Group Blog
 
All Blogs
 

อ๊อกซิโตซิน: ฮอร์โมนแห่งความผูกพัน

พอดีผมได้เปิดดูรายการเกมเศษฐีความรู้ ซึ่งมีคำถามว่า ฮอร์โมนใดจัดเป็นฮอร์โมนแห่งความผูกพัน หลายท่านก็คงมีคำตอบในใจนะครับ แต่คำตอบที่ถูกก็คืออ๊อกซิโตซิน (oxytocin) มีเหตุผลอะไรบ้างที่สนับสนุนคำกล่าวนี้ ผมจะได้อธิบายในบทความนี้ครับ

อ๊อกซิโตซินจัดเป็นนิวโรเปปไตด์ (neuropeptide) หมายถึง สายเปปไทด์ที่สร้างในระบบประสาทซึ่งเกิดจากกรดอะมิโนต่างชนิดกัน 9 โมเลกุลมาต่อกันด้วยพันธะเปปไทด์ (nonapeptide)



อ๊อกซิโตซินถูกสังเคราะห์โดยเซลล์ที่ชื่อ magnocellular neurosecretory cells ที่อยู่ในกลุ่มของเซลล์ประสาทที่ชื่อว่า supraoptic nucleus และ paraventricular nucleus ของสมองส่วนไฮโปธาลามัส นอกจากออกฤทธิ์เป็นสารสื่อประสาทแล้วยังถูกส่งไปยังต่อมพิธูอิตารีเพื่อหลั่งสู่กระแสเลือดจากต่อมพิธูอิตารีไปทำหน้าที่ในอวัยวะที่อยู่ห่างไกลซึ่งเราจัดว่าเป็นคุณสมบัติของฮอร์โมน (neurohypophyseal hormone) อ๊อกซิโตซินมีบทบาทสำคัญในหลายอวัยวะโดยเฉพาะในสามส่วนหลัก คือ ไฮโปธาลามัส ต่อมพิธูอิตารี (pituitary gland) และต่อมหมวกไต ที่เรียกว่า hypothalamic pituitary adrenal (HPA) axis ซึ่งปัจจุบันนี้มีการศึกษาวิจัยเรื่องประสาทวิทยาของต่อมไร้ท่อมาเป็นเวลาช้านานถึงบทบาทในด้านความผูกพันทางสังคม (social attachments) และความรัก ทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดกระบวนการสืบพันธุ์ ทำให้รู้สึกว่ามีความปลอดภัย รวมทั้งยังช่วยลดความกังวลและความเครียดได้อีกทางครับ

การทำงานของอ๊อกซิโตซินแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ดังนี้
1. ออกฤทธิ์เป็นฮอร์โมนภายนอกสมอง 1. อ๊อกซิโตซินออกฤทธิ์ที่ต่อมน้ำนม mammary glands เพื่อกระตุ้นให้เต้านมแม่หลั่งน้ำนมให้ลูก
2. การบีบรัดตัวของมดลูกในระหว่างการคลอดบุตร
3. เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเพศ โดยพบว่าช่วงระยะจุดสุดยอดของการมีเพศสัมพันธ์ (orgasm) มีปริมาณอ๊อกซิโตซินในเลือดสูงขึ้น และยังเชื่อว่ามีส่วนช่วยลำเลียงอสุจิในระหว่างการหลั่งน้ำเชื้อ (ejaculation) ของผู้ชายอีกด้วย

2. ออกฤทธิ์ภายในสมอง
1. อ๊อกซิโตซินที่หลั่งออกมาจากต่อมพิธูอิตารีและเข้าไปยังกระแสเลือดแล้วไม่สามารถที่เข้าสู่สมองได้อีกครั้งเนื่องจากมีโครงสร้างช่วยปิดกั้นไว้ที่เรียกว่า blood-brain barrier ดังนั้นอ๊อกซิโตซินที่มีผลต่อสมองจึงถูกสร้างและใช้ในสมองโดยไม่ได้หลั่งออกสู่เลือดทางต่อมพิธูอิตารี บริเวณวสมองที่ไปออกฤทธิ์มีหลายแห่งซึ่งวัดจากปริมาณอ๊อกซิโตซินตัวรับอ๊อกซิโตซิน (Oxytocin receptors) ที่ตรวจจับได้บนเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทของสมองส่วน amygdala, ventromedial hypothalamus, septum และ brainstem รวมทั้งยังพบตัวรับอ๊อกซิโตซินของในไขสันหลังอีกด้วย
2. ความตื่นตัวทางเพศ พบว่าถ้าฉีดอ๊อกซิโตซินเขาไปในน้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (cerebrospinal fluid) ของหนูทำให้อวัยวะเพศตั้งตัวขึ้นได้เอง (spontaneous erection)
3. การจับคู่ ในสมองของผู้หญิงหลั่งอ๊อกซิโตซินเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีกิจกรรมทางเพศและทำให้เขาปักใจรักเดียวใจเดียวกับคู่ขาคนนั้น และยังพบว่าระดับของอ๊อกซิโตซินในเลือดสูงขึ้นในคนที่กำลังตกหลุมรัก
4. อ๊อกซิโตซินทำให้เกิดพฤติกรรมของแม่ที่มีต่อลูก มีการทดลองในหนูที่เป็นโสดเมื่อได้รับอ๊อกซิโตซินก็มีพฤติกรรมเสมือนว่าตนเป็นแม่
5. ลดความเครียด อาจเนื่องจากลดระดับความดันโลหิตและฮอร์โมนคอร์ติซอล และมีผลลดความเจ็บปวดและคลายกังวล
6. เพิ่มความเชื่อมั่นและลดความหวาดกลัว ซึ่งเชื่อว่าอ๊อกซิโตซินไปออกฤทธิ์ที่สมองส่วน amygdala ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความหวาดกลัว

มีการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ปี ค.ศ. 2005 โดยนักวิจัยที่ University of Zurich ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นผู้ดำเนินการศึกษา เมื่อให้อ๊อกซิโตซินในรูปแบบสเปรย์ที่ฉีดเข้าจมูก (Nasal spray) ซึ่งมีขายทั่วไปที่ร้านยาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พบว่าทำให้คนเราเกิดการตอบสนองทางสังคมโดยเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกับผู้อื่นมากขึ้นซึ่งอาจมีผลต่อกระบวนการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจพอสมควรครับ ดังนั้นผลงานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาในสาขาวิชาประสาทเศรษฐศาสตร์ (neuroeconomics) มีความสำคัญยิ่งขึ้นในปัจจุบัน และนอกจากนี้บทบาทที่ช่วยเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจนี้อาจเป็นประโยชน์ในการรักษาคนที่มีอาการกลัวผู้คนไม่กล้าเข้าสังคม (social phobia) หรือในอาการออติซึม (autism) เป็นต้น




อ้างอิง

1. //www.oxytocin.org/oxytoc/love-science.html
2. //en.wikipedia.org/wiki/Oxytocin
3. Eric R. Kandel, Principles of Neural Science, 2000
4. Kosfeld M., Heinrichs M., Zak P. J., Fischbacher U. & Fehr E. Nature, 435. 673 - 676 (2005).
5. //www.freewebs.com/neuroscience/




 

Create Date : 12 มกราคม 2550    
Last Update : 2 ธันวาคม 2554 22:51:09 น.
Counter : 1136 Pageviews.  

ประวัติวิชาประสาทวิทยาศาสตร์ ตอนที่ 1

ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้นมีหลักฐานที่กล่าวถึงบรรพบุรุษของมนุษย์มีความเชื่อว่าสมองเป็นส่วนที่สำคัญต่อชีวิต หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นหนึ่งที่มีอายุราวๆ หนึ่งล้านปีเป็นอย่างต่ำ คือ กะโหลกศรีษะของพวกโฮมินิด (hominid skull) ที่มีหลักฐานการถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต ทั้งนี้สัณนิษฐานว่าอาจถูกพวกฮิวมินิดกลุ่มอื่นจับลงโทษ (ฮิวมินิดเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลัง (primate) จัดอยู่ในตระกูลฮิวมินิเด (family Hominidae) ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งมนุษย์ปัจจุบัน (Homo sapiens sapiens) รวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่คล้ายมนุษย์ในสปีชีส์อื่นๆ ที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว)

เมื่อ 7,000 ปีที่แล้วมีหลักฐานพบการใช้เครื่องมือโบราณเพื่อเจาะกะโหลกศรีษะทั้งสองข้างให้เป็นรูซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า trepanation โดยมีจุดประสงค์เพื่อการรักษาชีวิต ในสมัยนั้นมีความเชื่อว่าการทำเช่นนี้จะสามารถรักษาอาการปวดศรีษะและความผิดปกติประเภทต่างๆ รวมทั้งยังเชื่อว่ารูที่กะโหลกนี้จะเป็นช่องทางปลดปล่อยวิญญาณร้ายออกจากร่างกายผู้ป่วยด้วย

หลักฐานอีกชิ้นเป็นงานเขียนของแพทย์ในสมัยอียิปต์โบราณเมื่อราว 5,000 ปีที่แล้วที่แสดงถึงความตระหนักร็ถึงอาการต่างๆ ที่เกิดจากการบาดเจ็บของสมอง แต่อย่างไรก็ตามผู้คนในสมัยนั้นเชื่อว่าหัวใจเป็นอวัยวะที่ตั้งอยู่ของจิตวิญญาณและการเก็บความทรงจำต่างๆ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของสมอง ทั้งนี้เมื่อคนในสมัยนั้นเสียชีวิตก็จะทำการดูดเอาเนื้อสมองออกไปทิ้งโดยผ่านช่องจมูกที่มีส่วนติดต่อกับสมอง โดยเก็บรักษาร่างกายส่วนที่เหลือไว้เป็นอย่างดีตามความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ในยุคสมัยนี้ความเชื่อที่ว่าหัวใจเป็นอวัยวะที่ตั้งอยู่ของจิตวิญญาณและสติสัมปชัญญะไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงมากนักจนกระทั่งถึงยุคสมัยของฮิปโปเครติส (Hippocrates)

ฮิปโปเครติส (460-379 B.C.) ซึ่งเป็นบิดาแห่งการแพทย์แบบตะวันตกได้มีความเชื่อว่าสมองนอกจากจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับความรู้สึกต่างๆแล้วยังเป็นส่วนที่ตั้งอยู่ของความฉลาดทางปัญญา (intelligence) อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามอริสโตเติล (Aristotle) (384-322 B.C.) ซึ่งเป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงของกรีกยังคงเชื่อว่าหัวใจยังเป็นส่วนที่ตั้งอยู่ของความฉลาดทางปัญญา (intellect) เขาเสนอว่าสมองเป็นเสมือนเครื่องทำความเย็นให้กับกระแสเลือดซึ่งมีความร้อนที่เพิ่มขึ้นจากการที่หัวใจเต้นอยู่ตลอดเวลา

ในสมัยอาณาจักรโรมัน กาเลน (Galen, 130-200 B.C) ซึ่งเป็นแพทย์และนักเขียนชาวกรีก เป็นผู้ที่เชื่อบทบาทของสมองตามมุมมองของฮิปโปเครติส เนื่องจากว่าเขาได้ทำการทดลองโดยผ่าตัดดูสมองของสัตว์ชนิดต่างๆ เขาได้แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างหลักของสมองแกะสองส่วน คือ สมองส่วนซีรีบรัม (cerebrum) ในส่วนหน้าและสมองส่วนซีรีเบลลัม (cerebellum) ในส่วนหลัง ตอนนั้นเขาคิดเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างกับหน้าที่ของสมองที่ไม่ต่างอะไรกับแขนหรือขา โดยเขาใช้นิ้วกดเนื้อสมองที่ผ่าตัดใหม่ๆ พบว่าสมองส่วนซีรีเบลลัมมีความแข็งกว่าสมองส่วนซีรีบรัมที่ความนุ่มกว่า จากผลการสังเกตนี้ เขาเสนอว่าสมองส่วนซีรีบรัมจะต้องเป็นตัวรับความรู้สึกต่างๆ และสมองส่วนซีรีเบลลัมต้องเป็นตัวสั่งการให้กล้ามเนื้อทำงาน การที่เขาระบุความแตกต่างนี้เนื่องจากว่าในตอนนั้นเขาตระหนักว่าการที่สมองจะสร้างความจำขึ้นมาได้นั้น การรับความรู้สึกต่างๆ จะต้องถูกส่งไปยังสมองเพื่อทำการบันทึกก่อน ซึ่งปัจจุบันเราทราบแน่ชัดว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นที่สมองส่วนซีรีบรัม




 

Create Date : 09 มกราคม 2550    
Last Update : 11 มกราคม 2550 23:03:45 น.
Counter : 512 Pageviews.  

ประสาทวิทยาศาตร์ คือ อะไรเหรอครับ

หลายท่านคงคุ้นเคยกับคำว่าระบบประสาท (nervous system) เป็นอย่างดีซึ่งคำนี้หมายถึง สมอง (brain) ไขสันหลัง (spinal cord) และเส้นประสาท (nerves) ที่ไปควบคุมการทำงานของร่างกาย การที่มนุษย์เรามีระบบประสาทนี้ทำให้เราสามารถรับสัมผัสต่างๆ ได้ไม่ว่าการมองเห็น การรับรส การรับกลิ่น ทำให้เราสามารถเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้สะดวก และทำให้เราคิดวิเคราะห์และจดจำ รวมทั้งเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้คือความสำคัญอย่างยิ่งยวดของระบบประสาทที่มีต่อมนุษย์ครับ

ประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) เป็นการศึกษาระบบประสาทด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อเเสวงหาความลี้ลับในการทำงานระบบประสาทที่มีต่อร่างกายและจิตใจของมนุษย์ เนื่องจากการศึกษาการทำงานของระบบประสาทเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนนักประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscientist) จึงแบ่งการศึกษาประสาทวิทยาศาสตร์นั้นเป็นส่วนที่เล็กลงเพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ที่เป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพครับ โดยอาจแบ่งระดับการศึกษาวิเคราะห์ (level of analysis) ออกเป็น 5 ระดับย่อย คือ ประสาทวิทยาศาสตร์เชิงโมเลกุล (Molecular neuroscience), ประสาทวิทยาศาสตร์ระดับเซลล์ (Cellular neuroscience), ประสาทวิทยาศาสตร์เชิงระบบ (Systems neuroscience), ประสาทวิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรม (Behavioural neuroscience) และประสาทวิทยาศาสตร์เชิงปัญญา (Cognitive neuroscience)

ในบทความตอนต่อๆ ไปผมคงได้มีโอกาสเชื่อมความสำคัญของสมองในชีวิตประจำวันของเราซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่ามันเกี่ยวอะไรกันเนี๊ยกับสมอง เช่น การตัดสินใจลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ ความผูกพันระหว่างแม่กับลูก การได้เห็นหน้าตาทำให้เกิดความรัก รวมทั้งความมหัศจรรย์ของสมองในอีกหลายด้านครับ



//www.freewebs.com/neuroscience/brainfacts.htm




 

Create Date : 08 มกราคม 2550    
Last Update : 11 มกราคม 2550 7:38:49 น.
Counter : 4977 Pageviews.  

1  2  

weerapong_rx
Location :
London United Kingdom

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




อยู่เมืองกรุงไกลนาเพื่อตามล่าฝัน
Friends' blogs
[Add weerapong_rx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.