ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

“มัณฑะเลย์”…บนเสน่ห์ประวัติศาสตร์สุดดราม่า

พระราชวังมัณฑะเลย์สร้างโดยพระเจ้ามินดง สถานที่ที่เกิดโศกนาฏกรรมอันสุดรันทด

หนึ่งในการขยับเพื่อเตรียมรับการเปิด “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”(AEC) ในปี พ.ศ. 2558 ของสหภาพเมียนมาร์ หรือ“พม่า” ก็คือ การร่วมมือกับสายการบินแอร์เอเชีย เปิดเที่ยวบินเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับเมืองมัณฑะเลย์ โดยจะทำการเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ในวันที่ 4 ต.ค. 55 นี้

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านั้นทางรายการ “พราว” ได้จัดเที่ยวบินพิเศษเช่าแอร์เอเชียเหมาลำ มี “อ.เผ่าทอง ทองเจือ” เป็นหัวหน้าทัวร์เอ็กคลูซีฟ พาแฟนคลับเหินฟ้าสู่มัณฑะเลย์ในช่วงต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา

มัณฑะเลย์ นอกจากจะเป็นเมืองเศรษฐกิจ ท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นหนึ่งในเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากของพม่า เพราะเป็นราชธานีสุดท้ายก่อนพม่าจะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในยุคล่า อาณานิคม

ทิวทัศน์เมืองมัณฑะเลย์ปัจจุบัน

เมืองมัณฑะเลย์มีประวัติศาสตร์อันสุดแสนรันทด มีตัวละครสำคัญที่เป็นตัวจริงเสียงในประวัติศาสตร์ 4 คน ซึ่งม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้นำมาเขียนเป็นหนังสือชื่อ “พม่าเสียเมือง” โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้แถลงไขไว้ในตอนหนึ่งของคำนำว่า

….ทั้งที่ตั้งใจในขณะที่เขียนว่าจะเขียนให้เป็นพม่ามากที่ สุดเท่าที่คนไทยจะทำได้ แต่เมื่อเขียนแล้วจึงรู้ว่าคนไทยเมื่อเขียนเรื่องพม่าก็มีใจเอนเอียงเป็นไทย ได้มากเหมือนกัน…

ใครที่อยากรับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของพม่าที่ติดกลิ่นแบบไทยๆ สามารถไปหาอ่านได้ในหนังสือดังกล่าว

สำหรับ“ตะลอนเที่ยว”แล้ว ถือว่าการเที่ยวมัณฑะเลย์กับการซึมซับประวัติศาสตร์แห่งชาติพม่าเป็นของคู่ กัน ดังนั้นเราจึงขอหยิบประวัติศาสตร์อันสุดดราม่า(ในเวอร์ชั่นรวบรัดตัด ความ)ของราชธานีมัณฑะเลย์มานำเล่าสู่กันฟัง เพื่อเรียกน้ำย่อยพอเป็นกระสาย ก่อนที่จะออกไปตะลอนทัวร์แหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆในเมืองนี้ต่อไป

พระเจ้ามินดง ผู้สร้างราชธานีมัณฑะเลย์

พระเจ้ามินดง

ในยุคล่าอาณานิคมราวๆปี พ.ศ. 2367 จักวรรดิอังกฤษสามารถยึดครองพม่าตอนล่างแถบเมืองท่าย่างกุ้งไว้ได้

กรุงรัตนบุระอังวะหรือพม่าในยุคนั้น ต้องย้ายราชธานีจากกรุงอังวะมาอยู่ที่กรุงอมรปุระโดยมีกษัตริย์คือ“พระเจ้า พะคันหมิ่น” ผู้มีความโลภ ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์อย่างกดขี่ รีดนาทาเร้น เข่นฆ่าประชาชนเพื่อแย่งชิงทรัพย์สมบัติเอามาไว้เป็นของตน ทำให้ “พระเจ้ามินดง” ได้รวบรวมไพร่พล เข้าทำการยึดพระราชอำนาจ แล้วทรงย้ายราชธานีไปอยู่ ณ ที่แห่งใหม่

เหตุที่ทรงย้ายเมืองใหม่ มีทั้งเรื่องของความเชื่อและยุทธศาสตร์ โดยพระเจ้ามินดงทรงพระสุบิน(ฝัน)เห็นภูเขามัณฑะเลย์ที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงอมร ปุระอยู่บ่อยๆ จึงให้โหรทำนายได้ข้อสรุปว่าควรจะสร้างราชธานีใหม่ขึ้นระหว่างภูเขา มัณฑะเลย์กับแม่น้ำอิระวดี เพราะเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับอยู่ที่ด้านหลังพร้อมกับทรงตรัสว่า เมืองนี้ในอนาคตจะเจริญรุ่งเรืองเป็นแหล่งเผยแผ่ศาสนาพุทธที่สำคัญยิ่งใน ด้านตะวันออก

ส่วนในด้านยุทธศาสตร์นั้น เมืองใหม่มีทำเลที่เหมาะสม และอยู่ไกลจากแม่น้ำมากกว่าอมรปุระ ทำให้สามารถหนีเรือกลไฟของกองทัพอังกฤษที่จะรุกประชิดเข้ามาได้ในระดับหนึ่ง

นั่นจึงทำให้พระเจ้ามินดงที่มีศรัทธาแรงกล้าในพุทธศาสนา ทำการย้ายเมืองใหม่มาที่นี่ในช่วงราวปี พ.ศ. 2400 พร้อมกับตั้งชื่อเมืองตามภูเขาว่าเมือง“มัณฑะเลย์

ภูเขามัณฑะเลย์ยามเช้ามืด

ในการย้ายเมืองใหม่แม้พระเจ้ามินดงจะได้ชื่อว่า “ธรรมกษัตริย์” แต่ก็ยังเชื่อถือในพิธีโบราณเรื่อง“อาถรรพ์เมือง” ดังนั้นการสร้างเมืองใหม่มัณฑะเลย์จึงมีการนำคนเป็นๆมาฝังถึง 52 คน ทั้งตามมุมเมือง ประตูเมือง ประตูพระราชวัง และ 4 มุมกำแพงเมือง รวมถึงใต้พระที่นั่งในท้องพระโรงก็ต้องฝังคนเป็นๆไว้ถึง 4 คนด้วย

…เรื่องนี้ไม่ว่าพระเจ้ามินดง โหร และผู้ปกครองในยุคนั้นจะเชื่อถืออย่างไร แต่ต่อมาในยุคหลังๆ ใครหลายๆคนต่างเชื่อว่านี่คือบาปกรรมที่ทำให้ราชธานีมัณฑะเลย์ที่สร้างอย่าง ยิ่งใหญ่ ต้องล่มสลายภายในเวลาเพียงแค่ 28 ปี เท่านั้น อีกทั้งพระราชวังมัณฑะเลย์ที่ประทับของกษัตริย์ก็ยังหนีไม่พ้นบ่วงกรรม ถูกทิ้งระเบิดราบคาบในมหาสงครามเอเชียบูรพาในอีก 60 ปีต่อมา…

พระนางอเลนันดอ

แม้จะเป็นธรรมกษัตริย์ผู้เคร่งครัดในพุทธศาสนา แต่พระเจ้ามินดงก็ทรงมีพระมเหสีมากถึง 45 องค์(บ้างก็ว่า 54 องค์) มีพระอัครมเหสี(มเหสีเอก) คือ พระนาง“นัมมะดอ” ผู้ทรงธรรมไม่มักใหญ่ใฝ่สูง

ต่างจากพระมเหสีรอง คือพระนาง “อเลนันดอ” ที่ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วพระนางอเลนันดอสามารถเบียดแทรกตีตนขึ้นมาเป็นที่โปรดปราน ของพระเจ้ามินดงและเป็นมเหสีเบอร์หนึ่งในทางพฤตินัย ก่อนที่จะดำเนินการวางแผนยึดกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จชนิดที่พระเจ้ามินดงไม่ กล้าหือ กล้าอือ

วัดกุโสดอ หนึ่งในวัดที่สร้างในสมัยพระเจ้ามินดง

หลังพระเจ้ามินดงสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับมัณฑะเลย์ ทำนุบำรุงพุทธศาสนา สังคยานาพระไตรปิฎก ในช่วงครึ่งหลังของรัชกาลพระองค์เอาแต่หมกมุ่นกับการศาสนาจนทำให้การบริหาร ราชการแผ่นดินในช่วงนี้อ่อนแอ ไร้สมรรถภาพ เกิดการแก่งแย่งชิงอำนาจกันอย่างสูง จนพระเจ้ามินดงเกิดความเหนื่อยหน่าย วันๆจึงเอาแต่นั่งสมาธิบำเพ็ญเพียร ก่อนที่จะทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตไปอย่างรันทดใจ โดยยังมิได้แต่งตั้งผู้ใดมาสืบทอดราชบัลลังก์องค์ต่อไป ทิ้งอำนาจให้พระนางอเลนันดอปกครองเมืองพม่าตามใจชอบต่อไป

พระเจ้าสีป่อ

การไม่ตั้งรัชทายาทสืบทอดราชบัลลังก์ของพระเจ้ามินดง เกิดข้อวิจารณ์ในภายหลังว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พม่าเสียเมือง เรื่องนี้หากย้อนไปดูข้อเท็จจริงนับว่าน่าเห็นใจพระเจ้ามินดงไม่น้อย เพราะพระองค์เคยตั้งรัชทายาทไว้แล้ว แต่ถูกพระราชโอรสจากพระมเหสีองค์อื่นลอบสังหาร(แล้วยังพาลจะมาลอบสังหารพระ เจ้ามินดงเพื่อขึ้นเป็นใหญ่ด้วย)

เมื่อไม่มีรัชทายาทสืบทอด พระนางอเลนันดอได้วางแผนผลักดัน“เจ้าชายสีป่อ” พระราชโอรสที่ประสูติจากพระมเหสีชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นคนหัวอ่อน อ่อนแอ หูเบา ไม่ฉลาดเฉลียว ให้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์หุ่นเชิดตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และนางคอยชักใยอยู่เบื้องหลังอีกที โดยหลังพระเจ้ามินดงสวรรคต พระนางอเลนันดอได้กำจัดพระราชโอรสที่มีสิทธ์ได้รับการสืบรัชทอดทายาทด้วยการ ไล่ล่า นำไปจับขัง และให้กินหวุ่นหมิ่นกี้ล็อบบี้เหล่าขุนนางให้เลือกเจ้าชายสีป่อขึ้นสืบราช บังลังก์เป็นลำดับต่อไป

พระเจ้าสีป่อกับพระนางศุภยลัต(ภาพจากหนังสือ “ท่องแดนเจดีย์ไพรใน พุกามประเทศ”)

พระนางศุภยลัต

เมื่อผลักดันเจ้าชายสีป่อขึ้นครองบัลลังก์ได้แล้ว แผนการลำดับต่อไปก็คือการแต่งตั้งพระมเหสี พระนางจึงให้ธิดาของตนคือ“เจ้าฟ้าศุภยคยี”(องค์พี่) และ “เจ้าฟ้าศุภยลัต”(องค์ น้อง) อภิเษกกับพระเจ้าสีป่อ (ทั้งๆที่มีสายเลือดพ่อเดียวกัน) โดยเจ้าฟ้าศุภยคยีมีตำแหน่งเป็นอัครมเหสี ส่วนเจ้าฟ้าศุภยลัตเป็นมเหสีรอง

พระนางศุภยคยีองค์พี่นั้นเป็นคนดี ต่างกันลิบกับองค์น้องคือพระนางศุภยลัตที่ร้ายกาจเหลือคณา อีกทั้งยังจัดอยู่ในประเภท “มเหสีขี้หึงเหมือนหนึ่งเสือ”(ตาม สำนวนของอาจารย์หม่อม) ภายหลังขึ้นเป็นมเหสีรอง พระนางได้หาทางกำจัดเสี้ยนหนามหัวใจ ด้วยการส่งคนไปวางยาลอบฆ่าพี่สาวของเธอ ที่แม้พระนางศุภยคยีจะหนีไปบวชชีแต่พระนางศุภยลัตก็ไม่ละเว้น

แน่นอนว่าความตายพระนางศุภยคยีผู้ที่ทุกข์ทนแทบใจสลายย่อมหนีไม่พ้น พระนางอเลนันดอ ที่เห็นน้องสาวมาฆ่าพี่สาวร่วมอุทรเดียวกันได้อย่างเลือดเย็น

ใครหลายๆคนบอกว่านี่เป็นกรรมสนองของพระนางอเลนันดอ ซึ่ง “ตะลอนเที่ยว” มองว่ามันไม่ยุติกรรม เพราะความตายดันไปตกกับพระนางศุภยคยีผู้พี่ที่เป็นคนดี

จากเหตุการณ์ครั้งนี้พระนางอเลนันดอได้ทราบถึงความร้ายกาจ ของพระราชธิดาของนาง ซึ่งสุดท้ายแล้วอำนาจที่พระนางอเลนันดอใช้ความชั่วร้ายก่อกรรมทำเข็ญมา กลายเป็นธิดาของนางชุบมือเปิบไปเชยชมแทน

ภายในกำแพงพระราชวังมัณฑะเลย์ที่ตั้งเด่นอยู่กลางเมือง ที่นี่ในอดีตเคยเกิดการสังหารหมู่อันสุดสยอง

ซูสีไทเฮาแห่งลุ่มอิระวดี

หลังจากที่พระนางศุภยลัตฆ่าพี่สาว ขึ้นเป็นพระมเหสีเอกอย่างเป็นทางการ และสามารถกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ บงการพระเจ้าสีป่อได้ พระนางศุภยลัตยิ่งเพิ่มความร้ายกาจมากขึ้นเรื่อยๆ จนในยุคต่อมาผู้คนได้ให้ฉายาเธอว่า “ซูสีไทเฮาแห่งลุ่มอิระวดี”(แต่ตำแหน่งจริงของเธอเปรียบได้กับฮองเฮา)

สำหรับแผนสุดชั่วร้ายลำดับต่อไปก็คือการกำจัดผู้ที่พระนางคิดว่าจะ เป็นศัตรูเสี้ยนหนาม นั่นก็คือบรรดาพระราชวงศ์ใกล้ชิดด้วยกลัวจะแข็งข้อขึ้นมาแย่งชิงอำนาจ ซึ่งพวกนี้ส่วนใหญ่ต่างก็เป็นพี่น้องร่วมพระบิดาเดียวกับนางนั่นเอง

แม้เหล่าเครือญาติจะมีอยู่นับร้อยพระองค์ แต่นั่นหาใช่เรื่องยากสำหรับพระนางศุภยลัตไม่ เพราะนางได้วางแผนสังหารหมู่ขึ้น ด้วยการขุดหลุมยาวไว้ภายในพระราชวังมัณฑะเลย์เพื่อรอรับบางสิ่งบางอย่าง

ครั้นเมื่อวันนองเลือดมาถึง ด้านหนึ่งพระนางใจร้ายได้จัดให้มีละครมาเล่นในวังชั้นในแบบมาราธอนข้ามวัน ข้ามคืนขึ้น เพื่อให้พระเจ้าสีป่อทอดพระเนตร ร่ำน้ำจัณฑ์ โดยไม่ต้องสนใจไยดีต่อเหตุการณ์ภายนอก ส่วนอีกด้านหนึ่งพระนางได้ให้เหล่าเพชฌฆาต คอยไล่ฆ่าเหล่าเครือญาติอย่างโหดเหี้ยมเลือดเย็น

พระราชวังมัณฑะเลย์ปัจจุบันเป็นอาคารสร้างใหม่ หลังจากถูกถล่มราบในช่วงมหาสงครามเอเชียบูรพา

ในการสังหารหมู่นั้น เดิมกำหนดให้ใช้ท่อนจันทน์ทุบ หากเป็นเจ้านายฝ่ายในให้ทุบที่ลูกกระเดือก เจ้านายฝ่ายนอกให้ทุบที่ต้นคอ จากนั้นให้โยนรวมลงไปในบ่อ บางคนแม้ยังไม่ตายคาที่ก็ถูกโยนลงไปทับกันตายในบ่อ แต่การฆ่าไม่ได้มีแค่นี้ เพราะมีพวกเพชฌฆาตที่เมามัน เมาเลือด ได้ทำการสังหารโหดอีกต่างๆนานาๆ โดยเฉพาะเหล่าเด็กๆนั้นตายอย่างน่าเวทนานัก หลายคนถูกกระชากมาจากอ้อมอกพ่อแม่แล้วจับสองขาเหวี่ยงฟาดกับกำแพงวังให้ แดดิ้นไป…ช่างเป็นการสังหารอย่างโหดร้ายทารุณสุดจะเกินพรรณนา

ช่วงเวลาในการสังหารหมู่ หากเสียงร้องของผู้ถูกฆ่าดังโหยหวนเข้ามาในวังชั้นในจนที่สงสัยแก่พระเจ้าสี ป่อ พระนางศุภยลัตที่คิดวางแผนมาอย่างแยบยลก็จะส่งสัญญาณให้วงปี่พาทย์อัดเสียง ดนตรีระรัวให้ดังกระหึ่มเพื่อกลบเสียงหวีดร้องเหล่านั้น แถมบางครั้งนางยังหัวเราะขบขันเหมือนสะใจเหลือประมาณ

ภูเขามัณฑะเลย์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ สามารถมองเห็นเมืองมัณฑะเลย์ได้รอบทิศ

การสังหารหมู่กระทำควบคู่ไปกับการเล่นละครนอกแบบมาราธอน 3 วัน 3 คืน (เหมือนดูหนังที่ผู้ร้ายฆ่าคนไปมีซาวนด์แทรคประกอบควบคู่ไปด้วย) การฆ่าหมู่จึงสิ้นสุด ละครนอกจบเสร็จสิ้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างแยกย้าย

ทว่าเรื่องยังไม่จบเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นอีก 4-5 วัน ศพในหลุมที่ถูกโยนลงไปได้อืดบวมขึ้น พระนางศุภยลัตได้สั่งให้เอาช้างหลวงมาย่ำกลบ แต่อีกไม่กี่วันศพก็บวมอืดขึ้นมาอีก สุดท้ายจึงต้องนำศพใส่เกวียนหลายสิบเล่มบรรทุกไปเททิ้งยังแม่น้ำอิระวดี

ว่ากันว่าช่วงนี้เมืองมัณฑะเลย์ยามค่ำคืนร่ำระงมไปด้วยเสียงร้องโหยของวิญญาณพยาบาท ขณะที่ชาวบ้านนั้นต้องนอนคลุมโปงกันแทบทั้งเมือง

แม่น้ำอิระวดี ที่อังกฤษส่งกองเรือนำทหารเข้ามายึดวังพม่า

พม่าเสียเมือง

หลังเหตุการณ์สังหารหมู่สุดโหดแพร่กระจายไปทั่ว อังกฤษที่หาเหตุจ้องจะเข้ามายึดพม่าเหนืออยู่แล้วก็ได้รุกคืบเข้ามา

เมื่อผู้นำกล้ากระทำการอุกอาจ ชาวบ้านก็เอาอย่าง ราชธานีมัณฑะเลย์ช่วงนี้จึงไร้ขื่อไร้แป มีโจรผู้ร้ายชุกชุม ข้าวหยากหมากแพง ชนชั้นปกครองกดขี่ขูดรีดประชาชน บ้านเมืองระส่ำระสาย ประชาชนเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า จนบางส่วนต้องอพยพไปอยู่ในเขตพม่าใต้ยอมอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ แต่เรื่องเหล่านี้ดูเหมือนพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยลัตจะไม่รู้สึกรู้ สากลับใช้วิธีหาเงินเข้าคลังด้วยการออกหวยให้ประชาชนติด และพระเจ้าสีป่อก็นำเงินหวยที่รัฐเก็บได้มาถลุงเสวยสุข

ฝ่ายอังกฤษที่หาเหตุจ้องจะเข้ามายึดกรุงรัตนบุระอังวะอยู่แล้ว หลังเหตุการณ์สังหารหมู่สุดโหดก็ได้หาเหตุรุกคืบเข้าไปอีก ช่วงนั้นขุนนางพม่าผู้รักชาติบางคนได้พยายามกราบบังคมทูลเตือนภัยให้พระนาง ศุภยลัตรับรู้ในความน่ากลัวของกองทัพอังกฤษ แต่กลับไม่เป็นผล หนำซ้ำผู้นำความจริงไปกราบทูลยังถูกจับไปประหารอีก เพราะพระนางศุภยลัตหยิ่งผยองมั่นใจว่ากองทัพอังกฤษไม่สามารถทำอะไรกองทัพ พม่าได้

แล้ววันล่มสลายก็มาถึงในตอนใกล้ค่ำของวันที่ 28 พ.ย. 2428 เมื่ออังกฤษยกกองทัพเข้ามาตามแม่น้ำอิระวดีและสามารถรุกประชิดมายึด พระราชวังได้ พร้อมกับเนรเทศพระเจ้าสีป่อ พระนางศุภยลัต พระนางอเลนันดอ และผู้ติดตามอีกจำนวนหนึ่ง ให้ออกทางประตูผีอย่างไร้เกียรติ(ประตูผีเป็นประตูสำหรับหามศพออกไป)โดยให้ นั่งเกวียนไปลงเรือต่อไปยังย่างกุ้ง เพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย ปิดฉากกรุงรัตนบุระอังวะลงในยุคนี้

บรรยากาศเมืองมัณฑะเลย์ยามเช้าในมุมสูง

บทส่งท้าย

หลังพม่าเสียเมืองให้อังกฤษ พระเจ้าสีป่อ พระนางศุภยลัต พระนางอเลนันดอ ถูกขับไสให้ไปอยู่อินเดียในฐานะเชลยราช

- พระนางอเลนันดอ หลังประทับอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ได้ทะเลาะกับพระนางศุภยลัตอย่างรุนแรงถึงขั้นตัดแม่ลูกกัน พระนางอเลนันดอขออนุญาตอังกฤษกลับมายังเมืองย่างกุ้ง และเสด็จทิวงคตที่นั่นในเวลาต่อมาอีกไม่นาน

- พระเจ้าสีป่อ ใช้ชีวิตอย่างเศร้าหมอง ไร้จุดมุ่งหมาย ในบ้านพักที่อินเดียเป็นเวลา 31 ก่อนเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2459 มีพระชนม์มายุได้ 58 ปี ถือเป็นอันสิ้นสุดยุคราชวงศ์(อลองพญา)ของพม่า

- พระนางศุภยลัต ทางการอังกฤษส่งกลับมาอยู่ที่ย่างกุ้งหลังสิ้นพระเจ้าสีป่อ โดยนางได้แต่งชุดขาวไว้ทุกข์ให้พระสวามีอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังคงถือยศศักดิ์เหมือนเมื่อครั้งเป็นราชินี ก่อนสินพระชนม์เมื่อ ปี พ.ศ. 2468 มีอายุได้ 68 ปี ทิ้งตำนานความโหดร้ายเลือดเย็นอย่างสุดแสนของพระนางศุภยลัต ทรราชย์แห่งลุ่มน้ำอิระวดีให้อนุชนคนรุ่นหลังได้รำลึกถึงอย่างเจ็บแค้นใจ

- 4 ม.ค. 2491 พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษอย่างเป็นทางการ และมีการปกครองอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

…และนี่ก็คือประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งของพม่าที่แม้จะเป็นโศก นาฏกรรมรันทดสุดดราม่า แต่นี่ไยมิใช่สัจธรรมของการแย่งชิงอำนาจที่ไม่ว่าชายหรือหญิงหากลองได้เสพ ติดมัน ย่อมสามารถกระทำเรื่องเหนือความคาดหมายได้อย่างเหลือเชื่อ

แถมหลายครั้งยังเป็นการกระทำที่ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์จะกระทำได้…(ตามอ่านเรื่องเที่ยวไฮไลท์ในมัณฑะเลย์ในตอนหน้า)

สาวพม่ายุคใหม่ ใครอย่าไปเปรียบเธอกับพระนางศุภยลัตเข้าล่ะ

//www.jaowka.com/



Create Date : 22 กันยายน 2555
Last Update : 22 กันยายน 2555 20:13:55 น. 0 comments
Counter : 3280 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ข่าวดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]










ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


New Comments
[Add ข่าวดี's blog to your web]