All Blog
ชูมาน / พิบูลศักดิ์ ละครพล
 

 

ชูมาน / พิบูลศักดิ์ ละครพล

 

สิ่งดีงามที่ค้นพบในช่วงวัยเยาว์และชั่วชีวิตนี้

 

 

หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในความทรงจำในวัยเด็กของเรา เพราะจำได้ว่าตอนเด็กมากๆ ที่เริ่มอ่านหนังสือได้นั้น (น่าจะประถมต้นๆ เนอะ) เคยไปบ้านญาติที่กรุงเทพฯ และเห็นหนังสือนิยายวัยรุ่นเล่มนึง (สมัยนั้นนิยายวัยรุ่นแนวแสวงหากำลังบูม) เราไม่ได้อ่านทั้งเล่มแต่จำได้ว่าเปิดหน้าแรกแล้วตัวละครตัวนึงพูดว่า “ชูมานค่ะ” ยังคิดอยู่ว่าช่างเป็นชื่อที่แปลกกระไร

 

แล้วจากนั้นนิยายเล่มนี้ก็ไม่เคยผ่านมือเราเลย จนกระทั่งเมื่อไม่กี่เดือนก่อนที่เราไปร้านนายอินทร์แล้วเห็นหนังสือชื่อเรื่อง “ชูมาน” ก็มั่นใจว่าต้องเป็นเรื่องที่เราเคยเปิดแต่ไม่เคยอ่านนั่นแน่ จึงไม่ลังเลจะซื้อติดมือกลับมา และเพิ่งรู้ว่าเป็นงานเขียนของ พิบูลศักดิ์ ละครพล (ซึ่งเราก็ไม่ค่อยรู้จักผลงานเขาเท่าไหร่ แต่ก็เคยได้ยินชื่อในฐานะศิลปินมาก่อน)

 

เกริ่นเสียยาว เพียงแต่อยากบอกว่านิยายเรื่องนี้มันเป็นเรื่องราวความทรงจำของรักครั้งแรกของวัยแสวงหา เล่มที่เราซื้อนั้นเป็นฉบับพิมพ์ใหม่เมื่อพ.ศ. 2554 แต่ฉบับพิมพ์ครั้งแรกของเรื่องนี้นั้นก่อนเราเกิดอีก ดังนั้นจึงบอกได้เลยว่าอารมณ์ของงานเขียนเรื่องนี้นั้นค่อนข้างสะอาด บริสุทธิ์ และเป็นความทรงจำอันงดงามของหนุ่มน้อยคนหนึ่งกับความรักครั้งแรกที่จารจำในหัวใจไปแสนนาน

 

พล้อตของชูมาน ก็ไม่ต่างจากนิยายวัยรุ่นทั่วไปที่ว่าด้วยความรัก การแสวงหาความฝัน ความรู้สึกซาบซ่านหวั่นไหวยามพบรักแรก แม้จะลงเอยด้วยความผิดหวัง ความบางของตัวเล่มนั้นทำให้อ่านจบได้ในเวลาอันรวดเร็ว ตัวเรื่องค่อนข้างอาร์ตสำหรับเราเพราะตัวละครเล่าเรื่องนั้นเป็นผู้ชายอารมณ์ศิลป์ (เพราะเขาเรียนแนวศิลป์) ได้มาพบเจอ “ชูมาน” หญิงสาวมาดมั่นท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่นสไตล์เมืองเหนืออย่างเชียงใหม่ พลันที่เขาพบเธอโลกก็ดูสดใส ก่อนที่เรื่องจะเดินไปพร้อมการเติบโตของตัวละคร และนำมาซึ่งการจากลาระหว่างทั้งคู่

 

แต่ระหว่างอ่านไปนั้นมันก็เหมือน refresh ความทรงจำเราไปด้วยว่าสมัยนึงนิยายวัยรุ่นต้องอารมณ์ประมาณนี้ล่ะ บรรยากาศของเรื่องเกิดที่เชียงใหม่ยิ่งเหงาๆ เศร้าๆ บทสนทนาซื่อๆ ของหนุ่มเมืองเหนือกับสาวชาวกรุงที่สอบติดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แทรกด้วยบทกลอนหวานอ่อนไหวเป็นระยะ ซึ่งจะว่าแล้วเรื่องราวก็สั้นจึงไม่ได้มีรายละเอียดมากนักว่าเหตุใดเขาและเธอจึงไม่ได้ลงเอยต่อกัน แต่สิ่งสำคัญคือ “ความรู้สึก” หวามไหวที่คนเขียนถ่ายทอดมาอย่างเด็กหนุ่มที่ตกในห้วงรักอย่างสุดใจ แต่สุดท้ายก็ต้องรับความจริงและยิ้มให้กับการจากลา ซึ่งเราว่าเป็นสิ่งที่งานเขียนสมัยนี้ไม่ค่อยมี เพราะจังหวะชีวิตคนสมัยนี้ไม่เนิบนาบเท่าไหร่ ความรักสมัยนี้ก็ดูต่างออกไปเพราะคนรุ่นเราๆ แสดงออกรุนแรงมากขึ้น งานเขียนยุคนี้สะท้อนการมองโลกได้เหมือนกันนะ

 

แม้นิยายเรื่องชูมานนี้เขียนขึ้นนานแล้ว แต่อารมณ์และเค้าโครงของเรื่องก็ไม่มีส่วนไหนเรียกได้ว่าล้าสมัย หรือจะว่าไป...อารมณ์เหงาเศร้าและหลงในรักมันอาจเป็นอมตะในตัวเองก็ได้ เพราะไม่ว่ายุคไหน...วัยหนุ่มสาวจะต้องเคยผ่านความรักมาบ้าง และหลายครั้งความทรงจำเกี่ยวกับรักอาจไม่ได้งดงามเสมอไป

 

‘มีความงดงามและความแข็งแกร่งซ่อนอยู่เสมอในทุกความสูญเสีย...ในความเปล่าเปลี่ยวและทุกข์ทรมาน’ (หน้าสุดท้ายของนิยายเล่มนี้)

 

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยอมรับว่ามีองค์ประกอบหลายอย่างในเรื่องที่เราอาจไม่เข้าใจ เช่นชื่อศิลปิน ชื่อนักดนตรี หรืองานอาร์ตต่างๆ ที่คนเขียนกล่าวถึง เนื่องจากไม่ทันยุคนั้นและเราไม่ใช่คนอาร์ตๆ อารมณ์อ่อนไหวเท่าไหร่ แต่ก็คิดว่าถ้าเราได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตอนยังเด็ก เราอาจซาบซึ้งกว่านี้ก็ได้เพราะจังหวะชีวิตตอนนั้นไปกันได้กับอารมณ์ของนิยายแนววัยรุ่นแสวงหา แต่เมื่อได้อ่านอีกครั้งในวัยที่เราเป็นผู้ใหญ่ไปแล้ว ความรู้สึก “อิน” อาจไม่ล้นปรี่ แต่ก็ทำให้รู้สึกได้ถึงกระแสซาบซึ้งสุขเศร้าของเรื่องนี้ได้ว่าช่วงหนึ่งของวัย...เราก็อาจเคยมีความรู้สึกดีๆ เช่นนั้น

 

และที่เราอดถามตัวเองไม่ได้ก็คือ....หรือจังหวะชีวิตของเราได้เปลี่ยนไปแล้ว? ความรู้สึกของเรายามอ่านหนังสือจึงได้เปลี่ยนไป?

 

แต่อย่างน้อยบรรยากาศเหงาเศร้าของวัยแสวงหา ก็ทำให้เรานึกถึงแนวคิดของชุนจิ อิวาอิ ผู้กำกับหนังชาวญี่ปุ่นขึ้นมา ชุนจิเป็นผู้กำกับญี่ปุ่นที่ทำหนังเหงาเศร้าได้โดนใจคนในระดับสากลมาก เพราะเขาเองก็มีรักแรกในวัยมัธยมที่ฝังใจและทำให้เขาถ่ายทอดมันออกมาในหนังรักอมตะอย่าง Love Letter (1995) ตอนนั้นเราเคยอ่านเบื้องหลังงานกำกับเขา ชุนจินิยามความรักและความทรงจำไว้ว่า “ความรักและความคิดถึงเดินทางมาพบกันในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะลาจากกันบนเส้นทางที่เรียกว่า ชีวิต”  




Create Date : 19 กันยายน 2556
Last Update : 19 กันยายน 2556 18:17:14 น.
Counter : 1789 Pageviews.

7 comments
  
ไม่ได้อ่านหนังสือสำนวนชวนเคลิ้มฝันของผู้เขียนมานานแล้วค่ะ เรื่องนี้เลยยังไม่ได้อ่าน
โดย: ~:พุดน้ำบุศย์:~ วันที่: 20 กันยายน 2556 เวลา:12:16:00 น.
  
เคยอ่านแต่ขอความรักบ้างได้ไหมค่ะ
โดย: เหมือนพระจันทร์ วันที่: 20 กันยายน 2556 เวลา:12:38:59 น.
  
คุณพุดน้ำบุศย์>> เหมือนกันค่ะ ไปเจอเล่มนี้เข้าเลยทำให้นึกได้ว่ายุคก่อนหน้านี้วัยรุ่นนิยมเสพกลอนหวานๆ แล้วก็เรื่องสั้นเรื่องยาวที่ว่าด้วยความรักของวัยแสวงหามากกว่า เราเลยพลอยรู้จักงานคุณพิบูลศักดิ์จากเล่มนี้เลย

คุณเหมือนพระจันทร์์>> น่าสนใจคะ ว่างๆ จะได้ตามหาอ่านบ้าง
โดย: ณ พิชา วันที่: 20 กันยายน 2556 เวลา:18:34:45 น.
  
โอยยยย ย้อนอดีต เห็นด้วยกับคุณ ณ พิชาค่ะ สมัยนั้นหนังสือกลอนขายดีมาก เราเองยังชอบแต่งกลอนเลยค่ะ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้วนะคะ สมองตื้อ จินตนาการหดหายค่ะ
โดย: Sab Zab' วันที่: 20 กันยายน 2556 เวลา:19:23:53 น.
  
Sab Zab' นั่นสิคะ คือหยิบเล่มนี้มาเพราะอยากย้อนยุคนิดๆ แต่สมัยเด็กเราไม่เก่งกลอนค่ะ แต่แนวขีดเขียนนี่่ยังพอได้ แต่เรื่องจินตนาการนี่ยอมรับว่าไม่เหมือนตอนเป็นเด็กเท่าไหร่ หุๆ
โดย: ณ พิชา วันที่: 30 กันยายน 2556 เวลา:7:17:54 น.
  
เป็นลูกศิษย์ที่โกวิทธำรง ครูสอนภาษาไทย ครูใจดีมาก ใจเย็น นุ่มนวล ไม่
เคยดุเลย มศ 1 คิดถึงครูเสมอมา

โดย: ภาวนา IP: 171.99.1.59 วันที่: 22 มีนาคม 2557 เวลา:19:01:13 น.
  
แค่ชื่อพิบูลย์ศักดิ์ ละครพล ก็น่าอ่านแล้วค่ะ เจ้าพ่อโรแมนติก :)
โดย: แพรพลอย IP: 171.5.76.117 วันที่: 13 กันยายน 2558 เวลา:17:00:03 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ณ พิชา
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



I think, therefore, I am