images by free.in.th images by free.in.th
Group Blog
 
All blogs
 

slow life ... ใช้ชีวิตพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวง

slow life ในความคิดของฉันคือการลดจังหวะชีวิตลงจากเร็วรี่
เป็น เนิบช้า

รูปธรรมของมันก็คือการ ทำอะไรให้ 'ช้า' ลง นั่นแหละค่ะ

การหาคำตอบที่แท้จริงว่า slow life คืออะไรและต้องทำอย่างไรบ้าง
เพื่อทำความเข้าใจการใช้ชีวิตแบบนี้ให้ถ่องแท้ ฉันก็เลยลอง
search ข้อมูลจากอากู๋มาดู เจอบทความของคุณหมออุดม เพชรสังหาร ที่เขียนไว้ในนิตยสารรักลูก ตั้งแต่ปีใหม่ 2551 ขออนุญาต
คุณหมอมาเก็บไว้ในนี้ด้วยค่ะ

ใครกำลังจะ slow down เป็นเพื่อนฉัน ก็ลองอ่านดูนะคะ


“Slow Life” หรือ “ชีวิตที่พอเพียง” ซึ่งผมแปลเองว่ามันน่าจะหมายถึงชีวิตที่พอเพียงมากกว่าจะแปลว่า “ชีวิตที่ไม่เร่งรีบ” เพราะคิดว่ามันน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าสำหรับชีวิตของเรา และน่าจะเหมาะสมกับการดำรงอยู่ในโลกใบนี้ที่นับวันสับสนขึ้นเรื่อยๆ

Slow Life คืออะไรและมันช่วยให้เกิดคำตอบกับชีวิตของเราได้อย่างไร?

ก่อนอื่นผมขอให้ทุกท่านหลับตาแล้วทบทวนชีวิตที่ผ่านมาว่าเคยรู้สึกไหมครับว่า ปัจจุบันเรามีเวลาในการทำสิ่งต่างๆ น้อยลงกว่าเมื่อก่อน เรามักจะรู้สึกว่าทำอะไรไม่ค่อยทันไม่ว่าจะเป็นงานในหน้าที่ การใช้ชีวิตกับครอบครัว การเสวนาสังสรรค์กับเพื่อนฝูงทุกอย่างดูมันลดหายไปหมด เพราะมีเวลาไม่พอ

จริงๆ เวลาไม่ได้หดหายไปไหนหรอกครับ 1 วัน ก็ยังมีอยู่ 24 ชั่วโมง 1 ชั่วโมงมี 60 นาที ครบเหมือนเดิม แต่ทุกอย่างมันรีบเร่งมากขึ้นจนทำให้เราทำอะไรไม่ทัน สุดท้ายเราก็เลยรู้สึกว่าเวลาของเรามีน้อยลง ความรีบเร่งแบบนี้ไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึกมันเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่เกิดขึ้นจริงๆ ครับ

มหาวิทยาลัยเฮิร์ต ฟอร์ดเชียร์ ประเทศอังกฤษได้ทำการวิจัยก็พบว่า คนเมืองอย่างเราๆ ใช้ชีวิตเร่งรีบมากขึ้นโดยการศึกษาจากความเร็วในการเดินครับ เขาพบว่า ปัจจุบันคนเดินเร็วขึ้นประมาณร้อยละ 10 ของความเร็วที่เราใช้เดินกันในช่วง พ.ศ. 2537 และสิงคโปร์นั้นคือประเทศที่มีการเพิ่มความเร็วในการเดินสูงที่สุดคือประมาณร้อยละ 30 ของความเร็วในการเดินในอดีต

หลายคนบอกว่า ดีสิจะได้รีบเร่งออกไปทำงานหรือบางคนอาจบอกว่า เพราะประเทศเขาเป็นแบบนี้ถึงทำให้สิงคโปร์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนทบจะซื้อประเทศไทยได้แล้ว

สิ่งนี้อาจจริงแต่ไม่ทั้งหมดครับ อีกมุมหนึ่งเขาพบว่า ประเทศเหล่านี้จะต้องจ่ายเพื่อแลกกับสิ่งที่ได้มาเยอะเหมือนกัน แต่ไมได้จ่ายเป็นเงินครับ สิ่งที่เขาต้องจ่ายไปเพื่อแลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเขาก็คือ ประชาชนเครียดมากขึ้น เกิดโรคที่มากับความเครียดมากขึ้น ไม่ว่าจะโรคหัวใจ ความดันโลหิต โรคซึมเศร้า สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมถูกทำลายมากขึ้น มลภาวะต่างๆ มากขึ้น วิถีชีวิตของประชาชนเปลี่ยนไป ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ทั้งปัญหาด้านเด็กและเยาวชน ปัญหาครอบครัว การหย่าร้าง ปัญหาอาชญากรรม และที่สำคัญก็คือ ประชาชนของเขารู้สึกว่า วิถีชีวิตแบบนี้มันทำลายความเป็นมนุษย์ ทำให้มนุษย์กลายเป็นเพียงเครื่องจักรในการผลิตสินค้าและบริการไม่หลงเหลือสิ่งที่เรียกว่า คุณค่าหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ท้ายที่สุดสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ได้รับก็ไม่คุ้มกับสิ่งที่สูญเสียไปหลายประเทศเริ่มหันมาทบทวนวิธีคิดในการพัฒนาประเทศกันใหม่ทำนองว่าจะดิ้นรนมากมายทำไม เพราะแทนที่จะทำให้ประชาชนมีความสุข กลับสร้างความทุกข์ให้แทน กระแสเรียกร้องวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีสุขที่ฝรั่งใช้คำว่า “Slow Life” จึงเกิดขึ้น และมีความเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ หลายปีก่อนผมมีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นระยะหนึ่งก็เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวนี้แล้ว คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่พอใจกับการทำงานไม่เต็มเวลา เริ่มให้ความสำคัญกับวันหยุดมากกว่าเงินค่าตอบแทนหรือความก้าวหน้าในอาชีพที่มาจากการทุ่มเทให้กับงานไม่โงหัวหรือที่พวกเราเรียกกันว่า “workaholic” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ในอดีตของคนทำงานในญี่ปุ่นเขามองวิถีการทำงานนี้ว่าเป็นวิถีของคนรุ่นใหม่ที่มองทุกอย่างในชีวิตว่ามีความสำคัญที่เท่าเทียมกัน แทนที่จะให้ความสำคัญเฉพาะกับเรื่องงานอย่างเดียว

ปัจจุบันมีเมืองใหญ่หลายเมืองในญี่ปุ่นที่ผู้บริหารของเมืองประกาศให้ “Slow Life” หรือ “วิถีชีวิตที่เรียบง่าย” เป็นนโยบายสำคัญของท้องถิ่นของเขา

แนวทาง “วิถีชีวิตที่เรียบง่าย” หรือ “Slow Life” สไตล์ญี่ปุ่นก็ไม่มีอะไรมากครับ เขาพยายามให้ประชาชนหันกลับมาสู่วิถีของความเป็นญี่ปุ่นที่เรียบง่ายนั่นเอง ผมขอยกตัวอย่างเมืองๆ หนึ่งชื่อคาเกะกาว่า อยู่ในจังหวัด ชิซูโอกะ มาเล่าสู่กันฟังก็แล้วกันเมืองนี้เขาประกาศตัวเองเป็น “Slow Life City” โดยมีข้อปฏิบัติสำหรับประชาชน 8 ประการคือ
1. Slow Pace สร้างจังหวะให้ชีวิตช้าลงโดยมีการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาเดินแทนการใช้รถยนต์ ซึ่งดีต่อสุขภาพและยังช่วยลดอุบัติเหตุการจราจร

2. Slow Wear รณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่ผ้าชุดพื้นเมืองเพราะมันคือคุณค่าความเป็นญี่ปุ่น

3. Slow Food ทุกคนรับประทานอาหารญี่ปุ่น ปฏิเสธอาหารจานด่วนที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ

4. Slow House อยู่บ้านแบบญี่ปุ่นที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ

5. Slow Industry เขาจัดการรณรงค์ให้ประชาชนดูแลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การทำฟาร์มไร่น่า หรืออุตสาหกรรมจะต้องไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมของเมือง

6. Slow Education คือการให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับศิลป์ วิถีแห่งชีวิตและวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมมากกว่าความเป็นเลิศทางการศึกษา

7. Slow Aging มุ่งไปสู่การมีชีวิตที่ยืนยาว มีคุณค่าสง่างาม

8. Slow Life ทุกคนจะดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้สิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด เพื่อวิถีชีวิตที่ดีขึ้นของสังคมของเขา

หันกลับมาที่บ้านเรา ต้องบอกว่าเราโชคดีมากครับ เพราะเรามีพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงชี้นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้กับสังคมไทยมาช้านานแล้ว แนวคิด “Slow Life” ของประเทศญี่ปุ่นผมคิดว่ามันก็งั้นๆ ไม่ได้ล้ำลึกอะไรมาก แต่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวของเราสิครับ ครอบคลุมแทบจะทั้งหมด ทั้งหลักคิด หลักความพอดี หลักความยืดหยุ่นพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงโดยตั้งอยู่ภายใต้หลักของคุณธรรม และการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาผมคิดว่า นี่คือสิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถต้านทานกับความเร่งรีบของชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวี่วัน และเราก็เริ่มจะรู้สึกแล้วว่ามันเข้ามาบีบคั้นชีวิตของเราอย่างไร

------

บทความของคุณหมอจบลงด้วยการขมวดชีวิต slow เข้ากับปรัชญาพอเพียงของในหลวง

ฉันจะกลับมา slow ต่ออีกครั้งตอนมืดๆนะคะ !




 

Create Date : 25 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 25 พฤษภาคม 2553 6:51:55 น.
Counter : 2045 Pageviews.  

ช้าลงอีกนิด .. ได้อะไรอีกเยอะ

นับตั้งแต่เอาใจฝักใฝ่เรื่องการอยู่ ( และกิน ) แบบ slow slow เลียนแบบหอยทากมาได้พักหนึ่ง แต่เพิ่งจะลงมือทำได้ไม่กี่วัน

ต้องย้ำว่า ฉันไม่มีทฤษฎีอะไร หรือแนวคิดของนักปฏิบัติคนไทนที่ให้
เอบแบบอย่างแบบตายตัวนะคะ ทั้งนี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรสำหรับสังคมนี้ มีคนใช้ชีวิต slow life ให้เห็นอยู่เยอะแยะ แต่ที่แน่ๆ คนเหล่านั้นก็ไม่ได้ออกมาประกาศตัวว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นเลิศเลอเพอร์เฟ็ค

มันเป็นเพียงแนวปฏิบัติเฉพาะบุคคลจริงๆ แบบที่ใครพอใจจะทำ - ก็ทำ

ไม่ใช่ว่าจู่ๆ ฉันจะลุกขึ้นมาบอกว่า โอ๊ย แบบนี้ดี ให้ลุกขึ้นมาทำเถอะ
แต่เรื่องของเรื่องมันก็มีเหตุให้ต้องลุกขึ้นมา พยายามหาวิธีบอกศาลา
ชีวิตลกๆ ลนๆ และหันมาทบทวนวิธีคิดตลอดจนลงมือทำให้ได้จริงๆ เพื่อเปลี่ยนแปลง

ฉันคิดว่าชีวิต slow สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้หลายรูปแบบ

ที่แน่ๆ การ slow แบบที่ฉันกำลังทำ ก็คือพยายามจะหาแนวคิด
ในการปรับใจ โดยพยายามดึงตัวเองให้กลับมาจดจ่อกับตัวเอง

ฉันคิดว่าการทำอะไรให้เนิบช้าในระหว่างวัน เผื่อจะช่วยให้กายและใจดีขึ้น

เมื่อเริ่มต้น slow ด้วยเหตุผลบางประการว่าด้วยการใช้ชีวิต ซึ่งต้องยอมรับว่าตัวเองเหนื่อยเหลือแสนกับการทำงาน และฉันไม่เป็นมิตรกับไมเกรนที่ชอบมาหาบ่อยๆ ยิ่งในระหว่างนี้ด้วยแล้ว

คุณที่เป็นไมเกรน คงทราบว่ามันไม่น่าสนุก แม้อาการที่ฉันเป็นจะไม่ถึงขั้นร้ายแรง แต่ความน่ารำคาญอันเกิดจากอาการนี้ ก็บั่นทอนการใช้ชีวิตอยู่พอสมควร

ถึงเวลาที่ฉันต้องออกแรงเพื่อดูแลตัวเองบ้างแล้ว และหนึ่งในนั้นก็คือวิธีการที่จะ 'ผ่อนปรน' กับตัวเอง

ทำอะไรให้ช้าลง

..

เมื่อฉันบอกตัวเองให้ slow อย่างเป็นรูปธรรม

ฉันก็พยายามจะดึงตัวเองให้ทำอะไรช้าๆ ที่จริงบางอย่างในชีวิตเราทำช้าๆได้อยู่แล้ว แต่บางครั้งเมื่อเรารีบ หรือเราไม่มีเวลามากพอจะให้ช้าได้ เราก็ต้องทำอะไรแบบลนๆ แล้วมันก็ไม่สนุกเลย

แม้แต่เรื่องของการอาบน้ำ .... อาบน้ำเนี่ยนะ เกี่ยวอะไรกับการ slow

นิสัยการอาบน้ำของฉัน ฉันจัดตัวเองอยู่ในระดับกลางๆ คือให้เวลาแค่พอประมาณ ตามความเหมาะสม คือเร็ว ในบางเวลาที่มีเวลาน้อยหรือจำกัด เช่น ตื่นสายในวันที่มีเวลาเตรียมตัวน้อย แหะ แหะ หรือช้ามาก
ในเวลาที่อยากผ่อนคลายสุดๆ เรียกว่า หาสมดุลไม่เจอเลย

แต่ฉันเชื่อว่านิสัยการอาบน้ำของเราแต่ละคนไม่เหมือนกันหรอกค่ะ บางคนอาบน้ำเร็วมาก แบบที่เรียกว่าวิ่งผ่านน้ำ แต่บางคนก็อาบน้ำนานมาก

แต่ฉันเชื่ออยู่อย่าง ว่าในช่วงเวลาที่เราได้อาบน้ำนั้นเราจะผ่อนคลาย

การ slow ในขณะอาบน้ำ จะว่าไปมันก็ไม่เห็นจะยาก ก็แค่อาบน้ำช้าๆ ไม่ได้แปลว่าอาบนานมากกกก นะคะ ช้า กับนานคนละแบบกันค่ะ คนที่อาบน้ำนานมากๆ เช่น อาบทีครึ่งชั่วโมง หรือนานกว่านั้นอีก แบบนั้นฉันก็ว่าไม่ไหว

อาบน้ำช้าๆ คือดึงจังหวะให้มันช้าลงนั่นเองค่ะ

ใครๆก็รู้ว่าการอาบน้ำทำให้เราผ่อนคลายได้ แต่การอาบน้ำช้าๆ เราก็แค่ให้เวลากับบางสเต็ปในการอาบเช่น ฟอกตัวให้นานขึ้นหน่อย
ค่อยๆ ถูตัว ค่อยๆ ปล่อยให้น้ำไหลลงมาชำระล้างร่างกาย หรือว่า ช้าลงอีกนิดในสเต็ปการแปรงฟันและล้างหน้า การทำอะไรช้าหน่อย
ดึงจังหวะลงหน่อย ทำให้ทุกการกระทำของเราเป็นไปแบบมีสติกำกับ พอเราทำอะไรเร็วๆมาตลอดด้วยความเคยชิน แล้วลองหันกลับมาช้า ผลที่ได้ต่างกันเหลือเชื่อค่ะ

การอาบน้ำแบบ slow ไม่ใช่การเปิดน้ำตลอดเวลา เพราะนั่นไม่ใช่วิธีการที่ถูก หนำซ้ำยังแปลว่าเราใช้ชีวิตแบบไม่รู้คุณค่าทรัพยากร แต่เราแค่ slow ในจังหวะหรือการกระทำของเรา

น้ำเย็นๆที่ผ่านตัวเรา มันเรียกความสดชื่นได้ทันตานะคะ
แถมการอาบน้ำด้วยสบู่หรือเจลอาบน้ำกลิ่นที่เราชอบด้วยแล้ว ยิ่งสดชื่นเข้าไปใหญ่

เมื่อเราช้าลงในการทำอะไรบางอย่าง มันก็เบาสบายค่ะ เรื่องอาบน้ำอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเฉพาะ ของใครของมัน

แต่การประณีตกับเรื่องเล็กๆที่มีผลต่อทั้งกายทั้งใจของเรา อาจทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นได้วันละห้านาที สิบนาที

ไม่ถึงกับต้องไปถอยอ่างอาบน้ำมาไว้ในห้องน้ำก็ได้ อันนั้นอยู่ที่ปัจจัยของแต่ละคน ทำไม่ได้ทุกคนหรอกค่ะ

แต่ที่ทำได้ง่ายๆก็แค่ ใส่ใจ และ ให้เวลา

อาบน้ำอย่างเนิบช้า มีความสุขวันละสองเวลา โอ๊ย.. สบายใจจริงๆค่ะ

..

รูปธรรมอีกอย่างคือ ปกติฉันจะเป็นคนที่ทำอะไรตามใจตัวเองสุดๆ โดยไม่มีการ balance ระหว่างอารมณ์กับเหตุผล

ยกตัวอย่างว่า ทันทีที่กลับถึงบ้าน ฉันจะทำตามอารมณ์ทันทีด้วยความเคยชิน คือเข้าห้องนอนปุ๊บ เปิดแอร์ปั๊บ เรียกว่า ร้อน ร้อน ร้อน จนอยู่ไม่ได้

เรารู้ว่าเราเปิดแอร์แล้วเราจะเย็น แต่เราไม่อินังขังขอบกับค่าไฟ เพราะเราถือว่าเราทำงานมาเหนื่อย ดังนั้นการเปิดแอร์เย็นๆมันก็ชดเชยกับความเหนื่อย ใครจะทำไม ??

นี่ค่ะ นี่คือตัวอย่างของการทำอะไรแบบไม่คิด หรือหากเราคิดสักนิด ทำให้ตัวเองไม่ร้อนรน เราค่อยๆคิด แบบช้าๆ แล้วเราจะพบว่าเปิดแอร์ช้าไปสักชั่วโมงหนึ่ง เราจะลดค่าไฟลงได้หลายบาท ฉันไม่รู้หรอกค่ะว่าจำนวนที่ลดลงได้แน่ๆมันกี่บาท

แต่เมื่อทำแล้ว เราได้ใคร่ครวญแล้ว เราพบว่า วิธีการ slow แม้แต่การค่อยๆคิดนี่ มันดีจัง...

เปิดแอร์ช้ากว่าที่เคยไปสักหนึ่ง ชม ฉันลดค่าไฟได้ และช่วยให้โลกร้อนน้อยลงได้ด้วย่ใช่ไหมคะ

เมื่อก่อนเราไม่มีสติกำกับ เราเร็วไปหมด เราถือว่าเราจะทำอย่างนี้ เราจ่ายค่าไฟเอง ไม่ได้ขอให้ใครมาจ่ายให้สักหน่อย ก็เราจะทำอย่างนี้แล้วมันหนักกระเป๋าใคร

ก็เพราะเราไม่ได้หยุดคิดเลยนั่นเอง

วันนี้ได้หยุดคิดแล้ว ได้เริ่ม 'ช้า' แล้ว รู้สึกว่ามีความสุขเพิ่มขึ้น แม้คำนวณเป็นเงินตราไม่ได้ แต่ความสุขทางใจกลับผกผันและสวนทาง

ขอบคุณแรงบันดาลใจที่ฉันได้อ่านจากหนังสือ slow life ของคุณ
ปวิตรา เกษมเนตร และขอบคุณร่างกายที่ส่งสัญญาณให้ฉันรู้ว่า มันคงถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลง ฉันรู้สึกดีกับตัวเองขึ้นมาตั้งมาก เมื่อพบว่าเราได้ทำอะไรดีๆ แม้เพียงเล็กน้อย ต่อตัวเองและต่อโลกนี้

แท้จริงแล้วการทำอะไรก็ตาม มันไม่ยากถ้าเราได้ 'เริ่มต้น'

ก้าวที่หนึ่งจึงสำคัญเสมอค่ะ !!




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2553 22:36:35 น.
Counter : 445 Pageviews.  

slow life ระหว่างวัน .. ไม่วีนแตก = ใจเบา

slow life ระหว่างวัน...

มีอะไรมากระทบ
มีเสียงรบกวนหัวใจ

นิ่ง .. เงียบ

ไม่พอใจอะไร ( ใคร ) ไม่ทะเลาะด้วย
ปล่อยไป

เขาอาจอยากทำอะไรอย่างที่เขาอยากทำ
หากเราไม่ชอบอย่างเดียวกัน
ไม่ต้องบั่นทอนกันด้วยคำพูด

เดินออกมาจากตรงนั้น นิ่งๆ เงียบๆ
มีความสุขของเรา

แบบ slow slow นะคะ

..

การทะเลาะกัน หรือว่า ทุ่มเถียงกัน ไม่สร้างความสุขให้กันค่ะ
มีแต่จะบั่นทอน

เรา slow down อารมณ์ของเราได้ จะทำให้ใจเรา เบา.. ลง
ความสุขก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม

ด้วยตัวเองนี่แหละค่ะ

..

ช้าลงอีกนิด คิดก่อนพุดสักนิด ดีจังเลย ที่ไม่ต้องทะเลาะกัน
เขาอยากทำอะไร ปล่อยให้เขาทำ เราเดินออกมาทำในสิ่งที่เรา
อยากทำเหมือนกัน เมื่อไม่มีเสียงวีนแตกของเรา

วันนี้ก็คงสงบดี

ไม่วีนแตก = ใจเบา

ดีจริงๆค่ะ !!




 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 23 พฤษภาคม 2553 13:38:44 น.
Counter : 282 Pageviews.  

แม้แต่ 'ปลิง' ยัง slow life เลย .. เริ่ม slow ก้าวที่หนึ่ง

อย่ากลัวที่จะก้าวไปช้าๆ จงกลัวที่จะอยู่นิ่งเฉย
-สุภาษิตจีน-

ว้าว.. เช้านี้หยิบหนังสือเรื่อง 'คู่มือแสวงพรสวรรค์'
ของคุณหมอสม สุจีรา ขึ้นมาอ่าน ราวกับว่า ตัวหนังสือจะบอกอะไร
ฉันกระนั้นค่ะ เปิดปุ๊บ เจอหน้านี้ปั๊บ ตอบคำถามบางอย่าง ว่าตั้งใจจะให้ชีวิตอยู่ในโหมดเคลื่อนที่ช้าตั้งแต่บัดนี้ ก็มีคำบางคำลอยลมมา บอกว่า อย่ากลัวที่จะก้าวไปช้าๆ

ดีจังเลย..

ขอเอามาขึ้นหัว เพื่อตอกย้ำตัวเองบ่อยๆ

ผ่านเข้ามาอ่าน อย่าได้งงไปนะคะ อยู่ดีๆ ผู้หญิงวัยเฉียด 40
( ยังอยากเต็มใจที่จะหยุดอายุไว้ที่ 38 ) จะลุกขึ้นมาบอกตัวเองว่า
ฉันขอเดินช้าๆมั่งได้ไหมเนี่ย -- กับเขาบ้าง

เรื่องของเรื่อง ฉันรู้สึกว่าตัวเองเหนื่อย กับอะไรหลายๆอย่างในชีวิต
และเคยเปรยกับตัวเอง ว่าอันความเหนื่อยนี้หนา มันทำให้ชีวิตฉัน
หนักอึ้ง ทำให้ความสุขลดลง เมื่อวันหนึ่งได้อ่านหนังสือ
ของคุณปวิตรา เกษมเนตร เรื่อง สูตรความสุข นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉัน
รู้สึกว่า มันใช่เลย ทำไมเราต้องทำให้ชีวิตเราหนักอึ้ง ทั้งที่เราทำให้มันเบาลงได้ หากว่าเราเหนื่อยมากเกินไป ทำอย่างไรให้เราเหนื่อยน้อยลงได้

ใช่เลย ฉันอยาก slow down บ้าง

แต่การ slow นี้ อาจจะเริ่มต้นไม่เหมือนกับคุณปวิตราหรือคนอื่นๆนะคะ
ชีวิตเราต่างองค์ประกอบ เราไม่อาจลอกเลียนการใช้ชีวิตของใครได้
หากแต่เราดูเป็นบทเรียนได้ ดูแล้วปรับใช้ อันไหนเข้าท่า นำมาปรับได้ก็ปรับ

หลังจากรู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยอยู่เป็นระยะ ซึ่งก็อาจจะมาจากภาระหน้าที่การงานที่หนักอึ้ง และประกอบกับรู้ตัวเองว่าเป็นคนที่ 'สลัดความคิด'
ที่ยุ่งเหยิงได้ยากเช่นกัน จึงทำให้ฉันเริ่มตระหนักคิดอย่างจริงจัง ว่า
การ slow นั้น ต้องช่วยฉันได้

ที่นี้แหละเราจะเริ่ม slow ยังไง ?

ฉันต้องย้อนกลับมาดูภายในของตนเองใหม่ และบอกกับตัวเองว่า
จะต้องไปทีละ step เอาเท่าที่ทำได้ มันคงไม่หนักอะไรนักหนา กับการที่เราจะตั้งใจใช้ชีวิตให้ละเอียดขึ้น และให้ช้าลงเท่าที่เราทำได้

องค์ประกอบอื่นๆภายในชีวิตเรา เช่นการต้องแบกรับหน้าที่การงาน ( ที่ฉันรู้สึกเหนื่อยกับการเป็นหนังหน้าไฟมานานหลายปี ) บทนี้ไม่มีใครบังคับเรา และเรารู้ว่าเราต้องแบกรับมันตราบที่เรายังไม่ได้ปลดมันลง
ก็เป็นอีก part หนึ่งในชีวิต ที่ฉันจำเป็นต้องปรับมันใหม่เช่นเดียวกัน
ขืนฉันทำแบบเดิมๆ ฉันรู้ว่ามันจะต้องหนักกว่าเดิม แล้วใครจะช่วยฉันได้ละคะ ไม่มีแน่ ที่แน่ๆฉันต้องช่วยตัวเอง

จากนี้ฉันจึงตั้งใจจะ 'ละเอียด' ต่อการใช้ชีวิตให้มากขึ้น ทุกส่วน !! แบบช้าๆ และตั้งใจจะให้ทุกวัน เป็นวันที่เราใช้ชีวิตแบบ เรียนรู้ .. อืมม ใช่ค่ะ
ทุกวันจะขอเรียนรู้ เพราะฉันเชื่อว่าในหนึ่งวันที่เราลืมตา เราเห็น เราผ่าน เราคิดอะไรได้ไม่รู้จักจบ

ใบไม้ร่วงหนึ่งใบ เรายังคิดอะไรไปได้ร้อยแปด

ฉันเคยอ่านที่คุณธนิษฐา แดนศิลป์ เขียนในคอลัมน์ Inner journey ใน section อาทิตย์ทอดวง ในนสพ.ผู้จัดการ ( หรือเปล่า ?? ) หลายๆปีมาแล้ว เธอเขียนบทความโดนใจไว้ตั้งหลายบท คอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์โปรดของฉันเลย เรียกว่าโปรดตั้งแต่ชื่อคอลัมน์และแนวคิดที่เธอถ่ายทอดไว้

เราเดินทางข้างนอกมาตั้งเยอะแยะ เราไปที่นั่นที่นี่ ไปรู้ไปเห็นทุกอย่างรอบตัว ผ่านตา แต่เราเดินทางข้างในใจ 'น้อยมาก' แน่ๆ ฉันเชื่ออย่างนั้น ดูแต่ละวันของเราสิคะ .. เรามีโอกาสสำรวจใจเรามากน้อยแค่ไหนกัน แค่จะนั่งคิดใคร่ครวญ ให้เวลากับตัวเองบ้างในแต่ละวัน เรายังบอกตัวเองว่า 'ไม่มีเวลา' เลย น่าแปลกใจจริงๆ

เพราะส่วนใหญ่แล้วเรามัวแต่ทำอย่างอื่นกันนั่นแหละค่ะ

นี่พูดถึงตัวเองด้วย เพราะตัวเองก็เคยอ้างอย่างนี้แหละ .. ไม่มีเวลา แล้วเวลามันไปไหนหมดก็ไม่รู้ หนึ่งวันทำไมยุ่งจังเลย ยุ่งกระทั่งไม่มีเวลาเดินไปเติมน้ำในแก้ว ดื่มน้ำวันละแก้วสองแก้ว ตายแล้ว... แล้วเป็นไง ระบบขับถ่ายก็ไม่ดี ปล่อยให้ตัวเองถ่ายยากถ่ายเย็น จนกลายเป็นโรคตามมา นี่ไงคะ ผลของการบอกตัวเองว่า ไม่มีเวลา เพราะมัวแต่ทำนั่นทำนี่ ติดพัน มองย้อนกลับไปสิ จะรู้สึกโกรธตัวเองขึ้นมาทันทีค่ะ ทั้งที่ไม่มีใครฉุดดึงรั้งให้สองขาของเรามันอยู่กับที่สักหน่อย
แค่จะเดินไปเติมน้ำสักแก้ว ก็มัวแต่จะทำงานๆๆ

เราทำงาน หรืองานทำเรากันแน่ นี่ดอกหนึ่งแล้วนะคะ...

เมื่อคุณภาพชีวิตของเราไม่ดี ( เพราะเจ็บป่วย ) แล้วเราจะมีความสุขกับการใช้เงินไหม ??

ดอกที่หนึ่ง ฉันจะไม่ทำแบบนี้อีกแล้วนะ นี่ตอกย้ำกับตัวเองอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู หากจะก้าวสู่ชีวิตในโหมด slow ขอดูแลตัวเองให้ดีสุดๆ
ก่อนตั้งแต่บัดนี้ค่ะ

ในแต่ละวันหากเราบอกกับตัวเอง ย้ำกับตัวเองบ่อยๆ หมั่นสังเกตตัวเองบ่อยๆ ว่าตัวเราเองต้องการอะไร ร่างกายเราส่งสัญญาณอะไร จิตใจเราส่งสัญญาณอะไร ฉันว่าเราควรฟังเขาบ้างนะคะ จริงๆฉันเชื่อว่าเราสื่อสารกับภายในของเราทุกวัน เพียงแต่เราจะละเอียดที่จะจับมันมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น

การเขียนบล็อกอย่างช้าๆ ( เข้าโหมด slow ) ก็เป็นการพูดคุยกับตัวเองที่ดีเช่นกันค่ะ เขียนและได้ใคร่ครวญ การเขียนช่วยปลดปล่อยความรู้สึกได้จริงๆนะคะ หากเขียนแล้วสบายใจขึ้น นี่ก็คือการเยียวยาความหนักอึ้ง แบบมีคุณภาพอย่างหนึ่ง เขียนไปคิดไป คุยกับตัวเองไป ฉันว่าการมีพื้นที่ของตัวเองอย่างน้อยสักที่ เช่นในบล็อก หรือหากไม่ถนัดจะเขียนในบล็อก ก็เขียนมันนอกคอมด้วยวิธีเดิมๆ เช่น เขียนไดอารี่
เป็นการเยียวยาความรู้สึกหนักอึ้งได้ดีวิธีหนึ่ง

ระบายมันไปเลย ไม่ต้องสนใจว่าใครจะว่ายังไง ก็พื้นที่นั้นมันเป็นของเรา

แล้วเวลาเราเขียน เราจะ slow จริงๆค่ะ เพราะขณะเขียน ความคิดเราจะค่อยๆไหลออกมา มันจะค่อยๆบรรเทา จากหนักอึ้ง เป็นเบาลงๆๆ ได้ในที่สุด

..

เมื่อคืน ฝนตก .. ฉันนอนคิดอะไรเรื่อยเปื่อย เพราะนอนไม่หลับ
จำไม่ได้ว่าหลับไปตอนกี่โมงกี่ยาม ที่รู้คือปวดหัวมากๆ อยากนอน อยากพัก แต่รู้สาเหตุว่าทำไมข่มตาให้หลับไม่ได้ ก็คงเพราะดื่มชาเย็นตอนหกโมงเย็น แล้วร่างกายก็ sensitive กับคาเฟอีนอยู่แล้ว

ขณะนอนคิดอะไรไปเรื่อยๆ ฉันรู้สึกว่าใจมันเบา ไม่อยากดันทุรังให้ตัวเองหลับ หรือ force ตัวเองให้หลับทั้งที่ร่างกายมันต้านค่ะ นอนคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย ท่ามกลางเสียงฝนที่หล่นกระทบหลังคา ขณะปล่อยความคิดไหลเรื่อย ฉันรู้สึกสบายดี

นั่นคงเพราะเราปล่อยให้ตัวเองอยู่ในโหมดช้าๆ เบาๆ

เช้านี้ ฉันเลยตั้งใจจะ slow

ปล่อยแมวออกไปวิ่งเล่นแล้ว เลยนั่งดูต้นไม้ใบหญ้าหน้าบ้านพักหนึ่ง เช้านี้ไม่มีแดดเลย ฝนมาแล้วค่ะ ฤดูกาลในชีวิตเปลี่ยน .. นอกชานบ้าน มีปลิงเกาะอยู่บนพื้นตั้งสามตัว มีสามขนาด ขนมากันทั้งครอบครัวเลยมั้งคะ.. พ่อตัวใหญ่ แม่ขนาดกลาง ลูกขนาดเล็ก อูย .. ตลกนะนี่ มาโชว์ตัวราวกับอยู่ใน reality show

ปลิงนะ .. ไม่ใช่หอยทาก แต่ถึงกระนั้น ปลิงก็ใช้คอนเซ็ปท์
เดียวกับหอยทากเป๊ะ คือ slow ค่อยๆคืบๆ คืบช้ามาก เหมือนจะนิ่งๆ
แต่จริงๆคือ เขาเดินค่ะ นี่คือการ slow life ตามธรรมชาติของตัวเอง

คนก็อยาก slow เหมือนกัน คลานตามกันไปติดๆแล้วค่ะ !!!!




 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 23 พฤษภาคม 2553 8:32:40 น.
Counter : 228 Pageviews.  

1  2  3  

bewae1001
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




***************
// อย่ารอให้ป่วยก่อนแล้วจึงคิดนะคะ

นวภัทร ( บี )
นักเขียนอิสระ และ ที่ปรึกษาแผนประกันชีวิตและการเงิน
โทรศัพท์มือถือ 089-1459977

ความรู้อื่นๆ :
ผ่านการอบรม basic skilsl in counselling psychology กับอาจารย์พงศ์ปกรณ์ พิชิตฉัตรธนา @ ชมรมจิตวิทยาสมาธิ

ขอฝากเว็บไซต์ของอาจารย์พงศ์ปกรณ์ค่ะ http://www.medihealing.com

EMail ของผู้เขียน : Mybusy2004@yahoo.com
Facebook ของผู้เขียน : Parawee Nasaree

สำนักพิมพ์สะพานจัดพิมพ์นิยายหญิงรักหญิงของฉัน ( ดวงดาวดอกไม้ 2 เล่มจบ และนิยายขนาดสั้น ดอกไม้กับดอกไม้ ( ปกหนังสือด้านบน ) สั่งซื้อได้ที่นี่ค่ะ คลิกเลย!!

จำนวนบล็อก ณ ขณะนี้ 1147 บล็อกค่ะ
เริ่มเขียน 6 กันยายน 2548 บล็อกเก่าๆค้นได้จากกรุ๊ปบล็อกผู้หญิงสีรุ้งปี 53 นะคะ

ยินดีแบ่งปันความรู้และสิ่งที่มีประโยชน์ผ่านข้อเขียนในบล็อกนี้ และหากต้องการนำไปใช้ต่อหรือลงเผยแพร่้ในที่ใดก็ตาม กรุณาแจ้งก่อนนำไปใช้ที่ email ด้านบน ขอบคุณค่ะ





Parawee Nasaree

Create Your Badge

New Comments
Friends' blogs
[Add bewae1001's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.