสมัย เช่น แฟชั่น การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ข้าวของเครื่องใช้ ส่งให้มีอิทธิพลสูงต่อการออกแบบชุดมาก เช่น เมื่อปี 2538 ประเทศไทยอยู่ในช่วงโศกเศร้าในการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จย่า ผู้ออกแบบจึงเลือกชุดโทนสีขาว เพื่อไว้อาลัยแด่สมเด็จย่าให้ ญาสุมินทร์ เลิศอมรวัฒนา ใช้ในการประกวดมิสเวิลด์ หรือความนิยมเกมคอมพิวเตอร์ของวัยรุ่นไทย ก็ส่งผลให้ผู้ออกแบบ ชุด "ชุดมวยไทยโบราณ" ชื่อ "สปิริต ออฟ ไฟท์ติ้ง" โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเกมต่อสู้คอมพิวเตอร์มาใช้ออกแบบชุด ให้ กวินตรา โพธิจักร์ สวมใส่ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส จนคว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมมาได้เมื่อปี 2551"

จากการทำวิจัยตั้งแต่ยุคแรกจนถึงยุคปัจจุบัน ผู้วิจัยบอกว่า สะท้อนให้เป็นวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลง โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น มีลูกเล่นให้น่าสนใจมากขึ้น โดยทั้ง 108 ชุด แยกเป็นกลุ่มๆ ได้ทั้งหมด 6 แบบ ซึ่งชุดไทยพระราชนิยมได้รับความนิยมสูงสุดในการนำมาออกแบบเป็นชุดไทยประจำชาติ มีถึง 42 ชุด เพราะเป็นชุดที่มีความสวยงาม บ่งบอกถึงการแต่งกายของสตรีไทย รองลงมาคือ ชุดไทยประยุกต์ 39 ชุด ชุดไทยสร้างสรรค์ 11 ชุด ชุดไทยสมัย/รัชสมัย 11 ชุด ชุดไทยละคร 4 ชุด และชุดไทยท้องถิ่นนิยม 1 ชุด

นับเป็นความหลากหลายที่สร้างสรรค์ แต่ถึงอย่างนั้น ช่วงหลังๆ การออกแบบชุดไทยมักได้รับฟีดแบ๊กกลับมาที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เช่น ชุดประจำชาติ "เหมราชนารี" ที่ "ชัญษร สาครจันทร์" มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2011 สวมใส่เข้าประกวด ผู้วิจัยแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า อยากให้เปิดใจให้มากยิ่งขึ้น

"ชุดประจำชาติ เป็นชุดที่นางงามใช้ในการประกวด ดังนั้น อยากให้มองวัตถุประสงค์มากกว่าในการออกแบบชุดนั้นๆ และเปิดใจให้กว้างยิ่งขึ้น เพราะการออกแบบชุดเป็นการประยุกต์ขึ้นตามจินตนาการของผู้ออกแบบ คงไม่มีผู้ออกแบบคนไหนที่ออกแบบเพื่อเจตนาทำลายภาพลักษณ์ดีๆ ของไทย แต่การออกแบบเป็นไปเพื่อโชว์เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชมมากกว่า และจากการพูดคุยกับน้องๆ นางงามที่เป็นตัวแทนไปประกวด ทุกชุดได้รับความสนใจจากคนต่างชาติทุกปี เพราะชุดมีความแตกต่างและหลากหลาย ทั้งการใช้ผ้าไทยประเภทต่างๆ การใช้วัสดุ การปัก การตัดเย็บ"

สุดท้าย ผู้วิจัยหวังว่าอยากให้งานวิจัยชิ้นนี้ กระตุ้นให้เกิดองค์ความรู้ด้านการออกแบบที่เน้นการผสมผสานแนวคิดในการออกแบบยุคใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และนำเอาเอกลักษณ์และความโดดเด่นของไทยที่มาสร้างสรรค์เป็นเสื้อผ้า

แม้ความสร้างสรรค์จะไม่หยุดนิ่ง แต่การออกแบบที่คำนึงถึงความพองามและพอดีก็เป็นจุดสำคัญในการออกแบบ เพื่อที่ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับในด้านแฟชั่น และดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่งดงามแบบไทย



ขอบคุณภาพประกอบ : //thaicatwalk.com/





Create Date : 28 ตุลาคม 2555
Last Update : 28 ตุลาคม 2555 19:34:55 น. 0 comments
Counter : 10259 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ข่าวดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]










ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


New Comments
[Add ข่าวดี's blog to your web]