ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

บก.ลายจุด สมบัติ บุญงามอนงค์ ประวัติแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง




บก.ลายจุด หรือ สมบัติ บุญงามอนงค์ ประวัตินักเคลื่อนไหวทางสังคม สู่บทบาทนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ในฐานะแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง 

            ในที่สุด นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมได้เมื่อคืนวันที่ 5 มิถุนายน 2557 ซึ่งเจ้าตัวยังได้โพสต์เฟซบุ๊กบอกด้วยว่า "ผมโดนจับแล้ว" 

            ทั้งนี้ ก่อนจะถูกจับกุม บก.ลายจุด ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่แสดงท่าทีคัดค้านการรัฐประหารมาโดยตลอด และยังโพสต์เฟซบุ๊กท้าให้เจ้าหน้าที่มาตามจับให้ได้ด้วย หากอยากรู้ว่า นายสมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นใคร มาจากไหน ก่อนหน้านี้มีบทบาททางการเมืองอย่างไรบ้าง คำตอบอยู่ที่นี่...


สมบัติ บุญงามอนงค์ ประวัติ บก.ลายจุด

            สมบัติ บุญงามอนงค์ มีชื่อเล่นว่า "หนูหริ่ง" แต่คนจะรู้จักเขาดีในชื่อ "บก.ลายจุด" ซึ่งเป็นนามแฝงที่ใช้ในอินเทอร์เน็ต มีที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง 101 ดัมเมเชี่ยน เขาเกิดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2511 เป็นชาวกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันสมรสแล้ว มีบุตรสาว 1 คน


 สมบัติ บุญงามอนงค์ กับประวัติการศึกษา

            บก.ลายจุด จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 จากโรงเรียนโรจน์ปัญญา จากนั้นไปเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ที่โรงเรียนสายน้ำทิพย์ ก่อนจะเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนปทุมคงคา


 สมบัติ บุญงามอนงค์ อาชีพและการทำงาน

            ได้ยินชื่อ "บก.ลายจุด" ออกมารวมกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง ในนามแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า สมบัติ บุญงามอนงค์ เคยทำงานด้านไหนมาบ้าง ลองมาไล่เรียงดูกัน 

            เริ่มจากในปี 2531 บก.ลายจุด เคยเป็นอาสาสมัครโครงการละครเพื่อการพัฒนาเยาวชน กลุ่มละครมะขามป้อม และได้เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ในกลุ่มละครมะขามป้อม จากนั้นในปี 2534 เขาได้ก่อตั้งกลุ่มกระจกเงาขึ้น และนั่งเป็นผู้อำนวยการเอง โดยรับเป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาละครใบ้ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และสอนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ

            ในปี 2543 บก.ลายจุด ได้เป็นเว็บมาสเตอร์เว็บไซต์ บ้านนอก.คอม ก่อนจะก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ชุมชน "บ้านนอกทีวี" และเขียนบทความแนวสังคมวิทยายุคอินเทอร์เน็ตให้กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และ Telecom Journal 

            จะเห็นได้ว่า หน้าที่การทำงานของ บก.ลายจุด นั้น ล้วนเกี่ยวข้องกับการสื่อสารมวลชน และการสารสนเทศ ซึ่งจากประสบการณ์และสื่อที่มีอยู่ในมือ ก็ทำให้เขาได้เข้าไปทำงานเป็นอนุกรรมาธิการเด็กไร้สัญชาติ วุฒิสภาอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหา "ภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีต่อเด็กและเยาวชน" วุฒิสภา ในปี 2545 

            ในปี 2546 บก.ลายจุด ได้ก่อตั้งศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ //www.backtohome.org และยังเป็นหัวหน้าและที่ปรึกษาโครงการเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุข สังคม และการช่วยเหลือเด็ก ๆ จนกระทั่งในปีถัดมา เขาก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา และทำงานด้านที่เกี่ยวข้องกับการเป็นอาสาสมัครเรื่อยมา 

            ประสบการณ์การทำงานด้านสังคม ทำให้ บก.ลายจุด ได้รับรางวัลเยาวชนนักพัฒนาดีเด่น จาก สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน (สอ.ดย.) ในปี 2544 พร้อมด้วยรางวัลนวัตกรรมดีเด่น จาก ธนาคารโลกจากการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ชุมชน บ้านนอกทีวี


 บก.ลายจุด กับการเคลื่อนไหวทางการเมือง

            ที่ผ่านมา นายสมบัติ ทำงานด้านสังคมมาโดยตลอด กระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นในปี 2549 นายสมบัติ ได้แสดงจุดยืนคัดค้านการรัฐประหารอย่างชัดเจน พร้อมเป็นแกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ต่อต้านรัฐประหาร และเป็นแกนนำเครือข่าย 19 กันยาน ต้านรัฐประหาร โดยก่อตั้งเว็บ 19sep.org ขึ้นมา (ปัจจุบันปิดตัวแล้ว) อีกทั้งเข้าร่วมกับกลุ่มเพื่อนพ้องน้องพี่ ก่อตั้งกลุ่มในชื่อใหม่ว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง

            ทั้งนี้ ภายหลังแกนนำ นปก.รุ่นแรก ถูกจับกุม นายสมบัติ จึงได้เป็นแกนนำ นปก.รุ่นที่ 2 ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง กระทั่งมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางกลับมาเมืองไทย จนทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาประท้วง นายสมบัติจึงตั้ง "ศูนย์เฝ้าระวังการรัฐประหารแห่งชาติ" ขึ้นเพื่อต่อต้านกลุ่มพันธมิตรฯ 

            ในปี 2553 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลุ่ม นปก. ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ได้ออกมาชุมนุมใหญ่เพื่อกดดันรัฐบาล กระทั่งเหตุการณ์สิ้นสุดลงด้วยการที่เจ้าหน้าที่ทหารขอคืนพื้นที่จนเกิดการจลาจล และแกนนำ นปช. เข้ามอบตัว ทำให้กลุ่ม นปช. ว่างเว้นจากการมีแกนนำไปช่วงหนึ่ง 



ในช่วงนั้น นายสมบัติ จึงมีบทบาทเป็นผู้นำมวลชนจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การนำผ้าสีแดงไปผูกไว้ที่ป้ายแยกราชประสงค์ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระชับพื้นที่จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากออกมารับผิดชอบ แต่สุดท้าย เขาก็ถูกจับกุมในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากนั้นเมื่อสถานการณ์สงบลง ศาลจึงอนุญาตให้ปล่อยตัว

            อย่างไรก็ตาม หลังได้รับการปล่อยตัวแล้ว นายสมบัติ ก็ยังกลับไปนำผ้าสีแดงไปผูกที่ป้ายแยกราชประสงค์ อีกทั้งยังจัดกิจกรรม "ที่นี่มีคนตาย" ที่ราชประสงค์ ทุกวันอาทิตย์ ในนามกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันในเฟซบุ๊ก เพื่อจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

            ในช่วงปลายปี 2556 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเร่งผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง จนเกิดกระแสคัดค้านในสังคม นายสมบัติก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยเช่นกัน จึงนัดหมายมวลชนมารวมตัวแสดงพลังคัดค้านที่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่กลุ่ม กปปส. ประกาศชุมนุมใหญ่เพื่อคัดค้านนิรโทษกรรมสุดซอยเช่นกัน 

            แต่เมื่อการชุมนุม กปปส. เริ่มยืดเยื้อยาวนาน จนไปถึงขั้นปิดกรุงเทพฯ และเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายขึ้นในการชุมนุมอยู่หลายครั้ง บก.ลายจุด จึงได้นำมวลชนจัดกิจกรรมวันอาทิตย์สีกากี เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานในการดูแลความเรียบร้อยการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.


 บก.ลายจุด ไม่ไปเลือกตั้ง ประเด็นที่เคยเป็นข่าว 

            ประเด็นนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำชาวเน็ตแปลกใจอยู่ไม่น้อย เพราะอย่างที่ทราบกันว่า นายสมบัติ มักเรียกร้องการเลือกตั้งมาโดยตลอด แต่ในช่วงต้นปี 2557 กลับมีข้อมูลปรากฏว่า นายสมบัติไม่ได้ไปเลือกตั้ง อบต.เชียงราย และ อบจ.เชียงราย ถึง 4 ครั้ง รวมทั้งสมาชิกสภาเทศบาลเชียงรายอีก 1 ครั้งด้วย 

            ภายหลัง นายสมบัติ ได้ชี้แจงว่า ชื่อในทะเบียนบ้านตนอยู่ที่จังหวัดเชียงรายก็จริง แต่ตนได้ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ กว่าสิบปีแล้ว จึงไม่ได้ไปเลือกตั้ง อบต.-อบจ.เชียงราย เพราะเดินทางไกล และไม่มีระบบเลือกตั้งนอกเขต นอกจากนี้ บางครั้งก็ไม่ทราบว่ามีการเลือกตั้ง อบต.-อบจ.ด้วย แต่ในส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ตนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตไป



บก.ลายจุด กับเหตุการณ์หลัง คสช. ควบคุมอำนาจ

            หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายสมบัติ เป็นคนหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์และแสดงการต่อต้านอย่างเผ็ดร้อน จนกระทั่ง คสช. มีคำสั่งให้เข้ารายงานตัว แต่นายสมบัติกลับไม่ได้มารายงานตัว และยังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กท้าทายให้เจ้าหน้าที่ตามจับให้ได้ด้วย ซึ่งก็ทำให้ คสช. ต้องจัดทีมเร่งติดตามตัว ท่ามกลางข่าวลือมากมายว่าหลบซ่อนตัวอยู่ที่ใดบ้าง

            กระทั่งเมื่อช่วงกลางคืนของวันที่ 5 มิถุนายน 2557 นายสมบัติ ก็ถูก ผบก.ปอท.ร่วมกับ ร.21 เข้าจับกุมตัวได้ในบ้านพักที่จังหวัดชลบุรี หลังจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติตรวจสอบหมายเลขไอพีที่ใช้โพสต์ข้อความผ่านอินเทอร์เน็ต จึงได้นำตัวไปสอบสวนที่ ค่ายกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จ.ชลบุรี (ร.21 รอ.) ก่อนนำตัวขึ้นศาลทหารพิจารณาดำเนินคดีต่อไป ซึ่งเมื่อถูกจับกุมตัวแล้ว นายสมบัติก็ยังโพสต์ข้อความบอกแฟน ๆ ในเฟซบุ๊กว่า "ผมโดนจับแล้ว" 


 บก.ลายจุด facebook และช่องทางการสื่อสาร

            เฟซบุ๊กที่ บก.ลายจุด ใช้ในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็นเป็นประจำก็คือ เฟซบุ๊ก สมบัติ บุญงามอนงค์ รวมทั้งทางทวิตเตอร์ @บก.ลายจุด 


            และนี่ก็คือประวัติของ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่กลายมาเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

ขอขอบคุณ




Create Date : 09 มิถุนายน 2557
Last Update : 9 มิถุนายน 2557 8:10:41 น. 0 comments
Counter : 1958 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ข่าวดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]










ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


New Comments
[Add ข่าวดี's blog to your web]