Group Blog
 
All Blogs
 
สิ่งที่ต้องเจอ หนทางแก้ไข และวิธีปฏิบัติเมื่อมีปัญหากับนายจ้าง

ปัญหานายจ้าง-ลูกจ้าง  เป็นปัญหาที่บางคนอาจต้องประสบอยู่ไม่ว่ากับนายจ้างที่ทำงานเก่า หรือแม้แต่กับนายจ้างที่กำลังทำงานอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ก็ตาม แต่ผมเชื่อว่าหากเป็นไปได้ เราทุกคนคงไม่มีใครอยากมีปัญหากับนายจ้างของตนเองอย่างแน่นอน


แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นมาแล้วเราก็ต้องหาทางแก้ไขจะตีโพยตีพายไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมา เมื่อเราถูกลงโทษจากนายจ้าง ไม่ว่าจะด้วยการ ตักเตือนด้วยวาจา, การออกหนังสือเตือน, การหักเงินเดือน, พักงาน หรือ เลิกจ้าง(ไล่ออก) เราต้องดูว่า ผลของการลงโทษนั้น ๆ เป็นอย่างไร และ มีอะไรที่เราพอจะทำได้บ้าง 


การเตือนด้วยวาจา
การตักเตือนด้วยวาจา หากเป็นการว่ากล่าวตักเตือนตามปกติของการทำงาน ก็เป็นเพียงการว่ากล่าวธรรมดาไม่มีผลบังคับใด ๆ ในทางกฎหมายแรงงาน แต่นายจ้างอาจมีความผิดถึงขั้นติดคุกติดตารางได้ หากการว่ากล่าวตักเตือนนั้นเกินกว่าเหตุจนกลายเป็นการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท ในทางอาญา เช่น นายจ้างด่าลูกจ้างว่า “โง่เป็นควาย” ต่อหน้าพนักงานคนอื่น แบบนี้ถือว่าเป็นการกระทำหมิ่นประมาทอย่างชัดเจน หากเรามีพยานหลักฐานเพียงพอก็สามารถฟ้องร้องได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา


หนังสือเตือน (Warning Letter)
การออกหนังสือเตือน เป็นการลงโทษของนายจ้าง ซึ่งมีผลในทางกฎหมายแรงงานด้วย หลายต่อหลายคนเคยถามผมว่า หากเราถูกนายจ้างออกหนังสือเตือน แล้วเราไม่เซ็นต์รับทราบจะได้ไหม?
ผมตอบให้ได้เลยครับว่า ได้
คุณจะเซ็นต์ชื่อรับทราบหรือไม่ก็สุดแล้วแต่คุณ  แต่ไม่ว่าคุณจะเซ็นต์หรือไม่เซ็นต์รับทราบ ผลของหนังสือเตือนมันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติทันทีครับ ซึ่งผลตามกฎหมายของหนังสือเตือน คือ หากลูกจ้างกระทำความผิดระเบียบข้อบังคับในการทำงาน  หรือ คำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างที่นายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วซ้ำอีก ภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือเตือน ให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
สิ่งที่คุณทำได้เพียงอย่างเดียวคือ ทำหนังสือปฏิเสธ และ ชี้แจงข้อเท็จจริงให้นายจ้างทราบ ซึ่งแม้ว่าจะผลของหนังสือเตือนยังคงอยู่ แต่ หนังสือชี้แจงที่เราชี้แจ้งแก่นายจ้างไปสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้ว่าเราไม่ได้กระทำผิดตามหนังสือเตือน


การหักเงินเดือน
 ตามปกตินายจ้างจะหักเงินค่าจ้างอันเป็รค่าตอบแทนการทำงาน(เงินเดือน)ของพนักงานได้แต่เฉพาะกรณีหักเพื่อชำระภาษี , กองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่าง ๆ , หักเพื่อบำรุงสหภาพแรงงาน หรือ ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือระบุข้อตกลงไว้อย่างชัดเจนจากลูกจ้างเท่านั้น การหักเงินเดือนเพื่อการลงโทษไม่มีระบุไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะเข้าลักษณะเป็นระเบียบบริษัท ซึ่งจะต้องไม่เกินกว่าเหตุ และต้องประกาศให้ทราบโดยทั่วกันภายในระยะเวลาอันสมควรก่อนจะใช้บังคับจริง เช่นบริษัท ประกาศหักค่าจ้างพนักงานที่มาทำงานสาย 1 นาที หัก 100 บาท แบบนี้เรียกว่าเกินกว่าเหตุแน่นอนครับกรณีเจอนายจ้างหน้าเลือดแบบนี้ ลองติดต่อที่พนักงานตรวจแรงงานให้เข้าไปตรวจสอบได้ครับ
 


การพักงาน
 คือการสั่งให้ลูกจ้างไม่ให้มาทำงานเป็นการชั่วคราว เพื่อทำการสอบสวนข้อเท็จจริง หรือลงโทษลูกจ้างซึ่งตามปกติจะกระทำการพักงานลูกจ้างได้ต่อเมื่อมีการระบุโทษนี้ไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้อย่างชัดเจน ที่สำคัญคือ การสั่งพักงานดังกล่าวต้องทำเป็นหนังสือระบุความผิด และ กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนแต่ต้องไม่เกินกว่า 7 วัน ทั้งนี้ระหว่างที่มีการพักงานนายจ้างต้องจ่ายเงินค่าจ้างแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างในอัตราสุดท้าย
 เราจึงต้องตรวจสอบให้ดีว่า การสั่งพักงานถูกต้องตามระเบียบบริษัทหรือไม่ มีการระบุความผิดและระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ที่สำคัญ คือเราต้องได้รับค่าจ้างตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
 
 การเลิกจ้าง (ให้ออกจากงาน) 
 การเลิกจ้างนั้นคือ การที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามดังนั้นหากนายจ้างไม่ให้เราเข้าทำงานแต่ยังคงจ่ายเงินเดือนให้เราตามปกติแบบนี้แล้ว ยังไม่ถือว่ามีการเลิกจ้างเกิดขึ้นนะครับ
  ตามปกติ การเลิกจ้างนั้นคือสิ่งสุดท้ายที่นายจ้างอยากจะทำ เพราะเมื่อนายจ้างเลิกจ้างไปแล้ว จะมีผลกระทบที่ตามมามากมาย ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่า เมื่อนายจ้างเลิกจ้างเราไปแล้วผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร
 ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างมีสิทธิเรียกร้องเงินได้ดังต่อไปนี้
1. ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน 
2. ค่าชดเชยการเลิกจ้าง ตาม พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน ม.118 ซึ่งขออธิบายคร่าว  ๆ ดังนี้
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300วัน
3. ค่าชดเชยการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม  คือ ค่าชดเชยกรณีที่เราถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่มีสาเหตุ ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่ได้กระทำผิดกฎระเบียบใด ๆ ของบริษัท หรือ เรามีการกระทำผิดระเบียบบริษัทจริงแต่ ไม่ถึงขนาดที่เป็นเหตุอันสมควรให้เลิกจ้าง ค่าชดเชยนี้ไม่มีขั้นไม่มีอัตราใด ๆ กำหนดไว้ เป็นเรื่องของดุลยพินิจของศาลแรงงานที่จะพิจารณาให้แก่ลูกจ้างเท่าไรก็ได้โดยพิเคราะห์ จากอายุของลูกจ้าง, อายุการทำงาน, ความเดือดร้อนของลูกจ้าง, มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และ เงินค่าชดเชยอื่น ๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ
4. เงินอื่น ๆ  ที่ลูกจ้างมีสิทธิจะได้รับ เช่น เงินทดแทนวันหยุดประจำปี, เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ค่าล่วงเวลา
5. เงินโบนัส ที่ เราสมควรจะได้ เทียบเคียงกับการจ่ายโบนัสประจำปีของนายจ้างต่อลูกจ้างคนอื่น


ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการทำงานนะครับ อย่าได้มีปัญหากับนายจ้างเลย






Free TextEditor


Create Date : 11 กรกฎาคม 2551
Last Update : 15 กรกฎาคม 2551 13:12:10 น. 4 comments
Counter : 4117 Pageviews.

 
ขอบคุณที่ให้ข้อมูลดี ๆ ค่ะ เพราะตอนนี้รู้สึกเหมือนกำลังถูกนายจ้างเอาเปรียบค่ะ


โดย: แฟนคลับ IP: 125.25.223.55 วันที่: 12 มีนาคม 2552 เวลา:17:04:42 น.  

 
น่าจะมีรายละเอียดและตัวอย่างเกี่ยวกับการกระทำความผิดหลายข้อในครั้งเดียวหรือกระทำผิดหลายครั้งในระยะเวลาใกล้เคียงกัน อยากรู้จังว่ามันหมายความว่าอย่างไร และการกระทำดังกล่าวนายจ้างสามารถบอกเลิกจ้างได้รึไม่


โดย: ปัท IP: 58.137.38.226 วันที่: 14 มีนาคม 2552 เวลา:11:11:15 น.  

 
ขอทราบรายละเอียด
เดิมบริษัทนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่บุคคลเลย ดิฉันเข้ามาทำหน้าที่ทำกฎระเบียบข้อบังคับการทำงาน และทำทุกอย่างที่ไม่เคยมี แต่เจ้านายก็ไม่พอใจต้องการให้ทำงานมากกว่านี้ และให้ดิฉันช่วยตามหนี้ที่ลูกค้าไม่ยอมจ่ายเงินทางโทรศัพท์และนอกสถานที่ ซึ่งเป็นงานของแผนกบัญชี แต่ที่ตกลงกันคือช่วยตามเป็นบางรายเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลายเป็นหน้าที่หลักซึ่งลูกหนี้เยอะมาก และต่อมาวันที่ 24/5/55 พนักงานดูแล Stock สินค้าสำเร็จรูปได้ลาออก จึงไม่มีคนทำ เจ้านายก็จะให้ดิฉันซึ่งทำงานในหน้าที่ฝ่ายบุคคล มาทำ Stock สินค้าสำเร็จรูป ซึ่งดิฉันก็ขัดไม่ได้เพราะเรายังเป็นพนักงานของเขาอยู่ แต่รู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะมันเป็นการเอาเปรียบกันมากเกินไป จะทำยังไดค่ะ ขอคำชี้แนะจากผู้รู้ max_imai@hotmail.com


โดย: พิสมัย อังโชคชัชวาล IP: 61.90.20.149 วันที่: 28 พฤษภาคม 2555 เวลา:12:11:04 น.  

 
ถ้าถูกบริษัทออกนนโยบายบีบเพื่อให้คนลาออกเองเพื่อไม่อยากจ่ายค่าชดเชย เช่น ย้ายตำแหน่ง ย้ายสาขา โดยพนักงานไม่ยินยอม ออกนโยบายกลั่นแกล้ง ลูกจ้างจะเอาผิดนายจ้างได้รึเปล่าคะ


โดย: พนักงานธนาคารสีส้ม IP: 110.49.225.24 วันที่: 7 ธันวาคม 2555 เวลา:6:18:41 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Natelo
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ทดสอบทำBlog ของตัวเองครับ จะเน้นเรื่องภาพยนต์และ Serie USA เป็นหลัก เพราะชอบดูหนัง

Blog ที่จะนำมาเสริมจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายน่ารู้สำหรับบุคคลทั่วไป หรือ ปัญหาที่เจอบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน

หมายเหตุ ผู้เขียนทำงานด้านการร่างสัญญาอยู่หากใครต้องการให้ช่วยก็แจ้งความจำนงไว้ได้นะครับ

Update
เพิ่มเติมหัวข้อ การเมืองเรื่องใกล้ตัว อีก 1 Blog ครับหลังจากทนไม่ไหวกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
Friends' blogs
[Add Natelo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.