Group Blog
 
All Blogs
 

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
(วินย. ๔/๑๓/๑๒)

บทนำ

อนุตตะรัง อะภิสัมโพธิง........สัมพุชฌิตวา ตะถาคะโต
ปะฐะมัง ยัง อะเทเสสิ...........ธัมมะจักกัง อะนุตตะรัง
สัมมะเทวะ ปะวัตเตนโต........โลเก อัปปะฏิวัตติยัง
ยัตถากขาตา อุโภ อันตา.......ปะฎิปัตติ จะ มัชฌิมา
จะตูสวาริยะสัจเจสุ...............วิสุทธัง ญาณะทัสสะนัง
เทสิตัง ธัมมะราเชนะ............สัมมาสัมโพธิกิตตะนัง
นาเมนะ วิสสุตัง...................ธัมมะจักกัปปะวัตตะนัง
เวยยากะระณะปาเฐนะ..........สังคีตันตัมภะณามะ เสฯ
.......พระตถาคต คือ พระพุทธเจ้า ครั้นได้ตรัสรู้ธรรม ได้แก่ อริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นธรรมอันสูงสุด ไม่มีธรรมใดที่สูงไปกว่า ได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นจักร คือ วงล้อ ประกอบด้วยซี่ ๘ ซี่ คือธรรมอันเป็นทางสายกลาง ๘ ประการ ซึ่งเป็นทางที่หลีกเว้นการปฏิบัติตนแบบสุดโต่ง ๒ คือ หมกหมุ่นในกามคุณ และ ทรมานตนด้วยวิธีการต่างๆ เป็นข้อ ปฏิบัติเป็นกลาง ให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ให้บริสุทธิ์จากกิเลส, พวกเราทั้งหลาย จงร่วมกันสวดพระธรรมจักรนั้น ที่พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นธรรมราช ทรงแสดงไว้แล้ว มีชื่อปรากฏว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นพระสูตรที่ประกาศให้ทราบถึงการที่พระองค์ ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งพระสงฆ์ผู้ทรงไว้ซึ่งความรู้ทั้งหลาย ได้ร้อยกรองไว้โดยทำเป็นบทสวดมนต์ที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ เทอญฯ

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

เอวัมเม สุตังฯ เอกัง สะมะยัง ภะคะวา พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเยฯ ตัตระ โข ภะคะวา ปัญจะวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิฯ
.......ข้าพเจ้า (คือพระอานนท์) ได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ในเวลานั้น พระองค์ได้ตรัสเตือนพระภิกษุเบญจวัคคีย์ว่า

เทวเม ภิกขะเว อันตา ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา โย จายัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค หีโน คัมโม โปถุชชะนิโก อะนะริโย อะนัตถะสัญหิโต โย จายัง อัตตะกิละมะถานุโยโค ทุกโข อะนะริโย อะนัตถะสัญหิโตฯ
.......ภิกษุทั้งหลาย ผู้ออกบวชแสวงหาความหลุดพ้น ไม่ควรปฎิบัติตน ๒ ประการ คือ (๑) การแสวงหาความสุขทางกามคุณ แบบสุดโต่ง ซึ่งทำให้จิตใจต่ำทราม เป็นเรื่องของชาวบ้านที่มีความใคร่ เป็นเรื่องของคนมีกิเลสหนาไม่ใช่เป็นสิ่งประเสริฐ คือ มีแต่จะก่อให้เกิดข้าศึกคือกิเลส ไม่มีสาระประโยชน์อันใด (๒) การปฏิบัติตนแบบก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน เป็นสภาวะที่ทนได้ยาก ไม่ใช่สิ่งประเสริฐ คือ มีแต่จะก่อให้เกิดข้าศึก คือ กิเลสไม่มีสาระประโยชน์อันใดฯ

เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติฯ

กะตะมา จะ สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติฯ

อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโคฯ เสยยะถีทังฯ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสะติ สัมมาสะมาธิฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย หลักปฏิบัติอันเป็น ทางสายกลาง หลีกเลี่ยงจากการปฏิบัติแบบสุดโต่ง ซึ่งเราตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยวดยิ่ง เห็นได้ด้วยตาใน รู้ด้วยญาณภายใน เป็นไปเพื่อความสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้อย่างทั่วถึง เพื่อความดับกิเลสและกองทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ (๑) ความเห็นชอบ (๒) ความดำริชอบ (๓) วาจาชอบ (๔) การงานชอบ (๕) เลี้ยงชีวิตชอบ (๖) ความเพียรชอบ (๗) ความระลึกชอบ (๘) ความตั้งจิตชอบ

อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติฯ

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อะริยัะสัจจัง ชาติปิ ทุกขา ชะราปิ ทุกขา มะระณัมปิ ทุกขัง โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิทุกขัง สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา

.......ภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจ คือ ความจริงที่ช่วยมนุษย์ให้เป็นผู้ประเสริฐเกี่ยวกับการพิจารณาเห็นทุกข์ เป็นอย่างนี้ คือ การเข้าใจว่า "เกิด แก่ เจ็บ ตาย" ล้วนแต่ เป็นทุกข์ แม้แต่ความโศรกเศร้าเสียใจ ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กายทุกข์ใจ ทั้งความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปราถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ การยึดมั่นแบบฝังใจ ว่า เบญจขันธ์ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ว่าเป็น อัตตา เป็นตัวเรา เป็นเหตุทำให้เกิดความทุกข์แท้จริง

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจังฯ ยายัง ตัณหา โปโนพภะวิกา นันทิราคะสะหะคะตา ตัตระ ตัตราภินันทินีฯ เสยยะถีทังฯ กามะตัณหา ภะวะตัณหา วิภะวะตัณหาฯ
.......ภิกษุทั้งหลาย เหตุทำให้เกิดความทุกข์ (สมุหทัย) มีอย่างนี้ คือ ความอยากเกินควร ที่เรียกว่า ทะยานอยาก ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นไปด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มัวเพลิดเพลินอย่างหลงระเริงในสิ่งที่ก่อให้เกิดความกำหนัดรักใคร่นั้นๆ ได้แก่
.......(๑) ความทะยานอยากในสิ่งที่ก่อให้เกิดความใคร่
.......(๒) ความทะยานอยากในความอยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่
.......(๓) ความทะยานอยากในความที่จะพ้นจากภาวะที่ไม่อยากเป็น
.......เช่น ไม่อยากจะเป็นคนไร้เกียรติ ไร้ยศ เป็นต้น อยากจะดับสูญไปเลยถ้าไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจังฯ โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ จาโค ปะฏินิสสัคโค มุตติ อะนาละโยฯ
.......ภิกษุทั้งหลาย นิโรธ คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ ดับความกำหนัดอย่างสิ้นเชิง มิให้ตัณหาเหลือยู่ สละตัณหา ปล่อยวางตัณหาข้ามพ้นจากตัณหา ไม่มีเยื่อใยในตัณหา

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจังฯ

อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโคฯ เสยยะถีทังฯ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจาสัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสะติ สัมมาสะมาธิฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย ทุกขโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ (๑) ความเห็นชอบ (๒) ความดำริชอบ (๓) วาจาชอบ (๔) การงานชอบ (๕) เลี้ยงชีวิตชอบ (๖) ความเพียรชอบ (๗) ความระลึกชอบ (๘) ความตั้งจิตมั่นชอบ

อิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญานัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญาตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรม ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้ เป็นทุกขอริยสัจจ เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ภิกษุทั้งหลาย (บัดนี้) เราได้ดวงตาเห็นธรรม เกิดญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลายที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้เป็นทุกขอริยสัจ เราได้กำหนดรู้แล้ว

อิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทมะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหีนันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ

ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรม ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้เป็นทุกสมุทัยอริยสัจ เป็นสิ่งที่ควรละ ภิกษุทั้งหลาย (บัดนี้) เราได้ดวงตาเห็นธรรม เกิดญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้เป็นทุกขสมุทัยอริยสัจเราละได้แล้ว

อิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิฯ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกาตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกะตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรม ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้เป็น ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง ภิกษุทั้งหลาย (บัดนี้) เราได้ดวงตาเห็นธรรม เกิดญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่าเป็น ทุกขนิโรธอริยสัจ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว

อิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาเวตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาวิตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรม ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้เป็น ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดขึ้น ภิกษุทั้งหลาย (บัดนี้) เราได้ดวงตาเห็นธรรม เกิดญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่าเป็น ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราได้ทำให้เกิดขึ้นแล้ว

ยาวะกีวัญจะ เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง นะ สุวิสุทธัง อะโหสิฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดการหยั่งรู้ การเห็นตามความเป็นจริง ว่าอริยสัจ ๔ มี ๓ รอบ มีอาการ ๑๒ (ได้แก่ ๑. หยั่งรู้อริยสัจ แต่ละอย่างตามความเป็นจริง ๒. หยั่งรู้กิจของอริยสัจ ๓. หยั่งรู้กิจอันได้ทำแล้ว ในอริยสัจ) ยังไม่หมดจดเพียงใด

เนวะ ตาวาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิงฯ
.......ภิกษุทั้งหลาย เราไม่ยืนยันตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง ไม่มีใครจะเทียบได้ ไม่ว่าจะเป็นเทวดา มาร พรหม แม้มวลมนุษย์ ทั้งที่เป็นสมณะเป็นพราหมณ์ ก็เทียบเท่ามิได้เพียงนั้น

ยะโต จะ โข เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง สุวิสุทธัง อะโหสิฯ

อะถาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิงฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดการหยั่งรู้ การเห็นตามความเป็นจริงดังกล่าวมาหมดจดดีแล้ว เมื่อนั้นเราได้ยืนยันตนเป็นผู้ตรัสรู้ชอบดังกล่าวแล้ว เช่นนั้น

ญาณัญจะ ปะนะ เม ทัสสะนัง อุทะปาทิ อะกุปปา เม วิมุตติ อะยะมันติมา ชาติ นัตถิทานิ ปุ นัพภะโวติฯ
.......การหยั่งรู้ การเห็นตามความเป็นจริงได้เกิดขึ้นแก่เราแล้วว่า ความหลุดพ้นของเราไม่มีการกลับกำเริบอีกแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายแล้ว ไม่ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอีก

อิทะมะโว จะ ภะคะวาฯ อัตตะมะนา ปัญจะวัคคิยา ภิขู ภะคะวะโต ภาสิตัง อะภินันทุงฯ
.......ครั้นพระพุทธองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณได้แสดงธรรมโดยปริยายดังกล่าวมา เหล่าภิกษูเบญจวัคคีย์ ก็ได้มีใจยินดีเพลินในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า

อิมัสมิญจะ ปะนะ เวยยากะระณัสมิ ภัญญะมาเน อายัสมะโต โกณฑัญญัสสะ วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง อุทะปาทิ ยังกิญจิ สุมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติฯ
.......ก็แลเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรมอย่างแจ่มแจ้งอย่างมีหลัก ท่านโกณทัญญะ ผู้ทรงไว้ซึ่งอาวุโส ได้เกิดธรรมจักษุ คือ ได้รู้แจ้งเห็นจริงซึ่งพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง กำจัดธุลี กำจัดมลทินเสียได้ มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา เพราะสิ้นเหตุปัจจัย

ปะวัตติเต จะ ภะคะวะตา ธัมมะจักเก ภุมมา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง เอตัมภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พราหมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พรัหมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสมินติฯ
.......ครั้นพระพุทธองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณ ได้แสดงธรรมจักร คือ หมุนวงล้อแห่งธรรมที่ประกอบด้วย ๘ ซี่ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เหล่าภุมเทวดา ก็เปล่งเสียงสาธุการบันลือลั่นว่า วงล้อแห่งธรรม ไม่มีวงล้ออื่นใดจะหมุนสู้ได้ ได้รับการหมุนไปโดยพระพุทธเจ้า ผู้ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ซึ่งไม่มีใครทำได้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม

ภุมมานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

จาตุมมะหาราชิกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
จาตุมมะหาราชิกานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

ตาวะติงสา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง
ตาวะติงสานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

ยามา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
ยามานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

ตุสิตา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
ตุสิตานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

นิมมานะระตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
นิมมานะระตีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา

ปะระนิมมิตะวะสะวัตตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
ปะระนิมมิตะวะสะวัตตีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา

พรัหมะปาริสัชชา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
พรัหมะปะริสัชชานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

พรัหมะปะโรหิตา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
พรัหมะปะโรหิตานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

มะหาพรัหมา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
มะหาพรัหมานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

ปะริตตาภา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
ปะริตตาภานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

อัปปะมาณาภา เทวา สัททะมะนุสสา เวสุงฯ
อัปปะมาณาภานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

อาภัสสะรา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
อาภัสสะรานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

ปะริตตะสุภา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
ปะริตตะสุภานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

อัปปะมาณะสุภา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
อัปปะมาณะสุภานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

สุภะกิณหะกา เทวา สัททะ มะนุสสาเวสุงฯ
สุภะกิณหะกานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

เวหัปผะลา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
เวหัปผะลานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

อะวิหา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
อะวิหานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

อะตัปปา เทวา สัททะมะนุสสา เวสุงฯ
อะตัปปานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

สุทัสสา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
สุทัสสานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

สุทัสสี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
สุทัสสีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา

อะกะนิฏฐะกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ

เอตัมภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตังอัปปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พราหมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พรัหมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสมินติฯ

.......เหล่าเทพเจ้าชั้นจาตุมมหาราชิกา ครั้นได้ยินเสียงเหล่าเทพภุมเทวดาต่างก็ส่งเสียงสาธุการ บันลือลั่นสืบต่อไปจนถึงเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามะ ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี จนกระทั่งถึงชั้นพรหม ตั้งแต่พรหมปาริสัชชา พรหมปโรหิตา มหาพรหม ปริตตาภาพรหม อัปมาณาภาพรหม อาภัสสราพรหม ปริตตสุภาพรหม อัปปมาณสุภาพรหม สุภกิณหกาพรหม เวหัปผลาพรหม อวิหาพรหม อตัปปาพรหม สุทัสสาพรหม สุทัสสีพรหม จนกระทั่งถึงอกนิฎฐกาพรหมเป็นที่สุด ก็ส่งเสียงสาธุการบันลือลั่น เพียงครู่เดียว เสียงได้บันลือไปทั่วพรหมโลก

อิติหะ เตนะ ขะเณนะ เตนะ มุหุตเตนะ ยาวะ พรัหมะโลกา สัทโท อัพภุคคัจฉิฯ อะยันจะ ทะสะสะหัสสี โลกะธาตุ สังกัมปิ สัมปะกัมปิ สัมปะเวธิฯ อัปปะมาโณ จะ โอฬาโร โอภาโส โลเก ปาตุระโหสิ อะติกกัมเมวะ เทวานัง เทวานุภาวังฯ
.......ทั้งหมื่นโลกธาตุได้หวั่นไหว สะเทือนสะท้าน เสียงดังสนั่นลั่นไป ทั้งแสงสว่างอันหาประมาณมิได้ ได้ปรากฏขึ้นในโลก เหนือกว่าอานุภาพของเหล่าพรหม

อะถะโข ภะคะวา อุทานัง อุทาเนสิ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญติฯ อิติหิทัง อายัสมะโต โกณฑัญญัสสะ อัญญาโกณฑัญโญเตววะ นามัง อะโหสีติฯ
.......ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณ ได้ทรงเปล่งอุทานออกมาว่า "โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย" เพราะเหตุนี้ ท่านโกณฑัญญะจึงได้นามว่าอัญญาโกณฑัญญะ

จบ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

ขอขอบพระคุณ คุณกลางชล สมาชิกท่านหนึ่งของเว็บลานธรรม มา ณ ที่นี้ด้วยครับ




 

Create Date : 09 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 9 กรกฎาคม 2548 10:47:18 น.
Counter : 477 Pageviews.  

ฉิคคฬสูตร ว่าด้วยความเป็นมนุษย์ยาก


[๑๗๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษโยนแอก ซึ่งมีช่องเดียวลงไปในมหาสมุทร เต่าตาบอดมีอยู่ในมหาสมุทรนั้น ต่อล่วงร้อยปี ๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่ง ๆ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เต่าตาบอดนั้น ต่อล่วงร้อยปี ๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่ง ๆ จะสอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้นได้บ้างหรือหนอ?

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าล่วงกาลนานไปบางครั้งบางคราว เต่าจะสอดคอให้เข้าไปในแอกนั้นได้บ้าง.

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เต่าตาบอด ต่อล่วงร้อยปี ๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่ง ๆ สอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้น ยังจะเร็วกว่า เราย่อมกล่าวความเป็นมนุษย์เพราะคนพาลผู้ไปสู่วินิบาตแล้วคราวเดียวก็หามิได้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร? เพราะว่าในวินิบาตนี้ ไม่มีการประพฤติธรรม การประพฤติชอบ การกระทำกุศล การกระทำบุญ มีแต่การเคี้ยวกินกันและกัน การเคี้ยวกิน ผู้มีกำลังน้อยกว่า ย่อมเป็นไปในวินิบาตนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ เป็นไฉน? คือ ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

[๑๗๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาปฐพีนี้มีน้ำเป็นอันเดียวกัน บุรุษโยนแอกซึ่งมีช่องเดียวลงไปในมหาปฐพีนั้น ลมทิศบูรพาพัดเอาแอกนั้นไปทางทิศประจิม ลมทิศประจิมพัดเอาไปทางทิศบูรพา ลมทิศอุดรพัดเอาไปทางทิศทักษิณ ลมทิศทักษิณพัดเอาไปทางทิศอุดร เต่าตาบอดมีอยู่ในมหาปฐพีนั้น ต่อล่วงร้อยปี ๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่ง ๆ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เต่าตาบอดนั้น ต่อล่วงร้อยปี ๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่ง ๆ จะสอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้นได้บ้างหรือหนอ?

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่เต่าตาบอด ต่อล่วงร้อยปี ๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่ง ๆ จะสอดคอเข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้นเป็นของยาก.

พ. ฉันนั้นภิกษุทั้งหลาย การได้ความเป็นมนุษย์เป็นของยาก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลกเป็นของยาก ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองในโลกก็เป็นของยาก ความเป็นมนุษย์นี้เขาได้แล้ว พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติแล้วในโลกและธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วก็รุ่งเรืองอยู่ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละเธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๑๐๖๙๙ - ๑๐๗๑๔. หน้าที่ ๔๔๗.
//84000.org/tipitaka/read/byline.php?B=19&A=10699&Z=10714&pagebreak=0

หมายเหตุ:

วินิบาต โลกหรือวิสัยเป็นที่ตกไปแห่งสัตว์อย่างไร้อำนาจ, แดนเป็นที่ตกลงไปพินาศย่อยยับ; อรรถกถาแห่งอิติวุตตกะอธิบาย นัยหนึ่งว่า เป็นไวพจน์ของคำว่านรกนั่นเอง อีกนัยหนึ่งว่า หมายถึงกำเนิดอสุรกาย

อริยสัจ ความจริงอย่างประเสริฐ, ความจริงของพระอริยะ, ความจริงที่ทำคนให้เป็นพระอริยะ มี ๔ อย่าง คือ
๑. ทุกข์ หรือ ทุกขสัจจะ หรือ ทุกขอริยสัจจ์
๒. สมุทัย หรือ สมุทัยสัจจะ หรือ ทุกขสมุทัยอริยสัจจ์
๓. นิโรธ หรือ นิโรธสัจจะ หรือ ทุกขนิโรธอริยสัจจ์
๔. มรรค หรือ มัคคสัจจะ หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์

ข้อที่ต้องทำในอริยสัจ ๔ (กิจในอริยสัจ) แต่ละอย่าง คือ
๑. ปริญญา กำหนดรู้ เป็นกิจในทุกข์
๒. ปหานะ การละ เป็นกิจในสมุทัย
๓. สัจฉิกิริยา การทำให้แจ้งหรือการบรรลุ เป็นกิจในนิโรธ
๔. ภาวนา การเจริญคือปฏิบัติบำเพ็ญ เป็นกิจในมรรค

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)




 

Create Date : 09 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 9 กรกฎาคม 2548 9:48:26 น.
Counter : 685 Pageviews.  

อารมณ์ ๔ ประการ ที่ใจโคจรไป แล้วไม่เกิดความทุกข์


โดย ผู้จัดการออนไลน์
//www.mgronline.com/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9470000088982

๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

เรื่องที่ ๘๘ สุขอยู่ที่ใจ

ใคร ๆ ต่างพูดปลอบใจเพื่อนข้างเคียงพร้อมกับเตือนสติตัวเองไปกลาย ๆ เมื่อมีความรู้สึกขัดแย้งในคนข้างเคียงเกิดขึ้น ด้วยคำพูดสั้น ๆว่า “สุขอยู่ที่ใจ”

ใคร ๆ ก็เหมือนจะรู้ว่าสุขอยู่ที่ใจ เพราะใจเป็นผู้กำหนดความรู้สึกต่าง ๆ แต่หลาย ๆ ครั้งเรามักจะได้ยินเพื่อนข้างเคียงโต้แย้งกลับมาทันที หรือความรู้สึกลึก ๆ ภายในใจของเราโต้กลับคำพูดตัวเอง ออกมาเป็นเสียงสะท้อนแต่ไกลว่า “พูดง่ายว่าสุขอยู่ที่ใจ แต่มันทำยาก”

เพราะคนเรามักใช้สิ่งที่เป็นรูปธรรมภายนอก เป็นตัวกระตุ้นให้ใจเกิดความรู้สึกสุขหรือทุกข์มากกว่าที่จะให้ใจของเราเองเป็นผู้กำหนด

เมื่อใจเราวิ่งตามสิ่งเร้าภายนอกทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส โดยเฉพาะเสียงคำสรรเสริญเยินยอจากบุคคลอื่น มากกว่าตัวเรา ทำให้ใจของเราเริ่มเป็นทุกข์มากขึ้น

หลายคนถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก ให้รู้สึกสุขมากและทุกข์มาก ด้วยเป้าหมายเดียวกัน คนที่ไปถึงเป้าหมายของกติกาสังคมที่เป็นผู้ขีด เกิดความรู้สึกสุขมาก ตรงกันข้ามกับคนที่ไปไม่ถึงเป้าหมายเกิดความรู้สึกทุกข์มาก

และยิ่งรู้สึกทุกข์ทับทวีคูณยิ่งขึ้น เมื่อติดอยู่ในบ่วงของวัตถุนิยมที่นำมาเป็นตัววัดความสำเร็จมากน้อยลดหลั่นกันไป และศูนย์สำหรับผู้ไปไม่ถึงดวงดาว

ยิ่งเราวิ่งไล่ตามเครื่องล่อมากเท่าไหร่ เรายิ่งทุกข์มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ด้วยใจที่เผลอไปหรือตั้งใจ

พระอาจารย์มานพ อุปสโม แห่งวัดนายโรง ได้เมตตาแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเล่าเรื่อง “นกมูลไถ” เพื่อเตือนสติพุทธศาสนิกชนถึงความไม่ประมาทของใจไว้ว่า


มีนกมูลไถตัวหนึ่งชอบเสาะหาอาหารไปทั่ว วันหนึ่งนกตัวนี้ได้หากินเพลิดเพลินจนออกนอกเขตแดนก้อนขี้ไถ ทำให้ถูกนกเหยี่ยวโฉบเฉี่ยวพาไปในอากาศ นกตัวนี้รู้สึกเสียใจและตัดพ้อตัวเองออกมาเสียงดังว่า “เราเผลอประเดี๋ยวเดียว ถ้าหากินในแหล่งบิดา คงไม่เกิดอันตรายเช่นนี้”

นกเหยี่ยวผู้ทรนงในความเป็นผู้มีพละกำลังมาก เมื่อได้ยินดังนั้น จึงบอกกับนกน้อยว่า “ถึงแม้เจ้าอยู่ที่ไหน ข้าก็ตามจับเจ้าได้ ดังนั้นเขตแดนบิดาของเจ้าอยู่ที่ไหน ข้าจะปล่อยเจ้าไปแล้วจะจับเจ้ามาใหม่”

นกมูลไถจึงบอกว่า “เขตแดนบิดาของข้าอยู่ในทุ่งนาตามรอยไถ”

นกเหยี่ยวจึงปล่อยนกน้อยตัวนี้ให้เป็นอิสระ นกน้อยพอหลุดออกมาได้ รีบบินสู่ทุ่งนาบริเวณเขตนาไถ พร้อมกับตะโกนบอกกับเหยี่ยวว่า “ถ้าเจ้าพร้อมจับก็จับข้าได้แล้ว”

เหยี่ยวด้วยคิดว่าตัวเองมีกำลังมาก นกเล็กคงหนีไม่พ้น จึงบินลงเพื่อจะมาจิกนก นกน้อยพอเห็นเหยี่ยวบินลงมาก็มุดเข้าใต้ก้อนขี้ไถ

นกเหยี่ยวประมาทจึงกระแทกกับก้อนขี้ไถจึงแก่ความตาย

พระพุทธเจ้ายังเตือนสติอีกว่า “จิตของบุคคลถ้าอยู่ในเขตแดนของบิดา ทุกข์ก็จะไม่เกิด”

โดยเขตแดนของบิดาคือ ถ้าใจของบุคคลโคจรในอารมณ์ ๔ ประการจะไม่เกิดความทุกข์
๑. ใจโคจรในร่างกายตัวเอง
๒. ใจโคจรอยู่กับสภาพของเวทนา
๓. ใจโคจรอยู่กับความรู้สึกตัวเอง
๔. ใจโคจรอยู่กับสภาพธรรม

แต่ทุกวันนี้ใจของคนเรามักโคจรอยู่นอกร่างกายตัวเอง มัวแต่ไปสนใจที่ร่างกายคนอื่น ไม่ว่าจะสูง ต่ำ ดำ ขาว ทำไมเราถึงไม่สวยไม่หล่อเหมือนเขา พร้อมกับรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าตัวเองคงทำบุญมาน้อยชาตินี้ถึงไม่......เหมือนคนโน้นคนนี้ จนใจเกิดทุกข์

หรือบางคนวัน ๆ จิตใจร้อนรุ่มเพราะใจมัวแต่โคจรอยู่กับความรู้สึกของคนอื่น กังวลแต่เราคนโน้นจะว่าอย่างไร คนนี้จะว่าอย่างไร ใจคิดตลอดเวลาว่าคนอื่นกำลังนินทาว่าร้ายตัวเองอยู่

ผมเคยมีเพื่อนคนหนึ่ง วัน ๆ ไม่เป็นอันทำงาน มัวแต่โทรศัพท์ปรึกษาเพื่อนคนนั้นคนนี้เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นในชีวิต ทั้ง ๆ ที่บางเรื่องเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว เที่ยวไล่ถามความรู้สึกคนอื่นว่าคิดอย่างไรกับเรื่องของตนที่มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ถามไปถามมาจนเรื่องบานปลายเป็นปัญหาใหญ่โต

หรือมีคนบางประเภท วันทั้งวันมัวแต่นั่งหันซ้ายหันขวาเพราะเกรงว่าคนอื่นจะนินทาตน เห็นใครจับกลุ่มพูดคุยก็คิดว่าเขากำลังนินทาตัวเองอยู่ เพราะใจมัวแต่โคจรอยู่กับความรู้สึกของผู้อื่น

หากวันทั้งวัน ใจของเรามัวแต่เต้นตามกระแสสิ่งเร้าภายนอกตัวเอง ทุกข์มีมากกว่าสุขครับเพราะเรามัวแต่ให้คนอื่นเป็นผู้กำหนด กำหนดสุขด้วยใจของเราดีกว่าครับ!




 

Create Date : 25 มิถุนายน 2548    
Last Update : 25 มิถุนายน 2548 22:14:07 น.
Counter : 469 Pageviews.  

บวช

การบวชคืออะไร ?
พุทธทาสภิกขุ


เมื่อมีปัญหาขึ้นมาว่า การบวช คืออะไร? ดังนี้แล้ว ทางที่ดีที่สุดควรจะถือเอาใจความตัวพยัญชนะคำว่า “บวช” นั่นเอง คำว่า “บวช” เป็นภาษาไทย ซึ่งถอดรูปมาจากคำในภาษาบาลีว่า ปพฺพชฺชา

คำว่า “ปพฺพชฺชา” นี้ มีรากศัพท์ คือ ป + วช : ป แปลว่า ทั่วหรือสิ้นเชิง

วช แปลว่า ไป หรือเว้น

คำว่า ป + วช จึงแปลว่า ไปโดยสิ้นเชิง หรือ เว้นโดยสิ้นเชิง

ที่ว่า “ไปโดยสิ้นเชิง” นั้นหมายถึง ไปจากความเป็นฆราวาส คือ จากการครองเรือนไปสู่ความเป็นบรรพชิต คือ ผู้ไม่ครองเรือนโดยสิ้นเชิง โวหารที่สูงไปกว่านั้น ท่านเรียกว่า ไปจากโลกโดยสิ้นเชิง ซึ่งหมายความว่า ละเสียจากวิสัยที่ชาวโลกเขามีกัน เป็นกันโดยสิ้นเชิง นั่นเอง

คำว่า “ไปจากความเป็นฆราวาส” นี้หมายความว่า ไปจากบ้านเรือน ซึ่งหมายถึง

การสละความมีทรัพย์สมบัติ
การสละวงศ์ญาติทั้งหลาย
การเลิกละการนุ่งห่มอย่างฆราวาส
เลิกละการกินอยู่อย่างฆราวาส
เลิกละการใช้สอยอย่างฆราวาส
เลิกละอาการกิริยาวาจาอย่างฆราวาส
เลิกละความรู้สึกนึกคิดอย่างฆราวาสสิ้นเชิง

ดังนี้ จึงจะเรียกว่า ไปหมดจากความเป็นฆราวาส โดยสิ้นเชิง หรือไปจากโลกโดยสิ้นเชิง

ข้อที่ว่า “สละความมีทรัพย์สมบัติ” นั้น หมายถึง การยอมรับดำเนินชีวิตชนิดที่ไม่ต้องมีทรัพย์สมบัติ ไปมีชีวิตอยู่ด้วยเครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิต ตามแต่จะมีผู้ศรัทธาหรือตามแต่จะหาได้มาบริโภคด้วยสิทธิอันชอบธรรมของนักบวชอันจะได้กล่าวถึงข้างหน้า ทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่าโน้น เป็นของที่ฆราวาสผู้ไม่มีสิทธิอันชอบธรรมในอันที่จะบริโภคสิ่งของอันเขาถวายด้วยศรัทธา จึงไม่มีความจำเป็นอันใดสำหรับบรรพชิตผู้ตั้งหน้าแสวงหาคุณอันสูงโดยแท้จริง

ข้อที่ว่า “สละวงศ์ญาติทั้งหลาย” นั้นหมายถึงไม่มีความอาลัยในหมู่ญาติอันเป็นเหตุให้ต้องเกี่ยวข้องหรือสงเคราะห์กันอย่างชาวโลกเขาทำกัน บางคนยังต้องติดกับหมู่ญาติ เพราะเห็นแก่ปากท้อง ในเรื่องอาหารการกินและอื่น ๆ จนไม่มีโอกาสได้รับความเป็นอิสระโปร่งโล่งของบรรพชา

ในบาลีที่กล่าวถึงการบวช มีการย้ำถึงการสละวงศ์ญาติอยู่ทั่ว ๆ ไป และอยู่ในรูปพระพุทธภาษิตโดยตรง นักบวชบางประเภทในสมัยพุทธกาล สมาทานการไม่ไปเยี่ยมบ้านของตนจนตลอดชีวิตก็ยังมี แต่ในพุทธศาสนา เรามุ่งเอาแต่เพียงการสละความอาลัยในหมู่ญาติ ชนิดที่เป็นความรู้สึกของฆราวาสทั่วไปนั่นเอง

ข้อที่ว่า “เว้นการนุ่งห่มอย่างฆราวาส” นั้น ย่อม ๆ เห็นกันอยู่แล้วว่า หมายความถึงอะไร แต่ขอให้ถือเอาใจความสำคัญให้ได้ว่า ไม่ใช้เครื่องนุ่งห่มด้วยความมัวเมาในความงาม หรือความนิ่มนวลทางสัมผัสของสิ่งที่ใช้นุ่งห่ม ซึ่งหมายความว่า แม้จะใช้จีวรอย่างบรรพชิตแล้ว แต่ถ้ามุ่งไปในทางสวยงาม หรือความนิ่มนวลทางสัมผัสเป็นต้นแล้ว ก็ยังมีความหมายว่า ใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างฆราวาส ทั้งที่กำลังห่มจีวรอยู่นั่นเอง

ข้อที่ว่า “เว้นจากการกินอยู่อย่างฆราวาส” นั้น มิได้หมายแต่เพียงว่า เว้นการฉันในเวลาวิกาลหรือเว้นอาหารบางชนิดที่พระเณรไม่ควรฉันเป็นต้น เพียงเท่านี้ก็หามิได้ใจความสำคัญนั้นอยู่ที่ว่าพวกฆราวาสกินเพื่อความเอร็ดอร่อย กินเพื่อความสนุกสนานเฮฮากินจุบกินจิบพิถีพิถันตามวิสัยของฆราวาสผู้เอาแต่การตามใจตัวเองเป็นที่ตั้งผู้บวชแล้วจะต้องเว้นจากการกินอย่างฆราวาสนี้โดยเด็ดขาด จะฉันด้วยความรู้สึกเพียงแต่ว่า นี้เป็นอาหารที่ฉันเพียงเพื่อยังอัตภาพนี้ให้เป็นไปได้พอสะดวกสบายพอเหมาะสมแก่การที่จะปฏิบัติธรรมวินัยอันเป็นไป เพื่อออกจากทุกข์โดยประการทั้งปวง

โดยสรุปแล้ว ฉันอยู่ด้วยการระลึกถึงพระพุทธภาษิตของพระพุทธองค์ ซึ่งเราถือว่าเป็นพระพุทธบิดา อันได้ตรัสไว้ว่า “พวกเธอ จงฉันบิณฑบาตสักว่าเหมือนกับน้ำมันสำหรับหยอดเพลาเกวียนหรือเหมือนกับมารดาบิดาซึ่งหลงทางกลางทะเลทราย ต้องจำใจกินเนื้อบุตรของตน ที่ตายแล้วในกลางทะเลทราย เพื่อประทังชีวิตของตนเองฉันนั้น”

กิริยาดังกล่าวนี้ คือ การเลิกละจากการกินอยู่อย่างฆราวาสโดยสิ้นเชิง

ข้อที่ว่า “เลิกละการใช้สอยอย่างฆราวาส” นั้น หมายถึง ไม่ใช้สอยที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้สอยมีภาชนะเป็นต้น โดยทำนองที่ฆราวาสเขาใช้กัน คือเพื่ออยู่อย่างสำรวย เพื่ออยู่อย่างสนุกสนานในทางตามใจตัวเอง หรือเพื่อโอ้อวดกันในทางสวยงามและมีมากเป็นต้น นี้เรียกว่า ไปจากฆราวาสโดยสิ้นเชิง ในด้านการใช้สอยเครื่องใช้สอย

ข้อที่ว่า “ละขาดจากกิริยาวาจาอย่างฆราวาส” นั้น หมายถึง ฆราวาสย่อมมีกิริยาวาจาอันเป็นไปตามใจกิเลส ตัณหา ตามความสะดวกสบาย โดยปราศจากการควบคุม เพราะมุ่งแสวงแต่ความสนุกสนาน เพลิดเพลินจากการตามใจตัวเองอย่างเดียว ผู้บวชแล้ว จะต้องมีกิริยาวาจาอย่างสมณะ ในบทว่า

“กิริยาวาจาใด ๆ เป็นของแห่งสมณะ เราจักประพฤติตนให้เป็นไปด้วยกิริยาวาจาอาการนั้น ๆ” ผู้บวชแล้วลืมตัวในเรื่องนี้ ย่อมมีกิริยาวาจาที่คล้ายฆราวาสอยู่ทุกอิริยาบถ เมื่อมีมิตรสหายที่เป็นฆราวาสมาหา ย่อมทำการต้อนรับเหมือนอย่างที่เคยกระทำต่อกันในครั้งเป็นฆราวาส ในบางรายถึงกับกอดคอกันก็มี หรือนั่งเข่าทับก่ายกันก็มี กิริยาทางกายและวาจาเหล่านี้ เพราะผู้พระภาคเจ้าไม่ทรงถือว่าเป็นอาการของสมณะเลย แม้กิริยาวาจาอื่น ๆ ซึ่งเป็นของฆราวาสซึ่งมีอยู่มากมายนั้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผู้บวชแล้วจะต้องละขาดด้วยสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง

ข้อที่ว่า “เว้นจากความรู้สึกคิดนึกอย่างฆราวาสโดยสิ้นเชิง” หมายความว่า พวกฆราวาสตามปรกติ มีความรู้สึกคิดนึกไปในทางเหย้าเรือน คิดนึกไปในทางกามคุณ ชอบปล่อยจิตให้ไหลไปในความคิดนึกทางกามารมณ์อยู่เป็นประจำ เมื่อความรู้สึกคิดนึกทางกามคุณเกิดขึ้น ย่อมไม่ประสงค์ที่จักหักห้าม แต่กลับจะพอใจ ปล่อยให้จิตใจไหลไปตามแนวนั้น ๆ ให้มากยิ่งขึ้นไปเสียอีก เพราะเป็นความเพลิดเพลิน นี้เรียกว่า ความรู้สึกคิดนึกอย่างฆราวาส

ผู้บวชแล้วจะต้องละความรู้สึกคิดนึกชนิดนั้นโดยเด็ดขาด ด้วยสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง คอยควบคุมกระแสแห่งความคิดนึกให้ไหลไปในทางของบรรพชิตโดยส่วนเดียว นี้เรียกว่า ละความรู้สึกคิดนึกอย่างฆราวาสโดยสิ้นเชิง การละทรัพย์สมบัติ การละวงศ์ญาติ การละการนุ่งห่มอย่างฆราวาส การละการกินอยู่อย่างฆราวาส การละการใช้สอยอย่างฆราวาส การละกิริยาอาการทางกายวาจาอย่างฆราวาส และการละความรู้สึกคิดนึกอย่างฆราวาส ทั้งหมดรวมกันแล้วได้ในคำสรุปสั้น ๆ ว่า “ไปหมดจากความเป็นฆราวาส” เต็มตามความหมายของพยัญชนะที่ว่า “ป+ วช” หรือเป็นภาษาบาลีอย่างเต็มรูปว่า “ปพฺพชฺชา” นั่นเอง นี้คือความหมายของคำว่า “บวช” ในส่วนที่ว่า “ไปหมด” คือไปหมดจากความเป็นผู้ครองเรือนหรือเพศฆราวาสนั่นเอง

ส่วนความหมายของคำว่า “บวช” ที่ว่า “เว้นหมด” นั้น อธิบายว่าเมื่อบวชเป็นบรรพชิตแล้ว จักต้องเว้นสิ่งซึ่งควรเว้น ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้อย่างไรนั้นโดยสิ้นเชิง ข้อนี้ผู้บวชแล้วย่อมจะได้รับการศึกษาธรรมวินัยจนรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งควรเว้นหรือควรละทั้งในส่วนวินัยและทั้งในส่วนธรรมะ แล้วตนก็จะพยายามเว้นสิ่งที่ควรเว้นนั้นโดยสิ้นเชิงโดยอาศัยกำลังใจที่ได้รับมาจากการระลึกถึงอยู่เสมอว่าบวชนี้เราบวชเองการปฏิญาณในการบวชนี้ได้ทำในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์และโอกาสอันศักดิ์สิทธิ์และการบวชที่มีอานิสงส์อันสมบูรณ์นั้น เป็นความหวังอย่างยิ่งของมารดาบิดาและเราผู้มีความเป็นมนุษย์อันถูกต้องนั้นจักต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เจริญงอกงาม ก้าวหน้าขึ้นไปสู่ความสูง หรือยอดสุดของความเป็นมนุษย์อยู่เสมอไป จึงจะสมกัน เมื่อระลึกได้ดังนี้ ก็มีกำลังใจที่จะละเว้นสิ่งที่ควรละเว้นได้โดยหมดจดสิ้นเชิง ตามระเบียบวินัยอย่างครบถ้วน

นี้คือความหมายของคำว่า “บวช” ในส่วนที่ว่า “เว้นหมด”

เมื่อรวมความหมายของคำว่า “ไปหมด” และคำว่า “เว้นหมด” เข้าด้วยกัน ก็เป็นความหมายที่แสดงอยู่ในตัวเองอย่างครบถ้วนแล้วว่า ตัวลักษณะแห่งการบวชที่จริงนั้นคืออะไร ?




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2548    
Last Update : 21 มิถุนายน 2548 13:06:04 น.
Counter : 435 Pageviews.  

เราเกิดมาทำไม

เราเกิดมาทำไม
รสธรรม



เธอจงระวังความคิดของเธอ
เพราะความคิดของเธอจะกลายเป็นความประพฤติของเธอ

เธอจงระวังความประพฤติของเธอ
เพราะความประพฤติของเธอจะกลายเป็นความเคยชินของเธอ

เธอจงระวังความเคยชินของเธอ
เพราะความเคยชินของเธอ จะกลายเป็นอุปนิสัยของเธอ

เธอจงระวังอุปนิสัยของเธอ
เพราะอุปนิสัยของเธอจะกำหนดชะตากรรมของเธอชั่วชีวิต

โดย พระอาจารย์ชา สุภัทโท)



หลังจากที่ได้อ่านข้อความของพระอาจารย์ชา สุภัทโท ที่ได้รับมาจากเมล์ที่เพื่อนคนหนึ่ง
ส่งมาให้ แล้วก็เลยพอจะได้คำตอบที่เคยเฝ้าถามตัวเองมานานแล้วว่า เราเกิดมาทำไม

เราเกิดมาทำไม นั้นน่ะสินะ เพื่อนๆ เคยลองถามตัวเองบ้างไหมคะว่าเราเกิดมาทำไม
จากข้อความของพระอาจารย์ชา สุภัทโท นั้น คำตอบหนึ่งก็คือเกิดมาตามชะตากรรม
ที่เราเป็นผู้กำหนดไงคะ

จะสังเกตได้ว่า เราเกิดมาก็เกิดมาแต่ตัว ไม่มีเสื้อผ้า ไม่มีเพื่อน เอ สงสัยคงต้องยกเว้น
คนที่เกิดมาเป็นฝาแฝดกันแล้วมั้งคะ ดังนั้นเมื่อจะตายไปก็คงไม่สามารถเอาอะไรติดตัวตาม
ไปได้หรอกค่ะ

มีบางคนได้กล่าวไว้ว่า ตั้งแต่ที่เราลืมตาขึ้นมาอยู่ในโลกนี้ เราก็เกิดมาพร้อมกับความเจ็บ
ความแก่ และความตาย เพียงแต่ว่าความเจ็บ ความแก่ และความตายนั้น จะมาปรากฏ
ให้เราเห็นตอนไหนก็เท่านั้นเองค่ะ

ทุกวันนี้ ถ้าเราลองสังเกตดู ร่างกายของเรานี่ทุกส่วน มันเสื่อมไปหมดค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
ผมมันก็เสื่อมไป ล่วงไป ขนมันก็เสื่อมไป เล็บมันก็เสื่อมไป หนัง มันก็เสื่อมไป
อะไรทุกอย่างมันเสื่อมไปหมดทั้งนั้นค่ะ ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราจะเกิดมาทำไมล่ะคะ
เกิดมาเพื่อทรมานหรือคะ เกิดมาให้ได้รับความทุกข์อย่างนั้นหรือคะ

เอาเถอะน่า ไหนๆ ก็เกิดมาแล้ว ก็อย่าให้เสียชาติเกิดแล้วกัน เราลองมาดูตามหลักการ
ของวิทยาศาสตร์ซะหน่อยนะคะ ที่ว่าเมื่อมีการกระทำ (Action) ก็ย่อมมีการกระทำกลับ (Reaction)

เราเกิดมาทำไม หลายๆ คนตอบว่า เกิดมาเพื่อชดใช้กรรมเก่าบ้างล่ะ
เกิดมาเพื่อสร้างกรรมใหม่บ้างล่ะ

คำตอบแรกนี้เห็นท่าจะจริงนะคะ ถ้าเราลองเฝ้าสังเกตดูได้จาก ทำไมบางคนที่เกิดมาพร้อมด้วย
ทรัพย์สมบัติ หรือรูปสมบัติ หรือทั้งสองอย่างก็ตาม แต่บางคนกลับเกิดมา แม้แต่อวัยวะยังไม่ครบ
๓๒ ประการเลย เช่น คนที่ตาบอด หรือหูหนวกแต่กำเนิด เป็นต้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
เราเคยไปทำกรรมอะไรให้กับใครไว้ที่ไหนอย่างไรหรือเปล่าคะ

แต่เมื่อเราเกิดมาแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะใดก็ตาม หลังจากที่เราได้ชดใช้กรรมเก่า
เมื่อชาติที่ผ่านมาแล้ว คำตอบที่สองก็คงจะเป็นจริงอีก ก็เราอีกนั่นแหละที่เป็นผู้สร้างกรรมใหม่
ที่เราต้องได้ชดใช้แน่ ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า ส่วนมากไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้าหรอก
รับรองในชาตินี้แน่ ตัวอย่างเช่น การที่เราทำดี แล้วเราเกิดความสบายใจ
หรือเราทำไม่ดี ตัวเราเองนั่นแหละที่ทุกข์ใจเอง แค่นี้ก็เห็นผลกรรมชัดๆ อยู่แล้ว
ไม่ต้องไปดูอะไรมาก

สรุปแล้วการกระทำต่างๆ ของเราคงหนีไม่พ้นเรื่องของกรรมเป็นแน่แท้ เราลองมาศึกษา
ทำความเข้าใจกันดูในเรื่องของกรรมกันดีกว่าค่ะ หลังจากนั้นเราก็เลือกเอาแล้วกันว่า
เราควรจะประพฤติแบบเดิมต่อไปเรื่อยๆ หรือเราควรจะเพิ่มหรือลดการกระทำบางอย่าง
ของเราลงค่ะ

กรรม สามารถจำแนกได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๓ ประเภท ดังต่อไปนี้ คือ

๑. กรรมที่ให้ผลตามความหนัก-เบา ซึ่งจำแนกย่อยได้เป็น ๔ ประเภทคือ
๑.๑ ครุกรรม หรือ กรรมหนัก
กรรมประเภทนี้มีอำนาจเหนือกรรมอื่นใดทั้งสิ้น จะส่งผลในทันที ถ้าเป็นกรรมฝ่ายกุศล
เช่น ผู้ที่ได้ฌานสมาบัติ ย่อมไปบังเกิดในพรหมโลก ไม่มีอกุศลอื่นใดมาขัดขวางได้
ถ้าเป็นครุกรรมฝ่ายอกุศลกรรม หรือกรรมชั่วอย่างหนัก เช่น อนันตริยกรรม คือ
การฆ่าบิดา มารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต และการทำให้
สงฆ์แตกสามัคคีกัน ที่เรียกว่า สังฆเภท ย่อมตกมหานรกอเวจีทันทีหลังจากชาตินี้ ไม่มีบุญ
กุศลใดๆ มาช่วยเหลือป้องกันได้
๑.๒ อาจิณณกรรม หรือ กรรมสะสม
กรรมสะสมฝ่ายกุศล ได้แก่ การทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา การตั้งอยู่ในศีล
ในธรรม การละเว้นความชั่ว เป็นต้น เมื่อสะสมกุศลทั้งหลายแม้ทีละเล็กทีละน้อย
เมื่อสะสมอยู่เรื่อยๆ มากเข้า ก็กลายเป็นพลังกุศลที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนกรรมสะสมฝ่าย
อกุศล ได้แก่ การทำความชั่วทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าสัตว์วันละเล็กวันละน้อย เช่น การฆ่ามด
หรือการตบยุงก็ตาม กรรมประเภทนี้จะให้ผลรองมาจากอาสันนกรรม
๑.๓ อาสันนกรรม หรือ กรรมเมื่อใกล้ตาย
คือกรรมที่ระลึกเมื่อใกล้จะตาย มีอิทธิพลในการสร้างภพสร้างชาติใหม่รองจากครุกรรม
อาสันนกรรมที่ให้ผลก่อนตายนั้นให้ผลหนักเบาในลักษณะที่ แม้จะทำความดีมาตลอดชีวิต ก่อนตาย
จิตเศร้าหมองด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาสันนกรรมนี้ก็จะบันดาลให้ไปสู่อบายภูมิก่อนกรรมอื่นจะให้ผล
ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐีผู้หนึ่ง บริจาคทรัพย์สม่ำเสมอ ตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล เป็นนิจ
แต่ตอนป่วยหนักใกล้จะตาย ขาดการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลาน เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เสียแรงที่เป็นมหาเศรษฐี
มีเงินมีทองมากมาย แต่ก็ไม่สามารถซื้อความดูแลจากใครๆ ได้ ดูแล้วไม่ต่างจากยาจกเข็ญใจ
ทำให้นึกเห็นภาพยาจกอยู่เนืองๆ พอจิตสุดท้ายจับที่ยาจก จึงทำให้ไปปฏิสนธิในท้องของยาจกในชาติถัดไป
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง พระนางมัลลิกาเทวี ผู้เป็นมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล ทำความดีมาตลอด
ชีวิต ก่อนตายจิตเศร้าหมองเนื่องจากเคยเดินสะดุดเท้าพระสวามี เป็นเหตุให้เท้าของท่านต้องแหย่ในนรกถึง
๗ วันมนุษย์ เป็นต้น ในทางตรงกันข้ามคืออาสันนกรรมฝ่ายกุศล เมื่อจิตระลึกได้ก่อนที่จะดับไปจากภพภูมินี้
ก็ย่อมจะมีอิทธิพลไปสร้างภพภูมิใหม่ที่ดีได้ ถึงแม้ว่า จะประกอบอกุศลเป็นประจำอยู่ก็ตาม
ดังนั้นอาสันนกรรมจึงทำหน้าที่เป็นชนกกรรม คือกรรม ที่นำไปเกิดในชาติถัดไป
หลังจากหมดหน้าที่ของชนกกรรมแล้ว อาจิณณกรรมทั้งฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศลก็จะเข้ามาทำหน้าที่ให้ผลต่อไป
๑.๔ กตัตตากรรม หรือ กรรมเล็กๆ น้อยๆ
คือกรรมที่สักแต่กระทำ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกุศลหรือฝ่ายอกุศลก็ตาม จะให้ผลเมื่อกรรม
ประเภทอื่นๆ ให้ผลหมดแล้ว ดังนั้นกรรมประเภทนี้จึงเป็นกรรมที่ให้ผลน้อยที่สุด

๒. กรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ ซึ่งจำแนกย่อยได้เป็น ๔ ประเภทคือ
๒.๑ ชนกกรรม หรือ กรรมที่ให้ผลมาตั้งแต่เกิด
เป็นกรรมที่ให้กำเนิดดุจบิดามารดา คือให้ผลในการปฏิสนธิในชาตินี้หรือชาติหน้า เช่น
การเกิดมาในภพภูมิที่สูง หรือต่ำ หรือ การเกิดในภพภูมิมนุษย์ ในครรภ์มารดาที่เป็น
เศรษฐี หรือเกิดมาเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น
๒.๒ อุปัตถัมภกกรรม หรือ กรรมที่เป็นพี่เลี้ยง
คือกรรมที่รอให้ผลต่อจากชนกกรรม เป็นกรรมที่เกิดมาจากกรรมสะสม ตัวอย่างเช่น
หลังจากที่มหาเศรษฐีได้เกิดมาเป็นทารกของยาจก แต่จากการที่ทารกผู้นี้ได้เคยทำ
กุศลมาจากชาติปางก่อน จึงทำให้มีผู้ที่เมตตา คอยช่วยเหลือเขาไม่ให้ได้รับความยาก
ลำบากในกาลต่อมา หรืออาจมีเหตุบังเอิญให้ได้เจอผู้มีใจบุญรับไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม
ให้ได้ศึกษาเล่าเรียนในระดับสูงต่อไป ทั้งนี้ก็เพราะอานิสงส์ของกุศลในชาติที่แล้วนั่นเอง
๒.๓ อุปปีฬกกรรม หรือ กรรมเบียดเบียน
คือกรรมที่คอยขัดคอ เบียดเบียน บีบคั้น ให้กรรมก่อนหน้านี้เพลาลง ให้เสียหายไปบ้าง
แต่ไม่ถึงกับรุนแรงไป เช่น จากที่เคยทำความดีมา ทำให้ไปเกิดในครอบครัวที่สุขสบาย
แต่จากการที่เคยเผลอไปฆ่าหรือเบียดเบียนสัตว์ จึงทำให้เป็นคนที่มีสุขภาพไม่ค่อยจะดี
มีโรคภัยเบียดเบียนอยู่ตลอดเวลา หรือคนที่เกิดมาสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วยสามวันดีสี่วันไข้
แต่ผลจากกุศลกรรมที่เคยสะสมไว้ ทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บในไม่ช้าได้ หรือคนที่เกิดมายากจน
ผลจากกรรมดีที่ได้สะสมไว้ จะดลใจให้รู้จักทำมาค้าขึ้น ก็อาจมีโอกาสร่ำรวยขึ้นมาได้ เป็นต้น
๒.๔ อุปฆาตกกรรม หรือ กรรมตัดรอน
เป็นกรรมที่มีอำนาจมากเป็นพิเศษ จะให้ผลอย่างรุนแรงในทันที สามารถขจัดหรือทำลาย
กรรมที่ให้ผลอยู่ก่อนแล้วได้ ตัวอย่างเช่น ได้เกิดมาในครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับการศึกษา
ในระดับสูง แต่บังเอิญต้องกลับบ้านดึก ก็เลยถูกฆ่าข่มขืน หรืออาจเกิดอุบัติเหตุตายโหงได้
อันนี้จัดเป็นกรรมตัดรอนฝ่ายอกุศล หรือในทางตรงกันข้าม เกิดมาในสลัมสกปรกยากจน
บังเอิญได้ทุนการศึกษาจากผู้ใจบุญ ทำให้ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในระดับสูง
หรืออาจได้ลาภก้อนใหญ่ จากการที่เจอคนทำกระเป๋าสตางค์ตกไว้ แต่จากการสอบถามแจ้งความ
ตามหาเจ้าของแล้วไม่ปรากฏ ทำให้สามารถร่ำรวยขึ้นมาเป็นเศรษฐี มั่งมีเงินทองขึ้นมาได้ เป็นต้น

๓. กรรมที่ให้ผลตามกาลเวลา ซึ่งจำแนกย่อยได้เป็น ๔ ประเภทคือ
๓.๑ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม หรือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน
นั่นคือให้ผลในชาติปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๒ อย่างคือ
๓.๑.๑ ให้ผลในเวลาที่ไม่นานนัก คือประมาณ ๗ วัน
๓.๑.๒ ให้ผลโดยไม่มีกำหนดเวลา
กรรมประเภทนี้เปรียบเหมือนการนำเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ มาปลูกลงพร้อมกัน พืชบางชนิดให้
ผลเร็ว พืชบางชนิดเติบโตให้ผลช้า บางชนิดก็ให้ผลเป็นระยะเวลายาวนาน ขึ้นอยู่กับ
กรรมที่ทำนั้นเป็นฝ่ายกุศลหรือฝ่ายอกุศล
๓.๒ อุปปัชชเวทนียกรรม หรือ กรรมที่ให้ผลในชาติที่ต่อจากชาตินี้
เป็นผลมาจากครุกรรมหรือกรรมหนัก
๓.๓ อปราปริยเวทนียกรรม หรือ กรรมที่ให้ผลในชาติที่ต่อจากชาติหน้า
คือกรรมที่ให้ผลถัดจากชาติหน้าไป โดยไม่มีกำหนดว่ากี่ชาติ สุดแต่ว่ามีโอกาสเมื่อไร
ก็ให้ผลเมื่อนั้น กรรมนี้จะคอยติดตามอยู่ตลอดเวลา ถ้าตามทันเมื่อใดก็ให้ผลเมื่อนั้น
ยกตัวอย่างเช่น พระมหาโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า
เคยทำร้ายทุบตีมารดาของท่าน แต่ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นผู้สิ้นอาสวะกิเลสเครื่อง
เศร้าหมอง หมดเหตุที่จะนำพาให้ไปเกิดใหม่ จึงไม่มีชาติหน้าอีก ไม่ต้องไปเสวยผลกรรม
ในมหานรก แต่ท่านก็ไม่พ้น ทั้งๆ ที่ท่านมีอิทธิฤทธิ์สามารถหายตัวได้ ท่านยอมให้โจรทุบ
จนปรินิพพาน เป็นต้น
๓.๔ อโหสิกรรม หรือ กรรมที่เลิกให้ผล
คือกรรมที่ได้ให้ผลจนเสร็จสิ้นแล้ว หรือกรรมที่ตามไม่ทันจะให้ผล พ้นกำหนดหมดเชื้อแล้ว
จึงเลิกให้ผล ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของท่านผู้หนึ่งในสมัยพุทธกาล
ที่ท่านคลอดลูกออกมาแล้วโดนยักษิณีแปลงมาขโมยเอาลูกไปกิน จนถึงลูกคนสุดท้ายท่านก็เลย
รู้แกวรีบวิ่งเข้าไปในพระเชตุวันมหาวิหาร ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ยักษิณีเข้าเขตวิหารไม่ได้
รออยู่ข้างนอก จนกระทั่งพระพุทธเจ้าต้องการแสดงเหตุที่คนทั้งสอง เฝ้าจองเวรกันและกัน
มานานแสนนานแล้ว จึงตรัสเรียกให้ยักษิณีเข้าเฝ้าแล้วแสดงเหตุให้ทราบว่าเคยเบียดเบียน
กันมาอย่างไร หลังจากที่ทั้งสอง ทราบเหตุแล้วก็อโหสิกรรมซึ่งกันและกัน ก็เป็นอันว่ากรรมที่
เคยเบียดเบียนกันมาก็เป็นอันสิ้นสุด

จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์บางอย่างเป็นเรื่องของกรรมที่ละเอียดอ่อน สลับซับซ้อนยิ่งนัก
หากเกิดขึ้นแล้วจะทำอะไรเพื่อแก้ไขไม่ได้ นอกจากตั้งสติให้มั่น ทำใจให้ยอมรับไปตามกฎแห่งกรรม
การทำใจยอมรับกรรมนั้น คือการทำใจยอมรับ ความเป็นจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น
มิใช่การนั่งงอมืองอเท้ารอให้ผลมันเกิดขึ้นโดยไม่ทำอะไรด้วยปัญญาเลย หรือมัวแต่ท้อแท้ ควรรีบเจริญสติ
ทำแต่ความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ ตามหลักของพระพุทธศาสนา
แต่ถ้ากรรมนั้นบังเอิญเกิดขึ้นกับบุคคลที่เรารักเคารพ เราพึงรับรู้ว่า
กรรมบางอย่างก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล ทำได้เพียงแค่แผ่เมตตาให้บุคคลผู้เคราะห์ร้าย
เหล่านั้น และถ้ามีโอกาสควรให้เขาได้ทำความเข้าใจในเรื่องของกรรม และให้กำหนดการเจริญสติค่ะ
(ซึ่งเคยได้เกริ่นไว้แล้วในเพื่อนไทยฉบับเมื่อปีที่แล้วค่ะ)

นับตั้งแต่เวลานี้ไป เราอาจเริ่มละกรรมที่เป็นอกุศลได้ ด้วยการทำความดี ถือศีล ๕ พัฒนาจิตใจเรา
ให้ก้าวหน้าไปในทางธรรมยิ่งขึ้น โดยการพิจารณาดูว่า เมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ เข้ามา ในขณะนั้น
จิตเราตกหรือไม่ เรารู้สึกอย่างไร มีโลภ โกรธ หลง หรือไม่ เพราะเหตุใด เมื่อรู้ที่สาเหตุนั้นแล้ว
ก็พยายามระงับที่ต้นเหตุนั้น ส่วนมากมักเกิดจากการไม่ถูกใจ ไม่เป็นที่พอใจของเรา เมื่อดับที่
เหตุนั้นได้แล้ว ผลที่ได้ก็คือการลดละกิเลสต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งเหตุที่จะก่อให้เกิดกรรม
ที่เป็นไปในทางอกุศลด้วย

สุดท้ายนี้ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงดลบันดาลให้
ทุกๆ ท่านมีสติอยู่ทุกเมื่อ เพื่อเจริญกุศลกรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เจริญในธรรมทุกท่านเทอญค่ะ.




 

Create Date : 11 เมษายน 2548    
Last Update : 11 เมษายน 2548 16:39:03 น.
Counter : 498 Pageviews.  

1  2  3  

ลูกป้ามล
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ลูกป้ามล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.